การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนปลายโพงพาง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

เปลี่ยนพื้นที่ร้าง...เป็นพื้นที่รวม

โครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน


พอเราได้เล่นฟุตบอลทำให้รู้จักคนเยอะขึ้น จากคนที่เห็นหน้ากันไปมาไม่เคยทักกัน ก็ได้มาเป็นเพื่อนเป็นทีมเดียวกัน ผู้ปกครองในชุมชนก็สบายใจไม่ต้องกังวลว่าลูกหลานออกจากบ้านมาแล้วจะทำสิ่งไม่ดี เพราะตอนนี้เรามีพื้นที่ให้ทุกคนได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน...ถ้าไม่มาทำโครงการ คงไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องเสียสละ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า การเสียสละทำให้เราไม่เห็นแก่ตัวและทำให้เรามีโอกาสช่วยเหลือสังคม

วิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่แต่เดิมหาอยู่หากินด้วยการทำสวนและทำน้ำตาลมะพร้าวก็เปลี่ยนไปเป็นการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน อาชีพขึ้นชื่นของชุมชนจึงเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่สานต่อ ขณะที่คนหนุ่มสาวนิยมไปทำงานไกลบ้านมากขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจึงห่างเหินกันไปโดยปริยาย แต่วันนี้ชุมชนปลายโพงพางที่ต่างคนต่างอยู่ เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อกลุ่มเยาวชนปลายโพงพางอาสาเข้ามาพลิกฟื้นสนามฟุตบอลที่เคยร้างให้กลายมาเป็น “ศูนย์รวม” ที่คนทุกเพศทุกวัยในชุมชนใช้พบปะกัน ทั้งเตะฟุตบอล วิ่ง ขี่จักรยาน ถือเป็น “พื้นที่รวม” ที่ช่วยสานสัมพันธ์คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“ในอนาคตผมไม่อยากให้ลูกหลานของผมต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงและเป็นแหล่งมั่วสุม”

อ้น-นริศ เลิศวุฒิวิไล แกนนำกลุ่มเยาวชนปลายโพงพาง บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มเยาวชนปลายโพงพาง ที่รวมตัวกันมาเตะฟุตบอลร่วมกันเป็นประจำทุกเย็นที่สนามกีฬาของ อบต.ปลายโพงพาง ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2540 เป็นสนามกีฬามาตรฐาน มีทั้งสนามฟุตบอล พร้อมลู่วิ่งกรีฑาทั้งลู่และลาน พร้อมอัฒจรรย์ จากระยะเวลา 18 ปี สนามกลับขาดการดูแลรักษา ทำให้สภาพสนามมีความทรุดโทรม หญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ชำรุดเสียหาย คนในชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ สนามกีฬากลายมาเป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังคึกคะนอง แต่เพราะชอบเล่นฟุตบอลทำให้กลุ่มเยาวชนปลายโพงพางลุกขึ้นมาทำกิจกรรมร่วมกันและเปลี่ยนสนามฟุตบอลที่รกร้างนั้น ให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้ และกลายมาเป็นแหล่งสานสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชน

เมื่อศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม หยิบยื่นโอกาสให้เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก อ้นจึงรวมตัวกับเพื่อนๆ 5 คน ทำโครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน

“ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ผ่านสนามทุกวัน เห็นแล้วก็อยากเข้าไปเล่นฟุตบอล แต่เล่นไม่ได้ หญ้ารกท่วมหัวขนาดนั้น ในใจก็คิดว่าก็มีสนามอยู่แล้ว ทำไมไม่มีใครมาพัฒนาให้คนในชุมชนได้ใช้งาน พอมีโครงการเสนอเข้ามาผมเลยชักชวนคนที่ชอบเตะฟุตบอลให้เข้ามาทำโครงการด้วยกัน ตอนนั้นคิดว่าถ้าใจเขารักอยากเล่นฟุตบอล ยังไงเขาก็ต้องช่วยเรา” อ้นกล่าวถึงแนวคิดของเขา

แป้ก...ตั้งแต่เริ่มต้น

อ้นเล่าว่า ภาพการทำโครงการที่เขาฝันไว้คือ เมื่อได้งบประมาณมาแล้วจะนำมาติดไฟสปอร์ตไลท์ที่สนามฟุตบอลจะได้สว่างและเล่นในช่วงกลางคืนได้ แต่ภาพฝันก็หายไป เมื่อทีมพี่เลี้ยงบอกว่า งบประมาณที่ได้ไม่ได้ให้มาติดไฟ แต่ให้พวกเรามาคิดว่าจะพัฒนาสนามให้ดีขึ้นในระยะยาวต่อไปได้ยังไง

เหมือนฝันสลายเลยตอนนั้น...เพราะการติดตั้งระบบไฟในสนามฟุตบอล เป็นสิ่งที่เขาหมายมั่นปั้นมือว่าต้องทำให้ได้ แต่หลังผ่านการอบรมพัฒนาโจทย์โครงการ คำแนะนำจากทีมพี่เลี้ยงทำให้ อ้นและเยาวชนแกนนำคนอื่นๆ เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจนมากขึ้น

“แทนที่จะติดไฟ พี่เขาบอกให้พวกเราทำลานจอดเครื่องบิน แล้วเดี๋ยวเครื่องบินก็ลงมาจอดเอง” อ้นเอ่ยถึงคำกล่าวที่ช่วยกระตุกความคิดของเขาและบอกต่อว่า พอได้ยินแบบนั้น เข้าใจเลยว่าถ้าเขาพัฒนาสนามฟุตบอลให้ดีแล้ว เดี๋ยวไฟและอุปกรณ์ต่างๆ คงมีการสนับสนุนตามมาเอง

เมื่อเข้าใจตามนั้น จึงได้กำหนดเป้าหมายและออกแบบกิจกรรมไว้คือ ขอความร่วมมือจากคนในชุมมาช่วยปรับปรุงสนามฟุตบอล และขอยืมเครื่องมือและเครื่องตัดหญ้าจำนวน 1 เครื่องจาก อบต.ปลายโพงพางมาใช้

ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ บนสนามฟุตบอลที่ทั้งรกทั้งใหญ่ – พวกเขาช่วยกันทั้งตัด ถอน แล้วก็ใช้เครื่องไถ หญ้า ทำทั้งวันก็ยังไม่เสร็จ จนเกิดเป็นคำถามที่ดังก้องในใจทีมงานว่า “ทำไปทำไม ทำไปก็ไม่ได้อะไร”

อ๊อฟ – นฤสรณ์ พยนต์ศิริ บอกว่า ความเหนื่อยล้าจากการเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ในวันนั้น แทบจะทำให้ทุกคนถอดใจ

สนามฟุตบอลแห่งนี้เป็นสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน พร้อมลู่วิ่งและอัฒจรรย์ ถามว่าใหญ่ขนาดไหนต้องลองนึกภาพขณะชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลทางโทรทัศน์ ผู้เล่นในสนาม 22 คน ยังยืนได้ไม่ทั่วสนาม แต่ครั้งนั้นพวกเขาทำงานสลับสับเปลี่ยนกันไม่เกิน 8 คน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

ต้า – สุภัทร มณีศรีขำ บอกว่า ถึงจะร้อนและเหนื่อยขนาดไหน แต่ความอยากเล่นฟุตบอลมีมากกว่า คิดว่าถ้าพวกเราช่วยกันทำ ยังไงก็ต้องสำเร็จ

กระบวนการทำให้รู้จัก “คุณค่า” ของเงิน

แต่การเดินหน้าปรับปรุงสนามก็มีอุปสรรคเกิดขึ้น หลังจากถูกเบรกเรื่องการใช้งบประมาณโครงการ ทีมงานรู้สึกกังวล

พีท – พิริยะพงศ์ พงษ์พานิช บอกว่า “เราไม่รู้ว่าสามารถนำงบประมาณมาใช้ในเรื่องไหนได้บ้าง เลยไม่กล้าใช้เงิน ตอนปรับปรุงสนามช่วงแรก พวกเราต้องอาศัยเงินจากลุงเจี๊ยบเป็นค่าน้ำมันเติมเครื่องตัดหญ้า ค่าอาหาร ค่าน้ำ และอุปกรณ์ๆ ตอนนั้นรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเหนื่อยด้วย แล้วเราเอาเงินของลุงเจี๊ยบมาใช้ด้วย”

เมื่อเกิดข้อสงสัย พวกเขาจึงขอคำปรึกษากับทีมพี่เลี้ยงเรื่องขอบเขตการใช้งบประมาณ พอรู้ว่าสามารถเบิกงบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาสนามฟุตบอลได้ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหาร น้ำดื่มและอื่นๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม การปรับปรุงสนามจึงเดินหน้าอีกครั้ง

เมื่อคลายความสงสัยไปได้ ความคิดก็โลดแล่น พวกเขาจึงร่วมกันวางแผนการทำโครงการต่อไป โดยเอ่ยปากขอความร่วมมือให้คนที่เข้ามาใช้สนาม มาช่วยกันตัดหญ้าและดูแลสนามในครั้งต่อๆ ไป

“พี่อยากเล่นฟุตบอลไหมครับ ถ้าพี่อยากเล่นครั้งหน้าพี่มาช่วยพวกผมตัดหญ้าด้วยนะครับ พอเอ่ยปาก หลายๆ คนก็มาช่วยกัน พวกเราก็เหนื่อยน้อยลง” อ้นกล่าวย้ำ

ทำเช่นนี้อยู่หลายสัปดาห์ สนามที่รกร้างจึงกลับมาใช้งานได้ดังเดิม ซึ่งอ้นย้ำว่าที่พวกเขาไม่ถอดใจ แม้เหนื่อยเพียงไรเพราะว่า ความอยากเล่นฟุตบอลมีมากกว่านั่นเอง

“โครงการนี้สอนให้รู้จักการใช้เงินและเห็นคุณค่าของเงิน...ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทีมพี่เลี้ยงที่กระตุก กระตุ้นในเวทีต่างๆ ให้พวกเขาเป็นคนดี คิดถึงผู้อื่น เสียสละ ให้ความช่วยเหลือ และไม่เอาเปรียบผู้อื่น พวกเขาจึงต้องคิดอย่างรอบคอบทุกครั้งที่จะนำงบประมาณออกไปใช้ว่า กิจกรรมที่ทำก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากน้อยแค่ไหน”

นอกจากการตัดหญ้าในสนามเกือบทุกอาทิตย์แล้ว พวกเขายังให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณสนาม เช่น การเก็บขยะ การทำความสะอาดห้องน้ำ ตลอดไปจนถึงการทำความสะอาดอัฒจรรย์ขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สนามฟุตบอลพร้อมใช้งานมากที่สุด

“หลังจากเตะบอลเสร็จก็นั่งคุยกันทุกวัน บางทีเล่นเกมแข่งฟุตบอลกัน ทีมไหนแพ้ต้องไปเก็บขยะรอบสนาม ช่วยๆ กันก่อนกลับบ้าน ขยะจำพวกขวดน้ำที่คนทิ้งเกลื่อนกลาด แทนที่จะเก็บทิ้งเฉยๆ เราก็เก็บไปขายเอาเข้าเป็นเงินกองกลางได้อีก” อ๊อฟเล่า

“ถ้าเอาเงินไปใช้ติดไฟตั้งแต่แรก คงไม่มีเงินเหลือมาทำกิจกรรมปรับปรุงสนามได้ขนาดนี้ เพราะหญ้าไม่ใช่ตัดแค่ครั้งเดียวจบ ไหนจะค่าน้ำมัน ค่ารถ ค่าอาหาร แต่พอเราเข้ามาทำ เราก็ได้เรียนรู้การบริหารเงินจากการลงมือทำเอง รู้วิธีใช้เงินและหาเงินเข้ามาเพิ่มเพื่อเป็นเงินกองกลางต่อไปเรื่อยๆ และคุณลักษณะด้านที่ดีเหล่านี้จะติดตัวเราไป และเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตของเราในอนาคตได้อย่างแน่นอน”

อ้นสะท้อนว่า โครงการนี้สอนให้เขารู้จักการใช้เงินและเห็นคุณค่าของเงิน ไม่คิดว่าตัวเขาเอง และเพื่อนๆ จะกังวลเรื่องการใช้งบประมาณโครงการมากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทีมพี่เลี้ยงที่กระตุก กระตุ้นในเวทีต่างๆ ให้พวกเขาเป็นคนดี คิดถึงผู้อื่น เสียสละ ให้ความช่วยเหลือ และไม่เอาเปรียบผู้อื่น พวกเขาจึงต้องคิดอย่างรอบคอบทุกครั้งที่จะนำงบประมาณออกไปใช้ว่า กิจกรรมที่ทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากน้อยแค่ไหน

“ถ้าเอาเงินไปใช้ติดไฟตั้งแต่แรก คงไม่มีเงินเหลือมาทำกิจกรรมปรับปรุงสนามได้ขนาดนี้ เพราะหญ้าไม่ใช่ตัดแค่ครั้งเดียวจบ ไหนจะค่าน้ำมัน ค่ารถ ค่าอาหาร แต่พอเราเข้ามาทำ เราก็ได้เรียนรู้การบริหารเงินจากการลงมือทำเอง รู้วิธีใช้เงินและหาเงินเข้ามาเพิ่มเพื่อเป็นเงินกองกลางต่อไปเรื่อยๆ และคุณลักษณะด้านที่ดีเหล่านี้จะติดตัวเราไป และเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตของเราในอนาคตได้อย่างแน่นอน” อ้น กล่าวอย่างมั่นใจ

เมื่อพื้นที่ร้าง...กลายเป็นพื้นที่รวม

และแล้วสนามฟุตบอลที่มีสภาพไม่ต่างจากป่า ก็กลายเป็นสนามเตียนโล่ง สะอาดตา และสามารถใช้งานได้ทุกวัน ลู่วิ่งที่เคยเต็มไปด้วยหนามและไมยราพก็กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง อัฒจรรย์เลอะเกรอะฝุ่นได้รับการปัดกวาดเช็ดถูและทาสีจนดูมีชีวิตชีวา อ้นบอกว่า ทั้งหมดไม่มีทางสำเร็จได้เพียงเพราะพวกเขา แต่สนามฟุตบอลที่เห็นในวันนี้เกิดจากการดูแลและการให้ความร่วมมือของทุกคนที่เข้ามาใช้สนาม ทั้งคนในชุมชนเอง และจากชุมชนอื่นๆ

“แค่เห็นคนในชุมชนมาใช้สนามบ้างก็มาเตะบอล บ้างก็มาวิ่ง มาเดิน มาขี่จักรยาน หรือแม้ใช้เป็นที่พบปะพูดคุยกัน เพียงแค่นี้เราก็ดีใจแล้ว แต่นี่มีเยาวชนจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมเล่นฟุตบอลด้วย เราก็ยิ่งภูมิใจ สนามฟุตบอลนี้ถือเป็นสนามที่ใกล้ที่สุดในละแวกนี้ ถ้าไม่เล่นที่นี่ก็ต้องไปถึงในเมืองซึ่งลำบากกว่ามาก” อ๊อฟกล่าว

ปัจจุบันสนามฟุตบอลปลายโพงพางแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของชุมรมฟุตบอลอมรวดี ที่พวกเขาเป็นสมาชิก และสมาชิกในชมรมฟุตบอลก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่ต่างก็สลับสับเปลี่ยนกันมาใช้สนาม

อย่างไรก็ตามแม้สนามฟุตบอลแห่งนี้จะฟื้นคืนชีพด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาและคนในชุมชน แต่เมื่อหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ภายนอกชุมชนเข้ามาขอใช้สนาม พวกเขาไม่ได้หวงห้าม เพราะคิดว่า สนามนี้เป็นของส่วนรวมจึงยินดีต้อนรับทุกคนที่สนใจเข้ามาใช้สนาม แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เมื่อใช้แล้วต้องช่วยกันดูแลและรักษาความสะอาด

“สนามไม่ใช่ของผม ผมไม่ได้ใช้เงินซื้อมา แต่ผมก็ไม่ยอมนะ ถ้ามาใช้สนามแล้วทำให้สนามแย่ลงอีก...ทางจังหวัดติดต่อเข้ามาขอใช้สนามหลายครั้ง เราก็วางข้อตกลงว่ามาใช้สนามได้ แต่หลังเสร็จภารกิจแล้วต้องช่วยกันเก็บกวาด และทางเราจะเรียกเก็บค่าใช้สนามเล็กน้อย เพื่อนำมาเป็นเงินกองกลางของชมรม...ถ้าเราไม่เก็บค่าใช้จ่ายเลย เราจะเอาเงินที่ไหนมาเป็นเงินกองกลางในการดูแลรักษาสนามในระยะยาว” อ้นอธิบายถึงแผนการทำงาน

ทุกวันนี้การตัดหญ้ากลายเป็น “ความรับผิดชอบ” ของทุกคนที่มาใช้สนาม พวกเขาจะนัดหมายพี่ๆ น้องๆ ลุงๆ ที่ใช้สนามมาช่วยกันตัดหญ้าและดูแลรักษาความสะอาดเพื่อให้สนามที่พวกเขารักพร้อมใช้งานตลอดเวลา

สนามนี้...พี่ให้น้อง

หลังฟื้นฟูสนามจนกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง กระแสการเล่นฟุตบอลในชุมชนจึงเกิดขึ้น การคิดดีทำดีของกลุ่มเยาวชนปลายโพงพางไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่พวกเขาอาสาเข้ามาเป็นครูฝึกสอนฟุตบอลให้เยาวชนรุ่นน้อง ภายใต้สังกัดชมรมฟุตบอลอมรวดี ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ไปพร้อมๆ กับการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาสนาม และช่วยกันคิดปรับปรุงสนามฟุตบอลให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

“พอสนามใช้การได้ดี คนก็มาเตะฟุตบอลเยอะขึ้น ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ พวกเราเลยอาสาเป็นโค้ชให้น้องๆ ที่สนใจเตะฟุตบอล แล้วก็นำเงินกองกลางที่มีอยู่ไปซื้ออุปกรณ์มาใช้ในการฝึกสอน” พีทกล่าว

และหากพบนักกีฬาคนไหนที่มีแวว สนใจด้านการฝึกฝนพัฒนาฝีมือ หรืออยากเข้าร่วมแข่งขันกีฬากับชุมชนภายนอก ชมรมก็จะเป็นตัวแทนส่งนักกีฬาเข้าไปเรียนรู้ พร้อมจ่ายค่าสมัครให้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนหันมามุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาตัวเองในด้านกีฬาต่อไป

สำหรับ ณัฐ – ณัฐวุฒิ วอนไวย ถึงแม้จะไม่ได้เข้ามาทำโครงการตั้งแต่ช่วงแรก แต่เขาบอกว่า หลังจากเห็นภาพของคนในชุมชน เข้ามาใช้ประโยชน์จากสนามที่พวกเขาร่วมกันพัฒนา เขารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำโครงการครั้งนี้

ขณะที่คิว-พรภวิทย์ เงินวิลัย สมาชิกรุ่นน้องของชมรมฟุตบอลอมรวดี บอกว่า รู้สึกดีใจที่มีสนามฟุตบอลใกล้บ้าน เดิมทีเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นไปวันๆ เพราะไม่มีอะไรทำ เลยตัดสินใจมาทำกิจกรรมร่วมกับชมรมฟุตบอล และรู้สึกประทับใจการทำงานของรุ่นพี่

“พวกพี่ๆ ขยันมาก เห็นเขามาช่วยกันตัดหญ้าดูแลสนาม จนมีสนามฟุตบอลให้ได้เล่นกัน ผมก็เลยอยากมาช่วยบ้าง”

สนาม...สร้างสำนึกความเป็นพลเมือง

ก่อนเข้ามาทำโครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน อ้นไม่ใช่เด็กวัยรุ่นเกเรอะไร นอกจากเล่นเกม แต่งรถ แล้วขี่มอเตอร์ไซค์ไปโน่นไปนี่แล้ว เขาไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การเตะฟุตบอลเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาชอบและให้ความสำคัญมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่ก่อนหน้านี้ในชุมชนไม่มีพื้นที่ให้เขาเข้ามาเตะฟุตบอลได้อย่างจริงจัง

“เมื่อก่อนผมต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปเตะฟุตบอลในเมืองซึ่งอยู่ไกลออกไปอีก กว่าจะไปเล่นก็เย็น เล่นเสร็จก็มืดแล้ว ทำให้ไม่ค่อยอยากขี่มอเตอร์ไซค์ไป เพราะอันตราย เราเลยไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย” อ้นกล่าว

เช่นเดียวกับสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ การ เล่นเกม รวมกลุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ เป็นงานถนัด แต่ถ้าเลือกได้พวกเขาก็อยากเตะฟุตบอลมากกว่า เพราะ “มันสนุกกว่า”

ขณะที่ต้าบอกว่า เขาเป็นเด็กติดเกมมาก่อน วันๆ นั่งเล่นเกมอยู่ที่บ้านทั้งวันทั้งคืน เพราะย่ากลัวไปมั่วสุมติดยาเสพติด เลยไม่อยากให้ออกจากบ้าน แต่พอเข้ามาทำโครงการนี้ มีผลงานให้เห็นและเป็นที่พูดถึงในชุมชน ย่าก็สนับสนุนให้ออกจากบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ และเล่นเกมน้อยลงมาก

“การเล่นฟุตบอลทำให้ได้รู้จักคนเยอะขึ้น จากคนที่เห็นหน้ากันไปมาไม่เคยทักกัน ก็ได้มาเป็นเพื่อนเป็นทีมเดียวกัน ผู้ปกครองในชุมชนก็สบายใจไม่ต้องกังวลว่าลูกหลานออกจากบ้านมาแล้วจะทำสิ่งไม่ดี เพราะตอนนี้เรามีพื้นที่ให้ทุกคนได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน...ถ้าไม่มาทำโครงการ คงไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องเสียสละ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า การเสียสละทำให้เราไม่เห็นแก่ตัวและทำให้เรามีโอกาสช่วยเหลือสังคม” ต้ากล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่ชัดเจน

ส่วนอ๊อฟ บอกว่า เพราะความสามัคคี ทำให้มีวันนี้ ทุกคนช่วยเหลือและไม่ทอดทิ้งกัน ตัวเขาเองจากเดิมที่ไม่ชอบสุงสิงกับใครก็มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นมากขึ้น โครงการนี้ขัดเกลาให้เขานึกถึงผู้อื่นและอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อส่วนรวม

“ถ้าอ้นไม่ชวนมาทำโครงการ ผมก็คงเป็นเหมือนเดิม เล่นเกมอยู่บ้านเฉยๆ หรือไม่ก็ออกไปขี่มอเตอร์ไซค์เล่น เพราะปกติไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ตอนแรกที่เข้ามาก็เพราะอยากช่วยเพื่อน พอต้องมาทำจริงทั้งเหนื่อยทั้งร้อนก็เริ่มไม่อยากทำ แต่ก็อยากเล่นฟุตบอล แล้วมีเพื่อนๆ ทำงานอยู่ด้วยกันมันก็สนุก แต่ตอนนี้รู้สึกภูมิใจและรู้สึกดีที่ ตัวเราได้เล่นฟุตบอล แล้วมีคนอื่นมาเล่นด้วย ทำให้สนามเป็นของทุกคน ไม่ใช่นึกถึงตัวเองอย่างเดียว”

“เพราะความสามัคคี ทำให้มีวันนี้ ทุกคนช่วยเหลือและไม่ทอดทิ้งกัน ตัวเขาเองจากเดิมที่ไม่ชอบสุงสิงกับใครก็มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นมากขึ้น โครงการนี้ขัดเกลาให้เขานึกถึงผู้อื่นและอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อส่วนรวม”

สำหรับอ้น ถึงแม้เขาจะมีความภาคภูมิใจอยู่ลึกๆ ที่เห็นพื้นที่ทั้งหมดของสนามฟุตบอลเกิดประโยชน์ต่อผู้คน เป็นทั้งพื้นที่วิ่ง ปั่น เตะ และเดินเล่น ของคนทุกเพศทุกวัย แต่สิ่งที่เขาอยากเห็นมากที่สุดคือ การร่วมมือกันของทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะเข้ามาช่วยดูแลรักษาและพัฒนาสนามฟุตบอลให้ดียิ่งขึ้น

การสร้างลานบิน เพื่อให้เครื่องบินลงมาจอดของเราได้ผล ล่าสุดทาง อบต. เรียกให้คนในชุมชน รวมถึงพวกเราไปยกมือโหวตว่าต้องการให้มีการติดตั้งไฟในสนามฟุตบอลหรือเปล่า ซึ่งผลก็ออกมาว่าคนในชุมชนต้องการให้มีการติดตั้งไฟในสนามฟุตบอล เท่ากับเราทำได้สำเร็จไปขั้นหนึ่ง

“ผมจำคำที่ลุงเจี๊ยบพูดได้ว่า ต้องดูแลสนามให้ดี ต่อให้ไม่มีโครงการนี้ก็ต้องทำต่อไป ผมเลยคิดต่อว่าแม้เราจะไม่ได้ทิ้งชุมชนไปไหน แต่เราต้องสร้างสำนึกตรงนี้ให้กับเด็กรุ่นต่อๆ ไปด้วย” อ้นกล่าว

เปิดพื้นที่...เปิดความคิด

การพัฒนาสนามฟุตบอลให้กลายเป็น “พื้นที่เปิด” ที่เด็กเยาวชนและคนในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เป็นเป้าหมายที่กลุ่มเยาวชนปลายโพงพาง และผู้ใหญ่ใจดีอย่าง ลุงเจี๊ยบ-ชัยนุรักษ์ อินทรสิงห์ ตั้งเป้าไว้

ลุงเจี๊ยบ บอกว่า กระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดให้แก่เยาวชน ทำให้พวกเขามีความรับผิดชอบและนึกถึงส่วนรวมมากขึ้น จากเดิมถึงแม้ไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ก็นึกถึงความต้องการของตัวเองก่อนเสียเป็นส่วนใหญ่

“ช่วงแรกพวกเขาค่อนข้างงอแง ไม่อยากเข้าไปอบรม เพราะเบื่อ ไม่เข้าใจเป้าหมายและวิธีการทำโครงการ เขาเลยรู้สึกว่ายาก เราก็กึ่งพูดกึ่งบังคับว่ารับโครงการมาแล้วต้องไปอบรม แต่พอเขาได้ผ่านการอบรมไปเรื่อยๆ โดยมีผมและพี่เลี้ยงคนอื่นๆ คอยให้กำลังใจ เมื่อเขาเข้าใจก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำโครงการด้วยตัวเอง ไม่เกี่ยงที่จะต้องไปเข้าอบรมอีก เพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่า นอกจากตัวเขาจะได้เล่นฟุตบอลแล้ว คนในชุมชนจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาสนามด้วย”

ในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการลุงเจี๊ยบให้ความสำคัญกับการปล่อยให้เยาวชนได้ลงมือทำและเผชิญหน้ากับปัญหา เพราะเชื่อว่าการลงมือปฏิบัติจะทำให้เยาวชนเติบโตทางความคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนแกนนำ ลุงเจี๊ยบบอกว่า พวกเขาสนใจใฝ่รู้ เปิดใจที่จะพัฒนาตัวเอง และพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อกลับจากการอบรมเพื่อพัฒนาโครงการพวกเขามาชวนคุย แล้ววิเคราะห์ข้อบกพร่องของตัวเองเกี่ยวกับการนำเสนอผลงานในที่ประชุม และบอกว่า พวกเขาทำได้ไม่ดีนักจึงอยากขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นได้บ้าง

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราผลักให้เขาได้ลงมือทำโครงการด้วยตัวเอง ตอนแรกเราอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมคิดบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ถอยออกมา จนถึงตอนนี้ต่อให้เราถอยออกไปห่างกว่านี้ เขาก็สามารถดูแลโครงการได้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง”

ด้านสุรนาถ จันเพ็ง พี่เลี้ยงโครงการบอกว่า เยาวชนกลุ่มนี้มีความตั้งใจในการทำโครงการสูงมาก สังเกตได้จากการร่วมแรงร่วมใจปรับปรุงสนามโดยไม่ท้อถอย แม้การทำงานจะมีปัญหาบ้าง เรื่องการจัดสรรเวลาไม่ตรงกัน แต่ภาพรวมก็ถือว่ากลุ่มแกนนำเยาวชนต่างก็เสียสละเวลาเข้ามาทำกิจกรรมอย่างเต็มที่

“เราจะย้ำกับเขาตลอดว่า อย่าคิดว่าเป็นภาระ เราเข้ามาทำตรงนี้เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีสนามออกกำลังกาย เป็นประโยชน์กับคนในชุมชน”

แม้จุดเริ่มต้นจะมาจากแรงขับที่อยากทำเพื่อตัวเอง อยากติดไฟ อยากเตะฟุตบอลในสนาม แต่กระบวนการเรียนรู้จากโครงการ ทำให้พวกเขา “เปลี่ยนแรงขับ” มาเป็น “แรงผลักดัน” หันมาทำเพื่อผู้อื่น มองเห็นศักยภาพของตัวเองและเห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำประโยชน์ให้ชุมชนได้ วันนี้สนามฟุตบอลกลายเป็น “พื้นที่รวม” ที่ร่วม “สร้างความสุข” ให้กับคนในชุมชนปลายโพงพาง บ้างก็เล่นฟุตบอล บ้างก็วิ่ง บ้างก็ขี่จักรยาน เป็นภาพที่ก่อให้เกิดความอุ่นใจของคนในชุมชนที่ไม่ต้องกังวลว่าสนามฟุตบอลแห่งนี้จะเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชนต่อไป


โครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน

พี่เลี้ยงโครงการ

  • สุรนาถ จันเพ็ง
  • พรภวิทย์ เงินวิลัย 

ทีมงาน : กลุ่มเยาวชนปลายโพงพาง

  • นริศ เลิศวุฒิวิไล
  • นฤสรณ์ พยนต์ศิริ
  • พิริยะพงศ์ พงษ์พานิช
  • ณัฐวัฒน์ วอนไวย
  • สุภัทร มณีศรีขำ