การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาสถานการณ์แนวทางในการแก้ปัญหาของน้ำตกบ่อหวี จังหวัดราชบุรี ปี 1

รวมพลังชุมชน...ฟื้นชีวิตน้ำตกบ่อหวี

โครงการศึกษาสถานการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาของน้ำตกบ่อหวี

ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

การทำโครงการฝึกให้เรามีความรับผิดชอบมาก มีความพยายาม และความอดทนมากขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องการเข้าหาผู้ใหญ่ เรียนรู้ภาวะความเป็นผู้นำ การเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดีต้องรู้ว่าควรจะพูดอย่างไรให้เพื่อนฟังและยอมรับในตัวเรา และที่สำคัญคือทำให้เราเข้าใจคำว่า “สำนึกพลเมือง” มากขึ้น

หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี อำเภอสวนผึ้งจัดเป็นอำเภอต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวจะปักหมุดเดินทางไปเช็คอินโพสต์ในสื่อโซเชียลกันโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือน้ำตกบ่อหวี สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ตั้งอยู่ในตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง มีทั้งหมด 7 ชั้น ห่างจากบ้านบ่อหวีประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันน้ำตกบ่อหวีประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งเส้นทางการเดินทางบนน้ำตกยังถูกปล่อยปะละเลย จนทำให้น้ำตกบ่อหวีเริ่มจางหายไปจากความทรงจำของนักท่องเที่ยว

แต่กลุ่มเยาวชนทีมพลังผึ้ง กลับไม่ปล่อยให้น้ำตกบ่อหวีเหลือแต่เพียงภาพทรงจำ พวกเขารวมกลุ่มกันลุกขึ้นมาทำโครงการศึกษาสถานการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาของน้ำตกบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพราะตระหนักถึงปัญหาของชุมชนบ่อหวีซึ่งเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และมีต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญคือ น้ำตกบ่อหวี ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เคยมีความสวยงาม และมีความอุดมสมบูรณ์ ไหลลงลำห้วยบ่อหวี และแม่น้ำลำภาชี สาขาของแม่น้ำแม่กลอง นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำของคนในชุมชนที่ใช้อุปโภค-บริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชน และของอำเภอสวนผึ้ง แต่ปัจจุบันน้ำตกบ่อหวีประสบกับปัญหาปริมาณน้ำน้อย พื้นที่รกร้าง ขาดการดูแล และไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม ชาวบ้านที่เคยทำงานและเปิดร้านค้ารายย่อยในน้ำตกต้องเลิกกิจการ หันไปรับจ้างทำงานตามรีสอร์ท

รวมพลังผึ้ง...

ทีมพลังผึ้งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักเรียนบ้านพักโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา สมาชิกทีมพลังผึ้งประกอบด้วย ป่าหวาย จะบุ้ง เจน ศิริศุภโชค เพ็ญ-เพ็ญนภา แป้นแย้ม แต๋ว-อริสา คำพุ และพลอย- สุภาวดี สายสาคร โดยป่าหวายบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำโครงการว่า สาเหตุที่เราตกลงไปร่วมในเวทีนับ 1 ครั้งนั้นเป็นเพราะต้องการออกไปหาความสนุกเหมือนวัยรุ่นทั่วไป วันนั้นพอกลับมาเพื่อนๆ ทุกคนมีความสุขมาก แต่หลังจากนั้นพอพี่เลี้ยงโครงการแจ้งว่าเราต้องไปเข้าร่วมกิจกรรมจนครบ 5 ครั้ง พวกเราก็ตั้งคำถามว่ามีอีกแล้วหรือ ทำอีกแล้วหรือ แต่สุดท้ายก็เข้าร่วมจนครบ 5 ครั้ง

“เรารับโครงการมาแล้ว เราเริ่มเขียนตั้งแต่วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินงาน เราเขียนกันเองกับมือ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ”

แม้ช่วงแรกจะคาดหวังเพียงความสนุก แต่สุดท้ายทีมพลังผึ้งก็ยืนยันจะทำโครงการต่อ

“เพราะเรารับโครงการมาแล้ว เราเริ่มเขียนตั้งแต่วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินงาน เราเขียนกันเองกับมือ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ...”

ป่าหวายแกนนำกลุ่มบอกว่า เขาได้ยินเพื่อนบอกว่า น้ำตกบ่อหวีเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวค่อนข้างเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครมาเที่ยวเลย ด้วยความสงสัย เขาเลยตั้งคำถามว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ถึงไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่น้ำตกบ่อหวีเหมือนเมื่อก่อน นี่จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

“ครั้งแรกที่คิดโครงการ ผมมีภาพฝันว่า ต้องการฟื้นฟูให้น้ำตกบ่อหวีกลับมาเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่พอได้ลองศึกษาข้อมูล ลงพื้นที่ดู รวมทั้งข้อคิดจากพี่เลี้ยงโครงการที่ทั้งคอยกระตุกกระตุ้นให้กลับมาสู่ความจริง ก็ทำให้รู้ว่า ไม่ง่ายเลยที่เขาจะทำให้ฝันที่วางไว้เป็นจริง เมื่อรู้ว่าศักยภาพของผมและเพื่อนๆ คงไม่เพียงพอที่จะทำให้น้ำตกบ่อหวีกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เราจึงกลับมานั่งคุยกันเพื่อปรับเป้าหมายให้ตรงกับศักยภาพของตัวเองนั่นคือ การศึกษาสถานการณ์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาของน้ำตกบ่อหวี”

เมื่อได้ข้อสรุปจากทีมแล้วว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษาสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหา จึงจัดประชุมทีม และชี้แจงให้เพื่อนในบ้านพักอีก 24 คนรับทราบว่ารายละเอียดโครงการ เพื่อให้เพื่อนๆ ทั้ง 24 คนช่วยกันแสดงความคิดเห็น

“เราอยากให้พวกเขาเข้ามีส่วนร่วมกับเรา เพราะพวกเราอยู่ในหอเหมือนกัน ตอนชี้แจงทำความเข้าใจก็มีเพื่อนที่รับฟังและไม่ฟัง เราก็ไม่ได้ว่าอะไร อย่างน้อยเพื่อนก็รับรู้ว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่” พลอยบอกเหตุผลที่ต้องนำข้อมูลที่ได้จากเวทีนับ 1 มาเล่าให้เพื่อนให้ฟัง

บ่อหวีในตำนาน...

หลังจากประชุมทีม ชี้แจงโครงการให้เพื่อนๆ ในหอพักรับรู้ถึงเป้าหมายโครงการแล้ว ก็ได้เพื่อนเข้ามาร่วมด้วยอีก 10 คน ถึงจะไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่อย่างน้อยก็ยังมีคนที่สนใจเข้ามาช่วย แค่นี้พวกเขาทั้ง 5 คนก็พอใจแล้ว เมื่อทีมลงตัว ป่าหวายและเพื่อนๆ จัดประชุมทีมกันอีกครั้งเพื่อแบ่งกันลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในหมู่บ้านบ่อหวี โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทีม คือทีมของป่าหวายเข้าไปสอบถามข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่ และรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ติดกับน้ำตกบ่อหวี ส่วนเพ็ญซึ่งเป็นคนในพื้นที่จะเข้าไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของน้ำตกบ่อหวี จากผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนลงพื้นทีมงานช่วยกันตั้งคำถามที่จะลงไปขอข้อมูลจากคนในพื้นที่ เช่นที่มาของน้ำตก สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่สนใจมาเที่ยวน้ำตกบ่อหวี ปัญหาการขาดแคลนน้ำของน้ำตกบ่อหวีเกิดจากอะไร เป็นต้น

เมื่อคำถามพร้อม คนพร้อม ทีมนัดแนะกันลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพน้ำตกบ่อหวีทั้ง 7 ชั้น รวมทั้งสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

“ตอนที่เราลงพื้นที่ไปสำรวจน้ำตกบ่อหวีครั้งแรก ทางข้างล่างก็ปกติดี แต่ถ้าเราเดินขึ้นไปข้างบนค่อนข้างจะรกร้างมีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นเยอะมาก” เจนเล่าบรรยากาศการลงพื้นที่ครั้งแรกให้ฟัง

ขณะที่ป่าหวายซึ่งรับผิดชอบการสอบถามข้อมูลชาวบ้านเสริมว่า เมื่อประมาณปี 2545 หมู่บ้านบ่อหวียังมีประชากรอยู่ไม่มาก เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวน้ำตกบ่อหวีค่อนข้างเยอะ แต่หลังจากปี 2552 ประชากรในหมู่บ้านบ่อหวีมีจำนวนมากขึ้น มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ่อหวีค่อนข้างเยอะ ทำให้การอุปโภคบริโภคน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะในอดีตชาวบ้านในหมู่บ้านบ่อหวีใช้น้ำจากน้ำตกบ่อหวีอุปโภคบริโภคตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เมื่อประชากรเยอะขึ้นความต้องการน้ำก็ยิ่งมากขึ้น ทำให้น้ำตกบ่อหวีที่เคยมีน้ำไหลตลอดค่อยๆ ลดลง ปัจจุบันต้องอาศัยฝนเป็นตัวช่วยอีกทางเพื่อนำน้ำมาใช้ในด้านการเกษตร

“ช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้ำตกบ่อหวี ชาวบ้านในพื้นที่ยังพอมีรายได้จากการตั้งร้านค้า ขายของริมทาง ทั้งของที่ระลึกและของป่า แต่ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ชาวบ้านเองก็ขาดรายได้ ร้านค้าที่เคยมีขายตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว”

ถึงจะท้อ...ก็จะทำ

เห็นข้อมูลลึกเช่นนี้ ทีมบอกว่า พวกเขาต้องลงพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง ในช่วงแรกๆ ของการลงพื้นที่ เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้วางแผนการทำงานไว้ว่าจะไปเก็บข้อมูลที่ไหน จากใคร ข้อมูลที่ได้จึงยังไม่ชัดเจน ทำให้ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่ม

“การเก็บรวบรวมข้อมูลแต่ละครั้ง พวกเราประสบปัญหาตลอด บางทีข้อมูลที่เราลงไปสำรวจมาเรานำมาเก็บรวบรวมไว้ที่หอพัก พอถึงช่วงปิดเทอมก็แยกย้ายกันกลับบ้าน พอเปิดเทอมมาข้อมูลที่รวบรวมไว้ก็หายบ้าง ก็ต้องมาเก็บเพิ่มในส่วนที่หายไป หรือเก็บเพิ่มในส่วนที่ยังไม่ชัดเจน บางทีเพื่อนๆ ในกลุ่มก็ไม่พร้อม มีเวลาไม่ตรงกันบ้าง จาก 5 คนพอมารวมตัวกันจริง ๆ เหลือ 2 คนก็เคยมี ยอมรับว่ามีท้อบ้าง บางวันตัดสินใจแยกย้ายกันกลับบ้านไม่ลงพื้นที่กันก็มี แล้วค่อยนัดกันใหม่ บางทีพอรวมตัวกันแล้วไปถึงพื้นที่แล้ว เงินไม่ได้เบิกมา น้ำมันรถไม่มีบ้าง อุปสรรคเยอะพอสมควร ทำให้ยืดเวลาการเก็บข้อมูลของเราไปแบบสูญเปล่า” แต๋วเล่าปัญหาที่อัดอั้นอยู่ในใจ

แม้จะมีปัญหาระหว่างทางเข้ามาเป็นบททดสอบ แต่ทีมพลังผึ้งก็ไม่ท้อ พวกเขาใช้ “ความพยายาม” รวมทีมเก็บข้อมูลเพิ่ม สุดท้ายจึงได้ข้อมูลที่พร้อมจะคืนสู่ชุมชน

ป่าหวายเล่าว่า พวกเขาติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านไว้ล่วงหน้าว่าจะจัดเวทีคืนข้อมูลให้ชุมชน เริ่มต้นจากชี้แจงที่มาที่ไปของโครงการ จากนั้นจึงนำเสนอข้อมูลเรื่องสภาพพื้นที่ของน้ำตกบ่อหวี ปัญหาที่พบจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน และข้อเสนอแนะของชาวบ้านเกี่ยวกับน้ำตกบ่อหวี เสร็จจากกิจกรรมคืนข้อมูลในช่วงเช้า ช่วงบ่ายทีมพลังผึ้งร่วมมือกันกับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันปรับภูมิทัศน์น้ำตกบ่อหวี ทั้งปรับทางเดิน ถางหญ้า และเก็บขยะ ตั้งแต่ชั้น1 จนถึงชั้น 7

“ตอนที่ขึ้นไปยอมรับว่าเหนื่อยมาก ร้อนด้วย แต่ระหว่างทางที่ขึ้นไปจะมีชาวบ้านยิ้มให้ผม ปรบมือให้ ดูแลกันตลอดทางทั้งชาวบ้านและทีมผม ก่อนขึ้นไปพัฒนาน้ำตกผู้ใหญ่บ้านพูดว่า ลูกใครที่ไหนก็ไม่รู้ เขายังมาทำเพื่อบ้านเรา แล้วเราเป็นผู้ใหญ่เป็นคนในชุมชน เราจะไม่ดูแลน้ำตกของเราเองได้ยังไง พอพวกผมได้ยินผู้ใหญ่บ้านพูดแบบนี้ เหมือนเป็นแรงขับให้พวกเราอยากจะทำโครงการนี้ต่อ ระยะเวลา 6 เดือนที่เราทำมาไม่ได้สูญเปล่า พวกเราค้นพบว่าสิ่งที่เราทำถึงจะไม่ได้ทำให้น้ำตกบ่อหวีกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง แต่พวกเราก็สามารถทำให้คนในพื้นที่ตระหนักและกลับมาเห็นความสำคัญของน้ำตกได้” ป่าหวายเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าและแววตาเป็นประกาย

เปลี่ยน...

ระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ทีมพลังผึ้งต้องฝ่าฟันทั้งอุปสรรคและปัญหา แต่ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ค่อยๆ ขัดเกลาให้เหล่าผึ้งตัวน้อยๆ ทั้ง 5 คนกลายเป็นผึ้งที่มีพลังและคุณค่าในสายตาของผู้คนในหมู่บ้านบ่อหวี ปัจจุบันน้ำตกบ่อหวีมีภูมิทัศน์ที่สะอาดตาขึ้น จนถูกผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปแล้ว

ป่าหวายบอกว่า โครงการนี้ฝึกให้เขามีความรับผิดชอบมาก มีความพยายาม และความอดทนมากขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องการเข้าหาผู้ใหญ่ เรียนรู้ภาวะความเป็นผู้นำ การเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดีต้องรู้ว่าควรจะพูดอย่างไรให้เพื่อนฟังและยอมรับในตัวเรา และที่สำคัญคือทำให้เขาเข้าใจคำว่า “สำนึกพลเมือง” มากขึ้น

“แม้จะเป็นคนในพื้นที่ แต่เธอยอมรับว่าไม่ค่อยสนิทกับคนในพื้นที่เท่าไหร่นัก จนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมโครงการนี้ทำให้เธอสนิทกับชาวบ้านมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น”

แต๋วเสริมว่า โครงการสอนให้เธอเรียนรู้วิธีการพูดที่ถูกต้อง จากเคยพูดมากเฉยๆ ตอนนี้พูดเป็นมากขึ้น

ส่วนเพ็ญแม้จะเป็นคนในพื้นที่ แต่เธอยอมรับว่าไม่ค่อยสนิทกับคนในพื้นที่เท่าไหร่นัก จนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมโครงการนี้ทำให้เธอสนิทกับชาวบ้านมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น

เรียนรู้การเป็น “ผู้ให้”

สราวุฒ จุ่มจันทร์ พี่เลี้ยงชุมชน เล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจหยิบยื่นโอกาสให้ทีมพลังผึ้งว่า เขาเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นกระเหรี่ยงทั้งทีม พวกเขาขาดโอกาสที่จะเป็นผู้ให้ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นผู้รับมากกว่า คิดว่าเราน่าจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพวกเขาจากผู้รับให้เขามาเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้กับเขาบ้าง ด้วยการเปิดโอกาสให้ทำโครงการนี้

“เด็กกลุ่มนี้จัดเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ค่อยสนใจอะไร แต่พอได้เข้ามาร่วมโครงการ ได้คิดวางแผนทำกิจกรรม ทำให้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้นมาก ใส่ใจกับการเรียนมากขึ้น ถึงเขาจะไม่ได้พัฒนาดีขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็มีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

“สิ่งที่ผมประทับใจเด็กกลุ่มนี้คือ ในช่วงปิดเทอมที่ผมไม่อยู่ พวกเขาสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมให้ดำเนินต่อไป ผมมองว่าเป็นพัฒนาการที่ดีที่เขาได้จากโครงการนี้ ทุกอย่างที่ทำเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน สำหรับผมในฐานะพี่เลี้ยงหากพวกเขาเข้ามาปรึกษา ผมจะไม่บอก แต่จะใช้วิธีถามมาถามกลับ พยายามถามเพื่อทวนวัตถุประสงค์ของโครงการ ถามเพื่อชักนำและบอกอ้อม ให้เขาได้คิดเอง ดำเนินการด้วยตัวเขาเอง ยอมรับว่าโครงการนี้ทำให้เด็กๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะป่าหวายเห็นชัดมากว่าเขาเปลี่ยนไปเยอะ เด็กกลุ่มนี้จัดเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ค่อยสนใจอะไร แต่พอได้เข้ามาร่วมโครงการ ได้คิดวางแผนทำกิจกรรม ทำให้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้นมาก ใส่ใจกับการเรียนมากขึ้น ถึงเขาจะไม่ได้พัฒนาดีขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็มีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก”

ด้วยอุบายของพี่เลี้ยงชุมชนที่ต้องการให้ทีมพลังผึ้งเรียนรู้การเป็น “ผู้ให้” ผ่านการทำโครงการ เมื่อผนวกกับกระบวนการจากทีมพี่เลี้ยงโครงการที่ทั้งคอยกระตุก กระตุ้น ฉุด ดึง รั้ง ได้กลายเป็น “พลังบวก” ให้ทีมพลังผึ้งเติบโตขึ้นทั้งวิธีคิดและวิธีทำงาน จากเด็กหลังห้องที่ไม่สนใจอะไร ก็กลับมาสนใจและใส่ใจชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ วันนี้แม้น้ำตกบ่อหวีจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เหมือนภาพฝันที่วาดไว้เมื่อครั้งเริ่มทำโครงการ แต่ความพยายามของพวกเขาไม่สูญเปล่า เมื่อคนในชุมชนตระหนักเห็นคุณค่าของน้ำตกบ่อหวี หันมาร่วมมือร่วมใจดูแลรักษาน้ำตกบ่อหวีให้ดีขึ้น ดังคำกล่าวของผู้ใหญ่บ้านที่ว่า “ลูกใครที่ไหนก็ไม่รู้ เขายังมาทำเพื่อบ้านเรา แล้วเราเป็นผู้ใหญ่เป็นคนในชุมชน เราจะไม่ดูแลน้ำตกของเราเองได้ยังไง”


โครงการศึกษาแนวทางสถานการณ์ในการแก้ปัญหาน้ำตกบ่อหวี ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

พี่เลี้ยงชุมชน : สราวุฒ จุ่มจันทร์

ทีมงาน :

  • ป่าหวาย จะบุ้ง 
  • เจน ศิริศุภโชค
  • เพ็ญนภา แป้นแย้ม 
  • อริสา คำพุ
  • สุภาวดี สายสาคร