การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อฝึกทักษะการเป็นครู ของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปี 5

ครูเพื่อศิษย์

โครงการครูเพื่อศิษย์

ครูไม่ใช่เพียงแค่สอน แต่ “ครู” คือผู้ออกแบบนักเรียน เป็นต้นแบบ เป็นผู้สร้างเสริมชีวิตนักเรียน เป็นผู้แนะนำ ตักเตือน และเป็นผู้สอนให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต ทำให้เด็กรู้ว่าต้องการเรียนอะไร ถนัดทางด้านไหน ส่งเสริมเด็กในด้านนั้นให้เด็กเก่งและสามารถทำตามฝันได้ “ครู” จึงไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้ แต่ต้องมีความรักและความศรัทธาหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณด้วย

วิชาชีพครู นอกจากจะต้องเชี่ยวชาญทักษะ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดประสบการณ์การเรียนรู้แล้ว “จิตวิญญาณความเป็นครู” ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ครูพึงมี เพื่อการันตีได้ว่า ครูจะพัฒนาเด็กทุกคนด้วยความสามารถและหัวใจของครู เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลิตคนที่มีคุณภาพให้กับชุมชน สังคม ทว่าลำพังการเรียนรู้ห้องในเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่อาจกระตุ้นจิตวิญญาณความเป็นครูได้มากพอ ด้วยเหตุนี้สถาบันการศึกษาที่ผลิตครูจึงต้อง “ออกแบบกระบวนการเรียนรู้” ให้ว่าที่ครูทั้งหลายได้ไปแสวงหา และยืนยันจิตวิญญาณของตนเองให้แจ่มชัดนอกห้องเรียนเพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบกิจกรรมเสริม และในวิถีปฏิบัติของสถาบัน 

ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ นักศึกษากลุ่มหนึ่งของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงรวมตัวกันทำโครงการครูเพื่อศิษย์ เพราะเห็นถึงสถานการณ์ที่เพื่อนนักศึกษาวิชาชีพครูส่วนหนึ่งเรียนโดยไร้จุดหมาย ไม่มีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของวิชาชีพครู โดยมี โจ้-สุเมธา ณะวาโย นุ๊ค-กันตพงศ์ สังแสตมป์ กุ้ง-ธวัชชัย นิลรัตน์ และกันต์-บรรพต มณีโรจน์ พี่ปี 3 เป็นแกนนำ มีรุ่ง-รุ่งฤดี หนูม่วง และนัด-ศักรินทร์ จันทร์ทอง รุ่นน้องปี 2 และปี 1 เข้ามาร่วมเรียนรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 ได้ฝึกประสบการณ์ และค้นหาจิตวิญญาณความเป็นครูของตนเองจากการลงมือปฏิบัติ

“เราต้องการทำโครงการนี้เพื่อปลูกจิตสำนึกเรื่องความเป็นครูให้กับน้อง ๆ แม้คณะจะให้เราออกฝึกสอน 1 ปี แต่คิดว่า ยังน้อยไปสำหรับการที่พวกเราต้องออกไปเป็นครูทั้งชีวิต” โจ้เล่าถึงแรงบันดาลใจ

“เสียงสะท้อนจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้าอบรมที่ปรากฏในเรียงความส่วนใหญ่ บอกว่า เดิมพวกเขาเข้ามาเรียนโดยไม่มีเป้าหมาย แต่หลังจากได้รับฟังประสบการณ์จากวิทยากร ทำให้พวกเขาเริ่มมีเป้าหมายในการเรียนมากขึ้น เพราะรู้ซึ้งว่า การเป็นครูสำคัญอย่างไร และจะมีผลต่อการสร้างนักเรียนที่ดีได้อย่างไร” 


ปลุกจิตวิญญาณความเป็นครู

แม้ทีมงานจะมีประสบการณ์ทำงานค่ายอาสามาบ้าง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะงานค่ายเป็นงานที่เน้นการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม ส่วนโครงการครูเพื่อศิษย์จะเน้นไปที่การพัฒนาคน จิตใจ คุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพครู ดังนั้นการวางแผนการทำงานจึงต้องทำอย่างรัดกุม และอาศัยคำแนะนำจากอาจารย์ในคณะ 

ด้วยสถานการณ์รอบตัวที่ทีมงานพบว่า รุ่นน้องบางคนเข้ามาเรียนครูโดยไม่มีเป้าหมายว่าจบแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร คิดเพียงว่าจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วมีที่เรียนต่อก็พอแล้ว ดังนั้นการปลูกฝังเรื่อง “จิตวิญญาณความเป็นครู” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรกระตุ้นให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก เพื่อให้เรียนครูไปอย่างมีความหมาย และเห็นคุณค่าของวิชาชีพนี้ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

เวทีจุดประกาย เพื่อปลุกจิตวิญญาณความเป็นครู จึงถูกจัดขึ้นเป็นกิจกรรมแรก โดยมีพี่ๆ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากโครงการ Teach for Thailand มาถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นครูที่ต้องใช้ความเมตตา อดทน และเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนทุกคน มาเป็นพลังผลักดันในการเป็นครูที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และจิตวิญญาณ แม้ว่าจะต้องสอนในโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านกายภาพไม่มากนัก และนักเรียนที่แตกต่างหลากหลาย โดยมีน้องปี 1 ที่สมัครเข้าร่วมเข้าร่วมโครงการจำนวน 37 คน เข้าร่วมฟัง พร้อมกับนักศึกษา ชั้นปี 1-3 คนอื่นๆ อีกกว่าร้อยคน และภายหลังจากที่ฟัง นักศึกษาทุกคนได้แบ่งกลุ่มกันสะท้อนการเรียนรู้ “ความเป็นครูที่สัมผัสได้จากการฟัง” และแน่นอน จิตวิญญาณความเป็นครู เป็นสิ่งหนึ่งที่เหล่านักศึกษาว่าที่ครูสัมผัสได้

นักศึกษาส่วนใหญ่บอกว่า เดิมพวกเขาเข้ามาเรียนโดยไม่มีเป้าหมาย แต่หลังจากได้ฟังประสบการณ์จากวิทยากร ทำให้พวกเขาเริ่มมีเป้าหมายในการเรียนมากขึ้น เพราะรู้ซึ้งว่า การเป็นครูสำคัญอย่างไร และจะมีผลต่อการสร้างนักเรียนที่ดีได้อย่างไร เช่นเดียวกับน้องนัดในฐานะตัวแทนนักศึกษาปี 1 ที่บอกว่า “สิ่งที่วิทยากรบรรยายมันโดนใจมาก ทำให้อยากมีประสบการณ์การเป็นครูให้มากกว่านี้ เผื่อจะได้รับมือกับเด็กยุคนี้ได้”

“ทีมแบ่งงานกันทำแผนการสอนแต่ละสาระวิชา ใช้วิธีคละทีม ให้มีทั้งพี่และน้อง น้องปี 1 ปี 2 ต้องทดลองสอนให้พี่ ๆ ช่วยให้ข้อเสนอแนะ ตั้งแต่แผนการสอน การจัดการเรียนการสอน การพูดจา การเขียนกระดาน ฯลฯ เมื่อแต่ละคนสอนแล้วจะต้องนำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับปรุง การฝึกสอนดังกล่าวจึงกลายเป็นการเคี่ยวให้เข้มที่ทำให้น้องเกิดความมั่นใจมากขึ้น”


เตรียมพร้อมก่อนลงสนาม

หลังผ่านกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการฝึกปฏิบัติจริง ครั้งนี้ทีมงานเลือก โรงเรียน ตชด.บ้านบาโรย อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก และเป็นพื้นที่ที่คณะครุศาสตร์เข้าไปจัดกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง เป้าหมายที่เข้าไปจัดการจัดการเรียนการสอนจะไม่เน้นความเข้มข้นของเนื้อหา แต่มุ่งสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเรียนให้กับนักเรียน เพราะเชื่อว่าหากเขารู้สึกดีต่อการเรียนก็จะเป็นแรงจูงใจให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น โดยก่อนจะไปสอนจริง ทีมงานได้แบ่งสมาชิกคละกันตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3 ให้รับผิดชอบการสอนแต่ละวิชา

“ตอนแรกเรารับสมัครมาแล้ว 37 คน เป็นน้องปี 1 จำนวน 9 คน ปี 2 จำนวน 15 คน และปี 3 ซึ่งรวมทั้งทีมงานด้วย 13 คน แบ่ง 5 กลุ่มสาระวิชา คือ คณิตศาสตร์ อังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย และกลุ่มปฐมวัย ตอนเช้าสอน 3 คาบ บ่าย 2 คาบ ส่วนคาบสุดท้ายเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น เล่นเกม เป็นต้น เพราะในหนึ่งวันมี 6 คาบ แม้บางวิชาจะมีนักศึกษาสมัครมาไม่ครบ แต่ทีมงานก็จัดแบ่งบทบาทหน้าที่สอนให้ครบทุกสาระวิชา เช่น บางคนเอกคณิตศาสตร์แต่ต้องรับผิดชอบสอนสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จึงต้องมีการเตรียมเนื้อหาการสอนก่อน” กันต์เล่าถึงการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการเตรียมตัวให้กับน้องปี 1 และปี 2 ที่ยังไม่มีประสบการณ์จัดการเรียนการสอนมาก่อน

กันต์เล่าต่อว่า ทีมแบ่งงานกันทำแผนการสอนแต่ละสาระวิชา ใช้วิธีคละทีม ให้มีทั้งพี่และน้อง น้องปี 1 ปี 2 ต้องทดลองสอนให้พี่ ๆ ช่วยให้ข้อเสนอแนะ ตั้งแต่แผนการสอน การจัดการเรียนการสอน การพูดจา การเขียนกระดาน ฯลฯ และนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุง การฝึกสอนดังกล่าวจึงกลายเป็นการเคี่ยวให้เข้มที่ทำให้น้องเกิดความมั่นใจมากขึ้น 

นัดเล่าถึงการเตรียมตัวของตนเอง ว่า ตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้สอนสังคมศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พี่ ๆ แนะนำให้ไปดูแผนการเรียนของชั้นที่จะสอน แต่ตอนนั้นเขายังไม่ได้เรียนเขียนแผนการสอน จึงใช้วิธีสอบถามญาติที่สอนอยู่แถวบ้าน ถามว่าเขาเรียนกันถึงไหน ขอเข้าไปสังเกตการณ์สอน 2 วัน ว่าเขาสอนอย่างไร จากนั้นจึงมาวางแผนการสอน เขียนเป็นลำดับขั้นว่าจะเริ่มสอนจากตรงไหน อย่างไร “จำได้ว่าตอนฝึกสอนให้พี่ ๆ ดู ผมสอนไปก็สั่นไป ผมไม่ค่อยมั่นใจ เวลาพี่เขามีคำแนะนำก็นำมาปรับปรุง มาลองฝึกสอนเองหน้ากระจกในห้อง” 

กันต์เสริมต่อว่า สำหรับน้อง ๆ ชั้นปี 2 ปี 3 เขาไม่ค่อยห่วงนัก ห่วงแต่น้องปี 1 จึงต้องช่วยกันฝึก เพราะน้องยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ แต่ก็ยอมรับว่ากระบวนการฝึกสร้างแรงกดดันให้กับน้องมากเหมือนกัน “เราอยากเห็นเขามีการพัฒนาที่ดีขึ้น นอกจากคอมเมนต์แล้ว พี่ ๆ ต้องมีแนวทางการปรับปรุงวิธีการสอนให้น้องด้วย เช่น การพูดจามีหางเสียง ส่วนเนื้อหาการสอน หรือกิจกรรม ก็ต้องเรียงลำดับการสอนให้ดี ไม่ใช่ไปถึงก็สอนเลย” กันต์เล่าเสริมถึงรายละเอียดว่า สำหรับน้องนัดในช่วงแรกของการสอนทำได้ไม่ดีเท่าไรนัก เวลาอยู่หน้าห้องจะสั่นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งสอนติด ๆ ขัด ๆ จึงต้องฝึกกัน 3-4 รอบ กระทั่งคืนก่อนวันสอนจริงก็ยังต้องซ้อมกันอีกรอบ แต่เมื่อถึงวันจริงเขาก็สอนได้ นับว่ามีพัฒนาการที่ดี

“เมื่อต้องรับผิดชอบสอนวิชาที่ไม่ตรงกับวิชาเอก ก็ต้องมีการเตรียมตัว โดยศึกษาเนื้อหาของรายวิชาและระดับชั้นเรียนที่ต้องสอน นำเนื้อหามาเรียบเรียงว่าจะสอนอย่างไรให้เด็กสนุก และเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด ทั้งยังมีเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียน ต่อครู และรักในการเรียนมากขึ้น”

สำหรับกุ้ง แม้จะมีประสบการณ์ผ่านค่ายสอนมาบ้าง แต่เมื่อต้องรับผิดชอบสอนวิชาที่ไม่ตรงกับวิชาเอก ก็ต้องเตรียมตัว โดยศึกษาเนื้อหาของรายวิชาและระดับชั้นเรียนที่ต้องสอน นำเนื้อหามาเรียบเรียงว่าจะสอนอย่างไรให้เด็กสนุก และเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด ทั้งยังมีเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียน ต่อครู และรักในการเรียนมากขึ้น

“ก่อนสอน ต้องวางลำดับขั้นตอนการสอน เริ่มจากการเข้าสู่บทเรียน เนื้อหา หรืออาจมีเกมให้เล่น ซึ่งเป็นเกมเกี่ยวกับปริศนาคำทายที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา ตอนนั้นสอนเรื่องคำกับพยางค์ ก่อนที่นักเรียนจะตอบ นักเรียนจะต้องคิดก่อนว่า คำนี้มีกี่คำ กี่พยางค์ และนับ 1 2 3 ให้แข่งกันยกมือ นักเรียนให้ความสนใจ และมีส่วนร่วมดีมาก”

นุ๊คเสริมต่อว่า ต้องจัดกิจกรรมที่สนุกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นครูแล้วไปยืนพูดหน้าชั้นอย่างเดียว การเรียนรู้ที่ดีต้องเกิดจากความสนุกสนานที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน “ตอนที่เราเด็ก ๆ ครูคนไหนที่สอนสนุก มีเพลง มีเกม เราจะชอบ เวลาผมไปนั่งสอบผมก็นั่งร้องเพลง ทำให้จำมาได้โดยอัตโนมัติ ส่วนเกมช่วยเราให้แทนที่จะจำเป็นทฤษฎี เราก็จำเป็นภาพแทน จึงใช้เทคนิคนี้ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษกับน้อง ๆ” 


ฝึกประสบการณ์ ค้นจิตวิญญาณความเป็นครู

ค่าย 2 วัน 1 คืน ที่โรงเรียน ตชด.บ้านบาโรย ไม่ใช่แค่การเข้าค่ายเพื่อฝึกการสอน แต่สมาชิกทุกคนต้องเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในฐานะครู ตั้งแต่การรับเด็กหน้าโรงเรียน การเข้าแถว การสอน การจัดกิจกรรมพิเศษ รวมทั้งการจัดการงานภายในทีม เรื่องความเรียบร้อยของสถานที่ เพราะทีมงานต้องพักนอนในห้องเรียน การจัดการด้านต่าง ๆ เช่น การถ่ายวิดีโอ การดูแลเรื่องอาหารการกินของทีมงาน ฯลฯ ที่ต้องแบ่งเวรสลับสับเปลี่ยนกันไปมาทุกหน้าที่ ผลของการร่วมกิจกรรมจึงสร้างการเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับทีมงาน ไม่ใช่เฉพาะการสอนเท่านั้น หากรวมถึงการใช้ชีวิตในฐานะครูด้วยเช่นกัน

รุ่ง ซึ่งรับผิดชอบสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่าว่า ก่อนการสอนครูประจำชั้นเตือนแล้วว่า มีเด็กคนหนึ่งมักอุจจาระใส่กางเกง และทำความสะอาดตัวเองไม่เป็น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ให้ไปตามคุณครูมาจัดการ ในขณะที่เพื่อนสอนอยู่หน้าห้องเรียน รุ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยสอน สังเกตเห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งนั่งคนเดียวอยู่หน้าห้องเรียน เมื่อการเรียนการสอนผ่านไปได้สักพัก เด็กคนนั้นนั่งเอามือปิดก้น แล้วกลิ่นอุจจาระก็โชยไปทั่วห้อง

“เห็นแล้วก็นึกถึงคำสั่งของคุณครู แต่เมื่อมองไปที่เด็กก็รู้สึกว่า เด็กคนนั้นแค่อุจจาระใส่กางเกง ถ้าเราไปเจอจริงๆ เราจะทำอย่างไร เพราะเวลาเราเป็นครู ไม่มีผู้อำนวยการมายืนข้าง ๆ ไม่มีครูประจำชั้นมายืนข้างๆ เราจะทำอย่างไร เราเลยตัดสินใจให้เพื่อนสอนต่อ แล้วพาเด็กคนนั้นไปล้างตัว ตอนพาไปก็ไม่ได้ดุเขา ใช้วิธีปลอบเขาก่อนว่า ไม่เป็นไรครูจะพาไปล้าง ระหว่างล้างก็สอนเขาไปด้วยว่า การอุจจาระใส่กางเกงไม่ดีอย่างไร แล้วก็สอนวิธีทำความสะอาดก้น เมื่อจัดการเสร็จแล้วเด็กไม่มีกางเกงใส่ แต่โชคดีที่เสื้อนักเรียนยาว จึงพอแก้ขัดไปได้บ้าง พี่กันต์แนะนำว่า ให้เด็กเข้าเรียนต่อเลย แค่เขาอุจจาระใส่กางเกงก็อายเพื่อนอยู่แล้ว ถ้าเรายิ่งกันเขาออกห่างจากเพื่อน เขาจะยิ่งมีปมด้อย จึงตัดสินใจพาเด็กกลับไปนั่งเรียนกับเพื่อน ๆ ซึ่งเราก็ต้องช่วยจัดการสภาพแวดล้อม ต้องสอนเพื่อน ๆ เขาอีกว่า การล้อเพื่อนไม่ดี เพื่อนต้องช่วยเหลือกัน หลังจากนั้นครูก็เดินเข้ามาถามว่า ทำได้อย่างไร ทำไมไม่ไปตาม ครูก็ชื่นชมว่าเราสามารถทำกันเองได้” รุ่งเล่าบทเรียน ที่ได้สัมผัสตรง

ประสบการณ์ฝึกสอนในค่ายผ่านไปอย่างราบรื่น และสร้างรอยจำแก่ทุกคนในมิติที่แตกต่างกัน กันต์สะท้อนเงื่อนไขความสำเร็จของกิจกรรมว่า “เป็นเพราะทีมงานเหมือนส่วนผสมที่ลงตัว ผมส่งโครงการไป พอโครงการผ่านก็มานั่งคุยกับโจ้ว่า เราจะจัดกิจกรรมอย่างไร โจ้เขาเก่งเรื่องกิจกรรมนันทนาการ กุ้งเก่งเรื่องบริหารจัดการ นุ๊คถนัดเรื่องการทำพาวเวอร์พอยต์ รุ่งแม้จะไม่ใช่ทีมงานหลักแต่น้องก็อาสามาช่วยทุกครั้ง เช่น ขอมาช่วยเขียนป้าย เป็นต้น” 


นิยามความเป็นครู

หลังจากจัดกิจกรรมค่ายฝึกสอน ทีมงานต้องจัดกิจกรรมนำเสนอผลงาน โดยร่วมจัดนิทรรศการในวันครู ที่ทางคณะครุศาสตร์จัดขึ้น นำเสนอเรื่องราวการทำโครงการครูเพื่อศิษย์ ตั้งแต่การ สร้างแรงบันดาลใจ การสร้างความตระหนักในวิชาชีพครู และการฝึกสอนที่โรงเรียน ตชด.บ้านบาโรย ทำให้ผู้บริหารของคณะเห็นความสำคัญของโครงการ และแสดงความชื่นชม โดยการเชิญอธิการบดีมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ

การได้รับเกียรติบัตรเป็นสิ่งเชิดชูใจ แต่แก่นของงานคือ การพัฒนาจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งทีมงานเชื่อว่า ได้หยั่งรากลึกลงไปในใจของทีมงานและน้องๆ ปี 1 ปี 2 ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เห็นได้จากเสียงสะท้อนจากนัด น้องใหม่หัดสอนที่บอกว่า ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาได้พัฒนาตนเองเรื่องการยืนสอนหน้าชั้นเรียน สามารถเก็บอาการตื่นเต้นได้ดีขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นเพราะการได้ฝึกซ้อมกับพี่ ๆ และนำสิ่งที่พี่ ๆ สอนมาปรับปรุงตนเอง “การที่พี่คอมเมนต์ทำให้ผมได้ศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติม พยายามฝึกซ้อมมากขึ้น พี่กันต์จะพูดให้คิดเสมอว่า พวกเราต้องเชื่อมั่นในตนเอง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเกรง การใช้ความรู้ที่เรามีถ่ายทอดให้ศิษย์จะยิ่งทำให้เรามั่นใจในตัวเอง”

ส่วนนุ๊ค บอกว่า ตอนไปสอนจริง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามแผนการสอนที่เตรียมไว้ เนื่องจากเด็ก ๆ ยังมีพื้นฐานไม่แน่นพอ จึงปรับเปลี่ยนจากการสอนเป็นการจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมแทน “ให้น้องแบ่งกลุ่มเล่นเกมแข่งกันระดมคำศัพท์ คนที่ไม่รู้ก็จะได้รู้จากเพื่อน ๆ แทนที่จะนั่งฟังอย่างเดียว สุดท้ายเขาก็ออกมาเขียนศัพท์ได้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีว่า เวลาไปเจอสถานการณ์จริง เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ หาวิธีสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ให้ได้”

ด้านกุ้ง แม้ประสบการณ์ฝึกสอนจะไม่ต่างจากเพื่อน แต่การทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่เพื่อน ๆ ได้สร้างความประทับใจแก่ทีมงานเป็นอย่างมาก “วันแรกที่ไป เจอปัญหาไฟในที่พักผู้หญิงเสีย เขาก็นั่งมืดอยู่ ผมก็สงสัยว่าทำไมเขานอนกันไวจัง พอเขาบอกว่าไฟเสีย ผมก็เลยไปยกเก้าอี้มา แล้วปรึกษากันต์ว่าเปลี่ยนไฟได้ไหม เขาบอกว่าได้ แต่เขาคงกลัวว่าผมจะทำของโรงเรียนเสียหาย พอผมไปบอกว่า เรายังอยู่กันอีกหลายคืน ถ้าเราไม่เปลี่ยน เราก็ทำงานไม่ได้ ผมจึงเปลี่ยนหลอดไฟ พอไฟสว่างทุกคนก็ทำงานได้”

“โครงการนี้ทำให้เขาตระหนักว่า เขาโชคดีที่ได้มีโอกาสเตรียมตัวที่จะเป็นครูตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการเรียน ถ้าจะไปเตรียมตัวในปีที่ 4 คงไม่ทันแล้ว”

ความใส่ใจ ไม่ดูดายในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของกุ้งเป็นคุณสมบัติที่เกิดประโยชน์ต่อการทำงานของทีม แม้ว่างานบางอย่างจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่กุ้งบอกว่า ต้องทำ เพราะเป็นงานส่วนรวม ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อเราอาสาเข้ามาทำงานส่วนรวมแล้วก็ต้องช่วยให้ถึงที่สุด จะปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำ หรือละทิ้งไม่ได้ บางคนบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่เราไปทำทำไม ถ้ามองในมุมกลับ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ หรือปล่อยไว้งานก็ไม่เสร็จ

ขณะที่รุ่งเองก็สะท้อนบทเรียนสำคัญว่า โครงการนี้ทำให้เขาตระหนักว่า เขาโชคดีที่ได้มีโอกาสเตรียมตัวที่จะเป็นครูตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการเรียน ถ้าไปเตรียมตัวในปีที่ 4 คงไม่ทันแล้ว

“ถ้ารอถึงตอนนั้น คงไม่ทันแล้ว เพราะคุณธรรมบางอย่างหากสะสมไปเรื่อย ๆ มันจะอยู่นาน อยู่ยาว เราจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเอง แต่สิ่งที่นำมาใช้กับตัวเราได้จริง ๆ คือ การดำเนินชีวิต และพฤติกรรมก็เปลี่ยนไปจริง ๆ จากเดิมไม่เคยใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เลย พอทำโครงการนี้ก็รู้สึกว่า ใส่ใจขึ้นมาก โดยเฉพาะเรื่องความรู้ หากเรามีความรู้น้อย แล้วจะเอาอะไรไปสอนเด็ก เพราะเขาต้องได้รับความรู้จากเรา ถ้าเรารู้แบบงู ๆ ปลา ๆ มันก็เกิดผลเสียกับเด็ก เราเลยต้องปรับปรุงตัวเองให้ความสำคัญกับความรู้มากขึ้น”

ส่วนกันต์ในฐานะหัวหน้าทีมมองผลลัพธ์ของการทำงานว่า เกินความคาดหมายของตนเอง เพราะสิ่งที่ตั้งใจทำได้จุดประกายให้กับคนอีก 36 คน ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การเห็นตนเองผ่านการทำงาน ทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองชัดแจ้งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของคำพูด

“สิ่งที่ผมจะผิดพลาดมากคือเรื่องของคำพูด แต่เป็นคนที่ยอมรับ ผมมักถามว่าสิ่งที่ผมนำเสนอเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง คำพูดเป็นอย่างไร ผมจะสะท้อนตนเองเสมอทุกงาน แล้วนำมาปรับปรุงเพื่อให้งานดีขึ้น ผมคิดเสมอว่าถ้าเราอยู่เฉย ๆ เราจะนิ่ง ไม่มีการพัฒนา แม้จะเริ่มต้นจากศูนย์ก็ยังดีกว่าที่เราไม่คิดจะทำอะไรเลย” 

ใช่แค่วิธีคิดต่อการพัฒนาตนเองที่แตกต่างจากคนวัยเดียวกัน แต่ทีมงานยังมีมุมมองต่อปัญหาอุปสรรคที่ต้องเผชิญว่า เป็นเรื่องท้าทายที่ต้องหาวิธีการแก้ไข ไม่ใช่สลัดให้พ้นตัว เป็นธรรมชาติของการทำงานที่มักมีอุปสรรคให้ได้ทดสอบตนเอง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่จำกัด ผู้เกี่ยวข้องไม่พอใจ ไม่มีเวลา หรือความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น 

“ปัญหาที่แก้ไม่ได้อาจจะมี แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องไปด่าว่าใคร เราต้องทำงานของเราให้เสร็จสำเร็จแล้วสังคมจะเห็นเองว่า เราทำเพื่ออะไร ไม่ใช่ไปบงการว่าเธอต้องทำ หรือปะทะกัน แต่ทำให้เขาเห็นว่า เราทำเพื่ออะไร” กันต์เป็นตัวแทนเพื่อน ๆ เล่า

เพราะโจทย์หลักของการทำงานคือ การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู หากถามถึงนิยามความเป็นครู ทีมงานได้ประมวลความคิดเกี่ยวกับหัวใจของความเป็นครูว่า ครูไม่ใช่เพียงแค่สอน แต่ “ครู” คือผู้ออกแบบนักเรียน เป็นต้นแบบ เป็นผู้สร้างเสริมชีวิตนักเรียน เป็นผู้แนะนำ ตักเตือน และเป็นผู้สอนให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต ทำให้เด็กรู้ว่าต้องการเรียนอะไร ถนัดทางด้านไหน ส่งเสริมเด็กในด้านนั้นให้เด็กเก่งและสามารถทำตามฝันได้ “ครู” จึงไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้ แต่ต้องมีความรักและความศรัทธาหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณด้วย

“การทำงานโครงการครูเพื่อศิษย์นับว่า สอดคล้องกับกระบวนการสร้างครูของคณะครุศาสตร์ การที่นักศึกษาได้ทดลองสอน และใช้ชีวิตในวิถีของโรงเรียน เป็นการยืนยันทฤษฎีการเทรนนิ่งกระบวนการเป็นครู ที่ต้องดูแลนักเรียนตั้งแต่การมาถึง และตลอดเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน”


ครูของว่าที่ครู

การทำงานของทีมงานได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้บริหารและอาจารย์ในคณะครุศาสตร์เป็นอย่างดี ดร.อัจฉรา วงศ์วัฒนามงคล คณบดีคณะครุศาสตร์ เล่าว่า ในฐานะของผู้บริหารรับรู้เรื่องการทำงานโครงการของนักศึกษากลุ่มนี้ และยินดีสนับสนุน ด้วยคณะเองก็มีแนวคิดในการสร้างเสริมความเป็นจิตอาสาให้แก่นักศึกษา ทั้งในรูปแบบที่คณะจัดให้ และที่นักศึกษาดำเนินการเอง ซึ่งการทำงานโครงการครูเพื่อศิษย์นับว่าสอดคล้องกับกระบวนการสร้างครูของคณะฯ การที่นักศึกษาได้ทดลองสอน และใช้ชีวิตในวิถีของโรงเรียน เป็นการยืนยันทฤษฎีการเทรนนิ่งกระบวนการเป็นครู ที่ต้องดูแลนักเรียนตั้งแต่การมาถึง และตลอดเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน

ดร.มนตรี เด่นดวง ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เมื่อมารับตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา จึงได้รับทราบว่า นักศึกษาได้รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินการ จึงสนับสนุนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการผลิตครูที่มีคุณภาพสู่สังคม

ดร.มนตรีเล่าว่า การทำงานของนักศึกษาไม่ได้มีสิ่งใดให้ต้องห่วงกังวล เพราะนักศึกษากลุ่มนี้มีประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือกิจกรรมในคณะเป็นประจำอยู่แล้ว ห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษาที่ต้องไปทำกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแม้จะฝากฝังให้ทาง ตชด.ช่วยดูแลความปลอดภัยของลูกศิษย์แล้วก็ยังไม่วางใจ จึงต้องโทรศัพท์สอบถามตลอดเวลา และต้องคอยกำกับดูแลการทำกิจกรรมของนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เพราะบ่อยครั้งที่ลูกศิษย์จะเพลินกับการทำกิจกรรมมากไป จึงต้องกระตุกให้รู้ตัวว่า ใกล้สอบแล้ว ให้เพลา ๆ การทำกิจกรรมลงบ้าง 

จากกิจกรรมที่เคยพัฒนาโรงเรียนในเชิงกายภาพ ไปสู่การพัฒนาคนที่จะเป็นครู ได้สร้างบทเรียนที่ทำให้ทีมเข้าใจและซาบซึ้งถึงจิตวิญญาณความเป็นครู ตระหนักถึงความสำคัญในวิชาชีพของตน หลายคนมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้นในเส้นทางอาชีพครู จึงตั้งมั่นที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ทักษะ และมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่จะส่งมอบสู่ลูกศิษย์ในอนาคตได้อย่างมั่นใจ


โครงการ : ครูเพื่อศิษย์

ปรึกษาโครงการ : ดร.มนตรี เด่นดวง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สงขลา

ทีมทำงาน : นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

( บรรพต มณีโรจน์ ) ( เสาวลักษณ์ มาบัว ) ( สุวกฤษฏิ์ เกตุแก้ว ) ( ธวัชชัย นิลรัตน์ ) ( รุ่งฤดี หนูม่วง )

­