การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อการจัดการขยะในชุมชนปงสนุก จังหวัดน่าน ปี 2

ปงสนุก...ปลอดขยะ

โครงการขยะทองคำ


นอกจากทีมงานแล้ว น้อง ๆ เยาวชนในชุมชนส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมการทิ้งขยะที่เปลี่ยนไป หลายคนใส่ใจที่จะช่วยเก็บขยะที่ถูกทิ้งเรี่ยราด...พฤติกรรมที่เจอขยะแล้วเก็บ เป็นพฤติกรรมทำเองโดยไม่มีใครบอก ใครสั่ง ไม่มีสิ่งจูงใจหรือรางวัลใด ๆ จึงเป็นเครื่องสะท้อนสำนึกดีที่ติดตัวของเยาวชนบ้านปงสนุก

ปัจจุบันการบริโภคสินค้าที่ต้องซื้อหาจากภายนอก เพื่อนำมาซึ่งอาหาร และข้าวของเครื่องใช้ ที่หนีไม่พ้นจะพ่วงมาด้วย “ขยะ” ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ที่บ้านปงสนุก หมู่ 1 ที่แม้จะอยู่ในเขตบริการของเทศบาลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน แต่กลับไม่ได้ใช้บริการเก็บขยะจากเทศบาล บ้านแต่ละหลังมีการจัดการขยะภายในครัวเรือนของตนเอง โดยส่วนใหญ่นำไปเผาทิ้งในเรือกสวนไร่นาหรือนำไปทิ้งในป่าชุมชน จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้ตั้งใจ

อาสา “ทำ” ด้วยใจ

ดรีม-ชัยวัฒน์ ธรรมไชย คือเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ที่ผ่านมาเขาอาสาช่วยงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลปงสนุก (รพ.สต.ปงสนุก) อยู่เสมอ เมื่อคุณหมอสมชาย ศิริมาตร ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเวียงสาแนะนำว่า มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) สนับสนุนให้เยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน จึงได้รวมตัวกันกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในชุมชน คือ ยิม-อนุวัตร ปาละวัน กลอย -ณัฐธิดา ทิพวงศ์ พราว-สิริธร จันทร์บูรณ์ และเวฟ-พงศ์วิวัฒน์ ปัญญาอินทร์ ทำโครงการเพื่อฝึกฝนตนเองในการทำงานเพื่อสังคม โดยประเด็นที่สนใจทำครั้งแรกคือ โครงการจัดงานยี่เป็งในช่วงวันลอยกระทง แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาโจทย์โครงการ และรู้ว่ามีเวลาทำงานโครงการนานถึง 6 เดือน คิดได้ว่าการจัดงานยี่เป็ง ซึ่งสามารถดำเนินงานเสร็จในระยะเวลาอันสั้น คงไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ทีมงานจึงหารือกันเพื่อค้นหาประเด็นการทำงานที่น่าสนใจและสอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการใหม่อีกครั้ง

“โครงการขยะทองคำเกิดขึ้นภายใต้ความคาดหวังว่า จะเป็นโอกาสในการ “สร้างจิตสำนึก” เรื่องการคัดแยกขยะให้กับคนในชุมชน ทั้งยังเป็นการฝึกฝนตนเองของเยาวชนเรื่องการทำงานเป็นทีม และการทำงานเพื่อสังคม

การค้นหาประเด็นเริ่มต้นขึ้นด้วยการทบทวนสถานการณ์ต่าง ๆ ในชุมชน ทำให้ทีมงานมองเห็นว่า ในชุมชนมีขยะถูกทิ้งอยู่บริเวณข้างทางจำนวนมาก หลายคนเคยร่วมโครงการจัดการขยะกับทางโรงเรียนมาก่อน จึงเกิดแนวคิดว่า น่าจะทำเรื่องการจัดการขยะในชุมชน เพราะที่บ้านปงสนุกยังไม่มีใครเคยทำเรื่องนี้มาก่อน โครงการขยะทองคำจึงเกิดขึ้นภายใต้ความคาดหวังว่า จะเป็นโอกาสในการ “สร้างจิตสำนึก” และพฤติกรรมการคัดแยกขยะให้กับคนในชุมชน ทั้งยังเป็นการฝึกฝนตนเองของเยาวชนที่ทำโครงการเรื่องการทำงานเป็นทีม และการทำงานเพื่อสังคม

ดรีมถูกเลือกเป็นหัวหน้าทีม เพราะน้อง ๆ เพื่อน ๆ เห็นว่า มีความเป็นผู้นำ รู้จักคนเยอะ และมีความทุ่มเทในการทำงาน ส่วนทีมงานคนอื่น ๆ เป็นแกนนำร่วมกัน โดยไม่ได้แบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจน แต่ทุกคนรู้ว่า ต้องช่วยกันทำงาน ซึ่งนอกจากทีมงานทั้ง 5 คนแล้ว ยังมีเพื่อน ๆ ในชุมชนร่วมทำงานอีกกว่า 10 คน โดยกิจกรรมแรกของทีมงานคือ การประชุมเพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายและแผนการทำงาน โดยทุกคนเห็นตรงกันว่า ก่อนที่จะลงมือทำงานใด ๆ ต้องชี้แจงความเป็นมาของโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกในชุมชนก่อน ซึ่งชาวบ้านที่เข้าร่วมรับฟังต่างเห็นดีเห็นงามกับการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนของเยาวชน

คิดกลยุทธ์แก้ปัญหาจาก “ข้อมูล”

ก่อนลงมือทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชุมชน ทีมงานตั้งใจที่จะศึกษาสภาพปัญหาขยะในมชนให้ถ่องแท้ก่อน โดยมีแนวคิดที่จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะของสมาชิกในชุมชน พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในชุมชน สถานการณ์การคัดแยกขยะในชุมชน และสถานที่ทิ้งหรือเก็บขยะของชุมชน รวมทั้งความคิดเห็นของสมาชิกในชุมชนต่อการจัดการขยะ

ดรีมเล่าต่อว่า ทีมงานร่วมกันกำหนดกรอบประเด็นคำถามในการเก็บข้อมูล จากนั้นจึงแบ่งบทบาทหน้าที่ของสมาชิกทั้งหมด โดยแบ่งกลุ่มออกเก็บข้อมูล 4 กลุ่ม แยกตามป๊อกบ้าน (โซน) ต่าง ๆ ที่มีอยู่ 4 โซน บ้านใครอยู่โซนไหนก็เป็นแกนนำหลักในการเก็บข้อมูลในโซนนั้น

แต่การทำงานใช่ว่าจะราบรื่น กลอย เล่าว่า ตอนลงไปเก็บข้อมูล ชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจว่าพวกเรามาถามทำไม เพราะแต่ละบ้านก็มีการจัดการขยะเหมือน ๆ กัน คำตอบที่ได้รับทำให้ทีมงานเสียกำลังใจ จนไม่อยากทำงานต่อ กลอยและเพื่อนจึงต้องล่าถอยกลับมาปรึกษาดรีม ซึ่งดรีมก็ทำหน้าที่หัวหน้าทีมที่ดี กระตุ้นและเสริมกำลังใจให้น้อง ๆ ทำงานต่อไป โดยไม่ต้องสนใจคนที่ต่อต้าน ทำให้กลอยและเพื่อนฮึดสู้อีกครั้ง ซึ่งโชคดีที่เมื่อไปสอบถามกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ก็พบว่า ไม่มีใครออกอาการต่อต้าน แต่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างดี

เมื่อเก็บข้อมูลได้แล้ว ทีมงานนำข้อมูลที่ได้กลับมารวบรวมวิเคราะห์ พบว่า ขยะที่พบส่วนใหญ่คือ ขยะพลาสติกจากการซื้ออาหาร ปัญหาคือชาวบ้านจะกำจัดขยะโดยการเผา ดังนั้นการจะเข้าไปบอกให้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แต่เด็กจะแก้ปัญหาโดยการทำให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ มันดูไม่สอดคล้องกันกับปัญหาข้างบน อาจจะต้องอธิบายเพิ่มว่า เพราะเมื่อคัดแยกขยะแล้วจะช่วยอะไรให้ขยะลดลง ไม่ต้องเผา

“การรณรงค์แม้จะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างจิตสำนึก แต่ทีมงานมองว่าคงไม่เหมาะกับโครงการนี้ พวกเขาคิดว่า สิ่งที่จะสร้างผลกระทบทางความรู้สึกให้กับคนในชุมชนมากกว่าคือ การลงมือทำเป็นตัวอย่าง”

กลยุทธ์หนึ่งที่ทีมงานเลือกใช้คือ นำข้อมูลที่รวบรวมได้มานำเสนอในการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ปัญหาขยะในชุมชน การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวทำให้ทีมงานได้รับทราบว่า ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่สนใจ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ใส่ใจกับข้อมูลที่พวกเขานำเสนอ และให้การสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเยาวชน

ส่วนการรณรงค์แม้จะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างจิตสำนึก แต่ทีมงานมองว่าคงไม่เหมาะกับโครงการนี้ พวกเขาคิดว่า สิ่งที่จะสร้างผลกระทบทางความรู้สึกให้กับคนในชุมชนมากกว่าคือ “การลงมือทำเป็นตัวอย่าง” โดยกลุ่มเยาวชนได้ร่วมกันลงแรงพัฒนาถนนในหมู่บ้าน ตัดหญ้าข้างทาง เก็บขยะ เพื่อเปลี่ยนภาพรกรุงรังของถนนและริมทางเท้า ให้กลายเป็นถนนที่สะอาด เป็นระเบียบ

“ขยะที่เก็บได้ พวกเรานำมารวมกันไว้ที่สถานีอนามัย จากนั้นช่วยกันคัดแยก ขวดแก้วที่ขายได้ก็ขาย ส่วนที่เหลือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ตัดขวดแก้วเป็นแจกัน ทำตุ๊กตาจากแกนกระดาษทิชชู” ดรีมอธิบาย

เมื่อพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านสะอาดแล้ว ทีมงานได้ทำป้ายรณรงค์ติดไว้ตามจุดต่าง ๆ เช่น ป้ายห้ามทิ้งขยะ ป้ายเขตอภัยทานขยะตามจุดที่คนมักนำขยะมาทิ้ง ทำให้คนไม่กล้านำขยะมาทิ้งในจุดดังกล่าว

นอกจากการทำงานในโครงการขยะทองคำแล้ว กลุ่มเยาวชนยังมีบทบาทในการช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในชุมชน ไม่ว่า งานบุญ งานศพ ภาพเยาวชนที่ไปช่วยเสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร จึงเป็นภาพที่คนในชุมชนคุ้นชิน และหลังเสร็จจากการทำงานในโครงการขยะทองคำแต่ละครั้ง สิ่งที่ทีมงานทำเพิ่มโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก คือ การช่วยกันทำความสะอาดและเก็บขยะในบริเวณที่จัดงานอย่างขยันขันแข็ง การเก็บขยะจึงกลายเป็นนิสัยที่ทีมงานทำจนกลายเป็นกิจวัตรประจำของกลุ่มเยาวชน ทำให้หมู่บ้านสะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

ตัวตนงอกงาม จากงานที่ทำ

เมื่อถึงเวลานำเสนอผลการทำงานต่อชุมชนในช่วงท้ายโครงการ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ และสร้างสัมพันธ์ระหว่างทีมงานและคนในชุมชนไปพร้อมกัน ทีมงานเลือกจัดงานที่วัดปงสนุก มีทั้งการจัดนิทรรศการ การนำเสนอบทเรียนผ่านการแสดงละคร และเวทีเสวนา โดยแต่ละกิจกรรมทีมงานจะมีการออกแบบกิจกรรมไว้อย่างแยบยล เช่น การแสดงละครนั้นต้องการให้เป็นการรวมตัวของเยาวชนในหมู่บ้าน ส่วนเวทีเสวนาของผู้ใหญ่ก็จัดขึ้นเพื่อต้องการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใหญ่ที่มีต่อการทำงานของเยาวชน และต่อการแก้ปัญหาขยะ สำหรับเวทีเสวนาของเยาวชน ทีมงานต้องการให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเยาวชนจากพื้นที่ต่าง ๆ ว่า มีการทำงานเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และมีบทเรียนอะไรที่น่าสนใจที่จะนำมาปรับใช้ในชุมชนของตนเอง

“ละครมีทั้งตลก มีสาระ และไม่มีสาระ เพื่อดึงดูดให้คนดูได้มองย้อนดูตัวเองว่า ควรทำอย่างไรกับขยะ ให้เขาสำนึกด้วยตนเอง” ดรีมเล่า

งานนำเสนอผลการทำงานโครงการขยะทองคำ จึงเป็นงานใหญ่ที่ทีมงานต้องระดมสรรพกำลังของผองเพื่อน พี่ น้อง ในชุมชนมาช่วยกัน แต่การทำงานในกลุ่มคนหมู่มากย่อมเกิดปัญหาให้ต้องแก้ไข ทั้งการจัดการชีวิตส่วนตัว ที่ต้องเรียน ทำงานบ้าน ช่วยงานของ รพ.สต. และการทำโครงการนี้ เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนคือเวลาทองที่ทีมงานจะใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งซ้อมละคร เตรียมนิทรรศการ และประดิษฐ์ของจากเศษขยะ ที่ต้องทำไปพร้อมกัน ปัญหาสมาชิกมาไม่ครบ ไม่ตรงเวลาเป็นบททดสอบแรก ๆ ที่ทีมงานต้องบริหารจัดการ ซึ่งดรีมเล่าว่า บางครั้งก็ต้องใช้ไม้แข็ง เช่น ถ้าน้องมาไม่ครบ มาไม่ตรงเวลา ก็จะให้กลับ ไม่มีการซ้อม เป็นการส่งสัญญาณว่า งานไม่คืบหน้าถ้าสมาชิกยังมีพฤติกรรมดังกล่าว เมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ น้อง ๆ ก็จะปรับตัว รีบไปตามเพื่อนมาซ้อมในวันถัดไป

“เมื่อก่อนพอทำอะไรไม่ได้ รู้สึกยากก็จะทิ้ง เลิกทำไปเลย เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนที่มีความตั้งมั่น ตั้งใจ จนกลายเป็นปณิธานว่า ต่อไปไม่ว่าจะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ”

การเตรียมขยะแปรรูปเป็นอีกงานหนึ่ง ที่ทำให้พราวค้นพบมุมหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเอง เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดขวดแก้วเป็นแจกัน แรกๆ ที่หัดทำ ทำเท่าไรก็ไม่สำเร็จเสียที ต้องเพียรค้นหาวิธี ดูตัวอย่างจากยูทูป (YouTube) ซ้ำ ๆ สลับกับการทดลองทำใหม่เรื่อย ๆ แม้แก้วบาดมือก็ยังไม่เลิกทำ และความพยายามของพราวก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อแจกันขวดแก้วของเธอสวยงามดั่งใจ ซึ่งบทเรียนความรับผิดชอบครั้งนี้ทำให้พราวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม “เมื่อก่อนพอทำอะไรไม่ได้ รู้สึกยากก็จะทิ้ง เลิกทำไปเลย เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนที่มีความตั้งมั่น ตั้งใจ จนกลายเป็นปณิธานว่า ต่อไปไม่ว่าจะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ”

ในขณะที่กลอยต้องพบกับบททดสอบด้านอารมณ์ เมื่อน้อง ๆ ที่ร่วมงานกันไม่ยอมฟัง และไม่ให้ความร่วมมือ “กลอยโมโห เลยบอกเขาว่า ถ้าไม่อยากทำก็ออกไปเลย แล้วน้องเขาก็ออกไปจริง ๆ เราเลยต้องหาคนใหม่มาทำแทน แต่ก่อนจะถึงวันแสดง น้องเขาก็กลับมาขอเข้าทีมอีก ทำให้รู้สึกว่า ที่เราต่อว่าน้องไปนั้น น้องเขารับรู้และคิดได้” กลอยเล่า แต่ก็ยอมรับตรง ๆ ว่า ทำไปแล้วเธอก็รู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งบทเรียนของการขาดการควบคุมตนเองเช่นนี้ ทำให้กลอยเรียนรู้ว่า เธอต้องปรับตัวเอง การจะว่ากล่าวใคร ต้องคิดถึงใจเขาใจเรา เพราะคงไม่มีใครชอบสถานการณ์แบบนี้

สำหรับดรีมแล้ว การที่ต้องกุมสภาพการทำงานทั้งหมด ทำให้เขาต้องวางแผนกับเพื่อน ๆ ถึงวิธีการจัดการน้อง ๆ ที่มีการแบ่งบทบาททั้งฝ่ายขู่ ฝ่ายปลอบ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้เขียนสะท้อนความรู้สึกต่อการทำงานของรุ่นพี่ เพื่อที่จะเก็บมาปรับปรุงตนเอง ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับคนหมู่มาก ได้ปรับตัวทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี

“น้องบางคนบอกว่า ผมด่าแรงไป แต่บางคนก็บอกว่า สะใจดี บางคนก็บอกว่า ผมเลิกกิจกรรมช้าไป ซึ่งผมก็ต้องปรับปรุงตัวเองในสิ่งที่น้องสะท้อน หรือเวลาที่กลอยโมโห ผมก็เปลี่ยนบทบาทมาปลอบน้องแทน” ดรีม บอกและเล่าเสริมว่า บางครั้งเขาต้องสลับบทบาทตนเองไปมา เช่น ตอนคุมน้องซ้อมละครในห้อง น้องคุยกันเสียงดังไม่ฟัง ก็ต้องตวาดให้เงียบและตั้งใจซ้อม แต่สักพักก็ต้องออกมาดูน้อง ๆ ที่นั่งทำสมุดทำมือข้างนอกห้อง เขาจึงต้องปรับอารมณ์ให้รื่นเริง พูดคุยชวนน้องหัวเราะบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การทำงานขับเคลื่อนต่อไปได้

ความรู้สึกว่าเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องรับผิดชอบให้การทำโครงการดำเนินไปได้ด้วยดีนั้น สร้างความกดดันให้ดรีมโดยไม่รู้ตัว เมื่อพี่เลี้ยงโครงการชวนวางแผนการจัดงานนำเสนอในชุมชน ความกดดันจึงประทุออกมาเป็นน้ำตาที่ทำให้ได้ระบายความรู้สึก ซึ่งกลอยช่วยเล่าว่า “วันนั้นพี่ ๆ เขาตั้งใจมาช่วย เราก็ไม่อยากขายหน้า อยากทำให้ดีที่สุด แต่ตอนที่พี่ ๆ เขาพูดอยู่น้อง ๆ เขาทยอยเดินออกไปทีละคน สองคน คนเหลือแค่ทีมงาน 5 คน เราก็เสียใจที่น้อง ๆ เดินออกไป คิดอยู่ในใจว่า ถ้าเราเป็นคนพูดอยู่แล้วน้องเดินออกไป เราก็คงร้องไห้”

ความเสียใจทำให้ทีมงานถอนตัวออกจากไลน์ของกลุ่มเยาวชนบ้านปงสนุก แต่ก็มีกระบวนการง้อกันเองในกลุ่มเยาวชน โดยน้อง ๆ เข้ามาง้อพี่ ๆ ดึงกลับเข้ากลุ่มไลน์ และน้อง ๆ ก็กลับมาช่วยเตรียมงานอย่างเต็มที่ กลายเป็นภาพความร่วมมืออย่างเข้มแข็งที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งการผ่านบทเรียนความรู้สึกเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดภูมิต้านทานเรื่องการจัดการอารมณ์ของทีมงาน

นอกจากการเรียนรู้เรื่องการจัดการอารมณ์ ความรู้สึกซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ทีมงานสะท้อนว่า ทำให้เห็นตัวเอง แล้วต้องปรับปรุงตนเอง ดรีมเล่าว่า การทำโครงการเป็นการพัฒนาตนเองอย่างมาก โดยเฉพาะการพูดจาที่สามารถพูดได้คล่องแคล่วขึ้น ไม่ตะกุกตะกักเหมือนในอดีต การทำงานที่มีขั้นตอนในแผนงานของโครงการ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานที่เป็นระบบ ฝึกความอดทนของตนเองในการทำงาน

สำหรับยิมบอกว่า โครงการนี้ทำให้เขาได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นผู้นำ จากกิจกรรมเล็ก ๆ เช่น การติดป้ายรณรงค์ ที่ยิมได้เป็นหัวหน้างานนำเพื่อนและน้อง ๆ ทำงานจนสำเร็จ “ไม่เคยเป็นหัวหน้ามาก่อน วันนั้นได้เป็นหัวหน้าทีม ก็รู้สึกดี พอบอกแล้วน้องทำตาม ก็รู้สึกมั่นใจ รู้สึกว่า งานนี้ช่วยพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในตัวเองได้เป็นอย่างดี”

ส่วนเวฟ ซึ่งเป็นคนเก็บตัว แต่มักจะโดนดรีมดึงออกมาจากโลกส่วนตัวเพื่อมาร่วมทำกิจกรรม บอกว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองคือ การมีสัมพันธภาพกับเพื่อน ๆ น้อง ๆ เยาวชนในตำบลมากขึ้น รู้จักคนเยอะขึ้นรู้สึกสนุกกับการทำงาน และการเป็นที่ปรึกษาน้องๆ “แรกๆ ที่น้อง มาถาม มาคุยด้วยก็แอบรู้สึกรำคาญอยู่ในใจ แต่ก็ไม่ได้แสดงออก พยายามทำไปเรื่อย ๆ จนชินในที่สุด”

พราวเล่าต่อไปว่า การทำงานกับพี่ ๆ ทำให้เธอกลายเป็นคนที่กล้าแสดงออก และกล้าพูดมากขึ้น สิ่งนี้เกิดจากการที่ได้มาร่วมกลุ่มประชุม การพูดคุยกันบ่อย ๆ ทำให้ได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น จนกลายเป็นพูดได้ พูดเป็นในที่สุด

“ความรู้ใหม่ในเรื่อง การถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรม (After Action Review หรือ AAR) ที่ได้เรียนรู้จากพี่เลี้ยงโครงการเป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับทีมงานได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจบการทำงานแต่ละครั้งทีมงานจะมีการ AAR ทำให้ตระหนักว่าเกิดการเรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่ได้ทำลงไป เมื่อทำกิจกรรมต่อไปก็จะมีความรู้สึกต่อยอดจากกิจกรรมที่ผ่านมาแล้ว ทำให้งานมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน”

ทีมงานยอมรับว่า กิจกรรมที่ทำในโครงการนี้เป็นการพัฒนาการทำงาน เกิดจิตสำนึกในการจัดการขยะ ผลที่เกิดคือ หมู่บ้านสะอาดมากขึ้น

“หัวใจสำคัญของการทำโครงการนี้คือ จิตสำนึกของเยาวชนในการคัดแยกขยะ แต่ที่เป็นประโยชน์มากกว่าคือ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การประสานงาน ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักพลิกสถานการณ์แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เราทำงานกับน้อง ๆ ในโรงเรียนไม่ได้ เพราะปิดเทอม จึงเปลี่ยนมาทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ในชุมชนแทน และติดป้ายรณรงค์ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน” ดรีมเล่า และเสริมต่อว่า ความรู้ใหม่ในเรื่อง การถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรม (After Action Review หรือ AAR) ที่ได้เรียนรู้จากพี่เลี้ยงโครงการเป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับทีมงานได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจบการทำงานแต่ละครั้งทีมงานจะมีการ AAR ทำให้ตระหนักว่าเกิดการเรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่ได้ทำลงไป เมื่อทำกิจกรรมต่อไปก็จะมีความรู้สึกต่อยอดจากกิจกรรมที่ผ่านมาแล้ว ทำให้งานมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน

พฤติกรรมการทิ้งขยะ คือ ความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดของเยาวชน ที่วันนี้ทีมงานทุกคนเล่าอย่างตลกว่า เมื่อก่อนกินที่ไหนทิ้งที่นั่น และทุกคนก็พบประสบการณ์กระตุกใจจากดรีม

“วันนั้นซ้อนรถดรีม แล้วกินชาไข่มุก พอหมดก็ทิ้งข้างทางเลย ดรีมจอดรถทันทีแล้วหันมาถามว่า เราทำโครงการอะไร แล้วให้ไปเก็บแก้วชาไข่มุกไปทิ้งในถังขยะ” เวฟเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง

“น้องก็เคยโดน วันนั้นกินนมกล่องแล้ว มีซองหลอดดูด ที่แรกน้องก็ถืออยู่ในมือ แล้วค่อย ๆ ทิ้งแบบเนียน ๆ แต่พี่ดรีมเห็นเข้าพอดี เดินมาจูงแขนน้องให้กลับไปเก็บ ตอนนี้น้องกินอะไรแล้วจะเก็บไว้ในกระเป๋าก่อน เจอถังขยะเมื่อไรค่อยทิ้ง” พราวสารภาพบ้าง

นอกจากทีมงานแล้ว น้อง ๆ เยาวชนในชุมชนส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมการทิ้งขยะที่เปลี่ยนไป หลายคนใส่ใจที่จะช่วยเก็บขยะที่ถูกทิ้งเรี่ยราด

“น้อง ๆ บางคนหลังเลิกเรียน เจอดรีมก็จะบอกว่า ได้เก็บขยะตรงนั้นตรงนี้ บางคนก็เก็บขยะมาให้คัดแยก” ดรีมเล่าถึงพฤติกรรมของน้อง ๆ อย่างชื่นใจ

พฤติกรรมที่เจอขยะแล้วเก็บ เป็นพฤติกรรมทำเองโดยไม่มีใครบอก ใครสั่ง ไม่มีสิ่งจูงใจหรือรางวัลใด ๆ จึงเป็นเครื่องสะท้อนสำนึกดีที่ติดตัวของเยาวชนบ้านปงสนุก

ผลงานของนักจัดการ (ขยะ) รุ่นใหม่

“เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในหมู่บ้าน จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ บ้านใครบ้านมัน ห่วงแต่จะเล่น พอมีโครงการ ก็สนใจเข้ามาช่วยกันทำกิจกรรม บางคนกล้าแสดงออกมากขึ้น มีความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นผลจากการที่เยาวชนได้ลงมือทำงานด้วยตนเอง...ทุกวันนี้ภูมิใจมาก เด็ก ๆ ที่นี่ตัวเล็กตัวน้อย เห็นขยะที่ไหนก็เก็บ โดยที่เราไม่ต้องบอก ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นแล้วยังอายเลย”

ทับทิม เผือกแก้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปงสนุก ที่ปรึกษาโครงการ ด้วยความคุ้นเคยกันจากการที่เยาวชนเข้าไปช่วยงานของ รพ.สต.เป็นประจำ สะท้อนว่า เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในหมู่บ้าน จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ บ้านใครบ้านมัน ห่วงแต่จะเล่น พอมีโครงการ ก็สนใจเข้ามาช่วยกันทำกิจกรรม บางคนกล้าแสดงออกมากขึ้น มีความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นผลจากการที่เยาวชนได้ลงมือทำงานด้วยตนเอง

“กิจกรรมเยาวชนส่วนมาก ถ้าเป็น อบต.จัดก็จะเป็นการอบรม จบแล้วก็จบไป แต่โครงการนี้เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ คิดเอง ทำเอง และรับผิดชอบเอง แต่ที่สำคัญกว่าคือ น้อง ๆ ทำโครงการเรื่องการจัดการขยะ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของชุมชน ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังทำได้ยาก”

ส่วนบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงนั้น พี่ทับทิมบอกว่า ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ให้กำลังใจ มานั่งฟังเป็นเพื่อน ให้คำปรึกษา และเป็นสื่อกลางที่ช่วยอธิบายการทำงานของเยาวชนกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ซึ่งมักจะยกตัวอย่างประโยชน์ของการทำโครงการว่า เป็นเรื่องดีที่เด็ก ๆ มาทำกิจกรรม ดีกว่าไปเสพยาหรือติดเล่นเฟซบุ๊ก

“ทุกวันนี้ภูมิใจมาก เด็ก ๆ ที่นี่ตัวเล็กตัวน้อย เห็นขยะที่ไหนก็เก็บ โดยที่เราไม่ต้องบอก ผู้ใหญ่อย่างเราเห็นแล้วยังอายเลย”

สมชาย ศิริมาตร ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ผู้แนะนำให้กลุ่มเยาวชนบ้านปงสนุกทำโครงการ สะท้อนว่า โครงการนี้เป็นการพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญมาก เพราะเกิดจากการที่น้อง ๆ ได้คิดเอง สัมผัสเอง เมื่อพบปัญหาในชีวิตจริง ก็จะแก้ไขได้

“การที่น้อง ๆ อาสาเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อจัดการขยะในบ้านตนเอง ผลการทำงานที่เกิดนั้นเป็นบทเรียนที่ควรมีการขยายผลต่อไป เยาวชนปงสนุกอยู่ชุมชนเดียวกัน แต่เรียนคนละที่ ใช้เวลาที่ว่างมาพบกัน โอกาสที่จะพบกันน้อยกว่าเด็กที่รวมกลุ่มในโรงเรียน แต่การที่เขาพยายามหาโอกาสมาทำงานด้วยกันคือ สุดยอดแล้ว”

มนัส หวั่นท๊อก นายกเทศมนตรี เทศบาลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน สะท้อนความรู้สึกว่า การจัดการขยะของจังหวัดน่านมีค่าใช้จ่ายในการจัดการสูงที่สุดในประเทศไทย สำหรับพื้นที่บริการของเทศบาลกลางเวียงมี 2 พื้นที่ คือ ตำบลปงสนุก และตำบลกลางเวียง ซึ่งมีบริบทต่างกันคือ ในเขตตำบลกลางเวียงซึ่งเป็นพื้นที่เทศบาลเมืองจะมีบริการเก็บขยะ แต่ที่ตำบลปงสนุก ชาวบ้านจะจัดการขยะกันเอง โดยไม่เป็นภาระของสังคม การที่เยาวชนมาทำงานเรื่องนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาระงานของเทศบาล เพราะปัจจุบันบ่อทิ้งขยะของเทศบาลใกล้จะเต็มแล้ว

“อยากให้เด็ก ๆ ทำงานต่อเนื่องต่อไป เพราะความคิดของเยาวชนสมัยนี้ บางครั้งคิดดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก ก็อยากให้เขาได้คิดเอง ทำเอง และถ้าอยากทำกิจกรรมอะไรต่อก็ทำโครงการให้ผู้ใหญ่บ้านรับรอง แล้วส่งไปที่เทศบาล จะได้มีงบประมาณรองรับ ผมสนับสนุนอยู่แล้ว ขอเพียงให้เยาวชนทำเป็นกลุ่ม จากที่เห็นเด็กปงสนุกทำโครงการนี้แล้ว เขากล้าแสดงออก มีความสามัคคี รู้จักการทำงานเป็นทีม จึงอยากให้เยาวชนมีภาพลักษณ์ที่ดีและทำประโยชน์ให้สังคมเช่นนี้กันมาก ๆ”

ไม่น่าเชื่อว่างานเก็บขยะที่คนอาจมองว่าต่ำต้อยและสกปรก กลายเป็นงานที่สร้างสำนึกดีให้แก่เยาวชนกลุ่มหนึ่ง ให้มีจิตสำนึกเพื่อชุมชนในการจัดการขยะ ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด และไม่อายที่จะก้มลงเก็บขยะที่พบ พฤติกรรมที่กลายเป็นนิสัยติดตัว ส่งผลให้ชุมชนสะอาดขึ้น ทั้งชวนคนในชุมชนให้ได้ขบคิดและปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะของตน ขณะเดียวกันทักษะการทำงาน และจิตสำนึกของเยาวชนบ้านปงสนุกที่ถูกพัฒนาและขัดเกลาผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจนส่องประกายอย่างมีคุณค่าดุจทองคำในวันนี้ และในอนาคตยังหวังว่าทองคำเหล่านี้จะยังคงส่องประกายเพื่อสร้างคุณค่าให้กับบ้านปงสนุกต่อไป


โครงการขยะทองคำ กลุ่มเยาวชนบ้านปงสนุก

ที่ปรึกษาโครงการ : ทับทิม เผือกแก้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปงสนุก

ทีมทำงาน :

  • ชัยวัฒน์ ธรรมไชย มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสา
  • อนุวัตร ปาละวัน ปวช.2 วิทยาลัยเทคนิคน่าน
  • ณัฐธิดา ทิพวงศ์ มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสา
  • สิริธร จันทร์บูรณ์ มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสา
  • วิจิตรา คำกลาง มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสา
  • พงศ์วิวัฒน์ ปัญญาอินทร์ มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร