การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นต่อไปได้มีจิตสำนึกและรู้จักปฏิทินขมุ จังหวัดน่าน ปี 2


ปฏิทินขมุ...ปฏิทินชีวิต

โครงการจัดทำปฏิทินขมุ

ความสามารถในการนับวันตามปฏิทินขมุได้ของทีมงาน เป็นการเติมเต็มช่องว่างความรู้ของชุมชนที่ขาดช่วงไป เพราะมีแต่คนรุ่นอายุ 70-80 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่รู้ ข้ามมาก็เป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการนี้ ทำให้เด็กและเยาวชนที่ได้ความรู้เรื่องการนับวันตามปฏิทินขมุจากการร่วมกิจกรรมเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน แต่นับวันไม่เป็น การศึกษาหาความรู้ที่ไม่สามารถนำไปตอบข้อสอบในการเรียนในเรื่องนี้ จึงไม่สูญเปล่า แต่เป็นความรู้ที่เยาวชนรู้สึกว่ามีคุณค่า เพราะใช้ได้ในชีวิตจริงของทุกคน

บ้านน้ำหลุ ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ดินแดนชายขอบ ซึ่งเป็นถิ่นฐานของคนไทยเชื้อสาย “ขมุ” ที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนตั้งแต่อดีต จนปัจจุบันมีประชากร 400 กว่าคน อาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข โดยยังคงสืบสานทั้งประเพณีวัฒนธรรมและภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวขมุ ที่มีการดำเนินชีวิตตามความเชื่อของชาวขมุ มีปฏิทินที่บอกถึงวันดี วันเสีย (วันกรรม) ที่กำหนดจังหวะชีวิตของคนในชุมชน แต่ด้วยปฏิทินดังกล่าวเป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่คุ้นชิน เนื่องจากเติบโตมาภายใต้ระบบการศึกษาและสังคมที่ยึดถือปฏิทินตามแบบสากล แม้ความเชื่อยังคงอยู่ มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในชุมชน แต่ผู้ที่สามารถคำนวณวันตามปฏิทินขมุ คงเหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับวันจะโรยราไป


ปฏิทินขมุ...ภูมิปัญญาที่อาจหายไป

“การนับปฏิทินตามความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญ หากกลุ่มเยาวชนไม่เริ่มที่จะเรียนรู้และสืบทอด ภูมิปัญญาที่กำกับจังหวะชีวิตของชุมชนคงสูญหายไปในไม่ช้า” กลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ เป็นการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้านน้ำหลุตั้งแต่ปี 2556 เพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน ทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การเรียนรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ตลอดจนการช่วยงานต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งงานบวชป่า สืบชะตาน้ำ งานขันโตก รวมทั้งการเล่นดนตรีเปิดหมวก เพื่อระดมทุนไว้ใช้ในการทำกิจกรรมของกลุ่มฯ เมื่อโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านเข้ามาชวนทำโครงการ 

ทำให้แกนนำซึ่งประกอบด้วย สามเณรน็อต-จักรินทร์ อินปัญญา บีม-สุณิตา แก้วแดง และกิ๊ก-สาวิณี เสารางทอย รวมทั้งเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในชุมชน ระดมความคิดกันว่า จะทำเรื่องอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด เมื่อช่วยกันทบทวนแล้ว ทุกคนเห็นร่วมกันว่า น่าจะทำเรื่องปฏิทินขมุ เพราะเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ไม่ทราบ หากไม่เร่งศึกษาตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวก็จะไม่สามารถทำตามประเพณีความเชื่อของขมุได้ถูกต้อง

“ชนเผ่าขมุจะมีความเชื่อเรื่องวันที่เหมาะสม กับวันที่ไม่เหมาะสมในการทำกิจกรรม แต่ปัจจุบันนี้ เยาวชนหรือผู้ใหญ่บางคนไม่สามารถนับวันเดือนปีได้” ทีมงานบอกเล่าแนวคิดการทำโครงการ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ที่เชื่อมโยงไปถึงการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นความเชื่อสำคัญที่คนขมุยึดถือ บ่อยครั้งที่ลูกหลานเจ็บป่วย รักษาไม่หาย ที่พึ่งของชาวบ้านคือการเสี่ยงทาย เพื่อดูว่า เป็นเพราะลูกหลานทำผิดทำนองคลองธรรม ลบหลู่บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไป ทำให้ลูกหลานป่วย วิธีการรักษาคือ การทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งต้องมีการหาวันที่ดีในการประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ โดยจะทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ หรือพิธีกรรมบางอย่างที่สำคัญ เช่น การล้มควาย ก็ต้องหาทั้งวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวันที่ดีที่สุด หากทำสุ่มสี่สุ่มห้ามักจะเกิดอาเพศ ทำให้คนในครอบครัวเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

กิ๊ก ซึ่งเคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเอง เล่าว่า “เมื่อตอนเด็ก ๆ ยายห้ามไม่ให้พาเพื่อนมาเล่นในบ้านตอนกลางคืน แต่กิ๊กไม่เชื่อ พาเพื่อนมาเล่น พาเพื่อนไปดูผีบ้าน ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวขมุ ผ่านไป 2-3 วัน ยายล้มป่วย พาไปหาหมอ หมอก็ไม่รู้สาเหตุ แม่กับพ่อของกิ๊กจึงต้องจัดพิธีเลี้ยงผีบ้าน โดยวันถัดมายายของกิ๊กก็หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ได้ออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่บ้านเลย”

ความเชื่อที่ผูกโยงกับสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นนี้ เป็นความเชื่อที่ฝังลึกในใจ และกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตของชาวขมุทุกคนซึ่งอาศัยกระจายอยู่แทบทุกหมู่บ้านในตำบลชนแดน ดังนั้น การนับปฏิทินตามความเชื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากกลุ่มเยาวชนไม่เริ่มที่จะเรียนรู้และสืบทอด ภูมิปัญญาที่นำทางจังหวะชีวิตของคนในชุมชนคงสูญหายไปในเวลาอีกไม่นาน

รอบของการนับปฏิทินของชาวขมุจะประกอบด้วย “วันแม่” ซึ่งหนึ่งสัปดาห์มี 10 วัน (ต่างจากปฏิทินสากลที่มี 7 วันคือ วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์) และ “วันลูก” 12 วัน เมื่อนับวันลูกตามลำดับ 12 วันไปเรื่อย ๆ ถ้าตกลงในวันที่ลงท้ายด้วยคำว่า “เซ็ต” และ “นี” ซึ่งชาวขมุถือว่าเป็นวันแรง ไม่สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ จึงถือเป็นวันหยุดงานของชาวบ้านในชุมชน นอกจากวันที่ลงท้ายด้วยคำว่า “เซ็ต” แล้ว แต่ละครอบครัวยังยึดถือว่า วันที่บรรพบุรุษเสียชีวิตเป็นวันไม่ดีด้วย ดังนั้นครอบครัวนั้นจะไม่ประกอบพิธีกรรมสำคัญในวันดังกล่าวด้วย 


สืบค้นข้อมูล ฟื้นปฏิทินขมุ

“ทีมงานนำปฏิทินต้นแบบไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนทดลองใช้งานได้จริง เพื่อจะได้ปรับให้ได้รูปแบบของปฏิทินที่ถูกต้องสมบูรณ์ และถูกใจผู้ใช้งานมากที่สุด ซึ่งผลที่ได้คือ ปฏิทินที่นำไปให้ทดลองใช้เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้เฒ่าในชุมชน” เมื่อมีความสนใจร่วมของกลุ่มที่ชัดเจนแล้ว ทีมงานได้จัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจแผนงานร่วมกัน หลังจากนั้นได้อาศัยจังหวะที่มีการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน บอกกล่าวถึงการทำโครงการปฏิทินขมุซึ่งได้รับการตอบรับจากสมาชิกในชุมชนอย่างดี บ้างก็แนะนำผู้รู้ที่เก่งและแม่นยำในวิชาการนับวัน บ้างก็เอ่ยแสดงน้ำใจที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่เยาวชนในวันเก็บข้อมูล

หลังจากประชุมร่วมกับสมาชิกในชุมชนเสร็จสิ้นและได้รับการตอบรับอย่างดี ทีมงานรวมตัวกันไปหาความรู้ในเรื่องการนับปฏิทินจากผู้รู้ในชุมชน โดยเริ่มจากแหล่งข้อมูลใกล้ตัวคือ สอบถามจากปู่ย่าตายายที่บ้านของตนเอง ซึ่งจะเป็นคนที่บอกได้ว่า ใครบ้างมีความรู้ในเรื่องนี้ เพราะใช่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ทุกคนจะนับวันเป็น แต่เป็นการเช็คข้อมูลอีกครั้งว่าตรงกับที่ได้รับคำแนะนำจากการประชุมหมู่บ้านหรือไม่ เมื่อทราบแน่ชัดว่า มีใครบ้างที่มีความรู้เรื่องนี้ ทีมงานทั้งหมดช่วยกันกำหนดแนวคำถาม ซักซ้อมทำความเข้าใจให้ตรงกัน แล้วจึงพากันไปขอความรู้จากผู้รู้แต่ละท่าน โดยสอบถามถึงวิธีการนับ และวันเสียประจำครอบครัวของแต่ละท่าน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาจำแนกแยกแยะ โดยตรวจสอบหาวิธีการนับวันที่ผู้เฒ่าบอกตรงกัน

“ไปถามพร้อมกันทั้งหมดเลย จากนั้นก็มาประชุมว่า ผู้เฒ่าผู้แก่พูดเหมือนกันไหม จดบันทึกไว้แล้วนำมาเปรียบเทียบว่า คนไหนพูดยังไง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน ที่ไม่เหมือนกันคือ แต่ละหลังคาเรือนจะมีวันเสียของบ้านไม่เหมือนกัน ซึ่งก็คือวันที่ไว้อาลัยให้ผู้ตาย”

เมื่อการตรวจสอบข้อมูลเสร็จสิ้น ทีมงานส่วนหนึ่งรู้วิธีการนับวันแล้ว จึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม โดยให้พี่สอนน้องนับวันแบบขมุ ให้หัดเขียนปฏิทินรายคน ในขณะเดียวกันก็มีการเปรียบเทียบปฏิทินขมุกับปฏิทินสากล เพื่อออกแบบปฏิทินสำหรับใช้งานในชุมชนที่ผสมผสานปฏิทินทั้ง 2 รูปแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งทีมงานตัดสินใจว่า จะจัดทำเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะ

ในการร่วมกันออกแบบปฏิทินตั้งโต๊ะ ทีมงานยังต้องทบทวนร่วมกันอีกครั้งเกี่ยวกับการอ่าน การเขียนปฏิทินขมุ เพื่อให้เกิดความถูกต้องมากที่สุด ซึ่งในการออกแบบทีมงานได้แบ่งกันเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้ออกแบบปฏิทินในโปรแกรม Microsoft Publisher โดยสอดแทรกภาพประกอบเพื่อความสวยงาม ส่วนกลุ่มที่ 2 ทำหน้าที่คัดลอกปฏิทินที่ได้ลงกระดาษบรู๊ฟ เพื่อจะนำไปให้ผู้รู้ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง และเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด เช่น การลงรายละเอียดวันกรรม (วันไม่ดี) หรือวันหยุดของหมู่บ้านลงไปในปฏิทิน พร้อมกันนั้นทีมงานได้นำปฏิทินต้นแบบไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนทดลองใช้งานได้จริง เพื่อจะได้ปรับให้ได้รูปแบบของปฏิทินที่ถูกต้องสมบูรณ์และถูกใจผู้ใช้งานมากที่สุด ซึ่งผลที่ได้คือ ปฏิทินที่นำไปให้ทดลองใช้เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้เฒ่าในชุมชน

ผลงานต้นแบบปฏิทินตั้งโต๊ะที่ได้ จึงเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานทุกคน และตั้งใจว่า จะทำแจกสมาชิกทุกหลังคาเรือนในบ้านน้ำหลุ ซึ่งทีมงานก็ได้ประเมินว่า งบประมาณที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดที่จะนำปฏิทินต้นแบบไปนำเสนอต่อ อบต.ชนแดน เพื่อของบประมาณในการจัดพิมพ์แจกจ่ายแก่สมาชิกในตำบลซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวขมุทั้งสิ้น

“วางแผนว่าจะไปเสนอต่อสภา อบต.ชนแดน ถ้าสภาฯ เห็นชอบก็จะมีงบจากอบต. ไปทำแจก ในตำบลชนแดน มีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน มี 7 หมู่บ้าน เป็นชนเผ่าขมุหมด” ทีมงานอธิบายแผนการทำงาน

ทีมงาน ยังเล่าต่ออีกว่า ปฏิทินที่จะทำแจก จะทำเป็นปฏิทินขมุที่สามารถใช้ได้นาน 10 ปี เพราะทุกวันนี้คนในชุมชนส่วนใหญ่ที่นับวันได้จะใช้การจำ การมีปฏิทินที่สามารถบอกวันกรรมที่ตรงกับวันในปฏิทินสากลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มากขึ้น

เพราะตั้งใจทำปฏิทินขมุ 10 ปี ทำให้ทีมงานที่แม้ว่าจะนับวันเป็นแล้ว ยังต้องนัดหมายมาทำงานรวมกันทุกสัปดาห์ในตอนเย็นๆ หรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ต้องไปโรงเรียน เพื่อช่วยกันนับไล่เรียงวันเตรียมไว้ทำปฏิทิน การทำงานที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้บางครั้งการนัดหมายกันคลาดเคลื่อนจนเป็นปัญหาในการทำงาน ซึ่งทีมงานรุ่นพี่ บอกว่า เพราะต่างคนต่างไปเรียน และมีภาระทั้งการเรียน กิจกรรมที่โรงเรียน การช่วยงานที่บ้าน จนทำให้ไม่สามารถมาร่วมทำงานกับเพื่อน หรือบางครั้งก็มาช้า ต่างกับน้อง ๆ ที่ทุกครั้งเมื่อประกาศเสียงตามสายให้มารวมตัวกัน น้อง ๆ จะมาอย่างพร้อมเพรียงและตรงเวลากว่ารุ่นพี่ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้พี่ต้องปรับตัวโดยปริยาย

แรงจูงใจของการเข้าร่วมกิจกรรมของน้อง ๆ คือ ความสนุกสนานของการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่การทำงานในโครงการปฏิทินขมุ แต่การมารวมกลุ่มกันจะมีกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งเกม การร้องเพลง การฝึกซ้อมระบำ การสอนการบ้าน ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งดึงดูดให้น้อง ๆ ยินดีเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง


ทำโครงการ...อีกก้าวย่างพัฒนาตน

ความสามารถในการนับวันตามปฏิทินขมุได้ของทีมงาน เป็นการเติมเต็มช่องว่างความรู้ของชุมชนที่ขาดช่วงไป เพราะมีแต่คนรุ่นอายุ 70-80 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่รู้ ข้ามมาก็เป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการนี้ ทำให้เด็กและเยาวชนที่ได้ความรู้เรื่องการนับวัดตามปฏิทินขมุจากการร่วมกิจกรรมเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน แต่นับวันไม่เป็น การศึกษาหาความรู้ที่ไม่สามารถนำไปตอบข้อสอบในการเรียนในเรื่องนี้ จึงไม่สูญเปล่า แต่เป็นความรู้ที่เยาวชนรู้สึกว่ามีคุณค่า เพราะใช้ได้ในชีวิตจริงของทุกคน

“นอกจากความรู้เรื่องปฏิทินขมุแล้ว ความรู้เรื่องวิธีการทำงานร่วมกับน้อง ๆ และเพื่อน ๆ เป็นทักษะชีวิตที่ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ และการรู้ปฏิทินขมุทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับวิถีของชุมชน”

บีม เล่าอีกว่า เธอไม่ใช่คนบ้านน้ำหลุ แต่อาศัยอยู่บ้านใหม่ชายแดนที่อยู่ติดกัน เข้าร่วมโครงการเพราะสนใจเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ตนเอง ซึ่งนอกจากความรู้เรื่องปฏิทินขมุแล้ว ความรู้เรื่องวิธีการทำงานร่วมกับน้อง ๆ และเพื่อน ๆ เป็นทักษะชีวิตที่ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ และการรู้ปฏิทินขมุทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับวิถีของชุมชน

สำหรับสามเณรน็อต เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการเป็นการปฏิวัติตนเอง จากที่เป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยคุยกับใครก่อน เข้าสังคมไม่เก่ง แต่การทำงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับน้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรม ต้องไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้กลายเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้น รู้จักการทักทาย พูดคุยกับเพื่อนใหม่ ๆ กล้าคุยกับผู้ใหญ่

ด้านกิ๊ก ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในโครงการบอกว่า เพราะการทำงานที่มีองค์ประกอบของทีมงานที่หลากหลายทั้งเพื่อน ทั้งน้อง ทำให้รู้จักการควบคุมอารมณ์ และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตามกิ๊กสารภาพว่า ยังนับวันตามปฏิทินขมุได้ไม่เก่ง ยังจำไม่ค่อยได้ ตั้งใจว่าต้องอาศัยการฝึกฝนต่อไป

เพราะสวมบทบาทของพี่ที่ต้องคอยดูแลน้อง ๆ ในการทำกิจกรรมไปด้วย กิ๊ก เห็นว่า วิธีการปลูกผังวิธีคิดในการทำงานให้แก่แกนนำรุ่นใหม่ ๆ นั้น ต้องพาคิด พาปฏิบัติไปพร้อมกัน เพื่อให้น้องคุ้นชินต่อการทำงาน เพราะต่อไปน้องรุ่นใหม่ ๆ ต้องเข้ามาทำหน้าที่เช่นที่พี่ ๆ ทำอยู่ แม้ว่าในวันนี้น้อง ๆ ส่วนใหญ่ยังมีจุดอ่อนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก การที่จะฝึกให้น้องกล้าแสดงออกได้มากขึ้นนั้น จึงต้องสร้างเงื่อนไขให้น้องได้แสดงความคิดเห็นในการประชุมบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้น้องพัฒนาตนเองได้มากขึ้น


วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน

“เพราะเห็นถึงสถานการณ์ของชุมชนที่สัมผัสได้ว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ลดลง ภาพในอดีตที่มีการแลกกับข้าวกันกินบ้านโน้นบ้านนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มลดน้อยลง เพราะต่างคนต่างอยู่กลายเป็นปัจเจกชน ครอบครัวใคร ครอบครัวมัน ซึ่งส่งผลกระทบกับชุมชน เวลามีงานที่เป็นส่วนรวมก็ไม่ค่อยมีใครเสียสละ จึงมองเห็นว่า จากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้เมื่อเกิดปัญหาจากชุมชน ก็จะขยายเป็นปัญหาสังคม จากสังคมก็เริ่มเป็นปัญหาประเทศ ดังนั้นในฐานะคนตัวเล็ก ๆ จึงเริ่มต้นที่จะทำในสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีภายในชุมชน โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นตัวเชื่อม”

พี่เหลิม-ทักษณะ เสารางทอย ที่ปรึกษาโครงการ และผู้ก่อตั้งกลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ เล่าว่า ตั้งใจก่อตั้งกลุ่มยุวอนุรักษ์ขึ้นมา เพราะเห็นถึงสถานการณ์ของชุมชนที่สัมผัสได้ว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ลดลง ภาพในอดีตที่มีการแลกกับข้าวกันกินบ้านโน้นบ้านนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เริ่มลดน้อยลง เพราะต่างคนต่างอยู่กลายเป็นปัจเจกชน ครอบครัวใคร ครอบครัวมัน ซึ่งส่งผลกระทบกับชุมชน เวลามีงานที่เป็นส่วนรวมก็ไม่ค่อยมีใครเสียสละ จึงมองเห็นว่า จากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้เมื่อเกิดปัญหาจากชุมชน ก็จะขยายเป็นปัญหาสังคม จากสังคมก็เริ่มเป็นปัญหาประเทศ ดังนั้นในฐานะคนตัวเล็ก ๆ จึงเริ่มต้นที่จะทำในสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีภายในชุมชน โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นตัวเชื่อม

“ผู้ใหญ่ เหมือนไม้แก่ดัดยาก ในชุมชนไม่มีคำว่า “จิตอาสา” เลย เพราะฉะนั้นต้องดึงเด็ก ๆ เข้ามา เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ซึ่งในโรงเรียนไม่มีวิชาจิตอาสา ฉะนั้นชุมชนต้องสร้างขึ้นมาเอง”

พี่เหลิม บอกต่อว่า การเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล การได้พบปะแลกเปลี่ยนกับเยาวชนต่างถิ่น ทำให้เยาวชนบ้านน้ำหลุเห็นตัวอย่างดี ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการกล้าแสดงออก ที่ถือว่าเป็นจุดด้อยของเด็กชนเผ่า อีกทั้งตัวที่ปรึกษาเองก็นำกระบวนการที่ได้ไปเรียนรู้กับเครือข่ายมาใช้ในการทำงานกับเยาวชนด้วย เช่น กิจกรรมล้อมวงถามคุย การฝึกจับประเด็นบนกระดาน ฯลฯ

“แรกๆ ผมไปเห็นมันแตกต่างกันมาก เด็กเมืองกับเด็กชนเผ่า ก็มาบอกน้อง ๆ ว่า ทำไมเขาไม่ทลายกำแพงที่ตรงนั้น กำแพงที่ว่า เด็กชนเผ่าไม่กล้าแสดงออก ถ้าทำลายกำแพงนั้นไป เขาก็จะได้เพื่อนได้ฝูง ถ้าเด็ก ๆ กล้าแสดงออกแล้ว บริบทอื่น ๆ ความสามารถอื่น ๆ ก็จะตามมา”

บทบาทสำคัญของการเป็นที่ปรึกษาในชุมชนชนบท คือ การทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชน ให้เข้าใจแนวทางของการทำกิจกรรม และความสำคัญของการที่ต้องพาเยาวชนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกพื้นที่ ซึ่งเป็นประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงมากที่สุด เยาวชนบางคนขาดโอกาสที่จะไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างพื้นที่ เพราะผู้ปกครองไม่อนุญาต การทำงานจึงต้องให้เยาวชนที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจเป็นตัวแทนไปประชุม อบรม หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วนำกลับมาเล่าสู่กันฟังให้แก่เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ไป

“เทคนิคที่ผมใช้ได้ดีก็คือ เรื่องของดนตรี ผมจะเอาดนตรีเข้ามาตลอด เด็ก ๆ คนไหนอยากพูดคำอะไร ก็พูด แล้วมาเก็บความรู้สึกน้อง ๆ มาใส่ในเพลงเลย อย่างน้องคนหนึ่งไปเจอหนอนก็พูดเรื่องหนอน ก็เอาหนอนมาใส่ในเพลง บางคนเห็นเห็ดก็เอาเห็ดมาใส่ในเพลง ในเพลงซึ่งเราไม่ต้องทำอะไรเยอะ เด็ก ๆ แต่ละคนมีเพลงอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว เราก็แต่งเพลงให้เด็ก ๆ ร้อง เด็ก ๆ ก็ซึมซับเข้าไปเลย”

เมื่อประเมินพัฒนาการของเยาวชนในกลุ่ม พี่เหลิม บอกว่า มีพัฒนาการประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยสังเกตได้ว่า เด็ก ๆ ที่นี่จะมีความเก่งในเรื่องการลงมือทำมากกว่า หลายคนยังไม่การกล้าแสดงออก

พี่เหลิม บอกอีกว่า การทำงานกับเด็กต้องอาศัยความอดทน ต้องรู้จังหวะในการกระตุกกระตุ้น เป็นเรื่องที่รับมือได้ แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ การผลัดรุ่นของเยาวชน ที่เรียนจบแล้วต้องไปเรียนต่อที่อื่น ทำให้ต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งแม้จะเหนื่อยแต่การทำงานกับเด็กและเยาวชนก็เป็นเรื่องสนุก แล้วยิ่งทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อชุมชนก็ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป

เพราะไม่นิ่งดูดายต่อความเป็นไปของบ้านเกิดเมืองนอนที่อยู่ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลง กระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำของเด็กและเยาวชน จึงเป็นกระบวนการผสานประโยชน์ของกลุ่มและของชุมชนได้อย่างลงตัว สะท้อนภาพความมั่นคงทางวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านปฏิทินขมุของชาติพันธุ์ ที่เป็นเครื่องมือกำกับวิถีชีวิต และเสริมสร้างกำลังใจว่าได้ดำเนินชีวิตตามรอยบรรพบุรุษได้อย่างถูกต้องดีงาม การทำงานจึงสร้างทั้ง “สำนึกจิตอาสาและสำนึกของชาติพันธุ์” ที่มีอยู่แล้ว ให้หยั่งรากลงในหัวใจที่เบิกบานของยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุที่ยังคงจะทำหน้าที่สืบสาน สืบทอด และดูแลบ้านเมืองที่รักของตนสืบไป


โครงการ : จัดทำปฏิทินขมุ

กลุ่มเยาวชน : บ้านนำหลุ ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

ที่ปรึกษาโครงการ : ทักษณะ เสารางทอย ผู้ก่อตั้งกลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ

ทีมทำงาน : 

  • สามเณรจักรินทร์ อินปัญญามัธยมศึกษาปีที่ 6 กศน.อำเภอสองแคว
  • สุณิตา แก้วแดง มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนไตรเขตประชาสามัคคี รัชมังคลาภิเษก
  • สาวิณี เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไตรเขตประชาสามัคคี รัชมังคลาภิเษก
  • ปาริฉัตร เสารางทอยมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์
  • วิภาวานี เสารางทอยมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์
  • พิยดา เสารางทอยมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์