การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนโดยใช้น้ำสมุนไพร

สร้างชุมชนดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร

โครงการน้ำสมุนไพรในชุมชน

แม้ใช้เวลาไปมากกับการเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่ม และการใช้พืช สมุนไพรในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน รวมถึงชื่อและสรรพคุณของพืช สมุนไพรชนิดต่าง ๆ แต่เวล ที่เสียไปไม่สูญเปล่า เพราะข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาสืบค้นมา ถูกนำมาสรุป และบันทึกไว้เป็นฐานข้อมูล และเป็นองค์ความรู้สำคัญของชุมชน สามารถนำไปเผยแพร่แก่ผู้มาเรียนรู้จากภายนอกได้ เนื่องจาก บ้านหนองกองมีบุคคลภายนอกแวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานอยู่เสมอ

“เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้าง “คุณค่า” ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนได้อย่างไร?” คำถามนี้เป็น โจทย์ท้าทายและน่าคิด

ทุนชุมชน...สร้างคนเข้มแข็ง

“บ้านหนองกองมีระเบียบที่คนในชุมชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดข้อหนึ่งคือ ทุกครั้งที่มีการประชุม ประชาคมหมู่บ้าน ลูกบ้านทุกบ้านต้องส่งตัวแทนมาเข้าร่วม หากผู้ใหญ่มาไม่ได้ สามารถให้เด็กหรือลูกหลานมาเป็นตัวแทนเข้าประชุมแทนได้ ด้วยเหตุนี้เด็กและเยาวชนบางส่วนในชุมชน จึงซึมซับคุณลักษณะเรื่องความเสียสละ และเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจากการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่”

บ้านหนองกอง ตำบลโดด อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนเข้มแข็งและเป็นหมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียงที่มีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน สังเกตเห็นได้จากคนในชุมชนให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาชุมชนหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเกษตร และการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ที่บ้านหนองกองมีระเบียบที่คนในชุมชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดข้อหนึ่งคือ ทุกครั้งที่มีการ ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ลูกบ้านทุกบ้านต้องส่งตัวแทนมาเข้าร่วม หากผู้ใหญ่มาไม่ได้ สามารถให้เด็ก หรือลูกหลานมาเป็นตัวแทนเข้าประชุมแทนได้ ด้วยเหตุนี้เด็กและเยาวชนบางส่วนในชุมชน จึงซึมซับคุณลักษณะเรื่องความเสียสละ และเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจากการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่

ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิมนี้เองที่เป็นรากฐานให้ทีมงานบ้านหนองกอง ลุกขึ้นมาทำ โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2

“พวกเราคิดเสมอว่า บ้านของเราคือตัวเรา ดังนั้นเราต้องดูแลตัวเอง ดูแลชุมชนชน การเข้ามา ช่วยงานชุมชน ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่ง หลายครั้งที่เข้ามาช่วย เราไม่ได้แค่มาลงแรงอย่าง เดียว แต่ยังได้ความรู้ จากการอบรมของวิทยากรติดตัวกลับไปด้วย เช่น เรื่องการเกษตร หรือแม้แต่การ ดูแลสุขภาพที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้” แพน-บุญมี ศรีบูรณ์ บอกถึงทัศนคติและประโยชน์ที่ได้รับต่อการทำงานเพื่อส่วนรวม

เช่นเดียวกับทีมงานที่เหลืออีก 4 คน ทั้ง พิมพ์-อรปรียา สาโรจน์ นีน่า-ทิพวรรณ ขะชี้ฟ้า เพ็ญ- เพ็ญวิภา ศรชัย และ วิว-เทพปรียา โคมวย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การทำงานเพื่อชุมชนเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งประโยชน์ที่ว่านี้เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

ติ๊ก-ศุภชิดา ศรีชารัตน์ พี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า เห็นเยาวชนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยเหลืองานของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานฌาปนกิจ และงาน พัฒนาชุมชนอื่น ๆ เมื่อเห็นความมีจิตอาสาของเยาวชนกลุ่มนี้ เธอจึงเอ่ยปากขอแรง (พร้อมให้ค่าแรงตามความเหมาะสม) ให้เข้ามาช่วยงานเกษตรในสวน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเห็ด หรือยกร่องแปลงปลูก เป็นต้น

ติ๊ก อธิบายต่อไปว่า เหตุผลที่เธอดึงกลุ่มเยาวชนมาช่วยงานในสวน เพราะอยากฝึกทักษะชีวิตให้พวกเขารู้จักทำมาหากิน และเกิดสำนึกรักบ้านเกิดจากการเห็นประโยชน์และคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น ส่วนที่ให้ค่าจ้างไม่ได้ต้องการให้เด็กเห็นแก่เงิน แต่มองว่าผู้ปกครองทำงานส่งเสียเลี้ยงดูลูกนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่การที่เด็กและเยาวชน มาทำงานได้ค่าตอบแทนไปให้ผู้ปกครอง จะทำให้เขาภูมิใจในตัวเอง และทำให้ผู้ปกครองยอมรับในตัวเด็กและเยาวชนได้อีกทางหนึ่ง

“ถ้าเราฝึกเด็กให้ได้เรียนรู้ ได้มีประสบการณ์จากการใช้ชีวิต ต่อไปหากเขาไม่ได้เรียนต่อ เขาก็เอาตัวรอดทำมาหากินได้จากสิ่งที่มี ในฐานะผู้ใหญ่เราก็เน้นให้เขาคิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น อย่างน้ำสมุนไพรทำกินเอง ตัวเองก็ได้ประโยชน์ ให้คนอื่นคนอื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย แถมยังเป็นวัตถุดิบที่หาได้ใกล้ตัว”

“สิ่งสำคัญสำหรับการทำงานกับชุมชน คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการทำงานร่วมกัน ระหว่างทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

­

“ชุมชน” หุ้นส่วนทำโครงการ

กล่าวได้ว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านหนองกองอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้พวกเขาเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุกบ้านปลูกพืชผักสวนครัว อยู่แล้ว ตามแนวคิดปลูกผักริมรั้ว ปลูกสิ่งที่กินและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ที่นี่จึงมีพืชสมุนไพรขึ้นอยู่ทั่วไปในชุมชน เช่น ตะไคร้ โหระพา ใบเตย อัญชัน ใบย่านาง และแก่นฝาง เป็นต้น ประกอบกับกลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสใกล้ชิด กับผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน องค์ประกอบดังที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เกิด โครงการน้ำสมุนไพรในชุมชน ที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยใช้น้ำสมุนไพรเป็นเครื่องมือจูงใจ โดยใช้พื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นจุดประสานงานหลัก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับ รพ.สต. และเป็นจุดศูนย์กลางที่ง่ายต่อการรวมตัวของทีมงาน

แพน เล่าว่า สิ่งสำคัญสำหรับการทำงานกับชุมชน คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการ ทำงานร่วมกัน ระหว่างทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเหตุนี้นอกจากการจัดประชุมเพื่อวางแผนทำ โครงการแล้ว พวกเขายังได้เข้าชี้แจงแผนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.รับทราบ และแจ้งให้คนในชุมชนรับรู้ถึง วัตถุประสงค์ของการทำโครงการผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงเริ่มปฏิบัติการ เก็บข้อมูลชุมชน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. สำรวจประเภทเครื่องดื่มขายดีในร้านค้าชุมชน และ 2. สำรวจพฤติกรรมการใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการ บริโภคเครื่องดื่มที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และความนิยมของคนในชุมชนต่อการใช้สมุนไพรรักษาโรค แล้วจึงนำข้อมูลจากการสำรวจมาวางกลยุทธ์ เพื่อเชิญชวนให้คนในชุมชนหันมาสนใจเรื่อง สุขภาพมากขึ้น

ทีมงานใช้ “แผนที่ชุมชน” เป็นเครื่องมือช่วยเก็บข้อมูลชุมชน นีน่า บอกว่า การทำแผนที่ชุมชนไม่ ยาก ลงพิกัดจุดบ้านเรือน แล้วระบุข้อมูลจากการสำรวจลงในแผนที่ว่า บ้านไหนใช้ยาสามัญประจำบ้านรักษาโรค บ้านไหนใช้พืชสมุนไพร หรือใช้ทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป ซึ่งแผนที่ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นภาพรวมวิธีการดูแลรักษา อาการป่วยไข้ภายในครัวเรือนของคนในชุมชนได้อย่างชัดเจน

จากการสำรวจประเภทเครื่องดื่มขายดีในร้านค้าชุมชน พบว่า น้ำอัดลมและน้ำหวาน จำพวกชาเขียวและน้ำแต่งรสต่างๆ เป็นสินค้าขายดี ส่วนแผนที่ชุมชนแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวันของแต่ละบ้านในการรักษาอาการป่วยไข้ภายในครัวเรือน คล้ายเป็นการสำรวจทัศนคติของแต่ละครอบครัวที่มีต่อการใช้พืชสมุนไพร ถ้าบ้านไหนใช้สมุนไพรมาก่อน การเข้าไปแนะนำน้ำสมุนไพรย่อมง่ายกว่าบ้านที่ปกติใช้ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป

“ถ้ารู้พฤติกรรมเดิมของคนในชุมชนก่อน เมื่อเรานำน้ำสมุนไพรไปให้แต่ละบ้านดื่ม เราจะสำรวจความรู้สึก ความพึงพอใจต่อรสชาติ และความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของแต่ละบ้านได้ เมื่อนำข้อมูลเดิมกับข้อมูลใหม่มา เปรียบเทียบกัน” วิว อธิบายถึงวิธีคิดในการทำงาน

­

ปรับใจและปรับตัว

“รู้สึกท้ออยู่หลายครั้ง แต่พอนึกถึงความรู้สึกที่พวกเราได้มาทำกิจกรรมด้วยกัน มันมีความสุข เลยทำให้ฮึดสู้ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ไม่ต้องรอให้ทีมงานพร้อมแล้ว ใครมาได้ก็ช่วยทำกิจกรรมไปก่อน ไม่งั้นงานจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้”

แม้จะคิดดี ทำดี แต่เมื่อถึงเวลาลงมือปฏิบัติจริง ทีมงานที่ต่างคนต่างเรียนคนละชั้น และต่างโรงเรียน อุปสรรคในการทำงานจึงหนีไม้พ้นเรื่องเวลา ด้วยภาระการเรียนในห้องเรียนที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงการต้อง เตรียมตัวสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อ ทำให้การแบ่งเวลามาทำกิจกรรมตามแผนของโครงการเป็นไปได้ยาก แม้จะนัดกันหลังเลิกเรียน แต่การทำโครงการก็ยังไม่คืบหน้า เพราะงานหลายอย่างที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ทำโครงการได้ไม่เต็มที่

“รู้สึกท้ออยู่หลายครั้ง แต่พอนึกถึงความรู้สึกที่พวกเราได้มาทำกิจกรรมด้วยกัน มันมีความสุข เลยทำให้ฮึดสู้ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ไม่ต้องรอให้ทีมงานพร้อมแล้ว ใครมาได้ก็ช่วยทำกิจกรรมไปก่อน ไม่งั้นงานจะเดินหน้า ต่อไปไม่ได้” แพน กล่าว

วิว เสริมต่อว่า ตอนเก็บข้อมูลในชุมชน เมื่อบางคนติดธุระ คนที่อยู่ก็แบ่งหน้าที่กันไปเก็บข้อมูลก่อน โดย แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 คุ้ม เฉลี่ยคุ้มละประมาณ 18 หลังคาเรือน การแบ่งงานขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า ใครอยู่คุ้มไหน

ไปคุ้มนั้น ใครบ้านอยู่ใกล้กันให้ไปด้วยกัน เพื่อจะได้กลับบ้านพร้อมกัน แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้ทีมงาน สามารถลงสำรวจชุมชนได้แค่วันเดียว จึงเก็บข้อมูลได้ไม่ครบทุกบ้าน เนื่องจากบางบ้านไม่มีคนอยู่ในวันดังกล่าว

­

แปลงสมุนไพรเป็นสุขภาพ

“สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่มีค่าต่อทุกชีวิต” คือ “แรงบันดาลใจ” ในการทำโครงการของเยาวชนบ้านหนองกอง เมื่อการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และเยาวชนต้องการรณรงค์ให้คนในชุมชนนำสมุนไพรมาใช้ ความถูกต้องเรื่องข้อมูลทางยาของพืชสมุนไพรจึงสำคัญตาม ไปด้วย ทีมงานจึงพยายามสืบค้นต่อถึงสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดจากผู้รู้และหมอยาในชุมชน เพราะเคยทำ กิจกรรมร่วมกับชุมชนมาก่อน ทำให้ทีมงานรู้จักผู้รู้ด้านสมุนไพรในชุมชนอยู่บ้าง ประกอบกับนีน่ามีคุณยายเป็น หมอยาอยู่แล้ว การเข้าหาผู้รู้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจึงไม่ใช่งานยากสำหรับพวกเขา

“ผู้รู้ที่เราเข้าไปพูดคุยด้วยหลัก ๆ มี 5 คน แต่ละคนรู้จักพืชสมุนไพรแตกต่างกัน ผู้สูงอายุจะให้ความรู้ เกี่ยวกับสมุนไพรโบราณได้เยอะ เราก็นำความรู้ที่ได้เกี่ยวกับพืชแต่ละชนิดมาเปรียบเทียบแล้วสรุปรวมกัน” นีน่า ผู้บันทึกข้อมูลเอ่ยขึ้น

แพน บอกว่า แม้ใช้เวลาไปมากกับการเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจพฤติกรรมการดื่ม

เครื่องดื่ม และการใช้พืชสมุนไพรในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน รวมถึงชื่อและสรรพคุณของพืช สมุนไพร ชนิดต่าง ๆ แต่เวลาที่เสียไปไม่สูญเปล่า เพราะข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาสืบค้นมา ถูกนำมาสรุป และบันทึกไว้นั้นเป็นฐานข้อมูล และเป็นองค์ความรู้สำคัญของชุมชน ที่นอกจากจะใช้ทำโครงการนี้แล้วยังสามารถนำไปเผยแพร่แก่ผู้มา เรียนรู้จากภายนอกได้ เนื่องจากบ้านหนองกองมีบุคคลภายนอกแวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานอยู่เสมอ

เมื่อมีความรู้และข้อมูลพร้อมสรรพก็ได้เวลาลงมือทำน้ำสมุนไพรแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายในชุมชน เพื่อให้แต่ละครัวเรือนได้ลองลิ้มรสเครื่องดื่มจากพืชสมุนไพรแทนการดื่มน้ำอัดลมและน้ำหวานที่มีขายอยู่ทั่วไปตามร้านค้าในชุมชน ทีมงานย้ำว่าเครื่องดื่มที่มีขายตามท้องตลาดมีปริมาณน้ำตาลเยอะมากสังเกตได้จากฉลากข้างขวด ทั้งนี้ทีมงานเลือกผลิตน้ำสมุนไพรจากใบเตยและดอกอัญชันเป็นหลัก เพราะมีสรรพคุณเหมาะเป็น “น้ำสมุนไพรเปิดตัว” กล่าวคือ มีรสชาติดีไม่ขมและหาวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ง่าย มีให้พี่ติ๊กเป็นครูช่วยสอนเรื่องการทำน้ำ

“น้ำสมุนไพรของเราผสมน้ำตาลเล็กน้อย แต่ไม่หวาน เราคิดว่าถ้าทำแบบจืดไปเลย คนในชุมชนคงไม่ชอบ ถ้าดื่มแล้วรสชาติไม่ดีคนจะไม่ดื่มต่อ” เพ็ญ อธิบาย

น้ำใบเตยที่มีกลิ่นหอมสดชื่น นอกจากจะทำให้ผ่อนคลายแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาช่วยคลายร้อน บำรุง หัวใจ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนน้ำอัญชันมีสรรพคุณชั้นเลิศช่วยบำรุงสายตา และเสริมภูมิต้านทาน ให้ร่างกาย

“พืชบางชนิด เช่น ผลฟักข้าว มีสรรพคุณทางยาดีมาก แต่หายาก ต้องทำตามฤดูกาล เราก็ข้ามไปก่อน บางชนิดต้องปลูกขึ้นใหม่ถึงจะเพียงพอ เราก็ไม่นำพืชชนิดนั้นมาทำ แต่ดอกอัญชัน ใบเตย และย่านางแดงมีอยู่แล้วแทบทุกหลังคาเรือน สามารถนำมาปรุงให้มีรสชาติกลมกล่อมได้ เราเลยเลือกทำก่อนเป็นอันดับแรก ทำเสร็จก็นำไปแจกจ่ายให้คนในชุมชนตามบ้านเลย พร้อมกับแนะนำความรู้เรื่องประโยชน์ของพืชสมุนไพร ชนิดนั้นไปพร้อมกัน จากนั้นก็สอบถามความคิดเห็นว่า เขาชอบ ไม่ชอบ หรือจะให้ปรับปรุงอย่างไร ผลตอบรับ ส่วนใหญ่พอใจและอยากให้ทำกิจกรรมต่อไป” แพน กล่าว

วิว บอกว่า หลังจากทดลองแจกจ่ายนำสมุนไพรแล้ว ทีมงานได้จัดเวทีนำเสนอผลการทำโครงการต่อ ชุมชนเป็นกิจกรรมสุดท้ายที่จัดเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เรื่องสมุนไพรในชุมชน และการทำน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพให้เขานำไปใช้ในชีวิตประจำวัร เสียดายที่วันนั้นมีฝนตกหนัก ทำให้ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมน้อย ส่วนใหญ่ เป็นผู้นำชุมชนที่ให้ความสนใจร่วมรับฟัง และฝึกทำน้ำสมุนไพรกับกลุ่มแกนนำเยาวชนอย่างสนุกสนาน

นอกจากการทำงานภายในชุมชนแล้ว ทีมยังอาสาร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ จากโครงการสะพานสายบุญ อำเภอห้วยทับทัน ในวันจัดค่ายกิจกรรมทำความสะอาดวัด และโครงการทวนเข็มนาฬิกาย้อน เวลาหาความหลัง อำเภออุทุมพรพิสัย พร้อมทำน้ำสมุนไพรไปแจกจ่าย และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ ด้านสมุนไพรกับเพื่อนต่างโครงการอีกด้วย

­

สมุนไพรสานสัมพันธ์

“ขั้นตอนและกระบวนการคิดเพื่อทำโครงการน้ำสมุนไพรในชุมชนตั้งแต่ต้นจนจบ ช่วยให้มีความคิดที่แตกฉานจนเกิดความมั่นใจในสิ่งที่รู้ ยิ่งเมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้กล้าสื่อสารสิ่งที่ตัวเองรู้ให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย ตอนนี้มีใครมาถามเราก็ไม่กลัว เพราะตอบได้ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกคือ เรากล้าถามคนอื่นในสิ่งที่สงสัย และไม่รู้ เพื่อที่จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้นด้วย”

ด้วยจิตอาสาที่มีอยุู่ในเนื่้อในตัวของทีมงาน จึงไม่แปลกที่ทีมงานต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำโครงการนี้สิ่งที่พวกเขาได้รับมีมากกว่าความรู้เรื่องสรรพคุณของพืชสมุนไพร และการนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม คือสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น โดยมี “น้ำสมุนไพร” เป็นตัวกลางสานสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ทั้งตัวทีมงานเอง คนในชุมชน และระหว่างเพื่อนสมาชิกร่วมโครงการจากชุมชนอื่น การแสดงออกซึ่งความห่วงใย ดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงความเสียสละ สิ่งเหล่านี้คือคุณค่าทางใจที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้พวกเขาเดินหน้าทำสิ่งดี ๆ เพื่อชุมชนของตน

“สมุนไพรมีในชุมชน นี่คือบ้านของเรา เราต้องทำเพื่อบ้านเรา ถึงแม้สิ่งที่เราทำจะเป็นแค่ส่วน เสี้ยวเล็ก ๆ แต่เราก็ได้ทำ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ โดยที่ไม่ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป” แพน กล่าวและบอกต่อว่า ขั้นตอนและกระบวนการคิดเพื่อทำโครงการน้ำสมุนไพรในชุมชนตั้งแต่ต้นจนจบ ช่วยให้เขามีความคิดที่แตกฉานจนเกิดความมั่นใจในสิ่งที่รู้ ยิ่งเมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้กล้าสื่อสารสิ่งที่ตัวเองรู้ ให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย

“ตอนที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรและทำยังไง แล้วต้องออกไปพูดต่อหน้าคนอื่น มันมีอาการสั่น รู้สึกกลัว เพราะไม่รู้จะพูดอะไร แต่ตอนนี้เราได้ลงมือทำแล้ว และรู้ในสิ่งที่ทำ ถ้าให้ออกไปพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ เราก็ พูดได้ มีใครมาถาม เราก็ไม่กลัว เพราะตอบได้ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกคือ เรากล้าถามคนอื่นในสิ่งที่สงสัย และไม่รู้ เพื่อที่จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ แพน ยังกล่าวว่า การรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการ ทำงานเป็นทีม เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งปล่อยปละละเลยงานของตัวเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานในภาพรวมของทีม ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนงานตามแผนได้

“โครงการนี้เหมือนเป็นแรงจูงใจ มาทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ แบบนี้มันสนุก ความรับผิดชอบก็เกิดขึ้นเอง เพราะต้องรีบทำการบ้านให้เสร็จ แล้วจะได้นัดรวมตัวกันทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ความรู้ของคนอื่น ๆ ก็เป็นประโยชน์กับโครงการของเรา ภูมิใจที่เยาวชนอย่างเรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน”

ด้าน เพ็ญ ที่อยู่ต่างโรงเรียน เห็นสอดคล้องกับแพนว่า ความสามัคคีในกลุ่ม เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ทำ โครงการลุล่วงไปได้ ความสามัคคีในที่นี้หมายรวมถึง การรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง และการยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

เพ็ญ บอกว่า ความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างแรก คือ การยอมรับและรู้จักตัวเอง “จากเป็นคนชอบตื่นสายวันเสาร์อาทิตย์ เพราะไม่ต้องไปโรงเรียน พอพี่ ๆ นัดมาทำงาน เราก็รู้หน้าที่ว่าต้องตื่นเช้าให้ได้ แล้วไปให้ ทันเวลา เพราะต้องไปทำงานร่วมกับคนอื่น ส่วนวันไหนไม่มีนัด ตื่นเช้าขึ้นมาที่บ้านก็ชม เพราะมีเวลา ทำงานช่วบผู้ปกครองมากขึ้น...วิธีการทำงานในโครงการก็นำไปใช้ตอนทำงานเป็นกลุ่มที่โรงเรียนได้ด้วย เราต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ให้ทุกคนในกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ส่วนการแบ่งหน้าที่ ก็จัดสรรตามความสมัครใจและความถนัดของแต่ละคน”

นอกจากนี้ เพ็ญ ย้ำว่า การวางแผนงานและดำเนินการตามแผนเป็นลำดับขั้นตอน แล้วพร้อมปรับเปลี่ยน ตามความเหมาะสมช่วยให้การทำงานเป็นทีมง่ายขึ้น

“ถ้าเราวางแผน แล้วค่อย ๆ ทำตามแผน เราจะรู้ว่าอยู่ตรงจุดไหน แล้วก็ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตาม สถานการณ์เฉพาะหน้าของกลุ่ม ทำให้ไม่สับสนเวลาจะทำกิจกรรมขั้นต่อไป”

ส่วน นีน่า บอกว่า การวางแผนงานช่วยให้เธอจัดการตารางชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง การเรียน จากเดิมที่เป็นคนชอบทิ้งงานคั่งค้างไว้เป็นดินพอกหางหมู ใกล้ถึงวันส่งงานแล้วถึงจะทำ แทนที่โครงการ นี้จะเข้ามาเพิ่มภาระ กลับเพิ่มความรับผิดชอบให้เธอ

“โครงการนี้เหมือนเป็นแรงจูงใจ มาทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ แบบนี้มันสนุก ความรับผิดชอบก็เกิดขึ้นเอง เพราะต้องรีบทำการบ้านให้เสร็จ แล้วจะได้นัดรวมตัวกันทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ความรู้ของคนอื่น ๆ ก็เป็นประโยชน์กับโครงการของเรา ภูมิใจที่เยาวชนอย่างเรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน”

สังคมโซเชียลเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของเยาวชนออกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว พิมพ์ เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาไม่น้อยไปกับโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก แต่โครงการนี้ทำให้เธอละจากหน้าจอโทรศัพท์ หันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนในชุมชน และรู้จักปรับตัวเข้าหาคนอื่น

“เพื่อนจากที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้ช่วยเหลือกันก็มาทำงานด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ คนที่รู้ก็บอกคนที่ ไม่รู้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง จาก เดิมไม่ฟังใคร อารมณ์ร้อน การทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ฝึกให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดถึงความรู้สึก คนอื่น รับฟังคนอื่นมากขึ้น เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปได้” พิมพ์ กล่าว

“ปกติเขาก็มีงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการเรียน แต่เขาก็แบ่งเวลามาทำงานตรงนี้ ทำให้เขาต้องวางแผนการทำงานในทีม เช่น คิดคำนวณบัญชีเองว่าจะใช้จ่ายอะไร แล้วมาเบิกเงินที่เรา เพราะเขาให้เราช่วยถือเงินให้ ส่วนเราก็พาเขาไปซื้อของตามที่ต้องการ เหมือนกับช่วยอำนวยความสะดวกให้เขามากกว่า แต่หลัก ๆ แล้วเด็กจะเป็นคนคิดแล้วมาบอกเราอีกทีว่าเขาต้องการอะไร”

­

พี่เลี้ยงชุมชน หนุนให้ “คิด” และ “ทำ”

ขณะที่ วิษณุ โคมวย พี่เลี้ยงชุมชนและผู้ปกครองของวิว เล่าถึงพัฒนาการด้านการทำงานของ เยาวชนว่า พวกเขามีการวางแผนและแบ่งงานกันทำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เห็นได้จากช่วงต้นที่มีการเก็บข้อมูลพืชสมุนไพรก่อน แล้วจึงเริ่มเก็บวัตถุดิบสำหรับการทำน้ำสมุนไพร เมื่อพบว่า มีสิ่งไหนขาดตกบกพร่อง จึงจะขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่

“หลายครั้งที่เด็ก ๆ ว่างไม่ตรงกัน เราก็เห็นเขาแบ่งหน้าที่ทำงานตามที่นัดกันไว้ได้เป็นอย่างดี การทำงาน ด้วยกันอาจมีไม่เข้าใจกันบ้าง เวลาคนหนึ่งมาคนหนึ่งไม่มา แต่เขาพยายามปรับตัวเข้าหากัน คนที่ไม่มาครั้งนี้ครั้ง ต่อไปก็มา คนที่มาก็ฟังเหตุผลคนอื่น หรืออย่างตอนหาวัตถุดิบสมุนไพรตัวไหนที่ขาดเหลือหาไม่ได้ เราก็ช่วยหา มาเสริมให้ แต่สมุนไพรส่วนใหญ่ที่เด็ก ๆ ทำกันก็สามารถหาได้ทั่วไปในชุมชนอยู่แล้ว”

วิษณุ บอกต่อว่า ประโยชน์ของโครงการนี้ที่เห็นได้ชัดคือ ทำให้เด็กและเยาวชนในชุมชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการเพิ่มพูนความรู้ ดีกว่าใช้เวลาไปกับการเล่นมือถือ ที่สำคัญยังช่วยฝึกให้เด็กและเยาวชนมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ

“ปกติเขาก็มีงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการเรียน แต่เขาก็แบ่งเวลามาทำงานตรงนี้ ทำให้เขาต้องวางแผนการทำงานในทีม เช่น คิดคำนวณบัญชีเองว่าจะใช้จ่ายอะไร แล้วมาเบิกเงินที่เรา เพราะเขาให้เราช่วยถือเงินให้ ส่วนเราก็พาเขาไปซื้อของตามที่ต้องการ เหมือนกับช่วยอำนวยความสะดวกให้เขามากกว่า แต่หลัก ๆ แล้วเด็กจะเป็นคนคิดแล้วมาบอกเราอีกทีว่าเขาต้องการอะไร

ใครจะคิดว่าน้ำสมุนไพรที่แสนจะธรรมดาจะให้ “คุณค่า” ได้มากกว่า “มูลค่า” เมื่อน้ำสมุนไพร กลายเป็น “สายใย” สื่อรักและความห่วงใยระหว่างผู้ให้กับผู้รับทุกเพศทุกวัยที่ได้ดื่ม ไม่เพียง ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นของทีมงาน และผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านหนองกองเท่านั้น แต่น้ำสมุนไพรยัง ช่วยสานสายใยไปสู่เพื่อนต่างชุมชนอีกด้วย

“เราจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างคุณค่าให้สิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนได้อย่างไร?” โจทย์นี้ได้รับการไข คำตอบแล้วว่า สิ่งใกล้ตัวที่มีในชุมชนจะมีมูลค่าเพิ่มและมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อเราทำให้สิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์กับผู้คน


โครงการน้ำสมุนไพรในชุมชน

พี่เลี้ยงชุมชน : 

  • ศุภชิดา ศรีชารัตน์
  • วิษณุ โคมวย 

ทีมทำงาน : 

  • กลุ่มเยาวชนบ้านหนองกอง อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีษะเกษ