การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดการปัญหาขยะในโรงเรียนส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ จังหวัดสงขลา

ก้าวที่กล้า ของผู้ศรัทธา

โครงการที่พึ่งของผู้ศรัทธา

เข้าใจคำสอนของศาสนาอิสลามที่ว่า ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา ลึกซึ้งกว่าเดิม...ก่อนทำโครงการก็เห็นถึงความสกปรก แต่ไม่คิดอะไร แต่เมื่อมาทำโครงการแล้วความรู้สึกมันต่างออกไป สิ่งที่ทำไม่ได้ทำให้เกิดความสะอาดเฉพาะกลุ่ม แต่คนรอบ ๆ ข้างที่ใช้ประโยชน์จากสถานที่ละหมาดก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย การละหมาดภายใต้บรรยากาศของความสะอาด ทำให้จิตใจสงบ ความศรัทธาจึงเพิ่มพูนเป็นผลบุญที่ส่งต่อกันทั่วหน้า

เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงของเพื่อน ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปีที่ผ่านมามีพัฒนาการเรื่องความกล้าแสดงออก เสียสละ และมีทักษะในการทำงานงานหลายด้าน จึงเป็นที่มาของการรวมทีม เพื่อเข้าร่วม “กระบวนการ” ที่เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาตนเองได้

­

วิเคราะห์ปัญหา...ค้นหาสาเหตุ

เมื่อทราบข่าวการรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาฟาด๊ะ-ฉัตรแก้ว ชอบงามที่เคยมีประสบการณ์การทำโครงการสวยใสสไตล์มุสลิมะฮ์เมื่อปีที่ผ่านมาจึงอาสารวบรวมเพื่อน ๆ ซึ่งประกอบด้วย อ๊ะ-จุไวรีอะ สุขพันธ์ ต้อ-สุธิดา สะกะเต็บ เฟีย-โซเฟีย บุตรรักษ์ และ มีมี่-ฮานีย์ แกต่อง ที่แม้จะเรียนห้องเดียวกัน พักด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้สนิทกันมาก่อน มารวมตัวกันเป็นทีมทำงาน เพราะคิดว่า หากต้องการเรียนรู้การทำงานมากขึ้น น่าจะทำงานกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เพื่อฝึกใช้เหตุผลในการทำงาน

“ชวนทีมงานคิดวิเคราะห์สถานการณ์ในโรงเรียน ว่ายังมีเรื่องใดบ้างที่ต้องการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนเวลาละหมาด ซึ่งส่งผลให้ไม่มีสมาธิ เป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข”

ฟาด๊ะบอกว่า แม้จะเคยทำโครงการมาก่อน แต่อยากทำอีก เพราะการทำโครงการทำให้เธอเป็นคนคิดรอบด้านมากขึ้น มีหลักการคิดมากขึ้น ยิ่งทำความเป็นผู้นำยิ่งมากขึ้น ความกล้าแสดงออกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

เนื่องจากเป็นตัวตั้งตัวตีและมีประสบการณ์มาก่อน ฟาด๊ะจึงอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังถึงรายละเอียดของการทำโครงการ พร้อมกับชวนทีมงานวิเคราะห์สถานการณ์ในโรงเรียนว่า ยังมีเรื่องใดบ้างที่ต้องการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนเวลาละหมาด ส่งผลให้ไม่มีสมาธิ เป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหา  เพราะหากละหมาดโดยไม่มีสมาธิ เท่ากับว่าการละหมาดนั้นไม่สมบูรณ์ และไม่เพียงสถานที่ละหมาดเท่านั้น แต่กลิ่นเหม็นยังคลุ้งกระจายรบกวนไปทั่วทั้งโรงเรียน การทำความสะอาดบริเวณที่ละหมาด บริเวณมัสยิดชั้น 2 และชั้น 3 และพื้นที่โดยรอบ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำโครงการที่พึ่งของผู้ศรัทธา 

“เราทำโครงการนี้เพื่อต้องการให้โรงเรียนและชุมชนของเราสะอาดขึ้น และต้องการสร้างจิตสำนึกเรื่องการรักษาความสะอาดให้ทุกคนรักษาความสะอาดที่อยู่อาศัยที่ใช้ประโยชน์รวมถึงสถานที่ละหมาดซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะที่หลายคนเข้ามาใช้ร่วมกันหากเข้าไปแล้วสกปรกเราก็ไม่อยากเข้าไป และความเชื่อของศาสนาอิสลามบอกว่าความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา จึงคิดทำเรื่องนี้เพราะพวกเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณที่ละหมาด ทำให้การแสดงความเคารพพระเจ้าไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีสมาธิ” อ๊ะเล่าถึงเป้าหมายการทำงาน

หลังจากเห็นสถานการณ์ปัญหาแล้ว การทำโครงการจึงเริ่มตั้งแต่ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา แบ่งบทบาทหน้าที่กันในทีม ซึ่งฟาด๊ะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีม ต้อและมีมี่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ อ๊ะเป็นเหรัญญิก เฟียเป็นรองหัวหน้าโครงการ โดยเลือกหน้าที่ที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยและความถนัดของแต่ละคน

การทบทวนสภาพปัญหาและสืบค้นหาสาเหตุที่มาของกลิ่นเหม็น

ทีมงานได้เดินสำรวจสภาพโดยรอบสถานที่ละหมาด อาคารเรียน และคูน้ำทิ้งด้านข้างอาคารย้อนขึ้นไปถึงต้นทาง เพราะสถานที่ละหมาดเป็นอาคารที่อยู่ในบริเวณโรงเรียน มีคูน้ำขังอยู่ด้านหลังติดกับอาคารเรียนของมัธยมศึกษาตอนปลาย และโรงอาหารของน้องอนุบาล และประถมศึกษา ซึ่งพบว่าเมื่อล้างจานจะมีการทิ้งเศษอาหารลงไป แล้วมีทางระบายน้ำลงไปในคูน้ำ รวมถึงการที่เด็ก ๆ ทิ้งห่อขนมไม่เป็นที่เป็นทาง ทิ้งเศษใบไม้ที่ปลิวทับถมลงในคูน้ำ 

โดยไม่เคยมีการลอกคูมาก่อนด้านการดูแลความสะอาดภายในโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนจำนวนมาก แม้ว่าจะมีเวรทำความสะอาดของนักเรียน โดยแต่ละห้องมีการแบ่งเวรเก็บขยะ แต่ก็มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นหน้าที่ของแม่บ้านในการดูแลความสะอาด แต่ด้วยความที่มีอาคารหลายหลัง แม่บ้านอาจดูแลไม่ทั่วถึง อาคารมัสยิดก็มีจุดที่หลังคารั่ว รวมทั้งเมื่อเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ทำให้นกบินเข้ามาทำรัง และถ่ายมูลไว้ เวลาฝนตกมีน้ำเจิ่งนองแล้วมีคนเดินไปมายิ่งทำให้สกปรกได้ง่าย

 “เราต้องไปศึกษาแหล่งที่มาของความสกปรกก่อน เพราะต้องไปแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ ซึ่งดีกว่าที่เรามาแก้ปลายทาง ถ้าเราไปแก้ปลายทางเดี๋ยวมันก็สกปรกอีก เราไปแก้ต้นทางดีกว่า” ต้อเล่า

หาแนวร่วมจิตอาสา

เมื่อทราบถึงต้นตอของความสกปรก ทีมงานจึงจัดประชุมวางแผนการทำงานต่อและเห็นตรงกันว่าการประชาสัมพันธ์โครงการและรับสมัครน้องๆจิตอาสาหากจะประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลดี เพราะเด็ก ๆ มักไม่สนใจ จึงวางแผนจู่โจมไปประชาสัมพันธ์ถึงในห้องเรียนโดยขออนุญาตคุณครูประจำชั้นตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-5 รับสมัครน้อง ๆ จิตอาสา ห้องละ 2 คน เป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรม

ส่วนเพื่อนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้นทีมงานเลือกที่จะยกเว้น เพราะเป็นกลุ่มนักเรียนที่เรียนค่อนข้างหนัก และต้องเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา 

“เราเห็นจากปีที่ผ่าน ๆ มา ว่าการพูดหน้าเสาธงเด็กจะไม่ฟังเลย เราจึงไม่เลือกวิธีนั้น แต่เลือกบุกไปถึงห้องเรียนทั้ง 24 ห้อง ใช้เวลาว่างของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เป็นคาบว่าง หรือใช้ช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อของคาบ ที่เรารู้เพราะหน้าห้องเรียนแต่ละห้องจะมีตารางเรียนติดไว้ เราก็นำตารางเรียนมาวางแผนก่อนว่าช่วงไหนจะไปห้องไหน ยกทีมไปกันทั้งกลุ่ม แล้วพูดให้น้องฟัง

ถามน้องว่า เวลาน้องไปละหมาดน้องได้กลิ่นไหม พูดให้เขาสนใจ แล้วถามต่อว่า น้องอยากช่วยไหม” ฟาด๊ะเล่า

การประชาสัมพันธ์และการรับสมัครตัวแทนผ่านไปด้วยดี น้อง ๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะต่างเห็นด้วยว่าสถานที่ละหมาดมีความสำคัญต่อทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดระหว่างการประชาสัมพันธ์คือ ทีมงานแต่ละคนได้ฝึกฝนการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เพราะมีข้อตกลงกันว่า จะต้องแบ่งกันทำหน้าที่แนะนำโครงการทุกคน แม้ว่าจะเป็นการพูดกับรุ่นน้องหรือเพื่อน ๆ แต่การพูดอธิบายโครงการยาว ๆ หน้าห้องของบางคนก็เป็นการพัฒนาทักษะการสื่อสารได้เป็นอย่างดี 

“ตอนแรกเป็นคนที่กลัว ไม่กล้าพูด นี่เป็นครั้งแรกที่เราไปประชาสัมพันธ์ มันตื่นเต้นมาก น้องเขาไม่รู้จักเรา น้องเขาหยอกเล่น เราก็หยอกเล่นกลับบ้าง แต่ก่อนจะเข้าไปในห้องน้อง เราก็จะแบ่งกันว่าห้องนี้ใครพูด ห้องต่อไปใครพูด เพื่อให้เพื่อนได้ฝึกพูดกันทุกคน” ต้อเล่า

ระดมความคิด พิชิตปัญหา

“เพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางการแก้ปัญหา จึงได้ปรับใช้ทักษะการทำงานที่เคยเรียนรู้มาจากพี่ ๆ สงขลาฟอรั่ม คำถามที่ทีมงานเคยถูกพี่ ๆ ถามตอนมาเวิร์คช็อป เช่นว่า สาเหตุของกลิ่นเหม็นมาจากไหน เราจะทำโครงการนี้ไปทำไม น้อง ๆ อยากเห็นความสำเร็จอะไรจากการทำโครงการ และต้องทำอย่างไร รวมถึงการให้น้อง ๆ วาดภาพของมัสยิดในฝันที่น้องๆ อยากเห็น เป็นต้น”

เมื่อได้ตัวแทนจากแต่ละห้องแล้ว ทีมงานจึงได้ประชุมพูดคุยกับตัวแทนน้อง ๆ เพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางการแก้ปัญหา จึงได้ปรับใช้ทักษะการทำงานที่เคยเรียนรู้มาจากพี่ ๆ สงขลาฟอรั่ม คำถามที่ทีมงานเคยถูกพี่ ๆ ถามตอนมาเวิร์คช็อป เช่นว่า สาเหตุของกลิ่นเหม็นมาจากไหน เราจะทำโครงการนี้ไปทำไม น้อง ๆ อยากเห็นความสำเร็จอะไรจากการทำโครงการ และต้องทำอย่างไร รวมถึงการให้น้อง ๆ วาดภาพของมัสยิดในฝันที่น้องๆ อยากเห็น เป็นต้น

“เชิญตัวแทนน้อง ๆ มาพูดคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรดี ที่เราใช้วิธีนี้เพราะอยากรู้ความคิดที่มาจากตัวเขาเอง ว่าเขารู้สึกอย่างไร การนั่งคุยกันยังได้แลกเปลี่ยนระหว่างพี่กับน้อง ทำให้สนิทสนมกันมากขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนที่เห็นหน้ากันแต่ไม่รู้จักกัน ก็ได้รู้จักกันคราวนี้ ทำให้ทั้งพี่ทั้งน้องกล้าพูดมากขึ้น ” ฟาด๊ะกล่าว

หลายคนหลากความคิด ช่วยให้ทีมงานได้แนวทางการทำงานที่หลากหลาย รวมทั้งได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุของความสกปรกภายในสถานที่ละหมาด ข้อมูลที่ทีมงานคาดไม่ถึงก็ถูกเติมเต็ม เช่น จุดที่มีน้ำขังในสถานที่อาบน้ำละหมาด ท่อที่อุดตัน ฯลฯ ในขณะเดียวกัน การทำงานครั้งนี้ครูใหญ่และคุณครูในโรงเรียนได้เข้าร่วมรับฟังด้วย 

สุดท้ายทีมงานได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาคือ การทำความสะอาดและปรับปรุงคูน้ำซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการมีกลิ่นเหม็น และทำความสะอาดมัสยิด ทีมงานค้นคว้าหาวิธีการ พบวิธีการหนึ่งคือ การใช้น้ำหมักเพื่อดับกลิ่น เพราะเคยเห็นเพื่อนที่ทำโครงการห้องน้ำในฝัน ใช้น้ำหมักจากผลไม้ทำความสะอาดห้องสุขาซึ่งได้ผลดี

รวมทั้งเมื่อได้หารือกับเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันที่ทำโครงการสุขาสุขใจ ซึ่งต้องการใช้วิธีการเดียวกัน จึงร่วมกันลงขันงบประมาณและแรงงานในการทำน้ำหมักเพื่อแบ่งกันใช้ในแต่ละโครงการ ผ่านไป 2 สัปดาห์หลังจากประชุมร่วมกับน้อง ๆ แกนนำ ทีมงานได้นัดหมายน้อง ๆ อีกครั้ง เพื่อช่วยกันทำน้ำหมักจากเปลือกสับปะรด ระดมพลหั่น สับ กวน ตามสูตรจนได้น้ำหมักขนาด 200 ลิตร 3 ถัง เพื่อเตรียมไว้ใช้งาน เนื่องจากระยะเวลาในการหมักบ่มน้ำหมักให้ได้ที่ต้องใช้เวลานาน 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นาน จึงเกรงว่า จะไม่สอดคล้องกับกรอบเวลาของโครงการ โชคดีที่ร้านค้าซึ่งทีมงานไปซื้ออุปกรณ์แนะนำว่า ถ้าใส่อีเอ็มลงไปจะช่วยลดเวลาในการหมักเหลือเพียง 1 เดือน เพราะอีเอ็มช่วยให้การย่อยสลายเร็วขึ้น

ร้อยผู้คนมาร่วมด้วย ช่วยแก้ปัญหา

1 เดือน คือช่วงเวลาของการรอคอย เมื่อน้ำหมักได้ที่ ทีมงานจึงนัดหมายน้อง ๆ อาสาสมัครร่วมกิจกรรม บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เพื่อเก็บขยะ ทำความสะอาดสถานที่ละหมาดและบริเวณรอบ ๆ ขุดลอกคูน้ำ ก่อนวันงาน ทีมงานขอให้คุณครูช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมในช่วงเวลาละหมาด ส่งผลให้เมื่อถึงเวลาทำงานจริง นอกจากน้อง ๆ อาสาสมัครที่เป็นตัวแทนห้องแล้ว ยังมีน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในโครงการอาสามาช่วยด้วย 

“คูน้ำทั้งสายเราทำกันทั้งหมด ตอนทำก็ขยะแขยงถึงจะสวมถุงมือยางก็เถอะ แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีใครทำ...การลงแรงของเด็ก ๆ ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนร่วมด้วยช่วยปรับปรุงสภาพคูน้ำที่ชำรุด โดยการปูซีเมนต์ ใส่ท่อ ทำให้น้ำระบายได้ดีขึ้น ส่วนการจัดการเศษอาหารจากโรงอาหารของน้องประถมศึกษา มีการนำตะแกรงมากรองเศษอาหารไม่ให้ตกลงไปในคู ต่างฝ่ายต่างช่วยเอาธุระ จนคูน้ำสะอาดขึ้น กลิ่นเหม็นจางหายไป”

หลังการละหมาดทุกวันศุกร์ ตั้งแต่บ่ายโมงถึงสี่โมงครึ่ง ทีมงานและอาสาสมัคร ช่วยกันทำความสะอาด แบ่งหน้าที่ให้น้องผู้หญิงทำความสะอาดบนมัสยิด และขอแรงน้องผู้ชายมาช่วยพี่ทีมงานลอกคูน้ำ ซึ่งต้องใช้จอบกวาดลากขยะและเศษใบไม้ที่ทับถมมาเป็นระยะเวลานานขึ้นมาทิ้งบนบก แยกขยะพลาสติกออกมาทิ้ง ส่วนเศษโคลนเศษใบไม้ ใช้เป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ในโรงเรียน จากนั้นใช้น้ำหมักที่ทีมงานทำไว้ใส่ลงไปในคูน้ำเพื่อให้ช่วยย่อยสลายสิ่งกิ่งไม้ใบหญ้าในคูน้ำด้วย

“คูน้ำทั้งสายเราทำกันทั้งหมด ตอนทำก็ขยะแขยงถึงจะสวมถุงมือยางก็เถอะ แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีใครทำ” ฟาด๊ะกล่าว การลงแรงของเด็ก ๆ ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนร่วมด้วยช่วยปรับปรุงสภาพคูน้ำที่ชำรุด โดยการปูซีเมนต์ ใส่ท่อ ทำให้น้ำระบายได้ดีขึ้น ส่วนการจัดการเศษอาหารจากโรงอาหารของเด็กประถม มีการนำตะแกรงมากรองเศษอาหารไม่ให้ตกลงไปในคู ต่างฝ่ายต่างช่วยเอาธุระ จนคูน้ำสะอาดขึ้น กลิ่นเหม็นจางหายไป

ในส่วนของทีมงานไม่ได้ยุติที่การทำความสะอาดคูน้ำ แต่มีการประสานงานกับสภานักเรียน ซึ่งกำลังทำโครงการประกวดห้องเรียนสะอาด เพื่อร่วมกันสำรวจความสะอาดห้องเรียนและพื้นที่รอบ ๆ เฝ้าระวังการทิ้งขยะจากอาคารเรียน พร้อมกำหนดมาตรการลงโทษ ทั้งการประกาศเตือนหน้าเสาธง และการปักธงแดงเตือนสำหรับห้องเรียนที่ห้องและบริเวณรอบๆ ไม่สะอาด

หลังจากนั้น ทีมงานได้จัดระบบการติดตามประเมินผลหลังจากวันบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ โดยใช้แบบสอบถาม ความพึงพอใจของนักเรียนในโรงเรียน และขอข้อเสนอแนะสำหรับสิ่งที่ต้องการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้โรงเรียนสะอาดมากขึ้น รวมทั้งจัดเวรสำหรับน้อง ๆ อาสาสมัครประจำแต่ละชั้น เพื่อติดตามดูแลความสะอาดของห้องเรียนและอาคารสมัสยิด 

“หลังจากบิ๊กคลีนนิ่งมีการติดตามประเมินผล เราไปสำรวจพบว่าดีขึ้น และใช้วิธีการจัดเวรของห้องต่าง ๆ ให้ดูแลความสะอาดต่อเนื่อง โดยจัดให้วันจันทร์เป็น /1 ของแต่ละชั้น วันอังคารเป็น /2 ของแต่ละชั้น อย่างนี้เพราะแต่ละชั้นจะมี 5 ห้อง โดยสมาชิกที่เป็นตัวแทนห้องละ 2 คน เขาก็ไปติดตามดูว่าเป็นอย่างไร สะอาดไหม” อ๊ะเล่าถึงระบบการติดตาม

ทีมงานเล่าถึงเคล็ดลับของความร่วมมือจากเพื่อนนักเรียน ในช่วงเริ่มต้นอยู่ที่แรงจูงใจจากเกียรติบัตร ที่จะเป็นผลงานสะสมในพอร์ตโฟลิโอเพื่อประกอบการพิจารณาในการสมัครเรียนต่อในระดับสูงขึ้น แต่เมื่อผ่านการทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่ง ทุกคนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การทำงานจึงยังคงได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง

“ที่เขามาช่วยเราเพราะเราให้เกรียติบัตรด้วย เพราะเกียรติบัตรมันจะสำคัญตอนเราสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ก็ใช้เป็นตัวล่อ เราจะออกแบบเกียรติบัตรแล้วให้ครูใหญ่เซ็นต์ แต่เขาก็ต้องมาร่วมกิจกรรมโครงการจนจบ เท่าที่สังเกตดูน้องเขาทำจริง มีความรับผิดชอบ ยิ่งเมื่อเห็นคูสะอาดขึ้น กลิ่นเหม็นหมดไป ทุกคนมีความสุข ก็รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราทำไปไม่เสียเปล่า” เฟียกล่าว กิจกรรมสุดท้ายของโครงการคือ การเปิดพื้นที่การเรียนรู้และเผยแพร่ผลงานให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ ในโรงเรียนได้รับรู้ถึงกิจกรรมในโครงการ ได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งให้ผู้มีส่วนได้เสียในโรงเรียนได้ประเมินผลการทำงานของโครงการ โดยใช้โอกาสร่วมนำเสนอในงานวิชาการของโรงเรียน 

“ผลการประเมินตนเองของน้อง ๆ โดยภาพรวมที่เราประมวลมาก็เป็นไปตามที่เราต้องการคือ น้องๆ เกิดจิตสำนึก ช่วยกันรักษาความสะอาด น้องเขาก็ให้ความร่วมมืออย่างดี บางวันขึ้นไปละหมาดแล้วพบปัญหา น้องเขาก็จะมาบอก ว่า ตรงนี้น้ำขังนะ เราก็ไปแก้ปัญหา น้องเขาช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องให้ด้วย บางครั้งถ้าเขาจัดการได้เขาก็จะทำเลย แต่บางอย่างที่เกินความสามารถของน้องเขาก็มาบอกเรา ถ้าเกินความสามารถของเราเราก็ไปบอกครูฝ่ายอาคารสถานที่” ฟาด๊ะเล่า “แต่ก่อนเป็นคนที่ไม่สนใจอะไร สกปรกก็ช่าง ทั้ง ๆ ที่เราอาจเป็นต้นเหตุของมันด้วย แต่พอได้มาทำ เราเห็นความสำคัญของความสะอาด ก็เปลี่ยนตนเองไม่ทิ้งขยะแบบนั้น”

ก่อเกิดพลเมือง

ความภาคภูมิใจฉายชัดจากรอยยิ้มบนใบหน้า ทุกคนซาบซึ้งถึงความร่วมมือที่ได้รับ เพราะคนที่มาช่วยกันทำความสะอาดต่างต้องเสียสละเวลาและความสะดวกสบายส่วนตัว ออกมาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ การเสียสละในครั้งแรกจึงกลายเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนสนใจใส่ใจเอาธุระกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมากขึ้น แต่กว่าที่โครงการจะเดินมาถึงวันนี้ได้ ทีมงานต้องมีการบริหารจัดการอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะเรียนอยู่คนละห้อง และอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีภาระของการเรียนต่อรออยู่

ทีมงานจึงต้องจัดการเวลา จัดการตนเองให้สามารถทำงานในโครงการคู่ขนานไปกับการเรียน และการใช้ชีวิตวัยรุ่น ปัญหาเรื่องเวลาว่างไม่ตรงกันคือปัญหาร่วมที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะต่างต้องจัดสรรเวลาทำงานให้ลงตัวให้ได้

“เราอยู่ ม. 6 ต้องทำงานแข่งกับเวลา มันเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเรา เพราะต้องมีการจัดการเวลา รู้จักการแก้ปัญหา เรื่องเล็ก ๆ จะแก้อย่างไร เรื่องใหญ่ ๆ จะแก้อย่างไร แล้วมีการเอาความคิดมารวมกัน หาเหตุผลเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง ไปปฏิบัติ” อ๊ะเล่าถึงบทเรียนการทำงาน

นอกจากนี้ ทีมงานยอมรับว่าตนเข้าใจคำสอนของศาสนาอิสลามที่ว่า ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา ลึกซึ้งกว่าเดิม เพราะได้ลงมือปฏิบัติ ออกปากรับสารภาพว่า ก่อนทำโครงการก็เห็นถึงความสกปรก แต่ไม่คิดอะไร แต่เมื่อมาทำโครงการแล้วความรู้สึกมันต่างออกไป สิ่งที่ทำไม่ได้ทำให้เกิดความสะอาดเฉพาะกลุ่ม แต่คนรอบ ๆ ข้างที่ใช้ประโยชน์จากสถานที่ละหมาดก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย การละหมาดภายใต้บรรยากาศของความสะอาด ทำให้จิตใจสงบ ความศรัทธาจึงเพิ่มพูนเป็นผลบุญที่ส่งต่อกันทั่วหน้า

“ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา เมื่อเราทำแล้วไม่ใช่สะอาดที่เราคนเดียว คนรอบ ๆ เขาก็จิตใจสงบด้วย เราได้บุญด้วย เขาก็ได้ด้วย ได้กันทั้งหมด และเมื่อทำแล้วคนอื่นเห็นมันสะอาดเขาก็ศรัทธาไปกับเราด้วย” ต้อตอกย้ำ

สำหรับทีมงาน เป้าหมายในการพัฒนาตนเองให้มีความกล้าถือว่าบรรลุผล เพราะต่างได้ฝึกพูดต่อหน้าคนหมู่มาก ฝึกนำเสนอ เป็นการสะสมต้นทุนเรื่องความมั่นใจในตนเอง แต่เหนือสิ่งอื่นใด อ๊ะเล่าว่า เธอรู้สึกว่า มีสำนึกความเป็นพลเมืองมากขึ้น“แต่ก่อนเป็นคนที่ไม่สนใจอะไร สกปรกก็ช่าง ทั้ง ๆ ที่เราอาจเป็นต้นเหตุของมันด้วย แต่พอได้มาทำ เราเห็นความสำคัญของความสะอาด ก็เปลี่ยนตนเองไม่ทิ้งขยะแบบนั้น และรู้สึกว่าตัวเองกล้าแสดงออก และรับผิดชอบมากขึ้น”

ทีมงานยังเล่าต่อไปว่า การทำงานทำให้เขาได้พิสูจน์ตนเองกับเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น เพื่อนหลายคนเคยปฏิเสธที่จะทำโครงการร่วมกัน เพราะคิดว่าจะเป็นภาระฉุดรั้งการเรียน แต่เมื่อเห็นพัฒนาการของทีมงาน เพื่อนถึงกับเอ่ยปากว่า เสียดายโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง 

“เพื่อนบางคนก็อยากเป็นแกนนำแบบเราด้วย แต่ตอนแรกที่ไปชวนเขาก็คิดว่าจะเป็นภาระ แต่พอเราทำมาจนถึงจุดนี้เขาก็คิดว่า ทำไมเขาถึงไม่ทำด้วย ทำไมเมื่อก่อนเขาไม่เอา เขาก็เสียดาย” เฟียเล่า 

ก่อนจะปล่อยมือจากการทำโครงการเพราะจบการศึกษา ทีมงานยังคงห่วงถึงความยั่งยืนของกิจกรรมที่ได้ทำมา โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดแก่น้อง ๆ ที่ทีมงานยังไม่มั่นใจว่าที่ผ่านมาสามารถติดชิปจิตสำนึกเรื่องนี้ไว้ในตัวน้องๆ ได้อย่างมั่นคงหรือไม่ เพราะโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก และปัญหาการจัดการขยะยังคงเป็นปัญหาหลัก แม้ว่าจะมีคุณครูบางท่านพยายามรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะในโรงเรียนแล้วก็ตาม แต่ระบบจัดการที่มียังไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะการขาดจิตสำนึกของนักเรียนส่วนหนึ่ง 

“เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจที่เด็ก ๆ สนใจ และใส่ใจที่จะดูแลความสะอาดสถานที่ละหมาด ซึ่งเป็นสถานที่ส่วนรวมที่มุสลิมทุกคนในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียงมาใช้ปฏิบัติศาสนกิจ สำนึกจิตอาสาที่ก่อเกิด เป็นสิ่งที่ดีและสะท้อนศรัทธาในความเชื่อเรื่อง “ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา” ตามแนวทางคำสอนของศาสดา” 

คนรุ่นใหม่ตามรอยพระศาสดา

คุณอารีเฟน อับดุลกาเดร์ ที่ปรึกษาสงขลาฟอรั่ม เป็นผู้ที่พิจารณาโครงการน้องๆ มาตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ที่การทำโครงการเสร็จสิ้นลง กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจที่เด็ก ๆ สนใจ และใส่ใจที่จะดูแลความสะอาดสถานที่ละหมาด ซึ่งเป็นสถานที่ส่วนรวมที่มุสลิมทุกคนในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียงมาใช้ปฏิบัติศาสนกิจ สำนึกจิตอาสาที่ก่อเกิด เป็นสิ่งที่ดีและสะท้อนศรัทธาในความเชื่อเรื่อง “ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา” ตามแนวทางคำสอนของศาสดา

“สมแล้วที่เราเรียนโรงเรียนสอนศาสนา แล้วนำเรื่องเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะในฮาดิษมีผู้หญิงที่ดูแลมัสยิด ชื่อว่าโตเซียยะ ซึ่งอยู่มาวันหนึ่งพระศาสดามามัสยิดแล้วไม่เห็นเขา ก็ถามว่าผู้หญิงคนนี้ไปไหนแล้ว คนก็บอกว่า เสียชีวิตแล้ว ศาสดาก็ตามไปที่กุโบร์แล้วละหมาดให้ ถือว่านางเป็นคนที่มีเกียรติมาก ก็อยากให้สร้างตรงนี้ให้เป็นจิตสำนึกที่จะถูกสืบสานตลอดไป” คุณอารีเฟนกล่าว 

จากจุดเริ่มต้นที่คิดเพียงอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อพัฒนาตนเอง ก้าวสู่การเรียนรู้เรื่องการเสียสละ อุทิศตนทำงานเกี่ยวกับความไม่สะอาดซึ่งอาจเป็นที่น่ารังเกียจของคนทั่วไป แต่เยาวชนกลุ่มนี้กลับเดินหน้าทำให้สำเร็จเพื่อประโยชน์ส่วนรวม วันคืนผ่านไป ความสะอาดของสถานที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับจิตใจที่ดีงาม ความสามารถที่เพิ่มพูนขึ้น และสำนึกต่อส่วนรวมที่ค่อยๆ ได้รับการหล่อหลอมขึ้นเช่นกันจากประสบการณ์ตรงที่พวกเขาได้ลงมือทำ ลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง สำนึกพลเมืองสร้างได้จากเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว...


โครงการ : ที่พึ่งของผู้ศรัทธา

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูสุกัญญา บิลหมัน

ทีมทำงาน : ( จุไวรีอะ สุขพันธ์ ) ( ฉัตรแก้ว ชอบงาม ) ( สุธิดา สะกะเต็บ ) (โซเฟีย บุตรรักษ์) ( ฮานีย์ แกต่อง )