การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเยาวชนในชุมชนช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

คืนความสุขให้ชุมชนช้างกลาง

โครงการ ค.ส.ช. (คืนความสุขให้ชุมชนช้างกลาง)

สิ่งที่เราทำไป ทำให้น้อง ๆ ได้สำรวจตนเองกับความผูกพันที่มีอยู่ในชุมชน เมื่อรู้จักชุมชนมากขึ้น ก็เกิดความรักและเห็นคุณค่าของหมู่บ้านของเขา ทำให้เขามีพลังขึ้นมา นับเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จุดประกายจิตอาสาที่เขาจะได้ทำเพื่อสังคมต่อไปในวันข้างหน้า...เชื่อว่า การรู้ว่าชุมชนเขามีดี อย่างน้อยก็ทำให้เขาเกิดจิตสำนึก

เพราะเป็นเพื่อนร่วมหอพัก ที่เคยขับเคี่ยวแข่งขันกีฬากันมาตั้งแต่ปี 1 เมื่อชวนให้ร่วมทีมทำกิจกรรมในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา น้ำ-มุกดา มีเติม คณะนิติศาสตร์ กับ ด้อน-วิลันดา จิเหลา ดี้-สุกัญญา แอนิ่ม ปาล์ม-สุรีพร เพชรศรี และญา-มณิกา จิเหลา ซึ่งเรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จึงเป็นส่วนผสมที่ต่างแต่ลงตัว “วันนั้นเดินไปที่หอ เพื่อนถามว่า ทำกิจกรรมไหม ก็ตอบตกลงโดยไม่ได้คิดมาก เพราะปี 4 แล้ว มีเรียนแค่ 3 วิชา เวลาว่างจึงมีเยอะ” น้ำเล่าถึงการตกปากรับคำร่วมทีมอย่างง่าย ๆ

“โครงการแบบนี้ไม่ได้มีคะแนน ใช้ใจล้วน ๆ ส่วนตัวชอบลงพื้นที่ลุย ๆ ไม่ค่อยชอบอยู่นิ่ง วิชาเรียนก็มีลงพื้นที่อยู่บ่อย ๆ แต่ถ้าทำงานนี้เท่ากับว่าเราได้ฝึกฝนเพิ่มเติม” ดี้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการร่วมทีม แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการทำงานคือ อาจารย์เก๋-ศรีสุดา ไชยวิจารย์ ที่แนะนำว่า เป็นโอกาสหาประสบการณ์นอกมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้รู้จักชุมชน รู้จักเครือข่าย โดยมีเงื่อนไขการทำงานที่ทีมงานตกลงกันไว้คือ ต้องเลือกทำงานในพื้นที่ที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งในกลุ่มอาศัยอยู่ และต้องเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนจริงๆ 

ทีมงานต่างเสนอพื้นที่และประเด็นที่แต่ละคนสนใจ จนมาลงความเห็นว่าจะเลือกประเด็นและพื้นที่ที่น้ำนำเสนอทำโครงการค.ส.ช. (คืนความสุขให้ชุมชนช้างกลาง) เนื่องจากเด็กและเยาวชนในตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีค่านิยม และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน แต่งกายไม่เหมาะสม ตามเพื่อน อยากรู้อยากลอง ยกย่องบุคคลที่มีพฤติกรรมทางลบ และไม่สนใจวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน เพราะขาดการปลูกฝังที่ดีจากครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ทำให้เยาวชนบางส่วนไปใช้เวลาว่างอยู่กับเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ประกอบกับชุมชนไม่มีกิจกรรมที่ดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม แม้ในชุมชนจะมีทุนที่ดี เช่น วัดธาตุน้อย ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม แต่เยาวชนก็ไม่สนใจเข้าวัด หรือร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมใด ๆ 

แต่เมื่อร่างโครงการส่งไปที่สงขลาฟอรั่ม ก็ถูกตีกลับ เพราะไม่ได้ระบุกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ทำงาน พี่ๆ จากสงขลาฟอรั่มจึงเข้ามาจัดอบรมการเขียนข้อเสนอโครงการให้ เน้นให้พวกเราเรียบเรียง วิเคราะห์บริบทของพื้นที่ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และออกแบบกิจกรรมที่จะทำในโครงการ ซึ่งมีแผนที่จะให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชน สำรวจชุมชน และนำเสนอข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการคือ สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด ปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมของเยาวชน ด้วยการชักชวนน้อง ๆ กลุ่มเป้าหมายศึกษาเรื่องราวดี ๆ ในชุมชน โดยหวังว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของบ้านเกิดตนเอง 

“กิจกรรมระดมของดีในชุมชน ทำให้กลุ่มเป้าหมายพบว่า บ้านตนเองมีสิ่งดี ๆ มากกว่าที่เคยรับรู้ ข้อมูลที่รับรู้มาใหม่ กระตุ้นให้น้องบางคนสนใจจะตามไปดูสิ่งที่เพื่อนนำเสนอ ว่ามีอยู่จริงในชุมชนของตนเองหรือไม่ เพียงกิจกรรมแรกก็สามารถกระตุ้นต่อมความสนใจของเยาวชนได้ดี ทีมงานรู้สึกฮึกเหิม เฝ้ารอวันที่จะพาน้องๆ ลงไปสำรวจชุมชนในกิจกรรมต่อไปตามที่วางแผนไว้”

ความท้าทายระหว่างการทำงาน

การทำงานเริ่มต้นด้วยการประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนวัดจันดี ตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อขออนุญาตทำกิจกรรมกับน้องๆ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 3 เนื่องจากเห็นว่าเป็นวัยที่มีความเสี่ยงมากที่สุด แต่กว่าที่ทีมงานจะเริ่มทำงานกับกลุ่มเป้าหมายได้ต้องผ่านการประสานงานและนัดหมายหลายครั้ง เนื่องด้วยโรงเรียนมีกิจกรรมค่อนข้างมาก อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายก็มีภารกิจด้านการศึกษาที่ต้องสอบ O-NET จนในที่สุดครูผู้ดูแลอนุญาตให้น้องชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 30 คนเข้าร่วมกิจกรรม 

“เหตุผลที่พวกเราเลือกน้อง ๆ ชั้น ม. 2- ม. 3 เพราะเป็นวัยหัวโจกสุด ๆ เกเรสุด ๆ เราเลือกกลุ่มเป้าหมายแบบว่า ถ้าจะหรอย (เกเร) ก็มาหรอยกับเราให้ถูกทาง แต่สุดท้ายกลับได้น้อง ม. 2 และเป็นกลุ่มที่เรียบร้อยมาก” น้ำเล่าเหตุผลการเลือกกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อผิดแผนเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ทีมงานไม่ได้เลิกล้มความตั้งใจ ด้วยคิดว่า แม้เด็กที่มาร่วมกิจกรรมจะเป็นเด็กเรียบร้อย แต่ด้วยเป็นวัยเดียวกัน และเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับกลุ่มเด็กเกเร การปรับยุทธศาสตร์ให้เพื่อนชวนเพื่อนน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำงาน

กิจกรรมแรกที่ทำกับกลุ่มเป้าหมายคือ กิจกรรมสันทนาการและสร้างความสัมพันธ์ให้น้องได้รู้จักกัน พร้อมชักชวนให้น้อง ๆ รู้จักชุมชนตนเอง ผ่านการแบ่งกลุ่มคละสมาชิกจากแต่ละหมู่บ้าน ระดมของดีที่พบในชุมชนตนเอง แม้ว่าทีมงานจะศึกษาข้อมูลชุมชนมาก่อนแล้ว แต่เลือกที่จะไม่บอกกับน้องตรง ๆ “เราเลือกที่จะไม่ใช้วิธีการอบรมหรือสอนตรง ๆ เพราะนึกถึงตนเองว่า ถ้าต้องมานั่งฟังคงเบื่อ ดังนั้นแทนที่จะเอาอะไรไปใส่ให้น้อง เราก็สร้างเงื่อนไขให้น้องได้ค้นหาด้วยตนเองดีกว่า”

กิจกรรมระดมของดีในชุมชน ทำให้กลุ่มเป้าหมายพบว่า บ้านตนเองมีสิ่งดี ๆ มากกว่าที่เคยรับรู้ ข้อมูลที่รับรู้มาใหม่ กระตุ้นให้น้องบางคนสนใจจะตามไปดูสิ่งที่เพื่อนนำเสนอ ว่ามีอยู่จริงในชุมชนของตนเองหรือไม่ เพียงกิจกรรมแรกก็สามารถกระตุ้นต่อมความสนใจของเยาวชนได้ดี ทีมงานรู้สึกฮึกเหิม เฝ้ารอวันที่จะพาน้องๆ ไปสำรวจชุมชนในกิจกรรมต่อไปตามที่วางแผนไว้

แต่แล้วแผนที่วางไว้ก็ต้องสลาย เมื่อทีมงานประสานกับคุณครูผู้รับผิดชอบเพื่อนัดหมายการทำกิจกรรมครั้งต่อไปจึงพบว่า ภารกิจการเรียนการสอนของโรงเรียนไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ครั้นขออนุญาตจัดกิจกรรมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครูก็บ่ายเบี่ยงด้วยเหตุผลว่า หากให้นักเรียนมาร่วมกิจกรรม ครูก็ต้องมา ไม่ได้หยุดพักผ่อน ทำให้ทีมงานบางคนอารมณ์กรุ่นโกรธจนต้องเดินหนี คงเหลือแต่น้ำอยู่เป็นเพื่อนด้อนซึ่งเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องอดทนข่มใจหารือกับคุณครูต่อไป 

“ที่ยับยั้งใจไว้ได้ เพราะหมดแรง หมดกำลังใจ คือ รู้ตัวว่า ถ้ายังยืนอยู่ตรงนั้นคงเก็บกดไว้ไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นคนแรง เลยให้ด้อนเคลียร์ดีกว่า โครงการเราก็ดำเนินการมาหมดแล้ว อยู่ดีๆ ก็มาหยุดชะงักตรงนั้น” ดี้สารภาพถึงการจัดการความรู้สึกไม่พึงใจของตนเอง ขณะที่ด้อนเสริมว่า เธอก็สั่นเหมือนกัน จริง ๆ ตอนนั้นอยากร้องไห้มาก แต่ก็พยายามเสนอว่า วันนั้นได้ไหม วันนี้ได้ไหม แต่โดนปฏิเสธทุกข้อเสนอ ทีมงานทั้งหมดอยู่ในอาการจิตตก เดินกลับไปขึ้นรถ ต่างคนต่างพูดอะไรไม่ออก กำลังใจถูกทำลายสูญสิ้น ปล่อยให้เกิดภาวะสุญญากาศของการทำงานตลอด 2 สัปดาห์ต่อมา“เครียดมาก คิดว่าทำอย่างไรดี พาเพื่อนมาแล้วเจอปัญหาแบบนี้ กลับไปก็ถามด้อนว่า จะเอาอย่างไรต่อ ด้อนบอกว่า เดี๋ยวคุย ตอนนี้ยังไม่อยากคุย” น้ำในฐานะเจ้าถิ่นเล่าถึงความกังวลใจ ด้อนเสริมต่อว่า เงียบไป 2 วัน กว่าจะบอกอาจารย์เก๋ อาจารย์ก็บอกว่าค่อย ๆ คิด เดี๋ยวค่อยประสานงานใหม่ผ่านทางผู้ใหญ่บ้านก็ได้


มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “สร้างจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชนและความเป็นชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งสงขลาฟอรั่มจัดขึ้นที่ชุมชนคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นโอกาสที่เยาวชนแต่ละโครงการได้นำเสนอความก้าวหน้า และบทเรียนที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ปัญหาที่ทีมงานประสบพอเจอ ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อขอคำแนะนำ และมีข้อเสนอจากที่ประชุมให้ประสานงานกับวัด หรือชุมชนโดยตรง จุดประกายความหวังให้กับทีมงานอีกครั้ง รวมทั้งการกระตุ้นของป้าหนู ที่บอกว่า “ปัญหามันมีวิธีแก้ ถ้าคุณแก้ได้ คุณก็จะสามารถทำอะไรที่มันท้าทายได้อีกระดับ

“ด้วยอารมณ์โกรธที่ยังครุกรุ่น ทีมงานตั้งใจจะเข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อร้องเรียนข้อติดขัด แต่เมื่อได้คิดทบทวนถึงข้อดีข้อเสียว่าอาจจะสร้างผลกระทบทำให้น้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมเดือดร้อน หรืออาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนกับคุณครู ทีมงานจึงปฏิเสธทางเลือกนี้ และเลือกเดินหน้าโดยปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความพร้อมของทีมงาน” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บุคคลเบื้องหลังที่เป็นแรงผลักสำคัญให้ยังทำงานต่อคือ อาจารย์เก๋ เพราะไม่อยากให้อาจารย์ผิดหวัง ประกอบกับน้อง ๆ ที่มาทำกิจกรรมกับเราคอยถามไถ่มาทางเฟซบุ๊ก และไลน์อยู่ตลอด คือแรงใจที่ทำให้พวกเราก้าวต่อ

เมื่อมุ่งมั่นจะก้าวต่อไป ทีมงานระดมสมองออกแบบการทำงานใหม่ ครั้งแรก ๆ ด้วยอารมณ์โกรธที่ยังครุกรุ่น ทีมงานตั้งใจจะเข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อร้องเรียนข้อติดขัด แต่เมื่อได้คิดทบทวนถึงข้อดีข้อเสียว่าอาจจะสร้างผลกระทบทำให้น้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมเดือดร้อน หรืออาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนกับคุณครู ทีมงานจึงปฏิเสธทางเลือกนี้ และเลือกเดินหน้าโดยปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความพร้อมของทีมงาน 

“พวกเราคิดกันว่า จะจัดกิจกรรมอย่างไรให้มีคุณภาพมากที่สุด โดยเปลี่ยนมาเป็นการเดินรณรงค์แทน ซึ่งมันก็ไม่ได้แย่ เป็นทางเลือกหนึ่ง ทำให้เรารู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะดันทุรังทำกิจกรรมไปตามแผนเดิมทุกอย่าง เราก็เปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ แม้จะผิดแผน แต่ยังได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” ด้อนเล่าถึงการปรับวิธีการทำงาน

การวางแผนการทำงานในครั้งนี้ ทีมงานประสานงานกับผู้ใหญ่บ้าน โดยขอจัดกิจกรรมที่วัด และปรับกิจกรรมให้กระชับมากขึ้น เพราะเวลาเหลือน้อย ไม่สามารถจัดกิจกรรมสำรวจชุมชนได้ จึงปรับเปลี่ยนโดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านที่มีภูมิรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนมาให้ข้อมูลกับน้อง ๆ แทน และครั้งนี้ทีมงานได้ประสานงานกับตัวแทนของน้องโดยตรง

“ใช้การประชุมทางโทรศัพท์ มีน้องหนึ่งเป็นตัวแทนน้อง ๆ ในโรงเรียน เพราะต้องหาข้อสรุปร่วมกัน ถามทุกคนว่าจะทำอะไร อย่างไร ให้น้องร่วมวางแผนด้วย เพื่อให้น้องรับรู้ว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง และตรงกับความต้องการของน้องหรือไม่ ต้องเอาน้องเป็นตัวตั้ง แล้วเราค่อยปรับแผนตามน้อง” ดี้เล่าถึงวิธีการทำงานร่วมกับน้องๆ  “น้องมีข้อเสนอว่า อยากให้การเรียนรู้เป็นแบบสบายๆ ไม่เครียด และขอให้กิจกรรมเสร็จภายในบ่ายสามโมง” น้ำบอก

การเตรียมตัวจัดกิจกรรมครั้งใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก ทีมงานประสานปราชญ์ชาวบ้านเพื่อเตรียมข้อมูลที่จะถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ประวัติความเป็นมาของชุมชน สถานที่สำคัญในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรมและวันสำคัญต่างๆ ของชุมชน เป็นต้น

พร้อม ๆ กันนั้นก็มีการประสานงานกับน้องเพื่อขอรายชื่อคนที่จะมาร่วมกิจกรรม น้ำทำหน้าที่ประสานงานกับผู้ปกครองของน้อง ๆ ถึงบ้านเพื่อขออนุญาตให้มาร่วมกิจกรรม ในวันที่จัดกิจกรรมกลุ่มเป้าหมายที่เดิมมี 30 คน แจ้งความจำนงเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 13 คน แต่มีน้อง 3 คนที่มาถ่ายภาพกับป้ายงานแล้วกลับเลย จึงเหลือน้อง ๆ ที่ร่วมกิจกรรมเพียง 10 คน 

“เจอน้อง ๆ ทำแบบนี้ เราก็พูดอะไรไม่ออก ก็ได้แต่มองหน้ากันว่า มีแบบนี้ด้วยเหรอ แต่ก็ไม่ได้เสียกำลังใจ เพราะคิดเสียว่าเป็นการคัดกรองคนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจริง ๆ ” ดี้เล่าอย่างติดตลก กิจกรรมภาคเช้าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนจากปราชญ์ชาวบ้าน ทีมงานแนะนำให้น้อง ๆ จับประเด็นสำคัญจากเรื่องราวที่ปราชญ์ชาวบ้านเล่า โดยเน้นให้น้องได้รู้จักชุมชน รู้ปัญหา และนำเสนอวิธีแก้ปัญหา แล้วนำมาจัดทำเป็นสื่อในช่วงบ่าย โดยใช้รูปแบบของเครื่องมือศึกษาชุมชน เช่น ปฏิทินประเพณี วัฒนธรรมชุมชน แผนที่เดินดิน ฯลฯ ก่อนที่จะพากันนำสื่อที่สร้างสรรค์เดินรณรงค์สื่อสารในชุมชนตั้งแต่ตลาดจนถึงสถานีรถไฟ


ประสบการณ์สร้างทักษะชีวิต

นอกจากการเดินรณรงค์ สื่อสารในวันที่จัดกิจกรรมแล้ว น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ขอสื่อที่สร้างสรรค์ร่วมกันกลับไปด้วย เพราะอยากนำไปนำเสนอในกิจกรรมหน้าเสาธง ว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาได้ไปเรียนรู้อะไรมาบ้าง ซึ่งสิ่งที่น้อง ๆ คิดทำก็เข้าทางที่ทีมงานคิดไว้ คืออยากให้น้อง ๆ เป็นกระบอกเสียงเผยแพร่เรื่องราวของชุมชน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน 

“สิ่งที่เราทำไป ทำให้น้อง ๆ ได้สำรวจตนเองกับความผูกพันที่มีอยู่ในชุมชน เมื่อรู้จักชุมชนมากขึ้น ก็เกิดความรักและเห็นคุณค่าของหมู่บ้านของเขา ทำให้เขามีพลังขึ้นมา นับเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จุดประกายจิตอาสาที่เขาจะได้ทำเพื่อสังคมต่อไปในวันข้างหน้า” ด้อนเล่า “เชื่อว่า การรู้ว่าชุมชนเขามีดี อย่างน้อยก็ทำให้เขาเกิดจิตสำนึก” ดี้สะท้อน

เมื่อมองย้อนกลับไปในวันวาน ทีมงานบอกว่า ประสบการณ์จากการทำงานทำให้พวกเธอเติบโต การได้รู้จักแก้ไขสถานการณ์ ตั้งแต่การได้กลุ่มเป้าหมายไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ หรือการถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี “ความตั้งใจแรกที่จะเปลี่ยนน้องที่เกเรให้หันมารักบ้านเกิด ลดพฤติกรรมเสี่ยง แต่พอทำจริง เราได้เด็กเรียบร้อยมาร่วมกิจกรรม ก็พยายามสร้างให้เด็กเรียบร้อยทำงานเป็น และเป็นแกนนำในการสื่อสารกับเพื่อนๆ ต่อไป” ด้อนเล่า

กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่น้ำสะท้อนว่า รู้จักน้อง ๆ เยาวชนในชุมชนมากขึ้น จากแค่เคยเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา ก็ได้รู้จักชื่อ ได้สัมผัสการทำงานร่วมกัน จนให้เกิดความแน่นเฟ้นมากขึ้น การได้ลงมือทำเป็นประสบการณ์ที่มีค่า ทีมงานตระหนักลึกซึ้งถึงความเป็นธรรมชาติของชีวิตว่า “ชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่เราคิด มันไม่ได้สวยงามอย่างแผนที่เราวางไว้ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่า เราจะรับมือกับมันอย่างไร” แต่เมื่อผ่านพ้นมาได้ ประสบการณ์และบทเรียนที่เกิดจากการลงมือทำ และแก้ปัญหาจึงกลายเป็นทักษะติดตัวที่จะคงอยู่กับแต่ละคนตลอดไป 


โครงการ : ค.ส.ช. (คืนความสุขให้ชุมชนช้างกลาง)

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์ศรีสุดา ไชยวิจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ทีมทำงาน : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

วิลันดา จิเหลา ) ( สุรีพร เพรชศรี ) ( มณิกา จิเหลา ) 

( มุกดา มีเติม ) ( สุกัญญา แอนิ่ม )