การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็ก โรงเรียนวิธานพิทยานุสรณ์ จังหวัดสงขลา

แต้มสี เติมใจให้ชุมชน

โครงการต่อเติมสีแต้มใจน้อง

ผลตอบรับจากชุมชนทำให้ทีมงานชื่นใจ และยิ่งดีใจมากขึ้นเมื่อกำนัน และนายก อบต.สนับสนุนงบประมาณสมทบทุนอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมครูในโรงเรียนสะท้อนให้แสนซึ่งไปติดตามผลฟังว่า น้อง ๆ สนใจและตื่นเต้นกับรูปภาพสวย ๆ ส่วนชาวบ้านในชุมชนก็รู้สึกยินดีที่นักศึกษามาทำอะไรเพื่อชุมชน และอยากให้มีกิจกรรมร่วมกันต่อเนื่องต่อไป ที่สำคัญคือ เกิดการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยแสนมีเป็นตัวตั้งตัวตีรื้อฟื้นสภาเด็กและเยาวชนของตำบลให้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

เพราะเชื่อว่า “การศึกษา” เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต ที่จะช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดี ทีมนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้ใช้ “โอกาส” ที่อาจารย์ในคณะแนะนำให้รู้จักโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาก้าวเข้าสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ แก่ชุมชน


เพราะนี่คือ โอกาส

ด้วยพื้นฐานที่นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นประจำทุกปี ทำให้นักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องต่างรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จึงไม่ยากหากต้องรวมทีมกันทำโครงการ โดยมี ต้น-สุทธิชัย วรรณสิทธิ์ ในฐานะพี่ใหญ่ และเป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม ส่วนลูกทีมประกอบด้วย ยะห์-สูไฮลา สะหลำมะ แสน-แสนภูมิ กล้าอยู่ ปาล์ม-อภินันท์ นาคกลัด และอ้อม-ชญาศา ทองเทพ

แม้ในทีมจะมีทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง แต่ในการทำงานทุกคนต่างช่วยกันคนละไม้ละมืออย่างเท่าเทียม ประเด็นการทำงานถูกเสนอจากแต่ละคน ทั้งเรื่องการปลูกป่า การสืบสานภาษาวัฒนธรรม และการปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่เมื่อพิจารณาถึงเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ว่า โครงการที่จะทำควรอยู่ในพื้นที่ที่มีสมาชิกของกลุ่มอาศัยอยู่ เพื่อให้สะดวกต่อการประสานงานและต่อยอดการทำงาน และควรเป็นประเด็นที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ทุกคนจึงเห็นร่วมกันว่า น่าจะทำเรื่องที่แสนนำเสนอคือ การปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนตำบลสำเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เขาอาศัยอยู่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้น้อง ๆ อยากมาเรียนหนังสือ

“ที่เลือกประเด็นนี้เพราะพวกเราเห็นความสำคัญของการศึกษา ถ้าเราไม่ปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ เด็กเยาวชนของเราก็จะเติบโตมาแบบไม่สมบูรณ์ แสนอยู่ในชุมชน เขารู้ปัญหาที่แท้จริง รู้จักพื้นที่ของเขา” ต้นเล่าถึงเบื้องหลังการตัดสินใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบทเรียนจากการทำงานในคณะที่เคยผ่านประสบการณ์ที่ไม่พึงใจทำให้กลายเป็นแรงขับลึกๆ

“การที่เขาเสนอบ้านตนเอง เพราะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เมื่อมองย้อนอดีตจะเห็นว่าตำบลเสาเภาเป็นชุมชนที่เคยเข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันเริ่มถดถอยลง เห็นได้จากหน่วยงานที่เคยเข้ามาสนับสนุนเริ่มถอยห่าง เด็กและเยาวชนไม่สนใจเข้ามามีบทบาทร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน” 

ต้นเล่าต่อว่า ตอนที่เขาอยู่ปี 2 ก็คิดงานแบบนี้ แต่พอเสนอรุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้า เขาก็ไม่เลือก เพราะเขามีรูปแบบ แนวคิดของเขาอยู่แล้ว รุ่นพี่เขาจะให้ปลูกป่าชายเลนอย่างเดียว แต่เราเสนอว่าทำอย่างอื่นด้วยได้ไหม เรารู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่ฉาบฉวย และกิจกรรมปลูกป่าก็ต้องใช้เรือ ต้องใช้งบประมาณมาก นักศึกษาอย่างเราไม่ได้มีงบประมาณมากขนาดนั้น พอเสนอว่าเป็นที่ใกล้ ๆ ได้ไหม จะได้ไม่ต้องใช้เรือ แต่พี่เขาก็บอกว่าติดต่อไว้แล้ว ตอนนั้นอยู่ปี 2 ตรงกลางระหว่างพี่กับน้อง รู้สึกสงสารน้องมาก เพราะการทำกิจกรรมของนักศึกษาส่วนใหญ่เราต้องเก็บเงินกันเอง มหาวิทยาลัยสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเท่านั้น

แต่สำหรับแสนแล้ว การที่เขาเสนอบ้านตนเอง เพราะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เมื่อมองย้อนอดีตจะเห็นว่า ตำบลเสาเภาเป็นชุมชนที่เคยเข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันเริ่มถดถอยลง เห็นได้จากหน่วยงานที่เคยเข้ามาสนับสนุนเริ่มถอยห่าง เด็กและเยาวชนไม่สนใจเข้ามามีบทบาทร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ในขณะที่โรงเรียนวิธานพิทยานุสรณ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดมูลนิธิวัดขรัวช่วย ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งเดียวในชุมชน กลับมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของเด็ก สภาพปัญหาข้างต้นส่งผลกระทบให้เด็กมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัยและไม่สนใจเรียนรู้ รวมถึงไม่มีความสุขในการเรียน เพราะโรงเรียนไม่มีอะไรดึงดูดใจ จึงไม่อยากมาโรงเรียน


เหลา “โจทย์” ให้แหลมคม

“กิจกรรมปรับภูมิทัศน์ทำอย่างไรจึงจะไม่ใช่กิจกรรมที่ฉาบฉวย แต่เข้าถึงหัวใจของคนในชุมชนได้ และทำอย่างไรกระบวนการออกแบบการทำงานจึงจะลงลึกไปถึงการวิเคราะห์และออกแบบรายละเอียดของกิจกรรมได้” 

การทำงานในบริบทที่ต่างไปจากกิจกรรมในมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องท้าทาย เริ่มจากการพัฒนาโครงการที่ถูกท้าทายจากพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มว่า “กิจกรรมปรับภูมิทัศน์ทำอย่างไรจึงจะไม่ใช่กิจกรรมที่ฉาบฉวย แต่เข้าถึงหัวใจของคนในชุมชนได้ และทำอย่างไรกระบวนการออกแบบการทำงานจึงจะลงลึกไปถึงการวิเคราะห์และออกแบบรายละเอียดของกิจกรรมได้” ทำให้ทีมงานรู้สึกว่า เป็นงานที่ยาก เมื่อถูกถามแล้วตอบไม่ได้ หรือถูกให้แก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงยิ่งท้อจนเกือบเลิกล้มความตั้งใจ

“พวกเราอยากจะเลิกทำแล้ว แต่อาจารย์ศรีสุดา ช่วยปลุกพลังด้วยคำพูดที่บอกว่า อาจารย์อยู่กับพวกเรามานาน อาจารย์เชื่อมั่นว่าเราทำได้” คำพูดของอาจารย์ ทำให้ทีมงานได้ทบทวนตนเองว่า คนอื่นยังมีความเชื่อมั่นในตัวเรา แล้วเราจะไม่เชื่อตัวเองหรือ รวมถึงข้อเสนอแนะจากพี่บอย ที่บอกว่า อย่าทำโครงการแบบฉาบฉวย อย่าทำแค่ให้โครงการเสร็จ ต้องมีการติดตามประเมินผล และที่สำคัญคือชุมชนสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้เอง เมื่อพวกเราถอนตัวออกจากชุมชนแล้ว

ดังนั้น นอกจากเป้าหมายเพื่อปรับภูมิทัศน์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว ทีมงานยังมีเป้าหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในชุมชนเป็นเป้าหมายรอง เพื่อปลุกพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาสนใจและใส่ใจกิจกรรมของชุมชนตนเอง โดยมีแสนซึ่งเป็นคนในชุมชนอาสาเข้ามาสานต่อกิจกรรมให้ต่อเนื่องต่อไป 

เมื่อมีโอกาสทำงานจึงออกแบบให้ทีมงานทุกคนมีบทบาทหน้าที่ตามความถนัดของตนเอง เช่น แสนเรียนเอกภาษาไทยและเป็นคนในชุมชนจึงรับผิดชอบเรื่องเอกสารและประสานงาน อ้อมดูแลการเงิน ยะห์เป็นรองประธานกลุ่ม ปาล์มรับผิดชอบงานสวัสดิการ ต้นเป็นหัวหน้าทีม ทำหน้าที่วางแผน บริหารงาน โดยเน้นกำหนดระยะเวลาในการทำงานร่วมกันในวันที่ทุกคนว่างตรงกันเป็น


ทักษะ “ช่างเชื่อม”

อาจารย์ศรีสุดา ไชยวิจารย์ : ที่ปรึกษาโครงการ

สมศักดิ์ ชูช่วยคำ : อดีตเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม 

เมื่อกลุ่มเป้าหมายในการทำงานคือ เด็กเล็ก ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็กเล็กจึงเป็นสิ่งที่ทีมงานต้องศึกษาหาความรู้ก่อนในเบื้องต้น เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รุ่นพี่ที่เรียนสาขาปฐมวัย และอินเทอร์เน็ตคือแหล่งความรู้ แต่ก่อนลงมือทำ ทีมงานต้องลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจสภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อน

ภาพที่เห็นไม่เหมือนที่คิด เพราะดูดีกว่าที่คาดไว้ แต่เมื่อได้พูดคุยกับผู้อำนวยการศูนย์ฯ จึงทราบว่า มีปัญหาลึก ๆ แฝงเร้นอยู่ ซึ่งเกิดจากจุดเริ่มต้นของการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่สร้างขึ้นท่ามกลางความคิดเห็นที่ขัดแย้งของคน 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย จนความขัดแย้งฝังรอยลึกไว้ในความสัมพันธ์ของชุมชน การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

“การปรับสภาพภูมิทัศน์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาจจะช่วยให้เด็ก ๆ มีความสุขกับการมาโรงเรียนมากขึ้น แต่การปรับภูมิทัศน์ ที่คิดไว้นั้นไม่ใช่เพียงการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม แต่ต้องมีสาระที่เป็นประโยชน์สอดแทรกอยู่ด้วย”

เมื่อเห็นสภาพจริงของพื้นที่ดำเนินงาน ทีมงานจึงจัดประชุมเพื่อกำหนดทิศทางของกิจกรรม ทั้งนี้ ต่างเห็นร่วมกันว่า การปรับสภาพภูมิทัศน์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาจจะช่วยให้เด็ก ๆ มีความสุขกับการมาโรงเรียนมากขึ้น แต่การปรับภูมิทัศน์ ที่คิดไว้นั้นไม่ใช่เพียงการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม แต่ต้องมีสาระที่เป็นประโยชน์สอดแทรกอยู่ด้วย ทีมงานจึงนำแนวคิดดังกล่าวไปหารือกับรุ่นพี่เอกปฐมวัย เพื่อร่วมกันออกแบบภาพและสีสันที่เหมาะสมกับจุดที่จะปรับปรุงคือห้องน้ำ เพราะเป็นจุดที่เด็กต้องใช้ตลอด โดยสิ่งที่ทำคือ การทำสื่อเกี่ยวกับการแปรงฟัน การล้างมือ

 เมื่อออกแบบภาพและข้อความเสร็จ ทีมงานหันหน้ามามองกันเองก็รู้ว่า ไม่มีใครมีทักษะในการวาดภาพหรือทาสีเลยสักคน ทักษะในการบริหารจัดการถูกปรับใช้เพื่อประสานงานขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เรียนเอกศิลปะให้เข้ามาช่วยวาดภาพบนกำแพง ขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกับคนในชุมชน หน่วยงานในพื้นที่เช่น อบต. บอกกล่าวถึงกิจกรรมที่จะทำ และประสานกับโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในตำบล เพื่อเชิญชวนน้อง ๆ มาร่วมกิจกรรมพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 

“เราจัดเป็นค่าย 3 วัน 2 คืน ทำหนังสือเชิญน้องๆ จากโรงเรียนที่อยู่ใกล้มาช่วย เป้าหมายไม่ใช่แค่การทาสี แต่เราอยากให้น้อง ๆ ได้มาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนจะได้เกิดจิตสำนึกที่ดีต่อชุมชนตนเอง” ต้นเล่าถึงเป้าหมายของการจัดค่าย แสนซึ่งเป็นคนในชุมชนนำทีมงานประชาสัมพันธ์ปากต่อปาก เดินขึ้นลงบ้านแต่ละหลังเพื่อบอกเล่าถึงกิจกรรมที่จะทำอย่างแข็งขัน ความกระตือรือร้นของนักศึกษาซึ่งเป็นคนนอก ที่เทียวเข้าเทียวออก ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน ทำให้คนในชุมชนบางส่วนตื่นตัว 

กำหนดการจัดค่ายถูกร่างคร่าว ๆ ในวันเวลาที่คิดว่าจะสะดวกทุกฝ่าย แต่แล้วกิจกรรมที่วางแผนไว้ต้องเลื่อนออกไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเพราะติดงานกีฬาสีของมหาวิทยาลัย ทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ต้องรับผิดชอบการขับเคลื่อนกิจกรรมในคณะ ครั้งที่ 2 เพราะปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนตกหนักจนไม่น่าจะทำกิจกรรมได้ ชาวบ้านในชุมชนจึงโทรศัพท์มาบอกให้ทีมนักศึกษาเลื่อนกิจกรรมออกไปก่อน จวบจนถึงการนัดหมายครั้งที่ 3 กิจกรรมจึงสามารถจัดขึ้นได้ แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสียเลยทีเดียว


เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

กิจกรรมในค่ายที่เตรียมไว้ เริ่มจากกิจกรรมสันทนาการทำความรู้จัก กิจกรรมปรับภูมิทัศน์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กิจกรรมรอบกองไฟ น้อง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นเยาวชนในชุมชนที่ทราบข่าวจากโรงเรียน เมื่อน้องต้องมานอนค้างที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อทีมงานเองก็ยังไม่พ้นวัยเยาวชน ทำให้ผู้ปกครองบางรายไม่ไว้ใจที่จะอนุญาตให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรม

“น้อง ๆ ที่เข้าค่ายมี 2 กลุ่มคือกลุ่มที่มีรถโรงเรียนมาส่ง และกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านที่พวกเราไปรับมาเอง พอไปถึงผู้ปกครองก็ถามว่า เรามาจากไหน มาทำไม ใครเป็นหัวหน้า จะมาเอาลูกเขาไปได้อย่างไร เราก็ตกใจ แม้แต่แสนที่อยู่ในชุมชนนี้ยังโดนว่ากลับ และในที่สุดน้องๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านก็ไม่ได้มาเข้าค่ายกับพวกเรา” ต้นเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทีมงานรู้สึกอึ้งกันถ้วนหน้า แต่ก็ไม่ได้เสียกำลังใจจนต้องเลิกล้มกิจกรรม พวกเขาพากันปรึกษากับพ่อแม่ของแสนซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในชุมชน จึงได้ทราบถึงปมปัญหาของครอบครัวดังกล่าว ที่เคยสูญเสียลูกไปในอดีต จึงเกิดความหวาดระแวง เมื่อทราบถึงสาเหตุเบื้องหลัง ทีมงานจึงคลายความขุ่นเคือง และเกิดความเข้าใจ

เหตุการณ์สะเทือนใจผ่านไป ทีมงานก็เปลี่ยนบรรยากาศสู่ความประทับใจ เพราะสัมผัสถึงความร่วมมือของคนในชุมชนอย่างเต็มที่ บรรยากาศการเกื้อกูลที่บ้านหลังนี้เอาปลามาให้ บ้านหลังนั้นเอาข้าวสารมาให้ จนแทบไม่ต้องออกเงินค่ากับข้าว เพื่อนจากเอกศิลปกรรมก็มาช่วยร่างภาพให้น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันระบายสี แม่บ้านในชุมชนช่วยทำอาหาร ผู้นำในชุมชมมาให้กำลังใจ 

“กิจกรรมช่วงเช้าทีมงานจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมให้น้องที่มาเข้าค่ายสนุกสนาน รู้จักกัน ส่วนช่วงบ่ายนิมนต์พระมาเจิม เชิญกำนันตำบลเสาเภามาเปิดงาน ปรากฏว่านายก อบต.มาด้วย ตอนเราไปเชิญท่านบอกมาไม่ได้ แต่เมื่อท่านมา เราก็ต้องให้เกียรติท่าน เชิญทั้งกำนัน และนายก อบต. ร่วมกันเปิดงาน” ต้นเล่าถึงการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า


งานที่เกิด...ผลที่ก่อ

ผลตอบรับจากชุมชนทำให้ทีมงานชื่นใจ และยิ่งดีใจมากขึ้นเมื่อกำนัน และนายก อบต.สนับสนุนงบประมาณสมทบทุนอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมครูในโรงเรียนสะท้อนให้แสนซึ่งไปติดตามผลฟังว่า น้อง ๆ สนใจและตื่นเต้นกับรูปภาพสวย ๆ ส่วนชาวบ้านในชุมชนก็รู้สึกยินดีที่นักศึกษามาทำอะไรเพื่อชุมชน และอยากให้มีกิจกรรมร่วมกันต่อเนื่องต่อไป ที่สำคัญคือ เกิดการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยมีแสนเป็นตัวตั้งตัวตีรื้อฟื้นสภาเด็กและเยาวชนของตำบลให้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

แสนเสริมต่อว่า เดิมตำบลก็มีสภาเด็กและเยาวชน แต่เป็นการจัดตั้ง โดยไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากนักจึงสลายตัวไปในที่สุด ช่วงจัดค่ายในตอนกลางคืน จึงใช้โอกาสนี้หารือกับน้อง ๆ ที่มาเข้าค่ายว่า เรารื้อฟื้นสภาเด็กและเยาวชนขึ้นมาดีไหม ซึ่งน้อง ๆ ก็เห็นด้วย จึงรวบรวมรายชื่อเสนอต่อ อบต. ซึ่งอบต.ก็ยินดีสนับสนุนการทำกิจกรรมของเยาวชน โดยสภาเด็กและเยาวชนได้เข้าไปร่วมขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น กิจกรรมวันเด็ก กีฬาหมู่บ้าน งานสงกรานต์ ฯลฯ

“จากที่ผู้ใหญ่ไม่เคยให้พื้นที่ คิดว่า เด็กไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ยอมรับ จนมาเห็นว่าเด็กๆ สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่ชุมชนได้ เป็นการเปลี่ยนมุมมอง ทำให้เขาไว้วางใจกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น” แสนกล่าวย้ำความเปลี่ยนแปลง แม้ผลการทำกิจกรรมจะงอกงามอยู่ในใจ แต่ทีมงานก็ยังเสียดายที่ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ตั้งใจไว้ได้ทั้งหมด ด้วยระยะเวลาที่จำกัด จึงยังไม่ได้สร้างสื่อเพื่อการเรียนรู้แก่น้อง ๆ ปฐมวัยอย่างที่ตั้งใจไว้

สำหรับความเป็นเพื่อนๆ ในทีม ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการครั้งนี้ ทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้กันและกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น การทำงานนอกห้องเรียนร่วมกันอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกันเพราะมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ทำให้บางครั้งการทำงานไม่ครบทีม จนกระทบกระทั่งกันบ้าง

“เรามีกันน้อยคนอยู่แล้ว แต่พอทำไป ๆ เพื่อนหาย เหมือนเพื่อนไม่อยากทำ เหมือนเราไปบังคับเขา เพราะมันเป็นงานที่ไม่ได้มีเกรดอะไร ก็ยอมรับว่าโกรธ ไม่พูดกับเพื่อนอยู่ระยะหนึ่ง” ต้นเล่าถึงความร้าวฉานในทีม “การทำงานกับชาวบ้าน เราต้องไปดูเขาก่อน ไม่ใช่สั่ง และต้องรู้ว่าต้องประสานงานกับใครเพื่อให้ข้อมูลกระจายไปในชุมชนมากที่สุด ชุมชนเดี๋ยวนี้เราไปสั่งเขาไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจชุมชนให้ถ่องแท้ก่อน”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป การสำนึกผิดแล้วขอโทษก็ทำให้ทีมงานทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้การเรียนรู้จากของจริงในการปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านในชุมชน เป็นประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับทุกคนในฐานะนักศึกษาสาขาวิชาพัฒนาชุมชนที่จะต้องไปฝึกงานในพื้นที่และจบออกไปทำงานกับชุมชน 

“การทำงานกับชาวบ้าน เราต้องไปดูเขาก่อน ไม่ใช่สั่ง และต้องรู้ว่าต้องประสานงานกับใครเพื่อให้ข้อมูลกระจายไปในชุมชนมากที่สุด ชุมชนเดี๋ยวนี้เราไปสั่งเขาไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจชุมชนให้ถ่องแท้ก่อน” ต้นย้ำภาพการทำงานกับชุมชน

บรรยากาศของการทำงานที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากชุมชน กลายเป็นความประทับใจที่ทำให้ทีมงานมีกำลังใจและมีความสุขในการทำกิจกรรมมากขึ้น ความรู้สึกแรกที่ตั้งใจทำให้เสร็จ ๆ ไป กลายเป็นความตั้งใจทำอย่างใส่ใจมากขึ้น ประกอบกับระหว่างทางของการทำกิจกรรมมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการคอยถามไถ่ความคืบหน้าของงานทำให้รู้สึกอุ่นใจ

แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ใจหวั่น แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ให้ทีมงานมีความอดทนมากขึ้น รู้จักปรับตัวแก้ปัญหา แม้กิจกรรมที่ทำจะไม่มีเกรด แต่ทีมงานยังเลือกที่จะทำต่อ เพราะเห็นว่าเป็นการฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็งมากขึ้น 

“เมื่อเรียนจบ ต้องออกไปทำงานจริง จะทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่ว่าไปเจอคนต่อว่า แล้วจะเลิกทำ การเจอแรงกดดันบ้างก็ทำให้เราอดทนได้มากขึ้น” ต้นเล่า ประโยชน์จากการทำกิจกรรมยังส่งผลโดยตรงต่อการเรียนในสาขาวิชาพัฒนาชุมชน ที่ทีมงานสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้ เช่น การทำงานในชุมชนที่ต้องรู้จักชุมชน ศึกษาว่าใครจะเป็นผู้ประสานงานได้ดีที่สุด หรือการใช้ทักษะการจัดการ เป็นช่างเชื่อมประสานขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านจนงานสำเร็จ 

คำถามที่เคยถูกพี่ๆ ชวนคิดไว้ว่า ทำงานอย่างไรจึงจะไม่ฉาบฉวย ทำอย่างไรจึงจะสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนได้ โครงการที่เป็นเสมือนแบบฝึกหัด ให้เจอจริง เจ็บจริง แก้ปัญหาเอง เข้าใจ จนสุดท้ายได้ค้นพบคำตอบของคำถามที่ถูกท้าทายด้วยตัวเขาเอง รวมถึงยังได้โบนัสคือความกระจ่างชัดถึงบทบาทนักพัฒนาชุมชน ศาสตร์ที่เขามุ่งศึกษาเล่าเรียนพ่วงมาด้วยอีกรายการ


โครงการ : ต่อเติมสีแต้มใจน้อง

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์ศรีสุดาไชยวิจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ทีมทำงาน : นักศึกษาคณมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

( สุทธิชัย วรรณสิทธิ์ ) ( แสนภูมิ กล้าอยู่ ) ( ชญาศา ทองเทพ ) ( สูไฮลา สะหลำหมะ ) ( อภินันท์ นาคกลัด)