การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนคลองแดน จังหวัดสงขลา

พลังเยาวชน...คนคลองแดน

โครงการ เที่ยวทั่วท่อง ฅนคลองแดน

โครงการล่องนาวา ภูมิปัญญาฅนคลองแดน

โครงการ Media save Klongdan

การได้ศึกษาชุมชนตนเองอย่างลึกซึ้ง ก่อให้เกิดความรักและผูกพันมากขึ้น...เมื่อก่อนก็รู้ว่ารักชุมชนคลองแดน แต่เมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ยิ่งทำให้รักชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม และตั้งใจที่จะใช้ความสามารถของตนเองช่วยเหลือชุมชนในทุกเรื่องที่สามารถทำได้

คลองแดน...ชุมชนวิถีพุทธ เป็นชุมชนเข้มแข็งที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาของคนในชุมชน ชุมชนที่อดีตเป็นชุมทางการค้าและการคมนาคม เนื่องด้วยมีเส้นทางสัญจรทางน้ำที่เชื่อมโยง 2 เมืองคือ คลองระโนด (ฝั่งสงขลา) คลองชะอวด และคลองหัวไทร (ฝั่งนครศรีธรรมราช) และยังสามารถล่องเรือไปถึงพัทลุง การรื้อฟื้นวิถีถิ่นผ่านการจัดตลาดนัดทุกวันเสาร์ คือสิ่งดึงดูดความสนใจให้ผู้คนต่างถิ่นเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ความเป็นชุมชน

ด้วยความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนคลองแดนจึงเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการชุมชนของผู้สนใจหลายแห่ง รวมถึงสงขลาฟอรั่มที่ใช้ชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ให้เยาวชนโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเรียนรู้เรื่องสำนึกพลเมือง การได้เห็นเยาวชนวัยใกล้เคียงกับเด็ก ๆ ในชุมชนมีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมือง สร้างความสนใจให้แกนนำชุมชน “เห็นโอกาส” ในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจถิ่นเกิด จึงชักชวนเยาวชนในชุมชนเข้ามาทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ภายใต้การสนับสนุนของสงขลาฟอรั่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เยาวชนในชุมชน 3 กลุ่มอาสาเข้ามาศึกษาเรื่องราวที่เป็นจุดเด่นของชุมชน โดยกลุ่มช้างแคระ ซึ่งประกอบด้วย เคน-ศุภกิจ อุทัยรัตน์ จุ๊บ-ณัฐภรณ์ ยังแก้ว ไอซ์-ณัฐริกา ยังแก้ว เบียร์-สิทธินนท์ เพ็ชรมณี ฉิม-กชกร ชูบัว สนใจจะจัดการท่องเที่ยวทางบกในชุมชน ภายใต้โครงการเที่ยวทั่วท่อง ฅนคลองแดน

กลุ่มภูติสามคลอง ที่มีสมาชิกคือ กัลป์-มณัญกา อุบลสิงห์ ปิว-มณธิรา ขาวหนูนา กิ๊ก-พรพิมล ขาวหนูนา ทราย-กนกพร ชูหนู ออม-ปานทิพย์ ชูมนต์ สนใจการจัดการท่องเที่ยวทางน้ำในชุมชน ในชื่อโครงการล่องนาวา ภูมิปัญญาฅนคลองแดน

ส่วนกลุ่มลูกขวานสื่อ ที่มี เบน-อริสา ผู้กำจัด ดาว-ประกายดาว ขาวผ่อง กุลนันท์ ทองสงฆ์ และธนากรณ์ ปานทองคง อาสาใช้ความสนใจของตนเองในเรื่องสื่อ พัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นชุมชนคลองแดนสู่สาธารณะ ในชื่อโครงการ Media save Klongdan

“การจะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกไปได้นั้น กลุ่มเยาวชนต้องเรียนรู้ให้รู้จักชุมชนของตนเองก่อน แต่ละทีมจึงเริ่มศึกษาชุมชนที่ตนเองอยู่มาตั้งแต่เกิด เพื่อให้รู้จักชุมชนของตนเองดีขึ้น”

กัลป์เล่าถึงการเข้าร่วมทีมทำงานว่า ตอนนั้นผู้ใหญ่ในชุมชนเรียกกลุ่มเยาวชนมาประชุม บอกว่ามีโครงการแบบนี้ แล้วถามว่าพวกเราอยากทำไหม พวกเราก็อยากทำ เพราะเป็นคนในชุมชน อยากทำอะไรสักอย่างให้ชุมชนบ้าง เลยแบ่งกลุ่มเขียนโครงการ ตอนแรกก็ทำไม่เป็น ไม่รู้จะเขียนอย่างไร แต่พอได้เข้าร่วมประชุมการพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมกับทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่ม ทำให้เข้าใจการเขียนและทำโครงการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ละทีมจะมีความสนใจทำกิจกรรมชุมชนในประเด็นที่ต่างกัน แต่เมื่อประชุมร่วมกับผู้ใหญ่ที่เป็นแกนนำของชุมชน ก็ได้รับคำแนะนำว่า แม้จะแยกทีมทำงานแต่ทุกกลุ่มมีโจทย์ร่วม นั่นคือการถ่ายทอดสิ่งดีๆ เกี่ยวกับคลองแดน ซึ่งการจะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกไปได้นั้น กลุ่มเยาวชนต้องเรียนรู้ให้รู้จักชุมชนของตนเองก่อน แต่ละทีมจึงเริ่มศึกษาชุมชนที่ตนเองอยู่มาตั้งแต่เกิด เพื่อให้รู้จักชุมชนของตนเองดีขึ้น


ปลุกสำนึกรักบ้านเกิด

เมื่อผู้ใหญ่ชี้แนะแนวทางการทำงาน แต่ละทีมจึงจัดประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ออกแบบกิจกรรม แบ่งบทบาทหน้าที่ และลงมือเก็บข้อมูลชุมชน ทีมที่ทำเรื่องการท่องเที่ยว ก็กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ ทางบก ส่วนทีมที่ทำเรื่องสื่อ ก็รวบรวมข้อมูล ภาพถ่าย เรียบเรียงถ้อยคำ เพื่อนำไปเผยแพร่ในเพจ Media save Klongdan

การสำรวจชุมชนในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหางาน กลุ่มช้างแคระสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวทางบก กลุ่มภูติสามคลองเก็บข้อมูลสภาพแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ กลุ่มลูกขวานสื่อรวบรวมข้อมูลของดีของชุมชน และเมื่อเก็บข้อมูลได้ระยะหนึ่ง ทั้ง 3 กลุ่มได้นำข้อมูลของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน กลายเป็นการช่วยกันตรวจสอบข้อมูล และเติมเต็มข้อมูลที่อาจจะขาดหายไป เป็นที่มาของการสำรวจพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจสถานที่สำคัญ ๆ ของชุมชนทางบก เคน ซึ่งสามารถขับจักรยานยนต์พ่วงข้างได้ รับหน้าที่เป็นพลขับ พาตัวแทนทีมงานทั้ง 3 ทีมไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยแบ่งหน้าที่กัน เบียร์กับจุ๊บเป็นคนจดบันทึกข้อมูลพร้อมทั้งวาดแผนที่เส้นทาง ดาวและเบนรับหน้าที่ถ่ายภาพ

“ขับรถไปตามจุดต่าง ๆ บางจุดถ้าเจอผู้รู้ เช่น เจ้าอาวาส หรือชาวบ้านแถว ๆ นั้นก็จะสัมภาษณ์ประวัติของสถานที่ว่า ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมชื่อนี้ สร้างมากี่ปี ซึ่งข้อมูลของแต่ละแห่งได้มาจากคน 2-3 คน ไม่ได้ถามแค่คนเดียว” เคนอธิบายการทำงาน

เส้นทางการสำรวจเริ่มจากวัดคลองแดน ทุ่งรวงทอง ไร่นาสวนผสม วัดบางหลอด วัดสิขาราม ถึงดงตาล 100 ปี ก่อนจะวนกลับมาที่วัดคลองแดน ระยะทางรวม 15 กิโลเมตร ทำให้ทีมงานช้างแคระรู้ว่า หากจะจัดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอาจต้องมีพาหนะ เช่น รถไม้ (รถกระบะที่ต่อด้วยไม้) หรือจักรยานยนต์ ส่วนทีมงานลูกขวานสื่อ ก็ได้ข้อมูล และเก็บภาพสวย ๆ ของสถานที่สำคัญ ๆ รวมทั้งบรรยากาศการทำงานของทีมงาน เพื่อนำไปเผยแพร่ในเพจของตน

“การพบปัญหาสภาพแวดล้อมในลำคลองและริมฝั่งคลอง ทำให้ทีมงานอยากช่วยแก้ไข จึงนำเรื่องดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมของหมู่บ้าน...เล่าความก้าวหน้าของการทำงานโครงการ เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจบ้านเมือง ส่งผลให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องไม่อาจนิ่งดูดาย หลังประชุมเสร็จ บ้านแต่ละหลังที่อยู่ติดริมคลอง ต่างช่วยกันสอดส่องดูแลความสะอาดของลำคลอง เก็บขยะที่ลอยมาตามน้ำ”

สำหรับทีมงานภูติสามคลอง ซึ่งตั้งใจจัดการท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องมีการสำรวจเส้นทางสัญจรทางน้ำอีกครั้งเพื่อกำหนดเส้นทางท่องเที่ยว ทีมงานจึงขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยพายเรือพาล่องไปตามลำคลองสายต่าง ๆ เพื่อสำรวจสภาพ สิ่งที่พบนอกจากความน่าสนใจของวิถีชีวิตริมฝั่งแล้ว ยังพบสิ่งที่ชวนใจหายคือ เศษขยะที่ลอยฟูฟ่องตามน้ำ และสภาพตลิ่งที่ไร้ต้นไม้ปกคลุมที่ส่งผลให้ตลิ่งทรุดในบางจุด การพบปัญหาสภาพแวดล้อมในลำคลองและริมฝั่งคลอง ทำให้ทีมงานอยากช่วยแก้ไข จึงนำเรื่องดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมของหมู่บ้าน ซึ่งทีมงานต้องร่วมประชุมเพื่อเล่าความก้าวหน้าของการทำงานโครงการ เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจบ้านเมือง ส่งผลให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องไม่อาจนิ่งดูดาย หลังประชุมเสร็จ บ้านแต่ละหลังที่อยู่ติดริมคลอง ต่างช่วยกันสอดส่องดูแลความสะอาดของลำคลอง เก็บขยะที่ลอยมาตามน้ำ

ส่วนปัญหาตลิ่งทรุด จากการสอบถามจากชาวบ้านเล่าว่า ไม้ริมคลองพื้นถิ่นย่านนี้มีต้นโกงกางและต้นกุระ ซึ่งเป็นพืชที่ช่วยยึดตลิ่ง แต่ในระยะหลัง ๆ ถูกตัดไปจนหมด แผนงานของทีมจึงถูกปรับโดยเพิ่มกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อปรับภูมิทัศน์ของริมคลอง


เงื่อนไขชีวิต...ที่ไม่อาจพิชิตฝัน

ทำงานได้ไม่กี่กิจกรรม ทีมงานที่ส่วนใหญ่เรียนอยู่ในตัวเมืองสงขลา ต้องไปอยู่หอพักตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ประกอบกับพี่ ๆ บางส่วนต้องไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น การทำงานจึงเริ่มสะดุด การประสานงาน นัดหมายเพื่อทำกิจกรรมทำได้ยากขึ้น ยิ่งนานวันเข้ากิจกรรมการเรียนและกิจกรรมในโรงเรียนยิ่งดึงเด็กๆ ออกจากชุมชน ทีมลูกขวานสื่อที่มีทีมงาน 4 คน เหลือคนทำงานเพียง 2 คนคือ ดาวและเบน ส่วนเพื่อนอีก 2 คนติดภารกิจอื่น ๆ จนไม่สามารถมาช่วยกันทำงานได้ ส่วนทีมช้างแคระพี่ไอซ์และพี่ฉิมเรียนหนักจนไม่มีเวลา แม้จะพยายามช่วยเหลือในส่วนของงานเอกสาร แต่การไม่มีพี่อยู่ในทีมเลยทำให้งานไม่เดิน ด้านปิวซึ่งเป็นหัวหน้าทีมภูติสามคลอง ได้รับตำแหน่งในสภานักเรียนของโรงเรียนที่ดึงเอาเวลาในชีวิตไปหมด เมื่อขาดหัวเรือใหญ่ สมาชิกในทีมจึงแทบจะไปไม่เป็น

เคนบอกว่า น้อง ๆ แต่ละทีมต่างตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะจัดการชีวิตตนเองอย่างไร หน้าที่หลักคือ การเรียนหนังสือ จึงต้องยึดบทบาทนักเรียนไว้ และพยายามทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด เมื่อกลับมาที่คลองแดนก็จะนำงานโครงการมาพูดคุยกัน พร้อมทั้งค่อย ๆ ขยับงานไปทีละนิด ทีมช้างแคระนำข้อมูลจากการสำรวจมาทำเป็นแผนที่เส้นทางการท่องเที่ยวทางบกในชุมชนคลองแดน และรอคอยเวลาที่จะทดลองจัดกิจกรรมนำเที่ยวสักครั้ง โดยมีเคนที่แอบทดลองนำเที่ยวด้วยตนเอง นำครูสอนภาษาอังกฤษของตนเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ขณะที่ทีมภูติสามคลอง จัดทำแผนที่การท่องเที่ยวทางเรือ พร้อมทั้งพากันหัดพายเรือในคลองให้เชี่ยวชาญ เพื่อที่เวลารับแขกบ้านแขกเมืองจะได้นำเที่ยวทางน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว

ส่วนทีมลูกขวานสื่อก็ฝึกถ่ายภาพ และฝึกเขียนคำบรรยายโดยมีอาจารย์นิธิ เผ่าทองแดง ซึ่งหมอไกร -เกรียงไกร อนันตพงษ์ ประธานชุมชน เป็นผู้ประสานงานให้มาเป็นผู้สอนทั้งในเรื่องการถ่ายภาพและการเขียนคำบรรยาย โดยมีสมาชิกที่เหลือกัน 2 คนคือ เบนและดาวช่วยกันทำงาน “เพื่อนไม่ทำแล้ว แต่หนูยังทำต่อ เพราะอยากเอาชนะใจตนเองว่า สิ่งไหนที่ยาก ถ้าเราทำได้เราก็จะได้ประสบการณ์และได้ช่วยชุมชนด้วย” เบนเล่าถึงความตั้ง่ใจทำโครงการต่อ


ผู้เรียนรู้ได้ จึงฝึกตน

รูปภาพประกอบคำบรรยายสั้น ๆ ที่ทีมลูกขวานสื่อทยอยนำมาโพสต์ในเพจ Media save Klongdan เป็นภาพสถานที่และบรรยากาศของชุมชนคลองแดน เช่น พระทองคำ หอฉันท์ เรือขุดโบราณ หอระฆัง และบรรยากาศในตลาดน้ำคลองแดน การได้ฝึกฝนถ่ายภาพ เขียนคำบรรยาย ทำให้เบนรู้สึกตัวว่า เธอมีความรู้เรื่องกล้องถ่ายภาพ และมีพัฒนาการเรื่องการถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพที่สื่อความหมายและงดงามมากขึ้นกว่าเดิมที่ถ่าย ๆ ไปแค่ให้ชัด ส่วนการฝึกเขียนคำบรรยายนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาทักษะการใช้ภาษา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงในการเรียน ที่เบนบอกว่า ตอนนี้เวลาคุณครูสั่งงานอะไร ก็จะสามารถคิดได้ ทำได้ เพราะว่ามีประสบการณ์จากการคิดออกแบบและทำงาน แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชีวิตคือ การพัฒนานิสัยรับผิดชอบ และการรู้จักแบ่งเวลา ซึ่งคุณสมบัติทั้งสองข้อนี้เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ

“ตอนนี้เวลาคุณครูสั่งงานอะไร ก็จะสามารถคิดได้ ทำได้ เพราะว่ามีประสบการณ์จากการคิดออกแบบและทำงาน แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชีวิตคือ การพัฒนานิสัยรับผิดชอบ และการรู้จักแบ่งเวลา ซึ่งคุณสมบัติทั้งสองข้อนี้เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ”สำหรับเคนนั้น การเก็บข้อมูลที่ต้องไปสัมภาษณ์ผู้คน กลายเป็นการพัฒนาทักษะการพูด

“การไปสัมภาษณ์เราต้องอธิบายให้เขาทราบก่อนว่า เราจะทำอะไร อย่างไร พอได้ทำแล้วก็รู้สึกว่า ตนเองเปลี่ยนแปลงไปคือ พูดเก่งขึ้น” เคนเล่า ซึ่งในขณะเดียวกันการทำงานกับเพื่อน ๆ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ความคิดที่หลากหลาย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้น และเป็นการฝึกการยอมรับผู้อื่น เพราะแต่ละคนต่างมีความถนัดและความเก่งที่ต่างกันออกไป เมื่อมาทำงานร่วมกันก็ต้องแบ่งงาน และใช้ศักยภาพของแต่ละคนในการทำงานหนุนช่วยกัน

การได้ศึกษาชุมชนตนเองอย่างลึกซึ้ง ก่อให้เกิดความรักและผูกพันมากขึ้นในใจของกัลป์ ที่บอกว่า เมื่อก่อนก็รู้ว่ารักชุมชนคลองแดน แต่เมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ยิ่งทำให้รักชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม และตั้งใจที่จะใช้ความสามารถของตนเองช่วยเหลือชุมชนในทุกเรื่องที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษในการช่วยเหลือเวลามีคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวในชุมชน

เกรียงไกร อนันตพงษ์ ประธานชุมชน ในฐานะผู้เชื้อเชิญเยาวชนทำโครงการ สะท้อนความคิดเห็นต่อการทำงานของเด็ก ๆ ว่า การทำงานของเยาวชนเริ่มจากการที่เด็ก ๆ มักมีส่วนร่วมกับชุมชนในด้านต่าง ๆ ตามศักยภาพอยู่แล้ว เมื่อเห็นสงขลาฟอรั่มทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน จึงคิดใช้โอกาสนี้ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ได้กำหนดเส้นทางหรือวิธีการในการทำงาน แต่เป็นการทำงานที่เด็กๆ ได้คิดเอง ทำเอง ผู้ใหญ่เป็นผู้หนุนเสริมอำนวยความสะดวก

“เด็ก ๆ เขาทำงานแล้วก็เอางานที่ทำมาเล่าในที่ประชุมของชุมชน เราก็จะช่วยตั้งคำถามให้คิด และปฏิบัติกับเขาเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่” หมอไกรเล่าถึงแนวคิดในการหนุนเสริมเยาวชน

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า รู้สึกเสียดายที่การทำงานไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แต่ก็เข้าใจว่าเป็นวิถีชีวิตของเด็ก ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการเรียนเป็นอันดับแรก ทำให้ต้องทำใจยอมรับว่า งานอาจจะช้าไปบ้าง ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือเร่งรัด แต่จะกระตุ้นให้เยาวชนแสดงความรับผิดชอบเอง แม้ว่าน้อง ๆ แต่ละทีมอาจจะทำงานได้ไม่ครบทุกกิจกรรมตามที่ตั้งใจไว้ แต่ในที่สุดแล้วทั้ง 3 ทีมก็ผนึกกำลังทดลองจัดการท่องเที่ยวในชุมชน ภายใต้ชื่อ “เที่ยวท่อง ล่องเรือ ที่นี่คลองแดน” โดยมีพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ ประกาศรับสมัครอาสาสมัครนักท่องเที่ยวผ่านทางเฟซบุ๊กสงขลาฟอรั่ม และ Media save Klongdan การได้ทดลองจัดการท่องเที่ยวในเส้นทางที่เคยออกแบบไว้ โดยมีนักท่องเที่ยวอาสาซึ่งเป็นคณะกรรมการของสงขลาฟอรั่ม อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และประชาชนที่สนใจ ที่เข้ามาร่วมสัมผัสเสน่ห์ของคลองแดนผ่านฐานชีวิตจริงของคนในชุมชน

การจัดการท่องเที่ยวดังกล่าวทำให้เยาวชนได้เรียนรู้การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งการเป็นมัคคุเทศก์ การจัดการเรื่องการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งประสบการณ์ตรงที่ได้เก็บเกี่ยวจากปฏิบัติการครั้งนี้ได้ช่วยคลายความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดำเนินงานตามแผนงานที่ออกแบบไว้ให้ทุเลาเบาบางลงไปบ้าง และยังทำให้เยาวชนได้เห็นถึงจุดอ่อนในการจัดการของตนเองผ่านเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวอาสา ที่ทีมงานจะได้นำไปปรับปรุงต่อไป

ความตั้งใจดีต่อชุมชนถิ่นเกิด นำมาซึ่งการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กๆ รู้จักชุมชนของตนในมุมใหม่อย่างไม่คาดคิดมาก่อน สะท้อนผ่านความรู้และความรักอย่างลึกซึ้งกับชุมชนถิ่นเกิดของตน และพัฒนาความรับผิดชอบอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม ซึ่งเด็กๆ ต่างสะท้อนว่า ในอนาคตเมื่อเติบใหญ่ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็จะหาโอกาสหวนคืนมาสร้างประโยชน์แก่ชุมชนคลองแดนที่รักของตน


โครงการ : เที่ยวทั่วท่อง ฅนคลองแดน

ที่ปรึกษาโครงการ : สมเกียรติ หนูเนียม

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนชุมชนคลองแดนอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

( ศุภกิจ อุทัยรัตน์ ) ( ณัฐภรณ์ ยังแก้ว ) ( ณัฐริกา ยังแก้ว )

( สิทธินนท์ เพ็ชรมณี ) (กชกร ชูบัว )


โครงการ : ล่องนาวา ภูมิปัญญาฅนคลองแดน

ที่ปรึกษาโครงการ : อุดมหยุ้งนา

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนชุมชนคลองแดนอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

( มณัญกา อุบลสิงห์ ) ( มณธิรา ขาวหนูนา ) ( พรพิมล ขาวหนูนา ) ( กนกพร ชูหนู ) ( ปานทิพย์ ชูมนต์ )


โครงการ : Media save Klongdan

ที่ปรึกษาโครงการ : สมเกียรติ หนูเนียม

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนชุมชนคลองแดนอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

( อริสา ผู้กำจัด ) ( ประกายดาว ขาวผ่อง ) ( กุลนันท์ ทองสงฆ์ ) ( ธนากรณ์ ปานทองคง )