การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาในชุมชน จังหวัดน่าน ปี 2

เยาวชนอาสา ให้น้ำกับปลาได้อิงอาศัย

โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา

การทำงานได้ “สร้างสำนึก” ที่เอาธุระกับเรื่องราวที่เห็นว่าเป็นปัญหาของชุมชนมากขึ้น...ทุกวันนี้กลุ่มเยาวชนจะรวมกันเก็บขยะในชุมชน เก็บขยะในลำน้ำ การเก็บขยะของเยาวชนโดยที่ไม่มีใครสั่งให้ทำอยู่เรื่อยๆ ทำให้หมู่บ้านสะอาดมากขึ้น และทำให้คนในชุมชนละอายใจที่จะทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะและมีการจัดการขยะในครัวเรือนของตนดีขึ้น...ผลของการที่มีปลาหลายชนิดมาอาศัยอยู่ในบริเวณเขตอนุรักษ์เป็นที่ประจักษ์แก่คนในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง ส่งผลให้บ้านน้ำปาย ที่อยู่เขตติดต่อกันเริ่มทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาต่อจากเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของบ้านน้ำหลุ ความหวังที่จะขยายเขตอนุรักษ์ให้มีระยะทางยาวออกไปจึงได้รับการเติมเต็มทีละน้อย

มองดูความจริงที่แสนจะโหดร้ายป่าเขาเปลี่ยนเป็นทะเลทรายในชั่วข้ามวัน

ปลอบโยน โลกว่า เป็นแค่ภาพในความฝันลมร้อนพาบาดแผลนั้นให้พัดผ่านไป

จึง...ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ใหม่โปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ในใจของคน

ให้งอกงาม ในจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนจึงสร้างคน สร้างโลกในจินตนาการ

โลกจะยิ้มหรือร้องไห้ขึ้นอยู่ในมือของพวกเรา

โลกจะสุขหรือหม่นเศร้า อยู่ที่เรากำหนดได้

เปลี่ยน...ทะเลทรายให้กลายเป็นป่าเขาเขียว

รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว ช่วยโลกให้สวยงาม

จะไม่ยอมให้ภาพผืนป่า เป็นแค่ภาพในจินตนาการ

รวมพลังเยาวชนคนน่านสร้างฝันให้เป็นความจริง

เสียงร้องเพลงที่ดังกึกก้องในศาลากลางบ้าน เป็นเสียงอันสดใสของเด็กและเยาวชนบ้านน้ำหลุ ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ที่เปล่งเสียงออกมาอย่างทรงพลัง โดยเฉพาะท่อนฮุก “เปลี่ยนทะเลทราย ให้กลายเป็นป่าเขาเขียว” ที่ทุกคนต่างร้องเต็มเสียง พร้อมสายตามุ่งมั่น ซึ่งความมุ่งมั่นนี้แสดงออกด้วยการเอาจริง ผ่านการที่เยาวชนกลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 จัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้นมาในพื้นที่ลำน้ำยาวช่วงที่ไหลผ่านบ้านน้ำหลุ ด้วยเห็นว่า นับวันพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่เคยมีอยู่ในลำน้ำยาวได้หายไป เพราะการขยายตัวของจำนวนประชากรในพื้นที่ ทำให้ต้องมีการขยายพื้นที่ทำการเกษตรบริเวณต้นน้ำ และมีการใช้สารเคมีทางการเกษตร แล้วไหลซึมลงสู่ผืนดินและแหล่งน้ำ จนส่งผลต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำในที่สุด

ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินการ กลุ่มเยาวชนได้ขอพันธุ์ปลาจากกรมประมงมาปล่อย ในวันที่ทำพิธีบวชน้ำ ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ลำน้ำยาวก็ยังคงขาดปลาท้องถิ่นหลายชนิด ทั้งปลาดุก ปลานิล ปลาสวาย ที่เคยปล่อย ก็พลอยหายไปด้วย กระทั่งการเข้ามาของโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ทำให้พวกเขา “เห็นโอกาส” ที่จะสานต่องานที่ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีจ๋อย-วรมน เสารางทอย เอ็มมี่-สุนันทา แซ่เติ๋น และ หนึ่ง-ณัฐวดี ทองสุข เป็นแกนนำ โดยมีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลา และรักษาระบบนิเวศของลำน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป

“เมื่อตกลงใจทำโครงการ ทีมงานนำข้อมูลการทำงานในปีแรกมาทบทวน พบว่า เขตอนุรักษ์เพียง 800 เมตร อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปลามีพื้นที่แหวกว่ายอย่างอิสระ จึงนำเสนอโครงการต่อที่ประชุมหมู่บ้าน ที่ประชุมอนุญาตให้มีการขยายพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นในช่วงต้นน้ำอีก 200 เมตร รวมเป็น 1 กิโลเมตรครอบคลุมไปถึงเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง โดยหวังว่า การขยายพื้นให้มากที่สุด”


ให้น้ำกับปลาได้อิงอาศัย

เมื่อตกลงใจทำโครงการ ทีมงานนำข้อมูลการทำงานในปีแรกมาทบทวน พบว่า เขตอนุรักษ์เพียง 800 เมตร อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปลามีพื้นที่แหวกว่ายอย่างอิสระ จึงนำเสนอโครงการต่อที่ประชุมหมู่บ้าน ที่ประชุมอนุญาตให้มีการขยายพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นในช่วงต้นน้ำอีก 200 เมตร รวมเป็น 1 กิโลเมตรครอบคลุมไปถึงเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง โดยหวังว่า การขยายพื้นให้มากที่สุด

เพราะต้องการจัดระบบนิเวศให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของปลา ทีมงานจึงระดมเพื่อนพ้องน้องพี่ ช่วยกันทำความสะอาดลำน้ำยาว ด้วยการเก็บขยะตลอดลำน้ำ พร้อมกับทำความสะอาดริมตลิ่ง และตัดกิ่งไม้มาปักไว้ริมน้ำ เพื่อสร้างเป็นที่อยู่ของปลา โดยมีการติดตามผลทุกเดือน ว่าปริมาณปลาเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร

สิ่งที่ทีมงานทำคู่ขนานไปกับการทำพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา คือใช้ “ความเชื่อ” ของชุมชนมาควบคุมการใช้ประโยชน์จากลำน้ำ โดยกลุ่มเยาวชนร่วมกับชุมชนทำ “พิธีบวชน้ำ” อีกครั้ง เพื่อประกาศเขตอนุรักษ์ที่ครอบคลุมระยะทาง 1 กิโลเมตรของลำน้ำยาวช่วงที่ไหลผ่านบ้านน้ำหลุ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รวมทั้ง อบต. ที่เห็นชอบต่อกิจกรรมของเยาวชนเป็นอย่างดี ซึ่งผู้ใหญ่บ้านยังช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเยาวชนในที่ประชุมของหมู่บ้าน อันนำไปสู่การกำหนดกฎกติการ่วมกัน

“คุยกับชาวบ้านว่า เราต้องการให้มีปลา มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นในหมู่บ้าน หากจะจับปลาไปกิน ต้องจับนอกเขตอนุรักษ์ ถ้าใครฝ่าฝืนจับปลาในเขตอนุรักษ์ต้องถูกปรับ 2,000 บาท” เอ็มมี่เล่าถึงที่มาของกติกา ที่ทีมงานได้จัดทำป้ายประกาศนำไปติดไว้บริเวณเขตอนุรักษ์

กฎที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัดกับทุกคน โดยไม่มีการยกเว้น และเป็นที่รับรู้กันทั่วไป

“ตอนเราไปสำรวจว่ามีปลาเพิ่มไหม เราใช้สวิงจับมาขึ้นมาดู แล้วก็ปล่อยคืน เด็กเล็ก ๆ ในชุมชนที่เห็นทีมงานใช้สวิงจับปลาเพื่อติดตามผลของการทำเขตอนุรักษ์ ยังกล่าวตักเตือนว่าห้ามจับปลา เพราะเป็นเขตอนุรักษ์ หากไม่เชื่อฟังจะไปฟ้องผู้ใหญ่บ้านให้ปรับ” จ๋อยเล่าถึงสำนึกที่ถูกปลูกฝังในตัวเด็กๆ 


เมื่อปลาหวนคืนสู่สายน้ำ

3-4 เดือนผ่านไป ผลการสำรวจชนิดปลาของทีมงานพบว่า มีปลาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 15 ชนิดสร้างความตื่นเต้นยินดีให้แก่กลุ่มเยาวชนอย่างมาก โดยสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบอก คือ ถ้าเจอปลาแค่ชนิดเดียวคือ ปลามุง สามารถบอกได้เลยว่าระบบนิเวศในลำน้ำนั้นยังสมบูรณ์อยู่ แต่กระนั้นการสอบถามจากผู้ใหญ่ในชุมชนก็ทำให้กลุ่มเยาวชนรู้ว่า มีปลาหลายชนิด เช่น ปลาปากยาว ปลาเข็ม ที่สูญพันธุ์ไปจากท้องน้ำที่หมู่บ้าน เพราะปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำสะอาดที่มีออกซิเจนมาก กลุ่มเยาวชนจึงยังคงช่วยกันรักษาระบบนิเวศของลำน้ำและชายฝั่งให้เป็นธรรมชาติอยู่ตลอด โดยหวังว่า วันหนึ่งปลาหายากที่เคยหายไป จะว่ายเวียนกลับมาอยู่ในเขตอนุรักษ์ของชุมชน

เมื่อรู้ว่าปลาหลายชนิดหายไปจากชุมชน กลุ่มเยาวชนจึงมีแผนที่จะแสวงหาพันธุ์ปลาท้องถิ่น เพื่อนำมาปล่อยในลำน้ำยาว ทีมงานสืบค้นจนทราบว่า ที่กรมประมงมีการเพาะพันธุ์ปลาหลายชนิดที่เป็นปลาท้องถิ่นในลำน้ำยาว จึงทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากกรมประมง เพื่อขอพันธุ์ปลามาปล่อย โดยอาศัยวาระของการสรุปผลการทำงาน คืนข้อมูลการดำเนินงานของโครงการสู่ชุมชน ถือเป็นวันดีที่จะชักชวนพ่อแม่พี่น้อง ญาติสนิท มิตรสหายในชุมชนช่วยกันปล่อยพันธุ์ปลาที่ได้รับมากลับคืนลงสู่ลำน้ำยาว


“พี่พาทำ” วิถีสร้างคนรุ่นต่อรุ่น

“การสร้างคนรุ่นใหม่รุ่นต่อรุ่น เป็นโจทย์การทำงานของกลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ ดังนั้นการสอนงานคือ การให้ลงมือทำ น้องที่โตพอจะถูกมอบหมายให้หัดนำเสนอ หรือหัดเขียนขึ้นกระดาน ฝึกเขียน ฝึกสรุปกิจกรรม ซึ่งในการประชุมกลุ่มแต่ละครั้ง พี่ ๆ จะช่วยกันสะท้อนความคิดเห็นต่อผลงานของน้อง ๆ พร้อมทั้งการสรุปให้น้องฟังว่า ต้องทำอะไรบ้าง การทำซ้ำ ๆ เช่นนี้ เป็นการสร้างระบบการทำงาน และเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้น้อง ๆ คุ้นชินต่อการทำงานเป็นระบบ

บรรยากาศของการทำงานที่พี่พาน้องทำกิจกรรม น้องเล็ก ๆ ก็เชื่อฟังทำตาม เป็นภาพที่น่าเอ็นดู แต่ทีมงานก็มีความคาดหวังว่า หากน้อง ๆ โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องระบบการจัดกิจกรรม ก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างแกนนำรุ่นใหม่ให้กับชุมชน

“น้องที่อยู่ประถมศึกษาปีที่ 5-6 เราก็จะเริ่มสอนวิธีทำงานให้เขาแล้ว พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 2 เขาก็สามารถช่วยงานได้ พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาก็ทำงานเป็น อย่างเช่นการทำงานในกลุ่มเราคนที่ทำหน้าที่บันทึก เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่เป็นน้องที่ฝึกกับเรามาตั้งแต่เขาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4”

การสร้างคนรุ่นใหม่รุ่นต่อรุ่น เป็นโจทย์การทำงานของกลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ ดังนั้นการสอนงานคือ การให้ลงมือทำ น้องที่โตพอจะถูกมอบหมายให้หัดนำเสนอ หรือหัดเขียนขึ้นกระดาน ฝึกเขียน ฝึกสรุปกิจกรรม ซึ่งในการประชุมกลุ่มแต่ละครั้ง พี่ ๆ จะช่วยกันสะท้อนความคิดเห็นต่อผลงานของน้อง ๆ พร้อมทั้งการสรุปให้น้องฟังว่า ต้องทำอะไรบ้าง การทำซ้ำ ๆ เช่นนี้ เป็นการสร้างระบบการทำงาน และเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้น้อง ๆ คุ้นชินต่อการทำงานเป็นระบบ

การทำงานได้ “สร้างสำนึก” ที่เอาธุระกับเรื่องราวที่เห็นว่าเป็นปัญหาของชุมชนมากขึ้น ทีมงานเล่าว่า ทุกวันนี้กลุ่มเยาวชนจะรวมกันเก็บขยะในชุมชน เก็บขยะในลำน้ำ การเก็บขยะของเยาวชนโดยที่ไม่มีใครสั่งให้ทำอยู่เรื่อยๆ ทำให้หมู่บ้านสะอาดมากขึ้น และทำให้คนในชุมชนละอายใจที่จะทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะและมีการจัดการขยะในครัวเรือนของตนดีขึ้น

เอ็มมี่เล่าเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้วการทำงานทั้งสองโครงการ คือ โครงการจัดปฏิทินขมุ และโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา เป็นการทำงานของกลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุที่ทุกคนต่างช่วยกันทำกิจกรรม โดยมีการวางแผนการทำงานสลับกันไปมา เช่น สัปดาห์นี้นัดกันมาทำปฏิทิน สัปดาห์หน้านัดกันไปทำเรื่องการสำรวจปลาในเขตอนุรักษ์ ซึ่งการช่วยกันทำงานเป็นเนื้อเดียวเช่นนี้ ทำให้ทีมงานได้ร่วมเรียนรู้ทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน

ผลของการที่มีปลาหลายชนิดมาอาศัยอยู่ในบริเวณเขตอนุรักษ์เป็นที่ประจักษ์แก่คนในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง ส่งผลให้บ้านน้ำปาย ที่อยู่เขตติดต่อกันเริ่มทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาต่อจากเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของบ้านน้ำหลุ ความหวังที่จะขยายเขตอนุรักษ์ให้มีระยะทางยาวออกไปจึงได้รับการเติมเต็มทีละน้อย 


สร้างพลังเสริม...เติมแรงให้ชุมชน

หมอนันท์-อานันท์ ปัญญาโพธินันท์ เจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านใหม่ชายแดน ซึ่งเป็นสาขาย่อยของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชนแดน (รพ.สต.ชนแดน) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า กลุ่มยุวอนุรักษ์ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 โดยทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์วัฒนธรรม

บทบาทการเป็นที่ปรึกษา คือ เป็นหลักในการประสานงาน การประชุม และการทำกิจกรรม รวมทั้งเติมเต็มในส่วนของข้อแนะนำในการทำโครงการ เช่น ขั้นตอนและวิธีการทำงาน การลงชุมชนต้องประสานงานกับใคร ทำอย่างไร และการถอดบทเรียนการทำงาน

“บางครั้งแทบไม่ต้องทำอะไร เพราะน้อง ๆ จะได้รับการเติมเต็มจากพี่เลี้ยงโครงการอยู่แล้ว เรามีหน้าที่แค่คอยเตือน ว่า ลืมอะไรไปหรือเปล่า”

จากความคาดหวังที่อยากเห็นเด็กเยาวชนในชุมชนบ้านน้ำหลุพัฒนาศักยภาพในการทำงานมากขึ้น สามารถดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ได้เอง ด้วยเห็นว่า ลำพังแค่การเรียนไม่เพียงพอต่อการสร้างประสบการณ์ชีวิต แต่การที่เด็กและเยาวชนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพนั้น ต้องเริ่มจากฐานรากที่แข็งแกร่ง คือ มีความกล้าแสดงออก มีความคิด ซึ่งการทำกิจกรรมในโครงการนี้ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์จากชีวิตจริง ที่จะเติมเต็มความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องเรียนให้สมบูรณ์รอบด้านมากขึ้น

“พอถึงวันนี้ ได้เห็นเด็กนำเสนองานที่เขาทำมา ได้เห็นพัฒนาการของเยาวชนที่มีความคิดของตนเอง ตอบปัญหาได้ แก้ปัญหาได้ รู้สึกว่าเขาเก่งขึ้น จากวันแรกที่มา ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด ใครถามอะไรก็จะมองหน้าเราตลอด แต่มาวันนี้เขาไม่ต้องคอยชำเลืองมองหาเราให้ช่วยแล้ว เขามั่นใจมากขึ้น มีความคิดเป็นของตนเอง กล้าที่จะตัดสินใจเอง” หมอนันท์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่ได้สัมผัส

การที่เด็กและเยาวชนมีความคิด กล้าแสดงออก เป็นสิ่งที่หมอนันท์เห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งตัวเด็กและชุมชน จากเดิมที่ชุมชนอาจจะมีปัญหา แม้จะมีความคิดดี ๆ จากจิตใจที่บริสุทธิ์ แต่เด็ก ๆ มักจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็น คิดว่าปัญหาเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ไม่สมควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งที่จริง ๆ แล้วปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนในสังคมนั้น ทุกคนไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น การที่เด็กและเยาวชนมีความคิด กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าลงมือทำ จึงเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะเสริมพลังในการแก้ปัญหาร่วมกับสมาชิกอื่น ๆ ในชุมชน

สำหรับตัวที่ปรึกษาเอง หมอนันท์ยอมรับว่า การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มเยาวชนเป็นเสมือนการเพิ่มวิทยาฐานะให้แก่ตนเองในเรื่องการบริหารจัดการโครงการ ที่แม้ในบทบาทหน้าที่การงานจะต้องทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก ฯลฯ อยู่บ้าง แต่ก็เป็นโครงการสั้น ๆ การทำงานร่วมกับเด็ก ๆ ในโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เชิงกระบวนการที่เป็นขั้นตอน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งจากกลุ่มเยาวชนที่ดูแล กลุ่มเยาวชนจากที่อื่น ๆ รวมทั้งพี่เลี้ยงจากที่ต่าง ๆ ทำให้เห็นถึงบทเรียนการทำงานที่หลากหลายสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำงานของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

วันนี้พันธุ์ปลาหลากหลายชนิดเริ่มฟื้นคืน ชาวบ้านมีแหล่งอาหารโปรตีนจากลำน้ำ เพราะสามารถจับปลา และสัตว์น้ำที่ว่ายออกมานอกเขตอนุรักษ์ไปทำอาหารเลี้ยงครอบครัว แต่การทำงานเพื่อรักษาระบบนิเวศลำน้ำยาวของกลุ่มเยาวชนก็ได้เจอโจทย์ใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนระบบการผลิตของชาวบ้านที่มีที่ทำกินบริเวณต้นน้ำ ที่ในปีนี้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพด เป็นการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งส่งผลให้เกิดการพังทลายของหน้าดินจำนวนมาก สีของแม่น้ำที่เปลี่ยนจากลำน้ำใสสะอาด กลายเป็นสีโคลนขุ่นยามฝนตก สภาพของสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ทำให้ปลาเกิดอาการน็อคน้ำ ตายไปไม่น้อย เหล่านี้คือโจทย์ใหม่ที่ท้าทายให้กลุ่มเยาวชนต้องขบคิดหาทางออกต่อไป ซึ่งกลุ่มยุวอนุรักษ์ที่ได้ติดตั้งอาวุธทางปัญญาจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำโครงการครั้งนี้ บอกว่า ไม่ย่อท้อต่อปัญหา เพราะมั่นใจว่า “พลังของเยาวชน” จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้สวยงดงามดั่งที่จินตนาการไว้ได้อย่างแน่นอน 


โครงการ : อนุรักษ์พันธุ์ปลา

ที่ปรึกษาโครงการ : อานันท์ ปัญญาโพธินันท์ เจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านใหม่ชายแดน สาขาย่อยของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชนแดน (รพ.สต.ชนแดน) 

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านน้ำหลุ ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

  • วรมน เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไตรเขตประชาสามัคคี รัชมังคลาภิเษก
  • สุนันทา แซ่เติ๋น
  • ณัฐวดี ทองสุข ปวช.3 วิทยาลับเกษตรและเทคโนโลยีแพร่
  • สงกรานต์ เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์
  • พิยดา เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์
  • สาวิณี เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนไตรเขตประชาสามัคคี รัชมังคลาภิเษก
  • จักรินทร์ อินปัญญา มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไตรเขตประชาสามัคคี รัชมังคลาภิเษก
  • ขวัญจิรา เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์
  • วิภาวานี เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์

­