การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาแหล่งน้ำและอาหารในป่าชุมชนบ้านหัวนา จังหวัดน่าน ปี 2


ปลูกป่าในหัวใจคน เพื่อสร้างคนรักษาป่า

โครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนบ้านหัวนา

จากที่ชาวบ้านไม่สนใจ พอเห็นเด็ก ๆ ทำจริง ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเข้ามาช่วยเด็กทำ พอได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเด็ก ได้เห็นเด็ก ๆ ร่วมไม้ร่วมมือกันดี ชาวบ้านก็เริ่มยอมรับ นอกจากผู้ใหญ่แล้ว เด็กจากบ้านพงษ์กับบ้านป่าแดด หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ เห็นป่าบ้านหัวนาที่ฟื้นฟูขึ้นจากฝีมือของตัวเอง เขาก็อยากกลับไปพัฒนาป่าบ้านตัวเองด้วย เด็ก ๆ มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีปัญหาอะไรก็มานั่งพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง

จากโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านหัวนา ตำบลบ้านป่าแดด อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ที่ชวนเยาวชนและคนในชุมชนฟื้นฟูป่าชุมชนเมื่อปีก่อน แม้เวลาผ่านไปไม่นานนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ป่าชุมชนต้นน้ำได้อยู่อย่างสงบ โดยปราศจากการคุกคามจากน้ำมือมนุษย์ คนในชุมชนลุกขึ้นมาช่วยดูแลป่า กระทั่งปัจจุบันป่าต้นน้ำบ้านหัวนาฟื้นฟูจนกลับมีสภาพอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ครั้งนั้น...เยาวชนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่รวมตัวกันทำโครงการอย่างมุ่งมั่น เพราะทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแกนนำโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำ ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านในปีแรก ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) และสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีส่วนร่วมผลักดัน และส่งเสริมให้กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ในชุมชน หันมาให้ความร่วมมือและสนใจฟื้นฟูป่าอย่างจริงจัง เสียงตอบรับจากครั้งนั้นสะท้อนว่า “เพราะเด็กนำจริงผู้ใหญ่จึงยินดีตาม”


สานต่องานเดิม...เพื่อความยั่งยืนของป่าต้นน้ำ

“ทีมงานคาดหวังว่า โครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนา จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก ให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นเส้นทางแหล่งอาหารของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง รวมทั้งเป็นเส้นทางศึกษาเรียนรู้ด้านชีววิทยาแก่นักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ และระดับที่สอง ยกระดับป่าชุมชนต้นน้ำบ้านหัวนาให้เป็น “แหล่งเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ” ที่พร้อมเปิดรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวที่มีใจรักป่า ได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด”

นิ – จิรัชญา โลนันท์ หนึ่งในแกนนำเยาวชนจากโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำปีที่แล้ว ที่ปีนี้เป็นแกนนำหลักทำโครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนาอย่างเต็มตัว เนื่องจากแกนนำรุ่นก่อนจบการศึกษาและวางมือให้รุ่นน้องเข้ามารับช่วงต่อ หน้าที่ของนิจึงเริ่มตั้งแต่เฟ้นหาแกนนำรุ่นใหม่ คิดวางแผนการทำงาน การประสานงาน และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อต้องลงมือปฏิบัติงานจริง

“ปีที่แล้วเรายังมือใหม่ ทำโครงการแบบลองผิดลองถูก ปีนี้รู้สึกว่าทำงานง่ายขึ้น พวกเราคิดเอง เขียนโครงการเองทุกอย่าง ทั้งที่มา วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และทำงบประมาณต่าง ๆ ได้เอง กลายเป็นว่าปีนี้เราอยากทำอะไร อะไรที่คิดว่าทำได้เราเขียนหมด”

จากเป้าหมายปีแรก คือ การฟื้นฟูป่า สำหรับปีนี้นิและทีมงานคาดหวังว่า โครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนา จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก ให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นเส้นทางแหล่งอาหารของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง รวมทั้งเป็นเส้นทางศึกษาเรียนรู้ด้านชีววิทยาแก่นักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ และระดับที่สอง ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ การยกระดับป่าชุมชนต้นน้ำบ้านหัวนาให้เป็น “แหล่งเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ” ที่พร้อมเปิดรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวที่มีใจรักป่า ได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยมีเด็กและเยาวชนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์คอยนำทาง ซึ่งในส่วนของกิจกรรมมัคคุเทศก์ นิ ย้ำถึงวัตถุประสงค์สำคัญว่า ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักและเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำในชุมชนของตนเอง

“งานมัคคุเทศก์ เราต้องใช้เวลาฝึกฝนน้อง ๆ ทั้งจากบ้านหัวนา บ้านป่าแดด และบ้านพงษ์ ที่สนใจเข้ามาทำโครงการ ด้วยการชวนกันมาสำรวจพื้นที่ มาซ้อม และหาแกนนำรุ่นถัดไปมาร่วมเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ” นิ ขยายความ


เก็บข้อมูล พร้อมปลูกหัวใจรักป่า

ทั้งนี้ ทีมงานเริ่มต้นโครงการด้วยการประสานงานขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำพงษ์ ก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งต้นจากการเข้าไปอธิบายเป้าหมายการทำโครงการให้แต่ละฝ่ายได้รับทราบ

“ปีที่แล้วเราช่วยกันฟื้นฟูป่าแล้ว ปีนี้เราอยากทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชน เพื่อเชิญชวนคนอื่นให้เข้ามาเที่ยวชมป่าของเรา” นิ เล่าถึงวิธีคิดเพื่ออธิบายเป้าหมายการทำโครงการแบบกระชับ

หลังจากหาแนวร่วมได้แล้ว ทีมงานจึงช่วยกันออกแบบชุดจัดเก็บข้อมูลพืชพันธุ์ไม้ในป่าเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว เจมส์ – ชวกร โพงไชยราช ที่ร่วมหัวจมท้ายทำโครงการมาตั้งแต่ปีที่ 1 เล่าย้อนถึงการทำงานที่เชื่อมโยงจากปีแรกว่า ปีก่อนพวกเขาจัดเก็บข้อมูลพืชสมุนไพรและต้นไม้หายาก เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของป่าในแต่ละชั้น ปีนี้จึงตั้งใจเก็บข้อมูลเห็ด หน่อ และผลไม้ที่สามารถเก็บมารับประทานได้ แล้วผนวกข้อมูลจากแบบสำรวจทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อให้มีข้อมูลของป่าที่หลากหลาย ครอบคลุม

“การทำโครงการมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ เด็กและเยาวชนในชุนชน โดยเฉพาะน้อง ๆ ประถมศึกษา ทั้งนี้เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ จนเกิดความรักในผืนป่าของตนเอง”

เจมส์ ย้ำว่า การทำโครงการของพวกเขามีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ เด็กและเยาวชนในชุนชน โดยเฉพาะน้อง ๆ ประถมศึกษา ทั้งนี้เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ จนเกิดความรักในผืนป่าของตนเอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเตรียมชุดจัดเก็บข้อมูลพร้อมสรรพ ทีมงานจึงนำน้อง ๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนบ้านป่าแดด ลงพื้นที่สำรวจป่า พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจนได้

“ลงสำรวจครั้งแรกพาน้อง ๆ ไปด้วย เขาสนใจถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เยอะมากก็จริง แต่ยังห่วงเล่น ส่วนใหญ่เลยไม่ได้บันทึกข้อมูล ส่วนข้อมูลที่บันทึกได้ก็ผิดพลาดเยอะ น้องบางคนทำแบบสำรวจข้อมูลหายก็มี เราเลยต้องวางแผนไปกันเองครั้งที่ 2” เจมส์ เล่าถึงบทเรียนที่ได้รับจากการสำรวจป่าครั้งแรก

นิ เล่าต่อว่า การสำรวจครั้งที่ 2 ใช้วิธีลงสำรวจตามจุดสำคัญ 8 จุดที่กำหนดเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บันทึกระยะทางได้ทั้งหมด 2.6 กิโลเมตร ส่วนครั้งที่ 3 เป็นการลงพื้นที่ถ่ายรูป เพื่อนำเสนอภาพลงในแผนที่เส้นทางเดินป่า พร้อมเก็บข้อมูลประเภทเห็ดและหน่อที่เจอระหว่างทาง และสำรวจพืชผักกินได้ริมห้วย ทั้งนี้พืชผักที่พบส่วนใหญ่เป็นจำพวกผักกูดและใบเฟิร์น ส่วนเห็ดที่สามารถนำมารับประทานได้ ได้แก่ เห็ดด่าน เห็ดเครื่อง เห็ดแดง เห็ดไข่และเห็ดถอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลพืชพรรณธรรมชาติซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้ว การลงสำรวจพื้นที่ป่า ลัดเลาะลำห้วยยังทำให้กลุ่มเยาวชนแกนนำมีโอกาสได้เห็นระบบประปาภูเขาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ที่สำคัญของชุมชน

“ตอนแรกเราไม่ได้นึกถึงระบบประปาภูเขาเลย แต่พอขึ้นไปสำรวจกลับพบว่าประปาภูเขาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เรากำหนดไว้ เลยสามารถเชื่อมโยงเรื่องป่ากับน้ำเข้าด้วยกันได้แบบลงตัวมาก” นิ กล่าว


ทุนมนุษย์...ทุนที่ยั่งยืนของชุมชน

แผนการทำงานระหว่างทีมงานกับคนในชุมชน ถูกออกแบบขึ้นโดยการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติ ที่สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมในแต่ละส่วนนิ บอกว่า พื้นที่ชุมชนบ้านหัวนา หมู่ 9 เป็นจุดหลักของป่าชุมชนต้นน้ำซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็กราว 51ครัวเรือน ทีมงานจึงขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในชุมชนให้ส่งตัวแทนบ้านละ 1 คนเพื่อเข้ามารับข้อมูลการทำกิจกรรมของเยาวชน โดยมี ลุงเหลิม – เฉลิม เขียนนา และ หนานชัย – ขรรค์ชัย หิมมะวัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และลุงนวล ยานันท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 รวมทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 เป็นผู้ใหญ่ใจดีอยู่เบื้องหลังคอยช่วยกระตุ้นคนในชุมชนให้มาเข้าร่วมกิจกรรม

“เราเลือกขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำชุมชน และคนที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนในโครงการปีแรก แล้วได้รับความร่วมมือจากเขาเป็นอย่างดีให้มาช่วยเป็นกองหนุนการทำโครงการในปีที่ 2 อีก” เจมส์ อธิบาย

นอกเหนือจากการสำรวจป่าเพื่อเก็บข้อมูล การทำป้ายชื่อต้นไม้ไปติดตามต้นไม้ใหญ่ในป่า เป็นอีกหนึ่งงานที่กลุ่มเยาวชนขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำให้ช่วยพาเข้าไปสำรวจป่า กระทั่งนำป้ายไปติดตั้งอย่างถูกต้อง

“เราจำได้ว่าตอนแรกพวกเราขึ้นไปสำรวจ เราแทบไม่รู้จักต้นไม้กันเลย พอมาทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เลยคิดว่าต้องทำให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมรู้จักต้นไม้ด้วย ป้ายนี่แหละเป็นคำตอบ” เจมส์ กล่าว

ปลายทางของโครงการ คือ การเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนา ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงต้องวางแผนประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่และชุมชนข้างเคียง รวมทั้งสาธารณชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารก่อนถึงวันเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างเป็นทางการ

นิ วางแผนติดต่อขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนให้ประกาศเสียงตามสาย กระจายข่าวสารทางเพจเฟซบุ๊กและทางไลน์กลุ่ม รวมทั้งประสานความร่วมมือกับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ทั้ง 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านป่าแดด โรงเรียนบ้านดู่พงษ์ โรงเรียนศรีนาม่าน โรงเรียนบ้านศรีบุญเรืองและโรงเรียนสบยาง เพื่อนำเด็กและเยาวชนมาเข้าร่วมกิจกรรมในวันเปิดเส้นทาง

“พวกเราประสานงานกับ ผอ.ธีรชัย เชียงทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าแดด ให้ช่วยติดต่อไปตามโรงเรียนต่าง ๆ เนื่องจาก ผอ.เป็นหัวหน้ากลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสในแถบนี้” นิ อธิบายขั้นตอนการทำงาน

“ในวันเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พวกเราจะแบ่งหน้าที่เข้าไปประจำตามจุดทั้ง 8 จุด เพื่อคอยให้ข้อมูลแก่ผู้ที่มาร่วมงาน และขอความร่วมมือจากลุงนวลและเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำคอยประกบน้องๆ มัคคุเทศก์เผื่อในกรณีที่ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วน” เจมส์ กล่าว


พัฒนางาน พัฒนาตน 

ไม่เพียงแค่วางแผนดำเนินโครงการแต่ละขั้นตอนอย่างรัดกุมเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย สร้างเครือข่ายผู้ใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ บางครั้งทีมงานยังได้ขอความช่วยเหลือจากทีมพี่เลี้ยงโครงการให้มาช่วยถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อช่วยเติมเต็มและให้ทีมเห็นจุดที่จะพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

“บางครั้งเราวางแผนทำกิจกรรม อาจตกหล่นประเด็นสำคัญบางอย่างไป พี่ ๆ จะเข้ามาช่วยดู ชวนให้เราคิดกลับไปทบทวนสิ่งที่ทำ ทำให้ได้เห็นข้อบกพร่องหรือสิ่งที่เรานึกไม่ถึง อย่างในวันเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เราได้ข้อเสนอแนะเพื่อวัดความสำเร็จของการทำโครงการด้วยการลงทะเบียนผู้มาร่วมงานแล้วนำสถิติไปเปรียบเทียบกับผู้ที่มาร่วมโครงการในปีที่แล้ว” นิ กล่าว

“การให้น้อง ๆ ได้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ตัวเองเคยทำในปีที่ผ่านมา รวมทั้งมองหาทุนในชุมชนที่มีอยู่ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางความคิด จนทำให้ทีมงานมองเห็นศักยภาพของตัวเองที่จะต่อยอดโครงการปีที่สองไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการทำโครงการปีแรกได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน”

แต๋ม – ฐิติรัตน์ สุทธเขต พี่เลี้ยงโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน กล่าวว่า การให้น้อง ๆ ได้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ตัวเองเคยทำในปีที่ผ่านมา รวมทั้งมองหาทุนในชุมชนที่มีอยู่ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางความคิด จนทำให้ทีมงานมองเห็นศักยภาพของตัวเองที่จะต่อยอดโครงการปีที่สองไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการทำโครงการปีแรกอย่างเป็นลำดับขั้นตอนได้

ขณะที่นิ เสริมว่า การถอดบทเรียนมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยสะท้อนให้แต่ละคนเห็นตัวเอง เธอเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเองว่า มีพัฒนาการด้านความกล้าแสดงออกทางการพูดมากที่สุด จากเดิมเป็นคนเงียบๆ ไม่พูดไม่จาและไม่สุงสิงกับคนแปลกหน้า แต่ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อโครงการตั้งแต่ปีแรกกระทั่งก้าวสู่ปีที่สอง สิ่งนี้ผลักดันให้เธอต้องพูดในสิ่งที่ตัวเองและกลุ่มเยาวชนแกนนำร่วมกันทำ ทั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งความคืบหน้าต่าง ๆ ให้ทั้งคนภายในและภายนอกชุมชนได้รับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้อง

“มีจุดหนึ่งที่เราสั่งให้คนอื่นทำแล้วไม่มีใครทำตามที่สั่ง เลยต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองใหม่ แล้วคิดได้ว่าเราควรรับฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วย ถ้าฟังเราจะได้ความคิดหลากหลาย แล้วนำไอเดียของแต่ละคนมาผสมผสานกันได้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งดีกว่าการคิดเองคนเดียวแล้วบอกให้คนอื่นทำตาม หรือบางครั้งถ้าเราไม่ฟังจะไม่มีทางรู้เลยว่าคนอื่นมีปัญหาอะไรบ้าง”

นิ ยอมรับอย่างเต็มปากว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยนำทีมแบบเผด็จการด้วยการสั่งให้เพื่อนสมาชิกทำตามที่ตัวเองต้องการ แต่ปัจจุบันเธอมีภาวะความเป็นผู้นำและเห็นคุณค่าของการทำงานเป็นทีม ผลจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงทำให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“มีจุดหนึ่งที่เราสั่งให้คนอื่นทำแล้วไม่มีใครทำตามที่สั่ง เลยต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองใหม่ แล้วคิดได้ว่าเราควรรับฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วย ถ้าฟังเราจะได้ความคิดหลากหลาย แล้วนำไอเดียของแต่ละคนมาผสมผสานกันได้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งดีกว่าการคิดเองคนเดียวแล้วบอกให้คนอื่นทำตาม หรือบางครั้งถ้าเราไม่ฟังจะไม่มีทางรู้เลยว่าคนอื่นมีปัญหาอะไรบ้าง” นิ อธิบาย

ด้าน รี–กรรณิการ์ แซ่ว่าง รุ่นน้องที่ได้รับคำชักชวนจากนิให้มาเข้าร่วมโครงการ บอกว่า เธอมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะชอบการเดินทางไปพบเจอเพื่อนใหม่ ชอบการอบรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้กับเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ในโครงการ

“ปกติเป็นคนชอบพูด แต่ไม่กล้าแสดงออกต่อหน้าคนที่ไม่รู้จัก หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมก็รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีเพื่อนเยอะขึ้น และได้รับความรู้จากคนอื่น ๆ เอาเข้าจริงทำโครงการนี้เหนื่อยมาก ต้องแบ่งเวลาเรียนและเวลาทำโครงการ มีครั้งหนึ่งใช้เวลาคิดทำแผนงานชิ้นหนึ่งนานมากแต่เราทำข้ามขั้นตอนจนต้องทำใหม่ก็รู้สึกท้อ แต่ได้กำลังใจจากพี่ ๆ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเอง เพื่อป่าของเรา” รี กล่าว แคท–วรกานต์ ดาวทอง เพื่อนสนิทอีกคนของนิ เล่าว่า การทำโครงการเปิดประสบการณ์การใช้ชีวิตให้เธอได้ทำในสิ่งที่ต่างออกไปนอกเหนือจากการเรียน และการเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่กับบ้าน

“สมัยเด็กเราเคยเข้ามาเห็นป่าที่สมบูรณ์ พอโตขึ้นเราเห็นป่าเสื่อมโทรมลงไปกับตา ต้นไม้ในป่ามีน้อยลง หน้าแล้งเราก็ไม่มีน้ำใช้ พอเข้ามาทำกิจกรรมแล้วเห็นป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีก เรารู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ อยากทำต่อไปเรื่อย ๆ อยากให้ป่ากลับมาเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนอื่นได้”

การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำโครงการตั้งแต่ปีแรก ทำให้ทีมงานเลือกใช้วิธีเชิญชวนเด็กและเยาวชนที่สนใจให้มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่ใช่วิธีบังคับหรือเกณฑ์คนเข้ามา นิ ย้ำว่า การทำโครงการแต่ละขั้นตอนเป็นด่านวัดความอดทนและความสนใจของคนที่จะเข้ามาร่วมโครงการ หรือต้องการพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว หากใครทำไม่ได้หรือทำไม่ไหว ส่วนใหญ่จะถอยไปเอง

“ความตั้งใจทำโครงการจากปีที่แล้ว เป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้ผู้ใหญ่ในชุมชนและน้อง ๆ เห็นว่าเราไม่ได้ทำเล่นๆ พวกเราคิดและลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจัง เราทำโครงการด้วยความจริงใจ เลยได้รับความร่วมมือจากทุกคน ด้วยความมุ่งมั่นจะปลูกป่าในใจคน แล้วเราก็ทำได้” นิ กล่าวทิ้งท้าย


เสียงสะท้อนจากชุมชน

ครูลอง – จำลอง หลวงขาว ที่ปรึกษาโครงการ และครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านป่าแดด กล่าวยืนยันว่า ผลงานจากความตั้งใจและทำด้วยใจของกลุ่มแกนนำเยาวชนตั้งแต่รุ่นแรกทำให้การทำงานร่วมกับชุมชนและการประสานงานกับโรงเรียนในเครือข่ายเป็นไปได้อย่างราบรื่น “จากที่ชาวบ้านไม่สนใจ พอเห็นเด็ก ๆ ทำจริง ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเข้ามาช่วยเด็กทำ พอได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเด็ก ได้เห็นเด็ก ๆ ร่วมไม้ร่วมมือกันดี ชาวบ้านก็เริ่มยอมรับ นอกจากผู้ใหญ่แล้ว เด็กจากบ้านพงษ์กับบ้านป่าแดด หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ เห็นป่าบ้านหัวนาที่ฟื้นฟูขึ้นจากฝีมือของตัวเอง เขาก็อยากกลับไปพัฒนาป่าบ้านตัวเองด้วย เด็ก ๆ มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีปัญหาอะไรก็มานั่งพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง”

“เด็ก ๆ ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัว และสละเวลามาทำโครงการ บางคนทะเลาะกับทางบ้าน เพราะที่บ้านทำไร่ข้าวโพดซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าจากการบุกรุก แต่เขาก็ยืนหยัดที่จะทำ จนตอนนี้ทางบ้านเข้าใจและยอมรับได้มากขึ้น”

ครูเกษม – ภูริวัฒน์ศกร ธรรมขันต์ ที่ปรึกษาโครงการ และครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านป่าแดด กล่าวถึงการทำงานของกลุ่มแกนนำว่า กลุ่มเยาวชนมีศักยภาพในการสานต่องานจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความอดทนต่อสภาวะความกดดันรอบด้าน ทั้งจากการเรียนและครอบครัว ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะมีรุ่นพี่ที่ผ่านการเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทำงาน เป็นผู้สอนและถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นน้องอีกต่อหนึ่งได้เป็นอย่างดี

“เด็ก ๆ ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัว และสละเวลามาทำโครงการ บางคนทะเลาะกับทางบ้าน เพราะที่บ้านทำไร่ข้าวโพดซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าจากการบุกรุก แต่เขาก็ยืนหยัดที่จะทำ จนตอนนี้ทางบ้านเข้าใจและยอมรับได้มากขึ้น” ครูเกษม กล่าว

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วาดฝัน เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชนกำลังร่วมกันเรียนรู้ และดูแลป่าอย่างมุ่งมั่น โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน ที่จะใช้ชีวิตอิงอาศัยป่าในวันนี้และอนาคตข้างหน้าอีกยาวนาน พวกเขาเห็นแล้วว่า คนกับป่าเชื่อมโยงและอิงอาศัยกันอย่างไร ป่ามีคุณค่าอนันต์ และคนล้วนใช้ประโยชน์จากป่า แต่นอกจากการ “รับรู้” และ “เห็นคุณค่า” ของป่าแล้ว “หัวใจรักป่า” ของพวกเขากำลังค่อยๆ บ่มเพาะขึ้น เพื่อช่วยปกป้องดูแลป่าให้ยังประโยชน์ต่อส่วนรวมตราบนานเท่านาน...



โครงการ : เส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนบ้านหัวนา

ที่ปรึกษาโครงการ : ( จำลอง หลวงขาว ) ( ภูริวัฒน์ศกร ธรรมขันต์ ) ครูโรงเรียนบ้านป่าแดด

ทีมทำงานเยาวชนบ้านหัวนา ( โรงเรียนสันติสุขพิทยาคม )

  • จิรัชญา โลนันท์  มัธยมศึกษาปีที่ 6
  • ชวกร โพงไชยราช  มัธยมศึกษาปีที่ 4
  • ธวัลยา ยศบุญมา  มัธยมศึกษาปีที่ 6
  • วรกานต์ ดาวทอง  มัธยมศึกษาปีที่ 6
  • สุภานันท์ สิงห์บุญมา  มัธยมศึกษาปีที่ 4
  • กรรณิการ์ แซ่ว่าง  มัธยมศึกษาปีที่ 5
  • นันทิกานต์ โลนันท์  มัธยมศึกษาปีที่ 6
  • ปรมาภรณ์ บังเฆฆ  มัธยมศึกษาปีที่ 6