การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปะการฟ้อนรำไตลื้อและดนตรีพื้นบ้าน จังหวัดน่าน ปี 2

“ฟ้อน” เพื่อ “ฟื้น” สำนึกไตลื้อ

โครงการสืบสานศิลปะการฟ้อนรำไตลื้อและดนตรีพื้นบ้าน

“เมื่อก่อนเวลาฟ้อนก็ฟ้อนไปเรื่อย ไม่รู้ความหมาย แต่พอเรามาทำโครงการนี้ ทำให้เราทราบถึงความเป็นมาของท่ารำ ที่สอดแทรกวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ทำให้เรารู้สึกรักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น”

ผู้ใหญ่ต้อง “เปิดโอกาส” และ “เปิดพื้นที่” ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก...

เมื่อผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ) ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน “เปิดโอกาส” ให้เยาวชนได้ร่วมกิจกรรมในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จังหวัดน่าน ความรู้สึกของทีมงานเยาวชนในตำบล ซึ่งประกอบด้วย พลอย-วรรณิษา วงศ์คำช้าง แอมป์-พวงพร บุญพันธ์ กระต่าย-สมพร คำรังชี ปุ๊กกี้-จิราดา เทพจันตา และ แอ๊ด-อรัญญาทิพย์ ทัพมงคลรัตน์ คือ ไม่ได้อยากทำโครงการนัก เพราะยังไม่รู้ว่าการทำโครงการนั้นทำอย่างไร แต่เมื่อได้ร่วมเรียนรู้กับพี่เลี้ยงโครงการฯ ที่พาคิด พาทำ ไปทีละขั้นตอน จึงรู้สึกมั่นใจขึ้นว่า สิ่งที่จะทำในโครงการของกลุ่มมีความเป็นไปได้

ค้นหาสิ่งที่ใช่จากความชอบ

“เมื่อทบทวนสถานการณ์ที่พบเห็นในปัจจุบันที่เยาวชนไทลื้อส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงตนว่า เป็นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งการใช้ภาษา การแต่งกาย ทำให้แกนนำส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนไทลื้อรู้สึกว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่คุกคามความเป็นตัวตนและรากเหง้าของตนเอง”

ด้วยความชื่นชอบการร่ายรำที่ได้เคยฝึกฝนกับคุณครูในกิจกรรมชุมนุมของโรงเรียนมาก่อน แต่ในระยะหลังที่คุณครูป่วยทำให้การฝึกซ้อมร้างลาไป ประกอบกับเมื่อได้ทบทวนสถานการณ์ที่พบเห็นในปัจจุบันที่เยาวชนไทลื้อส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงตนว่า เป็นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งการใช้ภาษา การแต่งกาย ทำให้แกนนำส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนไทลื้อรู้สึกว่า “นี่เป็นสถานการณ์ที่คุกคามความเป็นตัวตนและรากเหง้าของตนเอง”

“สังเกตได้จากกิจกรรมงานไทลื้อประจำปี ก็จะเห็นแต่คนรุ่นอายุราว ๆ ประมาณ 40 กว่าขึ้นไปที่จะแต่งตัวไทลื้อ แต่คนส่วนมากและเด็ก ๆ ที่ไปร่วมงาน ก็จะแต่งชุดธรรมดา บอกว่างานไทลื้อ แต่กลับไม่แต่งตัวไทลื้อไปเราก็แอบไปถามเด็ก ๆ เขาก็บอกว่า ไม่แต่งหรอก อายที่จะเป็นชาวไทลื้อ” ปุ๊กกี้ เล่าเบื้องหลังแรงบันดาลใจ

คำตอบที่ได้รับ ทำให้รู้สึกตกใจ เพราะทีมงานไม่ได้รู้สึกว่า การเป็นไทลื้อเป็นเรื่องน่าอาย หากแต่เป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจ แต่ขณะนั้นทำได้เพียงเก็บงำสิ่งที่ได้รับรู้มาไว้ในใจ จนกระทั่งได้เข้าร่วมเรียนรู้ในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการกับพี่ๆ ในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดน่าน ความรู้สึกดังกล่าวจึงผุดออกมาเป็นโจทย์โครงการ เพราะ “ตระหนัก” ว่า หากปล่อยไปอย่างนี้ สักวันความเป็นไทลื้อย่อมถูกกลืนหายไปจากสังคม

ปุ๊กกี้ เล่าต่อว่า ตอนแรกพวกเราไม่รู้ว่า การทำโครงการเป็นอย่างไร แต่พอถาม พี่ ๆ เขาก็ถามกลับว่า พวกเราอยากทำโครงการเกี่ยวกับอะไร ตอนแรกคิดทำเรื่องการเดินแถว แต่ติดว่า มันเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว จึงระดมความคิดกันว่าจะทำอะไรดี จนได้เป็นโครงการฟ้อนไทลื้อและทอผ้า เพราะพวกเราส่วนใหญ่ชอบงานด้านวัฒนธรรมกันอยู่แล้ว

ทีมงานเลือกเรื่องที่ชอบ และคิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่ใช่ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อให้ยังคงอยู่ต่อไป โดยจัดทำเป็นโครงการสืบสานศิลปะการฟ้อนรำไตลื้อและดนตรีพื้นบ้าน โดยในการดำเนินโครงการ ทีมงานได้ขออนุญาตทางโรงเรียนตั้ง “ชุมนุมนาฎศิลป์” เพื่อเป็นช่องทางในการทำกิจกรรมในชั่วโมงชุมนุมที่มีอยู่ทุกสัปดาห์ และบรรจุอยู่ในตารางเรียนของทุกคน แล้วจึงประกาศรับสมัครสมาชิกเพื่อถ่ายทอดศิลปะการรำและการเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวไทลื้อ

“ค้น” ให้ลึกถึงความหมาย

แม้ว่าทีมงานบางคนจะสามารถรำไทลื้อได้บ้างแล้ว แต่เพื่อให้การสืบทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงเป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบแผนของชาวไทลื้อ ทีมงานจึงวางแผนการสืบค้นข้อมูลเพลงฟ้อนในแบบไทลื้อ ท่าฟ้อนในแบบไทลื้อ ความหมายของท่าฟ้อนรำ ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการฟ้อนของชาวไทลื้อ ดนตรีพื้นบ้าน (ฆ้อง กลอง ฉาบ สะล้อ ซอ พิณ) อาชีพของชาวไทลื้อ และความหมายของชุดไทลื้อ

รายชื่อครูภูมิปัญญาและผู้รู้ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลงอบ คือ หมู่ 1 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 8 หมู่ 9 และหมู่ 10 ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ถูกระดมขึ้นมา เพื่อให้ทีมงานใช้เป็นแนวทางเข้าไปสอบถามข้อมูลตามกรอบคำถามที่ช่วยกันคิดไว้ใครอาศัยอยู่หมู่บ้านใดก็จะทำหน้าที่สอบถามผู้รู้ในหมู่บ้านนั้น ๆ เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงจัดประชุมให้ทีมงานแต่ละคนเล่าเนื้อหาที่ได้มา โดยขั้นแรกทีมงานช่วยกันรวบรวมเพื่อตรวจสอบว่า ได้เนื้อหาครบตามที่วางแผนไว้หรือไม่

“ขาดเรื่องดนตรีพื้นบ้าน เพราะพวกเราไปสอบถามครูภูมิปัญญาแล้ว ไม่มีใครรู้รายละเอียดมากนัก จึงปรึกษากันว่า รวบรวมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการฟ้อนรำก่อน เพราะเราได้ข้อมูล ประวัติความเป็นมา ท่าฟ้อน ความหมายของท่าฟ้อน” ทีมงานอธิบาย

สำหรับการจัดการข้อมูลที่แต่ละคนได้สอบถามมา ถ้าเป็นข้อมูลที่ตรงกัน ทีมงานจะบันทึกไว้ ส่วนข้อมูลส่วนไหนที่ยังมีความแตกต่าง คลาดเคลื่อนกัน ทีมงานจะรวบรวมไว้ แล้วนำไปสอบถามกับครูวิทูร อินยา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน และปัจจุบันเป็นประธานชมรมไทลื้อจังหวัดน่าน เพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ทีมงานได้พิจารณาร่วมกันถึงข้อจำกัดด้านเวลาของตนเอง จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ยังจะไม่หาข้อมูลในส่วนของดนตรีพื้นบ้านเพิ่มเติม แต่จะมุ่งเน้นการสืบสานในเรื่องการรำไทลื้อตำหูกก่อน

การศึกษาเรื่องราวประวัติความเป็นมาและความหมายของท่ารำ เป็นกระบวนการที่ทีมงานบอกว่า ทำให้เกิดความลึกซึ้งในศิลปะวัฒนธรรมของไทลื้อมากกว่าเดิม จากที่เคยรำ ๆ ไปตามที่ครูสอนครูสั่ง เพราะมีความหมายแฝงเร้นอยู่ในท่วงท่าการร่ายรำ เช่น ท่ารำไตลื้อตำหูก (ไทลื้อทอผ้า) ที่ทีมงานตั้งใจไปสืบค้นข้อมูลประวัติความเป็นมาและความหมายของท่ารำนั้น เป็นท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นจากท่าทางในการทอผ้าของผู้หญิงชาวไทลื้อ ซึ่งในอดีตต้องทอผ้าใช้เองในครัวเรือน โดยต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้ายจนถึงการทอสำเร็จเป็นผืนผ้า รวมไปถึงการตัดเย็บเพื่อสวมใส่เองด้วย วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของท่ารำ 13 ท่า คือ ท่าไหว้ ท่าปลูกฝ้าย ท่าเก็บฝ้าย ท่าอีดฝ้าย ท่าปดฝ้าย ท่าคลี่ฝ้าย ท่าล้อฝ้าย ท่าปั่นฝ้าย ท่าเปียฝ้าย ท่าผัดหลอด ท่าเข็นหูก ท่าต่ำหูก (ทอผ้า) ท่าแสดงผ้าที่ทอเสร็จเรียบร้อยตลอดจนการสวมใส่

“เมื่อก่อนเวลาฟ้อนก็ฟ้อนไปเรื่อย ไม่รู้ความหมาย แต่พอเรามาทำโครงการนี้ ทำให้เราทราบถึงความเป็นมาของท่ารำ ที่สอดแทรกวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ทำให้เรารู้สึกรักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น” ปุ๊กกี้สารภาพถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปหลังจากทราบถึงที่มาของท่ารำ

“เมื่อเกิดความซาบซึ้งต่อ “คุณค่าความหมาย” ทีมงานจึงมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องความเป็นมาของการฟ้อนรำสู่น้อง ๆ ในชุมนุม ไปพร้อม ๆ กับการสอนรำ...พี่สอนน้องฝึกไปทีละท่า ๆ ทุกวันอังคารในชั่วโมงชุมนุมของโรงเรียน การฝึกรำที่ต้องอาศัยทั้งความจำ และความอุตสาหะ ทำให้ต้องสอนกันมากกว่า 10 ครั้ง น้อง ๆ ที่ฝึกใหม่จึงจะเริ่มจดจำท่วงท่าได้ แต่ทุกคนไม่มีใครยอมแพ้ เพราะสิ่งนี้กลายเป็น “ความรัก” ที่ทำให้สามารถอดทนฝึกฝนต่อไปได้

จากผู้สืบสาน...สู่ผู้ถ่ายทอด

เมื่อเกิดความซาบซึ้งต่อ “คุณค่าความหมาย” ทีมงานจึงมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องความเป็นมาของการฟ้อนรำสู่น้อง ๆ ในชุมนุม ไปพร้อม ๆ กับการสอนรำ ซึ่งพี่ ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่รำเป็น มีอยู่ 10 คน จะทำหน้าที่เป็นผู้สอนน้องในชุมนุมที่มีเกือบ 30 คนอย่างใกล้ชิด พี่สอนน้องฝึกไปทีละท่า ๆ ทุกวันอังคารในชั่วโมงชุมนุมของโรงเรียน การฝึกรำที่ต้องอาศัยทั้งความจำ และความอุตสาหะ ทำให้ต้องสอนกันมากกว่า 10 ครั้ง น้อง ๆ ที่ฝึกใหม่จึงจะเริ่มจดจำท่วงท่าได้ แต่ทุกคนไม่มีใครยอมแพ้ เพราะสิ่งนี้กลายเป็นความรักที่ทำให้สามารถอดทนฝึกฝนต่อไปได้ แม้กระทั่งแอ๊ด ซึ่งเป็นรุ่นน้องชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ขอเข้าร่วมทีม ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวขมุ (ชาติพันธุ์ขมุ) เพราะสนใจวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ

“จากงานที่ไม่อยากจะทำในช่วงแรก กลายเป็นงานที่ทีมงานทุกคนภาคภูมิใจในวันนี้ เพราะต่างร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน ทั้งเรื่องการจัดการเวลาที่ว่างไม่ค่อยตรงกัน ความร่วมมือของสมาชิกที่กระพร่องกระแพร่ง บางครั้งตกลงนัดหมายกันแล้ว เพื่อนไม่มา จนทำให้แกนนำท้อ แต่ก็อดทนกัดฟันทำกันต่อ ด้วยสำนึกว่า “เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบ” รับมาแล้วต้องทำให้สำเร็จ”

เมื่อฝึกรำได้เข้าที่เข้าทาง ทีมงานตั้งใจจะจัดงานเผยแพร่วัฒนธรรมไทลื้อ เพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่ได้ศึกษามาให้สมาชิกในโรงเรียนได้รับรู้ โดยเชิญครูวิทูร อินยามาบรรยายให้ความรู้ ประกอบกับนิทรรศการและการแสดงของกลุ่ม อันจะเป็นเวทีเปิดตัว อวดฝีมือการร่ายรำของน้องๆ รุ่นใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย

จากงานที่ไม่อยากจะทำในช่วงแรก กลายเป็นงานที่ทีมงานทุกคนภาคภูมิใจในวันนี้ เพราะต่างร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน ทั้งเรื่องการจัดการเวลาที่ว่างไม่ค่อยตรงกัน ความร่วมมือของสมาชิกที่กระพร่องกระแพร่ง บางครั้งตกลงนัดหมายกันแล้ว เพื่อนไม่มา จนทำให้แกนนำท้อ แต่ก็อดทนกัดฟันทำกันต่อ ด้วยสำนึกว่า “เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบ” รับมาแล้วต้องทำให้สำเร็จ และที่สำคัญคือ เมื่อคิดย้อนไปถึงวันแรกที่เริ่มทำโครงการกว่าจะพัฒนาข้อเสนอโครงการจนได้รับการสนับสนุนนั้น ยากเกินกว่าจะยอมปล่อยให้หลุดมือไปง่าย ๆ ในวันนี้

“มันเป็นหน้าที่ของเรา รับมาแล้ว เราต้องทำครับ” กระต่ายประกาศความตั้งใจ

ในขณะเดียวกันปุ๊กกี้ก็เสริมว่า บ่อยครั้งที่เกิดความรู้สึกท้อ แต่เธอมีแหล่งพลังใจส่วนตัวคือ “อย่างแรกคุยกับแม่เลยค่ะ ก็คุยกับแม่ว่า หนูทำกิจกรรมนี้แล้วเพื่อนเค้าไม่ช่วยหนู คือหนูท้อ ไม่อยากทำแล้ว แม่ก็ให้กำลังใจบอกว่า อย่าคิดแบบนั้น เราเป็นผู้นำ ถ้าเราทำได้ เราก็ทำไป เชื่อว่าสักวันหนึ่งเพื่อนต้องเห็นความสำคัญของเรา เห็นว่าเราชักจูงไปในทางที่ดี”

เมื่อรับรู้ว่า การทำกิจกรรมคืองานที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการเรียน ทีมงานจึงเรียนรู้ที่จะแบ่งเวลาในชีวิตให้เป็นระบบมากขึ้น ทุกคนบอกว่า เรียนก็เหนื่อย การบ้านก็เยอะ แล้วต้องทำกิจกรรมทั้งของโรงเรียน และของกลุ่ม ทำให้ต้องจัดการตนเอง เช่น ถ้ามีการบ้านก็ต้องรีบทำให้เสร็จในตอนพักเที่ยง เพื่อที่จะได้มีเวลาว่างเพื่อทำกิจกรรม แต่กระนั้นเมื่อทีมงานส่วนหนึ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในโรงเรียน ก็ต้องแยกย้ายกันไปเรียนต่อต่างสถานศึกษา กระต่ายและแอมป์ เรียนต่อที่โรงเรียนทุ่งช้าง ปุ๊กกี้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเชียงกลาง คงเหลือพลอยและแอ๊ดที่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเดิม ทำให้ทีมงานต้องปรับเวลาการทำงานเป็นพบเจอกันในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งทำให้การทำงานยากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“ถ้ามีการบ้าน เราก็ต้องทำให้เสร็จในโรงเรียน เราจะไม่มาทำที่บ้าน แล้วก็พอมาถึงที่บ้าน เราก็ต้องมาทำงานที่เพื่อนให้ไว้ เพราะไม่ได้มีอย่างเดียว มีโครงการนี้ งานของโรงเรียน งานของห้องอีก มันสับสนไปหมดเลย จนต้องลำดับความสำคัญ อันไหนถึงกำหนดส่งงานก่อนก็ทำอันนั้นก่อน” กระต่ายเล่าถึงการจัดการของตนเอง

ทีมงานทุกคนเห็นถึงประโยชน์ของการทำโครงการที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทั้งความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การพัฒนาความรับผิดชอบ และที่สำคัญคือ ความรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดและถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมของไทลื้อ

“ตอนแรกเห็นเขารำก็เฉย ๆ รำได้ก็รำไป ไม่มีอะไรมาก แสดงก็แสดง แต่พอเรามาทำจุดนี้แล้ว รู้สึกภูมิใจในความเป็นชาวไทลื้อ ทำให้รู้สึกรักนาฏศิลป์มากขึ้น จนซาบซึ้งไปถึงกระแสเลือด แค่ได้ยินเสียงเพลง ก็คิดท่าฟ้อนออก มือไม้ตั้งท่ารำได้เลย” ปุ๊กกี้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในใจ ซึ่งเป็นแรงหนุนให้เธอเลือกไปเรียนต่อที่โรงเรียนเชียงกลาง ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องศิลปะการแสดงของไทลื้อ เพราะมีแผนชีวิตที่อยากเรียนต่อด้านนาฎศิลป์เพื่อจบมาเป็นครูสอนนาฎศิลป์ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในความสนใจ

“นอกจากซาบซึ้งใน “คุณค่าและความหมาย” ของการฟ้อนไทลื้อแล้ว การทำงานยังทำให้ทีมงานรู้ถึงจุดอ่อนในตัวเอง ที่ต่างยอมรับว่า เป็นคนที่ไม่ตรงต่อเวลา ทำให้เมื่อนัดหมายกันทำงานเกิดความล่าช้าบ่อย ๆ จุดอ่อนที่ยังแก้ไขไม่ได้นี้ จึงอยู่ในหัวข้อที่แต่ละคนจะปรับปรุงตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ รวมทั้งหาวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงาน”

“ตื่นรู้” จากการเรียนรู้

นอกจากซาบซึ้งใน “คุณค่าและความหมาย” ของการฟ้อนไทลื้อแล้ว การทำงานยังทำให้ทีมงานรู้ถึงจุดอ่อนในตัวเอง ที่ต่างยอมรับว่า เป็นคนที่ไม่ตรงต่อเวลา ทำให้เมื่อนัดหมายกันทำงานเกิดความล่าช้าบ่อย ๆ จุดอ่อนที่ยังแก้ไขไม่ได้นี้ จึงอยู่ในหัวข้อที่แต่ละคนจะปรับปรุงตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ รวมทั้งหาวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงาน เช่น ถ้าจะมาช้าก็จะโทรศัพท์มาแจ้งเพื่อน ๆ ก่อน หรือจัดการตัวเองให้มาให้ตรงเวลามากขึ้น

การที่กลายเป็นคนกล้าแสดงออก เป็นผลที่กระต่ายเล่าว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากที่สุด จากคนที่ไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออก เมื่อได้ลงมือทำงาน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้สอนน้อง ๆ ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น นั่นส่งผลดีต่อตนเองในการปรับตัวเมื่อต้องย้ายไปเรียนในโรงเรียนใหม่ ทำให้สามารถผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ๆ ได้ดี

ส่วนแอ๊ดซึ่งตั้งใจมาเรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนต่างเผ่า บอกว่า การมาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทำให้แอ๊ดได้เรียนรู้ทั้งการฟ้อนรำ และภาษาไทลื้อซึ่งมีความเฉพาะแตกต่างไปจากภาษาของตน การเข้าใจภาษานำมาซึ่งความเข้าใจวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ซึ่งทำให้แอ๊ดเข้าใจเพื่อน ๆ มากขึ้น และทุกวันนี้แอ๊ดจึงคบเพื่อนสนิทเป็นชาวไทลื้อได้อย่างไม่ขัดเขิน

ทั้งนี้ยังมีบทเรียนสำคัญของการเรียนรู้ผ่านการทำโครงการของทีมงานคือ การได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ต่างโครงการที่มาจากที่อื่น ๆ ในการอบรมของโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน การได้พบเพื่อนหลากหลายวัย หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายความคิดมุมมอง เป็นการเปิดโลกทัศน์ ที่ทำให้ทีมงานเห็นความงามของความแตกต่าง และเห็นบทเรียนการทำโครงการอื่น ๆ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของตนเอง และนำมาปรับปรุงการทำงานของตนเอง

“เพื่อน ๆ เขาจะเล่าว่า เขาทำแบบนั้นแล้วมีปัญหาแบบนี้ และเขาแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งบางอันก็ตรงกับที่เรามีปัญหาอยู่ แต่เราแก้ปัญหาไม่เหมือนเขา เราก็ได้คิดว่า ถ้าเราแก้ปัญหาแบบเขา อาจจะดีกว่านี้ไหม หรือจะเป็นอย่างไร” ปุ๊กกี้เล่าถึงการได้ย้อนคิดทบทวนตรึกตรองสะท้อนคิดของตนเอง ที่เธอบอกเพิ่มเติมว่า “มันทำให้เราจะรู้กระจ่างแจ้งมากขึ้นว่า ต้องทำอะไรต่อ คือ ต้องทำงานอย่างละเอียด ตอนแรกที่ทำไม่ค่อยละเอียด ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากขนาดนั้น ตั้งแต่ไปอบรมกลับมา จึงพยายามที่จะทำงานให้ดีที่สุด”

ดังนั้นการเรียนรู้ของทีมงานจึงไม่ได้อยู่แค่ในกรอบของโครงการของกลุ่มตนเองเท่านั้น หากแต่ “กระบวนการ” ที่ถูกหนุนเสริมเติมเต็ม ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเรียนรู้ ที่ทำให้ทีมงานเห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของการทำงานชัดเจนขึ้น

เด็กเรียนรู้...ครูก็เรียนรู้

“โดยส่วนตัวแล้วก็เป็นคนไทลื้อคนหนึ่ง เราเองก็ไม่เคยรู้เลยว่า ไทลื้อเป็นมาอย่างไร แต่พอมาเข้าโครงการนี้ ได้เห็นเด็ก ๆ เวลาไปอบรม เวลาที่เด็กไปสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เราก็ได้รู้ไปพร้อมกับเด็ก จึงเริ่มซึมซับเรื่องราวและรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทลื้อมากขึ้น”ครูแคท-อังคณา ระลึก ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ ที่อิดออดไม่อยากทำโครงการในช่วงแรก ๆ ครูในฐานะที่เด็ก ๆ มาขอให้เป็นที่ปรึกษา ก็รู้สึกไม่ต่างกัน คิดว่า คงเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก เพราะครูเองก็มีภาระงานที่ค่อนข้างมาก แต่ด้วยสายตาที่เว้าวอนของเด็ก ๆ จึงใจอ่อน รับปากที่จะร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน

บทบาทการเป็นที่ปรึกษาของครูแคทจึงเป็นการร่วมเรียนรู้และให้คำปรึกษา การประสานงาน การแนะนำแหล่งข้อมูลความรู้ให้แก่เด็ก ๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องอุปกรณ์ เทคโนโลยี และยานพาหนะ ซึ่งไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง ทำให้ครูแคทรู้สึกว่า ถึงจะเป็นภาระแต่ก็คุ้มค่า เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ที่กล้าแสดงออกมากขึ้น มีความสามัคคี มีความรับผิดชอบ และเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อได้อย่างน่าภูมิใจ

“โดยส่วนตัวแล้วก็เป็นคนไทลื้อคนหนึ่ง เราเองก็ไม่เคยรู้เลยว่า ไทลื้อเป็นมาอย่างไร แต่พอมาเข้าโครงการนี้ ได้เห็นเด็ก ๆ เวลาไปอบรม เวลาที่เด็กไปสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เราก็ได้รู้ไปพร้อมกับเด็ก จึงเริ่มซึมซับเรื่องราวและรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทลื้อมากขึ้น” ครูแคทเล่าถึงบทเรียนการเรียนรู้ของตนเอง

การทำงานที่พัฒนาความรับผิดชอบ สู้ฝ่าฟันความรู้สึกท้อถอย โดยไม่ปล่อยให้สิ่งที่ทำผ่านไปอย่างไร้ค่า บทเรียนที่รับรู้ ทำให้ตระหนักถึงจุดแข็งที่ควรภูมิใจ และจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง การ “ตื่นรู้” ของเยาวชนกลุ่มหนึ่งจากการร่ายรำตามเพลงโดยไม่รู้ความหมาย เป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อท่วงท่าที่สวยงามและเปี่ยมคุณค่า วันนี้ทีมงานทุกคนสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการแสดงของตนได้อย่างฉะฉาน ผสานกับการแสดงที่ทำให้ตระหนักถึงรากเหง้าของตนเองได้อย่างน่าภูมิใจ การร่ายรำต่อจากนี้จึงมิใช่การร่ายรำเพื่อให้ชื่นชมความงามเท่านั้น แต่เป็นการร่ายรำเพื่อบอกเล่าถึงวิถีไทลื้ออันเป็นรากเหง้านั่นเอง


โครงการ : สืบสานศิลปะการฟ้อนรำไตลื้อและดนตรีพื้นบ้าน

ที่ปรึกษาโครงการ : ( ครูอังคณา ระลึก ) ครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ)

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

  • ( วรรณิษา วงศ์คำช้าง ) มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ)
  • ( พวงพร บุญพันธ์ ) มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทุ่งช้าง
  • ( สมพร คำรังชี ) มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนทุ่งช้าง
  • ( จิราภา เทพจันตา ) มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเชียงกลาง
  • ( อรัญญาทิพย์ ทัพมงคลรัตน์ ) มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ)