การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้อาชีพในชุมชนแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

เรียนรู้อาชีพบรรพบุรุษสู่กระบวนการเปลี่ยนสำนึก

โครงการเยาวชนเรียนรู้อาชีพแพรกหนามแดง


รู้สึกว่า ถึกมากๆ ที่ทนได้เพราะรู้สึกรัก รู้สึกชอบ และกลายเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตมากขึ้น มีไหวพริบมากขึ้น รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รู้จักการวางตัว การเข้าหาผู้ใหญ่ การประสานงานกับผู้ใหญ่และน้อง การวางแผนในการลงพื้นที่แต่ละครั้งการคิด การจัดตารางเวลาของตนเอง ทางบ้าน เรียนและทำกิจกรรมด้วย ทำให้มีความคิดมากขึ้น ธรรมดาไม่ค่อยจะคิด

ตำบลแพรกหนามแดง เป็นตำบลหนึ่งในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ทั้งหมด 21,138 ไร่ (36.23 ตารางกิโลเมตร) ประกอบด้วน 6 หมู่บ้าน ประชากร 3,842 คน หรือ 1,005 หลังคาเรือน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล มีลำคลอง 48 สายโยงใยกันอยู่ทั่วพื้นที่ จึงมีการไหลเวียนของน้ำขึ้น น้ำลงตลอดทั้งปี ทำให้มีระบบนิเวศน์ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม สภาพดังกล่าวจึงทำให้ลำคลองใสสะอาด ในฤดูฝนก็มีน้ำหลากพัดพาปุ๋ยธรรมชาติมาทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการทำการเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพที่พึ่งพาธรรมชาติและสายน้ำเป็นหลัก เช่น ทำนาข้าว สวนผัก สวนผลไม้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเช่น กุ้งและปลาสลิด แต่อาชีพเหล่านี้นับวันก็จะหมดไป มีเพียงผู้สูงอายุไม่กี่คนในชุมชนที่ยังมีความรู้และสามารถถ่ายทอดได้ โดยที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่มองว่าอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย จึงเลือกที่จะเข้าไปรับจ้างหรือทำงานในเมืองใหญ่หรือในโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เริ่มถูกปล่อยรกร้างและเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุน ซึ่งหากไม่สืบทอดและอนุรักษ์ไว้อาชีพเหล่านี้ย่อมจะหมดไปจากชุมชนแน่นอน

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ

กลุ่ม Chip Munk ประกอบด้วย ปอย-ปิยวัฒน์ วัชนุชา จากโรงเรียนถาวรานุกูล ฝ้าย-ธนาภรณ์ นาควรรณ แนน-สุธารินี กลัดกลีบ และนัท-สรัสพร มีนะวาณิชย์ จากโรงเรียนศรัทธาสมุทร และพี-พีรกานต์ ชัยชนะ จากโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย กลุ่มเยาวชนต่างโรงเรียนที่มารู้จักกันภายใต้การทำงานของสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเป้าหมายของการรวมกลุ่มคือการทำโครงการเยาวชนเรียนรู้อาชีพแพรกหนามแดง

การที่เพื่อนต่างโรงเรียนมารวมตัวกัน นับว่าเป็นเรื่องแปลก แต่พวกเขาตั้งใจผสมทีมข้ามโรงเรียน ด้วยเหตุผลว่า ถ้าทำงานกับเพื่อนเรียนโรงเรียนเดียวกัน ส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าใครคิดอะไร พวกเขาต้องการเรียนรู้จากเพื่อนต่างโรงเรียน เพื่อจะได้เกิดความคิดใหม่ๆ โดยมองข้ามอุปสรรคเรื่องการประสานงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่ามีเทคโนโลยีที่สามารถติดต่อกันได้สะดวกรวดเร็ว ทั้งไลน์ เฟสบุ๊ค รวมถึงโทรศัพท์

เมื่อต้องวิเคราะห์บริบทของพื้นที่เพื่อค้นหาประเด็นทำงาน พี่เลี้ยงโครงการเห็นว่าพวกเขายังไม่มีพื้นที่ทำงาน จึงแนะนำพื้นที่แพรกหนามแดงที่มีความหลากหลายของภูมินิเวศน์ ซึ่งทีมก็เห็นด้วย

“ตอนแรกพวกเราอยากไปพัฒนาโรงเรียน ทำห้องสมุดให้น้อง ช่วยปลูกผัก จัดห้อง แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า โรงเรียนคลองสมบูรณ์ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอยู่ จึงตัดสินใจเลือกศึกษาเรื่องการประกอบอาชีพในตำบลแพรกหนามแดง เพราะมีความน่าสนใจอยู่ที่เป็นพื้นที่ 3 น้ำ ที่มีอาชีพหลากหลาย” แนนเล่า

กล้าๆ กลัวๆ

โครงการเยาวชนเรียนรู้อาชีพตำบลแหรกหนามแดงมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้คุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพต่างๆ ในตำบลแพรกหนามแดง รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักและหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการทำงานครั้งนี้คือ นักเรียนโรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์ จำนวน 20 คน

การทำงานที่ทีมคิดว่า จะสามารถก้าวข้ามปัญหาเรื่องการประสานงานได้ กลับไม่เป็นดังคาด เพราะเพื่อนในทีมต่างคนต่างเรียนอยู่คนละโรงเรียน มีตารางเรียน ตารางชีวิตแตกต่างกัน แม้จะมีตัวช่วยคือ เทคโนโลยีต่างๆ แต่กว่าจะนัดหมายกันได้ในแต่ละครั้งก็ยากเย็น

แต่ปัญหาดังกล่าวไม่สะเทือนหัวใจเท่ากับปัญหาใหญ่ในการทำงาน เมื่อเงื่อนไขของการทำโครงการคือต้องมีพี่เลี้ยงชุมชน แต่พี่เลี้ยงของทีมมีภาระงานมาก ทำให้ไม่มีเวลามาหนุนเสริมการทำงานของกลุ่ม บวกกับแนวคิดการทำงานของพี่เลี้ยงชุมชนแตกต่างจากกระบวนการเรียนรู้ของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกจนกลายเป็นปัญหาให้งานของทีมไม่เดินหน้า หลังจากการอบรมครั้งที่ 3 ผ่านไปจึงมีการเคลียร์ปมปัญหาระหว่างทีมพี่เลี้ยงโครงการและพี่เลี้ยงชุมชน

บุคลิกจริงจังของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้น ทำเอาหัวใจของทีมงานสั่นสะเทือนด้วยความรู้สึกทั้งเกร็งและกลัว

“นั่งคุยกันในทีมว่า จะเอาอย่างไรดี ใจหนึ่งก็กลัว ใจหนึ่งก็อยากทำ แต่ในที่สุดความอยากเป็นฝ่ายชนะ เพราะขณะนั้นทีมได้ก้าวเข้ามาเรียนรู้กับโครงการนี้พอสมควรแล้ว”

“มันยากมาก เราตัดใจแล้ว ไม่ทำแล้วได้ไหม แต่พี่เขาบอกว่าลองมาคุยกันก่อน” นัทเล่า

“มีปัญหามากไหนจะเพื่อน ไหนจะพี่เลี้ยง ตอนนั้นอึดอัดมาก เครียดกันเลย” แนนสะท้อน

“ยิ่งเจออาธเนศ-ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำยิ่งสั่นเลย” นัทเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

ทีมงานสารภาพว่า เมื่อแรกเจออาธเนศรู้สึกกลัว เพราะบุคลิกดูดุดัน นั่งคุยกันในทีมว่า จะเอาอย่างไรดี ใจหนึ่งก็กลัว ใจหนึ่งก็อยากทำ แต่ในที่สุดความอยากเป็นฝ่ายชนะ เพราะขณะนั้นทีมได้ก้าวเข้ามาเรียนรู้กับโครงการนี้พอสมควรแล้ว

“ตอนแรกเกือบจะไม่ทำแล้ว แต่ความอยากมันมากกว่า เราก้าวเข้ามาแล้ว เราไปประชุมมา 2 ครั้งแล้ว เหนื่อยมา 2 ครั้งแล้วก็ทำให้มันสุดๆ เลยดีกว่า” นัทเล่าถึงสิ่งที่ทำให้ทำโครงการต่อ

เพราะขาดการวางแผนที่ดี

แม้ว่าจะทำโครงการต่อ แต่ทีมก็สารภาพว่า ไม่นึกว่าระยะเวลาของการทำงานจะยาวนานถึง 6 เดือน เพราะที่ผ่านๆ มา การเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับพวกเขาส่วนใหญ่เป็นการอบรมหรือเข้าค่ายครั้งเดียวจบ ไม่ได้มีงานต่อเนื่องเหมือนงานนี้ แต่เมื่อตั้งใจเดินหน้าต่อ ก็ต้องหาวิธีทำงาน เมื่อต้องทำงานในพื้นที่ที่ไม่รู้จักคุ้นเคยมาก่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล แต่วิธีการหาข้อมูลของทีมงานเป็นการตะลุยลงพื้นที่แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ด้วยคิดเอาเองว่า เป็นเรื่องง่ายๆ จนต้องกลับมาด้วยความผิดหวัง

ทีมสรุปบทเรียนว่า เป็นเพราะทีมงานขาดการวางแผนที่ดี แม้จะมีการประชุมวางแผนกันก่อนว่า จะไปวันไหน เวลาใด จะไปเก็บข้อมูลเรื่องอะไรบ้างแล้วก็ตาม

“ทุกคนเลิกเรียน มาประชุมแล้วก็รีบกลับบ้าน วางแผนจะลงพื้นที่ไปศึกษาแต่ละหมู่บ้าน แต่ไม่ได้ประสานงานกับใครเลย จึงกลายเป็นว่า ลงไปเสียเปล่า” แนนบอก

“วิธีการหาข้อมูลของทีมงานเป็นการตะลุยลงพื้นที่แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ คิดเอาเองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ จนต้องกลับมาด้วยความผิดหวัง ทีมสรุปบทเรียนว่า เป็นเพราะทีมงานขาดการวางแผนที่ดี แม้จะมีการประชุมวางแผนกันก่อนว่า จะไปวันไหน เวลาใด ...แต่ไม่ได้ประสานงานกับใครเลย จึงกลายเป็นว่า ลงไปเสียเปล่า”

ขณะที่นัทเสริมว่า พวกเขาอยากได้ข้อมูลแต่ละหมู่ว่า ทำอาชีพอะไรกัน นึกว่ามันง่าย นัดกัน 5 คนแล้วไปเลย เอาเราสะดวกเข้าว่า นึกว่าหมูๆ คิดว่าผู้ใหญ่ในชุมชนต้องให้ความร่วมมือ ไม่คิดว่าทุกบ้านเขาจะไปทำงานปิดบ้านหมด แดดก็ร้อนมาก สรุปแทบไม่ได้อะไรเลย โชคดีที่ยังเจอลุงปัญญา โตกทอง ลุงให้เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านไว้เพื่อติดต่อในคราวหน้า

ไม่เจอเป้าหมายที่ต้องการ เจอแต่แสงแดดอันร้อนระอุ ทีมงานกลับมานอนซมด้วยพิษไข้ อาการท้อกลับมาเยือนอีกครั้ง ทีมจึงคิดวิธีลัดว่าจะเชิญผู้ใหญ่บ้านมาพูดแนะนำเกี่ยวกับอาชีพของแต่ละหมู่บ้าน แต่เมื่อพยายามโทรศัพท์ประสานงานก็ไม่เป็นผล พี่เลี้ยงโครงการจึงแนะนำว่า ให้ลงเก็บข้อมูลแต่ละหมู่บ้านเหมือนเดิม เพราะจะได้เห็นสภาพที่แท้จริงด้วย โดยพี่อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทองซึ่งเป็นคนในตำบลแพรกหนามแดงแนะนำคร่าวๆ ว่า ในตำบลมีการประกอบอาชีพอะไรบ้าง เช่น หมู่ 1 ทำนากุ้ง เลี้ยงปลาสลิด คนที่สามารถให้ข้อมูลได้คือลุงปัญญาที่ทีมงานเคยพบมาแล้ว หมู่ 2 ทำนาข้าว ให้สัมภาษณ์ลุงสมบูรณ์ ฯลฯ

เมื่อเห็นเป้าหมายรางๆ ทีมงานจึงร่วมกันวางแผน นำข้อมูลรายชื่อที่ได้จากลุงปัญญามาวางแผน โทรประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน เพื่อขอให้แนะนำตัวแทนชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหลักของชุมชน พร้อมขอเบอร์โทรศัพท์ลูกบ้านเพื่อนัดหมายขอสัมภาษณ์

นัทกับฝ้าย เป็นตัวหลักในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยมีปอยและพีเป็นผู้ช่วยคอยเก็บภาพและวิดีโอ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว แนนมีปัญหาส่วนตัว คุณยายเสียและไม่สบาย เมื่อเพื่อนนัดหมายทำงาน ทำให้แนนไปร่วมกิจกรรมไม่ได้ จนทะเลาะกับเพื่อน

“ตอนนั้นหนูมีปัญหา ทะเลาะกับเพื่อน ไม่มีใครคุยกับหนูเลย เพื่อนโทรมาแล้วหนูไม่สบาย ก็ไม่ค่อยได้มาโรงเรียน แล้วช่วงนั้นยายเสียด้วย หนูก็บอกว่าหนูออกไปไม่ได้ หนูไม่สบาย แล้วเพื่อนเลยไม่คุยกับหนูเลย” แนนเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่ได้ไปร่วมงานกับเพื่อน

เรียนรู้อาชีพชุมชน

สำหรับนัทและฝ้ายซึ่งลงเก็บข้อมูล ได้ร่วมกันออกแบบคำถามที่จะสัมภาษณ์ชาวบ้าน คราวนี้ทีมตั้งใจพาน้องเรียนรู้คุณค่าของตำบลแพรกหนามแดงลงพื้นที่ในวันเสาร์อาทิตย์ โดยตั้งใจว่าข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จะนำมาวางแผนถ่ายทำวิดีโออย่างละเอียดอีกครั้ง

“เราตั้งใจทำเป็นรายการความยาว 5 นาที โดยช่วงแรกเป็นเกริ่นนำก่อนเพื่อให้น้องสนใจ หลังจากนั้นได้พาไปพบแต่ละอาชีพ มีพวกเราคอยพูดเชื่อมแต่ละช่วง เพื่อให้ดูไม่น่าเบื่อ ทั้งนี้คาดหวังว่า จะนำวิดีโอดังกล่าวไปฉายให้น้องๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายชมในการจัดกิจกรรมเรียนรู้อาชีพตำบลแพรกหนามแดง” ” นัทเล่าถึงแผนการถ่ายวิดีโอ

แผนการจัดกิจกรรมเรียนรู้อาชีพตำบลแพรกหนามแดงมีเป้าหมายเพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนรักบ้านเกิด ครั้งแรกทีมตั้งใจที่จะจัดที่ห้องประชุมของวิทยาลัยการอาชีพ แต่เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ผู้อำนวยการวิทยาลัยจึงไม่อนุญาต เพราะไม่ไว้ใจว่าหากเกิดความเสียหายแล้วพวกเขาจะรับผิดชอบได้ ทีมจึงได้ประสานงานขอใช้สถานที่กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ตำบลแพรกหนามแดงแทน

ขณะเดียวกันทีมต้องประสานงานกับน้องๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการเรียนรู้ โดยใช้ช่องทางเฟสบุ๊ค ชักชวนน้องๆ ที่รู้จักชวนเพื่อนมาร่วมกิจกรรม รวมถึงประสานงานตรงกับกลุ่มเป้าหมายแบบถึงตัว

กระบวนการจัดการเรียนรู้ในวันนั้นเริ่มต้นด้วยการเปิดวิดีโอให้ชม แล้วจึงให้น้องๆ เล่นเกม ซึ่งจะสอดแทรกคำถามเกี่ยวกับอาชีพที่ได้ชมจากวิดีโอไปด้วย เพื่อให้น้องๆ เกิดความเพลิดเพลินและได้ความรู้ หลังจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มและน้องไปเรียนรู้จากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนั้นๆ โดยตรง โดยในช่วงเช้าเรียนรู้จากฐานการเลี้ยงกุ้ง และทำนา ส่วนช่วงบ่ายเรียนรู้จากการถ่ายทอดของทีมงานเกี่ยวกับอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวและการเลี้ยงปลาสลิด โดยนัทเป็นพิธีกรและนำสันทนาการ ฝ้ายและปอยให้ความรู้ในฐานอาชีพการเลี้ยงปลาสลิดและการทำน้ำตาลมะพร้าว ส่วนแนนทำงานจัดการ เช่น การลงทะเบียน

“พื้นที่เรียนรู้มี 2 แห่ง พื้นที่แรกไปที่นากุ้งของลุงปัญญา ฐานนี้แยกกลุ่มเป็น 2 กลุ่มย่อยอีก เพราะมีผู้ให้ความรู้ 2 คน คือลุงปัญญา กับลุงเปี๊ยก อีกฐานคือนาข้าวและโรงสีผู้ให้ความรู้คือ ลุงสมบูรณ์ ส่วนฐานมะพร้าวกับปลาสลิดไม่ได้ลงพื้นที่ ใช้วิธีให้เพื่อนในทีมบรรยาย” แนนเล่า

ฝ้ายซึ่งเป็นผู้บรรยายหลักในฐานอาชีพการเลี้ยงปลาสลิดเล่าว่า เธอนำข้อมูลที่ได้จากการที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์เจ้าของอาชีพมาเรียบเรียง ทำเป็นพาวเวอร์พอยต์นำเสนอ ส่วนปอยซึ่งบรรยายหลักในฐานการทำน้ำตาลมะพร้าวบอกว่า ใช้ความรู้จากประสบการณ์ที่บ้านทำอาชีพมาช่วยเสริมในการบรรยาย

หลังเรียนรู้ครบทุกฐาน ทีมจัดให้มีการทดสอบความรู้ผ่านเกมวิบากซึ่งในนั้นจะมีคำถามเกี่ยวกับอาชีพสอดแทรกอยู่ด้วย เพื่อให้น้องๆ เกิดความสนุกสนาน ซึ่งทีมงานได้เตรียมของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ไว้แจก

กิจกรรมแสนสนุกเพราะคนจัดกับคนร่วมเป็นคนวัยเดียวกัน จึงรู้ใจกันพอสมควร ผลลัพธ์ของการดำเนินงานพิสูจน์จากเสียงสะท้อนของผู้ร่วมกิจกรรมว่า สนุก ไม่น่าเบื่อ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น้องบางคนทราบมาก่อนแล้วก็ตาม

“ตัวอย่างเช่นน้องพลอยบอกว่า เมื่อก่อนเห็นพ่อทำสวนมะพร้าวเขาไม่เคยคิดจะช่วย แต่เมื่อได้ดูวิดีโอที่พี่ๆ ทำขึ้นแม้จะรู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่น้องคิดว่าจะเรียนทางนี้แล้วไปช่วยพ่อแม่ ส่วนน้องอู๋อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรเลยเล่นโทรศัพท์ ขับมอเตอร์ไซค์ก็บอกว่า ในชุมชนมีอาชีพที่น่าสนใจที่อยากจะทำเป็นอาชีพตอนโต” นัทเล่าถึงเสียงสะท้อนของน้องที่ร่วมกิจกรรม

กิจกรรมส่งท้ายในวันดังกล่าว ทีมจับน้องล้อมวง ให้ส่งลูกบอลต่อๆ กัน โดยคนที่มีลูกบอลอยู่ในมือขอให้เสนอความคิดเห็นว่า จะเผยแพร่อาชีพในตำบลแพรกหนามแดงอย่างไร เพื่อตอกย้ำให้น้องๆ เห็นความสำคัญของอาชีพที่ได้เรียนรู้ในวันนั้น

การทำกิจกรรมผ่านไปด้วยดี น้องๆ ยังคงไถ่ถามถึงว่าเมื่อไรจะมาจัดกิจกรรมกันอีก แต่ทีมงานยังมีภารกิจต้องนำข้อมูลมาทำเป็นแผนผังอาชีพในตำบลแพรกหนามแดง เพื่อใช้ในการเผยแพร่สู่สาธารณะ จึงยังไม่สามารถลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมให้กับน้องๆ ได้ในช่วงนี้ ทำได้เพียงติดต่อกับน้องๆ อยู่เรื่อยๆ เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่มีต่อกัน

รู้จักฉัน รู้จักเธอ

การทำงานทำให้ทีมได้เรียนรู้ถึงความยากลำบาก เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องเผชิญทั้งการเดินทางที่ไม่คุ้นเคย และสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ชนิดที่ฝ้ายบอกว่า “วันไหนกลับจากลงพื้นที่แล้วไม่เป็นไข้ เหมือนไม่ได้ลงพื้นที่” สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกน้ำอดน้ำทนให้พวกเขาได้เป็นอย่างดี เพราะจริงๆ แล้ว กิจกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ยิ่งทำกลับยิ่งน่าสนใจ โดยเฉพาะการเรียนรู้กันและกันในกลุ่ม

“ต้องอดทนมาก เพราะทุกคนมีปัญหา ปอยตั้งใจเรียนเหลือเกินจึงไม่ค่อยมีเวลา ส่วนฝ้ายก็ต้องโทรบอกแม่ตลอด แนนก็มีปัญหากับเพื่อนอีก เราต้องรวมทุกคนให้มาอยู่ด้วยกัน อยากให้ทุกคนลงกิจกรรมพร้อมๆ กัน จะได้รู้เท่าๆ กัน เจอแบบนี้เราจะรู้ทางว่าต้องจัดการอย่างไร ฝ้ายแม่จะห้ามวันพฤหัสกับวันอาทิตย์ ส่วนแนนต้องนัดล่วงหน้า 2 วัน สำหรับปอยกับพี เขาสนใจเรียนต้องประสานให้ดีๆ” นัทเล่าถึงการจัดการทีม

“เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ยอมใคร ถ้าพูดมาแรงๆ หนูสวนกลับเลย ไม่ว่าใครหน้าไหน แต่ตอนนี้บางครั้งเขาไม่เข้าใจ ก็จะใจเย็นอธิบาย เช่น บอกว่าเรามาหาความรู้ไม่ได้มารบกวน อยากได้ความรู้จริงๆ”

สิ่งที่ได้เรียนรู้ยังรวมไปถึง กระบวนการคิด การติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ ซึ่งแนนบอกว่าเป็นประโยชน์ต่อเธอมากๆ เพราะเดิมเป็นคนที่ไม่ยอมใคร “เราเจอผู้ใหญ่ที่พูดจาไม่ดีใส่เราก็ต้องอดทน เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ยอมใคร ถ้าพูดมาแรงๆ หนูสวนกลับเลย ไม่ว่าใครหน้าไหน แต่ตอนนี้บางครั้งเขาไม่เข้าใจ ก็จะใจเย็นอธิบาย เช่น บอกว่าเรามาหาความรู้ไม่ได้มารบกวน อยากได้ความรู้จริงๆ”

ส่วนฝ้ายที่ต้องอดทนอย่างมากช่วงแรกๆ เรื่องสภาพอากาศร้อน การลงไปเรียนรู้ในพื้นที่ เป็นการเปิดโลกกว้าง จากที่เคยเรียนเฉพาะในห้องเรียน การได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น

“รู้สึกว่า ถึกมากๆ ที่ทนได้เพราะรู้สึกรัก รู้สึกชอบ และกลายเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตมากขึ้น มีไหวพริบมากขึ้น รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รู้จักการวางตัว การเข้าหาผู้ใหญ่ การประสานงานกับผู้ใหญ่และน้อง การวางแผนในการลงพื้นที่แต่ละครั้งการคิด การจัดตารางเวลาของตนเอง ทางบ้าน เรียนและทำกิจกรรมด้วย ทำให้มีความคิดมากขึ้น ธรรมดาไม่ค่อยจะคิด”

ด้านปอยซึ่งเป็นเด็กเรียนบอกว่า เมื่อก่อนปิดเทอมก็จะไปติว หรืออยู่บ้านอ่านหนังสือ พอมาทำกิจกรรมกับเพื่อนต้องจัดสรรเวลาว่า ช่วงไหนต้องอ่านหนังสือ ช่วงไหนว่างก็มาทำโครงการ ที่สำคัญคือได้พัฒนาทักษะการฟัง ที่เมื่อก่อนเขาเป็นพวกฟังหูทวนลม ไม่จับใจความสำคัญ แต่พอมาทำโครงการจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง ให้เป็นคนที่ฟังแล้วจับใจความสำคัญในสิ่งที่คนอื่นพูดมา แล้วสรุปเป็นใจความของตนเองให้ได้ แต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นประโยชน์อย่างมากคือ การพัฒนาความกล้า

“เมื่อก่อนผมไม่กล้าแสดงออก สื่อสารกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดอะไรไปใครเขาก็ไม่เข้าใจ ซึ่งพอผมมาทำผมมีทักษะในการสื่อสารมากขึ้น สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้มากกว่าเก่า เมื่อก่อนที่ว่า ไม่ค่อยกล้าพูด ไม่ค่อยกล้าทำอะไร”

นอกจากพัฒนาความกล้าแล้ว ปอยยังรู้สึกซาบซึ้งกับอาชีพของพ่อแม่มากขึ้น “เห็นความสำคัญของอาชีพที่พ่อแม่ทำมากขึ้น เมื่อก่อนก็ช่วยนะ ช่วยทำให้เสร็จๆ ไป แต่ตอนนี้อยากจะช่วยจริงๆ อยากแบ่งเบาภาระท่านบ้าง อาชีพท่านก็ปลูกมะพร้าว ทำน้ำตาล ทำไมเราไม่ทำต่อ เราทำต่อก็ได้”

นัทเล่าเสริมว่า ปอยกับแนนเป็นคนไม่กล้าพูด จึงมีวิธีการฝึกเพื่อนๆ ให้มีความกล้า โดยช่วงที่นัดหมายกันไปทำงานที่ร้านกาแฟ จึงท้าทายให้ 2 คนนี้ยืนแล้วพูดแนะนำตัวเองในร้านกาแฟ

“เพื่อนบังคับให้ยืนพูดแนะนำโครงการว่าเราทำอะไร ยืนพูดอยู่กลางร้าน เพื่อจะได้ทนกับสายตาของคนอื่น คนก็หันมามอง พอผ่านการทำตรงนั้น มันเหมือนปลดล็อกอะไรบางอย่าง จนตอนนี้เราก็กล้าขึ้น” แนนเล่าเสริม

ความเปลี่ยนแปลงของนัท เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นเด็กใหม่ที่เพิ่งย้ายมาจากกรุงเทพฯ โดยบุคลิกไม่ชอบสุงสิงกับใคร นัทเข้าร่วมโครงการเพราะพี่สาวซึ่งเคยทำกิจกรรมลักษณะนี้แนะนำว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ และพัฒนาทักษะ ทำให้รู้จักคนอื่นมากขึ้น

“ตอนแรกไม่ได้อยากทำโครงการนี้หรอก แต่พี่สาวพูดว่า ถ้าเกิดเราทำแบบนี้เราจะรู้คนอื่นมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนไม่ฟังใคร ชอบอยู่คนเดียว เรียนคนเดียว ใครอย่ามายุ่งนะ พอพี่สาวบอกว่า ถ้าเรารู้จักพูดคุยกับคนอื่นเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราจะดูดีขึ้น ก็เลยทำ พอลงมาทำ ตอนแรกก็ไม่ชอบเพื่อนๆ เลย เพราะพวกเขาพูดจาห้วนๆ ไม่เพราะ” นัทสารภาพถึงความรู้สึกในช่วงแรกที่มีต่อทีม

แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกัน ได้คลุกคลี เรียนรู้กันและกัน ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงเบื้องลึกของท่าที จึงยอมรับและเข้าใจ ความรู้สึกจากไม่ชอบเปลี่ยนเป็นสนิทสนมรักใคร่ การได้เรียนรู้เรื่องอาชีพยังช่วยเปิดมุมมองของทีมงาน ทำให้รู้ซึ้งถึงความยากลำบากในการทำมาหากิน

“สำนึกได้ว่า พ่อแม่ทำงานหนัก กลับมาก็เหนื่อย เราก็ควรช่วยพ่อแม่ทำงาน เมื่อก่อนอยู่บ้านไม่ทำอะไรเลย แม้แต่ จานก็ไม่ล้าง แม่กลับมาก็ต้องมาล้างจาน เขาก็บ่นๆ พอได้มาทำโครงการนี้ ได้ลงไปสัมภาษณ์คุณลุงเขาบอกว่า กว่าจะได้เงินมาเหนื่อยนะ หนูก็กลับไปถามแม่ว่า แม่เหนื่อยไหม แม่บอกว่าเหนื่อยสิกว่าจะได้ตังค์มา กว่าจะเลี้ยงลูกให้โตมา เราก็กลับไปนอนคิด ตื่นเช้ามาก็เลยทำงานบ้านให้แม่ แม่ก็งง ตอนนี้ก็ทำงานบ้านตลอด”

แนนเป็นคนหนึ่งที่พบว่า เธอเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการเรียนรู้นี้ “ได้รู้ความลำบากของคนในอาชีพต่างๆ สำนึกได้ว่า พ่อแม่ทำงานหนัก กลับมาก็เหนื่อย เราก็ควรช่วยพ่อแม่ทำงาน เมื่อก่อนอยู่บ้านไม่ทำอะไรเลย แม้แต่ จานก็ไม่ล้าง แม่กลับมาก็ต้องมาล้างจาน เขาก็บ่นๆ พอได้มาทำโครงการนี้ ได้ลงไปสัมภาษณ์คุณลุงเขาบอกว่า กว่าจะได้เงินมาเหนื่อยนะ หนูก็กลับไปถามแม่ว่า แม่เหนื่อยไหม แม่บอกว่าเหนื่อยสิกว่าจะได้ตังค์มา กว่าจะเลี้ยงลูกให้โตมา เราก็กลับไปนอนคิด ตื่นเช้ามาก็เลยทำงานบ้านให้แม่ แม่ก็งง ตอนนี้ก็ทำงานบ้านตลอด ทำทุกอย่าง”

เพื่อนๆ ในทีมร่วมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของแนนว่า เปลี่ยนไปจริงๆ รู้จักทำงานบ้าน แม้กระทั่งไปนั่งทำงานบ้านเพื่อน ยังช่วยปัดกวาดเช็ดถู ที่สำคัญคือปกติแนนเป็นเด็กหลังห้อง แอบหลับในห้องเรียนเป็นประจำ ก็เปลี่ยนไปขยันและตั้งใจเรียนมากขึ้น

การเรียนรู้ของทีมงานได้ขยายขอบเขตไปสู่แวดวงเครือข่ายพลังเด็กและเยาวชนฯ ภาคตะวันตก เพราะเห็นตัวอย่างจากเพื่อนๆ และผู้ใหญ่รอบตัว ทั้งที่พบกันในการอบรม หรือในการสื่อสารผ่านช่องทางไลน์กลุ่ม

“เมื่อก่อนเห็นผู้ใหญ่ชักสีหน้ามา เดินหนีเลยไม่คุย ตอนนี้ถ้าเห็นเขาชักสีหน้ามาก็เข้าใจว่าเขาอาจจะเหนื่อย อาจเจองานหนักมา เข้าใจผู้ใหญ่มากขึ้น เข้าใจว่าความคิดของผู้ใหญ่กับเด็กไม่เหมือนกัน ที่เพื่อนทะเลาะกับอาธเนศในไลน์ หนูรู้สึกว่า เพื่อนเขาเหมือนเราตอนเด็กๆ เลย ทำให้เราได้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองด้วย เราก็กลับไปถามแม่ว่าหนูเปลี่ยนไปไหม แม่บอกว่า เปลี่ยนไปเยอะเลย ใช้เงินน้อยลง การบริหารเงินโครงการทำให้รู้จักบริหารเงินตัวเอง เราได้อะไรใหม่ๆ เยอะจากโครงการนี้ ได้เปลี่ยนตัวเองใหม่ มีความคิดใหม่” นัทสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของตนเองบ้าง

หลอมรวมเป็นเรา

ระหว่างทางของการทำงานร่วมกันคือ เส้นทางของการเรียนรู้กันและกันสมดั่งเจตนาของการตั้งกลุ่ม ทีมงานบอกว่า มีปัญหาหลายๆ เรื่องที่หลอมรวมความเป็นทีม เช่น แนนทะเลาะกับเพื่อน ฝ้ายมีปัญหาเรื่องครอบครัว ปอยกับพีไม่ค่อยสนใจใคร นัทเป็นเด็กใหม่ที่พกความหยิ่งมาจากกรุงเทพฯ อีกทั้งหลายๆ ครั้งที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต้องถกเถียงกันจนวงแตกอยู่บ่อยๆ แต่ทีมก็ก้าวข้ามสถานการณ์เหล่านั้นมาได้ เพราะมียุทธวิธี เมื่อทะเลาะกันก็แตกตัวไปสงบสติอารมณ์ให้รู้สึกเย็นลง แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ โดยส่วนใหญ่แนนจะเป็นผู้ประสานรอยร้าว

“เวลาทะเลาะกับใคร พอหายโกรธแล้ว เราจะเป็นคนเข้าไปทักก่อนตลอด ไม่รู้เพราะอะไร ก็มันหายโกรธแล้ว ก็จะเข้าไปถามว่า เราทำอะไรผิด อย่างตอนที่เพื่อนโกรธไม่คุยด้วย ก็เข้าไปถามเพื่อนก่อนว่า เราทำอะไรผิด” แนนเล่าถึงบุคลิกส่วนตัวที่ไม่ยึดติดตัวตน

“สิ้นเทอมผลของความรับผิดชอบของแต่ละคนปรากฏ ทุกคนเกรดดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จึงเป็นการปลดล็อกความกังวลของผู้ปกครอง...ใครที่บอกว่าทำกิจกรรมแล้วเกรดตก มันอยู่ที่คนแล้วละ มันเป็นข้ออ้างมากกว่า คนที่บอกว่าทำกิจกรรมแล้วเกรดตก เพราะเขาไม่อยากทำมากกว่า บอกมาตรงๆ ว่าไม่อยากทำยังดีเสียกว่ามาอ้างแบบนี้”

เรื่องการจัดการเวลาในชีวิตของแต่ละคนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ ทั้งเรื่องเรียน งานในสภาเด็กและเยาวชนฯ ที่ยังคงช่วยทำอยู่ งานโครงการ จนผู้ปกครองเริ่มกลัวว่าลูกๆ จะเสียการเรียน การแบ่งเวลาเรียน เล่น ทำงาน จึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ บ่อยครั้งที่ทีมงานต้องรีบทำการบ้านให้เสร็จตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน เพื่อที่จะได้มีเวลาว่าง หรือบางคราก็ต้องหยุดเรียนไปอบรมกับพี่เลี้ยงโครงการ ซึ่งเมื่อกลับมาก็ต้องรีบไปตามงานกับเพื่อนๆ หรือครู บางทีก็ต้องไปขออนุญาตสอบก่อนเพื่อนๆ เพราะไม่ว่าง ซึ่งฝ้ายบอกว่าเป็นเรื่องดี ทำให้เธอได้ฝึกตนเอง ทำให้ขยันมากขึ้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น จึงเรียนเก่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว

สิ้นเทอมผลของความรับผิดชอบของแต่ละคนปรากฏ ทุกคนเกรดดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จึงเป็นการปลดล็อกความกังวลของผู้ปกครอง ซึ่งนัทกับแนนประสานเสียงยืนยันว่า “ใครที่บอกว่าทำกิจกรรมแล้วเกรดตก มันอยู่ที่คนแล้วละ มันเป็นข้ออ้างมากกว่า คนที่บอกว่าทำกิจกรรมแล้วเกรดตก เพราะเขาไม่อยากทำมากกว่า บอกมาตรงๆ ว่าไม่อยากทำยังดีเสียกว่ามาอ้างแบบนี้”

กระบวนการเรียนรู้ที่ตั้งใจสร้างความตระหนักถึงคุณค่าอาชีพของท้องถิ่น ได้กระตุกให้เยาวชนในพื้นที่ได้หันมาเหลียวแลและภาคภูมิใจในอาชีพของบรรพบุรุษมากขึ้น ผลของการทำงานยังย้อนกลับมา “ปลุกจิตสำนึก”ภายในของทีมงานให้เห็นถึง “คุณค่าและความหมาย” ของสิ่งใกล้ตัว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ยอมรับกันและกัน และใส่ใจที่จะดูแลช่วยเหลือคนในครอบครัวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงนับได้ว่าเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่น่าชื่นใจ


โครงการเยาวชนเรียนรู้อาชีพแพรกหนามแดง

ทีมงาน : 

  • ปิยวัฒน์ วัชนุชา 
  • ธนาภรณ์ นาควรรณ
  • สุธารินี กลัดกลีบ 
  • สรัสพร มีนะวาณิชย์
  • พีรกานต์ ชัยชนะ