การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อการจัดการขยะด้วยไส้เดือน ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ขยะเป็นทอง

โครงการขยะเป็นทอง

อุปสรรคสอนให้เราคิดอะไรได้หลาย ๆ อย่าง สอนให้รู้จักคิด สอนให้รู้จักวางแผน สอนให้อดทนต่อปัญหา ถ้างานราบรื่น ได้อะไรมาง่าย ๆ เราก็อาจจะลืมได้ง่าย ๆ แต่เมื่อพบอุปสรรคที่แม้จะทำให้เหนื่อยและเครียด กลับทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ได้จัดการตัวเอง มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น รู้จักบริหารงาน

จากเด็กหลังห้องที่มีพฤติกรรมเข้าห้องเรียนสาย แต่งตัวจัด และมักจะคิดไปเองว่าอาจารย์ให้ความสำคัญไม่ทัดเทียมกับเพื่อนที่เรียนเก่ง จึงคิดเล่นๆ ว่า กลุ่มตนจะสามารถทำอะไรให้ดีเด่นขึ้นมาได้หรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายที่นำมาซึ่งการคิดทำโครงการธนาคารขยะ เพื่อส่งเข้าประกวดในงานเศรษฐกิจพอเพียง ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จนได้รับรางวัลที่ 1 สร้างความแปลกใจให้แก่ทีมงานและผู้เกี่ยวข้อง พวกเขาบอกว่า สัมผัสได้ถึงความรู้สึกปิติจากการทำสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก


รับผิดชอบ

เมื่อสงขลาฟอรั่มประกาศรับสมัครโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา อาจารย์ในโปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แนะนำให้พวกเขานำโครงการธนาคารขยะมาทดลองทำจริง เมื่อต้องเข้าร่วมประชุมพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมของเยาวชนกับสงขลาฟอรั่ม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมพอดี เน-ภคมน กลับอยู่ แนน-ธิดารัตน์ เงินสง่า และ อาร์ม- อรรถพล ขุนทองจันทร์ จึงถูกบังคับกลายๆ ให้ไปอบรมแทนเพื่อนๆ พร้อมกับน้องปี 2 ที่เพื่อนเป็นคนประสานงานให้มารวมทีม คือ ดาว-นุจรี เกตุแก้ว และฟ้า-ปาลิตา เลี่ยมเส็ง “ตอนนั้นคิดตื้นๆ ว่า ไปอบรมเสร็จก็คือเสร็จ” เนเล่าความเข้าใจในช่วงแรก “ถามตัวเองเหมือนกันว่า ไม่มีเกรด ไม่มีเกียรติบัตร ทำไมพวกเราทำ อันดับแรกคือ ความจำเป็น เพราะเป็นโครงการที่เสนอไปในนามของนักศึกษาโปรแกรม รปศ.”

เพราะไม่เคยทำโครงการมาก่อน เมื่อต้องเซ็นสัญญารับทุน ทีมงานจึงรู้ตัวว่า งานนี้ต่อเนื่องยาวนานกว่าที่คิด ความเครียดจู่โจมกะทันหัน เพราะลำพังการจัดการชีวิตของตัวเองในฐานะนักศึกษาปี 3 ซึ่งเรียนหนักมากก็ยากอยู่แล้ว เมื่อโครงการในหน้ากระดาษต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริงในหมู่บ้านล่องมุด ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ครั้นจะปล่อยให้รุ่นน้องทำกันเองก็ห่วง เนกับแนนจึงตกลงใจว่า เมื่อรับมาแล้ว ทำก็ทำ โดยหวังว่า เพื่อนในกลุ่มอีก 7 คนกับน้องอีก 2 คน คงไม่ทิ้งกัน เพราะแม้ว่าจะตั้งชื่อกลุ่มว่า สิงห์สมิหลาอันหมายถึงสมาชิกนักศึกษาโปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงของชีวิตก็รู้ว่า ในความคิดของเด็ก ถ้าทำอะไรไม่ได้เกรด ไม่ได้เกียรติบัตร จะไม่ทำ“ถามตัวเองเหมือนกันว่า ไม่มีเกรด ไม่มีเกียรติบัตร ทำไมพวกเราทำ อันดับแรกคือ ความจำเป็น เพราะเป็นโครงการที่เสนอไปในนามของนักศึกษาโปรแกรม รปศ.” เนเล่า ถึงเบื้องหลังที่ต้องรับผิดชอบทำโครงการ

เมื่อตกลงใจทำ ทีมงานจึงแบ่งบทบาทหน้าที่กันทำงาน เนรับผิดชอบเป็นหัวหน้ากลุ่มดูแลภาพรวมการทำงาน แนนดูแลเรื่องงานจัดการเอกสาร อาร์มรับผิดชอบกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานและเป็นผู้ประสานงานหลักระหว่างทีมกับชุมชน น้องดาวและน้องฟ้า ช่วยเรื่องเอกสารการเงินและการประสานงานระหว่างพี่ๆ และสงขลาฟอรั่ม โดยมีเพื่อนในกลุ่มอีก 7 คนผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยตามวาระ 


ความฝันกับความจริง

แม้เริ่มต้นด้วยความจำใจ แต่เนกับแนนตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด ทั้งคู่จับเข่าคุย ร่วมกันวางแผนชีวิต สิ่งแรกคือ การแบ่งเวลา ทั้งเรียน ทำโครงการ และชีวิตส่วนตัว ชีวิตชิลๆ ที่เคยปล่อยผ่านแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ถูกจัดระบบ แต่ด้วยความที่ไม่เคยทำโครงการมาก่อน แถมยังเป็นโครงการที่คิดบนแผ่นกระดาษ เมื่อต้องทำจริงจึงรู้ว่า “ความคิดกับความจริงมันไปด้วยกันไม่ได้” เนื่องด้วยบ้านล่องมุดเป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กเพียง 55 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 200 คน วิถีชีวิตในชุมชนพึ่งพาการเกษตรและธรรมชาติ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านพอเพียงที่มีการพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง 

เป็นหมู่บ้านเข้มแข็งที่มีการจัดการขยะดีอยู่แล้ว แต่ที่ตัดสินใจเลือกที่นี่ เพราะเป็นหมู่บ้านที่คณะเคยมาทำกิจกรรม เป็นบ้านของอาร์ม และอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก วันที่ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านจึงพบว่า แผนงานที่คิดไว้ไม่น่าจะตอบโจทย์ชุมชน แต่ก็ตัดสินใจเดินหน้าลองผิดลองถูก เนเล่าว่า แผนงานที่คิดไว้คือ รณรงค์แยกขยะ แล้วนำขยะที่รีไซเคิลได้ไปขาย โดยให้ร้านเข้ามารับซื้อ ส่วนขยะอลูมิเนียมก็นำไปบริจาคทำขาเทียม แต่ความจริงคือชุมชนไม่ได้มีขยะมากเหมือนชุมชนเมือง ช่วงแรกทีมงานจึงทดลองให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ และนำขวดพลาสติกมาสานเป็นถัง

“การให้ชาวบ้านนำพลาสติกมาสานเป็นถัง เพราะคิดว่าน่าจะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะบริบทของพื้นที่นั้นคนหาอยู่หากินกับการพึ่งพาการเกษตรและธรรมชาติ ทำให้ชุมชนมีปริมาณขยะพลาสติกน้อย งานที่คิดว่าดีต่อชุมชนกลับกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ชุมชนแทน” เนเล่าถึงความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้


ไม่ยอมแพ้แม้ผิดพลาด

หลังจากลองผิดลองถูกในครั้งแรก ทีมงานจึงกลับมาทบทวนแผนกิจกรรมในโครงการใหม่ โดยใช้ข้อมูลบริบทชุมชนเป็นฐานในการวิเคราะห์ พบว่า กิจกรรมที่ทำไม่สอดคล้องกับสภาพของหมู่บ้าน จึงตั้งหลักใหม่ด้วยการค้นหาความรู้เรื่องการจัดการขยะประเภทเศษอาหาร พบแนวทางการจัดการโดยนำมาหมักเป็นปุ๋ยน้ำ และการกำจัดเศษอาหารโดยไส้เดือน ซึ่งจะให้ผลผลิตเป็นปุ๋ยและน้ำหมักฉี่ไส้เดือน เป็นแนวทางใหม่ที่น่าจะสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เมื่อหารือกับที่ปรึกษาโครงการ 

ซึ่งแนะนำว่าเดิมที่จะทำธนาคารขยะ น่าจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเรื่องการจัดการขยะด้วยไส้เดือน แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ควรหารือกับพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มก่อน ทีมจึงได้แบกรับความรู้สึกผิดไปพบกับพี่เลี้ยงของสงขลาฟอรั่ม เพื่อสารภาพผิด 

“เราไปสารภาพกับทีมพี่เลี้ยงว่า โครงการของเราไม่ตอบโจทย์ชุมชน ตอนนั้นรู้สึกเครียด กลัวงานไม่ประสบความสำเร็จ ไปยอมรับกับพี่เขาตรงๆ โดยไม่รู้สึกเสียหน้าว่าบริบทของชุมชนบ้านล่องมุดไม่เหมือนชุมชนเมือง หากยังทำโครงการต่อคงประสบผลสำเร็จได้ยาก แต่ทำอย่างไรเราจะนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด คนในชุมชนได้รับประโยชน์มากที่สุด” เนเล่า

ขณะที่แนนเสริมว่า จะเปลี่ยนแผนก็กลัว รู้สึกกดดันว่าหน่วยนงานที่ให้เงินมาทำโครงการเขาจะว่าไหม เพราะแผนที่จะทำกับแผนที่เขียนในโครงการไม่เหมือนกันเลย ยอมรับว่ากลัวมาก คิดมาก เพราะภาวะหลาย ๆ เรื่องตอนนั้น เรื่องเรียนเราก็เครียด เรื่องนี้เราก็เครียด เราเซ็นสัญญาไปแล้ว ถ้าเราไม่ทำเราจะโดนอะไรหรือเปล่า จะเสียหายไหม อาจารย์ มหาวิทยาลัย ภาควิชา และทุกคนจะผิดหวังกับพวกเราหรือไม่

“ทีมงานจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการกำจัดขยะ โดยใช้ไส้เดือนกำจัดขยะเศษอาหาร และตั้งใจทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งมีเบื้องหลังมาจากการคุยกันว่า อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชาวบ้านมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะหากสร้างเฉพาะบ่อไส้เดือนตั้งไว้ ชาวบ้านก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไร แต่หากมีข้อมูลความรู้ กระบวนการทำ มีจุดสาธิตที่ชาวบ้านสามารถทดลองทำในศูนย์การเรียนรู้ด้วย ก็จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ชาวบ้านสามารถนำกลับไปทำที่บ้านของตนเองได้” 

ทีมงานเล่าว่า ที่กล้าไปพบและสารภาพกับพี่มีนี-นูรอามีนี สาและ เพราะบุคลิกพี่เขาเป็นคนที่รับฟัง ไม่ได้ต่อว่าน้อง ๆ แต่ยินดีเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจน้องทุกกลุ่ม ทำให้น้องกล้าที่จะเปิดใจเล่าถึงปัญหาที่พบ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากพี่มีนีคือ “ความเข้าใจ” พี่เขาบอกว่า พวกเราสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาได้ เพียงแต่ให้อยู่ในกรอบของเวลาและงบประมาณเดิม

ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการกำจัดขยะ โดยใช้ไส้เดือนกำจัดขยะเศษอาหาร และตั้งใจทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เพราะอยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชาวบ้านมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากสร้างเฉพาะบ่อไส้เดือนตั้งไว้ ชาวบ้านก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไร แต่หากมีข้อมูลความรู้ กระบวนการทำ มีจุดสาธิตที่ชาวบ้านสามารถทดลองทำในศูนย์การเรียนรู้ด้วย ก็จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ชาวบ้านสามารถนำกลับไปทำที่บ้านของตนเองได้ 

อย่างไรก็ตาม การได้ลงพื้นที่ไปในชุมชนบ่อย ๆ จึงสัมผัสได้ว่า นับวันชาวบ้านจะห่างเหินกันไปเรื่อย ๆ ต่างคนต่างกรีดยางแล้วก็กลับบ้านนอน ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน การได้มาช่วยกันสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นสมบัติร่วมของชุมชน อย่างน้อยน่าจะเป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างความร่วมมือ และสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน

เมื่อปลดล็อคความไม่สบายใจได้ ทีมงานจึงเดินหน้าทำกิจกรรมใหม่อีกครั้ง แผนการกำจัดขยะเศษอาหารด้วยไส้เดือนและสร้างศูนย์เรียนรู้ของชุมชนถูกนำเสนอต่อชาวบ้านเพื่อขอความเห็นชอบ ผู้แก่ผู้เฒ่าในชุมชนบอกเงื่อนไขว่า ถ้าจะทำศูนย์การเรียนรู้ต้องอย่างทำทิ้งทำขว้างเหมือนที่ผ่านมา ที่มีคนภายนอกเข้ามาทำทิ้งไว้ แล้วไม่ใส่ใจ ไม่เคยเข้ามาดูแล ในขณะที่รับปากรับคำทีมงานพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า โครงการนี้ทำเพื่อชุมชน คนที่จะดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ต่อคือชาวบ้าน แต่ทีมงานจะช่วยดูแลก่อนในช่วงแรก

เนบอกต่อว่า ทีมงานวางแผนลงพื้นที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน และช่วยแก้ปัญหาในบางครั้ง แต่อยากให้ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด เพราะถ้าพวกเราทำให้ชาวบ้านก็จะคิดว่าเป็นของนักศึกษา แต่โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับนักศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน 

การเรียนรู้ร่วมกันครั้งใหม่ตั้งต้นด้วยการพากันไปศึกษาดูงานการเลี้ยงไส้เดือนจากหมู่บ้านใกล้เคียงตามคำแนะนำของชาวบ้าน การเรียนรู้ในพื้นที่จริงของนักศึกษา อาจารย์ แกนนำชาวบ้าน และพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่ม ทำให้ได้ความรู้ชัดแจ้งเกี่ยวกับกระบวนการเลี้ยงไส้เดือนและใช้ประโยชน์จากน้ำฉี่ไส้เดือน ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นน้ำหมักเพื่อใช้ในการบำรุงพืชผลได้ 


บทเรียนนอกห้องสี่เหลี่ยม

ระหว่างการปรับเปลี่ยนกิจกรรมของทีมงาน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สงขลาฟอรั่มจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้เยาวชนในโครงการเรื่อง “สร้างจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชนและชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งจัดที่ชุมชนคลองแดน และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ทีมงานเกิดความฮึกเหิม และมีพลังในการทำงานมากขึ้น ด้วยได้เห็นตัวอย่างเพื่อนเยาวชนกลุ่มอื่น ได้สัมผัสความเข้มแข็งของชุมชน อีกทั้งได้รับฟังข้อคิดดี ๆ จากผู้นำชุมชนคลองแดน ที่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ให้เริ่มที่ตัวเรา” คำพูดนี้จุดประกายและสร้างพลังแรงใจให้ทีมงานอยากทำโครงการนี้ให้ดีที่สุด แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคก็จะพยายามฝ่าฟันต่อไปให้ได้

“อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของเราไม่ใช่ระยะเวลา ไม่ใช่งาน แต่เป็นเรื่องของความร่วมมือ บางทีเราวางแผนงานไว้แล้วว่าต้องการกำลังคนเสริม 30 คน แต่มีคนมาช่วยแค่ 10 คน งานที่น่าจะเสร็จเร็ว น่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี ก็ต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องลดขั้นตอน ปรับแผน จากที่วางไว้ 3 ขั้นตอน ปรับใหม่เหลือเพียง 1-2 ขั้นตอน เพื่อให้พอดีต่อกำลังคนที่มีอยู่ หรือบางครั้งเราต้องเลื่อนงานออกไป เพราะไม่มีคนมาช่วย จนบางครั้งก็หงุดหงิด” เนบอกเล่าความรู้สึก

แม้ความร่วมมือจากเพื่อนในโปรแกรมจะมีมาอย่างกระท่อนกระแท่น แต่งานส่วนใหญ่ก็ลุล่วงไปได้ด้วยแรงกายแรงใจของเพื่อนสนิทในกลุ่มทั้ง 9 คน และความร่วมมือของชาวบ้าน โดยระหว่างการทำงานทีมงานจะพยายามลองถูกลองผิดก่อน เพื่อให้ทราบถึงจุดที่เป็นปัญหา และหาทางแก้ เพื่อที่เวลาชาวบ้านดำเนินการเอง หากเกิดปัญหา ทีมงานจะได้แนะนำชาวบ้านได้ แต่ยิ่งเรียนรู้ร่วมกันก็ยิ่งรับรู้ว่า ชาวบ้านมีความรู้มากกว่าที่คิด เช่น ตอนไปศึกษาดูงานเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนแกนนำชาวบ้านพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ จากวิทยากรเป็นระยะ ๆ ว่า พันธุ์อะไร เลี้ยงอย่างไร ที่เขาไม่ถามเอง อาจเป็นเพราะเขาอยากให้พวกเราได้ความรู้ อยากให้พวกเรากล้า และรู้จักคิด เพราะเด็กต่างจังหวัดจะไม่ค่อยกล้าถามเหมือนเด็กในเมืองใหญ่


รสสัมผัสแห่งความชื่นใจ

เมื่องานเริ่มเข้าที่เข้าทาง ได้ผลอย่างใจคิด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่สร้างเป็นขนำเล็กๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อลงไปในชุมชนแต่ละครั้งทีมงานจะถ่ายรูปความก้าวหน้าของงานเก็บสะสมไว้ พร้อม ๆ กับความรู้สึกภูมิใจที่เต็มตื้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีเวลามองย้อนทวนบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา จึงเห็นข้อดีของอุปสรรคที่ทำให้ได้เรียนรู้ เนบอกว่า “อุปสรรคสอนให้เราคิดอะไรได้หลาย ๆ อย่าง สอนให้รู้จักคิด สอนให้รู้จักวางแผน สอนให้อดทนต่อปัญหา ถ้างานราบรื่น ได้อะไรมาง่าย ๆ เราก็อาจจะลืมได้ง่าย ๆ แต่เมื่อพบอุปสรรคที่แม้จะทำให้เหนื่อยและเครียด กลับทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ได้จัดการตัวเอง มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น รู้จักบริหารงาน” 

“เรื่องราวดี ๆ ที่ได้พบเห็น ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทำโครงการ เช่น การสร้างศูนย์การเรียนรู้ก็ปรับใช้สิ่งที่เห็นจากชุมชนคลองแดนที่ใช้เศษไม้มาทำถังขยะ จึงคิดได้ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่เริดหรู แต่สามารถใช้ไม้ในท้องถิ่นในการสร้างขนำซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพของชุมชนมากกว่า หรือเรื่องเล็ก ๆ เช่น การปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกเพิ่มในการซื้อของ”

 นอกจากข้อดีของอุปสรรคที่เปลี่ยนเนให้เป็นคนที่มี “วิธีคิด” ใหม่แล้ว พฤติกรรมในเรื่องปกติสามัญทั่วไปในชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะได้ทำงานกับชุมชน ความสนใจจึงพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาชุมชน ดังนั้นในวิชาเรียนที่มีโอกาสได้เดินทางไปเรียนรู้กับชุมชนใด ๆ เนจึงมักจะเก็บเรื่องราวดี ๆ ที่ได้พบเห็นมาประยุกต์ใช้ในการทำโครงการ เช่น การสร้างศูนย์การเรียนรู้ก็ปรับใช้สิ่งที่เห็นจากชุมชนคลองแดนที่ใช้เศษไม้มาทำถังขยะ จึงคิดได้ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่เริดหรู แต่สามารถใช้ไม้ในท้องถิ่นในการสร้างขนำ ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพของชุมชนมากกว่า หรือเรื่องเล็ก ๆ เช่น การปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกเพิ่มในการซื้อของ ซึ่งเนบอกว่า แปลกใจเหมือนกันที่อยู่ ๆ ความรู้สึกมันก็เปลี่ยนไปเอง

ส่วนแนนบอกว่า การทำโครงการเปลี่ยนแปลงนิสัยความเป็นเด็กของเธอ ที่ไม่ชอบใจอะไรก็สะบัดหน้าหนี ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น การเลี้ยงไส้เดือนเป็นสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตที่เธอต้องก้าวข้ามความขยะแขยงที่ชวนให้ขนลุก ทั้งการจับไส้เดือนตัวลื่น ๆ การจับขี้วัว ที่ในระยะหลังสามารถทำได้โดยไม่ต้องใส่ถุงมือ เพราะถ้าใส่ถุงมือจะทำให้ไม่รู้อุณหภูมิ เพราะไส้เดือนไม่ชอบให้ร้อนเกินไป แล้วเมื่อเห็นไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ออกลูกออกหลาน จึงกลายเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ ที่ทำงานสำเร็จ และงานที่ทำจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ

“การทำโครงการเปลี่ยนแปลงนิสัยความเป็นเด็กของเธอที่ไม่ชอบใจอะไรก็สะบัดหน้าหนี ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น การเลี้ยงไส้เดือนเป็นสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตที่เธอต้องก้าวข้ามความขยะแขยงที่ชวนให้ขนลุก ทั้งการจับไส้เดือนตัวลื่น ๆ การจับขี้วัว ที่ในระยะหลังสามารถทำได้โดยไม่ต้องใส่ถุงมือ”

“นอกจากนี้จะจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น เมื่อก่อนถ้าโมโหเพื่อน หนูจะปรี๊ดแตกตรงนั้นเลย แต่ตอนนี้ถ้าโมโหก็จะเงียบ แล้วพยายามพูดให้เขาเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ปล่อยเขาไป ไม่ไปยุ่ง” แนนเล่า ความเปลี่ยนแปลงของตนเอง พร้อมเสริมว่า รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น กล้าตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น จากเดิมที่คอยแต่ทำตามเพื่อน

สำหรับอาร์มมองว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนของตนอย่างแท้จริง เพราะชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการกำจัดขยะจากเศษอาหารและนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้การที่มีศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนจึงเป็นอีกสาระหนึ่งที่ชุมชนสามารถใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของการจัดการของชุมชนให้ผู้สนใจที่แวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานในหมู่บ้านเป็นประจำ

ความสำเร็จของงานที่สัมผัสได้ ทีมงานยกความดีความชอบให้กับความร่วมมือของชาวบ้าน และพลังหนุนจากเพื่อนในกลุ่มทั้ง 9 คน แต่ก็สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การบริหารจัดการภายในทีม ที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน โดยมีเนเป็นผู้กุมสภาพงาน คอยถามไถ่ความก้าวหน้าของงาน รวมทั้งไกล่เกลี่ยความเข้าใจในเนื้องานของสมาชิกในทีม โดยใช้หลักว่า ทุกคนต้องรับรู้เท่าๆ กัน 

“จะบอกเพื่อนว่า คนรับงานก็ต้องมาตามงานกับคนที่สั่งงานด้วย ถ้าแบ่งงานแล้ว ทำไม่เสร็จ ก็ต้องเรียกทีมงานทั้งหมดมาช่วยกัน ใครไม่เข้าใจให้ถามคนที่เข้าใจ หรือก่อนนำเสนองาน ก็ต้องคุยกันก่อนเพื่อให้ทุกคนรู้เท่า ๆ กัน เพื่อนไม่กล้าพูด ไม่กล้านำเสนอ ไม่เป็นไร แต่ต้องรู้ว่า งานของกลุ่มจะทำอะไร อย่างไร” เนเล่า

บทบาทของเนที่ต้องคอยถามไล่จี้ ถามความก้าวหน้าของงานกับเพื่อน ๆ เป็นบทบาทที่เพื่อน ๆ ในกลุ่มยอมรับ โดยเฉพาะเพื่อนผู้ชายในกลุ่มซึ่งอาร์มเป็นตัวแทนเล่าว่า ชอบให้เพื่อนจี้ถาม เพราะการที่เพื่อนจี้ถามกระทั่งด่าบ้างในบางครั้ง แสดงว่าเพื่อนยังสนใจ แต่ถ้าเพื่อนไม่สนใจ ไม่ไถ่ถาม จะรู้สึกเคว้งคว้าง และรู้สึกแย่มากกว่าการโดนเพื่อนด่า

นอกจากการเรียนรู้จากเนื้องานที่ทำแล้ว เนเล่าว่า เธอยังเรียนรู้จากแนนซึ่งเป็นคนที่เก่งเรื่องงานเอกสารมากขึ้น “ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องของการเรียนรู้ จากเมื่อก่อนที่เคยแต่รอแนนหางานมาป้อนให้อย่างเดียว แต่พอได้มาทำโครงการนี้ ก็เริ่มคิดได้ว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้รู้อะไรเลย ถ้าเรายังเป็นคนรับอยู่อย่างนี้ ก็จะได้เท่าที่เขาป้อนมาให้ สิ่งไหนที่ทำไม่เป็นก็เริ่มหัดคิด หัดหาความรู้ บางครั้งก็ถามแนนว่า หามาจากไหน แนนก็บอกว่า ดูจากยูทูป เราก็คิดได้ว่าทำไมเพื่อนทำได้ แล้วเราทำไม่ได้” 

ทีมงานทุกคนสะท้อนว่า สามารถนำการเรียนรู้ที่ได้จากการทำโครงการไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเวลา“พวกเราเรียนโปรแกรมนี้งานกลุ่มเยอะมาก เราสามารถปรับวิธีการทำงานที่ต้องแบ่งงาน กระจายงาน ไม่ให้งานกระจุกอยู่ที่คน ๆ เดียว ซึ่งการทำโครงการนี้ทำให้เรารู้จักรับผิดชอบงาน แล้วงานของเราเริ่มมีคุณภาพมากขึ้น สามารถรับงานเพิ่มได้มากขึ้นกว่าเดิมในเวลาจำกัด” แนนเล่า 

เพราะได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า พวกเขาก็ทำได้ ความมั่นใจที่เกิดทำให้พวกเขาสามารถทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ว่า “เมื่อก่อนมักคิดว่าเด็กหลังห้องไม่มีอะไรเลย ไม่มีโครงการอะไรกับเขา ทำอะไรไม่สำเร็จสักเรื่อง ...ตอนนั้นคิดเปรียบเทียบ รู้สึกไปเองว่าอาจารย์ไม่เท่าเทียม เด็กหน้าห้องทำอะไรก็ดี ก็ถูกไปหมด ทั้ง ๆ ที่อาจารย์อาจไม่ได้คิดอะไร แต่เป็นเพราะเด็กกลุ่มนั้นเขาตอบสนองอาจารย์ดี เข้าหาอาจารย์ มันเป็นปมของเราเอง” เนสะท้อนปมคิดเรื่องเด็กหลังห้อง

ความ “ท้าทาย” ของเด็กหลังห้องที่ต้องการทำอะไรสักอย่างให้คนอื่นยอมรับ จากจุดเริ่มต้นโครงการถึงวันนี้ กว่าจะทำให้ขยะเป็นทอง ทีมงานทุกคนต่างบอกว่าพวกเขาได้บทเรียนมากมายจากการทำโครงการ ทั้งความผิดพลาด การแบกรับความรู้สึกผิด การยืนหยัดที่จะเดินหน้าต่อ การร่วมแรงร่วมใจของทีมงานที่ร่วมกันฝ่าฟันจนสำเร็จลุล่วง การสานพลังความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อให้งานเป็นประโยชน์แก่ชุมชนอย่างแท้จริง

การเรียนรู้ของเด็กหลังห้องช่างมีสีสัน เพิ่มพูนทักษะให้ตัวเขาอย่างมากมาย และเขามีศักยภาพ ทำเพื่อส่วนรวมได้ไม่ต่างจากเด็กๆ ทุกมุมห้อง 


โครงการ : ขยะเป็นทอง

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์กรณิภา ศรีวรเดชไพศาล

ทีมทำงาน : นักศึกษาโปรแกรมรัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

( ธิดารัตน์ เงินสง่า ) ( ปาลิตา เลี่ยมเส็ง ) ( อรรถพล ขุนทองจันทร์ ) 

( นุจรี เกตุแก้ว ) ( ภคมน กลับอยู่ )