การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า จังหวัดน่าน ปี 2


แปลงร่าง สร้างมูลค่าขยะ

โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า (เป๋าเด้ง)

หากทีมงานสามารลดขยะ (เศษผ้า) ของกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนนาทะนุงลงได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมาในทันทีคือ การลดอัตราการเผาขยะเศษผ้าในชุมชน ส่วนผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นนั้น ทีมงานมองว่า การเย็บกระเป๋าเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้คนในชุมชน ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง

ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 2 พันคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไร่ข้าวโพด แม้อาชีพหลักคือทำการเกษตร แต่ใช่ว่าเกษตรกรจะมีตัวเลือกในการปลูกพืชมากนัก อำนาจการต่อรองทางการตลาดที่แทบจะไม่มี ส่งผลให้เกษตรกรต้องโอนอ่อนไปตามตลาด ปลูกในสิ่งที่ขายได้ เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว

จากจุดเริ่มต้นที่อยากเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในชุมชน เยาวชนตำบลนาทะนุงกลุ่มหนึ่งจึงจับมือกันทำโครงการต้นกล้านาทะนุงรักสิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง จนได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เมื่อคิดทำโครงการต่อ คำถามที่ว่า “ชอบทำอะไร แล้วมีความสุขไหม” จึงเป็นโจทย์ที่ก้องดังให้ทีมทำงานคิดต่อ


ระดมความคิดหา “โจทย์” โครงการ

เพราะมีประสบการณ์การทำโครงการเมื่อปีที่แล้ว เมื่อต้องทำโครงการต่อในปีที่ 2 จ๋าอี้ - จิรัชยา ทากัน จึงนำบทเรียนเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมภายในและภายนอกมาใช้ เธอย้ำว่า ใจจริงอยากสานต่องานเดิมที่เคยทำไว้ แต่เมื่อประเมินสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหน้าแล้ง จึงได้ข้อสรุปว่า หากยังดันทุรังทำโครงการเดิมต่อ คงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เธอจึงเร่งหาทีมงานใหม่ก่อน เพื่อให้แต่ละคนช่วยกันแสดงความคิดเห็น

“คิดจะทำอะไรต้องวางแผนและหาแนวร่วม” จ๋าอี้ กล่าวถึงบทเรียนที่ได้รับจากปีแรกซึ่งส่งผลมาสู่วิธีทำงานในปัจจุบัน เมื่อต้องหาสมาชิกใหม่เข้ามาแทนรุ่นพี่ที่จบการศึกษา จ๋าอี้ จึงถือโอกาสชักชวนเพื่อนสนิทเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนไปชักชวนคนสนิทใกล้ตัวมาร่วมกิจกรรมด้วย

เมื่อถามถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ ส้ม – กิตติมา พลธนะ และ จ๊ะจ๋า – อารียา ปันติ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เข้าร่วมโครงการเพราะความสนิทสนมกับเพื่อน ปกติก็ไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่แล้ว หากต้องทำโครงการด้วยกันอีกจะเป็นไรไป

การออกเดินสายเชิญชวน เพื่อหาแกนนำเยาวชนเข้ามาร่วมโครงการในปีที่ 2 ได้รับการตอบรับจากเด็กและเยาวชนในตำบลนาทะนุงเป็นอย่างดี สิ่งนี้น่าจะเป็นผลพวงมาจากการทำโครงการปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เด็กและเยาวชนกลุ่มอื่น ๆ เห็นประโยชน์ที่ได้จากโครงการ “มะนาวที่เราปลูกตั้งแต่คราวที่แล้วยังอยู่รอดทุกต้น และขายได้จริง”

จ๋าอี้ อธิบายว่า ขั้นตอนการเลือกประเด็นเพื่อนำเสนอโครงการ เน้นให้แต่ละคนระดมความคิดว่า “อยากทำโครงการอะไรบ้าง?” แล้ว “กิจกรรมไหนเป็นไปได้มากที่สุด?”

ทีมงานแต่ละคนต่างเสนอสิ่งที่ตนเองอยากทำ ซึ่งมีทั้ง ดนตรีไทย การปลูกพืชผักสมุนไพร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า แล้วช่วยกันโหวต โดยต้องให้เหตุผลประกอบ สำหรับดนตรีไทยใช้งบประมาณสูง เพราะต้องซื้อเครื่องดนตรีเข้ามาเพิ่ม ขณะที่การปลูกพืชสมุนไพรก็ติดปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง เลยมาลงตัวที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า เพราะตำบลนาทะนุงมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้านาทะนุงที่มีเศษผ้าเหลือทิ้งวันละจำนวนมาก

“โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า (เป๋าเด้ง) ไม่ได้มองเศษผ้าเป็นแค่วัตถุดิบที่สามารถนำมาแปรรูปใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเท่านั้น พวกเขายังสามารถเชื่อมโยงถึงคุณค่าของการนำเศษผ้ามาแปรรูปว่า ยิ่งนำเศษผ้ามาแปรรูปได้มากเท่าไร ยิ่งลดการเผาได้มากเท่านั้น”


ฝึกฝีมือ เพิ่มมูลค่า และลดอัตราการเผา

แต่โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า (เป๋าเด้ง) ไม่ได้มองเศษผ้าเป็นแค่วัตถุดิบที่สามารถนำมาแปรรูปใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเท่านั้น พวกเขายังสามารถเชื่อมโยงถึงคุณค่าของการนำเศษผ้ามาแปรรูปว่า ยิ่งนำเศษผ้ามาแปรรูปได้มากเท่าไร ยิ่งลดการเผาได้มากเท่านั้น

“เฉลี่ยเศษผ้าเหลือทิ้งวันหนึ่งประมาณ 5-10 กิโลกรัม และปกติชาวบ้านจะกำจัดเศษผ้าด้วยการนำไปเผา เพราะฉะนั้นการนำเศษผ้ามาแปรรูปจะช่วยสร้างทั้งรายได้ ลดการเผาขยะ และฝึกทักษะฝีมือด้านการตัดเย็บให้เด็กและเยาวชน รวมถึงตัวเราเองได้ด้วย” พลอย – ลักษิกา ปาเป็ง บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้รับ

เป้าหมายแรกของโครงการ เป๋าเด้ง คือ ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ การฝึกให้เด็กและเยาวชนในชุมชนมีทักษะด้านการตัดเย็บติดตัวสำหรับใช้เป็นประโยชน์ในอนาคต จ๋าอี้ บอกว่า หากทีมงานสามารถลดขยะ (เศษผ้า) ของกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนนาทะนุงลงได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมาในทันทีคือ การลดอัตราการเผาขยะเศษผ้าในชุมชน ส่วนผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นนั้นทีมงานว่า การเย็บกระเป๋าเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้คนในชุมชน ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการตัดเย็บเสื้อผ้าที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำอยู่ก่อนแล้ว

“โครงการของเราเน้นทำกิจกรรมกับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้น้อง ๆ ได้ทักษะติดตัวไปทำใช้เองหรือทำขาย แม้จะไม่ทำตอนนี้ แต่ในอนาคตอาจเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ ก็เป็นได้ เรามองว่าโครงการที่เด็กทำเป็นตัวอย่างให้ผู้ใหญ่ ถ้าทำสำเร็จผู้ใหญ่อาจให้ความสนใจ แล้วนำไปขยายผลต่อก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” จ๋าอี้ อธิบาย


ฝึกปรือผลิต และจำหน่าย

หลังทีมทำงานลงตัวแล้ว ขั้นต่อไป คือ การหาสมาชิกเพิ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการคือ นักเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านนาทะนุง

“พวกเราเรียนจบจากโรงเรียนนี้ เข้าไปขอความร่วมมือกับครูได้ง่ายเพราะคุ้นเคยกันอยู่ ที่เลือกทำงานกับเด็กชั้นประถมศึกษา เพราะมองว่าทำกิจกรรมได้ง่ายกว่านักเรียนมัธยมศึกษา เพราะเด็ก ๆ เชื่อฟังและมีความอยากรู้อยากเห็น เมื่อปีที่แล้วเคยทำกิจกรรมกับรุ่นพี่ เขาไม่ฟัง แล้วบางครั้งแสดงท่าทางไม่พอใจเวลาเราชวนทำกิจกรรม” จ๋าอี้ กล่าว

พลอย บอกว่า ทีมงานเข้าไปเชิญชวนน้อง ๆ ถึงโรงเรียน โดยจำกัดจำนวนไม่เกิน 20 คน เพื่อให้สามารถดูแลน้องได้ทั่วถึง

“ถ้าน้องมากันเยอะเกินไป จะชวนกันเล่น และไม่มีสมาธิ เวลาสอนอะไรเขาจะไม่ฟัง เลยคิดว่าสัก 20 คนไม่เกินจากนี้กำลังพอดี” พลอย อธิบาย

แต่คำถามต่อไป คือ แล้วจะสอนน้องยังไงในเมื่อแกนนำยังเย็บไม่เป็น?

“ไม่มีใครเก่งอะไรมาตั้งแต่แรก” พลอย เอ่ยขึ้น

ในเมื่อโครงการต้องดำเนินไปตามแผน และการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ทีมงานจึงจัดอบรมการตัดเย็บกระเป๋าจากเศษผ้า โดยเชิญวิทยากรกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนมาช่วยสอน แล้วเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับน้องกลุ่มเป้าหมายทั้ง 20 คน

“ตอนเข้าไปขอความร่วมมือจากกลุ่มแม่บ้าน ป้า ๆ ใจดีช่วยเราเต็มที่ เราเชิญวิทยากรมา 1 คน มาสอนวิธีการเย็บและทำความรู้จักกับลายผ้า โดยฝึกเย็บไปพร้อมกับน้อง เป็นตัวอย่างให้น้องเห็นไปในตัว” จ๋าอี้ กล่าว

แต่การฝึกฝนไม่ได้จบลงแค่นั้น ทีมงานนัดรวมกลุ่มกันเข้าไปขอความรู้และฝึกฝนการเย็บกับแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนอีกถึง 3 ครั้ง เพื่อพัฒนาฝีมือตัวเองให้สามารถถ่ายทอดความรู้แก่รุ่นน้องได้อย่างไม่เคอะเขิน

“หลังจากเรียนครั้งแรก เราคิดว่าต้องฝึกตัวเองให้เชี่ยวชาญกว่านี้ ผลงานชิ้นแรกของน้องประถมศึกษาเย็บสวยกว่าพวกเราอีก เพราะน้อง ๆ ได้ฝึกในวิชาเรียนที่โรงเรียน แต่พวกเราแทบไม่เคยทำเลย เราเลยต้องมาเรียนรู้เพิ่ม เรื่องการออกแบบลายผ้า แล้วก็ฝึกฝีเย็บให้แน่นและดูเป็นระเบียบ” จ๊ะจ๋า อธิบาย

หลังผ่านกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนการเย็บได้ระยะหนึ่ง อาคาร อบต.บ้านนาทะนุง เป็นจุดนัดพบและเป็นฐานที่มั่นของทีมงานและสมาชิก วันเสาร์อาทิตย์คือเวลาที่พวกเขานัดรวมตัวกันมาเย็บกระเป๋าให้ได้มากที่สุด เพื่อลองนำไปวางขาย แล้วประเมินว่าลายไหน และรูปแบบใดเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อครั้งต่อไปจะได้ผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด

“พวกเราไม่รู้ว่าคนแต่ละวัยชอบแบบไหน เลยต้องทำออกมาก่อน แล้วเอาไปวางขายดูว่าคนสนใจซื้อแบบไหนมากที่สุด” ส้ม อธิบายและเล่าต่อว่า แต่เมื่อนำผลิตภัณฑ์ไปวางขายที่ตลาดนัดวันศุกร์ในชุมชน พอเริ่มมีคนเข้ามาถามไถ่ ฝนก็ตกลงมาทันที กระเป๋าที่เตรียมไว้จึงขายได้เพียง 3-4 ใบเท่านั้น 


เรียนรู้จากปัญหา

แม้จะเคยทำโครงการมาแล้ว แต่เมื่อลงมือทำอีกครั้งก็ยังพบปัญหาอุปสรรคเช่นเดิม ทีมงาน บอกว่า อุปสรรคของพวกเขาส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พร้อมและการบริหารจัดการเวลาที่ยังทำได้ไม่ดีพอ “ครั้งแรกที่นัดอบรมน้อง เราลืมสั่งข้าว เพราะไม่ได้นึกถึงเลย แล้วอุปกรณ์การเย็บก็ไม่ครบ” จ๋าอี้ เอ่ยขึ้น ความผิดพลาดครั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะการละเลยและไม่จัดการเวลา

“ช่วงนั้นไม่มีใครว่าง ทุกคนติดเรียนกันหมด ไม่ได้ประชุมแบ่งงานกัน แต่เราก็นัดน้องมาทำกิจกรรม พอถึงวันจริงทำอะไรไม่ได้แล้ว เลยแบ่งงานเฉพาะหน้าตรงนั้นว่าใครไปสั่งข้าว ใครออกไปซื้ออุปกรณ์มาให้ครบ จำได้ว่าข้าวกล่องได้มาตอนเที่ยงพอดี ส่วนอุปกรณ์ก็รีบไปซื้อมาก่อน เพื่อให้เริ่มทำกิจกรรมตามที่วางแผนไว้ได้” จ๋าอี้ เล่า

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน ยอมรับว่า การจัดการเวลาเป็นปัญหาที่น่าหนักใจที่สุด เพราะทีมงานมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ส้ม เล่าว่า การนัดหมายจะยึดวันว่างของน้อง ๆ กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก หลังจากนั้นทีมงานจะประชุมร่วมกันว่าสามารถมาทำกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกันในวันนั้นได้หรือไม่

“เรื่องเรียนเราก็ยังต้องรับผิดชอบอยู่ แต่ทุกคนก็อยากมีส่วนร่วมมาทำกิจกรรมด้วยกัน เรื่องเวลาเลยเป็นเรื่องที่เครียดกันมากที่สุด” ส้ม กล่าว

“การทำโครงการทำให้มีสมาธิและใจเย็นขึ้นได้ การทำงานเป็นกลุ่มยาก แต่ก็สนุก อาจมีขัดใจ ต่างความคิดกันบ้าง ก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา...แรก ๆ เวลานัดกันมาทำงาน ใครไม่มาก็มีโกรธกัน แต่หลังจากคุยกัน ทุกคนก็ปรับปรุงตัวเอง อาจมีมาช้าบ้าง คนที่มาก็ทำไปก่อน เพราะเป็นความรับผิดชอบของเรา”

ส่วนจ๋าอี้ แม้จะมีส่วนร่วมทำโครงการมา 2 ปี แต่เมื่อต้องผันตัวเองมาเป็นผู้นำ เธอบอกว่า รู้สึกภูมิใจที่สามารถพัฒนาตัวเองให้มีความเป็นผู้นำ กระทั่งสามารถดำเนินโครงการเป๋าเด้งจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

“ปีที่แล้วเป็นแกนนำก็จริง แต่เรายังเป็นผู้ตามเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ปีนี้ต้องลุกขึ้นมานำน้อง ๆ เป็นอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเดิม เมื่อก่อนอะไรไม่ได้อย่างใจจะเอ่ยปากว่าคนอื่นทันที แต่การทำโครงการทำให้มีสมาธิและใจเย็นขึ้นได้ การทำงานเป็นกลุ่มยาก แต่ก็สนุก อาจมีขัดใจ ต่างความคิดกันบ้าง ก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา” จ๋าอี้ สะท้