การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำนาเกลือ จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

รักษ์นาเกลือ...ดุจเกลือรักษาความเค็ม

โครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือ


สมุทรสงครามไม่ได้มีดีแค่ที่ลิ้นจี่ ส้มโอ หรือปลาทู ตลอดเส้นของถนนพระราม 2 เข้ามาสมุทรสงครามมีแต่นาเกลือ นี่สะท้อนว่า สมุทรสงครามทำนาเกลือ เขาบอกว่าเกลือสมุทรต้องแม่กลอง อย่าไปเอาเกลือที่อื่นนะ เพราะสู้ของเราไม่ได้เลย แต่คนแม่กลองยังไม่เห็นคุณค่า ถ้านาเกลือหายไปจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเรายอมให้บ้านของเราเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นบ้านจัดสรร หรือให้ตึกสูงๆ มาแทนที่ต้นมะพร้าวหรือ ต่อไปบ้านเราก็จะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอะไรที่มีบ้านจัดสรรเยอะแยะไปหมด

เพราะทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยอาจารย์ในโรงเรียนถาวรานุกูลเป็นประจำ เมื่ออาจารย์ชวนให้เข้าอบรมในเวทีนับ 1 สร้างสำนึกปลุกพลเมืองภาคตะวันตก จึงตกลงเข้าร่วมอย่างง่ายๆ คิดเพียงว่า คงเหมือนกับที่ผ่านๆ มาคือวันเดียวจบ จิมมี่-ธีรเมธ เสือดูมี และบิ๊ก-กิตติวุฒิ อ่อนอุระ พี่ชั้น ม. 6 จึงได้มาพบกับน้อง ม. 4 ซึ่งประกอบด้วนเกมส์-กฤษฎาพงศ์ วงศ์แป้น เกน- ภาณุพงศ์ เกิดน้อย คัง-วุฒิชัย คชสาร และต๊ะ-พิคเนศ เทียมแสงอรุณ จากการชักชวนของอาจารย์พยอม ยุวสุต

แรงขับให้คิดต่อ เพราะรักษาศักดิ์ศรี

การอบรมของโครงการพลังเด็กและเยาวชนสู่การเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกที่ทั้งหมดมาเจอกัน ทำให้เกมส์ถึงกับร้องว่า “โอ้...ว้าว” เพราะ “กระบวนการ” ที่กระตุ้นให้คิดอย่างเข้มข้น โดยเพาะประเด็นการทำงานที่แต่ละทีมค้นหา จิมมี่เสนอประเด็นการเรียนรู้เรื่องการทำนาเกลือ เพราะที่บ้านทำนาเกลือ อีกทั้งเคยทำโครงงาน IS (Individual Study) เรื่องนาเกลือ จึงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า พื้นที่นาเกลือเริ่มหายไปกลายเป็นพื้นที่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า ในฐานะลูกหลานคนทำนาเกลือจึงรู้สึกว่า น่าจะนำมาต่อยอดการทำงาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของนาเกลือ

“สมุทรสงครามไม่ได้มีดีแค่ที่ลิ้นจี่ ส้มโอ หรือปลาทู ตลอดเส้นของถนนพระราม 2 เข้ามาสมุทรสงครามมีแต่นาเกลือ นี่สะท้อนว่า สมุทรสงครามทำนาเกลือ เขาบอกว่าเกลือสมุทรต้องแม่กลอง อย่าไปเอาเกลือที่อื่นนะ เพราะสู้ของเราไม่ได้เลย แต่คนแม่กลองยังไม่เห็นคุณค่า ถ้านาเกลือหายไปจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเรายอมให้บ้านของเราเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นบ้านจัดสรร หรือให้ตึกสูงๆ มาแทนที่ต้นมะพร้าวหรือ ต่อไปบ้านเราก็จะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอะไรที่มีบ้านจัดสรรเยอะแยะไปหมด” จิมมี่เล่าถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

“เราคิดมาแล้ว พี่เขาให้เราคิดเพิ่มกว่าเดิมคือ แน่ใจไหมที่คิดจะทำโครงการนี้ พวกเราเห็นปัญหาอะไร เขาถามให้เราลังเล แต่ผมก็ตอบไปทุกจุด พี่เขาก็ยังวนมาที่เดิม จนกระทั่งกลุ่มอื่นเขาทำเสร็จแล้ว กลุ่มเราก็ยังต้องทำต่อไป เจอแบบนี้ก็รู้สึกท้อ หลังจากเวทีนับ 1 ผมก็ไปโวยวายกับอาจารย์ว่า จะไม่ทำแล้ว”

แต่ระหว่างการอบรมมีคำถามจากพี่เลี้ยงโครงการที่กระตุ้นให้ทีมงานต้องคิด วิเคราะห์ ทั้งเรื่องของสภาพปัญหาว่าทำไมต้องทำโครงการนี้ บริบทของพื้นที่ ศักยภาพของทีมงาน คือ “กระบวนการ” ตรวจสอบความชัดเจนของโครงการโดยที่พี่เลี้ยงโครงการเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาถาม ทำให้ทีมสับสนและเริ่มท้อแท้ใจตั้งแต่ครั้งแรก

“เราคิดมาแล้ว พี่เขาให้เราคิดเพิ่มกว่าเดิมคือ แน่ใจไหมที่คิดจะทำโครงการนี้ พวกเราเห็นปัญหาอะไร เขาถามให้เราลังเล แต่ผมก็ตอบไปทุกจุด พี่เขาก็ยังวนมาที่เดิม จนกระทั่งกลุ่มอื่นเขาทำเสร็จแล้ว กลุ่มเราก็ยังต้องทำต่อไป เจอแบบนี้ก็รู้สึกท้อ หลังจากเวทีนับ 1 ผมก็ไปโวยวายกับอาจารย์ว่า จะไม่ทำแล้ว ไปบอกอาจารย์ว่าทำไมให้ ม. 6 ทำพวกเราต้องยุ่งเรื่องเรียนต่อ ที่จริงงานแบบนี้ต้องให้น้อง ม. 4 ม.5 ทำ” จิมมี่สะท้อนความรู้สึกเช่นเดียวกับเกมส์และเกนที่ต่างประสานกันเสียงว่า เจอแบบนี้ก็ไม่อยากทำ

แต่อาจารย์พยอมออกแรงกล่อมลูกศิษย์ให้ทำต่อ ทีมงานจึงยอมที่จะกลับไปเข้าอบรมในเวทีนับ 2 อีกครั้ง แม้พกพาความรู้สึกไม่อยากทำไปด้วย แต่เมื่อเห็นรุ่นน้องต่างโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมและทำโครงการ กลายเป็นแรงผลักดันให้ทีมฮึดสู้

“ผมก็คิดว่าไม่ทำแล้ว แต่พอไปเวทีนับ 2 ไปเห็นน้องๆ จากโรงเรียนท้ายหาด ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กๆ เขายังกล้าทำ แล้วโรงเรียนของเราล่ะ พูดจริงๆ นะ ผมเห็นแก่เกียรติยศศักดิ์ศรีของโรงเรียน แบกหน้าตาตนเองด้วย ผมมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ยอมแพ้ใคร ถ้าสู้ก็ต้องให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ไม่ยอมคน ด้วยนิสัยไม่ยอมคน ถึงมันไม่ใช่การแข่งขัน แต่มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ผมจะยอมไม่ได้เลย” จิมมี่เล่าเบื้องหลังพลังฮึด

ขณะที่เกมส์และเกนซึ่งเป็นรุ่นน้อง เมื่อเห็นรุ่นพี่ยังมีแรงฮึด จึงยังคงอยู่ร่วมทีม แต่ถ้าจะให้เป็นตัวหลักทั้งคู่ต่างปฏิเสธ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานลักษณะนี้มาก่อน

การอบรมในเวทีนับ 2 ทีมได้เรียนรู้กระบวนการวางแผนพัฒนาโครงการให้ชัดเจน สามารถดำเนินการได้จริงในระยะเวลาที่กำหนด ตามศักยภาพและงบประมาณที่จำกัด โดยเฉพาะความประทับใจต่อป้าพวง ที่ช่วยนำกระบวนการเรียนรู้ที่ละขั้นๆ อย่างใจเย็น ทำให้ทีมงานรู้สึกสบายใจและเกิดความกระจ่างในสิ่งที่ทำ

“สิ่งที่รู้สึกว่ากระจ่างคือ คุมประเด็นไม่ให้กว้าง โดยระบุไปเลยว่าเราจะทำกับใคร ที่ไหน ทำให้มันแคบลง แล้วป้าพวงให้เราคิดว่า ปัญหาคืออะไร แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เราจะทำกิจกรรมอะไร ใช้วิธีการอย่างไร คิดไปที่ละขั้นๆ” จิมมี่เล่า

โครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือ จึงมีความชัดเจนมากขึ้นกับเป้าหมายเพื่อปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำนาเกลือ โดยเน้นการทำงานกับนักเรียน เพราะคิดว่าต้องปลูกฝังกับเด็กๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป โดยกำหนดพื้นที่เรียนรู้ที่ตำบลลาดใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านของจิมมี่ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม 8 กิโลเมตร

เพราะจัดการเวลาไม่ได้ จึงกลายเป็นความขัดแย้งเล็กๆ

จิมมี่ซึ่งเป็นนักทำกิจกรรมอันดับต้นของโรงเรียน เพราะผ่านทั้งการแข่งขันการพูด การแข่งขันตอบปัญหาด้านกฎหมาย งานยุวบรรณารักษ์ จึงอยู่ในโหมดของนักกิจกรรมและนักแข่งขันมาโดยตลอด ช่วงแรกจิมมี่ยอมรับว่า เขายังไม่มีใจอยากทำงานโครงการ เพราะยังพะวงเรื่องการสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา กระทั่งกิจกรรมอบรมในเวทีนับ 3 เห็นชัดว่าโครงการของทีมยังไม่ได้เริ่มต้น

“ตอนนั้นรุ่นน้องถามผมว่า พี่จิมมี่จะเอาอย่างไร ผมก็บอกว่า ถ้าเขาถามว่าเราดำเนินงานไปถึงไหน ก็บอกเขาไปว่า เราอยู่ในช่วงประชาสัมพันธ์” จิมมี่สารภาพ

เจอมุกนี้ของพี่จิมมี่ น้องๆ ถึงกับไปไม่เป็น พี่กำลังทุ่มเทความสนใจกับการทำเอกสารเพื่อสมัครเรียนต่อ แต่น้องสนใจจะทำโครงการ ความขัดแย้งเล็กๆ ระหว่างพี่กับน้องทำให้ทะเลาะกัน

“แทบจะฆ่ากัน พี่จิมมี่เป็นคนนัดประชุม นัดเองแล้วก็เบี้ยวตลอด พอถามว่าทำไมไม่มาประชุม ก็บอกว่าลืม ติดธุระ จะโหวตเอาออกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะพี่เขามีประสบการณ์ เราก็เห็นว่าพี่เขามีประโยชน์อยู่ นัดไว้ไม่มาเราก็โกรธนิดๆ ตอนนั้นทะเลาะกัน” เกมส์เล่าถึงความหลัง

ดังนั้น เพื่อเป็นการค้นหากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ เกมส์จึงเปิดเพจโครงการทางเฟสบุ๊คเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการคู่ขนานไปกับการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายในโรงเรียนถาวรานุกูล แต่กระนั้นยังไม่มีใครสมัครเข้าร่วมโครงการ

“เมื่อไม่มีใครมาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม จึงต้องใช้มาตรการเชิงรุก ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์เข้าไปรับสมัครน้องๆ ถึงในห้องเรียน โดยใช้จุดขายเรื่องการนั่งรถไฟเที่ยวเป็นตัวล่อ เมื่อนำปัญหาดังกล่าวไปปรึกษากับพี่เลี้ยงโครงการจึงได้รับคำแนะนำว่า เพราะโครงการขาดความชัดเจน ไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน และกำหนดการที่มีก็มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จนทำให้ผู้ที่สนใจสับสน”

1 เดือนผ่านไป ในที่สุดเมื่อจิมมี่ได้ที่เรียนสมใจ จึงกลับมาสนใจโครงการอีกครั้ง ประกอบกับเป็นช่วงที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน ทีมงานจึงต้องเริ่มทำกิจกรรมอย่างจริงจัง เมื่อไม่มีใครมาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม จึงต้องใช้มาตรการเชิงรุก ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์เข้าไปรับสมัครน้องๆ ถึงในห้องเรียน โดยใช้จุดขายเรื่องการนั่งรถไฟเที่ยวเป็นตัวล่อ เมื่อนำปัญหาดังกล่าวไปปรึกษากับพี่เลี้ยงโครงการจึงได้รับคำแนะนำว่า เพราะโครงการขาดความชัดเจน ไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน และกำหนดการที่มีก็มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จนทำให้ผู้ที่สนใจสับสน ทีมงานจึงประชุมวางแผนการทำงานโดยร่วมกันออกแบบกำหนดการของกิจกรรมเรียนรู้ให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย ชนิดเส้นยาแดง เพราะอีก 7 วันก็จะจัดกิจกรรมแล้ว

รอแล้วรอเล่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 30 คน ก็ยังไม่ปรากฏ หลังจากที่จู่โจมไปหาถึงห้องเรียนก็ยังไม่ได้ ทีมจึงเปลี่ยนแผน แบ่งกันหาสมาชิกให้ได้อย่างน้อยคนละ 10 คน จิมมี่จึงชวนรุ่นน้องที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันมาก่อน เกมส์ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ประจำชั้นให้ช่วยหาน้องให้ และขอร้องเพื่อนๆ ชั้น ม. 4 มาร่วมกิจกรรม ส่วนเกนชวนเพื่อนสนิท เมื่อรวมแล้วได้กลุ่มเป้าหมายที่จะร่วมเรียนรู้ 23 คนที่สมัครใจมาร่วมกิจกรรม ถึงแม้จะพลาดเป้า แต่ทีมงานก็เดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไป

กว่าจะเป็นกิจกรรม “ปั้นน้ำเป็นเกลือ”

กิจกรรมที่วางแผนไว้คือ ให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้เรื่องนาเกลือ โดยตั้งใจว่าต้องเป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ซึ่งกิจกรรม “ปั้นน้ำเป็นเกลือ” เป็นกิจกรรมที่พากลุ่มเป้าหมายไปเรียนรู้การทำนาเกลือและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเกลือกับปราชญ์ชาวบ้าน โดยพากันนั่งรถไฟชมวิถีชีวิต 2 ฝั่งทางรถไฟ

“ก่อนงานจะมีการประชุมวางแผนกันว่า กำหนดการจะเป็นอย่างไร ทุกคนแบ่งหน้าที่ตามความถนัด ผมพูดเก่งจะทำหน้าที่ประสานงาน เกมส์ดูแลเรื่องอุปกรณ์กระดาษวาดภาพ สี ป้ายไวนิล เกนช่วยจัดเตรียมสถานที่ วางโต๊ะ จัดโต๊ะ” จิมมี่เล่า

แม้ว่าจิมมี่จะเคยศึกษาเรื่องนาเกลือมาก่อน แต่เพื่อนๆ ในทีมยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ ดังนั้น ก่อนจะจัดกิจกรรม อาจารย์พยอมในฐานะพี้เลี้ยงชุมชนแนะนำให้ทีมงานค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนาเกลือ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้ของทีมงาน และสรุปองค์ความรู้เรื่องนาเกลือเพื่อนำมาแจกให้กลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันทีมต้องประสานงานกับทางการรถไฟ เพราะแม้ว่าจะเป็นรถไฟฟรี แต่ก็ต้องแจ้งจำนวนผู้โดยสารของกลุ่มเพื่อการรถไฟจะได้เตรียมขบวนรถรองรับ อีกทั้งต้องพาทีมงานลงสำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อประสานนัดหมายกับปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน และวางแผนกำหนดเส้นทางที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่นาเกลือ

กิจกรรมจัดขึ้น 2 วัน โดยวันแรกนัดหมายกันที่โรงเรียนถาวรานุกูล เพื่อทำความรู้จักกันแล้วจึงพากันไปขึ้นรถไฟที่สถานีแม่กลอง บรรยากาศการระหว่างการนั่งรถไฟสร้างความเพลิดเพลินให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้ชมทิวทัศน์สองข้างทาง

“ขึ้นรถไฟได้ทีมก็ชี้แจงกำหนดการ โจทย์บนรถไฟคือ ซึมซับบรรยากาศเพื่อเอาไปวาดภาพ ไม่ได้จัดกิจกรรมอะไรมาก เพราะเป็นระยะทางสั้นๆ จากสถานีแม่กลองมาถึงสถานีลาดใหญ่ไม่เกิน 15 นาที ไม่อยากให้เครียด ตั้งใจให้เขาได้เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศ สบายๆ ชมวิวไปเรื่อยๆ ตรงนี้สำคัญมากกว่า ให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลง ให้เขาคิดด้วยตนเองมากกว่าที่เราจะบอก” เกมส์อธิบาย

“เมื่อถึงนาเกลือกลุ่มเป้าหมายจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตการทำนาเกลือจากชาวบ้าน 7 คน ที่เต็มอกเต็มใจมาบอกเล่า เพราะดีใจที่คนรุ่นใหม่สนใจเรียนรู้เรื่องนาเกลือ ชาวบ้านสอนเรื่องการทำนาเกลือและเปิดโอกาสให้เยาวชนซักถามอย่างเต็มที่ ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ไม่มีใครบ่นร้อนบ่นเบื่อ เพราะเป็นของชินตา แต่ไม่เคยได้สัมผัสใกล้ชิดมาก่อน ยิ่งถามยิ่งซักยิ่งสนุก ยิ่งได้ลิ้มรสชิมเกลือ ลองเข็นเกลือ สร้างความรู้สึกเต็มตื้นให้แก่เจ้าของอาชีพ”

ระยะทางสั้นๆ ระหว่างทางที่ไปนาเกลือ ทุกคนจะได้เห็นว่า มีการถมที่ มีบ้านจัดสรรขึ้น ซึ่งสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดิน เมื่อถึงนาเกลือกลุ่มเป้าหมายจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตการทำนาเกลือจากชาวบ้าน 7 คน ที่เต็มอกเต็มใจมาบอกเล่า เพราะดีใจที่คนรุ่นใหม่สนใจเรียนรู้เรื่องนาเกลือ ชาวบ้านสอนเรื่องการทำนาเกลือและเปิดโอกาสให้เยาวชนซักถามอย่างเต็มที่ ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ไม่มีใครบ่นร้อนบ่นเบื่อ เพราะเป็นของชินตา แต่ไม่เคยได้สัมผัสใกล้ชิดมาก่อน ยิ่งถามยิ่งซักยิ่งสนุก ยิ่งได้ลิ้มรสชิมเกลือ ลองเข็นเกลือ สร้างความรู้สึกเต็มตื้นให้แก่เจ้าของอาชีพ

จากนาเกลือ ทีมพากลุ่มเป้าหมายไปเรียนรู้เรื่องการแปรรูปเกลือเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่วิสาหกิจชุมชนตำบลลาดใหญ่ ซึ่งมีการแปรรูปเกลือเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในสปา เช่น เกลือสปา สบู่เกลือ เกลือขัดหน้า เกลือแช่เท้า ฯลฯ ซึ่งกลุ่มเยาวชนได้รับโอกาสสนุกสนานกับการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์กันอย่างเต็มที่

วันที่ 2 ทีมงานนัดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสรุปผลการเรียนรู้ โดยให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมสรุปบทเรียนจากการเรียนรู้ที่ผ่านมา โดยมีคำถามง่ายๆ ที่ได้มาจากกระบวนการอบรมในเวทีนับ 3 check point พลเมือง คือการสะท้อนคิดทบทวนตัวเราว่า ตาได้เห็นอะไร ปากได้ถามอะไร สมองได้อะไร หูได้ยินอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร ได้สัมผัสอะไร แต่ละคนรวมทั้งทีมงานต่างสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ก่อนที่จะนำเสนอผลงานของแต่ละคน ผลงาน 23 ชิ้นถูกถ่ายภาพนำไปโพสต์ในเพจของโครงการ โดยมีการเก็บต้นฉบับไว้อย่างดี พร้อมนำมาโชว์ทุกครั้งที่เมื่อมีโอกาส ซึ่งเกนบอกว่า นี่คือความทรงจำที่มีค่ามาก

“มันเหมือนคนเราที่ใช้ชีวิตประจำวันไปทุกๆ วัน เราก็ควรจดจำสิ่งดีๆ ในแต่ละวันไว้ ถึงมันจะมีค่าแค่นิดเดียว หรือมีความสุขแค่ 5 วินาที แต่มันก็คือความสุขของเรา เราก็จดจำไว้ เหมือนงานนี้ถึงน้องจะเขียนมาเป็นแค่กระดาษ แต่น้องเขาเขียนมาจากความรู้สึกของน้อง มันสำคัญมากต้องเก็บไว้” เกนบอก

ต่อยอดกิจกรรม เพิ่มพูนประสบการณ์

หลังจากที่ในหัวใจฟูฟ่องจากกิจกรรมที่เพิ่งจัดไปไม่นานนัก Show Time ก็มาถึงเมื่อโรงเรียนจัดงานวันรักการอ่าน ทีมงานได้รับโอกาสจึงนำผลงานไปนำเสนอ โดยอาจารย์พยอมมอบหมายให้เป็นฐานการเรียนรู้หนึ่งในงานดังกล่าว

“เราเอารูปพวกนี้ไปติดให้น้องๆ ในโรงเรียนดู เป็นกิจกรรมที่งอกมาไม่ได้อยู่ในแผนงาน เราร่วมกับยุวบรรณารักษ์จัดกิจกรรมที่ห้องสมุด นำงานในโครงการปลุกพลังคนรักนาเกลือ ตอน “กว่าจะเป็นเกลือสมุทร” ที่แสดงให้เห็นความยากลำบากที่กว่าจะเป็นเกลือ งานจัด 1 วัน โดยทีมเราเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้ในกิจกรรมรักการอ่าน มีเด็ก 60 คน เข้าร่วม สลับกันเรียนรู้แต่ละฐานๆ ละ 25 นาที รวม 6 รอบ” จิมมี่เล่า

ความสำเร็จของการจัดกิจกรรมของทีมงาน ยังส่งผลต่อเนื่องให้พี่ๆ ในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เห็นความสามารถ จึงได้เชื่อมประสานระหว่างกลุ่มเยาวชนตำบลบางแก้วในโครงการนักถักทอชุมชนของ อบต.บางแก้ว เพื่อให้น้องได้ประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น

“เราถามน้องอยากเรียนรู้เรื่องอะไร น้องบอกว่านาเกลือ เพราะน้องอยู่ตำบลบางแก้วเลยสนใจอยากดูนาเกลือ พวกเราเลยออกแบบกระบวนการเรียนรู้สำหรับน้องๆ จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 ประมาณ 10 กว่าคนมาเรียนรู้เรื่องนาเกลือ” อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง พี่เลี้ยงโครงการบอกเล่าถึงเบื้องหลังความคิดที่โยนให้ทีมงาน เพราะอยากดูว่าเขาจะคิดอย่างไร ทำอย่างไรต่อ ถ้ามีคนมาสนใจ

การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการ “ลงมือทำ”

เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงาน พวกเขาไม่ได้อิดออด เริ่มประสานงานอย่างเร่งด่วน โดยใช้รูปแบบกิจกรรมคล้ายๆ กับกิจกรรม “ปั้นน้ำเป็นเกลือ” แต่ปรับกระบวนการให้เข้มข้นมากขึ้น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งคำถามที่อยากจะถามชาวบ้านเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนนั่งรถไฟ และมีการปรับบทบาทภายในทีม

“ครั้งนี้เราเน้นให้น้องทำมากขึ้น เพราะผมคิดว่า คนที่จะมาดูแลโครงการต่อคือพวกเขา ถ้าเรามัวแต่กุมอำนาจไว้คนเดียว น้องจะทำไม่เป็น ผมมีประสบการณ์จากการทำงานในโรงเรียนคือ ไม่มีใครมารับช่วงต่อ แม้กระทั่งการทำงานกลุ่มผมก็ทำคนเดียวคือ ไม่ต้องมาช่วย ทำคนเดียวได้ ยึดว่าตนเองทำได้ ทำคนเดียวมาตลอด จนมานึกได้ว่า ทำคนเดียวไม่ได้นะ เริ่มรู้ตัวว่าต้องสร้างทายาท การที่เราเก่งเดี่ยวแล้วคนในทีมไม่เก่ง เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่คนอื่นเหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์ ปีหน้าเขาต้องทำกันเอง” จิมมี่เล่าวิธีคิดการทำงานที่เปลี่ยนไป

“ถ้าเรามัวแต่กุมอำนาจไว้คนเดียว น้องจะทำไม่เป็น ผมมีประสบการณ์จากการทำงานในโรงเรียนคือ ไม่มีใครมารับช่วงต่อ แม้กระทั่งการทำงานกลุ่มผมก็ทำคนเดียวคือ ไม่ต้องมาช่วย ทำคนเดียวได้ ยึดว่าตนเองทำได้ ทำคนเดียวมาตลอด จนมานึกได้ว่า ทำคนเดียวไม่ได้นะ เริ่มรู้ตัวว่าต้องสร้างทายาท การที่เราเก่งเดี่ยวแล้วคนในทีมไม่เก่ง เราเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่คนอื่นเหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์”

และเมื่อวันทำกิจกรรมมาถึงจิมมี่มอบหมายให้น้องๆ ในกลุ่มเป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้น้องได้ฝึกฝนการจัดกระบวนการ เกนผู้เงียบขรึมถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่นำสันทนาการ เกมส์ดูแลด้านการจัดการเรื่องประสานการรถไป อาหาร ขนม

ซึ่งเกนก็ยอมรับว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดใจทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ “ตอนแรกมันก็กล้าๆ กลัวๆ แต่มันต้องหัดสู้แล้ว ตอนนำสันทนาการเราก็คุยกับน้อง แนะนำชื่อ แนะนำทีม แล้วก็แนะนำชมรมปลุกพลังคนรักนาเกลือ แล้วก็ถามชื่อน้อง โดนน้องแซวบ้าง การทำครั้งแรกมันก็โอเคสำหรับผม ให้ทำอีกก็คิดว่าทำได้ เพราะผมว่าการที่เราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแล้วทำได้ ทำให้เรารู้สึกภูมิใจว่าเราก็ไม่ได้แพ้พี่จิมมี่”

ด้านเกมส์ก็ได้สัมผัสประสบการณ์น่าประทับใจในการทำงานจัดการ เมื่อไปซื้อขนมเพื่อใช้เป็นอาหารว่างสำหรับน้องๆ ที่จะมาเรียนรู้ จากร้าน Soul Bakery เจ้าของร้านสอบถามว่า จัดงานอะไร จึงได้เล่าเรื่องโครงการปลุกพลัง ฅนรักนาเกลือ เจ้าของร้านซึ่งเป็นเจ้าของนาเกลือด้วย จึงรู้สึกประทับใจที่เยาวชนสนใจเรียนรู้เรื่องการทำนาเกลือ จึงมอบขนมให้โดยไม่คิดเงิน ซึ่งเช่นเดียวกับเจ้าของร้านทำป้ายที่เมื่อรู้ว่าทีมงานทำโครงการเกี่ยวกับท้องถิ่นของตน ก็ได้สนับสนุนป้ายไวนิลแก่โครงการจำนวน 10 แผ่น

การจัดกิจกรรมราบรื่นเป็นไปด้วยดี จิมมี่จึงยิ้มแป้นเมื่อเห็นน้องๆ ทำงานเองได้ และได้ดั่งใจ จึงรู้สึกทั้งภูมิใจ สบายใจว่ามีทายาท มั่นใจว่าน้องๆ สานงานต่อได้

ทีมงานชุดนี้ ยังมีจุดเด่นในการทำงานเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ ที่เน้นการใช้จ่ายอย่างประหยัดให้สมประโยชน์ การประชุมภายในของทีมงานแต่ละครั้งไม่มีการเลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ เพราะส่วนใหญ่ประชุมกันที่ห้องสมุดในโรงเรียน หรือการประชาสัมพันธ์โครงการที่ทำแล้วทำเล่าหลายๆ รอบก็ไม่ได้ใช้งบประมาณ เพราะทีมงานตั้งใจที่จะใช้งบประมาณกับการจัดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย

“ผมคิดว่าเงินโครงการมันต้องใช้ในเรื่องจำเป็น เช่น กิจกรรมที่เราจะทำ แต่การประชุมไม่สำคัญแค่เรามานั่งคุยกัน แล้วต้องกินเลี้ยงหรือ ปกติคุยกันที่ห้องสมุด เราใช้เงินอย่างประหยัดที่สุด ไม่เคยเอาเงินมากินเล่น กินข้าวกันเลย” จิมมี่เล่า

มิติของการเรียนรู้ที่แตกต่าง

ระยะเวลา 6 เดือนของการทำโครงการ สร้างความรู้สึกแตกต่างในมิติของการเรียนรู้ที่จิมมี่บอกว่า แตกต่างจากโครงการอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

“ผมไม่เคยทำงานต่อเนื่องยาวนานอย่างนี้มาก่อน 6 เดือนนี้นานสำหรับเด็ก ปกติไปอบรม วันเดียว 3 วันก็จบ ไม่มีงานต่อ แต่นี้มันมีนับ 1 นับ 2 นับ 3 นับ 4 จนถึง นับ 5 ทำให้เราต้องคิดตลอดเวลาว่า จบเวทีนี้เราต้องทำอะไรต่อ เหมือนกับว่าคิดๆๆๆ คิดแล้วคิดอีก มันดีที่สอนให้เราคิด สอนให้เราจัดสรรเวลา เราไม่เคยเจอในเรื่องเงินที่มีให้เรามา แล้วเราต้องจัดสรรเงินตรงนี้เอง ต้องจดบันทึก ต้องทำรายงาน ต้องไปทบทวนงานเก่าๆ ว่า เราจะทำอะไรต่อ มันกลายเป็นการสอนให้เราต้องคิดตลอดเวลา”

จิมมี่ยืนยันว่า แม้ระยะเวลาในโครงการจะสิ้นสุดลง แต่ทีมยังมีความคิดที่จะทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สโลแกน “คิดอีกทำอีก” งานทิ้งทวนของทีมคือ การทำจดหมายข่าว เพื่อเผยแพร่การทำงานของโครงการ เป็นการยืนยันรูปธรรมผลการทำงาน

“นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจว่า มันสอนเราให้ทำงานอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ให้มันเห็นชัด ยิ่งเห็นชัด ยิ่งภูมิใจ จากเดิมที่เคยทำแล้วก็หาย ทำแล้วก็หาย”

อีกทั้งยังคิดว่า จดหมายข่าวจำนวน 300 ฉบับที่ออกมาจะเป็นสื่อที่ใช้เผยแพร่ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยจะส่งให้โรงเรียนอื่นๆ หน่วยงานในท้องถิ่น ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้ทราบว่าเด็กเยาวชนได้หันมาสนใจเรื่องวิถีชีวิตของท้องถิ่น

“นี่เรื่องที่เป็นหน้าเป็นตาของจังหวัด เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญตรงนี้ เขาจะได้รับรู้ว่าเด็กๆ เห็นความสำคัญตรงนี้ เด็กๆ ทำอะไรดีๆ ให้กับบ้านเมืองของเรา แล้วเขาล่ะจะทำอะไรดีๆ ให้กับบ้านเมือง ให้กับสังคมไหม” จิมมี่แสดงความคาดหวัง

ส่วนเกมส์ เล่าถึงบทเรียนเฉพาะตัวของเขาว่า งานแบบนี้สอนให้กล้าแสดงออก กล้าทำ และเมื่อได้เรียนรู้ ได้เห็นจริง ก็เกิดความมั่นใจว่าทำได้

ส่วนเกนบอกว่า “การทำโครงการนี้สำหรับผม มันเปลี่ยนชีวิตของผมไปเลย เพราะปกติผมไม่ค่อยออกสังคม พอทำงานนี้ผมต้องออกสังคมต้องไปเจอน้องที่ผมไม่รู้จัก มาเจอป้าๆ เจอใครก็ไม่รู้ ต้องไปคุยต้องไปถาม ทำให้ผมเปลี่ยนชีวิตไป ทำให้ผมรู้ว่าชีวิตคนเรามันมีค่ามาก แค่มันอยู่ที่ว่า เราจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง”

แม้จะต้องฝ่าฟันจัดสรรตัวเองกับเวลาที่ต้องทุ่มเทให้กับการเรียน และงาน เมื่อมองย้อนกลับเกนบอกว่า โครงการได้พาพวกเขามาไกลเกินฝัน แม้ว่าถ้าประเมินการทำงานแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์คือ คะแนนความสำเร็จที่มาจากทีมงานที่ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่กระบวนการทำงาน และความรู้เรื่องนาเกลือ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่ยังพร่องไปคือ การเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ลึกซึ้งเหมือนกับทีมงาน

ผู้เปิดประตูแห่งโอกาส

อาจารย์พยอม ยุวสุต พี่เลี้ยงชุมชน สะท้อนถึงประโยชน์ของโครงการว่า การทำงานโครงการทำให้นักเรียนได้กระบวนการคิด ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากทีมงานคือ เปลี่ยนจากคนที่ชอบทำตามคำสั่ง ครูจะให้ทำอะไรบอกมาทำตามได้หมด มาเป็นคนที่มีความคิดของตนเอง สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างเป็นระบบ สิ่งที่เห็นชัดเจนอีกเรื่องคือ ความกล้าแสดงออก นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

โดยบทบาทพี่เลี้ยงเธอดูแลทีมงานด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่จะให้ทีมงานดำเนินการเองทุกขั้นตอน กระบวนการทำงานของทีมจึงมีการประชุมร่วมกัน เพื่อร่วมกันวางแผน แล้วจึงนำเสนอให้เธอฟัง

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากทีมงานคือ เปลี่ยนจากคนที่ชอบทำตามคำสั่ง ครูจะให้ทำอะไรบอกมาทำตามได้หมด มาเป็นคนที่มีความคิดของตนเอง สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างเป็นระบบ สิ่งที่เห็นชัดเจนอีกเรื่องคือ ความกล้าแสดงออก นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

“เขาเป็นคนทำเอง เราแค่ฟัง อันไหนเติมได้ก็เติมไป ฟังเป็นส่วนใหญ่ ที่แทรกที่เติมประมาณไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการทั้งหมดให้เขาคิดเอง คิดก่อนแล้วมารายงาน ทำแบบนี้มันจะอย่างไร โอเคไหม ถ้าโอเคก็ทำไป เรามีหน้าที่ดูแล เขาแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทีมนี้สามารถทำงานร่วมกันได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่า ทำงานด้วยกันได้ เคารพความคิดเห็น เชื่อมั่นในการทำงานของแต่ละคน ถือว่าใช้ได้ ภูมิใจกับเด็กกลุ่มนี้มาก”

อาจารย์พยอมยังบอกอีกว่า เป้าหมายของคนเป็นครูไม่ได้คาดหวังว่า ลูกศิษย์กลุ่มนี้จะเรียนได้เกรด 4 แต่หวังว่าพวกเขาได้ทักษะชีวิต การได้ลงมือปฏิบัติ การสร้างทักษะและประสบการณ์ ที่จะสั่งสมเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต แต่การที่จะได้รับประสบการณ์จะต้องมีโอกาสในการฝึกฝน ซึ่งหน้าที่ของครูคือ เปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์

“กลุ่มนี้เขาโชคดีที่มีโอกาส และเขาก็รับโอกาสนั้นด้วย เพราะการทำงานแบบนี้มันต้องมีใจ ถ้าไม่มีใจก็ลำบาก”

เพราะ “ได้เรียนรู้” จึงเกิด “ความรัก” พลังรักนาเกลือของเยาวชนกลุ่มหนึ่งจึงถูกปลุกให้ลุกโซนจากการลงมือทำสัมผัสของจริง เมื่อรู้และรักแล้ว พวกเขาไม่ปล่อยให้ “ความรู้และความรัก” นั้นผ่านเลย แต่คิด “สานต่อ” ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาใส่ใจและเข้าใจถึงคุณค่าของนาเกลือเหมือนพวกเขา นำ “กระบวนการเรียนรู้” ที่ได้รับการปลูกฝังจากพี่เลี้ยงโครงการมาออกแบบกิจกรรมให้น้องๆ ได้เรียนรู้ด้วยความสนุกนาน ด้วยหวังว่า “ความรู้” ที่น้องๆ ได้รับจะช่วย “กระตุกต่อมคิด” รักษ์นาเกลือ ดังที่เกมส์สะท้อนความรู้สึกว่า “ไม่มีใครมาทำโครงการให้พวกเรารักนาเกลือ แต่การที่พวกเรารักนาเกลือเพราะเราได้มาศึกษามัน” นาเกลือที่เคยมองผ่านเลยด้วยความรู้สึกเฉยชา จึงถูกรับรู้ด้วยมุมมองใหม่ที่ตระหนักและซาบซึ้งถึงคุณค่าอย่างเต็มหัวใจของฅนรักนาเกลือ


โครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือ

พี่เลี้ยงชุมชน : พยอม ยุวสุต

ทีมงาน :

  • ธีรเมธ เสือดูมี 
  • กิตติวุฒิ อ่อนอุระ
  • กฤษฎาพงศ์ วงศ์แป้น 
  • ภาณุพงศ์ เกิดน้อย
  • วุฒิชัย คชสาร 
  • พิคเนศ เทียมแสง