การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน บ้านท่างิ้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปลูกป่าปลูกใจ...สานสายใยชุมชน

โครงการมหัศจรรย์โลกยิ้ม คนสร้างป่า

“สิ่งที่อาจารย์สอนกับสิ่งที่เราเจอเองบางอย่างไม่เหมือนกัน เราเรียนแต่ทฤษฎี ไม่ได้ลงพื้นที่ หรือลงพื้นที่ก็ไม่ได้เจาะลึกขนาดนี้ การทำโครงการทำให้เราได้เรียนรู้ตั้งแต่การเขียนโครงการ การแบ่งบทบาทหน้าที่ การสร้างสัมพันธ์กับชุมชน ที่สำคัญคือ การใส่ใจต่อความต้องการของชุมชน มากกว่าการคิดให้ทำแทนโดยเราฝ่ายเดียว”

ประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นจากคำบอกเล่าของอาจารย์ กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ลูกศิษย์ก้าวเดินตามเส้นทางดังกล่าว เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หนุนเสริมให้สงขลาฟอรั่มดำเนินโครงการ

พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา จึงเป็นวาระที่อาจารย์เก๋-ศรีสุดา ไชยวิจารย์ เห็นเป็น “โอกาสดี” ที่ลูกศิษย์จะได้ลองสัมผัสบรรยากาศการทำงานเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง


จากห้องเรียนสู่ชุมชน

จ๋า-อังศณา มะเย็ง เฟิน-ณัฐากร แก้วศรี กิ๊ก-ชลิตา พรหมจรรย์ เมย์-ปิยนุช สาระภี และลีน่า-นุศรา สามารถกิจ นักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการมหัศจรรย์โลกยิ้ม คนสร้างป่า เพราะสนใจอยากเพิ่มประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชน แม้การเรียนในสาขาพัฒนาชุมชนจะทำให้พวกเธอมีโอกาสได้ลงพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนบ้างแล้วก็ตาม แต่เป็นการลงพื้นที่ภายใต้การเรียนในวิชาต่าง ๆ ที่ได้เข้าไปสัมผัสชุมชนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

“เรียนวิชาชุมชนต่างวัฒนธรรม ก็ลงพื้นที่ชุมชนซาไก ไปสังเกตการณ์ดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ไปร่วมกิจกรรมเฉย ๆ ไม่ได้เข้าไปทำกิจกรรมอะไร

”เฟินเล่าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ชุมชนที่ผ่านมา แม้จะสนใจอยากทำโครงการ แต่ยังเป็นความอยากบนความเข้าใจว่า ทำเพียงครั้งสองครั้งก็เสร็จ เป็นเรื่องง่าย ๆ เหมือนที่เรียนมา แต่พอได้ลงมือทำจริง “กระบวนการเรียนรู้” ครั้งนี้ยากกว่าที่คิด เพราะมีเงื่อนไขว่า เยาวชนต้องคิดเองและลงมือทำเอง โดยมีอาจารย์และพี่ๆ จากสงขลาฟอรั่มคอยเป็นพี่เลี้ยง 

“ตอนแรกพวกเราคิดจะทำเรื่องการป้องกันการกัดเซาะป่าชายเลน แต่พอวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียแล้ว เห็นว่าพื้นที่อยู่ไกล การเดินทางคงลำบาก และเราไม่มีรถส่วนตัวด้วย จึงเปลี่ยนโจทย์ใหม่” ทีมงานบอกเหตุผลการเปลี่ยนโจทย์และพื้นที่ทำโครงการ

จากนั้นทุกคนหาข้อสรุปร่วมกันว่า จะเลือกพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัย นั่นคือ ป่าชุมชนบ้านท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาเคยไปปลูกป่า แต่ปัจจุบันป่าเริ่มเสื่อมโทรม เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้เข้ามาดูแล ใช้ประโยชน์จากป่า แต่กลับพึ่งพาปัจจัยสี่จากภายนอกแทน ป่าใกล้บ้านจึงมีความหมายเพียงพื้นที่รกชัฏที่อาจจะมีอันตรายจากสัตว์มีพิษที่พาให้คนในชุมชนรู้สึกหวาดหวั่น 


ปูฐานความสัมพันธ์...เบิกทางสร้างความร่วมมือ

“การพิสูจน์ตนเองกับชาวบ้านเริ่มขึ้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน เพื่อให้ได้ใจกันก่อน เอาใจแลกใจ ทำให้เขาเชื่อใจ ด้วยการเข้าไปประชุมในหมู่บ้านกับเขาทุกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นความตั้งใจจริง” 

เป้าหมายในการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าที่ดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จึงเป็นเป้าหมายหลักของการทำงาน แต่การจะเริ่มต้นทำงานในพื้นที่ได้ ทีมงานต้องเข้าไปแนะนำตัวพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อขออนุญาต ในเบื้องต้นผู้ใหญ่บ้านเข้าใจว่า นักศึกษาจะมาทำงานในวิชาเรียน กว่าจะเข้าใจว่า งานนี้เป็นงานจิตอาสาไม่ได้ทำเพื่อเกรด ทีมงานจึงต้องเพียรพยายามอธิบายอยู่นาน ซึ่งระหว่างนั้นทีมงานก็เทียวเข้าเทียวออก เพื่อร่วมประชุมกับชาวบ้านในเวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกวันที่ 8 

“พยายามอธิบายว่า โครงการนี้มันต่างจากวิชาเรียน เพราะวิชาเรียนเราก็แค่ทำเอาคะแนน เอาเกรด แต่ครั้งนี้เราไม่ได้คะแนน เราอาสาเข้ามาทำ พยายามอธิบายอยู่นานเหมือนกันกว่าเขาจะเข้าใจก็ประมาณ 2 เดือนกว่า หลังจากนั้นเขาก็ช่วยเต็มที่” 

เมื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับชาวบ้านได้แล้ว ทีมงานจึงลงพื้นที่สำรวจป่าพบว่า ป่าแห่งนี้เป็นป่าชุมชนแห่งเดียวในอำเภอเมือง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ครอบคลุมหมู่บ้านเดียวคือบ้านท่างิ้ว ในป่ายังคงมีพืชสมุนไพร และเห็ด แต่ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะต่างเข้าไปทำงานในเมือง ป่าจึงถูกทิ้งให้รกร้าง สภาพดินแข็งไม่เหมาะกับการปลูกพืช  

“จากที่เราไปสำรวจ ดินแข็งมาก ไส้เดือนก็ไม่ค่อยมี รกมาก อยากให้คนในชุมชนเข้ามาดูแล แม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ไม่อยากให้เขาละทิ้งสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน อยากให้เขาเห็นคุณค่าของป่า นับวันป่ายิ่งหายากมากขึ้นทุกที บางหมู่บ้านไม่ได้มีป่าชุมชนแบบนี้ บ้านเราก็ไม่มีป่าชุมชนแบบนี้” จ๋าสะท้อนความในใจ ความหวังที่จะฟื้นฟูป่าหากทำเองก็คงไม่ยาก แต่ทีมงานหวังสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะเข้ามาช่วยกันดูแลรักษาป่าต่อไปในอนาคต แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาของชาวบ้านที่เคยเห็นนักศึกษาเข้ามาปลูกป่าแล้วก็ปล่อยทิ้ง จึงคิดว่า ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน การพิสูจน์ตนเองกับชาวบ้านจึงเป็นด่านแรกที่ทีมงานต้องผ่านให้ได้

จ๋าเล่าว่า การพิสูจน์ตนเองกับชาวบ้านเริ่มขึ้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน เพื่อให้ได้ใจกันก่อน เอาใจแลกใจ ทำให้เขาเชื่อใจ ด้วยการเข้าไปประชุมในหมู่บ้านกับเขาทุกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นความตั้งใจจริง เมื่อปูฐานความสัมพันธ์จนแน่นเฟ้นแล้ว การทำงานในขั้นตอนต่อไปคือ การฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ และบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ครั้งนี้ทีมงานลงแรงถางหญ้า ตัดเถาวัลย์ในบริเวณที่ แน่นรกให้โปร่งขึ้น

“ที่รกร้างก็ถางหญ้า ไม่ใช่ถางให้เตียน แต่ทำให้มันไม่รกมาก ที่คนไม่กล้าเข้าไปเพราะมันรก ช่วงที่เราไปทำแรก ๆ เราถางกันเอง ชาวบ้านเขาก็ถามว่าทำอะไร พอบอกเขาว่า มาพัฒนาป่า เขาก็มาช่วย” จ๋าบอกเล่าภาพการทำงาน 

จ๋าเล่าต่อว่า การจะตัดต้นไม้ในพื้นที่ ใช่ว่าจะสุ่มสี่สุ่มห้าทำ เพราะในนั้นอาจมีพืชสมุนไพร หรือต้นไม้ที่มีประโยชน์อยู่ด้วย จึงมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และปราชญ์ชาวบ้านที่รู้จักพืชในป่าเป็นอย่างดีเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา คอยช่วยบอกว่า ต้นไหนตัดได้ ต้นไหนตัดไม่ได้ ทีมงานทยอยปรับถางพื้นที่วันละนิดละน้อยตามกำลัง เพราะมีเวลาว่างแค่ช่วงบ่ายวันพุธ และวันเสาร์อาทิตย์

เมื่อถางเสร็จจึงเริ่มปรับปรุงสภาพดิน โดยใช้ความรู้ที่เคยทำโครงงานเรื่องศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายาง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรวิธีธรรมชาติ แต่เพื่อให้การทำงานเกิดผลจริงพวกเขาพากันกลับไปปรึกษาปราชญ์ชาวบ้านของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายาง เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการใช้ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงสภาพดิน 


เติมคุณค่าป่า จากความต้องการของชุมชน

ระหว่างทางของการทำงาน แม้ว่าทีมงานจะมีแนวคิดเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวและไม้ยืนต้นอยู่บ้างแล้ว แต่ก่อนจะทำงานทุกครั้งทีมงานจะต้องนำแนวคิดของกิจกรรมที่ออกแบบไว้ไปหารือร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกในชุมชน เช่น หากจะมีการปลูกป่าต้องการให้ปลูกพืชชนิดใดบ้าง และแหล่งพันธุ์พืชที่จะปลูกเสริมอยู่ที่ใดบ้าง 

“ถ้าเราไม่เข้าใจชาวบ้าน คิดนำไปให้อย่างเดียว โดยไม่ฟังความต้องการของเขา ก็จะเกิดผลกระทบขึ้นได้ภายหลัง เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ถ้าเราต่างฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน เขาเป็นผู้อาวุโส มีความถนัดของเขา เราถนัดอะไรก็เอาของเราของเขามาผสมประยุกต์ให้เข้ากันให้ได้”  “ตั้งใจปลูกพืชที่กินได้ เช่น ต้นอ้อดิบที่ใช้ทำแกงส้ม ต้นพลู พริก ตะไคร้ กระเพรา โหระพา ใบเตย เข้าไปปลูก 

เพราะถ้าเราปลูกไม้ยืนต้นที่ไปขอพันธุ์จากสำนักงานป่าไม้ ปลูกแล้วเขาก็จะทิ้งไว้อย่างนั้น การที่เราเอาพืชผักสวนครัวไปปลูก อย่างน้อยถ้าที่บ้านเขาไม่มี เขาก็มาหาได้จากตรงนี้ เขาก็จะได้มาช่วยดูแล เพราะระหว่างทางที่เดินเข้ามาถ้ารกเขาก็ต้องตัดต้องถางสักนิดสักหน่อย” จ๋าเล่าถึงกลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจในการดูแลป่า 

ผลจากการหารือ พืชที่ชาวบ้านไม่ต้องการจึงถูกตัดออก แล้วเพิ่มเติมในส่วนที่ชาวบ้านต้องการเข้ามา แม้ระหว่างการแลกเปลี่ยนจะมีการถกเถียงกัน ทีมงานก็พยายามอธิบายว่า เปลือกไม้กฤษณาเก็บขายได้ก็จริง แต่ต้องปีนขึ้นไปตอกเปลือกไม้ ซึ่งมีความเสี่ยง แต่เมื่อชาวบ้านยืนยันว่าอยากได้ ทีมงานก็ต้องยอมที่จะผสมผสานความต้องการของทั้งสองฝ่าย

“ถ้าเราไม่เข้าใจชาวบ้าน คิดนำไปให้อย่างเดียว โดยไม่ฟังความต้องการของเขา ก็จะเกิดผลกระทบขึ้นได้ภายหลัง เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ถ้าเราต่างฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน เขาเป็นผู้อาวุโส มีความถนัดของเขา เราถนัดอะไรก็เอาของเราของเขามาผสมประยุกต์ให้เข้ากันให้ได้” จ๋าเล่าถึงกลวิธีในการประนีประนอม

คำแนะนำของชาวบ้านที่ต้องการให้ปลูกไม้พะยูง และพืชสมุนไพรเพิ่มเติมถูกนำมาวางแผนในการปลูกป่าเพิ่ม ทีมงานประสานขอพันธุ์พืชสมุนไพรจากชาวบ้านในชุมชนซึ่งก็คว้าน้ำเหลว เพราะมีน้อยมาก เมื่อได้คำแนะนำเรื่องแหล่งสมุนไพร จึงออกค้นหาพันธุ์พืชจนพบแหล่งต้นไม้ในชุมชนบริเวณน้ำตกพรหมโลก และขอแบ่งปันหอบหิ้วใส่ถุงดำนำมาฟูมฟักในชุมชนรอการปลูก เพราะระยะเวลาในการปรับปรุงสภาพดินกว่าจะฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ก็ใช้เวลาร่วมเดือน

“ก่อนหน้านี้เราปรับสภาพดิน ขุดหลุม นำปุ๋ยน้ำหมักมารดรอไว้ก่อน เพื่อให้ดินชุ่มชื้น อุ้มน้ำ ช่วงนั้นเข้าไปรดน้ำทุกวันเป็นเวลาเดือนกว่า” ระหว่างรอความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน ทีมงานประสานขอพันธุ์ไม้ยืนต้นที่ชาวบ้านต้องการนำมาปลูกเพิ่มจากสำนักงานป่าไม้ ซึ่งโชคดีที่เมย์เคยฝึกงานอยู่ที่นั่น เมื่อยื่นเอกสารโครงการพร้อมทำเรื่องขอรับการสนับสนุน จึงได้รับการตอบรับอย่างดี ต้นกฤษณา พะยูง ราชพฤกษ์ รวมกันประมาณ 500 ต้นพร้อมหยั่งรากสู่ดิน

“บทเรียนการทำงานครั้งนี้มีความหมายมาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้การทำงานที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักวิธีการประนีประนอม และการเอาชนะใจชุมชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ และการพิสูจน์ตนเองด้วยการลงมือทำให้เห็นจริง”


บทเรียนหลากมิติ

กิจกรรมปลูกป่าร่วมกันของทีมงานนักศึกษาและชาวบ้านในชุมชนบ้านท่างิ้วผ่านไปอย่างราบรื่นในวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2557 เป็นกิจกรรมซึ่งเป็นบทพิสูจน์การยอมรับของชุมชนต่อทีมงาน หลังจากงานก้าวหน้าอย่างงดงาม บรรลุเป้าหมายของการทำงานที่ต้องการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูดูแลป่า หัวหน้าโครงการก็ล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แถมด้วยอาการติดเชื้อจนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลร่วมสัปดาห์

ผ่านบทเรียนความเจ็บป่วยเพราะไม่ระมัดระวังตนเอง แต่บทเรียนการทำงานครั้งนี้มีความหมายมาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้การทำงานที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักวิธีการประนีประนอม และการเอาชนะใจชุมชน ซึ่งจ๋าบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ และการพิสูจน์ตนเองด้วยการลงมือทำให้เห็นจริง 

“เราต้องลงมือทำให้เขาเห็น ไม่ใช่เข้าไปพูด ๆ แต่เราต้องทำก่อน ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า แม้เราจะไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เราก็ยังเห็นความสำคัญของป่า”  นอกจากประสบปัญหาด้านสุขภาพในช่วงท้ายของการทำงาน ระหว่างทางการทำงานที่ยังถางพื้นที่ไม่เสร็จ ด้วยสภาพอากาศฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ ไม่สามารถทำงานได้ การเดินทางก็ยากลำบาก ทำให้ทีมงานต้องเว้นระยะการทำงาน จนห่างหายไปจากชุมชมระยะหนึ่ง ทำให้ผู้คนในชุมชนต้องติดตามถามไถ่ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะถูกทิ้งเหมือนครั้งก่อนหรือไม่ เมื่อสภาพอากาศเป็นใจ จึงได้กลับเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ทีมงานต้องออกแรงง้อชุมชนอย่างหนัก

จ๋าบอกว่า พอเข้าไปถึง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านถามเลยว่า หายไปไหนกันหมดเลย โตแล้วนะ เดี๋ยวจะไม่ให้ทำนะ เราก็ต้องง้อ เข้าไปให้เขาต่อว่าถึงที่ ขอโทษและอธิบายว่า ที่เข้ามาไม่ได้เพราะอะไร ซึ่งโชคดีที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน ความไม่เข้าใจจึงคลี่คลายได้ในเวลาไม่นานนัก สำหรับความสัมพันธ์ของทีมงานนั้น จ๋าบอกว่า เพื่อนทุกคนไม่เคยทิ้งกันเลย แม้ว่าระหว่างการทำงานจะมีการทะเลาะถกเถียงกันบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำงานว่า จะทำอะไร อย่างไร หรือบางครั้งก็เพราะทำงานไปโดยไม่ได้ชำเลืองดูแผนงานที่วางไว้จนเกือบผิดแผน แต่การถกเถียงกันก็ผ่านไปได้ด้วยการยอมรับฟังกันและกัน 

ด้วยเห็นประโยชน์ของการทำโครงการที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน นั่นคือการได้ป่าชุมชมที่สมบูรณ์กลับคืนมาเป็นที่พึ่งด้านอาหาร อีกทั้งยังจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนอื่นด้วย เนื่องจากหมู่บ้านท่างิ้วเป็นหมู่บ้านเดียวที่มีป่าชุมชน และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช หรือเขตเมืองในยามแล้งจัด


ปลูกป่า...ปลูกใจ

เพราะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเองที่รู้สึกลึกซึ้งกับการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง “สิ่งที่อาจารย์สอนกับสิ่งที่เราเจอเองบางอย่างไม่เหมือนกัน เราเรียนแต่ทฤษฎี ไม่ได้ลงพื้นที่ หรือลงพื้นที่ก็ไม่ได้เจาะลึกขนาดนี้ การทำโครงการทำให้เราได้เรียนรู้ตั้งแต่การเขียนโครงการ การแบ่งบทบาทหน้าที่ การสร้างสัมพันธ์กับชุมชน ที่สำคัญคือ การใส่ใจต่อความต้องการของชุมชน มากกว่าการคิดให้ทำแทนโดยเราฝ่ายเดียว” จ๋าย้ำถึงผลที่ได้รับกับตัวเอง

“การทำโครงการทำให้เราได้เรียนรู้ตั้งแต่การเขียนโครงการ การแบ่งบทบาทหน้าที่ การสร้างสัมพันธ์กับชุมชน ที่สำคัญคือ การใส่ใจต่อความต้องการของชุมชน มากกว่าการคิดให้ทำแทนโดยเราฝ่ายเดียว”

จากความรู้สึกข้างต้น ทีมงานจึงคาดหวังว่า พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ของรุ่นน้องในสาขาวิชา โดยตั้งใจจะส่งต่อให้รุ่นน้องให้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนต่อไป รอยยิ้มของชุมชนเป็นรางวัลของการทำงานที่จ๋าและเพื่อน ๆ บอกว่า กินไม่ได้แต่ภาคภูมิใจมาก ยิ่งเห็นชาวบ้านให้ความสำคัญกับป่ามากขึ้น สิ่งที่เคยทิ้งไปให้เปล่าประโยชน์ ถูกรื้อฟื้นให้เป็นของส่วนกลางที่ทุกคนร่วมกันดูแลและใช้ประโยชน์ ระยะเวลาเพียง 6 เดือนแม้จะไม่นานมาก แต่ก็พอให้ทีมงานและชาวบ้านเห็นร่องรอยการฟื้นคืนความสมบูรณ์ของป่า แต่บรรยากาศที่ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านพากันไปดูแลป่าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องต่างหากที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ป่าชุมชน 

เกรดก็ไม่ได้ บ้านตัวเองก็ไม่ใช่ แต่การทำโครงการสร้างการเรียนรู้ในมิติของชุมชนที่มีเหลี่ยมมุมต่างจากที่เคยรับรู้ในห้องเรียน การได้สัมผัสชุมชนอย่างลึกซึ้งสร้างความรู้สึกผูกพัน การเห็นถึงความเชื่อมโยงจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำของชุมชนสู่มหาวิทยาลัย ก็ทำให้ทีมงานตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่าชุมชนบ้านท่างิ้วที่มีต่อตนเอง และรู้ว่า ตนเองเป็นพลังส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม


โครงการ : มหัศจรรย์โลกยิ้ม คนสร้างป่า

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์ศรีสุดา ไชยวิจารย์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ทีมทำงาน : นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชิ

( อังศณา มะเย็ง ) ( ชลิตา พรหมจรรย์ ) ( นุศรา สามารถกิจ ) 

( ณัฐากร แก้วศรี ) ( ปิยนุช สาระภี )