การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชาวตำบลบางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

เรียนรู้ชีวิต...เรียนรู้ความเป็น “พลเมือง”

โครงการเรียนรู้คุณค่าวิถีชีวิตชาวตำบลบางขันแตก


ถึงตอนนี้รู้ตัวว่าเริ่มสนใจปัญหารอบๆ บ้านมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนไม่เคยสนใจ ตอนนี้พอเห็นปัญหาก็อยากจะเข้าไปช่วย ปกติเจอขยะก็จะเฉยๆ ตอนนี้ก็เริ่มเก็บมากขึ้น เช่น ที่โรงเรียนขยะก็เยอะ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะมาทำ เดียวนี้เจอขยะก็เก็บ บางทีก็เก็บแบบไม่ได้คิดอะไร มันเก็บไปเองโดยอัติโนมัติ เพราะโรงเรียนก็โรงเรียนของเรา ให้ความรู้เรา และอีกอย่างถ้าเราเก็บ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระภารโรงไม่ต้องทำงานหนักมาเก็บขยะให้เรา

“เราไม่อยากให้คนขายที่”

นั่นคือ...สิ่งที่น้องๆ ทีมท้ายหาด TD ร่วมกันคิด ในฐานะเยาวชนรุ่นใหม่จาก “ต่างถิ่น” ที่มาอาศัยแผ่นดินแม่กลองเป็นที่อยู่ ที่กิน และที่เรียนแม่กลองเป็นเมืองที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ คนจึงนิยมมาเที่ยวกันมาก

“แต่ไม่ค่อยเห็นหิ่งห้อยแล้วนะ” เมโย-อารี อ่อนหล้า บอก

ไม่เพียงแค่สังเกตว่าหิ่งห้อยหายไป แต่พวกเขาได้ลงไปศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อหาคำตอบว่า “หิ่งห้อย” หายไปไหน

“และสิ่งที่ค้นพบคือมีการสร้างรีสอร์ทริมคลองเยอะมาก พื้นที่ป่าชายเลนถูกทำลาย แถมบางจุดโรงงานและรีสอร์ทก็ปล่อยน้ำเสียลงมา” กฤษ-กฤษณะ คำสาลิกา บอกข้อค้นพบของทีมงาน

คิดการใหญ่

เมื่อข้อค้นพบที่ได้คือมีการรุกล้ำริมคลองเพื่อสร้างรีสอร์ทซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย พวกเขามิได้หยุดแค่นั้น...แต่สำรวจลึกลงไปอีกขั้นและพบว่า...เจ้าของรีสอร์ทส่วนใหญ่...ไม่ใช่คนแม่กลอง แต่เป็นที่ที่คนแม่กลองขายให้กับนายทุน

“เราไม่อยากได้ความเจริญเข้ามา หากความเจริญนั้นจะเข้ามาทำลายวิถีชีวิตของคนแม่กลองเป็นที่รู้จักกันของคนทั่วไป เช่น ตลาดน้ำอัมพวา เป็นต้น”

แม้สถานการ์ณในพื้นที่จะวิกฤติ แต่ยังมี “คนรุ่นใหม่” กลุ่มหนึ่งเห็นความสำคัญของแผ่นดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ คิดหาทางปกป้องผืนดินแห่งนี้ให้คงอยู่กับคนแม่กลองสืบไป

เราไม่ใช่คนแม่กลอง ถ้าเราอยู่เฉยๆ มันก็เหมือนกับว่า เรามาอยู่ มากิน มานอน มาเรียนหนังสือโดยไม่ตอบแทนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ พอมีโครงการให้พวกเราทำ เราก็นึกถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เพราะเราไม่อยากให้คนขายที่” เมโยย้ำแนวคิดการทำงาน

ดังนั้นโจทย์แรกที่น้องๆ ทีมท้ายหาด TD คิดทำจึงมุ่งไปที่การหาทางยับยั้งการขายที่ดินของคนแม่กลองให้กับคนต่างถิ่น

“แต่พี่เลี้ยงโครงการบอกว่าเรื่องมันกว้างเกินไป” เมโยกล่าวอย่างถอดใจ พร้อมให้เหตุผลว่า มันยาก เพราะต้องทำทั้งจังหวัด ศักยภาพของพวกเราคงไม่สามารถห้ามให้ชาวบ้านขายที่ได้ และเราก็ไม่รู้ว่าบางคนเขาอาจจะมีความจำเป็นจึงต้องขายที่

“แนะ” แต่ไม่ “นำ”

กฤษเสริมว่า ตอนนั้นรู้สึกตันไปหมด เอยากทำโครงการนี้มาก จึงไม่ได้คิดโครงการสำรองเอาไว้ แต่พี่เลี้ยงโครงการก็ให้โอกาสได้ทบทวน แนะให้พวกเราทดลองทำจากเรื่องใกล้ตัว ที่สามารถทำได้จริงตามศักยภาพของแต่ละคน

คำแนะนำของพี่เลี้ยงโครงการในเวทีนับ 1 ปลุกสำนึกพลเมือง คือให้ทำเรื่องการศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนบางขันแตก รู้สึกว่าน่าสนใจดี เพราะพวกเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าบางขันแตกมีความพิเศษอย่างไร ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวช่วยคลายปม และข้อกังวลว่าจะไม่ได้ทำโครงการให้หมดไป

ทีมงานบอกว่า พอเปลี่ยนโจทย์มาเป็นการเรียนรู้คุณค่าวิถีชีวิตชาวตำบลบางขันแตกก็โล่งขึ้น พวกเขาเริ่มต้นค้นข้อมูลพื้นฐานในอินเทอร์เน็ต ดูว่าในตำบลบางขันแตกประกอบด้วยกี่หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีจุดเด่นอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องปราชญ์ชาวบ้านที่ทีมงานนำมาใช้เป็น “ต้นทุน” การทำงาน ก่อนลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอาชีพ ภูมิปัญญา และทรัพยากรของชุมชน

เนื่องจากเดินทางสะดวก ทีมท้ายหาด TD จึงเริ่มต้นเก็บข้อมูลด้านวิถีชีวิตของชุมชนที่บ้าน “ลุงเสียง อินทร์ประเสริฐ” ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

“ลุงเสียงเป็นเกษตรกรดีเด่นของตำบล มีชื่อเสียงด้านการเป็นวิทยากรการเกษตร และเป็นแกนนำของเกษตรกรสวนส้มโอในตำบล เราเลยไปสอบถามประวัติชีวิตลุง การทำงาน อาชีพ และก็ถามต่อว่าถ้าจะไปสัมภาษณ์เพิ่มต้องไปสัมภาษณ์ใครได้อีก ลุงก็ประสานงานให้ เราก็ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสวนส้มโอ”

ข้อมูลที่ได้จากลุงเสียงทำให้ทราบว่า วิถีชีวิตชาวบ้านบางขันแตกเริ่มตั้งแต่เช้ามืด บางคนออกไปปาดตาลแต่เช้า กลับมาอาบน้ำอาบท่ากินข้าว และก็ไปสวนส้มโอ หลายบ้านปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิด เรียกว่า “สวนผสม” เช่น มะละกอ ลิ้นจี่ เพื่อป้องกันความเสียหายกรณีพืชชนิดใดชนิดหนึ่งราคาไม่ดี

ทีมงานบอกว่า นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของชุมชนแล้ว ชาวบ้านยังให้คำแนะนำว่าไม่ควรมุ่งไปที่เรื่องเกษตรอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องวัดวาอาราม และสถานที่สำคัญๆ ด้วย

ทั้งนี้หลังเก็บข้อมูลครบทุกประเด็น ทีมงานจะลงพื้นที่ถ่ายทำวิดีโอเพื่อผลิตเป็นสื่อ เช่น คลิปวิดีโอฉายให้น้องๆ ในโรงเรียนท้ายหาด และนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ ซึ่งตอนนี้มีเว็บของกลุ่ม “สมุทรสงครามจัดการตนเอง” ที่นำลิงค์ในยูทูปไปแปะไว้

โอกาสแห่งการเรียนรู้

แม้ทีมงานจะวางแผนและจัดวางบทบาทการทำงานในทีมไว้เป็นอย่างดี แต่พอลงมือปฏิบัติการจริงก็พบ "ความไม่พร้อม” ในหลายๆ เรื่อง ทำให้โครงการล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

พวกเขาพากันวิเคราะห์และถอดบทเรียนก่อนที่โครงการจะสิ้นสุดพบว่า มีหลายสาเหตุที่ทำโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และเดินไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้คือ การผลิตสื่อวิดีโอเผื่อเผยแพร่เรื่องราวของคนบางขันแตกให้รุ่นน้องๆ ได้รับรู้ดังที่ตัวเองได้รับมา

“งานแบบนี้เป็นงานที่ต้องประชุมร่วมกัน และต้องทำความเข้าใจพร้อมกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล่าช้า เราก็จะต้องมานั่งอธิบายซ้ำ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้งานของพวกเราช้าไปจากแผนวางไว้”

“เวลาเราว่างไม่ตรงกัน เนื่องจากงานแบบนี้เป็นงานที่ต้องประชุมร่วมกัน และต้องทำความเข้าใจพร้อมกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล่าช้า เราก็จะต้องมานั่งอธิบายซ้ำ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้งานของพวกเราช้าไปจากแผนการดำเนินงานที่วางไว้ พอเราว่างกันหมด แต่คุณลุงที่เรานัดหมายไว้ไม่สะดวก พอลุงสะดวก เราก็ติด มันก็เลยทำให้งานล่าช้าออกไปเรื่อยๆ ซึ่งแผนการถ่ายทำของเราคือจะต้องถ่ายให้เสร็จตอนปิดเทอม แต่ก็ติดปัญหาตรงที่ว่า ตัวนักแสดงหายาก จากหนังสั้นก็เลยกลายเป็นสารคดีที่ไม่จำเป็นต้องมีนักแสดง” กฤษชี้แจงรายละเอียด

แม้การทำโครงการจะยังไม่บรรลุผลตามที่ตั้งไว้ แต่ก็มี “ความสำเร็จ” หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับน้องๆ ทีมท้ายหาด TD

“ได้ฝึกความกล้า ต้องกล้าถาม ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนทำคนเดียว อีกอย่างคือฝึกรวบรวมข้อมูล เพราะเป็นงานใหม่ เมื่อก่อนไม่เคยทำแบบนี้ เป็นคนไม่กล้าพูด แรกๆ ก็ขัด พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็ชิน และก็เอาไปใช้ในการเรียนได้ เพราะเราจดเป็นแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนอาจารย์พูดอะไรก็ไมฟัง ไม่จด อาจเป็นเพราะลายมือเราไม่สวยด้วย” ณัฐชา ผะโรประการ อธิบายถึงประโยชน์ที่เธอได้รับ

ณัฐชาบอกต่อว่า นอกจากนี้เธอยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานกับชาวบ้านว่าจะต้องติดต่อกับชาวบ้านยังไง ได้รู้ว่าชาวบ้านทำอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน และงานที่ทำสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้ โดยเฉพาะเรื่องของการคิด กล้าที่จะถามในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ

ส่วนเมโย สำหรับเธอคือการได้เปิดโลกทัศน์ ตอนแรกคิดว่า ไม่ว่าคนที่ไหนๆ ก็คงมีวิถีชีวิตเหมือนๆ กัน อย่างคนเพชรบุรีก็คงมีวิถีชีวิตไม่ต่างอะไรกับคนแม่กลอง เพราะเราอยู่ในประเทศเดียวกัน มีภาษาเดียวกัน แต่พอได้ลงไปสัมผัสกับวิถีชีวิตคุณลุงคุณป้า รู้เลยว่าไม่เหมือนกันเลย...

“ถึงตอนนี้รู้ตัวว่าเริ่มสนใจปัญหารอบๆ บ้านมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนไม่เคยสนใจ ตอนนี้พอเห็นปัญหาก็อยากจะเข้าไปช่วย ปกติเจอขยะก็จะเฉยๆ ตอนนี้ก็เริ่มเก็บมากขึ้น เช่น ที่โรงเรียนขยะก็เยอะ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะมาทำ เดียวนี้เจอขยะก็เก็บ บางทีก็เก็บแบบไม่ได้คิดอะไร มันเก็บไปเองโดยอัติโนมัติ เพราะโรงเรียนก็โรงเรียนของเรา ให้ความรู้เรา และอีกอย่างถ้าเราเก็บ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระภารโรงไม่ต้องทำงานหนักมาเก็บขยะให้เรา”

สำหรับกฤษสิ่งที่เขาได้คือ มีโอกาสในการถาม ฝึกการพูดคุย ได้รู้จักลุงๆ ป้าๆ ซึ่งตอนแรกก็หวั่น ๆ ว่าจะร่วมมือกับเราไหม แต่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นมาก อย่างที่สองคือได้เพื่อน อย่างที่สามคือได้รู้จักพี่เลี้ยงโครงการให้คำปรึกษาทุกอย่าง แม้ว่าปัญหาของเราจะยาก แต่พี่ๆ ก็จะไปหาข้อมูลมาให้คำปรึกษาแก่เรา พี่เขาจะผลักดันให้เราต่อสู้อยู่เสมอ

“ถึงตอนนี้คิดว่าเรายังมีความเป็นพลเมืองไม่ดีเท่าไหร่ แต่เราเชื่อมั่นว่า ในแง่ของความเป็นพลเมือง “เรา” ได้ทำประโยชน์ไม่ว่าจะเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าคนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์ ก็ถือว่าเป็นพลเมืองแล้ว” กฤษย้ำถึงความคิดที่เปลี่ยนไป

6 เดือนของการทำโครงการ เปรียบได้กับ “ประตูแห่งโอกาส” ที่ทำให้พวกเขาได้ทำความรู้จัก “บ้านของตัวเอง” แล้ว โครงการนี้ยังช่วยฝึก “ทักษะ” ต่างๆ ทั้งการทำงานเป็นทีมและการทำงานกับชุมชน ผลจากการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบางขันแตกในครั้งนี้ยังทำให้น้องๆ ทีมท้ายหาด TD รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยบ้านที่พวกเขาอาศัยอยูอีกด้วย


โครงการเรียนรู้คุณค่าวิถีชีวิตชาวตำบลบางขันแตก

พี่เลี้ยงชุมชน : อุบลรัตน์ จงแพ

ทีมงาน :

  • สมโชค อยู่ประเสริฐ
  • ณัฐชา ผะโรประการ
  • อารี อ่อนหล้า
  • กฤษณะ คำสาลิกา
  • วสุพล จันทร์ขำ