การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยในชุมชน

ปลูกผักเชื่อมใจสานสายใยชุมชน

โครงการสวนผักปลอดภัยเชื่อมสายใยผูกพัน

การที่ทีมงานทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ในแง่ของการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชาวบ้านในชุมชน ที่มีเด็ก ๆ ไปหา ไปสอบถาม ไปชวนปลูกผัก ทำให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยไว้สำหรับการบริโภคในครัวเรือน

สมาชิกในบ้านโนนคูณ –โนนคำ ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทยที่เคยชินกับการซื้ออาหารจากรถพุ่มพวง และจากตลาดนัดคลองถมที่จัดทุกวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ พืชผักที่ขายไม่ทราบที่มา ไม่ทราบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนมากน้อยเพียงใด ทำให้ชีวิตตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย ในขณะที่ในชุมชนมีพื้นที่ว่างสาธารณะที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุอยู่ประมาณ 2 ไร่ ปี 2558 ชมรม SOI ( Sister Of Isaan ) and Nonkhun junior ซึ่งเป็นชมรมที่มีการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้จัดทำโครงการสวนผักปลอดภัย เพื่อลมหายใจของชุมชน โดยหวังว่าจะสามารถผลิตพืชผักที่ปลอดภัยแก่การบริโภค ทดแทนการซื้อจากตลาดหรือรถพุ่มพ่วง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีที่เป็นปราชญ์ชุมชน เป็นผู้ให้ความรู้

แต่ด้วยการประสานงานที่ผิดพลาดของทีมงาน แปลงผักที่พวกเขาปลูกถูกไถกลบจนสิ้น เนื่องจากการปรับพื้นที่ของหน่วยงานในท้องถิ่น ทำให้ทีมงานบางคนถึงกับเสียน้ำตา ปีนี้พวกเขาถูกท้ายด้วยคำถามจากพี่ ๆ ว่า อยากแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเองหรือไม่ ทีมงานซึ่งประกอบด้วย หวา-สุมาลี สุขวงศ์ อ๋อมแอ๋ม-พิมพฤดา นามบิดา อ้อน-วณิกา ทองนาค อ๋อม-อรประภา กิ่งบรรเทา เปีย-รุ่งฤดี ศรีชมไชย เก้น-กิติพงษ์ ปรัสพันธ์ บอล-อมิลตรา สายเสน สาว-อรวรรณ พันธ์กิ่งทิพย์ และ อาร์ม-ธีระพล พรมมา เห็นตรงกันว่า อยากแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง

“ถ้าประเมินงานปีก่อน เราคิดว่า งานของเราไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นการพิสูจน์การทำงานของตัวเราที่ได้ผ่านจุดที่ผิดพลาดเยอะ แล้วเราก็ฝ่าฟันมาด้วยกัน โดยการให้กำลังใจกัน ในเชิงผลงาน การปลูกผักปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร เพราะอุปสรรคมันเยอะมาก แต่สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือ ความเป็นทีมของพวกเราที่สามารถฟันฝ่าร่วมกันมาได้” อ้อนเล่าบทเรียนการทำโครงการ 

บทเรียนของจุดเริ่มต้น

“ทีมงานจึงชวนกันทบทวนวิธีการทำงานที่ผ่านมา ทำให้พบจุดอ่อนคือ การแบ่งหน้าที่กันไม่ชัดเจน แบ่งเวลาไม่เป็น และคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ข้อค้นพบจึงกลายเป็นโจทย์ในการทำงานที่อยากแก้ไขในปีนี้ โดยยังคงยึดประเด็นการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มมีอาชีพเสริมและมีรายได้ระหว่างเรียน คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารพิษที่ปลูกเอง ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้นได้การทำงานต้องเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากขึ้น”

เมื่อต้องเริ่มต้นทำงานอีกครั้ง ทีมงานจึงชวนกันทบทวนวิธีการทำงานที่ผ่านมา ทำให้พบจุดอ่อนคือ การแบ่งหน้าที่กันไม่ชัดเจน ทีมงานแบ่งเวลาไม่เป็น และคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ข้อค้นพบจึงกลายเป็นโจทย์ในการทำงานที่อยากแก้ไขในปีนี้ โดยยังคงยึดประเด็นการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มมีอาชีพเสริมและมีรายได้ระหว่างเรียน คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารพิษที่ปลูกเอง ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้นได้การทำงานต้องเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากขึ้น

ทีมงานประชุมวางแผนการทำงานให้รัดกุม โดยร่วมกันออกแบบการทำงาน พร้อมทั้งแบ่งหน้าที่ตามความถนัด โดยอ้อนและอ๋อมแอ๋มทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หวาดูแลเรื่องการเงิน เปียเป็นหัวหน้าทีม อ๋อมทำหน้าที่จดบันทึก ส่วนคนอื่น ๆ เป็นฝ่ายสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ดูแลกลุ่มเป้าหมาย 40 ราย โดยให้คนที่อยู่ใกล้บ้านเป็นผู้ดูแลเป็นโซน ๆ ไป

“ปีนี้ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น เพราะเรามีความคิดเห็นตรงกันว่า เราจะทำอะไรบ้าง และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจน ถึงแม้มีการแบ่งหน้าที่กันแล้ว แต่พอถึงเวลาทำกิจกรรมแต่ละครั้งก็จะมีการมอบหมายงานกันเป็นครั้ง ๆ ด้วย ยิ่งทำให้บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนชัดเจนขึ้น” เปียเล่าถึงวิธีการทำงานของทีม

เมื่อแบ่งหน้าที่และพื้นที่ในการดูแลได้ลงตัว ทีมงานตกลงกันว่า จะใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์อาทิตย์มาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เนื่องจากทีมงานมีสมาชิกจำนวนมาก จึงมอบหมายให้หวา และอ๋อมแอ๋มเป็นตัวแทนหลักในการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายในโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โดยมีข้อแม้ว่าต้องกลับมาถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้เพื่อนสมาชิกรับรู้ด้วย

“เวลาเราไปทำกิจกรรมเราจะลงรูปในเฟซบุ๊กของชมรมตลอด ทำให้เพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ไปได้รู้ว่าพวกเราไปทำอะไรกันบ้าง สมมุติว่า ช่วงนี้เราทำกิจกรรมเสร็จแล้วเราจะถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงกลุ่มเป็นระยะ ๆ มีแชตกลุ่มด้วย เพื่อนที่ไม่ได้ไปด้วยก็จะให้กำลังใจกัน” อ๋อมแอ๋มเล่าถึงเทคนิคการสื่อสารภายในกลุ่ม

­

ปฏิบัติการ...เชื่อมใจ

“ปีนี้เราเข้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านถึงบ้าน เขาให้ความร่วมมือดีมาก ปีก่อนเราทำอยู่ในกลุ่มของเราเอง ชาวบ้านเขาก็ไม่รู้ว่าพวกเราทำอะไร รู้สึกดีใจมากที่ได้ไปคุยกับเขา รู้เลยว่าปีก่อนเราพลาดตรงนี้แหละที่เราขาดการประชาสัมพันธ์ เราไม่ได้เข้าไปคุยกับเขา เขาก็ไม่เข้ามาหาเรา ไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ที่เราทำ ปีนี้เลยเข้าไปหาเขาก่อน ทำให้ได้รับความร่วมมือดีขึ้นกว่าเดิม”

ทีมงานเริ่มการทำงานด้วยการหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักเพิ่มเติม โดยมีแหล่งข้อมูลสำคัญคือ ครูยาย-สุดสาคร อุตส่าห์ พี่เลี้ยงชุมชน ผู้ปกครอง และสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลที่เน้นคือ การปลูกผักตามฤดูกาล ผักพื้นบ้าน การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่มีเนื้อหาไปในแนวทางเดียวกัน จากนั้นจึงได้ลงสำรวจชุมชน เพื่อสอบถามชาวบ้านว่า ต้องการปลูกผักประเภทใด พร้อมกับประชาสัมพันธ์โครงการไปพร้อมกัน

การลงพื้นที่ในชุมชนได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวบ้าน ทำให้ทีมงานค้นพบจุดผิดพลาดของการทำงานปีก่อน

“ปีนี้เราเข้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านถึงบ้าน เขาให้ความร่วมมือดีมาก ปีก่อนเราทำอยู่ในกลุ่มของเราเอง ชาวบ้านเขาก็ไม่รู้ว่าพวกเราทำอะไร รู้สึกดีใจมากที่ได้ไปคุยกับเขา รู้เลยว่าปีก่อนเราพลาดตรงนี้แหละที่เราขาดการประชาสัมพันธ์ เราไม่ได้เข้าไปคุยกับเขา เขาก็ไม่เข้ามาหาเรา ไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ที่เราทำ ปีนี้เลยเข้าไปหาเขาก่อน ทำให้ได้รับความร่วมมือดีขึ้นกว่าเดิม” อ๋อมแอ๋มเล่า

ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามชาวบ้าน ทำให้ทีมงานทราบว่า คนในชุมชนต้องการบริโภคผักที่กินอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผักชี ผักบุ้ง ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ตะไคร้ ชะอม ข่า มะนาว มะม่วง มะละกอ แค กระเพรา แมงลัก ฯลฯ ทีมงานจึงได้ตัดสินใจเลือกชนิดผักที่ตอบสนองต่อความต้องการของชาวบ้าน กลุ่มเป้าหมายในการปลูกพืชผักสวนครัว 40 ราย ถูกเลือกโดยใช้เกณฑ์บ้านใกล้เรือนเคียงเป็นหลัก เพราะเป็นคนคุ้นเคยที่สะดวกต่อการติดตามผล ถือเป็นการทดลองนำร่องไปพร้อม ๆ กับการปลูกผักในแปลงรวมของกลุ่ม ก่อนที่จะขยายผลสู่ชุมชนทั้งหมดต่อไป

หวา เล่าว่า พวกเขาหาซื้อเมล็ดพันธุ์ผักและอุปกรณ์การเพาะปลูกเตรียมไว้ ในขณะที่ต้องระดมพลเตรียมแปลงรวม แบ่งสัดส่วนพื้นที่แปลงเพื่อปลูกผักชนิดต่าง ๆ น้อง ๆ ที่เรียนชั้นประถมศึกษาซึ่งมักป้วนเปี้ยนเล่นอยู่กับพี่ ๆ ถูกขอให้มาช่วยงาน ซึ่งเหล่าเด็กตัวเล็กตัวน้อยก็ยินดีมาช่วยทำงานอย่างเต็มใจ แปลงรวมถูกแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกตะไคร้ ผักชี มะกรูด ชะอม ข่า ต้นหอม ผักบุ้ง ฯลฯ อย่างเป็นสัดส่วน

เมื่อเห็นน้อง ๆ สนใจ ทีมงานจึงถือเป็นโอกาสดีที่จะเผยแพร่แนวคิดการปลูกและดูแลผักสวนครัวให้กับน้อง ทั้งสอนการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ โดยมีแปลงรวมของทุกคนเป็นห้องเรียนที่พี่ ๆ น้องๆ ช่วยกันฟูมฟักดูแล รดน้ำพรวนดินร่วมกัน

ส่วนชาวบ้านในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ก็ได้รับการสนับสนุนกระถาง และเมล็ดพันธุ์ผักที่ต้องการ เพื่อปลูกไว้เป็นพืชผักสวนครัวในบ้าน ครั้งนี้ทีมงานตั้งใจว่าจะติดตามผลการปลูกผักอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงท้ายถ้าบ้านหลังใดปลูกผักได้สม่ำเสมอก็จะติดดาว เพื่อเชิดชูเป็นตัวอย่างแก่สมาชิกในชุมชน

“กระถางที่เราเตรียมให้ชาวบ้านไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็แนะนำว่า สำหรับบ้านอื่น ๆ ที่ขยายผลต่อ ให้เขาเอาดินใส่กระสอบหรือว่าปี๊บแทนก็ได้” อ้อนเล่า

การทำงานดูราบรื่นลงตัว แต่ฝนฟ้าอากาศกลับไม่เป็นใจ เพราะปีนี้ทีมงานเริ่มปลูกผักในช่วงต้นฤดูฝน ปริมาณฝนที่ตกจำนวนมาก ส่งผลให้ผักในแปลงหลายชนิดถูกน้ำท่วม พืชที่รอดมีเพียงตะไคร้และผักบุ้งที่แตกกอ แตกยอดงามเต็มที่ ความรู้สึกที่ได้เห็นพืชผักที่ลงมือปลูกงอกงาม เป็นความรู้สึกที่ภาคภูมิใจ ผลผลิตจากผักบุ้งส่วนหนึ่งถูกนำไปวางจำหน่าย และเป็นวัตถุดิบให้ร้านก๋วยเตี๋ยวของชมรมที่ชื่อ SOI shop ส่วนตะไคร้ยังไม่ได้ตัดขาย เพียงแต่แบ่งปันให้ชาวบ้านที่แวะมาขอไปปรุงอาหาร

ส่วนการติดตามผลการปลูกผักในกระถางตามบ้านนั้น ทีมงานเล่าว่า ผักงอกงามดี แต่ชาวบ้านไม่กล้านำมากิน เพราะเกรงใจว่าเป็นผักของโครงการ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของทีมงาน จึงต้องอธิบายกันใหม่ ว่า ทีมงานได้ติดตามผลโดยการถ่ายภาพเก็บไว้แล้ว สามารถเก็บผลผลิตไปรับประทานได้เลย ความกังวลใจของชาวบ้านจึงคลายลง และนำผักไปบริโภคอย่างสบายใจ

­

คือกำไรของชีวิต

“โครงการนี้ช่วยทำให้เราคิดเป็นระบบ คือ เวลาเราจะไปทำอะไรใหญ่ ๆ เราต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน ทำความเข้าใจตนเองก่อนว่า เรามีความคิดอย่างไร ต้องวางแผนตนเองก่อนจะไปวางแผนกับเพื่อน ถ้าไม่ได้ทำโครงการแบบนี้ บางครั้งพวกเราอาจไม่ได้เป็นเด็กดี อาจจะไม่ได้เรียน หรือบางทีหนูอาจจะท้องก็ได้”

การทำงานที่ราบรื่นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่แต่ละคนมีการจัดการชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น แม้ว่าปีนี้ทีมงานส่วนใหญ่จะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีเรื่องเรียนต่อให้ต้องเตรียมตัว มีงานในส่วนของสภานักเรียนที่ต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับงานสภาเด็กและเยาวชนของตำบล อีกทั้งงานของชมรม และงานของโครงการ กิจกรรมที่ดูมากมายในชีวิต แต่ทุกคนก็สามารถจัดการได้ เพราะมีระบบการทำงานที่ดีขึ้น มีการวางแผนการทำงานก่อนทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยลง

“ตอนจะเริ่มโครงการตอนแรกเราก็ทำมั่วเหมือนเดิม จนพี่มวล-ประมวล ดวงนิล พี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเข้ามาบอกว่า เราวางแผนโครงการไว้อย่างไร เราก็ควรทำแบบนั้น ไม่ควรสลับไปสลับมา ทำให้พวกเรามีกระบวนการคิดที่เป็นระบบมากขึ้นว่า ต้องทำอะไรก่อน อะไรหลัง ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนก็มีแผนเหมือนกัน แต่นึกอยากทำอะไรก็ทำ ไม่เคยกลับมาดูแผนเลยสักครั้ง” เปียเล่า

นอกจากมีพื้นฐานที่อยู่ในชมรม SOI ( Sister Of Isaan and Nonkhun junior) ซึ่งเน้นสอนเยาวชนให้มีจิตอาสา ทำงานเพื่อชุมชน แรงดึงดูดสำคัญในการทำกิจกรรมหลากหลายเกิดขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง อ๋อมแอ๋มเล่าว่า เหนื่อยแสนเหนื่อยจากการเรียน การบ้าน งานบ้าน งานชมรม แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่เจือไปด้วยความสนุก

“ต้องเสียสละทำงานเพื่อส่วนรวม ถึงจะเหนื่อย แต่ก็สนุก และรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำ คนอื่นเขาไม่ได้ประสบการณ์เหมือนเรา เราได้ไปเข้าค่ายที่นั่นที่นี่ คนอื่นหมู่บ้านอื่นเขาไม่ได้ไป เขาก็อยู่บ้านเฉย ๆ เวลาเล่าให้เพื่อนฟัง เขาก็บอกว่า อยากให้หมู่บ้านของเขามีชมรมแบบนี้บ้าง” อ๋อมแอ๋มเล่า

โดยเปียสนับสนุนว่า “เราเป็นเด็ก แต่ก็มีโอกาสได้ทำงานเยอะ ซึ่งมีประโยชน์มาก ทำให้เรามีทักษะชีวิตมากกว่าคนอื่น การทำกิจกรรมแบบนี้ ทำให้เราได้รู้จักผู้ใหญ่ ได้รู้ว่าเวลาผู้ใหญ่เขาทำงาน เขาทำกันอย่างไร เราก็ได้นำไปประยุกต์ใช้ เช่น เป็นสภานักเรียน เวลาทำงานเราก็ไม่ควรจะงี่เง่าแบบเด็ก ๆ ได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพี่ ๆ มาปรับใช้กับตนเอง”

เช่นเดียวกับอ้อนที่บอกว่า เมื่อก่อนอยู่แต่บ้าน กิน ๆ นอน ๆ แต่ตอนนี้มาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ทำให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย สามารถดูแลชีวิตตนเองได้ดีขึ้น “โครงการนี้ช่วยทำให้เราคิดเป็นระบบ คือ เวลาเราจะไปทำอะไรใหญ่ ๆ เราต้องเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน ทำความเข้าใจตนเองก่อนว่า เรามีความคิดอย่างไร ต้องวางแผนตนเองก่อนจะไปวางแผนกับเพื่อน ถ้าไม่ได้ทำโครงการแบบนี้ บางครั้งพวกเราอาจไม่ได้เป็นเด็กดี อาจจะไม่ได้เรียน หรือบางทีหนูอาจจะท้องก็ได้”

ในขณะที่เพื่อน ๆ ในทีมต่างช่วยเสริมว่า สิ่งที่เกิดประโยชน์กับตัวเองคือ การรู้จักแบ่งเวลา ดังนั้นเวลาเรียนของทีมงานก็คือ เรียนอย่างตั้งใจ เวลาเล่นก็เล่นอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถจัดการภาระต่างๆ ในชีวิตได้ลงตัว นอกจากนี้ความกล้าในการแสดงออกของหลาย ๆ คนในทีมก็มีเพิ่มมากขึ้น ทุกคนเชื่อมั่นในวิถีการแสดงออก กล้าพูด กล้าทำ กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แม้ว่าความคิดเห็นของตนเองจะต่างจากเพื่อนก็ตาม ซึ่งต่างจากอดีตที่ได้แต่เก็บงำความคิดที่แตกต่างไว้ในใจ

บุคลิกของคนที่คุ้นเคยกับการทำงานเป็นทีม และเปิดกว้าง ทำให้ทีมงานสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนทุก กลุ่มในโรงเรียน ทั้งยังเห็นถึงจุดที่เหมาะสมในการวางตัวยามเข้าหาผู้ใหญ่ รวมทั้งตระหนักถึงการวางตัวในฐานะตัวแทนเยาวชนบ้านโนนคูณ–โนนคำ ที่ต้องกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ และมีมารยาทที่ดี โดยสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าทำอะไรไม่ดีจะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของหมู่บ้านและอำเภอ

“จะทำผิดอะไรสักอย่าง จะมีหน้าของผู้ใหญ่ลอยมา เหมือนผู้ใหญ่เขาให้ความสำคัญกับเรา ถ้าจะทำอะไรผิด ก็จะเสียไปถึงผู้ใหญ่ด้วย เหมือนไม่ได้ผิดที่เราคนเดียว ก็เลยทำให้เรารู้สึกไม่อยากทำผิด” เปียเล่าถึงแรงฉุดที่รั้งสติ ซึ่งทีมงานบอกว่า ที่พวกเขาเกิดความคิดเช่นนี้ได้ เพราะได้รับโอกาสในการรวมกลุ่มเรียนรู้ ในขณะที่เด็กในชุมชนอื่น ๆ ไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ ทำให้ทีมงานมองว่า การเข้ามาหนุนเสริมของพี่ ๆ ในโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเป็นการเติมเต็มกระบวนการคิดและทักษะชีวิตให้พวกเขาได้เป็นอย่างดี

“เวลาพี่ ๆ เขามา เขาก็จะถามว่า ทำอะไร จะทำไปทำไม ทำแล้วจะได้อะไร มันทำให้เราแตกหัวข้อออกไปได้ ว่า วันไหนเราต้องทำอะไร มันดีกว่าการทำแบบอิสระ เราได้ฝึกคิดเป็นระบบ รู้จักการวางแผน ยิ่งเห็นผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเรา ยิ่งทำให้รู้สึกดี ทำให้เรารู้สึกฮึดขึ้นมากที่จะทำโครงการนี้”

ผลของการทำงานในปีนี้ แม้ในแปลงรวมจะเหลือแค่ผักบุ้งและตะไคร้ให้เก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ทีมงานก็ไม่ได้เสียกำลังใจ เพราะผักที่ปลูกไว้ตามบ้าน งอกงามให้ได้เก็บกิน อีกทั้งการได้เห็นชาวบ้านแลกเปลี่ยนแบ่งปันผักให้แก่กัน สร้างบรรยากาศแห่งมิตรไมตรีที่เป็นผลจากกิจกรรมที่ได้เริ่มต้นไว้ในโครงการ แต่ก็ยอมรับว่า การทำงานยังมีจุดอ่อนที่ความหลากหลายของผลผลิตยังมีน้อย และควรขยายขอบเขตของการทำงานให้กว้างมากขึ้น

วันนี้พืชผักของชาวบ้าน 40 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ต่างได้รับการติดดาว และผักที่ปลูกก็ยังอกงามดีรอให้เด็ก ๆ ลงพื้นที่ตรวจสอบว่า ผักปลอดภัย รับประทานได้ไหม ซึ่งบางครัวเรือนก็มีการบอกต่อให้เพื่อนบ้านทดลองปลูกด้วย

­

ด้วยแรงกระตุ้นแรงเสริมจากพี่เลี้ยง

“การที่ทีมงานทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ในแง่ของการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชาวบ้านในชุมชน ที่มีเด็ก ๆ ไปหา ไปสอบถาม ไปชวนปลูกผัก ทำให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน”

ครูยาย-สุดสาคร อุตส่าห์ พี่เลี้ยงชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน ที่ทุ่มเทเวลาและแรงกายให้กับการดูแลเด็กเยาวชนในชุมชน ด้วยการให้ความรู้ด้านการปลูกผัก และอาสาเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงชุมชน เพราะเห็นว่า กิจกรรมสร้างทักษะชีวิตเช่นนี้หาไม่ได้จากระบบในโรงเรียน

“เขาได้มองกว้างออกไปกว้างกว่าโลกแคบ ๆ ที่เขาอยู่ เขาได้เรียนรู้หลายอย่าง จากที่ไม่เคยทำ ไม่เคยรู้ ไม่เคยนอนโรงแรม ไม่เคยอาบน้ำอุ่น ไม่เคยเปิดก๊อกน้ำอุ่น บางคนได้ขึ้นเครื่องบินไปเสนอผลงานเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก”

นอกจากประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนแล้ว ครูยายยังมองว่า การที่ทีมงานทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ในแง่ของการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชาวบ้านในชุมชน ที่มีเด็ก ๆ ไปหา ไปสอบถาม ไปชวนปลูกผัก ทำให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยไว้สำหรับการบริโภคในครัวเรือน

โดยบทบาทของพี่เลี้ยง ครูยายใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นครูมาก่อน ศึกษาเด็กรายคนให้เข้าใจถึงบุคลิก นิสัยใจคอ เพื่อที่จะได้สนับสนุนได้ถูกจุด โดยจะร่วมการประชุมทุกครั้งที่มีโอกาส และให้ข้อคิดชี้แนะให้แนวทาง เวลาที่ทีมงานมีปัญหา

“สิ่งสำคัญคือ ให้กำลังใจ ให้เขาต่อสู้ บางทีเด็กก็คิดแบบเด็ก ความอดทนไม่มี ก็ต้องให้แรงกระตุ้นแรงเสริมว่า รุ่นยายกว่าจะมาถึงจุดนี้เราไม่มีอะไรเลย ยิ่งร้ายกว่าพวกเธอ ตอนนั้นไม่มีใครมาสนับสนุน แต่เขามีคนเข้ามาสนับสนุนมากมาย ถ้าพวกหนูไม่ทำตรงนี้ถือว่า หนูขาดทุนนะ หนูจะไม่ได้กำไรชีวิต”

สำหรับความเปลี่ยนแปลงของทีมงานที่สังเกตเห็นนั้น ครูยายบอกว่า เยาวชนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีจิตสำนึกที่ดี รู้จักวิธีคิดในเชิงบวก คิดที่จะทำประโยชน์ให้กับตนเองโดยที่คนอื่นไม่เดือดร้อน ไม่เห็นแก่ตัว มีความยับยั้งชั่งใจ คิดถึงใจคนอื่น และมีจิตใจเสียสละ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีและได้รับความชื่นชมจากชาวบ้าน

“รู้สึกภูมิใจ ไปทางไหนก็มีแต่คนชื่นชมเขา แม้กระทั่งนายอำเภอเวลาไปประชุม เขาก็ชมเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็นเยาวชนที่ดี” ครูยายเล่าอย่างภูมิใจ

พี่ฮัท-สมบัติ จันทง พี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า จริง ๆ น้องกลุ่มนี้เขาก็มีความสามารถเฉพาะตัว เขาทำงานเก่งกันอยู่แล้ว เราแค่คอยเสริมบางจุดที่เขาอาจจะมองข้ามไปเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนที่มักจะรีบเกินไป เช่น หากต้องนำเสนองาน เมื่อก่อนเขาจะเตรียมตัวแล้วก็ขึ้นนำเสนอเลย เราก็แนะนำเขาว่า ซ้อมดูก่อนไหม เพราะเราไม่อยากให้ไปยืนอ่าน อยากให้เขาเล่าอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนว่าเขาทำจริง ไม่ได้เล่าตามสคริปต์

ในฐานะคนที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเยาวชน จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของทีมงาน ที่มีความสามัคคีกันมากขึ้น มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น

ดอกผลที่เกิดจากความปรารถนาดีของเยาวชนที่มีต่อสมาชิกในชุมชน การทำงานที่ถูกปรับปรุง กลบจุดอ่อนจากบทเรียนของปีที่ผ่านมา สร้างจุดแข็งใหม่ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และเป็นฝ่ายเริ่มสานความสัมพันธ์ดี ๆ กับชาวบ้านก่อน จึงได้รับความสัมพันธ์ที่ดีกลับคืนแล้ว การทำงานยังสร้างประสบการณ์ที่ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีของชีวิต ทั้งการรู้จักแบ่งเวลา รับผิดชอบ กล้าแสดงออก ที่เต็มเปี่ยมด้วยสำนึกดี สำนึกชอบ จนกลายเป็นเยาวชนตัวอย่างของอำเภอ แม้ถึงยามสิ้นสุดโครงการในปีนี้ ทีมงานจะเสียน้ำตา หากแต่น้ำตาที่รินไหลนั้นเป็นน้ำตาแห่งความปิติ และความภาคภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อชุนชน

“ปีนี้ก็เสียน้ำตาด้วยความภาคภูมิใจ คือ พ่อแม่ภูมิใจ เราภูมิใจ เพื่อนภูมิใจ” อ้อนบอกทิ้งท้าย.


โครงการสวนผักปลอดภัยเชื่อมสายใยผูกพัน

พี่เลี้ยงชุมชน :

  • สุดสาคร อุตส่าห์ (ปราชญ์ชาวบ้าน)
  • สมบัติ จันทง

ทีมทำงาน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโน้นค้อวิทยา อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ

­