การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของใบไม้ ในโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

สร้างดิน สร้างฅน

โครงการสร้างดิน สร้างฅน

รู้สึกเหมือนกับเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทดลองจากของจริง เป็นความรู้ใหม่ที่พวกเราไม่เคยทำมาก่อน ดีใจและปลื้มใจที่นักเรียนทุกคนในโรงเรียนร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันทำกิจกรรม และนำความรู้เรื่องการทำดินจากใบไม้กลับไปใช้ที่บ้านด้วย

“พวกเราจะทำอย่างไรกันดี ที่จะทำให้ทุกคนในโรงเรียนเห็นคุณค่าของใบไม้ที่เกลื่อนกลาด มากกว่าจะมองว่ามันคือ ขยะไร้ค่า” คำถามชวนคิด ที่นำไปสู่การค้นหาคำตอบผ่านการทำโครงการสร้างดิน สร้างฅน ของน้อง ๆ เยาวชนกลุ่มดาวดิน  

แปลงปัญหาเป็นนวัตกรรม

โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อม บริเวณโรงเรียนจึงเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด สร้างความร่มรื่น ยังประโยชน์ให้ครูและนักเรียนในโรงเรียน แต่เพราะมีต้นไม้เยอะ ทำให้แต่ละวันมีใบไม้ร่วงเป็นจำนวนมาก แม้จะจัดเวรให้นักเรียนทำความสะอาดรวบรวมใบไม้ที่หล่นเกลื่อนกลาดไปทิ้งถังขยะแล้วก็ตาม แต่ปัญหาคือ รถขยะไม่รับเศษใบไม้ โดยให้เหตุผลว่าใบไม้ไม่ใช่ขยะ ใบไม้ที่กองรวมกันจึงทับถมส่งกลิ่นรบกวน แถมยังทำให้ภูมิทัศน์ของโรงเรียนไม่สวยงาม เป็นสถานการณ์ที่ หนึ่ง-กิตติ สุวรรณโณ คิว-พรรณี ศรีใจ แอน-เอมอร สิงขรัตน์ วิว-สุนิสา การชนไชย และ ตี๋ต้น-สินชัย แซ่ตั้ง สังเกตเห็น ในขณะที่นักเรียนที่เรียนวิชาเกษตรมีความต้องการจะใช้ดินจำนวนมาก โรงเรียนจึงต้องใช้งบประมาณสั่งซื้อดินมา

แกนนำทั้ง 5 คน และครูโต-สุวภา ละอองจิต ที่ปรึกษาโครงการ ช่วยกันระดมความคิดจาก 2 สถานการณ์ที่สังเกตเห็น จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างดิน สร้างฅนขึ้น ที่จะนำใบไม้ดังกล่าวมาผลิตเป็น “ดินใบไม้” นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อดิน ทำให้บริเวณในโรงเรียนมีภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น และทีมงานใช้โอกาสการทำโครงการรพัฒนาตนเองให้มีทักษะชีวิตมากขึ้น 

ดินที่ผลิตได้ ทีมงานมีเป้าหมายจะจัดสรรออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นโซนในการทดลองดิน นำดินมาทดลองใช้เพื่อปรับภูมิทัศน์บริเวณห้องน้ำ เช่น ปลูกพืชสวนครัว พืชสมุนไพร เป็นต้น และส่วนที่สองนำไปจำหน่าย เพื่อนำรายได้มาซื้ออุปกรณ์การเรียนช่วยเหลือน้องมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนที่มีฐานะยากจน 

“เมื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจนแล้ว พวกเขาเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลสูตรการทำดินจากเศษใบไม้ จากแหล่งต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ห้องสมุด รวมถึงสอบถามคุณครูผู้รู้ในโรงเรียน เพื่อวิเคราะห์ว่าแต่ละสูตรแตกต่างกันอย่างไร สูตรไหนมีประสิทธิภาพดี และมีระยะเวลาการหมักเร็วที่สุด”


แปลงใบไม้ให้เป็นดิน

เพื่อให้การทำโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียนในโรงเรียน ทีมงานจึงช่วยกันออกแบบกิจกรรมในโครงการ เริ่มจากประชาสัมพันธ์ รับสมัครเพื่อนๆ ร่วมกิจกรรมโครงการหน้าเสาธง โดยแต่ละคนแบ่งกันรับผิดชอบเป็นโซนๆ และรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมในโซนตนเอง จากนั้นจึงทำกิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของใบไม้ ประสานงานกับโรงเรียนขอพื้นที่สำหรับทำดิน สร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการจัดทำบ่อดิน รับบริจาคใบไม้จากนักเรียนในโรงเรียนที่แบ่งตามเวรเก็บใบไม้ ต่อด้วยกิจกรรม ปฏิบัติการหมักใบไม้ทำดิน รวบรวมใบไม้มาเก็บไว้ที่บ่อดิน ใช้เวลาหมักประมาณ 2 เดือน หาพันธุ์ไม้ (พืชผักสวนครัว สมุนไพร) จากบ้านสมาชิกและจากชุมชน นำมาปลูกบริเวณโซนทดลองดิน ปิดท้ายด้วยการทดสอบดินและปรับภูมิทัศน์ นำดินที่ได้จากการหมักใบไม้ไปใช้ปลูกต้นไม้ในโซนทดลอง 

ทีมงานบอกว่า เมื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจนแล้ว พวกเขาเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลสูตรการทำดินจากเศษใบไม้ จากแหล่งต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ห้องสมุด รวมถึงสอบถามคุณครูผู้รู้ในโรงเรียน เพื่อวิเคราะห์ว่าแต่ละสูตรแตกต่างกันอย่างไร สูตรไหนมีประสิทธิภาพดี และมีระยะเวลาการหมักเร็วที่สุด จนมาลงตัวที่สูตรฉบับโรงเรียนพะตงประธานคีรีวัฒน์ เริ่มจากเตรียมวัตถุดิบ ผสมคลุกเคล้าเศษใบไม้ทั้งที่แห้งและสดกับมูลสัตว์ หรือเศษผักผลไม้ที่เหลือใช้จากโรงอาหาร ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ลงไปในบ่อดิน ราดน้ำหมักให้มีความชื้นพอดี ให้ส่วนผสมไม่แห้งเกินไปและไม่แฉะเกินไป แล้วตั้งทิ้งไว้ในร่ม 

จากนั้นคอยพลิกกลับวันละครั้ง เพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์นำไปใช้ในการย่อยสลาย หมักไว้ 30 วัน จึงนำไปตากจนแห้งสนิท จึงสามารถนำไปใช้ได้ แต่ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ไม่สามารถนำไปใช้ปลูกพืชในกระถาง แทนดินปลูกได้ เพราะจุลธาตุและธาตุอาหารต่าง ๆ ที่มีมากในปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้พืชตายได้ หากจะนำไปปลูกพืชกระถางจึงควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์แต่น้อย เช่น ใช้ดินปลูก 10 ส่วนต่อปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน เป็นต้น


สร้างดิน สร้างฅน

การได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้ทีมงานเห็นความสำคัญของสิ่งเล็ก ๆ ที่คนอื่นมองว่าไร้ค่า แต่พวกเขาสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งนอกจากได้ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ในวิชาเกษตร และช่วยเหลือเพื่อนที่มีฐานะยากจนแล้ว ยังช่วยลดการเผาใบไม้ในโรงเรียน ลดมลพิษ และสภาพแวดล้อมสะอาดขึ้น  รู้สึกเหมือนกับเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทดลองจากของจริง เป็นความรู้ใหม่ที่พวกเราไม่เคยทำมาก่อน ดีใจและปลื้มใจที่นักเรียนทุกคนในโรงเรียนร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันทำกิจกรรม และนำความรู้เรื่องการทำดินจากใบไม้กลับไปใช้ที่บ้านด้วย” ทีมงานบอกเล่ารายละเอียด

“เมื่อก่อนจะทำอะไรแต่ละอย่างไม่สามารถลำดับขั้นตอนได้ว่าอันไหนมาก่อนมาหลัง และตอนนี้กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เช่น ในการทำกิจกรรมทุกครั้ง ทีมงานจะมีการตัดสินใจร่วมกัน เมื่องานสำเร็จก็ภูมิใจร่วมกัน เมื่อโดนตำหนิก็โดนตำหนิร่วมกัน ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจ ทำให้ทีมงานเกิดความผูกพัน และสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น”

ส่วนที่ว่าชอบกิจกรรมไหนมากที่สุด ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบกิจกรรมทดสอบดินและปรับภูมิทัศน์มากที่สุด เพราะมีน้อง ๆ ในโรงเรียนให้ความสนใจนำต้นไม้มาคนละต้นจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นกุหลาบ เตยหอม ฯลฯ มาร่วมปลูกกัน หลังปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามแล้ว ทีมงานจะคอยสังเกตว่า ต้นไม้เป็นอย่างไร ผ่านไป 1 เดือนครึ่ง ต้นไม้ที่ปลูกยังแข็งแรง และที่สำคัญต้นกุหลาบบางต้นเริ่มออกดอกมาให้ชื่นใจ พวกเขารู้สึกดีใจที่สามารถทำ “ดินจากใบไม้” ที่หลายคนมองว่าไร้ค่า ให้กลับมามีค่าได้สำเร็จ

ผลจากการปฏิบัติจริง ทำให้ทีมงานทุกคนต่างพัฒนาเรื่องกระบวนการคิด โดยเฉพาะการคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดอย่างเป็นระบบ คิดเชื่อมโยง ซึ่งเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในโรงเรียน ที่หลายคนมองไม่เห็นคุณค่าของใบไม้ แต่กลับเป็นสิ่งที่ทีมงานเลือกที่จะทำ จนทำให้ผู้บริหารของโรงเรียนเห็นถึงความสำคัญ และคอยสนับสนุนโครงการจนสำเร็จ นอกจากนี้ทีมงานยังได้เรียนรู้เรื่อง การเคารพความเห็นของเพื่อน ๆ รู้จักการบริหารจัดการเวลา การทำงานอย่างเป็นระบบ

“เมื่อก่อนจะทำอะไรแต่ละอย่างไม่สามารถลำดับขั้นตอนได้ว่าอันไหนมาก่อนมาหลัง และตอนนี้กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เช่น ในการทำกิจกรรมทุกครั้ง ทีมงานจะมีการตัดสินใจร่วมกัน เมื่องานสำเร็จก็ภูมิใจร่วมกัน เมื่อโดนตำหนิก็โดนตำหนิร่วมกัน ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจ ทำให้ทีมงานเกิดความผูกพัน และสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น”

จากสถานการณ์รอบตัวที่สังเกตเห็น แล้ววิเคราะห์เห็นความเชื่อมโยงได้ สู่การลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาจนสำเร็จ บทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่าเราทุกคนสามารถมีส่วนในการแก้ปัญหาของสังคมได้ โดยเฉพาะสังคม ชุมชนเล็กๆ ที่เราอาศัย

“หลังจากทำโครงการนี้ สิ่งที่เราได้ มันไม่ใช่แค่ “ดิน” แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นคือ “จิตสาธารณะ” ต่อส่วนรวม และการที่เราเห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเอง”


โครงการ : สร้างดิน สร้างฅน

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูสุวภา ละอองจิต โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัตน์

ทีมทำงาน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพะตงประธานคีรีวัตน์

( กิตติ สุวรรณโณ ) ( พรรณี ศรีใจ ) ( เอมอร สิงขรัตน์ ) ( สุนิสา การชนไชย ) ( สินชัย แซ่ตั้ง )