"น้ำแล้ง” แต่ “ไม่ร้าง” เยาวชนน่านร่วมเรียนรู้ การจัดการและดูแลสายน้ำงอบ

เรียนรู้ “สายน้ำงอบ” ก่อนที่จะ “แล้ง” กับกลุ่มนักสืบสายน้ำตำบลงอบเยาวชนเมืองน่านที่ถูกปลุกพลังความเป็นพลเมืองเยาวชนด้วยกิจกรรมเรียนรู้จากพี่เลี้ยงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง และรู้คุณค่า “น้ำ” สำคัญแค่ไหน




โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ปี 2 ดำเนินโครงการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.น่าน มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งนับเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network กำลังเข้มข้นรับเดือนเมษา กับการที่ “พี่เลี้ยง” ในพื้นที่พาเยาวชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลถือเป็นการ“เรียนรู้”ก้าวแรกที่สำคัญในการ“สร้างสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง” วันนี้ติดตามดู “โครงการนักสืบสายน้ำ” เยาวชนจากตำบลงอบ เยาวชนตำบลงอบ เครือข่ายลุ่มน้ำงอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่านนำทีมโดยนางสาว รินรดาพานิช, นางสาวชลิตาเปาป่า , นางสาวสุพิญาคำรังสี , นายธีรเจตค้าข้าว และ นางสาว วิไล จันภิรมณ์ซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชนนี้ ได้นำทีมน้องๆ กว่า 20 คน อายุระหว่าง 14-20 ปี ขึ้นมาสำรวจป่าและร่วมสำรวจสายน้ำงอบบริเวณต้นน้ำงอบบ้านขุนน้ำลาดเป็นครั้งแรกร่วมกับผู้ใหญ่ โดยมีผู้ใหญ่ใจดีทีมวิจัยชาวบ้านขุนน้ำลาด ที่เป็นพี่ แม่ น้า อา กว่า 20 คน มาร่วมสำรวจและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงมีปราชญ์ชาวบ้านให้ข้อมูลกับทีมน้องๆ เยาวชนกิจกรรมครั้งนี้ ต้องการให้น้องๆได้เรียนรู้ สถานการณ์ปัญหาพันธุ์สัตว์น้ำพืชอาหารริมน้ำรวมถึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่




หลังจากสำรวจสายน้ำงอบแล้วทีมน้องๆกลุ่มนักสืบสายน้ำตำบลงอบร่วมกันทบทวนและสรุปบทเรียนการลงพื้นที่สำรวจต้นน้ำงอบทั้งในส่วนของสถานการณ์ภัยคุกคามปริมาณน้ำจำนวนลำห้วยสาขาที่ไหลลงสู่ลำน้ำงอบซึ่งถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญของชุมชนตำบลงอบที่ได้ใช้น้ำจากลำน้ำงอบทั้งในส่วนของการใช้โยชน์จากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้อย่างเข้าใจถึงความสำคัญของสายน้ำต่อตนเอง ชุมชน และประเทศอย่างไร ต่างช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ต้นน้ำ ลุ่มน้ำงอบ ป่าต้นน้ำ แหล่งต้นน้ำพืช สัตว์ ปริมาณและคุณภาพน้ำ และการจัดการน้ำของชุมชน จากการลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์พื้นที่ต้นน้ำ ทบทวนประวัติศาสตร์การจัดการน้ำของชุมชนจากปราชญ์ชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์ภัยคุกคามในปัจจุบัน ทำให้พบว่าในปัจจุบันสายน้ำงอบยังมีความอุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่สร้างความกังวลคือมีปริมาณน้ำและสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง ทำให้เยาวชนเกิดความตระหนักและจะนำข้อมูลนี้คืนกลับให้ชุมชน เพื่อหาแนวทางในการรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำของชุมชนให้กลับมาคืนดั้งเดิมต่อไป




การลงพื้นที่ครั้งนี้ น้องๆ เยาวชนบ้านขุนน้ำลาด ได้เรียนรู้เป็นอย่างมาก เพราะมีพี่ๆ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.น่าน มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) ร่วมด้วยนักวิจัยชุมชนบ้านขุนน้ำลาด อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน พื้นที่ต้นน้ำของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการ จากมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้ร่วมสะท้อน สิ่งที่ได้เห็นจากการลงเวทีนี้มีคุณค่าที่น่าสนใจมาได้แก่ 1) หัวใจของผู้ใหญ่ที่ใส่ใจในการดำรงอยู่ของป่า เพื่อเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชนจนคืนผืนที่ทำกินฟื้นฟูเป็นป่าต้นน้ำ จัดการความรู้ในการจัดการแหล่งน้ำผ่านการลงพื้นที่และวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน และกำลังจะส่งต่อคุณค่าและความรู้นี้สู่ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เรียนวิชานอกชุมชน 2) เห็นบทบาทของเยาวชนที่ใช้ศักยภาพของตน เรียนรู้จากการลงพื้นที่ ร่วมลงมือศึกษาชุมชน สานต่อความรู้ และภูมิปัญญา โดยใช้ประสบการณ์ลงพื้นที่ "เก็บข้อมูล" คิดวิเคราะห์ วาดภาพ นำเสนอความรู้ รวมไปถึงปลุกหัวใจ สำนึกรักถิ่นแผ่นดินเกิดของตน แม้ว่าจะเพิ่งเป็นการเริ่มต้นของกิจกรรม ที่องค์ความรู้ยังมีไม่มาก ทักษะการคิดวิเคราะห์ และการน้ำเสนอยังต้องฝึกฝน แต่เราเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งน้องๆจะต้องเก่งขึ้น เพราะใจรักและก้าวแรกที่เริ่มต้นนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว 3) "การเปิดพื้นที่เรียนรู้" ร่วมกันระหว่าง เยาวชนและผู้ใหญ่ในชุมชน ที่ทำให้ช่องว่างความรู้ ความรัก และความสัมพันธ์ได้ลดน้อยลง จากกระบวนการเรียนรู้




“แต่เห็นเลยว่า น้องๆ ซึ่งเป็นเยาวชนที่ยังเพิ่งเริ่มเรียนรู้ ยังต้องเติมอีกเยอะครับ อาทิ เช่น การเติมเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะการตั้งโจทย์ หรือวางกรอบในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์สรุปข้อมูล และการจดบันทึก จัดเก็บเอกสารให้เป็นระบบ และการที่ พี่เลี้ยงช่วยตั้งคำถามสะท้อนคิดให้น้องๆ เชื่อมโยงว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของการใช้น้ำหรือไม่ อย่างไร เราเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์น้ำหรือไม่อย่างไร และเชื่อมโยงภาพใหญ่ว่าป่าต้นน้ำของเมืองน่านสำคัญอย่างไร เพื่อปลุกสำนึกเรื่องพลเมือง”



หน้าแล้งปี 2559 นี้ ทำให้ใจมีความหวังมากขึ้น อย่างน้อยที่ป่าต้นน้ำน่าน บ้านขุนน้ำลาด อ.ทุ่งช้าง ต้นทางของน้ำกินน้ำใช้ของบ้านเรา ที่ชุมชนคืนผืนป่า รักษาทรัพยากรและหยดน้ำในดิน ในป่า ในอากาศไว้ และยังมีเยาวชนรุ่นใหม่ที่เริ่มเรียนรู้บ้านของตัวเอง ไม่เพียงเพื่อชุมชนของตนเอง แต่เพื่อคนปลายน้ำอย่างเราด้วย.


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

(กรอบเช้า) 'น้ำแล้ง'แต่'ไม่ร้าง'เยาวชนน่านเรียนรู้สายน้ำงอบ

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ประจำวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559

 

หัวข้อข่าว :

(กรอบบ่าย) 'น้ำแล้ง'แต่'ไม่ร้าง'เยาวชนน่านเรียนรู้สายน้ำงอบ

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ประจำวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559

 

หัวข้อข่าว :

'น้ำแล้ง'แต่'ไม่ร้าง'เยาวชนน่านร่วมอนุรักษ์

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2559

 

หัวข้อข่าว :

น้ำแล้ง แต่ ไม่ร้าง เยาวชนน่านร่วมเรียนรู้การจัดการและดูแลสายน้ำงอบ

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2559

 

หัวข้อข่าว :

น้ำแล้ง แต่ไม่ร้าง-เยาวชนน่านร่วมเรียนรู้การจัดการและดูแลสายน้ำงอบ

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประจำวันอังคารที่ 19 เมษายน 2559