การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของคนในชุมชน จังหวัดน่าน ปี 2

จัดการขยะ ทำได้ ใกล้ตัว

โครงการธนาคารขยะในโรงเรียน

โครงการนี้ไม่เพียงต้องการให้นักเรียนในโรงเรียนเห็นถึง “คุณค่า” ของขยะ แต่ทีมงาน บอกว่า พวกเขาต้องการ “ปลูกฝัง” ให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะ และเรียนรู้ว่าการทิ้งขยะลงถัง ช่วยสร้างความเป็นระเบียบ ทำให้โรงเรียนและชุมชนสะอาด เชื่อมโยงไปถึงการรักษาสุขอนามัยและเป็นการช่วยดูแลสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

สภาพแวดล้อมรอบตัวที่เห็นอยู่เป็นประจำทุกวี่วัน ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือไม่ดี สร้าง “ความเคยชิน” จนนำมาสู่ “การเพิกเฉย” ต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ อาจนำมาซึ่งความเสียหายบางอย่างที่สายเกินแก้


 โลกใบใหม่แห่งการเรียนรู้

“ความรู้สึกเฉย ๆ ที่ว่า เปลี่ยนแปลงเป็นความสงสัยใคร่รู้ อยากเรียนรู้ และอยากลองทำ เมื่อทีมงานผ่านกระบวนการอบรมเพื่อพัฒนาโจทย์ที่จะทำโครงการร่วมกับทีมพี่เลี้ยงโครงการ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาของชุมชนร่วมกับกลุ่มเยาวชนจากหลาย ๆ พื้นที่ในจังหวัดน่าน...มองว่าปัญหาขยะในโรงเรียนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง...จึงอยากผลักดันโครงการนี้ให้ถึงที่สุด”

“รู้สึกเฉย ๆ” นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้ว อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน กลุ่มหนึ่งเอ่ยขึ้นอย่างพร้อมเพรียง เมื่อถามถึงความรู้สึกแรก หลังรู้ว่าได้เข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จังหวัดน่าน

เนื่องจากโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้วไม่เคยทำโครงการเชิงพัฒนาศักยภาพเยาวชนมาก่อน และไม่เคยร่วมงานกับเครือข่ายองค์กรภายนอกอย่างจริงจัง การชวนนักเรียนในโรงเรียนให้มาร่วมคิดโครงการจึงเป็นสิ่งใหม่ที่อยู่นอกเหนือจินตนาการ และความสนใจของนักเรียน

“ตอนครูมาบอกให้ไปอบรมก็ไป เพราะมีรุ่นพี่อีก 3 คนไปด้วย แต่พอต้องคิดโครงการ ไม่อยากทำเลย เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง” ญาดา–สิโรชินี ซึมทราย ทีมงานรุ่นที่ 1 เอ่ยถึงความรู้สึกแรก ด้าน ข้าวโอ๊ต – ทักษ์ดนัย ไชยกาอินทร์ บอกว่า ความรู้สึก “ทำไม่ได้” ทำให้ไม่อยากทำโครงการ ใจหนึ่งคิดว่ายังมีเรื่องเรียนที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

แต่ความรู้สึกเฉย ๆ ที่ว่า เปลี่ยนแปลงเป็นความสงสัยใคร่รู้ อยากเรียนรู้ และอยากลองทำ เมื่อทีมงานผ่านกระบวนการอบรมเพื่อพัฒนาโจทย์ที่จะทำโครงการร่วมกับทีมพี่เลี้ยงโครงการ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาของชุมชนร่วมกับกลุ่มเยาวชนจากหลาย ๆ พื้นที่ในจังหวัดน่าน

“เราได้ออกไปเจอเพื่อนใหม่ ได้รู้ว่าเขาทำอะไร บางพื้นที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน เราก็ได้รู้ว่าเขาคิดเขาทำยังไง แล้วนำมาปรับใช้ในโรงเรียนของเรา” ข้าวโอ๊ต กล่าว และบอกต่อว่า แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำโครงการไปทำไม ทำแล้วได้อะไร

กว่าจะลงเอยเป็นโครงการธนาคารขยะในโรงเรียนได้ ข้าวโอ๊ต เล่าย้อนไปถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของทีมทำงาน เนื่องจากทีมงานรุ่นพี่จำนวนหนึ่งจบการศึกษาออกไป คนที่เหลือจึงต้องตัดสินใจว่าจะทำโครงการต่อหรือไม่ แต่ด้วยความตั้งใจ และมองว่าปัญหาขยะในโรงเรียนเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง ประกอบกับได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้ว ข้าวโอ๊ตจึงอยากผลักดันโครงการนี้ให้ถึงที่สุด

“เราคิดวางแผนมาแล้วตั้งแต่ต้น งานก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีผลงานออกมาให้นักเรียนคนอื่น ๆ เห็น ถ้าประชาสัมพันธ์ต่อไปและจัดนิทรรศการนำเสนอความรู้จากสิ่งที่พวกเราทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม น่าจะชักชวนนักเรียนเข้ามาร่วมเป็นแกนนำ และสมัครเป็นสมาชิกธนาคารขยะได้มากขึ้น” ข้าวโอ๊ต กล่าวถึงวิธีคิด


เริ่มต้น...เข้าใจปัญหา

“ปกติเราเห็นขยะเกลื่อนกลาดไปทั่วโรงเรียน เพราะนักเรียนทิ้งขยะไม่ลงถัง ทำให้โรงเรียนไม่สะอาด ดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงเราจะไม่ใช่คนทิ้ง แต่เท่าที่เห็นยังไม่มีใครเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เลยอยากทำโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะ เพราะอยากเห็นโรงเรียนสะอาด”ข้าวโอ๊ต ย้อนเล่าว่า ที่มาที่ไปของโครงการนี้มาจากทีมงานรุ่นแรกได้ผ่านกระบวนการชวนคิดวิเคราะห์ปัญหาในโรงเรียนจากพี่เลี้ยงโครงการ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาก็มีหลากหลาย แต่พวกเขาลงความเห็นกันว่า สิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ “ขยะ”

“ปกติเราเห็นขยะเกลื่อนกลาดไปทั่วโรงเรียน เพราะนักเรียนทิ้งขยะไม่ลงถัง ทำให้โรงเรียนไม่สะอาด ดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงเราจะไม่ใช่คนทิ้ง แต่เท่าที่เห็นยังไม่มีใครเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เลยอยากทำโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะ เพราะอยากเห็นโรงเรียนสะอาด” ญาดา เอ่ยขึ้น นอกจากธนาคารขยะโรงเรียนที่เป็นผลลัพธ์เชิงรูปธรรมของโครงการแล้ว เป้าหมายรองคือ อยากเห็นนักเรียนในโรงเรียนทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง โดยทีมงานยังมีแผนที่จะเสริมความรู้เรื่องการคัดแยกขยะแก่นักเรียน เพื่อให้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั้งในและนอกโรงเรียนได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อขยายฐานความร่วมมือและสร้างความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการในวงกว้าง ทีมงานจึงชักชวนนักเรียนรุ่นน้องที่สนใจลงพื้นที่ภายในโรงเรียน เพื่อสำรวจปริมาณขยะ จำนวนถังขยะ ประเภทขยะ ตลอดไปจนถึงตามหาต้นตอของขยะภายในโรงเรียน

จุดมุ่งหมายของการสำรวจก็เพื่อวาดแผนที่ชี้ให้น้อง ๆ ในโรงเรียนเห็นภาพจุดที่มีขยะให้ชัดเจน หลังจากนั้นก็มาช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่า จะจัดการปัญหาขยะแต่ละประเภทในแต่ละจุดได้อย่างไร ญาดา อธิบายถึงข้อมูลจากการสำรวจที่สรุปออกมาเป็นแผนที่ว่า โรงเรียนบ้านห้วยแฮ้วเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนประมาณ 120 คน สำรวจพบ 3 จุดสำคัญที่มีขยะปลิวว่อนไปทั่ว ได้แก่ 1.บริเวณปากหลุมขยะในโรงเรียน 2.บริเวณหอพักชาย และ 3.บริเวณลานหน้าสหกรณ์ แล้วยังวิเคราะห์ต่อไปว่าขยะที่พบบริเวณอื่นมีสาเหตุจากจำนวนถังขยะภายในโรงเรียนมีน้อยเกินไปและไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะ

“ขยะกล่องนมมีมากที่สุด เพราะเป็นอาหารกลางวันสำหรับแจกนักเรียนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รองลงมาคือถุงพลาสติกที่เป็นซองขนม และอีกส่วนหนึ่งมาจากร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน จุดที่มีขยะมากบางจุดก็ไม่มีถังขยะ” ญาดา สรุปข้าวโอ๊ต บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยมีความคิดอยากนำขยะกล่องนมมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของ เพื่อลดปริมาณขยะและเสริมทักษะให้นักเรียน โดยเห็นตัวอย่างจากกลุ่มแม่บ้านในชุมชน แต่เนื่องจากกลุ่มวิทยากรไม่มีเวลาเข้ามาให้ความรู้ จึงต้องชะลอขั้นตอนดังกล่าวไว้ก่อน

“ไม่ถึงกับล้มเลิกความคิดไปเลย แต่ปรับแผนใหม่ว่าเราทำธนาคารขยะก่อน พอได้ขยะมาจำนวนหนึ่งแล้ว ค่อยประสานงานให้พี่ ๆ หรือป้า ๆ ที่รู้จักกันในชุมชนเข้ามาสอนทีมงาน เพื่อให้ไปถ่ายทอดกับนักเรียนในโรงเรียนอีกทีหนึ่ง” ข้าวโอ๊ต ขยายความ


เดินหน้าหาความรู้

เมื่อต้องปรับแผนใหม่ ทีมงานจึงต้องวางแผนประชาสัมพันธ์โครงการแก่นักเรียนในโรงเรียน ด้วยการพูดเชิญชวนหน้าเสาธง และใช้เวลาช่วงพักเที่ยงเสิร์ฟข้อมูลถึงหน้าชั้นเรียน“พวกเราเข้าไปประสานงานกับครูที่ปรึกษาก่อน เลยได้รับคำแนะนำจากคุณครูว่าเข้าไปพูดหน้าชั้นเรียนจะได้ใกล้ชิดกับนักเรียนมากกว่า ส่วนหน้าเสาธงก็ใช้เวลาสั้น ๆ ตอนเช้า ประเด็นหลักเราตั้งใจแนะนำโครงการและเชิญชวนให้นักเรียนมาทำโครงการด้วยกัน” ญาดา อธิบาย

โดยทีมงานได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะกับที่ปรึกษาโครงการ เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะภาคปฏิบัติอย่างถูกวิธีมาใช้ในการบริหารจัดการธนาคารขยะ และเผื่อไว้เป็นความรู้สำหรับเผยแพร่ภายในโรงเรียน “ข้อมูลที่นำเสนอออกไปต้องทำให้นักเรียนรู้ว่า ถ้าแยกขยะได้ถูกประเภท ขยะจะมีมูลค่ามากขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาในโรงเรียนและในชุมชนไม่มีการแยกประเภทขยะเลย เวลาเอาขยะไปขายรวมกันก็จะไม่ได้ราคา เพราะร้านรับซื้อต้องเอาไปแยกเองอีกต่อหนึ่ง แต่ถ้าเราแยกขยะไปเองก็จะขายได้ราคาสูงขึ้นมาอีก” ข้าวโอ๊ต อธิบาย

ไม่เพียงต้องการให้นักเรียนในโรงเรียนเห็นถึง “คุณค่า” ของขยะเท่านั้น แต่ทีมงาน บอกว่า พวกเขาต้องการ “ปลูกฝัง” ให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะและเรียนรู้ว่าการทิ้งขยะลงถัง ช่วยสร้างความเป็นระเบียบ ทำให้โรงเรียนและชุมชนสะอาด เชื่อมโยงไปถึงการรักษาสุขอนามัยและเป็นการช่วยดูแลสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง


กำเนิดธนาคารขยะ

“การออกไปอบรมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อื่น ๆ ยิ่งทำให้ได้เรียนรู้ และรู้จักสภาพชุมชนของพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น” หลังลงสำรวจขยะในโรงเรียนด้วยตัวเอง และประชาสัมพันธ์โครงการให้นักเรียนในโรงเรียนได้รับรู้แล้ว หลังเปิดภาคเรียนทีมงานรุ่นที่ 1 ที่เหลืออยู่จึงได้ชักชวนเพื่อนนักเรียนมาเสริมทีม

“เราชวนน้อง ๆ ที่รู้จักและสนิทกันเข้ามาช่วยก่อนในตอนแรก ซึ่งเขาอาจจะมาเพราะความเกรงใจเหมือนที่เราเข้ามาทำก่อนหน้านี้ แต่ถ้าชอบ เขาก็จะทำต่อ” ญาดา เล่าผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ครีม–ปรภา เบ้าพรหม ทีมงานรุ่นที่ 2 บอกว่า อยากมาทำกิจกรรมเพราะเห็นว่า เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และอยากมีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียน“ตอนพี่ ๆ มาชวนเขาไม่ได้บังคับ ทีแรกขี้เกียจไม่อยากไปเหมือนกัน แต่ก็ลองไปดู ครั้งแรกที่ไปเข้าอบรมก็รู้สึกสนุกดี รู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ” ครีม กล่าว

ด้าน ไอซ์–นวมินต์ อิ่นมะโน รุ่นน้องชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า เขาสนใจเข้าร่วมโครงการเพราะอยากหาประสบการณ์เพิ่มเติม การออกไปอบรมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อื่น ๆ ยิ่งทำให้ได้เรียนรู้ และรู้จักสภาพชุมชนของพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น โครงการนี้เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพด้านการพูดของตัวเอง ด้วยการเป็นตัวแทนกลุ่มออกไปประชาสัมพันธ์ข่าวสารหน้าเสาธง เมื่อรวมทีมใหม่ได้ ทีมงานจึงออกแบบสำรวจหาแหล่งที่มาของขยะจากพฤติกรรมของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีส่วนช่วยตอบคำถาม

“เราแบ่งกลุ่มกัน 5 สาย นำแบบสำรวจไปแจกตามห้อง แล้วรอรับแบบสำรวจในวันนั้นเลย เพราะคิดว่าถ้าบอกให้เอาแบบสำรวจมาคืนทีหลัง หลายคนจะไม่นำมาส่งคืน ใช้เวลาแค่วันเดียว แต่ละห้องประมาณ 10-15 นาที” ข้าวโอ๊ต กล่าวจากนั้นจึงนำผลการสำรวจดังกล่าว มาเปรียบเทียบกับการลงสำรวจบริเวณโรงเรียนด้วยตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้แทบไม่ต่างกัน กล่าวคือ ขยะกล่องนมมีมากที่สุด แต่สิ่งที่กลุ่มเยาวชนแกนนำมองข้ามไปจากการเดินสำรวจ คือ กระดาษ

“ตอนเดินสำรวจข้างนอกเราไม่เห็นกระดาษ แต่ที่นี่เป็นโรงเรียน เราต้องใช้กระดาษในการเรียนการสอน ขยะรองลงมาจากกล่องนมเลยเป็นกระดาษ ถัดจากนั้นก็เป็นถุงขนม” ญาดา กล่าวเมื่อได้ข้อมูลแล้ว ทีมงานนำผลสำรวจเกี่ยวกับประเภทและปริมาณขยะมาตั้งเป็นเกณฑ์รับฝากในธนาคารขยะ ซึ่งทีมงานได้ไปสอบถามราคารับซื้อขยะแต่ละประเภทจากร้านรับซื้อภายนอก โดยอ้างอิงจากประเภทขยะที่มีมากที่สุดในโรงเรียนตามลำดับ แล้วนำเกณฑ์ราคารับซื้อมาตั้งเป็นราคากลางสำหรับการฝากขยะในธนาคารขยะโรงเรียน

“พอได้ราคามา เราก็ประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงอีกว่า ธนาคารขยะของเราจะเปิดทำการวันไหน ราคารับฝากขยะแต่ละประเภทเป็นเท่าไร ใครสนใจสามารถมาขอใบสมัครได้ ขยะที่รับฝากส่วนหนึ่งเราจะนำไปขาย ส่วนที่รีไซเคิลหรือนำมาประดิษฐ์ได้ก็จะเก็บไว้ทำประโยชน์ต่อไป” ข้าวโอ๊ต อธิบาย ปัจจุบัน ธนาคารขยะโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้ว เปิดทำการแล้วอย่างเป็นทางการ โดยใช้พื้นที่ห้องพยาบาลเก่าซึ่งทิ้งว่างไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีนักเรียนสมัครเข้าเป็นสมาชิกกว่า 50 คน จาก 120 คน เปิดทำการทุกวันพฤหัสบดีคาบชุมนุม ตั้งแต่เวลา 13:40 – 14:30 น. สมาชิกธนาคารขยะจะได้รับสมุดบันทึกการฝากขยะส่วนตัวซึ่งสามารถนำมาเบิกรายได้จากการขายขยะได้ทุกเดือน

ข้าวโอ๊ต บอกว่า ธนาคารขยะอาจขยายเวลาเปิดทำการขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนที่นำขยะมาฝาก เนื่องจากเวลาเปิดทำการในวันพฤหัสเพียงแค่ 50 นาทีอาจไม่เพียงพอ หากต้องขยายเวลาทำการ ต้องปรึกษาร่วมกันกับครูประจำแต่ละระดับชั้นก่อน ทั้งนี้ เวลาทำการจะใช้คาบที่ไม่เกี่ยวกับวิชาเรียน เช่น คาบชุมนุมหรือคาบแนะแนวเป็นหลัก 


“ขยะ” สร้างการเปลี่ยนแปลง

“เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมเด็กกลุ่มนี้ไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออก พอเขาได้ออกไปเจอโลกกว้าง ออกไปเจอเพื่อนกลุ่มอื่น เขากล้านำเสนอ กล้าแสดงความคิดเห็น และสื่อสารสิ่งที่คิดให้เราเข้าใจได้ เห็นความตั้งใจจริงของเด็ก ในฐานะครูเรามองว่า สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะติดตัวเขาไปในอนาคต”อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า โรงเรียนบ้านห้วยแฮ้วไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำโครงการด้านการพัฒนาศักยภาพเยาวชนกับชุมชนภายนอกมาก่อน ครูแป้ง – จินตนา กันไชย ที่ปรึกษาโครงการ ย้ำว่า กลุ่มทีมงานชุดแรกมาจากการคัดสรรของคณะครูในโรงเรียน โดยมองนักเรียนที่มีความรับผิดชอบและความกล้าแสดงออกเป็นหลัก

“นักเรียนกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่สนใจและให้ความร่วมมือทำกิจกรรมภายในโรงเรียน เป็นเด็กที่เปิดใจและพร้อมรับการเรียนรู้ การจะดึงเด็กแต่ละคน แต่ละกลุ่มมาร่วมโครงการค่อนข้างยาก เพราะโรงเรียนไม่เคยทำโครงการแบบนี้มาก่อน ดังนั้น ครูจึงต้องคัดเลือกเด็กกลุ่มแรกขึ้นมา แต่พอทำโครงการไประยะหนึ่ง เด็กจะชักชวนกันเข้ามาเอง ช่วงหลังนักเรียนคนอื่นก็อยากมาร่วมด้วย เพราะมีตัวอย่างให้เห็น นักเรียนเห็นผลลัพธ์เกิดขึ้นว่าโรงเรียนสะอาดขึ้น เห็นว่าถ้าแยกขยะเป็น นำขยะไปขายได้ราคาสูงขึ้น ตรงนี้เป็นแรงจูงใจที่ชัดเจนให้เขาได้”

นอกจากนักเรียนในโรงเรียนมีความสนใจเข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกธนาคารขยะโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้วมากขึ้นแล้ว ครูแป้ง พบว่า หลังจากเข้าร่วมอบรมเชิงกระบวนการเพื่อพัฒนาศักยภาพกับเจ้าหน้าที่โครงการ เธอมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปสนับสนุนนักเรียนให้ทำโครงการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

“เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมเด็กกลุ่มนี้ไม่ค่อยพูดไม่กล้าแสดงออกพอเขาได้ออกไปเจอโลกกว้าง ออกไปเจอเพื่อนกลุ่มอื่น กล้านำเสนอ กล้าแสดงความคิดเห็น และสื่อสารสิ่งที่คิดให้เราเข้าใจได้ เห็นความตั้งใจจริงของเด็ก ในฐานะครูเรามองว่า สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะติดตัวเขาไปในอนาคต ที่ผ่านมาเด็ก ๆ เข้ามาปรึกษาตลอดว่าทำแบบนี้ดีไหม หรือจะให้เขาทำอะไรต่อดี เราเองก็ต้องทำหน้าเป็นตัวยึดที่ดีให้เขา”

ส่วน ญาดา ถึงแม้มีความจำเป็นต้องวางมือไปก่อน เพราะย้ายสำมะโนครัวไปอยู่จังหวัดอื่น แต่เธอยืนยันว่า แม้จะทำโครงการนี้ได้แค่ครึ่งทาง แต่ก็ทำให้เธอได้พัฒนาศักยภาพด้านการแสดงออก และการพูดสื่อสารของตัวเอง

“เมื่อก่อนถ้าให้ออกไปพูดหน้าชั้นเรียนจะกลัวมาก เรียบเรียงคำพูดไม่ได้เลย แต่ตอนนี้เวลาต้องพูดนำเสนองาน เช่น ตอนออกไปประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการหน้าชั้นเรียนหรือตอนตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการสามารถทำได้ทันที และมีความมั่นใจมากขึ้น” ญาดา กล่าว

ด้าน ข้าวโอ๊ต บอกว่า ความกล้าแสดงความคิดเห็น และการยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำโครงการนี้

“ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับรุ่นพี่กลุ่มแรกว่า การนิ่งเงียบบางครั้งไม่มีประโยชน์ การกล้าแสดงความคิดเห็นจะทำให้เกิดไอเดียดี ๆ ตามมาได้ แต่พอขึ้นมาเป็นผู้นำเราต้องรับฟังคนอื่นด้วย เพราะเมื่อหลายไอเดียจากหลาย ๆ คนมาผสานรวมกันจะได้เป็นแผนงานที่ดีกว่า” ข้าวโอ๊ต กล่าว

นอกจากนี้ ในฐานะรุ่นพี่ ข้าวโอ๊ตและญาดา สะท้อนว่า ทีมงานรุ่นที่ 2 ที่มาร่วมโครงการ แต่ละคนมีความกล้าแสดงออกและมีความสามารถแตกต่างกันไป โครงการนี้เปรียบเหมือนการเปิดพื้นที่ให้น้อง ๆ ได้แสดงความสามารถของตัวเอง

“น้องไอซ์ถึงแม้จะอยู่แค่ชั้น ป.6 แต่มีความสามารถด้านการพูด เข้าใจอะไรได้ง่าย ตอนนี้น้องไอซ์รับหน้าที่เป็นคนประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ หน้าเสาธง ปาล์ม ฟิล์มกับครีมมีความรับผิดชอบดี เลยให้ดูแลด้านการจัดเก็บและจัดการเอกสาร ส่วนน้ำ ไทน์ กับกาฟิวส์เป็นฝ่ายบันทึกและฝ่ายบัญชีเพราะมีความละเอียด ส่วนป๊อกเป็นฝ่ายคัดแยกขยะ แต่ละคนจะได้รับหน้าที่ตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง” ญาดา อธิบาย

จากเดิมที่เห็นขยะปลิวว่อนไปทั่วโรงเรียนเป็นความเคยชิน แต่เมื่อมีคนมา “กระตุก” ให้ “ฉุกคิด” กลุ่มแกนนำเยาวชนโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้วจึงมองเห็นปัญหา และเพราะความไม่เพิกเฉยต่อปัญหา พวกเขาจึงอาสาช่วยกันแก้ปัญหาขยะในโรงเรียนที่พวกเขาอาศัยอยู่ แม้จะต้องประสบปัญหาเรื่องทีมทำงาน แต่ไม่ย่อท้อ เพราะ “อยากให้โรงเรียนสะอาด” จึงพยายามค้นหาทีมทำงานใหม่ จนสามารถเปิดธนาคารขยะโรงเรียนได้ในที่สุด ถึงแม้จะยังไม่ได้เผยแพร่ความรู้ด้านการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนได้อย่างทั่วถึง แต่ “ธนาคารขยะ” ก็เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนมองเห็นว่า มีขยะแล้วต้องคัดแยก

“พวกเราคาดหวังว่าต่อไปนักเรียนจะสามารถจัดการแยกขยะภายในโรงเรียนได้ด้วย ซึ่งเราต้องวางแผนการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะเสริมเข้าไป อยากให้ธนาคารขยะเป็นโมเดลตัวอย่างไปสู่ชุมชน เพื่อกระตุ้นการคัดแยกขยะ สร้างมูลค่าให้ขยะ และทำให้คนมองเห็นคุณค่าของขยะขยายวงกว้างออกไปอีก” ข้าวโอ๊ต กล่าวทิ้งท้าย


โครงการ : ธนาคารขยะในโรงเรียน

ที่ปรึกษาโครงการ : ( จินตนา กันไชย )  ครูโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้ว

ทีมทำงาน : นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้ว

  • ทักษ์ดนัย ไชยกาอินทร์  มัธยมศึกษาปีที่ 3
  • สิโรชินี ซึมทราย  มัธยมศึกษาปีที่ 3
  • วรินทร์ธร เบ้าพรหม  มัธยมศึกษาปีที่ 3
  • รักษิณา ยะหลวง  มัธยมศึกษาปีที่ 2
  • ปรภา เบ้าพรหม  มัธยมศึกษาปีที่ 2
  • นวมินต์ อิ่นมะโน  ประถมศึกษาปีที่ 6
  • พรพนิต คำชมพู  มัธยมศึกษาปีที่ 1
  • จุฑามาศ คำฟองมัธยมศึกษาปีที่ 1
  • ธาวัลย์ ก๋องจันทร์ตา มัธยมศึกษาปีที่ 1
  • สิทธิศักดิ์ ขอดแก้ว มัธยมศึกษาปีที่ 2
  • นิชากร ปัญญาแก้วมัธยมศึกษาปีที่ 3
  • วนิดา ยาวิไชยมัธยมศึกษาปีที่ 3
  • ธันยพร พังยะมัธยมศึกษาปีที่ 3