การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เรื่องสิทธิชุมชนชายฝั่ง จังหวัดสงขลา

เส้นทางสร้างนักกฎหมายเพื่อสังคม

โครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน


“การทำงานโครงการนี้ เหมือนกับเราได้ไปทำงานด้านกฎหมายจริง ๆ เพราะในอนาคตการที่เราเป็นนักกฎหมาย เราต้องช่วยประชาชน ต้องลงไปศึกษาประชาชน ว่ามีปัญหาอะไร และเราจะช่วยอะไรได้บ้าง ถือเป็น “กำไร” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการเป็นนักกฎหมายก่อนเพื่อน”…บทเรียนที่ได้รับรู้และลงมือทำเปลี่ยนมุมมองจากสายตานักท่องเที่ยวสู่มุมมองของคนหวงแผ่นดิน จากมุมมองผ่านแว่นของนักกฎหมายสู่มุมมองผ่านแว่นนักสังคม จากที่เคยยึดมั่นความคิดตัว ก็ได้ยินเสียงของคนอื่นมากขึ้น

สถานภาพนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย แค่เรียนอย่างเดียวก็ยากแล้ว เพราะตำรากฎหมายที่ต้องท่องจำมีไม่ใช่น้อย แต่เพราะสนใจต่อความเป็นไปของบ้านเมืองและมีพื้นฐานจากการทำงานกับกลุ่ม Beach for Life มาก่อน ทำให้ ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ สนใจงานขับเคลื่อนธรรมนูญหาดสมิหลา ด้วยการต่อยอดการทำโครงการเพื่อคุ้มครองหาดทรายในมิติของกฎหมาย ซึ่งตนกำลังศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ฝนจึงเชิญชวนเพื่อนร่วมชั้นปี ทำโครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน

­

นักกฎหมายสัมผัสชายหาด...ปลุกสำนึกมาตุภูมิ

ฝนบอกเล่าจุดเริ่มต้นการทำโครงการว่า การทำงานของ Beach for Life ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตนค้นพบว่า ยังไม่มีกฎหมายหาด จึงอยากเข้ามาทำเรื่องนี้ ประกอบกับอยากขับเคลื่อนธรรมนูญที่ Beach for Life ประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมาให้เกิดกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม โดยทำงานเชื่อมประสานกับกลุ่ม Beach for Life ซึ่งขับเคลื่อนผ่านการเก็บข้อมูลชายหาด ส่วน Law Long Beach ขับเคลื่อนผ่านการเก็บข้อมูลด้านกฎหมาย เพื่อร่วมแรงกันในการปกป้องหาด

แต่การหาเพื่อนร่วมทีมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเพื่อนร่วมชั้นปีไม่เคยทำงานแบบนี้ และไม่เคยรู้จักหาดทรายอย่างลึกซึ้งเท่าเธอ ฝนจึงขอให้ทีม Beach for Life จัดทริปเรียนรู้เรื่องหาดทรายเพื่อให้เพื่อน ๆ ร่วมชั้นปีได้สัมผัสกับสถานการณ์ปัญหาด้วยตนเอง เป็นการฟอร์มทีมใหม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องหาดทราย ก่อนที่จะได้ทีมงานซึ่งประกอบด้วย เป้-อัษราพงศ์ ฉิมมณี หงส์-กชมา อุดมศิลป์ อ๋อมแอ๋ม-จิรนันท์ จินดา อัน-ชมพูนุช กิจธิคุณ และ หยง-เกษราภรณ์ เกียรติเฉลิมลาภ

เมื่อต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ฝนในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำโครงการมาก่อน จึงพยายามหลอมรวมการทำงานของทีมด้วยการพาทีมงานทั้ง 5 คนเรียนรู้เรื่องหาดอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศหาด และการพังทลายของหาดสงขลากิจกรรมมีทั้งการประชุมพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ฟังบรรยาย ดูภาพถ่าย และสำรวจหาด โดยให้น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี เป็นวิทยากร พาเรียนรู้ตั้งแต่ชุมชนเก้าเส้งไปจนถึงเขาตังกวนเพื่อให้เห็นภาพรวม ใครมีข้อสงสัยก็ถามได้ตลอดเวลา จากนั้นจึงมาร่วมวัดหาดกับน้องกลุ่ม Beach for Life เพื่อให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เชื่อเพราะเธอบอกหรือน้ำนิ่งบอก แต่เชื่อจากการได้ลงมือวัดหาดด้วยตัวเอง

เป้ ซึ่งตัดสินใจเข้าร่วมทีม หลังจากได้รับรู้ถึงปัญหาจากการเรียนรู้ครั้งนี้สะท้อนว่า ตอนแรกที่ฝนชวนทำโครงการ ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีการทำงานของกลุ่ม Beach for Life แต่เมื่อได้มาสัมผัสจึงรู้ว่า การที่หาดทรายถูกกัดเซาะไม่ได้มีสาเหตุจากธรรมชาติ แต่มีสาเหตุที่ลึกและซับซ้อนกว่านั้น จึงสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

“ตอนแรกที่ยังไม่รู้ว่าหาดพังเพราะอะไร ผมยังค้านอยู่ในใจว่า บ้าหรือเปล่ามาต่อสู้กับธรรมชาติ หาดมันพังเพราะน้ำทะเล แต่พอมารู้ตอนน้ำนิ่งเฉลยว่า ที่จริงมันพังเพราะมีสิ่งก่อสร้างมากีดขวางธรรมชาติ หาดจึงถูกกัดเซาะออกไปเรื่อย ๆ ทำให้เรามองหาดทรายในมุมที่แตกต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนเรามองในมุมนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเรารู้ว่าหาดทรายถูกกัดเซาะไปเพราะอะไร ทำให้เราอยากรักษาดูแลมากขึ้น ไม่อยากให้บริเวณนี้ถูกทำลายไป และไม่อยากให้คนที่อยู่แถวนี้ หรือคนที่อยู่หลังหาดทรายไม่มีที่อยู่” เป้เล่าถึงมุมมองของตนที่เปลี่ยนไป

“เห็นหาดทุกวัน จนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นเหมือนวิวของบ้าน ตอนที่ฝนชวนให้มาทำเรื่องหาดสงขลา ได้ยินแค่คำว่า “หาด” ก็จะมาทำแล้ว”

เช่นเดียวกับหงส์ที่บอกว่า บ้านเธออยู่เกาะยอ แต่ก็ได้เห็นว่าบางครั้งหาดทรายก็หายไป บางครั้งหาดทรายก็เพิ่มขึ้น แรก ๆ คิดว่า เป็นเพราะผลกระทบจากโลกร้อน แต่เมื่อได้มาเรียนรู้กับกลุ่ม Beach for Life จึงสนใจอยากเข้ามาศึกษาปัญหาที่แท้จริง โดยหวังว่าจะใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายมาช่วยเพื่อนแก้ไขปัญหา

ด้านอ๋อมแอ๋ม เล่าว่า ตัดสินใจเข้าร่วมทีมเพราะอยากใช้เป็นโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ในมหาวิทยาลัย อีกทั้งในฐานะที่เป็นคนสงขลา เคยเห็นหาดสมิหลามาตั้งแต่เด็ก รับรู้ว่าหาดทรายมีการเปลี่ยนแปลงไปจริง ๆ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลหาดทราย

ส่วนอันเล่าว่าเธอเป็นเด็กเมืองสงขลา ผ่านหาดทุกวัน เห็นตั้งแต่สมัยอนุบาลที่หาดยังยาวและลึก แต่พอสมัยมัธยมศึกษาก็คุยกับพ่อว่ามันร่นขึ้นมาถึงถนนแล้วนะ เห็นหาดทุกวัน จนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นเหมือนวิวของบ้าน ตอนที่ฝนชวนให้มาทำเรื่องหาดสงขลา ได้ยินแค่คำว่า “หาด” ก็จะมาทำแล้ว แต่ไม่รู้ว่าต้องนำมาผนวกกับกฎหมายที่เรียนด้วย ก็ยากพอสมควร อันเคยได้ยินเรื่อง Beach for Life เหมือนกัน แต่ไม่ได้รู้จักฝนเป็นการส่วนตัว จนมาอยู่คณะเดียวกัน

สำหรับ หยง มองว่า การทำโครงการเป็นอะไรที่ใหม่และน่าลอง แต่ก็ยังมีความรู้สึกเฉย ๆ กับสถานการณ์ปัญหา เพราะที่ผ่านมามองหาดทรายในมุมมองของนักท่องเที่ยว แต่เมื่อได้ลงเรียนรู้กับทีม Beach for Life จึงเข้าใจกระบวนการของการกัดเซาะชายหาดมากขึ้น ความรู้ใหม่ที่ได้รับรู้ ได้สั่นสะเทือนความรู้สึกให้อยากช่วยแก้ไข

“ตอนลงหาดครั้งแรกทำให้เข้าใจถึงกระบวนการกัดเซาะชายหาดมากขึ้น จากที่เราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย พอได้ไปลงสัมผัสจริง ทำให้รู้สึกกระตือรือร้น อยากทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ สงขลาเป็นบ้านเรา สมิหลาเป็นหาดที่อยู่กลางใจเมือง ถ้าเรารักษาหาดไว้ ก็เหมือนเรารักษาแผ่นดินของตนเอง มันมีความรู้สึกอย่างนั้น”

“...เมื่อได้ลงสัมผัสกับพื้นที่จริง ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้นึกถึงเรื่องที่อาจารย์กฎหมายเคยบอกว่า กฎหมายกับสังคมมันอยู่ด้วยกัน เราต้องเข้าใจชาวบ้านด้วย”

ชายหาดและชุมชน...ห้องเรียนมีชีวิตของว่าที่นักกฏหมาย

กระบวนการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงก่อนเขียนโครงการทำให้ทีมงานมี “ความเข้าใจใหม่” หลายด้าน ทั้งด้านระบบนิเวศ สาเหตุของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และรับรู้มิติทางสังคมที่มีผลต่อการตัดสินใจในฐานะนักกฎหมายในอนาคตด้วย เพราะการได้ลงสัมผัส พูดคุยกับคนในชุมชนเก้าเส้ง ซึ่งเป็นชุมชนชายฝั่งทำให้ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตและความจำเป็นในการดำรงชีพ ทำให้สามารถเชื่อมโยงกับการเรียนนิติศาสตร์ ที่ต้องเข้าใจกฎหมายและเข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคมมากขึ้น

“จากที่ขับรถผ่านทุกวัน เห็นเพียงแค่วิวของหมู่บ้านเฉย ๆ แต่เมื่อได้ลงสัมผัสกับพื้นที่จริง ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้นึกถึงเรื่องที่อาจารย์กฎหมายเคยบอกว่า กฎหมายกับสังคมมันอยู่ด้วยกัน เราต้องเข้าใจชาวบ้านด้วย” อัน สะท้อนความรู้สึก

ขณะที่ฝนเสริมว่า ที่พาลงเก้าเส้งเพราะคิดว่าถ้าเพื่อนรู้ปัญหาว่าหาดถูกกัดเซาะเพราะอะไรเพื่อนจะต้องเสนอให้รื้อโครงสร้างแข็งแน่ ๆ ก็เลยพาไปให้เห็นอีกว่าทำไมจึงรื้อไม่ได้ง่าย ๆ ให้ลองไปพูดคุยกับชาวบ้านดูว่าพื้นที่ที่เขาอยู่เมื่อเกิดการกัดเซาะแล้ววิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร ชาวบ้านเขาก็เล่าด้วยความภูมิใจมากว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้เขื่อนมาในขณะที่เขื่อนก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หาดถูกกัดเซาะ ให้เพื่อนเกิดคำถามในใจว่าชาวบ้านเขาภูมิใจกับเขื่อน ให้เพื่อนลองคิดดูว่า บ้านเขาอยู่ตรงนี้ ชาวบ้านคิดอย่างนี้ แล้วเราต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร มันเป็นอีกมุมที่เราต้องไปสัมผัสจริง มันไม่ได้จบแค่คำว่า “รื้อ” โครงสร้างแข็ง แต่มันอยู่ที่ว่าจะ “รื้ออย่างไร” ที่ไม่กระทบชาวบ้าน

“ก่อนหน้าที่จะพาเพื่อนไปชุมชนเก้าเส้งเราลงไปในชุมชนก่อน บอกเขาว่าพรุ่งนี้จะพาเพื่อนมานะ แต่เราบอกเพื่อนว่า จะพามาพูดคุยกับชาวบ้านว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไร” ฝนเล่าเบื้องหลังการทำงาน

เรียนรู้กฎหมายชายหาด

ความเข้าใจใหม่ของทีมโดยเฉพาะมิติเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเขียนข้อเสนอโครงการ จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายว่าจะทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นมาตรการทางกฎหมาย เพราะได้ทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ของประเทศไทย พบว่า ยังไม่มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองหาดทรายโดยตรง แต่ระหว่างทางของการพัฒนาข้อเสนอโครงการ มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 (พรบ.ทช.) ทีมงานจึงเกิดอาการ “งง” ว่าจะทำอะไรต่อไป เพราะ พรบ.ทช.วัตถุประสงค์คือ ส่งเสริมให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองหาดโดยตรง แต่ในเนื้อกฎหมายไม่มีรายละเอียดว่า ชุมชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ร่วมทำอะไรได้บ้าง และไม่มีนิยามว่าชุมชนชายฝั่งคืออะไร

เมื่อเห็นช่องว่างของ พรบ.ทช. เช่นนี้ ทีมงานจึงปรับเป้าหมายโครงการใหม่ เป็นการสร้างความชัดเจนของคำว่า “ชุมชนชายฝั่ง” แทน โดยมองว่าหากสามารถนิยามคำว่า “ชุมชนชายฝั่ง” ได้ชัดเจน ก็จะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนงานของ Beach for Life ที่มีเป้าหมายในการทำข้อเสนอระยะถอยร่นในปีถัดไปได้

ด้วยเหตุนี้ แผนงานของโครงการต่อจากนี้จึงประกอบด้วย การเรียนรู้เรื่องกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องกฎหมายหาด และชุมชนชายฝั่ง ทีมงานจึงเริ่มต้นทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีงานวิจัยของอาจารย์เอ-ธีรวัฒน์ ขวัญใจ ที่ปรึกษาโครงการเป็นแหล่งข้อมูลชี้เป้ากฎหมายที่ต้องทำการวิเคราะห์

“พอทำจริง ๆ มันติดตอนหาความรู้เรื่องกฎหมาย เพราะเราคิดว่ามันง่ายเกินไปที่จะดูแค่งานวิจัยของอาจารย์ และงานวิจัยของอาจารย์ทำให้เรารู้แค่ปัญหากฎหมายหาดในประเทศไทยเท่านั้น” ฝนเล่าถึงอุปสรรคที่พบเจอในด่านแรก

ระหว่างทางของการควานหาเป้าหมาย ทีมงานเต็มเปี่ยมไปด้วยไฟในการทำงาน ต่างหันหน้าปรึกษากันเองและปรึกษาอาจารย์ จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ต้องใช้เป้าหมายในการขับเคลื่อนงานเป็นตัวตั้ง แล้วจึงศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อมูลสนับสนุน ทำให้สามารถจำกัดกฎหมายที่จะศึกษาเหลือเพียง 5 ตัวคือ พรบ.ทช. พรบ.สิ่งแวดล้อม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับ EIA ประกาศกระทรวงทรัพยากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

การทบทวนกฎหมายต่างๆ แกนนำได้ชักชวนเพื่อนทั้งในและต่างคณะอีก 15 คน มาร่วมกันศึกษาข้อกฎหมาย ด้วยคิดว่า การชวนเพื่อนต่างสาขาวิชาเข้าร่วมเรียนรู้ตั้งแต่แรกจะทำให้ทีมงานรู้ว่าต้องสื่อสารภาษากฎหมายอย่างไรให้คนที่อยู่ต่างแวดวงเข้าใจได้ โดยจัดเป็นรูปแบบสนทนากลุ่ม (Focus group) ให้เพื่อนร่วมกันศึกษา พรบ.ทช. ซึ่งมีกรอบในการศึกษาคือ สาระสำคัญและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ข้อดี ข้อเสีย และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นๆ

“ตอนออกแบบเราคิดว่า มันคงไม่เครียดหากทำเป็นโฟกัสกรุ๊ป ตอนเช้าแยกกันค้นคว้าข้อกฎหมาย ตอนเย็นเอากฎหมายมาดูด้วยกัน แต่เมื่อต้องลงมือทำเอง พอมีคำถามหรือข้อสงสัย ก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะรู้เท่า ๆ กัน กลายเป็นว่า มีข้อสงสัยค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น” ฝนเล่า

เมื่อพบอุปสรรคด่านที่ 2 ทำให้ทีมงานต้องเชิญอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเข้าร่วมกระบวนการวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งไม่ได้มีกฎหมายเพียงตัวเดียวที่เกี่ยวข้อง แต่มีทั้ง พรบ.สิ่งแวดล้อม กฎหมาย EIAระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และกฎหมายแต่ละตัวก็มีกฎหมายเกี่ยวข้องพ่วงตามมาอีก แม้ว่าจะมีอาจารย์ช่วยอธิบาย แต่ด้วยความเครียดที่หมกมุ่นอยู่กับการวิเคราะห์ตลอดทั้งวัน ทำให้ทีมงานต่างอยู่ในอาการสติสัมปชัญญะหลุดลอยกันถ้วนหน้า

“พออาจารย์เข้ามาอธิบาย พวกเราก็ลอยกันหมดแล้วในตอนเย็น คือ เพื่อนเครียด แต่เพื่อนไม่บอก เราก็จัดแบบนี้ต่อไป เพราะเราคุ้นอยู่คนเดียว” ฝนเล่าถึงบรรยากาศการทำงานอย่างเข้มข้นที่เพื่อน ๆ ไม่คุ้นชิน

โดยมีเป้เสริมว่า กฎหมายตัวหนึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจนานมาก อย่างเราเรียนกันในห้องเรียน กฎหมายแต่ละมาตราเราใช้เวลาตลอดทั้งชั่วโมง หรือสองชั่วโง แต่พอเราทำโฟกัสกรุ๊ปกฎหมาย 20-30 มาตรา เราใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง

แม้จะอยู่ในอาการเลื่อนลอยเพราะหมดแรง ทีมงานก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นของทีมงานคือ ช่องว่างของกฎหมาย โดยกฎหมายแต่ละตัวต่างถูกเขียนให้ครอบคลุม ให้มีการตีความ ซึ่งช่องว่างของกฎหมายมีทั้งโอกาสและข้อเสีย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตีความในการปรับใช้

อย่างไรก็ตาม ทีมงานได้บทเรียนจากการทำโฟกัสกรุ๊ปว่า การวิเคราะห์กฎหมาย ไม่ควรเน้นกฎหมาย แต่ควรเน้นประเด็นที่เราอยากรู้ โดยต้องดูว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร ข้อดีของกฎหมายคืออะไร

­

นิยามความหมาย “ชุมชนชายฝั่ง”

“ทีมงานเลือกใช้โจทย์ของการทำงานเป็นตัวตั้ง แล้ววิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามโจทย์นั้น คำถามในการวิเคราะห์รอบนี้จึงเป็นเรื่องว่า หาดสมิหลาเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ทำไมถึงเป็น เป็นอย่างไร หาดทรายสามารถโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของใครได้หรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ การใช้ประโยชน์พื้นที่หาดทรายของประชาชนทำได้อย่างไรบ้าง และคำถามสำคัญคือ ถ้าหาดทรายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร ใครทำหน้าที่คุ้มครอง”

บทเรียนจากการจัดกิจกรรมทั้ง 2 ครั้ง นำมาสู่การออกแบบเวทีครั้งที่ 3 โดยครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษากฎหมายในประเด็นที่ต้องการรู้ เช่น สถานะของหาดทรายคืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีมงานมีความรู้อยู่บ้างแล้ว ประกอบกับการที่ทีมงานค้นคว้าหาเอกสารประกอบการสอน และบทความที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา จึงทำให้การวิเคราะห์ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องราบรื่นกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา

“ครั้งนี้สนุก เพราะเป็นเรื่องที่เราพอมีความรู้อยู่บ้าง เรื่องพวกนี้มีตำราอธิบายอยู่ค่อนข้างเยอะ พอมันเป็นเรื่องที่เรารู้บ้าง เมื่อมีข้อสงสัยเราก็พอจะถกเถียงกันได้” ฝนอธิบาย

การออกแบบกิจกรรมตอบโจทย์การทำงานมากขึ้น เพราะทีมงานเลือกใช้โจทย์ของการทำงานเป็นตัวตั้ง แล้ววิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามโจทย์นั้น คำถามในการวิเคราะห์รอบนี้จึงเป็นเรื่องว่า หาดสมิหลาเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ทำไมถึงเป็น เป็นอย่างไร หาดทรายสามารถโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของใครได้หรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ การใช้ประโยชน์พื้นที่หาดทรายของประชาชนทำได้อย่างไรบ้าง และคำถามสำคัญคือ ถ้าหาดทรายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร ใครทำหน้าที่คุ้มครอง

“บรรยากาศครั้งที่ 3 ดีขึ้น ไม่เครียด พอไม่เครียดก็คิดได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เราสามารถเรียนรู้โดยไม่กดดัน เมื่อไม่รู้สึกกดดัน ข้อมูลที่ได้มันก็เยอะกว่าเดิม สามารถตอบคำถามได้มากกว่าเดิม” เป้สะท้อนถึงบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

การที่ได้ร่วมกันทบทวนกฎหมาย ทำให้ทีมงานค้นพบแนวทางการทำโครงการชัดเจนมากขึ้น และได้เรียนรู้ว่า เรื่องที่ทำเป็นเหมือนการลองผิดลองถูก เพราะแม้กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาเองก็เรียนรู้ไปพร้อมกับทีมด้วย เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงไม่มีแนวทางที่จะให้ศึกษาได้ เมื่อมุ่งเน้นไปที่การนิยามคำว่า “ชุมชนชายฝั่ง” ซึ่งเป็นช่องว่างที่ พรบ.ทช. นิยามไว้กว้าง ๆ ซึ่งการกำหนดนิยามคำ ๆ นี้ทีมงานเลือกที่จะเก็บข้อมูลจากชุมชนให้มากขึ้น แผนงานที่คิดว่าจะศึกษาข้อกฎหมายและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย แล้วจัดเวทีประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จึงถูกปรับเป็นเวทีย่อย ๆ ในชุมชนบริเวณชายฝั่งหลายแห่ง หลาย ๆ ครั้ง เพื่อร่วมกันกำหนดนิยาม

“ถ้าต้องเก็บข้อมูล เราต้องทำเป็นฐานข้อมูลที่ไม่ใช่แค่กฎหมายแต่ต้องเป็นเรื่องทางสังคมด้วย ที่เราวางไว้คือ เราทำเรื่องชุมชนชายฝั่ง เราต้องเข้าไปคุยกับคนในชุมชนหลาย ๆ ครั้งว่าเขาใช้ประโยชน์จากชายหาดอย่างไร เขารู้ไหมว่าเขาเป็นชุมชนชายฝั่ง ถือเป็นการหาข้อมูลจากชาวบ้านและรับฟังชาวบ้านไปด้วยพร้อมกัน เพื่อหานิยามคำว่า “ชุมชนชายฝั่ง” ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเป้าหมายโครงการยังคงเดิม เพียงแต่เปลี่ยนกระบวนการทำงานเท่านั้น” ฝนเล่าถึงการปรับเปลี่ยนแผนงาน

ขณะที่เป้เสริมว่า เรื่องที่เราจะทำต่อไปคือเรื่องชุมชนชายฝั่งซึ่งมันจะไปเกี่ยวข้องกับ 10 ชุมชน ซึ่งถ้าเราได้ข้อสรุปว่า สถานที่แบบนี้ การกระทำแบบนี้ เป็นลักษณะของชุมชนชายฝั่ง มันก็จะมีประโยชน์กับเขาในการที่จะอนุรักษ์หาด อนุรักษ์วัฒนธรรมของเขา โดยใช้สิทธิของชุมชนชายฝั่งได้ ซึ่งสิทธิชุมชนเป็นสิทธิที่มีการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ทีมงานบอกว่า หากพวกเขาสามารถร่วมกันให้คำจำกัดความของ “ชุมชนชายฝั่ง” ได้ การต่อยอดการทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่วมกับ กลุ่ม Beach for Life ที่จะเสนอระยะถอยร่น ก็จะสามารถอ้างสิทธินี้ได้เช่นกัน


เติบโตอีกขั้นจากการเผชิญ “สถานการณ์จริง”

การทำงานโครงการนี้ เหมือนกับเราได้ไปทำงานด้านกฎหมายจริง ๆ เพราะในอนาคตการที่เราเป็นนักกฎหมาย เราต้องช่วยประชาชน ต้องลงไปศึกษาประชาชน ว่ามีปัญหาอะไร และเราจะช่วยอะไรได้บ้าง ถือเป็น “กำไร” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการเป็นนักกฎหมายก่อนเพื่อน”

ระยะเวลาทำโครงการเพียงไม่กี่เดือน ทีมงานทุกคนสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของตนเองว่า การเรียนรู้ในโครงการช่วยพัฒนาตนทั้งในเรื่องการแบ่งเวลา ความรับผิดชอบ การต่อสู้กับความยากลำบาก และคุณค่าของความพยายาม ดังที่อ๋อมสะท้อนว่า ได้พัฒนาเรื่องความพยายาม เพราะถ้าเราอยู่กับของยากเราต้องพยายาม มีจิตใจเข้มแข็งยิ่งขึ้น พยายามต่อสู้กับความยากตรงนั้น และทนที่จะทำให้ได้

“เวลาท้อก็ต้องปลอบใจตัวเองให้เป็น ให้กำลังใจตัวเองให้เป็น คือ จะเป็นคนที่พยายามให้กำลังใจตัวเอง ต่อให้นิ่งแค่ไหน ใจต้องพยายามคิดบวกให้ได้ สมมติเมื่อวานเรานอนซมไปกับความคิดที่ว่า เหนื่อยจัง ไม่เอาแล้ว พอตื่นมาวันใหม่เราต้องคิดให้ได้ว่า เอาใหม่ เอาให้ได้ เราอายุ 20 ปีแล้ว เหตุการณ์ที่หนักแบบนี้เราก็ผ่านมาได้ เอาใหม่ เริ่มใหม่ เราต้องทำได้” อ๋อมเล่า

ส่วนหยงบอกว่า การทำงานโครงการนี้ เหมือนกับเราได้ไปทำงานด้านกฎหมายจริง ๆ เพราะในอนาคตการที่เราเป็นนักกฎหมาย เราต้องช่วยประชาชน ต้องลงไปศึกษาประชาชน ว่า มีปัญหาอะไร และเราจะช่วยอะไรได้บ้าง ถือเป็น “กำไร” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการเป็นนักกฎหมายก่อนเพื่อน ๆ

สำหรับฝนซึ่งคุ้นชินกับการทำงานโครงการตั้งแต่ร่วมงานในทีม Beach for Life ปี 1 และปี 2 บอกว่า งานนี้เหมือนชีวิตและวิถีของตนเอง ยามเหนื่อย ยามท้อก็มีเวลาหยุดพัก และยอมรับว่าไม่ได้โลกสวย บางครั้งก็มีโดดเรียนบ้าง แต่ก็ไม่ได้บกพร่องต่อบทบาทหน้าที่นักศึกษา เพราะเมื่อถึงยามเรียนก็ต้องอ่านหนังสือ ทำงานส่งอาจารย์ แต่บทเรียนการทำงานที่ฝนได้รับคือ เรื่องการประคับประคองความรู้สึกในการทำงานร่วมกับเพื่อน

“ฝนเป็นคนไม่เครียด นอกห้องเรียน ถ้าไม่ใช่เวลาทำงานก็ไม่ทำ อยู่กับตัวเองไป ถ้าจะทำงานอีกก็ค่อยมาเครียดใหม่ แต่เมื่ออ่านบันทึกการประชุมจึงได้รู้ว่าเพื่อนเครียด เราก็รู้ว่าเพื่อนใกล้จะหมดไฟแล้ว แต่ก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องยอมปล่อย รู้สึกเสียดาย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร บางทีมันอยู่ในช่วงเวลาด้วย ถ้าเราชาร์ตให้เพื่อนไม่ทันตอนนั้นเราก็ต้องยอม ต้องดูสภาพเพื่อนด้วย” ฝนเล่า ส่วนอันบอกว่า การเรียนก็เครียดอยู่แล้ว การทำงานโครงการก็ยังอยู่ในโหมดเครียดต่อเนื่องอีก จึงเป็นสิ่งที่เธอต้องจัดสมดุลตัวเอง ดูแลชีวิตไม่ให้เครียดเกินไป แต่สิ่งที่เธอได้เรียนรู้อย่างมากคือ การรับฟังคนอื่นมากขึ้น จากบุคลิกที่เป็นคนที่ไม่ยอมใคร ก็ยอมอ่อนให้ได้

“ทั้งนี้เพราะเธอทำหน้าที่ถอดเทป เวลาถอดเทปทำให้เราได้ยินเสียงตัวเอง ก็คิดได้ว่า ทำไมฉันเป็นคนแบบนี้ ทำไมเถียงกันไม่จบ สรุปแล้วเราได้อะไรจากการเถียงนั้น ก็กลายเป็นว่า ครั้งต่อไปไม่เถียงแล้ว มันเหมือนเราได้ทบทวนตัวเองอีกรอบว่าทำไมเราเป็นแบบนั้น ฟังเสียงตัวเองว่า เถียงไปก็เสียเวลาในจุดนั้น ”

อันเล่าถึงที่มาของการได้ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งที่ทำให้เปลี่ยนแปลงตนเอง แต่หยงต่างจากเพื่อน เพราะการทำงานโครงการไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิต หยงบอกว่า ออกมาทำกิจกรรมกับเพื่อนไม่ได้เบียดบังเวลาส่วนตัว เพราะการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีเวลาว่างเยอะอยู่แล้ว การทำงานกับเพื่อนจึงเป็นเหมือนการลดเวลาเที่ยวมาทำงานแทน

“ทักษะที่ได้เพิ่มมีหลายด้าน ที่เหมือนเพื่อนคือ การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ประสบการณ์ในการเถียงกับเพื่อนทำให้ได้ข้อสรุปว่า เรายังสื่อให้เพื่อนเข้าใจไม่ได้ เลยต้องปรับตนเองเรื่องการสื่อสารให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ยังทำให้สนิทกับเพื่อนมากขึ้น มองเห็นความคิดของแต่ละคนมากขึ้น ถือเป็นการเรียนรู้คน ได้ทำงานร่วมกับคนอื่น ทำให้เราได้ปรับตัวเองไปด้วยในตัว ส่วนทักษะอย่างอื่นก็มี รักการอ่านหนังสือ อยากค้นคว้า หาโน่นหานี่มากขึ้น ใฝ่รู้ และเข้าใจสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมไปในตัว”

จากบทเรียนส่วนตัวที่แต่ละคนประสบ สู่บทเรียนการทำงานโครงการที่ฝนสะท้อนในภาพรวมว่า การทำงานที่ผ่านมามีจุดบกพร่องตรงที่ขาดการ “ถอดบทเรียนการทำงาน” ซึ่งเป็น “เครื่องมือ” สำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพราะการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ทีมงานจะให้ความสนใจกับการวิเคราะห์ ถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปด้านกฎหมาย บ่อยครั้งที่การทำงานลากยาวถึงย่ำค่ำ ทำให้ทุกคนหมดเรี่ยวหมดแรง เกินว่าจะทำอะไรต่อได้อีก ซึ่งฝนได้สรุปบทเรียนในเรื่องนี้ว่า

“เหมือนเรารู้วิธี แต่เราทำไม่ได้ เช่น การทำงานต้องมีการวางแผนร่วมกัน ต้องถอดบทเรียน แต่ก็ไม่ได้ทำเลย ตอนอยู่ Beach for Life เราคิดว่าทำได้ดีกว่านี้มาก เพราะก่อนจัดกิจกรรมเรียกน้องมาคุยวางแผน จัดกิจกรรมเสร็จมานั่งคุยกัน แต่พอต้องมาทำเองก็ไม่สามารถรวมทีมงานเพื่อสรุปบทเรียนการทำงานได้ เพราะ 6 โมงเย็นแล้ว ทุกคนหลุดหมดแล้ว คุยไปก็ไม่ได้อะไร เราก็รู้ว่าน่าจะทำ แต่ก็ไม่ได้ทำ คิดว่าถ้าได้มีการถอดบทเรียนร่วมกันงานน่าจะออกมาดีกว่านี้ ”


สู่นักกฎหมายผู้ยิบยื่นความยุติธรรม

เมื่อการทำโครงการเดินมาถึงจุดที่ทีมงานชัดเจนถึงแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายมากขึ้น ฝนยอมรับว่า การทำงานในปีนี้ถือว่าเป็นพื้นที่การเรียนรู้ภายในกลุ่มแกนนำ 6 คนกับเพื่อนอีก 15 คน โดยยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลสู่ภายนอก ด้วยเพราะทีมงานทั้งหมดก็ยังไม่มีความรู้ที่ชัดแจ้ง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการทำงานโครงการนี้ ได้เปลี่ยนทั้งมุมมองต่อสิ่งรอบตัว และพฤติกรรมส่วนตัวของว่าที่นักกฎหมายไปอย่างสิ้นเชิง

“เราไม่ได้มองว่างานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร แต่เรารู้ว่าเราอยากได้อะไร เราไม่รู้ว่าเส้นทางที่ฝันไว้จะต้องผ่านอะไรบ้าง...แต่ก็จะทำต่อไป จนกว่าจะสำเร็จ กฎหมายหาดต้องไม่ใช่กฎหมายที่ตั้งไว้อยู่บนหิ้ง แต่ต้องใช้ได้จริง ๆ ด้วย เหมือนธรรมนูญที่สามารถนำมาขับเคลื่อนได้”

วันนี้แม้การทำงานจะยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ก็ทำให้พวกเราเห็นเส้นทางเดินที่ชัดเจนขึ้น บทเรียนที่ได้รับรู้และลงมือทำเปลี่ยนมุมมองจากสายตานักท่องเที่ยวสู่มุมมองของคนหวงแผ่นดิน จากมุมมองผ่านแว่นของนักกฎหมายสู่มุมมองผ่านแว่นนักสังคม จากที่เคยยึดมั่นความคิดตัว ก็ได้ยินเสียงของคนอื่นมากขึ้น บทเรียนเหล่านี้ได้ถูกฝังชิพการทำงานที่เน้นการมองรอบด้านในมิติต่าง ๆ จึงเป็นความหวังว่า กฎหมายในมือของคนที่มองรอบด้านจะหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับผู้คนในสังคม อยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมต่อไป

“ความฝันคือ อยากให้มีกฎหมายหาด เพราะว่ามันไม่มี ที่มีอยู่มันไม่ได้แก้ปัญหา กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ให้เราที่เป็นประชาชนใช้ในการปกป้องหาด และมันเป็นทางเดียวที่จะสู้กับรัฐ หาดเป็นทรัพยากรที่สำคัญไม่แพ้ป่าไม้ แต่ไม่มีใครเห็นว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญเลย อย่างที่เพื่อนสะท้อนว่า เคยมองแค่หาดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ความจริงแล้ว หาดคือทรัพยากรที่มีค่า เป็นมรดกของบ้านเมือง นี่คือฝันส่วนตัว เราไม่ได้มองว่างานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร แต่เรารู้ว่าเราอยากได้อะไร เราไม่รู้ว่าเส้นทางที่ฝันไว้จะต้องผ่านอะไรบ้าง เช่น ปีแรกเราคิดว่า แผนเราง่ายนิดเดียว เราน่าจะทำได้ง่าย แต่พอทำจริงแค่เรื่องการหาข้อมูล เรายังตีโจทย์ไม่แตก เรายังต้องลองผิดลองถูกอยู่ แต่ก็จะทำต่อไป จนกว่าจะสำเร็จ กฎหมายหาดต้องไม่ใช่กฎหมายที่ตั้งไว้อยู่บนหิ้ง แต่ต้องใช้ได้จริง ๆ ด้วย เหมือนธรรมนูญที่สามารถนำมาขับเคลื่อนได้” ฝนกล่าวย้ำถึงความฝันที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ถึงจนได้ในอนาคต


โครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ทีมทำงาน : นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

( อลิสา บินดุส๊ะ ) ( กชมา อุดมศิลป์ ) ( ชมพูนุช กิจธิคุณ ) ( อัษราพงษ์ ฉิมมณี ) ( จิรนันท์ จินดา ) ( เกษราภรณ์ ) ( เกียรติเฉลิมลาภ )