การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาและติดตามผลกระทบจากการกู้เรืออรพิน 4 และเฝ้าระวังหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา

เยาวชนรักษ์หาดสมิหลา

โครงการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการเกยตื้นของเรืออรพิน 4

การลงมือปฏิบัติการด้วยตนเอง ทำให้ทีมประจักษ์กับตนว่า ธรรมชาติมีความสามารถในการซ่อมแซมตนเอง ไม่ควรนำโครงสร้างแข็งอะไรไปขวาง และการได้สัมผัสกับชายหาดและทะเลที่เห็นอยู่เจนตาในมิติใหม่ ทำให้ทีมงานรู้สึกผูกพันกับชายหาดสมิหลามากขึ้น รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล

การเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม Beach for Life คือจุดเริ่มต้นที่ดึงดูด เกมส์-วัชรภัทร นุ่นแก้ว วา-ปรียา นันท์ พันธ์สุข ดี-ปิยวดี ชูพิฤทธิ์ ไทร-พันไทร คงสุกแก้ว และ เบญ-ธิดารัตน์ แก้ววิจิตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มาสนใจต่อความเป็นไปของหาดสมิหลา ชายหาดคู่บ้านคู่เมืองของคนสงขลา


ทำเพราะสนใจใคร่รู้

เมื่อเรือบรรทุกสินค้าอรพิน 4 แล่นมาเกยตื้นติดชายหาดสมิหลา พวกเขาเห็นเป็นโอกาสที่น่าจะศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นไว้เป็นองค์ความรู้ของท้องถิ่น “พี่นิ่ง ถามว่า สนใจทำโครงการไหม การที่มีเรือมาติดที่หน้าหาดก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมันเคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งเรือชื่อปานามามาติดตั้งแต่สมัยที่เรายังไม่เกิด เราเลยสนใจอยากรู้ว่า เรือมาติดได้อย่างไร และจะมีผลกระทบต่อหาดอย่างไรบ้าง” เกมส์เล่าที่มาของการทำงาน

แม้ว่าจะมีเพื่อนร่วมโรงเรียนจำนวน 17 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม Beach for Life แต่เมื่อต้องมาทำโครงการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการเกยตื้นของเรืออรพิน 4 กลับเหลือสมาชิกเพียง 5 คนที่สมัครใจมาทำโครงการ ไทร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเล่าว่า ที่เข้ามาทำโครงการเพราะสนใจ ไม่เคยรู้เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับหาดที่กลุ่ม Beach for Life นำเสนอมาก่อน จึงอยากศึกษาเพิ่มเติมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่

อภิศักดิ์ ทัศนี หัวหน้าโครงการหาดเพื่อชีวิต (กลุ่ม Beach for Life) 

“เรารู้แค่ที่พี่นิ่งบอก รู้แค่ทฤษฎี ยังไม่ได้ลองปฏิบัติ จึงอยากลองปฏิบัติดูว่ามันจริงไหม อยู่ที่โรงเรียนเราก็ไม่ใช่เด็กกิจกรรม อยากลองทำกิจกรรมดูบ้าง นี่จึงเป็นครั้งแรกของพวกเราที่ได้ทำโครงการ” ไทรเล่า “อยู่โรงเรียนไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมอะไร เห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจดี และหาดก็เป็นหาดของเราด้วย จึงอยากรู้ว่า การที่เรือมาติดจะส่งผลกระทบต่อชายหาดหรือไม่ อย่างไร” บีเสริมในส่วนแรงบันดาลใจของตนเอง

จากชีวิตนักเรียนที่เรียนและเล่นไปตามวัย พวกเขาอาสาก้าวเข้ามาเรียนรู้สิ่งใหม่โดยมีพี่นิ่ง และดร.เป้ เป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่การร่างโครงการ การเติมเต็มความรู้ ทักษะ แนะนำเครื่องมือและวิธีการวัดชายหาดอย่างง่าย เช่น เครื่องมือการวัดรูปตัดชายหาด เครื่องมือการตรวจวัดความลาดชันชายหาด เครื่องมือการสำรวจตะกอนทราย การใช้ GPS วัดแนวชายฝั่ง ตลอดจนการบันทึกและการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นวิธีการที่เยาวชนและชาวบ้านสามารถเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการเฝ้าระวังชายหาดได้


สำนึก “รับผิดชอบ” กำกับสู่ความสำเร็จ

แผนการศึกษาและติดตามผลกระทบจากเรือบรรทุกสินค้าอรพิน 4 ที่เกยตื้น ถูกออกแบบโดยเลือกพื้นที่ศึกษาบริเวณแหลมสนอ่อน ซึ่งเป็นชายฝั่งที่เรือมาติด กำหนดระยะเวลาในการวัด เก็บข้อมูลดูการเปลี่ยนแปลง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมถึง 31 พฤษภาคม 2557 ซึ่งวัดหาดทั้งหมดจำนวน 8 ครั้ง โดยทีมงานกำหนดร่วมกันว่าจะวัดทุกเช้าวันเสาร์

“ดร.เป้ สอนเรื่องการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน มีสื่อมาให้ดู อธิบาย และพาพวกเราลงพื้นที่ในครั้งแรกหลังจากนั้นพวกเราจะทำกันเอง” เกมส์เล่าที่มาของความรู้และทักษะในการทำงาน

พฤติกรรมนอนดึกตื่นสายเป็นสิ่งคู่กันกับวัยรุ่น โดยเฉพาะในวันหยุดที่ไม่ต้องไปโรงเรียน เด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะตื่นสายในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เมื่อต้องมาทำโครงการ เวลาตื่นในเช้าวันเสาร์ของทีมงานถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย เพราะเวลา 6 โมงเช้าคือ เวลานัดหมาย ไม่มีใครต้องปลุกใคร ทุกคนต้องปลุกตัวเองด้วยคำว่า “สำนึกรับผิดชอบ” ซึ่งการตื่นแต่เช้าก็มีรางวัลที่ทำให้ทีมงานรู้สึกดี

“ความรู้สึกดี คือ ตอนเช้าเราจะเห็นทะเลใสมาก ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้เห็น เพิ่งเคยเห็นทะเลสงขลาน้ำใสมากตอนที่เราวัดหาด เพราะปกติเรามักมาทะเลตอนบ่ายหรือค่ำ แต่พอเห็นน้ำทะเลตอนเช้าแล้วรู้สึกว่า น้ำใส สวยไม่แพ้ทะเลฝั่ง 

ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

อันดามัน บางวันวัดหาดเสร็จแล้วเราก็เล่นน้ำทะเลกัน” ไทรเล่าถึงความประทับใจต่อบรรยากาศของทะเลยามเช้า 

การวัดหาดทรายแต่ละครั้ง ทีมงานจะเก็บข้อมูลหน้าตัดของหาด ความลาดชัน สภาพแวดล้อมบริเวณหาดที่วัด โดยใช้วิธีการและเครื่องมือที่ ดร.เป้ สอน ในการวัดแต่ละครั้งต้องช่วยกันอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป ทุกคนจึงรู้โดยปริยายว่า มีสิทธิ์หายหน้าไปได้แค่ 2 คน ดังนั้นแม้จะมีอุปสรรคในเรื่องเวลาว่างที่ไม่ตรงกันอยู่บ้าง แต่ทีมงานก็สามารถจัดการให้มีตัวแทนอย่างน้อย 3 คนมาวัดหาดได้โดยไม่เสียงาน เพราะการวัดหาดแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และต้องวัด 3 จุด ซึ่งกำหนดระยะห่างกัน 100 เมตร วัดจากบนฝั่งลงไปในทะเล ส่วนการวัดความยาวของหาดจะใช้ GPS นอกจากการวัดหาดแล้ว ทีมงานยังต้องสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ บริเวณที่วัดหาด พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลและถ่ายรูป ซึ่งกระบวนการทำงานทั้งหมดมีพื้นฐานจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การทำโครงการนี้ต้องมีวินัยในตนเอง และต้องทำงานเป็นขั้นตอน ถ้าเราไม่ทำเป็นขั้นตอน งานจะเสีย วางแผนไว้อย่างไรต้องทำตามนั้น” เกมส์สะท้อน

“เราต้องสร้างความรับผิดชอบให้กับตนเอง เพราะถ้าขาดไปงานก็เสีย” บีเล่าเสริม


ความงอกงามของการเรียนรู้จากห้องเรียนหาดทราย

กิจกรรมในโครงการเป็นงานที่เพิ่มเข้ามาที่ทำให้ทีมงานต้องจัดระบบชีวิตใหม่ การเรียนรู้เรื่องการแบ่งเวลาสำหรับงานที่โรงเรียน กับงานโครงการ และชีวิตส่วนตัว หากเสาร์-อาทิตย์ใดงานชน ทีมงานมักจะจัดสรรครึ่งเช้าของวันเสาร์ไว้สำหรับกิจกรรมวัดชายหาด ส่วนงานเรียนที่ต้องทำกับเพื่อนร่วมชั้นจะใช้เวลาในช่วงบ่ายวันเสาร์หรือวันอาทิตย์

นอกจากการจัดระเบียบชีวิตใหม่แล้ว การได้นำความรู้ในชั้นเรียนมาใช้ในการวัดหาด ก็เป็นสิ่งที่คลายความสงสัยกับคำถามต่อการเรียนในบางวิชาว่า “เรียนไปเพื่ออะไร” เช่น การใช้สูตรพิธากอรัสในการหาความลาดชันของหาดทราย เมื่อทีมงานได้ปรับใช้ความรู้ในชีวิตจริง จึงย้อนกลับไปสร้างความซาบซึ้งต่อการเรียน และรู้สึกว่าต้องตั้งใจเรียนมากขึ้น

“กิจกรรมในโครงการเป็นงานที่เพิ่มเข้ามาที่ทำให้ทีมงานต้องจัดระบบชีวิตใหม่ การเรียนรู้เรื่องการแบ่งเวลาสำหรับงานที่โรงเรียน กับงานโครงการ และชีวิตส่วนตัว หากเสาร์-อาทิตย์ใดงานชน ทีมงานมักจะจัดสรรครึ่งเช้าของวันเสาร์ไว้สำหรับกิจกรรมวัดชายหาด ส่วนงานเรียนที่ต้องทำกับเพื่อนร่วมชั้นจะใช้เวลาในช่วงบ่ายวันเสาร์หรือวันอาทิตย์” 

ผลการสำรวจ ถูกรวบรวมและนำไปเผยแพร่ในวาระการจัดงาน “แลเลแลหาด” ครั้งที่ 3 และในวาระโอกาสที่ทีมงานได้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยข้อค้นพบของทีมงานพบว่า “จะเห็นว่าหาดจะถูกกัดเซาะ คือ หาดปกติจะพัดจากใต้ขึ้นไปเหนือ ทรายก็จะวนเวียนอย่างนี้ ถึงแม้หน้ามรสุม ทรายอาจจะหายไปบ้าง แต่ธรรมชาติจะสร้างของมันเอง ถ้าเราเอาอะไรมาขวางไว้ เหมือนกับเรืออรพิน 4 ที่มาขวางทางเดินของทราย ซึ่งไม่ใช่วิถีธรรมชาติของทรายกับทะเล 

ทำให้เกิดผลเสียคือ ชายหาดอีกด้านถูกกัดเซาะ ทำให้ถนนพังหรือต้นไม้พัง ถ้าเป็นธรรมชาติมันอาจถูกกัดเซาะบ้างแต่มันก็จะซ่อมแซมได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าเราเอาโครงสร้างแข็งมาวางก็เหมือนกันกับเรือ แต่เรือยังเอาออกไปได้ โครงสร้างแข็งไม่สามารถเอาออกได้” ไทรเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ด้านทิศใต้ของเรือจะมีทรายมาทับถมเพิ่มขึ้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งหาดทรายจะเว้าแหว่งด้วยอานุภาพของโครงสร้างแข็ง (เรือ) ที่ขวางอยู่ทำให้ธรรมชาติไม่สามารถฟื้นคืนตัวเองได้

“ระบบนิเวศบริเวณนั้น ก่อนหน้านี้จะมีผักบุ้งทะเล หรือหญ้าเยอะ พอเรือมาติด แล้วมีการขุดทรายรอบๆ ท้องเรือเพื่อกู้ ทำให้น้ำขุ่น หญ้าและผักบุ้งทะเลก็หายไปด้วย พอเรือออกไปแล้วผักบุ้งทะเลก็กลับคืนมา หญ้าและผักบุ้งทะเลจะช่วยยึดหน้าทรายไว้ นี่เป็นความรู้ใหม่ที่เราได้รู้ แต่เราก็ยังไม่ได้รู้ระบบนิเวศทุกอย่าง ค่อย ๆ รู้เพิ่มขึ้นจากการทำโครงการนี้” เกมส์เล่าถึงการเรียนรู้ของตนเอง แต่เมื่อมีการย้ายเรืออรพิน 4 ออกไปจากจุดที่เกยตื้นเพียงไม่นาน เมื่อไม่มีอะไรขวางกั้นระหว่างหาดทรายกับทะเล ธรรมชาติก็ซ่อมแซมหาดทรายให้กลับมาเหมือนเดิม โดยที่ไม่ต้องมีใครไปทำอะไร

การลงมือปฏิบัติการด้วยตนเอง ทำให้ทีมประจักษ์กับตนว่า ธรรมชาติมีความสามารถในการซ่อมแซมตนเอง ไม่ควรนำโครงสร้างแข็งอะไรไปขวาง และการได้สัมผัสกับชายหาด และทะเลที่เห็นอยู่เจนตาในมิติใหม่ ทำให้ทีมงานรู้สึกผูกพันกับชายหาดสมิหลามากขึ้น รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ทั้งนี้ทีมงานตั้งใจว่า เมื่อรวบรวมข้อมูลครบแล้ว จะนำมาทำเป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ให้คนในจังหวัดสงขลาได้รับรู้ถึงผลกระทบของเรืออรพิน 4 เพื่อที่ว่า หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก จะได้มีแนวทางการแก้ไข

นอกจากการเผยแพร่ผลงานในลักษณะของเอกสารเป็นรูปเล่มแล้ว ทีมงานยังมีโอกาสสาธิตและอธิบายวิธีการเฝ้าระวังชายหาดแก่ชุมชนที่อยู่ริมฝั่งทะเล ผู้สนใจ และเพื่อนๆ เพื่อสื่อสารแนวคิดที่ว่า “ธรรมชาติมีความสามารถในการซ่อมแซมตนเอง มนุษย์ไม่ควรแทรกแซงโดยการสร้างโครงสร้างแข็ง ซึ่งจะทำให้ธรรมชาติไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้

“หากไม่ได้มาทำงานร่วมกันในโครงการนี้ ก็คงรู้จักกันอย่างห่างๆ เพราะเป็นเพื่อนคนละกลุ่ม การได้มาทำงานร่วมกันทำให้ได้เรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน และทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนในกลุ่มที่สามารถพัฒนาศักยภาพจนโดดเด่นขึ้น”

นอกจากนี้ยังได้สร้างแบบจำลอง เพื่ออธิบายภาพการเปลี่ยนแปลงของหาดสมิหลาบริเวณแหลมสนอ่อน ที่เกิดจากการกัดเซาะขณะที่เรืออรพิน 4 มาติด การกู้เรือ และหลังจากที่เรือออกไปแล้ว เพื่อใช้เป็นสื่ออย่างง่ายในการอธิบายให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจถึงปรากฎการณ์และผลกระทบจากโครงสร้างแข็งที่มากีดขวางทางคลื่น  6 เดือนผ่านไป ทีมงานบอกว่า แม้เรียนอยู่ห้องเดียวกัน แต่ถ้าหากไม่ได้มาทำงานร่วมกันในโครงการนี้ ก็คงรู้จักกันอย่างห่างๆ เพราะเป็นเพื่อนคนละกลุ่ม การได้มาทำงานร่วมกันทำให้ได้เรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน และทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนในกลุ่มที่สามารถพัฒนาศักยภาพจนโดดเด่นขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลงของเกมส์ คือ เขามีภาวะผู้นำมากขึ้น พูดมีหลักการ โดยเฉพาะเวลานำเสนอที่โรงเรียนจะเห็นได้ชัดว่า เขาพูดได้ดี ส่วนตัวบีเองจากเดิมที่ไม่ค่อยพูด ก็กล้าพูดและมีความรับผิดชอบมากขึ้น อาจเป็นเพราะพี่นิ่งชอบถามความคิดเห็น จึงเหมือนการบังคับกลายๆ ให้เราต้องพูด” บีสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนและตนเอง

เกมส์เสริมว่า รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลง กล้าพูดมากขึ้น ทำงานมีระบบ มีวินัยมากขึ้น พอมาทำโครงการนี้ความรู้สึกที่มีต่อหาดก็เปลี่ยนไป รู้สึกว่าหาดมีประโยชน์มากกว่าที่เคยรู้ มันเป็นทั้งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล สัตว์บก เป็นที่ทำมาหากินของชาวประมง 

เมื่อพวกเขาได้นำตัวและหัวใจมาสัมผัสกับหาดทราย เฝ้าสังเกต เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ จนมีความรู้มาส่งต่อให้คนสงขลาเข้าใจและร่วมกันดูแลหาดสมิหลา ด้วยสำนึกว่าหาดนี้สำคัญอย่างไร และเขาในฐานะเด็กสงขลามีหน้าที่ต่อบ้านเกิดอย่างไร หลังจากนี้สมาชิกทุกคนจึงยังคงร่วมกันขับเคลื่อนงานเฝ้าระวังชายหาดสมิหลาร่วมกับเพื่อนๆ ในเครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาต่อไป


โครงการ : เฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการเกยตื้นของเรืออรพิน 4

ที่ปรึกษาโครงการ : ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทีมทำงาน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) 

( วัชรภัทร นุ่นแก้ว ) ( ปรียานันท์ พันธ์สุข ) ( ธิดารัตน์ แก้ววิจิตร ) 

( ปิยวดี ชูพิฤทธิ์ ) ( พันไทร คงสุกแก้ว )