การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ

“ห้องเรียนชุมชน” แหล่งเรียนรู้ของพี่กับน้อง

โครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง

ผลลัพธ์ที่สัมผัสได้ที่ทีมงานภูมิใจคือ บรรยากาศของการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในชุมชนที่ เปลี่ยนไป น้อง ๆ ลดเวลาในการเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ และห่างจากพื้นที่เสี่ยงในการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซิ่งมอเตอร์ไซค์เสียงดัง ซึ่งการที่สามารถดึงน้องบางส่วนให้มาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้ในตอนนี้ ทำให้ทีมงานคาดหวังว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการ ไปแล้วบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เช่นนี้จะติดตัวน้อง ๆ ให้เลือกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อไป

"การอ่าน" จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบาย ประกาศทศวรรษการอ่าน มีแนวทางส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ ทว่าที่ผ่านมาการอ่านกับคนไทยดู ไม่กระเตื้องขึ้น แม้สถิติใหม่ล่าสุดจะพบว่าเด็กไทยใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยวันละ 1.51 ชั่วโมง แต่กลับพบปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผลให้วัฒนธรรมการอ่านในไทยเกิดขึ้นอย่างกะปริดกะปรอย 

>> ค้นหาโจทย์ ค้นหาทีมทำงาน

“เห็นว่าเด็ก ๆ ในบ้านดู่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ มีพฤติกรรมติดโทรศัพท์ ติดเกม และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดยาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในชุมชน เนื่องจากต่างใช้เวลาว่างที่มีอยู่มากมายเล่นเกมและเที่ยวเตร่อย่างไร้ประโยชน์...จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง โดยหวังว่า กิจกรรมที่ทำจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้น้องๆ อ่านออกเขียนได้ และรักการอ่าน”

โรงเรียนบ้านดู่ ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่ เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 168 คน ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนยังมีปัญหา เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาจัดกิจกรรมอ่านหนังสือให้ผู้ใหญ่ฟัง โดยนักเรียนจะถูกแบ่งเป็น 8 กลุ่มๆ ละประมาณ 15 คน ทุกเช้าหลังเข้าแถวเคารพธงชาติ นักเรียนทั้งหมดจะเข้าห้องประชุมของโรงเรียนเพื่อฟังเพื่อนกลุ่มที่ถึงคิวอ่านหนังสือให้ผู้อำนวยการฟัง ส่วนกิจกรรมในชุมชนคือ นักเรียนแต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานจากคุณครูผู้สอนให้ไปอ่านหนังสือให้ผู้นำในชุมชนหรือผู้ปกครองของตนฟัง เมื่ออ่านเสร็จแล้ว ผู้นำหรือผู้ปกครองจะให้ความเห็นต่อการอ่านของนักเรียน เพื่อนำกลับมาส่งคุณครู กิจกรรมนี้ดำเนินมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งสามารถกระตุ้นให้นักเรียนสนใจฝึกฝนการอ่านมากขึ้นระดับหนึ่ง

แต่ในมุมมองของเยาวชนด้วยกันเองเช่น ซั-อภิชญา เทาศิริ ครีม-สุจิตรา สายจันทร์ ปาล์ม- สุกัญญา บุษบา แซน-ณัฐณิชา เทาศิริ และ นัด-อภิภาวดี วัตรจันทร์ เห็นว่า เด็ก ๆ ในบ้านดู่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ มีพฤติกรรมติดโทรศัพท์ ติดเกม และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดยาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในชุมชน เนื่องจากต่างใช้เวลาว่างที่มีอยู่มากมายเล่นเกมและเที่ยวเตร่อย่างไร้ประโยชน์ รวมถึงปัญหาการอ่านออกเขียนได้ที่ได้รับทราบจากคุณครูและผู้ใหญ่ในชุมชน เมื่อพี่ๆ จากโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ชักชวนให้ทำกิจกรรม พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันทำโครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง โดยหวังว่า กิจกรรมที่ทำจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้น้องๆ อ่านออกเขียนได้ และรักการอ่าน

แต่กว่าที่ทีมงานจะได้โจทย์การทำงานที่ลงตัวที่เรื่องดังกล่าวนั้น ในช่วงแรกทีมงานชุดเก่าคือ ครีม ปาล์ม นัด แซน และพี่ๆ ในชุมชนสนใจทำโครงการเกี่ยวกับจัดตั้งห้องสมุด ด้วยมองเห็นว่า ยังไม่มีที่อ่านหนังสือในชุมชน แต่ในช่วงพัฒนาข้อเสนอโครงการ พี่ๆ ที่ร่วมทีมเริ่มทยอยออก เนื่องจากมีภาระด้านการเรียน ส่งผลให้ทีมระส่ำระสาย ครีม ปาล์ม นัด แซน เกิดภาวะลังเลใจ ไปไม่เป็น ใจหนึ่งอยากทำ แต่ใจหนึ่งไม่อยากทำ ด้วยมองว่า การทำห้องสมุดเป็นเรื่องใหญ่ และน่าจะยากเกินกว่าศักยภาพของทีมงาน จนกระทั่งซัน และดา-ชฎากร เขื่อนหก ถูกชักชวนให้มาร่วมทีม ซันที่เคยมีประสบการณ์ทำโครงการ Eng Easy เมื่อปีก่อน สร้างความมั่นใจให้แก่ทีมงานมากขึ้น

“ความรู้สึกตอนนั้นมีทั้งอยากทำและไม่อยากทำ เพราะคิดว่าเป็นงานที่ใหญ่เกินตัว ยิ่งพี่ๆ เขาออกจากทีมไปก็ยิ่งไม่มั่นใจ แต่พอพี่ซันกับพี่ดาเข้ามา ก็เริ่มมั่นใจว่าโครงการนี้ไม่ล่มแน่” แซนเล่า

ในขณะที่ซันสะท้อนบทเรียนของตนเองว่า ปีก่อนส่วนใหญ่เธอรับผิดชอบเรื่องนันทนาการ แต่ก็รู้สึกว่าไม่ถนัดเท่าไร เวลาพาน้องเล่นเธอจะรู้สึกเครียด เหมือนทำหน้าที่ที่ไม่ตรงกับบุคลิก ทั้งยังไม่เข้าใจด้วยว่า ทำทำไม เลยเป็นปัญหา แต่ด้วยการทำงานที่เป็นระบบทีม ถ้าเธอหยุดงานก็จะล่ม เธอเลยฝืนทำไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเห็นรูปธรรมการทำงานก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น พอมาปีนี้ตอนแรก็ไม่อยากทำ ยอมรับว่าขี้เกียจนิดๆ แต่เมื่อเห็นว่า เป็นการทำกิจกรรมกับน้องๆ ซึ่งคล้ายกับที่เคยทำมา และทำกับน้องในชุมชนจึงเข้าร่วมด้วย


>> เกมเพื่อการเรียนรู้

กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ทีมงานออกแบบคือ การเล่นเกมต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน แต่จะมีสาระที่การสะท้อนบทเรียนการเรียนรู้ โดยหลังจบเกมแต่ละครั้ง ทีมงานจะสร้างเงื่อนไขให้น้องๆ พูดแสดงความคิดเห็น ต้องรับฟัง ต้องเขียน และต้องอ่าน เช่น การสะท้อนความรู้สึกหลังเล่นเกมว่า รู้สึกอย่างไร การรวมกลุ่มเขียนประโยชน์จากการเล่นเกมลงในกระดาษปรู๊ฟแล้วนำเสนอ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างทักษะให้เพิ่มพูนแก่น้องๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทีมงานบอกว่า ได้เรียนรู้มาจากการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่พี่ๆ ใช้กระบวนการดังกล่าวสร้างการเรียนรู้ให้พวกเขาและเพื่อนๆ”

เมื่อสมาชิกในทีมเปลี่ยน จึงต้องร่วมกันค้นหาโจทย์ในการทำงานใหม่ เพราะการทำห้องสมุดเป็นเรื่องที่ทีมงานมองว่ายากเกินไป

“ตอนนั้นก็คิดว่ายาก เพราะเด็กๆ เขาติดเกม ส่วนมากเขาไม่ค่อยอ่านหนังสือ คิดว่า ทำไปเด็กเขาไม่มาอ่านหรอก” นัดเล่า

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีม และภาวะผู้นำของทีมงานที่มาใหม่ ทำให้ทีมงานมั่นใจ และเกิดไอเดียหลากหลาย จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะทำโครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง เพราะต่างประสบกันตนเองว่า น้องในโรงเรียนบ้านดู่ไม่ค่อยเก่งทั้งการฟัง พูด อ่าน เเขียน พวกเขาจึงออกแบบกิจกรรมพาน้องเล่นเกมเพื่อสอดแทรกความรู้ที่จะพัฒนาทักษะดังกล่าว

ทีมงานประชุมวางแผนการทำงานพร้อมแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความถนัดจนเป็นที่พอใจของทุกคน ทีมงานต่างมีความมั่นใจว่าจะสอนน้องได้ เพราะเมื่อประเมินความสามารถของทีมงานด้านการใช้ภาษาไทย ต่างก็มีทักษะพอตัว อีกทั้งกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ผ่านการเล่น ก็น่าจะดึงดูดความสนใจของน้องๆ ได้มากกว่าการสอนโดยตรง

กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ทีมงานออกแบบคือ การเล่นเกม ต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนาน แต่จะมีสาระอยู่ที่การสะท้อนบทเรียนการเรียนรู้ โดยหลังจบเกมแต่ละครั้ง ทีมงานจะสร้างเงื่อนไขให้น้อง ๆ พูดแสดงความคิดเห็น ต้องรับฟัง ต้องเขียน และต้องอ่าน เช่น การสะท้อนความรู้สึกหลังเล่นเกมว่า รู้สึกอย่างไร โดยรวมกลุ่มเขียนประโยชน์จากการเล่นเกมลงในกระดาษปรู๊ฟแล้วนำเสนอ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างทักษะให้เพิ่มพูนแก่น้องๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทีมงานบอกว่า ได้เรียนรู้มาจากการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่พี่ๆ ใช้กระบวนการดังกล่าวสร้างการเรียนรู้ให้พวกเขาและเพื่อนๆ

แต่ก่อนจะจัดกิจกรรมทีมงานได้ร่วมกันกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการทำงานซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพราะเป็นกลุ่มที่เริ่มอ่านได้ เขียนได้ และไม่เล็กจนเกินไป โดยทีมงานเน้นการทำงานกับน้อง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบ้านดู่ หมู่ 2 และหมู่ 8 เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อความสะดวกในการรวมตัวทำกิจกรรม เมื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้แล้ว ทีมงานได้เข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ เพื่อแนะนำโครงการ และขออนุญาตทำกิจกรรมกับน้องๆ

“ตอนแรกเราตั้งเป้าไว้ที่เด็ก ป. 4-6 ที่อยู่หมู่ 2 กับหมู่ 8จำนวน 20 คน แต่ก็มีน้องชั้นอื่นสนใจ เราก็ให้เข้าร่วม เพราะอยากให้น้องฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยให้คล่องมากขึ้น รวมแล้วมีน้อง ๆ ในชุมชนสนใจกิจกรรมเกือบ 40 คน” แซนเล่า

การเข้าพบผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่ทีมงานทำได้ไม่ยาก เพราะนัดเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านดู่ ซึ่งรู้จักและคุ้นเคยกับโรงเรียนดีอยู่แล้ว แต่ทีมงานก็ไม่ละเลยที่จะทำจดหมายชี้แจงโครงการอย่างเป็นทางการ ก่อนขอเข้าพบ เพื่อแนะนำตัวและขออนุญาตทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านภาษาไทยซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของโรงเรียนจึงได้รับการตอบรับอย่างยินดี

วันเข้าพบผู้อำนวยการ เป็นวันเดียวกับที่ทีมงานตั้งใจสานสัมพันธ์กับน้องๆ กลุ่มเป้าหมาย โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนรวมน้องเพื่อชี้แจงว่า พวกเราจะมาจัดกิจกรรมอะไร อย่างไร พร้อมนัดหมายวันเวลา และสถานที่ในการทำกิจกรรม ซึ่งทีมงานยอมรับว่า การกำหนดวันเวลาในการทำกิจกรรมของโครงการ จะดูจากความสะดวกของทีมงานในวันเสาร์อาทิตย์ที่จะต้องหลบหลีกกับภาระทางการเรียน และกิจกรรมของโรงเรียน โดยอาศัยการนัดหมายเป็นรายครั้งผ่านการประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้าน ที่ขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 และหมู่ 8 ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ทีมงานเลือกทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับน้องๆ เป็นกิจกรรมแรก เนื่องจากต้องการรู้จักและสร้างความคุ้นเคยระหว่างกันก่อน เกม 5 เกมถูกเตรียมไว้เล่น แต่เอาเข้าจริงได้เล่นเพียง 3 เกม คือ เกมรองเท้า เกมงงกับเงื่อน และเกมใบ้คำ ก็ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงแล้ว

“เกมรองเท้าก็เอารองเท้าของน้องมากองรวมกัน คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วให้น้องไปหยิบมา โดยต้องไม่ใช่รองเท้าของตนเอง แล้วใส่โชว์ให้เพื่อนดู เกมนี้เราอยากให้น้องรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา” แซนเล่า

“เกมใบ้คำ เพื่อดูทักษะการสื่อสารของน้องว่า จะใช้วิธีอย่างไรให้เพื่อนเข้าใจโดยไม่ใช้การพูด เกมงงกับเงื่อนที่เอาเชือกที่คล้องกัน 2 เส้น แล้วนำปลายมามัดแขน 2 ข้างของคน 2 คน แล้วให้ผู้เล่นพยายามเอาออก เกมนี้เพื่อให้น้องใช้ความคิด วิเคราะห์แก้ปัญหา” ซันเล่าเสริม

การเล่นเกมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและเสียงหัวเราะ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทีมงานกับกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าบางเกมทีมงานจะลืมให้น้อง ๆ สะท้อนการเรียนรู้ แต่ทีมงานก็พึงพอใจกับผลงานที่ทำสำเร็จ ซึ่งวัดได้จากเสียงสอบถามของน้องๆ ว่า จะนัดอีกเมื่อไร

วิธีการทำงานที่สร้างระบบระเบียบในการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอนที่ได้เรียนรู้จากพี่เลี้ยงโครงการฯ ทำให้ก่อนทำกิจกรรมทุกครั้งต้องมีการประชุมวางแผน ทบทวนบทบาทหน้าที่ และสรุปบทเรียนร่วมกัน ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับทีมงานได้เป็นอย่างดี ทำให้ทีมงานต้องประชุมกันบ่อยๆ จนกลายเป็นวิถี


>> ห้องเรียนชุมชน

หลังจากทำความรู้จักคุ้นเคยกันดีแล้ว ทีมงานนัดกันลงพื้นที่สำรวจภูมิปัญญาในชุมชน เพราะคิดพาน้องมาเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน แต่เมื่อปั่นจักรยานสำรวจจนทั่ว ทีมงานมานั่งสรุปร่วมกันว่า ไม่น่าจะจัด เพราะบ้านของน้อง ๆ ส่วนใหญ่ต่างทอผ้า ทอเสื่อกันอยู่แล้ว แต่การได้ซอกแซกสำรวจไปทั่วหมู่บ้านก็ไม่เสียเปล่า ทำให้ทีมงานเกิดความตระหนักว่า ชุมชนของตนมีดี ทั้งเสื่อที่ถูกทอโชว์ลายอย่างสวยสด ผ้าไหมลายลูกแก้วที่ทออย่างงดงาม แม้กระทั่งการนำเปลือกมะพร้าวมาแกะเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น พระพิฆเณศ ช้าง ลิง ฯลฯ

เมื่อแผนการพาน้องไปเรียนรู้ภูมิปัญญาต้องล้มเลิก ทีมงานจึงปรับแผนใหม่ พากันไปสำรวจคนเฒ่าคนแก่ที่สามารถเล่านิทานพื้นบ้านในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่จะพาน้อง ไปเรียนรู้ฝึกฝนการฟัง แหล่งชุมนุมยามเย็มของผู้เฒ่าในหมู่บ้านจึงเป็นเป้าหมายในการสอบถามข้อมูล ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่าคุณยายคนหนึ่งในชุมชนเล่านิทานได้ ทีมงานจึงได้ไปโน้มน้าวขอให้คุณยายช่วยเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง

การเล่านิทานเรื่องนางสิบสองและพระรถเมรีในเวอร์ชั่นคุณยาย ได้รับความสนใจจากเด็ก และผู้ใหญ่ที่มาล้อมวงกันฟัง เสียงโต้แย้งสอดแทรกเป็นระยะๆ จากผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งร่วมรับฟัง สร้างสีสันความสนุกสนานให้แก่วงเล่านิทาน รอยยิ้มของผู้เฒ่า เสียงหัวเราะจากผู้เยาว์ประสานกัน เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกรื้อฟื้นให้เกิดความชิดใกล้อย่างไม่ตั้งใจ

การสะท้อนความรู้สึกหลังการเรียนรู้ครั้งนี้ น้องๆ ส่วนใหญ่ต่างบอกว่า ไม่เคยได้ฟังอะไรอย่างนี้มาก่อน แม้ว่าจะเคยอ่านนิทานทั้งสองเรื่องผ่านตา หรือได้ยินผ่านหูมาบ้าง แต่อรรถรสในการฟังครั้งนี้ต่างออกไป อาจจะด้วยเพราะคุณยายเล่าเป็นภาษาลาว ทำให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้รู้จักคำแปลกๆ ใหม่ๆ ในภาษาพื้นถิ่นของตนเองมากขึ้น

“ในหนังสือนิทาน มันไม่ละเอียดเท่าที่คุณยายเล่า คุณยายเล่าประมาณ 30 นาที ยายเล่ามันมีอรรถรสมากกว่า เพราะได้เห็นสีหน้าท่าทาง” นัดเล่า

การจัดกิจกรรมในระยะหลังๆ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เมื่อมีประกาศนัดทำกิจกรรม เมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมาย น้องๆ ในชุมชนก็จะมาตามทีมงานแต่ละคนถึงที่บ้าน ทั้งเพื่อเร่ง และช่วยขนอุปกรณ์ ความกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมที่น้องๆ แสดงออกจึงเป็นแรงผลักดันชั้นดีของทีมงาน

การพาอ่าน พาเขียน ยังคงถูกสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมการเล่นเกม เช่น การให้น้องสะท้อนโดยการเขียนในกระดาษ ให้น้องมาพูดต่อหน้ากลุ่มคน บางครั้งทีมงานต้องยอมให้น้องพูดเป็นภาษาถิ่นบ้าง เพราะต้องการฝึกให้น้องกล้าพูดก่อน

การควบคุมน้องที่ยังเล็ก สมาธิสั้น บ่อยครั้งที่เกิดบรรยากาศสับสนอลหม่าน จนต้องมีการเรียกสมาธิ ปาล์มซึ่งรับหน้าที่ควบคุมฝูงซนซึ่งก็คือน้อง ๆ เล่าว่าต้องใช้โค้ดโดยการปรบมือ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั้งน้องทั้งพี่ว่า เมื่อพี่ปรบมือ 1 ครั้ง น้อง ๆ จะต้องเงียบและหยุดฟัง หรือบางครั้งที่น้องทะเลาะกันก็ต้องคอยห้าม แต่จะไม่ใช้วิธีการตีน้อง แต่จะใช้การแยกคู่กรณีออกจากกันแล้วให้แยกกันอยู่คนละฝั่ง หรือบางคราที่น้องผู้ชายเริ่มเบื่อ และเริ่มวิ่งเล่นป่วนเพื่อนที่ยังทำงานอยู่ ก็ต้องมีวิธีการจัดการแบบละมุนละม่อม โดยนำกระดาษปรู๊ฟมาปูพื้นให้วาดภาพเล่น

การทำกิจกรรมร่วมกันคือ การฝึกฝนตนเองในเรื่องการควบคุมอารมณ์ บทเรียนจากครั้งเล่นเกมตัวต่อเลโก้ ซึ่งมีเพื่อนๆ ต่างโครงการต่างพื้นที่มาร่วมเรียนรู้ด้วย เป็นบทเรียนที่ซันซึ่งเป็นผู้ชี้แจงกติกาในการเล่นเกม เล่าว่า เป็นการทำงานที่รู้สึกเกร็งอย่างมาก จนแทบจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เพราะตื่นเต้นอย่างมาก จนทำหน้าที่ได้ไม่ดีอย่างที่ตั้งใจ

“หลังเสร็จก็สรุปบทเรียนกัน สิ่งที่หนูประทับใจคือ น้องเขาไม่โกง แต่คนที่โกงคือ คนที่มาร่วม น้องเขาชอบเกมแบบนี้ เหมือนกับน้องอยากได้เกมที่มีสาระ ส่วนคนที่มาร่วมเขาสะท้อนว่า เรายังแบ่งหน้าที่ได้ไม่ดี การอธิบายเกมยังไม่เคลียร์ ซึ่งพวกเราก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง” ซันเล่าและบอกต่อว่า การค้นพบตนเองว่า เป็นคนที่คาดหวังสูง ตั้งใจทำงานอย่างมากเพื่อความสำเร็จ ทำให้เขายอมรับว่า บ่อยครั้งที่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ไม่น่ารื่นรมย์นักสำหรับเพื่อนๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่นี่ เมื่อพบว่า อาการที่แสดงออกส่งผลต่อผู้อื่น เขาจึงต้องปรับปรุงตนเอง

“เพื่อนในห้องจะบอกว่า เวลาหนูจริงจังหน้าตาหนูจะน่ากลัว คือ หนูไม่รู้ตัวว่าทำหน้าตาแบบนี้ เวลาหนูจริงจังกับอะไรสักอย่าง หนูก็อยากทำให้สำเร็จ หน้าตาหนูเลยดูติดลบ ดังนั้นเวลาทำงานกลุ่ม หนูก็ต้องบอกเพื่อนว่า อย่าดูหน้าตานะ ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่เพื่อนก็ต้องหาอะไรมาบัง เพราะเพื่อนกลัว แต่หนูไม่ได้รู้สึกอะไร หนูเพียงแต่อยากทำให้สำเร็จเท่านั้นเอง” ซันสารภาพ

“ทีมงานต่างรู้จักวิธีการจัดการอารมณ์ตนเองมากขึ้น ทุกคนรู้ว่า เมื่อเริ่มมีอารมณ์เสียใส่กันก็จะต้องแยกย้ายกันไปต่างคนต่างอยู่ เมื่อรู้สึกว่าอารมณ์เย็นลงจึงจะกลับมาคุยกันใหม่ หรือกระทั่งบางครั้งมีอาการหงุดหงิดใส่กัน ก็จะแยกกันไปต่างคนต่างทำงานของตน เอาใจไปใส่กับงานจนอารมณ์สงบ”


>> เปิดใจฟังจึงรู้ตัว

การสรุปบทเรียนการทำงาน จึงเป็นเวทีของการเปิดใจคุยกัน ที่พี่เลี้ยงชุมชนจัดขึ้นเพื่อให้แต่ละคนได้มีโอกาสสะท้อนจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง พร้อมรับฟังความเห็นจากกันและกัน ทีมงานทุกคนต่างเข้าใจว่า ถ้าต้องการปรับตัว ต้องไว้ใจกัน และยอมรับเสียงสะท้อนจุดอ่อนของตนจากเพื่อน ๆ

“เพราะถ้าไม่มีคนมาบอกเราว่าเราเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถปรับปรุงตัวเองได้” ทีมงานบอก

ปัญหาการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ตามประสาวัยรุ่นเป็นสิ่งสามัญในการทำงานร่วมกัน หากเพียงแต่อัตราการทะเลาะหรือผิดใจกันลดน้อยลงตามเวลา เพราะทีมงานต่างรู้จักวิธีการจัดการอารมณ์ตนเองมากขึ้น ทุกคนรู้ว่า เมื่อเริ่มมีอารมณ์เสียใส่กันก็จะต้องแยกย้ายกันไปต่างคนต่างอยู่ เมื่อรู้สึกว่าอารมณ์เย็นลงจึงจะกลับมาคุยกันใหม่ หรือกระทั่งบางครั้งมีอาการหงุดหงิดใส่กัน ก็จะแยกกันไปต่างคนต่างทำงานของตน เอาใจไปใส่กับงานจนอารมณ์สงบ

กิจกรรมในช่วงท้ายของโครงการคือ การทำหนังสือเล่มเล็ก โดยทีมงานจะให้น้อง ๆ แต่ละคนเขียนเรื่องราว ประกอบภาพวาดเป็นหนังสือเล่มเล็กเพื่อให้น้องได้สื่อความคิดของตนเองด้วยการเขียน โดยมีหัวข้อให้เลือกทำอย่างอิสระกว่า 10 เรื่อง เน้นหัวข้อที่เปิดโอกาสให้น้องได้ใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่ เช่น เรื่องของฉัน โตขึ้นฉันอยากจะเป็น บ้านดู่ในอนาคต ฯลฯ โดยไม่ต้องอิงกับความจริงมากนั้น เพราะทีมงานมองว่า ถ้าทำเรื่องที่อิงกับความจริงมันจะเครียดเกินไปสำหรับเด็กน้อย

การทำหนังสือเล่มเล็กเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่น้องแต่ละคนจะมานั่งทำร่วมกัน ซึ่งผลงานที่เสร็จจะถูกรวบรวมนำเสนอพร้อมกับผลการสรุปบทเรียนการเรียนรู้ของน้องๆ ที่ทีมงานตั้งใจว่า จะนำเสนอกับคุณครูและผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการ เพราะระหว่างการทำกิจกรรมหลังได้รับอนุญาตจากทางโรงเรียนแล้ว คุณครูและผู้อำนวยการ ก็ให้อิสระแก่ทีมงานในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้เข้ามาแทรกแซงใดๆ

การทำกิจกรรมในโครงการที่เมื่อเริ่มต้นทีมงานส่วนใหญ่มีความลังเลผ่านพ้นไป พร้อมๆ กับสร้างประสบการณ์ใหม่ในชีวิต ที่ทำให้ทีมงานต้องมีการปรับเปลี่ยนตนเอง โดยเฉพาะการจัดการเวลาในชีวิต ปาล์มซึ่งชื่นชอบการนอนในวันว่าง สามารถลดเวลาในการนอนพักผ่อนมาทำกิจกรรมได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนนัดจัดสรรเวลาในวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์โดยกันไว้สำหรับทำงานบ้าน และงานส่วนตัว 1 วัน ส่วนอีกวันที่เหลือกันไว้สำหรับการทำงานในโครงการ

เช่นเดียวกับครีมที่ทุกวันเสาร์ต้องช่วยงานที่บ้าน ในการแกว่งไหม เพราะแม่มีอาชีพทอผ้าขาย ด้านแซนเล่าว่า ต้องทำการบ้านงานเรียนให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนจะออกมาทำกิจกรรม แม้ว่าบางครั้งต้องนอนดึกเพื่อทำการบ้าน แต่ก็ยังอยู่ในภาวะจัดการได้ สำหรับซันบอกว่า ภาระงานที่โรงเรียนซึ่งเธอเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ก็เป็นกิจกรรมเสริมอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ตระหนักว่า ต้องจัดสรรเวลาให้ดี ดังนั้นการตั้งใจเรียนในเวลาเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าใจบทเรียนต่างๆ ทำให้มีเวลาว่างที่จะเล่นให้สุดๆ ในวันเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ก็จะทุ่มเทให้กับการทำงานของโครงการ

แต่ทั้งทีมยอมรับว่า บ่อยครั้งก็ต้องพิจารณาความสำคัญและเร่งด่วนของงานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างงานที่โรงเรียนชนกับงานของโครงการ โดยอาจจะต้องเลือกที่จะร่วม หรือเลือกที่จะเลื่อนการจัดกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งออกไปก่อน ซึ่งเมื่อใครติดภารกิจเร่งด่วนก็จะใช้การประสานงานผ่านไลน์กรุ๊ป หรือปั่นจักรยานไปบอกกล่าวกัน

ทีมงานบอกว่า ที่ต้องพยายามจัดการชีวิตตนเองเพื่อให้มีเวลาในการทำกิจกรรมของโครงการ เพราะมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาความกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ และการได้รู้จักกับน้อง ๆ ในชุมชน ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ของกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านที่ในอนาคต อาจจะมีกิจกรรมที่ทำเพื่อชุมชนร่วมกันต่อไป

“หนูรู้สึกว่าโครงการเป็นเหมือนฟ้าส่งมา หนูเป็นคนที่ไม่เจ็บก็จะไม่จำ ถ้าไม่ทำก็จะไม่รู้ เหมือนปีที่แล้วก็ไม่ค่อยรู้อะไร แต่ถ้าหนูไม่ทำ ชีวิตต่อไปของหนูเวลาเจออะไรใหม่ ๆ ก็คงจะงงๆ อยู่อย่างนั้น แต่เมื่อหนูได้ทำโครงการนี้ มันเหมือนกับการจำลองสังคมในอนาคต ทำให้หนูคิดว่า ปัญหาเป็นส่ิงที่เราต้องฝ่าไปให้ได้” ซันเล่าพร้อมเปรียบเทียบการทำงานของตนเองว่า การทำงานปีแรกกับปีที่ 2 แตกต่างที่วิธีคิด แต่ที่เหมือนกันคือ เราทำกับน้อง ปีก่อนยังจะไม่เข้าใจหน้าที่ของตนเอง รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่เข้าใจว่า ทำทำไม เราจดแค่ว่าเรานันทนาการน้อง เราก็ทำแค่นั้น แต่พอพี่เขาไม่อยู่เราก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จริงว่า มันคืออะไร แต่มาปีนี้เราได้รู้แล้วเราได้ทำความเข้าใจ งานจึงไม่ปัญหา

สำหรับปาล์ม ครีม นัด ซึ่งเป็นมือใหม่หัดทำโครงการในปีนี้เป็นปีแรกบอกว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงของตนเองที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากคนไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่เมื่อทำงานแล้วก็ทำให้มีความกล้ามากขึ้น สามารถนำเสนองานหน้าห้องเรียนได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งการที่ได้ทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาความมั่นใจในตนเองมากขึ้น

“ความรู้ทักษะที่ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ในชีวิตจริงมันก็มีปัญหาเข้ามาไม่หยุดเราก็ต้องแก้ปัญหา เวลาเจอปัญหาก็จะตั้งสติก่อน แล้วคิดหาวิธีและต้องคิดหลายๆ แบบ และมีมนุษยสัมพันธ์กับทุกคนดีขึ้น” แซนเล่า


>> น้องเรียนรู้...พี่เรียนรู้

ทีมงานร่วมกันประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับน้องๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายว่า มีความกล้าแสดงออก กล้าพูดกล้าทำ ลดการติดโทรศัพท์ มีความกระตือรือร้นร้นในการเรียนรู้ แม้ว่ายังจะหาวิธีการในการวัดผลสัมฤทธิ์ไม่ได้ แต่ก็สัมผัสได้ว่า น้องมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนดีขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของสำเนียงการพูดที่ติดภาษาถิ่น และการสะกดคำยังไม่ค่อยถูก

“น้องยังพูดไม่ชัด บางครั้งน้องไม่ค่อยตั้งใจ เราก็ต้องพยายามสอนน้องให้มากกว่านี้ อาจจะต้องปรับที่วิธีการของเราคือ การคิดของเราที่ยังคิดไม่เป็นระบบ เงื่อนไขที่น้องยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่อยู่ที่เรา เราต้องพัฒนาให้เต็มที่ก่อน” ครีมสะท้อนเงื่อนไขความสำเร็จที่

“รู้สึกประทับใจที่น้อง 2-3 คน ที่เขาดูโตเกินอายุ มีความคิดไม่ใช่แค่เด็กคนหนึ่ง ในช่วงหลังๆ ที่ทำหนังสือเล่มเล็ก น้องเขาเอากลับไปทำที่บ้าน น้องเขามีความรับผิดชอบ มาก่อนเวลา เมื่อก่อนหนูจะให้ช่วยทำอะไรก็ต้องหลอกล่อว่าเดี๋ยวมีขนมให้ แต่ตอนนี้ถามเขาว่า ใครอยากช่วยไหม เขาก็อาสา ส่วนที่ยังต้องพัฒนาต่อไป คือ การฟังกับพูด ซึ่งมันอาจจะอยู่ที่หนูเอง ที่พูดเยอะเกินไป เพราะกลัวน้องไม่เข้าใจ พอยิ่งพูดเยอะ น้องก็ยิ่งสับสนไม่เข้าใจว่า พี่พูดอะไร” ซันเสริม ซึ่งนอกจากประทับใจในตัวน้องๆ ที่ร่วมกิจกรรมแล้ว เพื่อนๆ ในโครงการก็เป็นความประทับใจของซันผู้ซึ่งสารภาพว่า ทำให้เธอเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการด่วนตัดสินคน ทำให้เธอไม่กล้ามอบหมายงานให้เพื่อนทำ แต่เมื่อทำงานด้วยกัน จึงเปิดใจรับฟังกันและกันมากขึ้น

ทั้งนี้ นัด มองว่า หากจะพัฒนาการอ่าน การเขียนของน้องๆ อย่างต่อเนื่อง ต้องมีการปรับวิธีการสร้างการเรียนรู้ โดยอาจจะต้องเสริมในส่วนของการอ่าน หาหนังสือที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ ที่ต่างไปจากหนังสือเรียนมาให้น้องฝึกอ่านให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อคิดๆ แล้วนัดก็บอกว่า เป็นข้อเสนอที่ย้อนกลับไปสู่การทำห้องสมุดอย่างที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ส่วนการปรับจุดอ่อนของตัวเองนั้น นัดมองว่า เธอยังเป็นคนที่มีข้อเสียที่ไม่ตรงต่อเวลา การตระหนักรู้ดังกล่าวทำให้ต้องพยายามปรับปรุงตนเองในเรื่องนี้ แต่ก็สารภาพว่า ยังอยู่ในโหมดของการปรับตัว ที่ยังทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เพราะแรงดึงดูดของซีรีส์เกาหลีที่ทำให้ไม่อาจพลาดตอนสำคัญ จนทำให้มาสายอยู่เนืองๆ

ผลลัพธ์ที่สัมผัสได้ที่ทีมงานภูมิใจคือ บรรยากาศของการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในชุมชนที่เปลี่ยนไป น้องๆ ลดเวลาในการเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ และห่างจากพื้นที่เสี่ยงในการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซิ่งมอเตอร์ไซด์เสียงดัง ซึ่งการที่สามารถดึงน้องบางส่วนให้มาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้ในตอนนี้ ทำให้ทีมงานคาดหวังว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการ ไปแล้วบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เช่นนี้จะติดตัวน้องๆ ให้เลือกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อไป


>> ผู้โอบอุ้มและให้โอกาส

การสรุปบทเรียนในแต่ละครั้งจะทำให้เด็กๆ ได้หันมาดูตัวเองก่อนว่า วันนี้สามารถทำอะไรดีที่สุด วันนี้อะไรที่ยังทำได้ไม่ดีที่สุด ถ้ามีโอกาสแก้ไขจะแก้ไขอะไร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้ มีโอกาสหันกลับมารู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองและจัดการอารมณ์ของตนเอง”

ครูจิราวรรณ เทาศิริ พี่เลี้ยงชุมชน และครูโรงเรียนกันทรอมวิทยาคม ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ทุกๆ คนมีศักยภาพในตัวเอง ทำให้ครูจิราวรรณสนับสนุนให้ลูกสาวและเพื่อนๆ ทำโครงการ หลังจากที่ปีก่อนสนับสนุนลูกศิษย์ในโรงเรียนให้ทำโครงการไปแล้ว เพราะมองว่าเป็นโอกาส และเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่จะทำให้เยาวชนได้รู้จักตนเอง และดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนได้

“ปีนี้ทีมทำงานค่อนข้างเด็ก อายุประมาณ 13-15 ปี อารมณ์ของเด็ก 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก ปีที่แล้วพี่เขาค่อนข้างนิ่ง เพราะเป็นผู้ใหญ่กว่า พอเราหลอมรวมทีมได้ เขาก็นิ่ง แต่ปีนี้ครูต้องใช้ศักยภาพและใช้พลังเยอะมาก พอหลอมรวมได้ ผ่านไปอาทิตย์หนึ่งวอกแวกอีกแล้ว เราก็ต้องกลับมาที่ฐานใจอีก สักพักก็เป็นแบบเดิม ก็ต้องหลอมรวมกันใหม่อีก ก็ต้องใช้พลังเยอะ”

บทบาทการหลอมรวมจิตใจของทีมงาน ใช้การประชุมทีม ซึ่งในแผนงานออกแบบไว้ว่า จะประชุมทีมไม่เกิน 10 ครั้งแต่ต้องกลายเป็น 2 เท่าเพราะมีสถานการณ์ที่ต้องสร้างการเรียนรู้ ทั้งการประชุมก่อนทำกิจกรรมเพื่อวางแผน และหลังจากกิจกรรมเพื่อสรุปบทเรียน

“เราจะให้เขาหาจุดเด่นของตนเองก่อนว่า ในวันนี้เขาทำอะไรได้ดีในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ แล้วสะท้อนจุดด้อยของตนเองที่ควรปรับปรุงตัวเองในครั้งหน้า พอเราประชุมกันบ่อยๆ เข้า เขาก็เริ่มเกิดความรู้สึกว่าการได้สะท้อนตัวเองทำให้เขาได้หันกลับมามองตนเอง เมื่อมองตนเองเขาก็จะได้รู้ว่า เขาเป็นอย่างไร แต่ก็แว๊บเดียว เฉพาะช่วงที่เราทำกิจกรรมพอออกไปสู่สังคมภายนอกเขาก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม เราก็ต้องกลับมาปรับโหมดใหม่ ทำซ้ำๆ อยู่เช่นนี้ เพื่อให้ใจเขานิ่ง” ครูจิราวรรณเล่า

ครูจิราวรรณเล่าว่า สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของทีมงาน คือ การรู้จักหันกลับมาดูตนเอง ซึ่งเด็กๆ ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้ถ้ามีอะไรผิดพลาดจะพยายามโทษคนอื่น แต่เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันการสรุปบทเรียนในแต่ละครั้งจะทำให้เด็กๆ ได้หันมาดูตัวเองก่อนว่า วันนี้สามารถทำอะไรดีที่สุด วันนี้อะไรที่ยังทำได้ไม่ดีที่สุด ถ้ามีโอกาสแก้ไขจะแก้ไขอะไร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้มีโอกาสหันกลับมารู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองและจัดการอารมณ์ของตนเอง

“ในฐานะพี่เลี้ยงเราต้องเป็นจุดศูนย์รวม เพราะเด็กเขาค่อนข้างมีตัวตนของเขาสูง เราต้องเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งแม่ บางครั้งก็เป็นคุณครูโหดๆ แล้วแต่สถานการณ์ แต่ทุกครั้งที่เขาอยู่กับเราเขาต้องมีความรู้สึกปลอดภัย สามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง แล้วเราก็ต้องเข้าใจเขา ยิ่งเราอยู่ใกล้ชิดกันเขาก็ทำให้เราเข้าใจชีวิตของคนวัยรุ่นมากขึ้น เราก็เคยเป็นวัยรุ่นมาแต่บุคลิกต่างกัน เราก็ไม่ค่อยเข้าใจวัยรุ่นสมัยนี้เท่าไรนัก แต่ทุกวันนี้ก็เข้าใจว่า เด็กวัยรุ่นมันเป็นแบบนี้นะ ทำใจ ยอมรับได้ มีพื้นที่กว้างขึ้น” ครูจิราวรรณสะท้อนบทเรียนการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ย้อนไปเติมเต็มบทบาทความเป็นครูในอาชีพที่ทำอยู่อย่างมาก เพราะทำให้เข้าใจลูกศิษย์ที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น

“รู้สึกว่า เราเข้าใจเขามากขึ้น สังคมปัจจุบันมันมีอะไรไม่เหมือนกับเมื่อก่อน เขาไปเจออะไรมาเยอะแยะมากมาย แล้วตัวหนึ่งคือ เด็กของเราขาดความคุ้มกัน เพราะไม่มีวิจารณญาณในการเลือก มันก็ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น ปีหน้าถ้ามีอีกก็ทำอีก” ครูจิราวรรณกล่าวทิ้งท้าย

ครูพวงแก้ว พากเพียร ครูวิชาการ โรงเรียนบ้านดู่ เล่าว่า ครูจิราวรรณเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน และคอยช่วยเหลืองานต่างๆ ของโรงเรียนอยู่เสม เมื่อมีโครงการดีๆ ก็ได้เชิญชวนให้โอกาสแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านดู่ เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่คือ นักเรียนจะมีปัญหาเรื่องการอ่านบ้าง เช่น การผันวรรณยุกต์ไม่ถูก ซึ่งครูผู้สอนก็พยายามเติมเต็มให้ตลอด แต่สิ่งที่สำคัญคือ เด็กๆ ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ อ่านได้แต่สรุปเรื่องไม่ได้ วิเคราะห์โจทย์ปัญหาไม่ได้

“สังเกตเห็นความกระตือรือร้นของลูกศิษย์ที่ได้มาเรียนรู้กับพี่ๆ เพราะประกายตาที่สดใส ยิ้มแย้ม และเต็มใจที่จะมาเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกของนักเรียนที่นี่ที่เก่งกิจกรรม ชอบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การที่พี่ๆ พาทำ พาเรียนรู้ผ่านเกม ผ่านกิจกรรมจึงเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เติมเต็มอย่างถูกจุด และช่วยลดภาระของครูได้มาก”

อดิศักดิ์ ไสว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ มองว่า การทำกิจกรรมของโครงการเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งยังเติมเต็มในส่วนที่โรงเรียนต้องการพัฒนา อีกทั้งรู้สึกชื่นชมการทำงานของทีมงานที่มีระบบระเบียบที่ดี ให้เกียรติเจ้าของพื้นที่โดยมีการอนุญาติอย่างเป็นทางการ

“เราก็ยินดี อยากให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพราะมีเวลาว่างเยอะ จึงอยากให้เขาจะได้ฝึกเรื่องการการอ่านการเขียนให้ได้มากกว่าเดิม การอยู่กับครูเก่าๆ มันก็ชิน น่าเบื่อ พอเขาได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ก็สามารถกระตุ้นได้ในระดับ เพราะถ้าว่างเขาก็เลาะ (เที่ยว) ตามทุ่งนา หรือเสี่ยงเรื่องยาเสพติด เพราะในพื้นที่มียาเสพติดเยอะ มีโครงการนี้เข้ามาก็จะช่วยเบี่ยงเบนเขาไปจากสิ่งไม่ดีได้บ้าง ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก”

ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกต่อว่า ทางโรงเรียนให้การสนับสนุนด้านสถานที่ และบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม เพราะมองว่า สิ่งที่ทำเป็นการช่วยบางเบาภาระการสอนของครูที่มีอยู่เพียง 9 คน การเขียนการอ่านเป็นสิ่งที่ต้องมีการฝึกฝนทุกวัน อีกทั้งเด็กวัยประถมศึกษาเป็นวัยที่จะต้องค่อย ๆ สอนทีละน้อย ยิ่งเป็นการเล่นปนเรียนยิ่งทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ ทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานในการรักการอ่านและการเรียนรู้ที่ดี

ชัย ปานทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บอกว่า นอกจากกิจกรรมให้นักเรียนอ่านหนังสือให้ผู้นำฟัง อ่านหนังสือให้ผู้ปกครองฟังแล้ว ในหมู่บ้านไม่ค่อยมีกิจกรรมนอกห้องเรียนสำหรับเด็ก จะมีก็แต่การถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่อง ทอเสื่อ จักสาน ทอผ้า ซึ่งแต่ละบ้านสอนกันเองอยู่แล้ว การทำโครงการของทีมงานจึงเป็นสิ่งที่ช่วยดึงเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

“อยากเห็นลูกหลานในบ้านเราเป็นเด็กดีของสังคม ของหมู่บ้าน อ่านออกเขียนได้ ไม่หลงสิ่งเสพติดไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การสนับสนุนส่วนมากจะเป็นเรื่องการแนะนำในการประพฤติปฏิบัติตนว่าจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ในสังคมได้ดี มีความคิดกว้างขวาง ไม่เห็นแก่ตัว ส่วนมากจะแนะนำมากว่า เห็นเด็กที่ทำดีก็ช่วยประกาศทางหอกระจายข่าว ช่วยกระจายความดีของเขา เขาก็จะได้รู้สึกภาคภูมิใจที่มีคนเห็นความดีของเขา คือ ถ้าเขาทำดีแล้วถ้าเราไม่ช่วยประชาสัมพันธ์เด็กก็จะไม่เกิดความภาคภูมิใจ ขนาดเขาทำความดีอย่างนี้แล้วยังไม่มีคนเห็นความสำคัญ”

จากความตั้งใจที่จะนำความรู้ถ่ายทอดสู่น้อง เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ทำให้ทีมงานมีโอกาสได้พัฒนาทักษะในด้านออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งลงแรงกายแรงใจพัฒนาทักษะการเรียนรู้เหล่านี้ส่งต่อไปยังน้องๆ ได้สมใจ นอกจากนี้ ยังทำให้ทีมงานได้สัมผัสถึงสิ่งดีงามในชุมชน ส่งผลไปถึงการทำงานที่สร้างบทเรียน “การรู้จักตัวตน”ของตนเองอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่การปรับปรุงตนเอง พร้อมก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ และเติบโตเป็นพลเมืองที่เชื่อมั่นว่า จะรับผิดชอบต่อทุกการกระทำของตนเองได้


โครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง

พี่เลี้ยงชุมชน : คุณครูจิราวรรณ เทาศิริ (โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม)

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านดู่ ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ