การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

อัมพวา...ที่รัก

โครงการมัคคุเทศก์น้อยตลาดน้ำอัมพวา


ก่อนหน้านี้พวกเราเคยคิดว่าปัญหาของชุมชนเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินตัว พวกเราคงไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขอะไรได้ ก่อนเริ่มต้นทำก็กล้าๆ กลัวๆ แต่พอได้มาลงมือทำจริงๆ มันก็ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินกำลังของพวกเรา

ถ้าเอ่ยถึงอัมพวา หลายคนคงร้องอ๋อ แล้วจินตนาการตามได้ถึงตลาดเก่าแก่ริมแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ร่มผ้าใบและร้านรวงเรียงรายกันหนาแน่น แตกแขนงแยกย่อยคดเคี้ยวไปตามตรอกซอกแซกและถนนเล็กๆ ภาพจำของอัมพวาในสายตานักท่องเที่ยว...น่าจะเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยของกินหลากหลาย มีของขายกระจุกกระจิกน่ารัก ไปจนถึงเสื้อผ้าแฟชั่น และของฝากหลากหลายแนว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อัมพวาจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและความนิยมของนักท่องเที่ยว ร้านรวงแบบโบราณที่มีประตูพับเป็นซี่เหล็ก หรือประตูไม้บานเฟี้ยมกับป้ายร้านสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีตัวอักษรสีเหลืองทองบนพื้นสีแดงหรือสีเข้มๆ ออกกรมท่า เริ่มกลายเป็นร้านสีสันฉูดฉาด ตกแต่งด้วยสไตล์ทันสมัย เริ่มมีให้เห็นเป็นสภาพสังคมที่ทั้งคนอัมพวาดั้งเดิมและคนต่างถิ่นซึ่งย้ายเข้ามาทำมาหากินต่างต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แต่ที่ผ่านมามีเรื่องราวในทางลบระหว่างนักท่องเที่ยวและแม่ค้าในตลาดน้ำอัมพวามากขึ้น ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่นักท่องเที่ยวไม่มีคนคอยแนะนำเกี่ยวกับตลาดน้ำอัมพวา ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความรู้ที่แท้จริง ไม่ได้เห็นวิถีชีวิตของคนอัมพวาจริงๆ เช่น การตักบาตรริมคลองอัมพวา การทำสวนผลไม้ของคนในชุมชน รวมถึงเข้าไม่ถึงร้านค้าที่มีคุณภาพ จนนักท่องเที่ยวไม่ประทับใจและไม่กลับมาท่องเที่ยวที่อัมพวาอีก กลุ่มเยาวชน THAWARA PRESENTED เห็นปัญหาดังกล่าว เมื่อมีโอกาสรู้จักโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ประกอบกับอยากทำกิจกรรมสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์เพื่อสังคม จึงคิดทำโครงการมัคคุเทศก์น้อยตลาดน้ำอัมพวาขึ้น

จากเก็บขยะมาสู่กิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย

ฟอง – ศุภร เจียรสุขสกุล หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม THAWARA PRESENT บอกว่า บ้านของเธออยู่ใกล้กับตลาดน้ำอัมพวาอยู่แล้ว ยิ่งอัมพวาเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ในฐานะเจ้าบ้านเธอจึงอยากมีส่วนช่วยพัฒนาให้อัมพวาได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อนักท่องเที่ยว แต่เพื่อคนอัมพวาด้วยกันเอง ฟองยอมรับว่าช่วงแรกโจทย์การทำงานของทีมยังไม่ชัดนัก ตอนแรกคิดแค่ว่าเก็บขยะในตลาดก็พอแล้ว เพราะเห็นขยะล้นถังเกลื่อนกลาดไปตามทางเดิน และในแม่น้ำจำนวนมาก

แต่...ขยะชิ้นเล็กๆ กลับไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อย่างที่คิด เมื่อพวกเขามีโอกาสได้เข้าอบรมในเวทีนับ 1 และนับ 2 กับพี่เลี้ยงโครงการ กระบวนการเรียนรู้ทั้ง 2 ครั้งทำให้พวกเขาฉุกคิดว่า “ถ้าทำเรื่องขยะแล้วจะต่อยอดต่อไปอย่างไร?” เป็นคำถามที่คิดไม่ตก

“เก็บขยะทั้งตลาดน้ำอัมพวา พวกเราแค่ 5 คนจะจัดการยังไงไหว พอมาคิดดูแล้ว เราว่ามันใหญ่เกินตัว อีกอย่างทางเทศบาลก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดเก็บขยะอยู่แล้ว ถ้าเราทำอีกก็ทำได้แค่ช่วยเก็บขยะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนทิ้งน้อยลง จนปริมาณขยะลดลง” อุ๊ - มนสิชา น้อยกาญจนะ บอกเล่าแนวคิด

หลังพี่เลี้ยงชวนคิดชวนคุย ความคิดก็เริ่มตกตะกอน พวกเขาเห็นว่า อาหารการกินคือจุดขายสำคัญของอัมพวา โจทย์โครงการมัคคุเทศก์น้อยตลาดน้ำอัมพวาจึงเข้ามาแทนที่เรื่องขยะ แต่การเป็นมัคคุเทศก์ของพวกเขา นอกจากจะแนะนำนักท่องเที่ยวเดินไปตามจุดที่น่าสนใจในตลาดน้ำแล้ว ร้านอาหารที่อร่อย ดี มีคุณภาพ และราคาย่อมเยาว์ คือเป้าหมายสำคัญที่พวกเขาต้องค้นหา เพื่อนำเสนอเป็นร้านอาหารแนะนำ 10 ร้านเพื่อการันตีความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว

“เวลาพวกเรามาเดินเล่นที่ตลาด สังเกตเห็นนักท่องเที่ยวกินอาหารเหลือทิ้งไว้ บางคนกินเข้าไปคำเดียวก็ทิ้ง เพราะอาหารไม่อร่อย ถ้าคนมากินร้านแรกแล้วเจอของไม่อร่อย ราคาแพง หรือต่อให้ราคาไม่แพง แต่ถ้ารสชาติไม่อร่อย เขาก็ไม่ประทับใจ จนอาจทำให้เขาพลาดร้านอร่อยเจ้าอื่นๆ หรือทำให้เขาไม่อยากมาอัมพวาอีกเลย” แบงค์ – พรศักดิ์ ธรรมสุจริต กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้พวกเขากังวลใจ

“เราอยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามาตลาดน้ำแล้วมีความสุข ได้ทานของที่ถูกปากในราคาสมเหตุสมผล”

เดือนแห่งการชิม

เมื่อตะกอนความคิดและโจทย์การทำงานลงตัว ทีมทำงานจึงวางแผนการทำโครงการทันที และเพื่อให้ตอบโจทย์ที่วางไว้ พวกเขาวางแผนหาข้อมูลร้านอาหารตัวอย่างจำนวน 10 ร้าน เลือกร้านที่นั่งสบาย อาหารถูกปาก และราคาถูกใจ เมื่อสำรวจร้านอาหารเสร็จแล้วก็จัดทำแผนที่เดินทางในตลาดน้ำอัมพวา โดยระบุสิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ และควรรู้ (เอาใจเขามาใส่ใจเรา) เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารน่าทาน 10 ร้าน จุดบริการ เช่น ธนาคาร เอทีเอ็มและห้องน้ำ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ 3 เดือนแรกของการทำโครงการ จึงหมดไปกับเฟ้นหาร้านที่เป็นเอกลักษณ์ นั่งแล้วสบายใจ อาหารสะอาดถูกปาก และคนขายอัธยาศัยดี

แบงค์เล่าต่อว่า แม้เป้าหมายจะชัดว่าต้องเป็นร้านที่ดึงดูดใจ เป็นระเบียบ และสะอาด แต่เรื่องอัธยาศัยของผู้ขายพวกเขาก็ให้ความสำคัญเช่นกัน

“บางร้านถ้าเข้าไปแล้วรู้สึกว่าเจ้าของร้านไม่ต้อนรับ อัธยาศัยไม่ดี พวกเราเดินออกมาเลยก็มี นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่านักท่องเที่ยวจะรู้สึกอย่างไร ขนาดเราเป็นเจ้าบ้านยังรู้สึกกลัว” แบงค์เล่าถึงภาพเหตุการณ์ที่เขาต้องเผชิญ

แต่เมื่อต้องลงพื้นที่ทำงานด้วยกันเป็นทีม แถมการทำงานยังต้องข้องเกี่ยวกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด การประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วตัดสินใจอย่างเด็ดขาด จึงเป็นคุณสมบัติที่กลุ่มเยาวชนแกนนำจำเป็นต้องมี

“เวลาเข้าไปเดินสำรวจตลาด ถ้าเห็นร้านไหนน่าสนใจ พวกเราต้องดูก่อนว่าเจ้าของร้านยุ่งอยู่หรือเปล่า ถ้ายุ่งเราก็แค่เล็งไว้ก่อน เพราะถ้าเข้าไปชิม แล้วสอบถามข้อมูลตอนนั้น เขาอาจไม่มีเวลาให้ข้อมูลกับเรา” แบงค์ อธิบาย

ขณะที่อุ๊เสริมว่า “ถ้าเข้าไปชิมแล้วไม่ได้ข้อมูลมาด้วย เราก็เสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ การเข้าไปสำรวจร้านค้าต่างๆ ด้วยตัวเอง ทำให้เราได้เห็นปฏิกิริยาที่เจ้าของร้านหรือพนักงานมีต่อลูกค้าด้วย ร้านค้าที่ดีพนักงานควรพูดจาเป็นกันเอง ยิ่งให้ความร่วมมือในการตอบคำถามของพวกเรา ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านหรือพนักงานร้านนั้นมีใจเปิดกว้างและยินดีต้อนรับลูกค้าด้วยความจริงใจ”

แผนที่...ไม่ได้มีไว้แค่บอกทาง

นอกจากร้านสุดเจ๋ง 10 ร้านในตลาดน้ำอัมพวาที่กลุ่มเยาวชน THAWARA PRESENT ภูมิใจนำเสนอแล้ว พวกเขายังออกแบบแผนที่ตลาดน้ำขึ้นมาใหม่ โดยให้ข้อมูลทั้งในส่วนของที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ จุดเข้าห้องน้ำ ท่ารถ ท่าเรือ ตู้เอทีเอ็ม ธนาคาร รวมถึงสถานีตำรวจ ทั้งนี้ ร้านแนะนำ 10 ร้านที่ผ่านการสำรวจของเยาวชนจะปรากฏอยู่บนแผนที่นี้ด้วย ซึ่งรูปแบบการนำเสนอแผนที่ของพวกเขาจะนึกถึงความต้องการของผู้อื่นเป็นสำคัญ เรียกได้ว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยคิดให้ตัวเองสวมบทเป็นนักท่องเที่ยว เพื่อจะได้เข้าใจว่า นักท่องเที่ยวจริงๆ อยากรู้อะไรบ้าง และอะไรบ้างที่นักท่องเที่ยวควรรู้

“พวกเขายังไม่ได้ติดต่อประสานงานกับทางเทศบาลตำบลอัมพวา จึงไม่สามารถนำแผนที่เข้าไปติดตั้งได้ ทำให้พวกเขาได้บทเรียนว่า การทำกิจกรรมของพวกเขาขาดการเชื่อมโยงสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้”

“เรานั่งคุยกันแล้วสรุปสิ่งที่ควรเพิ่มเติมลงไปในแผนที่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยวมากที่สุด เดินๆ อยู่ ใครอยากเข้าห้องน้ำก็จะได้รู้ว่าควรไปทางไหน หรือใครมีปัญหาเดือดร้อนของหายก็สามารถเดินตามแผนที่ไปสถานีตำรวจได้” แบงค์กล่าว

“ใครเงินหมด ก็จะได้รู้ว่าตู้เอทีเอ็มอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เดินหา เดินถามแบบไม่มีเป้าหมาย” อุ๊กล่าวเสริม

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อแผนที่ตลาดน้ำอัมพวาที่สวยงาม ไม่ได้อวดสายตานักท่องเที่ยว...

แบงค์ยอมรับว่า พวกเขายังไม่ได้ติดต่อประสานงานกับทางเทศบาลตำบลอัมพวาจึงไม่สามารถนำแผนที่เข้าไปติดตั้งได้ ทำให้พวกเขาได้บทเรียนว่า การทำกิจกรรมของพวกเขาขาดการเชื่อมโยงสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

“เราทำแผนที่ขึ้นมา เพราะคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวแบบถาวร ดีกว่าเดินแจกโบรชัวร์ที่คนอาจไม่ได้สนใจอ่านด้วยซ้ำไป แต่พวกเราก็ไม่ได้มองให้จบทั้งกระบวนการว่า เมื่อทำแผนที่ออกมา...แล้วจะเอาไปติดตามจุดต่างๆ ในตลาดนั้น เราต้องขออนุญาตจากทางเทศบาลก่อน ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยติดต่อประสานงานหรือดึงเทศบาลเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับเราเลย” อุ๊ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

“ไม่เข้าใจกัน” ปัญหาสำคัญของทีมงาน

อย่างไรก็ตามแม้พวกเขาจะมีการวางแผนทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน แต่ แบงค์ ฟอง และอุ๊ ก็ได้เรียนรู้ว่า การทำงานต้องมีความยืดหยุ่น และต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงาน แต่ทีมทำงานของพวกเขาขาดทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น แกนนำกลุ่ม 5 คน ขัดเคืองใจกัน ทำให้แต่ละครั้งที่ทำงานร่วมกันจะมีสมาชิกมาร่วมจริงๆ เพียง 3-4 คนเท่านั้น

“เวลาทำงานจะให้ว่างตรงกันตลอดมันก็ยาก ยิ่งเพื่อนมาไม่ครบก็ยิ่งท้อ เพราะมันเหนื่อย แต่เมื่อเราตั้งใจจะเข้ามาทำโครงการนี้แล้ว ต่อให้ท้อขนาดไหน ต่อให้มีปัญหาอะไรเข้ามา เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ถ้าเรื่องแค่นี้เราล้มเลิก ไม่ทำต่อแล้ว ต่อไปในอนาคตเราต้องพบเจอปัญหาอีกมากมาย แล้วเราจะรับมือกับมันยังไง ฉะนั้นเราต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ตอนนี้” แบงค์กล่าว

นอกจากความไม่เข้าใจกันในทีมแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามารุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นความกังวลใจของผู้ปกครองที่กลัวว่าการเข้ามาทำโครงการอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนในห้องเรียน และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของพวกเขา

“เรายังมีการเรียนและหน้าที่อย่างอื่นที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงโครงการนี้ที่เราเข้ามาทำแล้ว เราก็อยากทำให้สำเร็จ พวกเราถือว่าเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของเราเหมือนกัน จะให้ทิ้งไปไม่ทำเลย เราก็ทำไม่ได้ ถึงเหนื่อยแค่ไหนเราก็จะทำ”

“ช่วงที่เราเข้ามาทำโครงการ เป็นช่วงที่พวกเราต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย เรารู้สึกเครียด รู้สึกว่ามันหนักหนาไปหมด แต่ก็พยายามอธิบายให้ทางบ้านเข้าใจ แล้วเราก็ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน” ฟอง กล่าว

“เรายังมีการเรียนและหน้าที่อย่างอื่นที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงโครงการนี้ที่เราเข้ามาทำแล้ว เราก็อยากทำให้สำเร็จ พวกเราถือว่าเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของเราเหมือนกัน จะให้ทิ้งไปไม่ทำเลย เราก็ทำไม่ได้ ถึงเหนื่อยแค่ไหนเราก็จะทำ” อุ๊กล่าวอย่างมุ่งมั่น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการทำงาน กลุ่มเยาวชน THAWARA PRESENT มองว่า ประสบการณ์เหล่านี้สร้างวิธีคิดให้พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่เต็มไปด้วยความกลัว ไม่กล้าลงมือทำ หรือหากทำก็จะเป็นในลักษณะ นึกจะทำอะไรก็ทำ ไม่มีการวางแผน โครงการนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้พวกเขามีความกล้าที่จะลงมือทำ ช่วยสลายความกลัวที่มีอยู่ในใจ ที่สำคัญคือทำให้พวกเขารู้จักการวางแผนการทำงาน

เมื่อลงมือทำจึงเปลี่ยนแปลง

การเดินสำรวจตลาดแบบ “เดิน ชิม กิน เล่น” ของพวกเขาอาจดูเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรจริงจังให้เคร่งเครียด แต่พวกเขาบอกว่า ในสถานการณ์จริง ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ก่อนลงพื้นที่พวกเขาต้องทำการบ้าน หาความรู้ของร้าน หรือสถานที่ที่จะลงไปสำรวจก่อน

“เวลาไปสำรวจเราไม่ได้นัดๆ กันมาแล้วเดินดุ่มๆ ไป เพราะถ้าทำแบบนั้น มันก็เหมือนเราเดินไปเรื่อยๆ แบบไม่มีเป้าหมาย เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งเราจะประชุมกันก่อน อย่างน้อยก็ต้องรู้คร่าวๆ ว่าวันนี้จะไปที่ไหนบ้าง” แบงค์อธิบาย

อุ๊เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งที่พวกเขาเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ว่า เดิมทีพวกเขาไม่เคยสนใจว่าที่นี่มีกิจกรรมน่าสนใจอะไรบ้าง แต่เมื่อได้ไปลองทำก็รู้สึกสนุก ทั้งยังได้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งการสอนถักตะกร้า หมวก และสัตว์จำพวกปลา

ขณะที่แบงค์บอกว่า เขาประทับใจการทำขนมไทยมากที่สุด “ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า กว่าจะห่อขนมออกมาขายชิ้นละบาท ต้องเคี่ยวขนมนานถึง 2 ชั่วโมง ยังไม่รวมเวลาที่ต้องมานั่งตัดใบตอง และนั่งห่อขนมอีก ทั้งที่ใส่ถุงพลาสติกเลยก็ได้ง่ายๆ แต่คุณยายคุณป้าก็ไม่ทำ เพราะไม่อยากสร้างขยะ แล้วก็ยังขายถูกมาก สำหรับผมเป็น 1 บาทที่มีคุณค่ามาก แต่ก็ยังมีคนมาต่อราคา ผมนี่โกรธแทนเลย...เพราะขนาดผมลองทำ ลองห่อ ยังทำไม่ได้เลย”

นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนบอกว่า พวกเขาต้อง เอาชนะใจตัวเองให้ได้ก่อน ด้วยบังคับฝืนใจตัวเองให้ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดและไม่คิดว่าจะทำได้

“เราก็เป็นเด็กธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีความกล้าอะไร พอต้องมาทำโครงการอย่างจริงจัง พวกเราก็คิดไปก่อนตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำแล้วว่า ไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่เคยทำอะไรแบบนี้” ฟองกล่าว

“ก่อนหน้านี้พวกเราเคยคิดว่าปัญหาของชุมชนเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินตัว พวกเราคงไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขอะไรได้ ก่อนเริ่มต้นทำก็กล้าๆ กลัวๆ แต่พอได้มาลงมือทำจริงๆ มันก็ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินกำลังของพวกเรา” อุ๊เอ่ยถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของเธอ

ส่วนแบงค์บอกว่า เขาเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม พอมาทำโครงการนี้ เขาต้องงัดความกล้าออกมาใช้อย่างจริงจัง เพราะถ้าไม่กล้าก็จะไม่ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ

ความท้าทายอยู่ที่เมื่อไรเราจะลงมือทำ พอได้ทำ กล้าเอ่ยปากพูดและถาม เราก็รู้ว่าตัวเองทำได้ แล้วทำงานตรงนี้ก็มีเรื่องให้ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำตลอด ที่เห็นชัดๆ เลย คือคนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ อยากรู้จักใครก็ต้องเข้าไปพูดคุยสอบถามให้รู้ด้วยตัวเอง อย่างที่บอกว่าบางร้านที่พวกเราเข้าไป เราก็ถอยออกมาแทบไม่ทัน (หัวเราะ)” นอกจากนี้ประสบการณ์การทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของคน และได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ ของสถานการณ์บางอย่างที่พวกเขาไม่เคยนึกถึงมาก่อน

แบงค์บอกว่า การลงพื้นที่ในตลาดน้ำอัมพวา ทำให้พวกเขาได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ทั้งจากการพูดคุยกับผู้คน และผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาประสบด้วยตัวเอง เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจมากที่สุดคือ เรื่องการทิ้งขยะไม่ลงถัง ที่สาเหตุไม่ได้เกิดจากคนไม่อยากทิ้งขยะให้ลงถัง แต่กลับเกิดขึ้นเพราะไม่มีถังขยะให้ทิ้ง

“ผมก็เพิ่งมารู้กับตัวเองว่าขยะที่เห็นทิ้งเกลื่อนกลาดไม่ได้เกิดขึ้นจากความมักง่ายของคนทิ้งเพียงอย่างเดียว ครั้งหนึ่งผมเห็นถังขยะเต็ม จะเอาขยะไปทิ้งในถุงดำของร้านๆ หนึ่ง เขาก็ทำท่าไม่พอใจไม่อยากให้ทิ้งในร้านเขา ถามว่าถ้าเป็นคนอื่นเขาจะเดินเที่ยว แล้วถือขยะไปด้วยไหม เขาก็คงไม่ทำ เมื่อไม่มีถังขยะเจอตรงไหนวางได้เขาก็ทิ้ง ทั้งที่จริงๆ ก็อยากจะทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง”

นอกจากนี้ เขายังได้เรียนรู้ว่า รอยยิ้มสร้างมิตรภาพได้ “ผมไม่เคยคิดว่าผมจะกลายเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้ จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยคิดจะทักทายใครก่อน จนหลายคนบอกว่าหยิ่ง การได้ลงไปสัมผัสกับพ่อค้าแม่ค้าและคนในชุมชน ทำให้ผมยิ้มง่ายขึ้น เพราะถ้าเรายิ้มก่อน ก็เป็นการส่งความรู้สึกที่ดีก่อน เพื่อเปิดทางให้เกิดการพูดคุยหรือทำความรู้จักคนอื่น ซึ่งตรงนี้ผมว่าเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย”

ส่วนอุ๊บอกว่า โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกทำให้เธอรู้สึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและคิดถึงส่วนรวมมากขึ้น ความคิดเช่นนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเธอ ทำให้เธอไม่เห็นแก่ตัวหรือทำอะไรที่เอาเปรียบผู้อื่น

ส่วนฟองจากเดิมที่เป็นคนเก็บตัว ถึงแม้ที่บ้านจะเปิดเป็นร้านขายของ แต่ตัวเธอเองก็ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจากับลูกค้า แต่หลังจากได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการ ต้องลงไปสัมภาษณ์และพบเจอผู้คน ปัจจุบันเธอกล้าพูดคุยมากขึ้น ไม่รู้สึกกลัวที่จะเปิดบทสนทนากับลูกค้าที่เข้ามาในร้านของเธอเอง ที่สำคัญคือโครงการนี้ทำให้เธอรักชุมชนที่เธออาศัยอยู่มากขึ้น “บ้านเรายังไงเราก็ต้องดูแลเองก่อน จะรอให้ใครมาช่วยก็ไม่ใช่”

ขณะที่แบงค์บอกว่า แม้เขาจะไม่ใช่คนอัมพวา แต่เขาก็รู้สึกรักและผูกพันกับบ้านหลังนี้ เพราะได้มาเรียนอยู่ที่นี่หลายปี เขาจึงยินดีสละเวลาที่เขารับทำงานพาร์ทไทม์ เพื่อหารายได้ส่งเสียตัวเอง มาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม

“สำนึกรักบ้านเกิด เริ่มขึ้นที่ใจเราก่อน ผมถามตัวเองว่าผมรักที่นี่มากแค่ไหน คำตอบคือ ผมรู้สึกรัก แล้วอยากช่วยทำอะไรดีๆ ให้เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้ สถานที่ที่เราเคยเข้ามาศึกษาหาความรู้ ส่วนเรื่องงานของตัวเองที่ผมตั้งใจว่าจะไม่ขอเงินจากพ่อแม่ ผมก็ยังทำอยู่ แต่ก็แบ่งเวลามาทำโครงการด้วย ผมคิดว่าถึงแม้พวกเราจะเป็นจุดเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของอัมพวาดีขึ้นได้บ้าง อัมพวาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ผมก็อยากทำอะไรตอบแทนให้ประเทศชาติด้วย”

จากจุดเริ่มต้นที่อยากช่วยส่งเสริมให้กิจการค้าขายและความเป็นตลาดน้ำอัมพวาไม่ดูโหดร้ายในสายตานักท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของบรรยากาศ คุณภาพของอาหาร สินค้า และราคา ทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีผลประโยชน์จากรายได้ที่เกิดขึ้น กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ไม่ว่ารายได้ของผู้คนในตลาดน้ำจะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขา แต่เพราะพวกเขามองว่า ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นบ้าน การทำบ้านให้น่าอยู่ น่ามอง แลดูสะอาดตา เต็มไปด้วยความจริงใจและมิตรภาพ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าบ้านอย่างพวกเขามีความสุข อีกอย่างงานมัคคุเทศก์นั้นเหมือนเป็นตัวช่วยให้พวกเขาได้ทำความรู้จักกับอัมพวา “บ้าน” ของพวกเขาอย่างลึกซึ้งมากขึ้น


โครงการมัคคุเทศก์น้อยตลาดน้ำอัมพวา

พี่เลี้ยงชุมชน : 

ทีมงาน :

  • ศุภร เจียรสุขสกุล
  • มนสิชา น้อยกาญจนะ
  • พรศักดิ์ ธรรมสุจริต
  • ปิยะธิดา บรรพต
  • สุวรรณา ช้อนทอง