การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) สืบสานวัฒนธรรมการละเล่นประเพณีปีใหม่ม้ง จังหวัดน่าน ปี 2

“ปีใหม่” สื่อตัวตน คุณค่า...ชาติพันธุ์ม้ง

โครงการสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นประเพณีปีใหม่ม้ง

จากคนไม่ชอบเข้าสังคมและอยู่ในมุมเงียบ ปัจจุบัน ความกล้าแสดงออกที่มีมากขึ้น ทำให้เธอมีเพื่อนมากขึ้น และพร้อมที่จะบอกเล่าความเป็นชาวไทยภูเขามากขึ้น เผ่าม้งเล่าให้คนอื่นรับรู้อย่างภาคภูมิใจ

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมขนาดเล็ก หากมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นภายในชุมชน ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดและรับรู้กันอย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับ บ้านดอนไพรวัลย์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน สถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนขนาดเล็กของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 120 ครัวเรือน


ต้นสาย...ปลายเหตุ

“เพราะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเหมือนกัน เลยอยากรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมและประเพณีแบบเดิมให้กลับคืนมา เดี๋ยวนี้ประเพณีวัฒนธรรมของม้งแตกต่างไปจากเดิมมาก”

“อยากทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นปีใหม่ม้งไหม...มาช่วยทำโครงการหน่อย” คำเชิญชวนสั้น ๆ จาก เย้ง - วรศักดิ์ แซ่เฮ้อ ที่ปรึกษาโครงการ ที่เอ่ยปากชักชวนเยาวชนให้เข้ามาทำโครงการ

ถึงแม้จะได้รับมอบหมายงานจากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนไพรวัลย์มาอีกต่อหนึ่ง แต่ เย้ง เล่าถึงความตั้งใจในการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ว่า เพราะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเหมือนกัน เลยอยากรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมและประเพณีแบบเดิมให้กลับคืนมา เดี๋ยวนี้ประเพณีวัฒนธรรมของม้งแตกต่างไปจากเดิมมาก

เย้ง เน้นย้ำถึง เรื่องการแต่งกายด้วยชุดชนเผ่าที่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นหนุ่มสาวนิยมแต่งกายตามแฟชั่นมากขึ้น ทำให้ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อซื้อเครื่องแต่งกายดัดแปลงซึ่งต่างไปจากชุดดั้งเดิม หรือแม้แต่การแต่งกายแบบผสมผสานครึ่งท่อน โดยอาจสวมเสื้อหรือกางเกงแบบสมัยใหม่เข้ากับชุดดั้งเดิมในส่วนที่เหลือ

“ไม่ใช่แค่การแต่งกาย แต่ปีใหม่ม้งบางปีในชุมชนแทบไม่มีการเล่นการละเล่นดั้งเดิมหลงเหลืออีกเลย กลายเป็นการเตะฟุตบอล การเล่นตะกร้อ และเล่นวอลเลย์บอล ซึ่งเป็นกีฬาสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ คนมาร่วมงานก็น้อยลง พอคนมาร่วมน้อย วันจัดงานก็น้อยลงตามไปด้วย” เย้ง กล่าวถึงภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เมื่อทีมงานรุ่น 1 ที่ริเริ่มโครงการต้องวางมือแยกย้ายออกไปด้วยภาระทางครอบครัว ทีมงานรุ่น 2 ที่ประกอบด้วย บีบี – นิชาพัด เฮงชวัลกุล คิมมี่ – อณุภา เกตุโชคอุดม และ แนนนี่ – กัญญาวีร์ แซ่เฮ้อ อาสาเข้ามาสานต่อโครงการ เพราะมีความสนใจวิถีดั้งเดิมประเพณีปีใหม่ม้งของชนเผ่าตัวเองอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

“วัฒนธรรมการละเล่นช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง เช่น การโยนลูกช่วง ลูกข่าง หรือแม้แต่การแข่งล้อเลื่อนไม้ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งในแต่ละพื้นที่ มีความสำคัญในแง่เป็นการ “เชื่อมสัมพันธ์” ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเข้าด้วยกัน ไม่เฉพาะแค่ในวัยหนุ่มสาวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนทุกเพศทุกวัย”

บีบี เล่าว่า วัฒนธรรมการละเล่นช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง เช่น การโยนลูกช่วง ลูกข่าง หรือแม้แต่การแข่งล้อเลื่อนไม้ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งในแต่ละพื้นที่ มีความสำคัญในแง่เป็นการ “เชื่อมสัมพันธ์” ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเข้าด้วยกัน ไม่เฉพาะแค่ในวัยหนุ่มสาวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ หากชุมชนใดสามารถจัดปีใหม่ม้งได้ในระดับที่ดึงดูดเพื่อนบ้านชนเผ่าม้งจากชุมชนอื่นเข้ามาร่วมด้วยได้จะยิ่งเป็นความภาคภูมิใจของชุมชน

ด้วยเหตุนี้ การรื้อฟื้นและสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นและประเพณีปีใหม่ม้งแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ จึงเป็นเป้าหมายของโครงการที่กลุ่มแกนนำเยาวชนพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

คิมมี่ ย้ำว่า การละเล่นและประเพณีปีใหม่ม้งเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นตัวตนของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เป็นประเพณีที่ดีงามซึ่งคนรุ่นหลังควรสืบสานไว้ด้วยการรักษาความงดงามแบบเดิมให้คงอยู่ให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การรักษาการละเล่นดั้งเดิมให้คงอยู่ด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ในชุมชนมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เล่นแทนการซื้อวัสดุอุปกรณ์จากภายนอก การรื้อฟื้นการละเล่นบางอย่างที่หายไป เช่น ล้อเลื่อนไม้ การเดินสามขา หรือแม้แต่การเล่นลูกข่าง และการแต่งกายด้วยชุดแต่งกายชาวม้งอย่างถูกต้องตามระเบียบแบบแผน เป็นต้น

“ชุดแต่งกายชนเผ่าเดี๋ยวนี้มีรูปแบบเปลี่ยนไป ดัดแปลงไปจากชุดดั้งเดิม ส่วนของผู้หญิงกระโปรงจะสั้นกว่าเมื่อก่อน เป็นแฟชั่นที่เห็นมาจากทีวีหรือจากเฟซบุ๊ก...ถ้าเรารักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ได้ เราก็จะภูมิใจกว่า คนภายนอกที่มองเข้ามาก็จะเกียรติเราด้วย” คิมมี่ อธิบาย

“ไม่ต้องเรียก “ม้ง” ไม่ต้องเรียกว่าอะไรก็ได้ แค่อยากให้ “ให้เกียรติ” เราบ้าง นับเราเป็นเพื่อนบ้างก็ได้” “คำเรียกหลายคำพอเราได้ยินแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นมาทันที เหมือนเขากำลังบอกว่า เขาไม่ชอบเรา เขาไม่ชอบชนเผ่าม้ง เพราะเราเป็นคนไม่ดี เราเป็นคนที่อพยพมาจากจีน” ความในใจของทีมทำงานที่ต้องการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีดีงาม เพื่อแสดงถึงคุณค่าของชาวเขาเผ่าม้งที่มีไม่แตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆ

ขณะที่บีบีเสริมว่า เวลาพูดคุยกันกับคนภายนอก เขาจะไม่ให้เกียรติเรา ชอบหาว่าเราเป็นแม้ว เป็นคำเรียกที่เหมือนเป็นการดูถูกซึ่งเราไม่อยากให้คนอื่นมองเราแบบนั้น อยากให้คนทั่วไปเข้าใจ แต่ถ้าเขาไม่ชอบเรา เราก็เข้าไปคุยกับเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาสิ่งดีงามของเราให้คงอยู่ เพื่อให้คนอื่นมองเข้ามาเห็นถึงตัวตนของเราได้


รื้อฟื้น สืบสานปีใหม่ม้ง

ปีใหม่ม้ง เป็นประเพณีของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดยส่วนใหญ่แล้วตามปฏิทินมักอยู่ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 2 ว่าไปแล้ว ปีใหม่ม้ง ไม่ใช่แค่การจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับปีใหม่ แต่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่นำมาสู่การพบปะกันของญาติมิตรตามแต่ละวงตระกูลของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง อีกทั้งยังมีการสู่ขวัญ การขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้อาวุโสในชุมชน รวมถึงการเลี้ยงผีบ้าน ประเพณีปีใหม่ม้งจึงมีความหมายและมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับประเพณีรดน้ำดำหัวของไทยในวันสงกรานต์ โดยในช่วงงานประเพณีชาวไทยภูเขาเผ่าม้งจะแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่ามาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ

แนนนี่ ที่จับพลัดจับผลูถูกบีบีหว่านล้อมจนเข้ามาร่วมโครงการ เล่าว่า การจัดงานปีใหม่ม้งของชุมชนบ้านดอนไพรวัลย์ ปกติใช้พื้นที่บริเวณลานกว้างของโรงเรียนบ้านดอนไพรวัลย์เป็นสถานที่ทำกิจกรรม ทุกปีจะมีการละเล่นและการแข่งขันกีฬาให้คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยได้ทำกิจกรรมด้วยกันกลางแจ้ง กิจกรรมหลักๆ ประกอบด้วย การตีลูกข่าง การโยนลูกช่วง และการเตะฟุตบอล ทั้งนี้ การยิงหน้าไม้ การแข่งขันล้อเลื่อนไม้ และการเดินไม้สามขาเป็นการละเล่นดั้งเดิมที่สูญหายไปแล้วจากชุมชน

ในส่วนของหนุ่มสาวชาวม้งวัยประมาณ 14 ปีขึ้นไป พวกเขายังถือการโยน ‘ลูกช่วง’ เป็นวิธีการเลือกคู่ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การละเล่นหลายอย่างจะยังคงอยู่ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการโยนลูกช่วง คือ วัสดุที่นำมาใช้ทำลูกช่วงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

คิมมี่ ขยายความถึงการโยนลูกช่วงต่อว่า เมื่อใกล้วันปีใหม่ม้ง ฝ่ายหญิงจะเป็นคนทำลูกช่วง เมื่อถึงวันงานผู้หญิงจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า พร้อมนำลูกช่วงติดตัวไปเพื่อเลือกโยนกับชายหนุ่มที่ตัวเองพึงพอใจ หรืออาจมีแม่สื่อเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว นำลูกช่วงไปยื่นให้กับชายหนุ่มเพื่อบอกว่าใครเป็นเจ้าของลูกช่วงลูกนั้น เดิมทีลูกช่วงทำจากเศษผ้าที่นำมามัดห่อกันเป็นลูกกลม ๆ แต่ปัจจุบันคนในชุมชนหันมาใช้ลูกเทนนิสหรือลูกบอลกลม ๆ ขนาดไม่ใหญ่มากเป็นวัสดุในการทำลูกช่วงแทน

“วันปีใหม่ใครจะทำลูกช่วงไปร่วมงานหรือไม่ทำไปก็ได้ ถ้าทำไปแม่ก็จะเป็นคนจัดเตรียมลูกช่วงให้ พอถึงเวลาโยนลูกช่วง เราก็จะต่อแถวโยนลูกช่วงเรียงกันเป็นคู่ ๆ ชายหญิง โยนไปคุยไปเพื่อทำความรู้จักกัน” คิมมี่ อธิบาย

ถึงจุดนี้ บีบี เล่าถึงแผนการทำโครงการแผนแรกที่มีจุดประสงค์เพื่อชี้ชวนให้ผู้ใหญ่ในชุมชนหันมาใช้เศษผ้าในการทำลูกช่วงตามแบบดั้งเดิม ด้วยการชักชวนเด็กและเยาวชน เริ่มจากกลุ่มเพื่อนใกล้ตัวให้เริ่มเก็บสะสมเศษผ้า แล้วนัดมารวมตัวกันเพื่อทำลูกช่วงเก็บไว้สำหรับใช้ในงานปีใหม่ม้งปีต่อไป (พ.ศ. 2560) เพื่อแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นถึงความกระตือรือร้นของเด็กและเยาวชนในการรื้อฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมให้กลับคืนมา


เด็ก-ผู้ใหญ่ร่วมมือกัน

“ถ้าเราไม่วางแผนการทำงานให้ดี การดำเนินกิจกรรมก็จะไม่ราบรื่น ในส่วนของแบบสอบถาม สมมุติว่าประเด็นคำถามไม่ครอบคลุมตามเป้าหมายที่อยากรู้ เราก็จะไม่สามารถสืบค้นถึงข้อมูลที่ถูกต้องอย่างที่ต้องการได้ จุดประสงค์ของเราคือหาข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำมาเปรียบเทียบ แล้วรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างถูกต้องที่สุด”

การได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ทีมงานได้บทเรียนว่า แต่ละพื้นที่ย่อมมีปัญหาหรือสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขแตกต่างกันไปตามบริบทของชุมชน แต่สิ่งที่จะทำให้โครงการหรือการดำเนินงานของเยาวชนสำเร็จลุล่วง เกิดขึ้นได้จากความสามัคคีของกลุ่มเยาวชนเองและการประสานงานเพื่อขอความร่วมมือจากคนในชุมชน

ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงนำแบบสำรวจที่รุ่นพี่ออกแบบไว้มาปรับปรุง เพื่อให้ได้ข้อมูลประวัติชุมชนในเชิงลึกที่ถูกต้องที่สุด ทั้งนี้ บีบี อธิบายว่า แบบสอบถามเดิมตั้งเป้าหมายไว้สำรวจเพียงแค่ความพึงพอใจของคนในชุมชนต่อการรื้อฟื้นการละเล่นดั้งเดิมในประเพณีปีใหม่ม้ง แต่แบบสำรวจใหม่จะเพิ่มเติมคำถาม เพื่อเสาะหาถึงข้อมูลชุมชน ประวัติปีใหม่ม้ง และวิถีการละเล่นที่เป็นแบบแผนดั้งเดิมของชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน

“ถ้าเราไม่วางแผนการทำงานให้ดี การดำเนินกิจกรรมก็จะไม่ราบรื่น ในส่วนของแบบสอบถาม สมมุติว่าประเด็นคำถามไม่ครอบคลุมตามเป้าหมายที่อยากรู้ เราก็จะไม่สามารถสืบค้นถึงข้อมูลที่ถูกต้องอย่างที่ต้องการได้ จุดประสงค์ของเราคือหาข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำมาเปรียบเทียบ แล้วรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างถูกต้องที่สุด” บีบี อธิบายถึงวิธีคิดเพื่อสืบหาข้อมูลประวัติศาสตร์ปีใหม่ม้งในเชิงลึก

นอกจากนี้ บีบี ย้ำว่า หากกลุ่มเยาวชนแกนนำ ไม่เข้าหาผู้ใหญ่ในชุมชน ไม่เข้าไปขอคำปรึกษาและสอบถามความคิดเห็น การดำเนินโครงการของเยาวชนอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนในระยะยาว

“ถ้าเราเข้าไปสอบถามผู้ใหญ่ก่อน ข้อมูลที่ได้มาก็คือการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่ เป็นคำพูดเป็นคำแนะนำของเขา คุยไปๆ เขาอาจจะบอกว่าให้ช่วยอะไรอีกไหม” บีบี เล่าถึงแผนการสร้างความร่วมมือกับผู้ใหญ่ในชุมชน


เปิดใจ...เรียนรู้จากผู้อื่น

“ครั้งแรกที่ไปร่วมอบรมรู้สึกกลัว และไม่อยากทำ เพราะไม่รู้จะมีเวลาว่างหรือเปล่า แต่ไปแล้วเห็นเพื่อนกลุ่มอื่นเป็นตัวอย่าง เห็นเขาพูด เราก็ต้องกล้าพูด เพราะถ้าเราไม่พูดคนอื่นจะเข้าใจโครงการของเราได้ยังไง”

แม้กิจกรรมที่วางแผนเพื่อลงมือสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นประเพณีปีใหม่ม้งจะยังไม่คืบหน้า เนื่องจากทีมงานรุ่น 1 ต้องออกไปสร้างครอบครัวตามขนบธรรมเนียมของชนเผ่า และอยู่ระหว่างทีมงานรุ่น 2 วางแผนการทำงานต่อ แต่ บีบี บอกว่า การเข้าอบรมการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ช่วยให้ทีมงานที่เหลือได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเอง

“ไม่เคยรู้เบื้องหลังการลงข้อมูลในเว็บไซต์มาก่อนเลย ตอนอบรมกับพี่ ๆ รู้สึกสนุกและน่าตื่นเต้นดี พออบรมกลับมาเราก็ต้องมาทำงานต่อ เพราะต้องอัปเดตความคืบหน้าของโครงการและนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ลงในเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ เวลาทำงานส่วนใหญ่จะแบ่งงานและช่วย ๆ กันทำตอนอยู่ที่โรงเรียน เพราะต้องใช้อินเทอร์เน็ตของโรงเรียน” บีบี อธิบายถึงการบริหารจัดการเวลาของทีมงาน

นอกจากนี้ บีบี บอกว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาของแต่ละชุมชน ทำให้พวกเขาเห็นจุดด้อยในการทำงานของตัวเอง ทีมงานจึงตั้งใจว่า จะวางแผนการทำงานของตัวเองด้วยความรอบคอบมากขึ้น

“เห็นเพื่อนกลุ่มอื่นทำโครงการ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราด้วยเหมือนกัน เราได้ความรู้มาเติมเต็มโครงการของเรา แล้วก็ทำให้เราอยากทำโครงการของตัวเองให้สำเร็จ” แนนนี่ กล่าว

“ครั้งแรกที่ไปร่วมอบรมรู้สึกกลัว และไม่อยากทำ เพราะไม่รู้จะมีเวลาว่างหรือเปล่า แต่ไปแล้วเห็นเพื่อนกลุ่มอื่นเป็นตัวอย่าง เห็นเขาพูด เราก็ต้องกล้าพูด เพราะถ้าเราไม่พูดคนอื่นจะเข้าใจโครงการของเราได้ยังไง” บีบี กล่าวอย่างชัดเจน

บีบี สะท้อนบุคลิกส่วนตัวว่า จากคนไม่ชอบเข้าสังคมและชอบอยู่ในมุมเงียบ ปัจจุบัน ความกล้าแสดงออกที่มีมากขึ้นทำให้เธอมีเพื่อนมากขึ้น และพร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้งให้คนอื่นรับรู้อย่างภาคภูมิใจ

“ถึงแม้ตอนนี้เราจะยังไม่ได้ทำกิจกรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่มันคงไม่ยากที่เราจะไปต่อ เพราะโครงการของพวกเราเป็นประเพณีของเราอยู่แล้ว กิจกรรมอาจจะไม่อลังการงานสร้างเหมือนกลุ่มอื่น แต่เพราะเราอยู่กับมัน สิ่งนี้เลยมีความหมายสำหรับเรา เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของเราให้คนภายนอกได้เห็นว่าเราก็มีอะไรดี ๆ คนภายนอกจะได้ไม่มาดูถูกเราอีก” บีบี กล่าว

เบื้องหลังความตั้งใจริเริ่มโครงการสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นประเพณีปีใหม่ม้งของกลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านดอนไพรวัลย์ นอกจากเพื่อเป็นการสืบสานและรักษาประเพณีดั้งเดิมไม่ให้สูญหายแล้ว งานนี้ยังช่วย “สร้างพื้นที่” เพื่อแสดงความมีตัวตนให้สังคมภายนอกได้รับรู้ แล้วนำมาสู่การยอมรับอย่างเข้าใจ ด้วยเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่ทีมงานเชื่อมั่นอย่างสุดใจว่าเป็นความดีงามของชนเผ่าที่อยากรักษาไว้ให้คงอยู่


โครงการ : สืบสานวัฒนธรรมการละเล่นประเพณีปีใหม่ม้ง

ที่ปรึกษาโครงการ : วรศักดิ์ แซ่เฮ้อ

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านดอนไพรวัลย์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

  • นิชาพัด เฮงชวัลกุล มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
  • กัญญาวีร์ แซ่เฮ้อ มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
  • อณุภา เกตุโชคอุดม มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
  • เกสรา แซ่โซ้ง มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
  • สุภาภรณ์ แซ่โซ้ง มัธยมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
  • มณีวรรณ แซ่ว่าง มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56
  • ธันวา แซ่โซ้ง มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56