การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างจิตสำนึกต่อตนเองและชุมชนในเรื่องปัญหาขยะ จังหวัดน่าน ปี 2

“เยาวชน” ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

โครงการขยะให้ความรู้ 

โครงการนี้ช่วยดึงมือของแต่ละคนให้มายึดเกาะและสร้างสายใยความผูกพันในการทำงานให้มากขึ้น ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อการทำงาน บางครั้งที่คิดไม่ออก แทนที่จะโกรธเคืองขุ่นใจ กลับกลายเป็นว่า ยิ่งช่วยกันคิด เพราะเข้าใจแล้วว่า ความสามัคคีจะทำให้สิ่งที่ไม่เคยสำเร็จ สำเร็จขึ้นมาได้ หรือหากไม่สำเร็จจริง ๆ มันก็ยังดีที่พวกเขาได้พยายามช่วยกันให้ถึงที่สุดแล้ว

“แก่งน้ำว้า” สถานที่ท่องเที่ยวด้านการผจญภัยที่มีชื่อเสียงในจังหวัดน่าน ตัวลำน้ำว้าจะพาดผ่านหลายพื้นที่ โดยช่วงกลางได้ไหลผ่านบ้านแม่สะนาน อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาที่หมู่บ้านเป็นประจำ วันนี้ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่สะนานสังเกตเห็นสถานการณ์บางอย่างที่ควรเร่งแก้ไข ให้หมู่บ้านสะอาด เพื่อสุขลักษณะของคนในชุมชน และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามา


เยาวชนชี้ปัญหา อาสาจัดการขยะในชุมชน

“รู้สึกว่า “ความสกปรก” คือปัญหาใหญ่ หากปล่อยไว้อาจกระทบกับความนิยมของนักท่องเที่ยว และสุขลักษณะของชาวบ้าน จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการปัญหาดังกล่าว” “ตอนแรกพวกเราอยากทำเรื่องท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป ต้องติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่หลายส่วน แล้วพอดูใกล้ ๆ ตัวว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ก็เห็นว่าชุมชนของเรามีขยะเยอะ ถ้าชุมชนยังสกปรก นักท่องเที่ยวคงไม่อยากมาเที่ยว เราจึงทำเรื่องขยะก่อน เพื่อสร้างความสะอาดในชุมชน” กลุ่มเยาวชนบ้านสะนาน อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เอ่ยถึงจุดเริ่มต้นของการทำโครงการขยะให้ความรู้

กลุ่มเยาวชนบ้านแม่สะนาน ประกอบด้วย แซ็ก-บัณฑิต บุญคำจอน แด้ม-ไรวดา อิทธิรักษ์ เจียว-กานต์ชนิต บุญอิน ครีม-จุติพร ตาเขียว มี่-สุจินดา บุญอิน และอุ้ม-อติกานต์ คมกะเสียน ซึ่งทั้งหมดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สะดุดตากับเศษขยะที่เกลื่อนกลาดไปทั้งชุมชน จนพวกเขารู้สึกว่า “ความสกปรก” คือปัญหาใหญ่ หากปล่อยไว้อาจกระทบกับความนิยมของนักท่องเที่ยว และสุขลักษณะของชาวบ้าน จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการปัญหาดังกล่าว

ทว่าก่อนที่กลุ่มเยาวชนจะกระจ่างว่า ขยะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน พวกเขาเคย “มองข้าม” ด้วยความชินตา ใคร ๆ ในหมู่บ้านต่างก็ทิ้งขยะจนทุกคนเห็นเป็นเรื่องปกติ กระทั่งพี่เลี้ยงโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านชวนทำ “แผนที่ชุมชน” ซึ่งเป็นเครื่องมือศึกษาปัญหาชุมชน เพื่อค้นหาว่า จริง ๆ แล้ว “ทุกข์และทุน” ของชุมชนมีอะไรบ้าง โดยการลงสำรวจพื้นที่ภายในชุมชน และทำแผนที่ในจุดสำคัญต่าง ๆ ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนั้น ทีมงานพบว่า มีขยะกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ยิ่งบริเวณร้านค้ายิ่งพบซองขนมและถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ภายในชุมชนมีที่รับซื้อขยะ แต่ก็มีคนในชุมชนบางส่วนเท่านั้น ที่แยกขยะขาย

เมื่อเห็นปัญหา ทีมงานนำเครื่องมือ “การบริหารจัดการโครงการ” เพื่อมาลงลึกในรายละเอียดว่า ถ้าจะทำเรื่องขยะต้องทำอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร และพวกเขาควรมีความรู้อะไร ใครที่สามารถช่วยเหลือการดำเนินงานได้บ้าง แล้วหากไม่แก้จะเกิดผลอย่างไร ซึ่งเครื่องมือนี้ทำให้พวกเขาเห็นสถานการณ์ขยะในชุมชนชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ การทิ้งขยะไม่เป็นที่ ขาดวิธีการกำจัดขยะ ไม่มีการแยกขยะ และไม่รู้คุณค่าของขยะ

แด้ม บอกถึงเหตุผลที่เริ่มมองปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่ผ่านมาว่า “ขยะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทุกอย่างเสีย เช่น ถ้าขยะลงไปในน้ำที่เราต้องดื่ม ต้องใช้ ก็จะมีสารพิษหรือเชื้อโรคเจือปน จนเกิดอันตราย เราจึงต้องเริ่มต้นหาวิธีจัดการขยะก่อน ถ้าไม่ทำก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา และการพัฒนาด้านอื่นคงไม่สำเร็จหากขยะเต็มหมู่บ้าน”


“หลอมหัวใจ” เพื่อส่วนรวม

“นี่ไม่ใช่โครงการของผมเหมือนกัน แต่เป็นโครงการของหมู่บ้าน ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ พอน้องออกไป ตอนนั้นรู้สึกท้อเหมือนกัน แต่อยากทำต่อ อย่างน้อยจะได้สร้างประโยชน์ให้หมู่บ้านของเราสะอาด น่าอยู่ ชาวบ้านมีสุขลักษณะที่ดีขึ้น” หลังตกลงใจว่าจะทำเรื่องขยะ การทำงานมีอันต้องสะดุด สมาชิกในกลุ่ม 3 คนบอกว่า “ไม่สมัครใจจะทำ เพราะมองว่าไม่ใช่โครงการของตัวเอง”

แซ็ก บอกต่อว่า “พอน้องพูดแบบนี้ ผมก็บอกน้องไปว่า นี่ไม่ใช่โครงการของผมเหมือนกัน แต่เป็นโครงการของหมู่บ้าน ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ พอน้องออกไป ตอนนั้นรู้สึกท้อเหมือนกัน แต่อยากทำต่อ อย่างน้อยจะได้สร้างประโยชน์ให้หมู่บ้านของเราสะอาด น่าอยู่ ชาวบ้านมีสุขลักษณะที่ดีขึ้น”

เมื่อสมาชิกหายไป แด้มที่เรียนอยู่ในพื้นที่จึงอาสาหาสมาชิกเพิ่ม เนื่องจากแซ็กเรียนอยู่ในเมือง จึงไม่สะดวกในการติดต่อประสานงาน การหาสมาชิกใช้วิธีดึงเพื่อน ๆ ในโรงเรียนเข้าร่วมทีม เธอบอกถึงความมุ่งมั่นต่อการทำโครงการในตอนนั้นว่า แม้เพื่อนจะไม่อยากทำ ก็ไม่เป็นไร แต่เธอจะทำ เพราะอยากช่วยหมู่บ้าน และจะตามหาคนที่อยากช่วยหมู่บ้านเช่นเดียวกันมาเข้าร่วมกลุ่มให้ได้ แล้วก็สำเร็จ เมื่ออุ้ม เจียว มี่ และครีม ตกลงใจเข้าร่วมโครงการ

“แม้เพื่อนจะไม่อยากทำ ก็ไม่เป็นไร แต่เธอจะทำ เพราะอยากช่วยหมู่บ้าน และจะตามหาคนที่อยากช่วยหมู่บ้านเช่นเดียวกันมาเข้าร่วมกลุ่มให้ได้”

ครีมเล่าถึงตอนที่แด้มชวนมาปราบขยะว่า “แด้มมาถามหนูว่าอยากทำโครงการเกี่ยวกับขยะให้หมู่บ้านไหม ก็ลองมา พอมาแล้วก็สนุกดี ได้ถ่ายหนังเพื่อถ่ายทอดปัญหาขยะในหมู่บ้าน และได้ทำงานกับเพื่อน”


ปฏิบัติการสืบค้นข้อมูลขยะในชุมชน

เมื่อสมาชิกลงตัว ทีมงานจึงระดมสมองคิดวิธีนำเสนอการทำโครงการต่อชุมชน โดยเลือก “หนังสั้น” เป็นเครื่องมือสื่อสารปัญหาขยะในชุมชน เพราะมีพื้นฐานการทำหนังสั้นจากการเรียนในโรงเรียน และเคยเข้าแข่งขันระดับประเทศมาแล้ว แซ็ก เล่ารายละเอียดของหนังสั้นว่า “เนื้อเรื่องของหนังสั้น จะนำเสนอข้อมูลในชุมชน โดยเราลงไปแต่ละพื้นที่ ถ่ายบรรยากาศหมู่บ้าน และบริเวณที่มีขยะ พร้อมดูว่ามีขยะประเภทใดบ้าง จากนั้นสอบถามคนในชุมชนว่าจัดการขยะอย่างไร ความยาวประมาณ 7 นาที ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 3 วัน”

เมื่อการทำหนังสั้นผ่านไปด้วยดี ทีมงานจึงวางแผนร่วมกับครูเอก-เอกพันธ์ จันทร์ท่อน ที่ปรึกษาโครงการว่า เพื่อแก้ปัญหาขยะในชุมชน พวกเขาควรเก็บข้อมูลเรื่องอะไรบ้าง พร้อมกับแบ่งบทบาทหน้าที่กันลงพื้นที่สำรวจครัวเรือน โดยใช้แบบสอบถามที่ทีมงานออกแบบไว้ ไปสอบถามตามบ้านและร้านค้าว่า ขยะที่ทิ้งส่วนใหญ่เป็นขยะชนิดใด นำไปกำจัดที่ไหน อย่างไร และมีการคัดแยกขยะอย่างไร ทั้งนี้ทีมงานทุกคนยอมรับว่า กว่าจะได้แบบสอบถาม พวกเขาต้องแก้กันหลายรอบมาก ซึ่งทำให้พวกเขารู้ตัวว่าไม่ถนัดการทำงานเอกสารเท่ากับการลงมือปฏิบัติการในพื้นที่ แซ็ก ยิ้มอย่างเขินอายและยอมรับว่า สำหรับเขาการทำแบบสอบถามยากกว่าทำหนังสั้น เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่ถ้าให้ทำอีกรอบก็น่าจะยากน้อยลง เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว


สร้างความรู้ควบคู่ปลูกจิตสำนึก 

“ทีมงานค้นพบว่า การแก้ปัญหาเรื่องขยะที่ได้ผลควร “สร้างความรู้” ควบคู่กับ “การปลูกจิตสำนึก” แก่ชาวบ้าน นั่นคือ การคัดแยกขยะก่อนทิ้งและทิ้งอย่างเป็นที่เป็นทาง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และยั่งยืน โดยพวกเขาเลือกใช้วิธีการ ทำให้เห็น และ คุยให้รู้”

หลังลงมือสำรวจสถานการณ์ขยะในชุมชน กลุ่มเยาวชนพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดิมในชุมชนเคยมีบ่อทิ้งขยะ แต่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฝังกลบไปแล้ว ทำให้ในหมู่บ้านไม่มีจุดทิ้งขยะส่วนรวม ชาวบ้านจึงนำไปวางทิ้งตามจุดต่าง ๆ ซึ่งพอมีคนแรกเริ่มทิ้งในจุดหนึ่ง ก็มีคนต่อ ๆ มาทิ้งตาม โดยสถานที่ที่พบขยะถูกกองทิ้งไว้มากคือบริเวณราวป่า จนบริเวณนั้นกลายเป็นแหล่งสะสมความสกปรก ขยะที่พบมากคือ ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก เศษอาหาร แต่ที่อันตรายที่สุดคือ บรรจุภัณฑ์ใส่สารเคมีและสารเคมีที่เหลือทิ้งจากการเกษตร ส่วนวิธีการกำจัดขยะส่วนใหญ่ของชาวบ้าน นอกจากวางทิ้งแล้วก็ยังมีการฝังและเผาด้วย และมีชาวบ้านบางส่วนเท่านั้นที่แยกขยะไปขายให้โรงรับซื้อขยะรีไซเคิลในหมู่บ้าน

จากข้อมูลทั้งหมดทำให้“ทีมงานค้นพบว่า การแก้ปัญหาเรื่องขยะที่ได้ผลควร “สร้างความรู้” ควบคู่กับ “การปลูกจิตสำนึก” แก่ชาวบ้าน นั่นคือ การคัดแยกขยะก่อนทิ้งและทิ้งอย่างเป็นที่เป็นทาง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และยั่งยืน โดยพวกเขาเลือกใช้วิธีการ ทำให้เห็น และ คุยให้รู้” เจียว เล่าต่อว่า “ทำให้เห็น” คือ พวกเราจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนช่วยกันเก็บขยะในหมู่บ้านทุกสัปดาห์ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยแบ่งเก็บ 3 พื้นที่ คือ วันจันทร์ เริ่มเก็บจากหน้าโรงเรียนไปถึงสะพานลำน้ำ วันพุธ เก็บจากสะพานลำน้ำไปถึงหน้าบ้านพี่แซ็ก วันศุกร์เก็บต่อจากหน้าบ้านพี่แซ็กไปจนสุดแนวหมู่บ้าน และเก็บแยกเป็นประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และขยะทั่วไป

ขยะที่เก็บได้จะถูกนำมาคัดแยก อันไหนรีไซเคิลได้ก็นำไปขายโรงรับซื้อ ที่เหลือนำไปกำจัดทิ้ง เจียว อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมของการลงมือเก็บขยะด้วยตัวเองว่า อยากทำให้ชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมาเห็น และรู้ว่า พวกเรากำลังทำเพื่อชุมชน เพื่อบ้านเกิด แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านก็ไม่เป็นไร เธอจะเก็บต่อไปเรื่อย ๆ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของกลุ่มเยาวชนบ้านแม่สะนานคือ รูปแบบการทำงานในโครงการ ที่แต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง เนื่องจากแซ็ก ผู้เป็นพี่ใหญ่และหัวหน้ากลุ่ม เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ซึ่งอยู่นอกชุมชน ส่วนน้อง ๆ ในกลุ่มเรียนที่โรงเรียนบ้านแม่สะนานทั้งหมด แซ็กจึงมีเวลาช่วยทำโครงการเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

“ผมขึ้นมาที่บ้านเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อช่วยน้องคิด วางแผน และประชุมร่วมกัน โดยจะนัดประชุมที่หอประชุมหมู่บ้าน หรือบ้านของสมาชิกในกลุ่มบ้าง ถ้าไม่ได้เจอก็ใช้วิธีคุยโทรศัพท์ ผมเป็นตัวหลักมีหน้าที่มอบหมายงานให้น้อง ๆ แล้วน้องจะไปช่วยกันทำในช่วงเวลาจันทร์-ศุกร์ นอกจากพวกเราแล้วก็มีเด็กในหมู่บ้านที่ไม่ใช่แกนนำหลักเข้ามาร่วมด้วย ประมาณ 2-3 คน”

“ถ้าเราแค่อยากให้ชุมชนสะอาด เราไม่ต้องให้ความรู้ก็ได้ เมื่อได้งบมาก็ช่วย ๆ กันลงพื้นที่เก็บขยะ แป๊ปเดียวมันก็สะอาด แต่มันไม่ยั่งยืน หากคนในชุมชนรู้วิธีจัดการน่าจะลดขยะได้ยั่งยืนกว่า” แซ็ก เล่าต่อว่า แผนการทำงานต่อจากนี้คือ ไปพูดคุยให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกในการทิ้งและคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี พวกเขาวางแผนว่า จะนำข้อมูลสถานการณ์ขยะที่ได้จากการลงพื้นที่ มานำเสนอในเวทีประชุมของหมู่บ้าน รวมทั้งระดมความคิด เรื่องแนวทางกำจัดขยะร่วมกันในชุมชนอย่างถูกวิธี ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของการทำโครงการนี้ เพราะความเป็นเด็ก อาจทำให้ผู้ใหญ่ไม่เชื่อถือ แต่ก็จะพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด

“คิดว่าต้องไปคุยกับผู้นำชุมชนก่อนว่า พวกเราอยากให้ความรู้เรื่องขยะแก่คนในชุมชน ถ้าคนในชุมชนรู้จักโทษภัยของการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง และไม่แยกขยะ ผมว่าน่าจะช่วยลดขยะได้ยั่งยืนมากกว่า เพราะถ้าเราแค่อยากให้ชุมชนสะอาด เราไม่ต้องให้ความรู้ก็ได้ เมื่อได้งบมาก็ช่วย ๆ กันลงพื้นที่เก็บขยะ แป๊ปเดียวมันก็สะอาด แต่มันไม่ยั่งยืน หากคนในชุมชนรู้วิธีจัดการน่าจะลดขยะได้ยั่งยืนกว่า” 


สำนึกจากการลงมือทำ

“การไปเที่ยวเล่นไม่ก่อประโยชน์อะไรกับตัวเอง แต่การทำโครงการนี้ให้ประโยชน์ทั้งกับตัวเอง และชุมชนที่เธออาศัยอยู่ ที่สำคัญคือทำให้คนนอกหมู่บ้านรู้ว่า ถึงพวกเขาจะอยู่ห่างไกล บนเขาบนดอย ก็สามารถพัฒนาหมู่บ้านให้ดีทัดเทียมคนพื้นราบได้

“ตอนแรกไม่อยากทำ อยากอยู่เฉย ๆ อยากไปเที่ยวกับเพื่อนในเมืองมากกว่า แต่พอมาทำแล้ว ก็ไม่ได้หนักเท่าไร เพราะทำในชุมชนเราเอง และใช้เวลาว่างทำ” แซ็ก บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำโครงการ แต่เพราะเกรงใจครูเอก จึงคิดว่า ลองเข้ามาทำดูก่อน ถ้าไม่ไหวก็ไม่ทำ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วเขากลับค้นพบว่า การทำโครงการดูไม่น่าสนุกเท่าการเที่ยวเล่น แต่กลับ “สร้างพลังใจ” บางอย่างแก่เขา

“รู้สึกได้เลยว่า ตัวเองเก่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความกล้าแสดงออกแลความเป็นผู้นำ เพราะต้องรับบทเป็นทั้งรุ่นพี่ และหัวหน้ากลุ่ม จึงต้องมอบหมายงานให้น้องทำ ช่วยดูแลน้องทำงาน ไม่เช่นนั้นน้องอาจไปไม่ถูก สิ่งนี้เองที่ช่วยให้เขากลายเป็นคนกล้าพูด กล้าคุย กับทีมงานและเพื่อน ๆ เครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน”

ส่วนแด้ม ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทีมมาตั้งแต่ต้น กลับมองเห็นตรงข้าม แด้มมองว่า การไปเที่ยวเล่นไม่ก่อประโยชน์อะไรกับตัวเอง แต่การทำโครงการนี้ให้ประโยชน์ทั้งกับตัวเอง และชุมชนที่เธออาศัยอยู่ ที่สำคัญคือทำให้คนนอกหมู่บ้านรู้ว่า ถึงพวกเขาจะอยู่ห่างไกล บนเขาบนดอย ก็สามารถพัฒนาหมู่บ้านให้ดีทัดเทียมคนพื้นราบได้

“อยากให้หมู่บ้านของเรามีการพัฒนาและเคร่งครัดเรื่องการจัดการขยะ และอยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านของเราคือ ล่องแก่งน้ำว้ากับน้ำตกแม่สะนาน ช่วยกันรักษาความสะอาด และมีการจัดการขยะที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามาด้วย เราลงมือทำแล้วก็อยากทำให้สำเร็จครบทุกด้าน หมู่บ้านจะได้สะอาดยิ่งขึ้น”

เจียวเสริมต่อว่า การทำโครงการ บางครั้งก็สร้างความสนุก บางครั้งก็สร้างความเครียดให้เธอ เพราะมีบางครั้งที่ทำไม่ได้และไม่เข้าใจงาน แต่เธอก็หาวิธีจัดการโดยจะถามทวนกับแซ็กตลอดว่า ต้องทำอย่างไร ถ้าแซ็กตอบไม่ได้ก็จะไปถามพี่เลี้ยง เพื่อหาคำตอบให้ตัวเอง ส่วนบทเรียนสำคัญที่เธอได้รับคือ การคิดก่อนทำ ถ้าทำไม่ดีก็ต้องกลับมาแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเห็นบทเรียนมาจากตอนทำแบบสำรวจข้อมูล ที่ทำอยู่หลายรอบมาก แก้แล้วแก้อีก จนพี่เลี้ยงโครงการลงมาให้คำปรึกษา จึงสำเร็จในที่สุด

ขณะที่แด้ม เสริมว่า เดิมเธอเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด แต่ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานและการเข้าร่วมอบรมกับโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านหลาย ๆ ครั้ง ได้สร้างมุมมองใหม่ ทำให้เธอปรับตัว รู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และเมื่อได้เห็นเพื่อนจากต่างกลุ่มกล้าพูด เธอจึงย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมจึงพูดไม่ได้ จนเกิดแรงบันดาลใจอยากดึงตัวเองขึ้นมาจากความไม่กล้าแสดงออก

นอกจากเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองแล้ว เธอยังเห็นความเปลี่ยนแปลงของทีมงานที่จากเดิมไม่ค่อยร่วมมือกันทำงานเป็นทีม ก็มีความร่วมมือกันมากขึ้น

“โครงการนี้ช่วยดึงมือของแต่ละคนมายึดเกาะและสร้างสายใยความผูกพันในการทำงานให้มากขึ้น ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อการทำงาน บางครั้งที่คิดไม่ออก แทนที่จะโกรธเคืองขุ่นใจ กลับกลายเป็นว่า ยิ่งช่วยกันคิด เพราะเข้าใจแล้วว่า ความสามัคคีจะทำให้สิ่งที่ไม่เคยสำเร็จ สำเร็จขึ้นมาได้ หรือหากไม่สำเร็จจริง ๆ มันก็ยังดีที่พวกเขาได้พยายามช่วยกันให้ถึงที่สุดแล้ว”

การเดินทางสู่เป้าหมายของโครงการที่ต้องการเห็นขยะลดลง ชาวบ้านมีความรู้เรื่องการจัดการขยะ ที่สำคัญเกิด “จิตสำนึก” ในการทิ้งขยะ จำเป็นต้องใช้เวลาบวกกับความพยายามของทีมงานอีกระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ความสุขจากการได้ลงมือทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ แม้จะพานพบอุปสรรคต่าง ๆ นานา แต่พวกเขาก็ก้าวข้ามมาได้ด้วย “หัวใจรักในถิ่นเกิด” 


คือผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง

ครูเอก-เอกพันธ์ จันทร์ท่อน คุณครูพละศึกษา โรงเรียนบ้านแม่สะนาน ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ยืนยันความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ว่า โครงการนี้ช่วยให้เด็ก มี “จิตสำนึก” มากขึ้น เรารู้สึกได้เลยว่า เขาอยากทำ อยากช่วยครู คนที่ไม่ใช่แกนนำก็สนใจเข้ามาช่วยด้วย มุมมองความคิดก็เปลี่ยนแปลง และมีความกล้ามากขึ้น โดยเฉพาะแซ็กจะมีภาวะผู้นำมากขึ้น “เมื่อก่อน ผมไม่คุย เขาก็ไม่คุย ผมจึงค่อย ๆ บอกเขาว่าอย่ายึดความคิดครู ลองคิดมาก่อนแล้วมาคุยกัน ให้เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก ถ้าเราคิดเองก็ทำได้เอง”

“ผมว่าถ้าผู้ใหญ่คิดให้ เขาก็จะเดินตาม แต่ถ้าให้เด็กคิดเอง ลงมือทำเอง เขาจะก้าวเดินได้อย่างเข้มแข็ง ถ้าเราจูงมือเขาตลอด เขาคงทำอะไรไม่เป็น เด็กจะทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีก็ไม่เป็นไร แต่ต้องปล่อยให้เขาได้ทำ เมื่อก่อนผมเคยจูงเขาแล้วพบว่า ไม่มีประโยชน์ จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง มีหน้าที่แค่หาข้อมูล หาสื่อเกี่ยวกับขยะ แล้วนำมาคุยให้เด็กๆ ลองต่อยอดดู”

การปล่อยให้เด็กลองคิดของครูเอก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมเด็กให้มีความเป็นผู้นำ และกล้าแสดงออกไปทำสิ่งต่างๆ โดยไม่กังวลว่าจะทำไม่ได้ เพราะนี่เป็นเพียงแบบจำลองชีวิตเท่านั้น ซึ่งครูเอกสำทับว่า ภายใต้การปล่อยให้เด็กไปทำ ก็ต้องมีข้อมูล และมีการพูดคุย เพื่อดูความถูกต้องด้วยเช่นกัน

“ผมว่าถ้าผู้ใหญ่คิดให้ เขาก็จะเดินตาม แต่ถ้าให้เด็กคิดเอง ลงมือทำเอง เขาจะก้าวเดินได้อย่างเข้มแข็ง ถ้าเราจูงมือเขาตลอด เขาคงทำอะไรไม่เป็น เด็กจะทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีก็ไม่เป็นไร แต่ต้องปล่อยให้เขาได้ทำ เมื่อก่อนผมเคยจูงเขาแล้วพบว่า ไม่มีประโยชน์ จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง มีหน้าที่แค่หาข้อมูล หาสื่อเกี่ยวกับขยะ แล้วนำมาคุยให้เด็กๆ ลองต่อยอดดู”

หลังจากนี้เด็ก ๆ ต้องไปพูดคุยให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่ในชุมชน ในฐานะที่ปรึกษา ครูเอกบอกว่า เขาจะทำหน้าที่แค่แนะนำและพูดคุยกับเด็กว่า ควรให้ข้อมูลส่วนไหน แต่เบื้องหน้าเป็นเด็ก ๆ ที่ต้องลงมือแสดง รับบทบาทผู้พูดให้ความรู้ ส่วนเขาขอเป็นแค่ช่างภาพเฝ้าดูเด็กเท่านั้น

เมื่อความเปลี่ยนแปลงบังเกิด หัวใจของพวกเขาก็ค่อย ๆ ขยับไปสู่การมีจิตสำนึกพลเมือง หรือที่จริงแล้วอาจเริ่มสำเร็จมาตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเห็นว่า ภาพขยะที่เห็นจนชินตาแต่ไม่ชินใจ ควรต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง แล้วพวกเขาก็เลือกที่จะลุกขึ้นมาจัดการขยะในชุมชนด้วยตนเอง ด้วยสำนึกได้ว่า “ถ้าไม่ทำ แล้วใครจะทำ” และเมื่อสำนึกฝังลึกอยู่ในเนื้อในตัว การลงมือ “เก็บขยะ” จึงกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่ทีมงานทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เดี๋ยวนี้เห็นขยะตรงไหนก็ช่วยกันเก็บ หรือบางครั้งเห็นเพื่อนทิ้งขยะเรี่ยราดก็เดินไปบอกเพื่อนให้เก็บ แต่เพื่อนไม่เก็บ เราก็เก็บเอง เก็บไปเรื่อยๆ ไม่รู้หรอกว่า ขยะจะลดลงเมื่อไร แต่เราก็จะทำไปเรื่อย ๆ เพราะเราลงมือทำแล้ว ก็อยากทำให้สำเร็จถึงที่สุด”

วันนี้โครงการขยะให้ความรู้กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของการทำงาน นั่นคือการสร้าง “จิตสำนึก” เรื่องการจัดการขยะให้คนในชุมชน เพื่อสร้างความสะอาดอย่างยั่งยืน ทว่าสิ่งหนึ่งที่สำเร็จอย่างงดงามแล้วคือ” สำนึกความเป็นพลเมือง” ที่ก่อเกิดในใจของทีมงานที่มองว่า ปัญหาส่วนรวมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีใครสักคนที่ไม่รีรอจะลุกขึ้นแก้ปัญหา เพราะความเป็นไปในสังคมล้วนเป็นความรับผิดชอบของทุกคนและนี่คือพลังของหัวใจดวงน้อย ๆ ที่กำลังงอกงามสู่ความเป็น “พลเมือง” ที่มี “พลัง” ของเมืองน่าน


โครงการ : ขยะให้ความรู้กลุ่มเยาวชนบ้านแม่สะนาน อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูเอกพันธ์ จันทร์ท่อน ครูโรงเรียนบ้านแม่สะนาน

ทีมทำงาน : 

  • บัณฑิต บุญคำจอน มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนันทบุรีวิทยาในพระบรมราชานุเคราะห์
  • กันตภณ บุญอิน มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา
  • ไรวดาอิทธิรักษ์ มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา
  • อนันตศักดิ์ เชื้อบุญมี มัธยมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา
  • สุจินดาบุญอิน มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา
  • กานต์ชนิต บุญอิน มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา
  • จุติพร ตาเขียว มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา
  • อติกานต์ คมกะเสียน มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราษร์รัฐพัฒนา

­