การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

“ปลุก” พลังชีวิต ฟื้นฟูผืนป่า

โครงการ Forest of life สร้างพลังชีวิต อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน

เมื่อก่อนผู้ปกครองไม่เข้าใจ เขาจะถามเราตลอดว่า ทำไมต้องพาลูกเขาทำกิจกรรม แล้วจะกระทบกับการเรียนไหม แต่พอเด็กเข้ามาทำแล้วเกรดเฉลี่ยการเรียนไม่ได้ตก บวกกับเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก เขาจึงเปลี่ยนความคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี สามารถสร้างเด็กได้...ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษสร้างคือ อนาคตที่ดีของชุมชน ทั้งการเยียวยาป่าชุมชนให้คืนสู่ความสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และแหล่งเรียนรู้แก่ผู้สนใจ ที่ช่วยจุดพลังคนรุ่นต่อไปให้เข้ามาช่วยดูแลรักษาผืนป่าและชุมชน...ถ้าไม่มีโครงการนี้ เด็กและเยาวชนในหมู่คงอยู่กันแบบเดิม ไม่มีแรงผลักดันเด็ก ไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง แต่การทำโครงการนี้ทำให้เด็กๆ บ้านรงระได้เสริมประสบการณ์ สร้างความสามารถ รวมทั้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ช่วยเหลือชุมชนในยามที่มีงานประเพณีหรือกิจกรรมต่าง ๆ

“ธรรมชาติสามารถอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้โดยไม่มีธรรมชาติ” วลีที่สะท้อนถึงคุณประโยชน์ที่ธรรมชาติมีต่อมนุษย์นี้ ไม่ได้เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะหากนึกดูให้ดี มนุษย์ทุกคนต่างพึ่งพิงธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนป่าที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร ยารักษาโรค แหล่งน้ำสะอาด แหล่งศึกษาความรู้ และแม้กระทั่งอากาศที่ใช้หายใจก็ได้มาจากต้นไม้ ทว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าเริ่มลดจำนวนลง โดยสาเหตุสำคัญคือ การบุกรุกของมนุษย์ที่ต้องการขยายที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย

แต่วันนี้มีเด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งของบ้านรงระ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มองเห็นว่า ป่าชุมชนในบ้านเกิดของพวกเขากำลังประสบปัญหาดังกล่าว จนรู้สึกว่า ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปโดยไม่ทำอะไร ป่าของพวกเขาคงจะหายไปในที่สุด 

เพราะป่าสำคัญต่อชีวิต

“ป่าดงกาป่าชุมชนที่คุ้นตาพวกเขามาแต่เยาว์วัย ซึ่งเคยเขียวครึ้มด้วยเหล่าไม้ และเป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน มาถึงวันนี้กลับดูโล่งตา และหาอาหารลำบากขึ้น...อยากอนุรักษ์ป่าไว้ เพราะนี่เป็นป่าของชุมชน เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เราก็เคยเข้ามาหาเห็ด เมื่อก่อนเจอเยอะ แต่พอตอนหลังมันน้อยลง”

เพราะเห็นความสำคัญของป่า และการเปลี่ยนแปลงไปของป่าแปลกไปจากวัยเยาว์ เมื่อพี่ ๆ ที่ทำโครงการปีที่แล้วชักชวนให้ทำโครงการ กลุ่ม Wise Kiddy ที่ประกอบด้วย แพรว-ศิริพรรณ จันทอง นก-อรณี พันโนฤทธิ์ อาร์ม-ศรยุทธ บรรจงปรุ เอี่ยว-ภานุเดช หงส์ทอง แทน-สราวุธ ทวีชาติ เฟิร์น-ชญาดา อินแพง และ แอมป์-ศรัญญา บรรจงปรุ จึงรวมตัวกันทำ โครงการ Forest of life สร้างพลังชีวิต อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน

แพรว เล่าว่า ก่อนจะตกลงใจทำเรื่องป่า เพื่อนคนอื่นเสนอว่า อยากทำเรื่องเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ ทว่าหลังจากพูดคุยกันถึงปัญหาในชุมชน สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ “ป่าดงกา” ป่าชุมชนที่คุ้นตาพวกเขามาแต่เยาว์วัย ซึ่งเคยเขียวครึ้มด้วยเหล่าไม้ และเป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้าน มาถึงวันนี้กลับดูโล่งตา และหาอาหารลำบากขึ้น

“อยากอนุรักษ์ป่าไว้ เพราะนี่เป็นป่าของชุมชน เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เราก็เคยเข้ามาหาเห็ด เมื่อก่อนเจอเยอะ แต่พอตอนหลังมันน้อยลง เพราะเห็ดชอบที่ทึบ ๆ มืด ๆ ไม่ชอบป่าที่โล่ง ๆ” นก กล่าวสนับสนุน

ด้านอาร์มเสริมว่า เขาอยากช่วยฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์ เพราะป่าตอนนี้เสื่อมโทรมมาก มีคนลักลอบเข้ามาตัดไม้ เห็นได้จากร่องรอยไม้ที่ถูกตัดเวลาเข้าไปในป่า ส่วนเอี่ยวและแทนแม้จะอยากทำเรื่องการเลี้ยงไก่ และเพาะเห็ด แต่พอฟังเหตุผลของเพื่อนแล้วก็ยินดีร่วมด้วยช่วยกันพื้นฟูป่า

เมื่อทีมงานเห็นตรงกันแล้ว จึงช่วยกันกำหนดแนวทางดูแลป่าคือ “รักษาสิ่งที่มี” ด้วยการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และพันธุ์ไม้หายากที่เหลืออยู่ในป่าไม่ให้ถูกตัด โดยใช้การ “บวชป่า” เป็น “กุศโลบาย” แม้ตอนที่คิด พวกเขาจะยังไม่เข้าใจว่าการบวชป่าคืออะไร รู้เพียงแค่ถ้าต้นไม้มีผ้าสีเหลือง (ผ้าจีวร) มาพันจะไม่ค่อยถูกคนตัด และ “เพิ่มเติมสิ่งที่ขาด” โดยการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มความเขียวขจีให้ป่า เพราะมองว่าการรักษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ

­

ท้อ...แต่ไม่ถอย

ป่าดงกามีพื้นที่ 200 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่บ้านรงระและบ้านพล็อง นอกจาก 2 หมู่บ้านแล้วยังมีหมู่บ้านข้างเคียงในอำเภอตูม อาทิ บ้านตระเภา และบ้านขี้นาค และชาวบ้านจากตำบลสวาย ซึ่งมีเขตติดต่อกันเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าดงกาด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ในการประชุมครั้งแรก นอกจากทีมงานแล้ว ยังมีเด็กและเยาวชนคนอื่นในหมู่บ้านเข้าร่วมด้วย แพรวบอกว่า ทีมงานแต่ละคนต่างชวนเพื่อน ๆ ตัวเองมาร่วมประชุม ช่วยกันระดมสมองว่า จะทำอะไร อย่างไร ซึ่งข้อเสนอที่ได้มาก็มีหลากหลาย เช่น สำรวจป่า สืบค้นประวัติของป่า เพื่อรู้จักป่าให้มากขึ้น

แม้โจทย์ปัญหาในการทำโครงการจะชัด แต่เมื่อพี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษชวนคิดวิเคราะห์ปัญหา และลงรายละเอียดกิจกรรมที่จะทำทั้งหมด ทีมงานถึงกับอึ้ง เพราะยังไม่เข้าใจว่า การวิเคราะห์ทำอย่างไร แต่ก็พยายามศึกษาจากเพื่อนกลุ่มอื่นจนเข้าใจ

“พี่ ๆ เขาบอกว่า ถ้ายังไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงก็ไม่สามารถทำโครงการได้ ตอนวิเคราะห์ปัญหาเราจึงคุยกันก่อนว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ทำไมมีต้นไม้น้อยลง ทำไมต้นไม้หายากหายไป พอวิเคราะห์ปัญหาเสร็จ แล้วจับประเด็น เพื่อเติมเต็มว่าควรทำกิจกรรมอะไรก่อน อะไรหลัง” แพรว อธิบาย

“หลังเดินสำรวจป่าเสร็จ ทีมงานและชาวบ้านนั่งล้อมวงกินข้าวพูดคุยเกี่ยวกับป่า เพื่อหาข้อสรุปของสภาพป่าในปัจจุบัน ซึ่งได้ความว่าป่าตอนนี้มีความเสื่อมโทรม และแล้งน้ำ บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ทีมงานเห็นโอกาสจึงรีบบอกเล่าถึงรายละเอียดการทำโครงการว่าจะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอย่างไร ซึ่งชาวบ้านทั้ง 20 คนต่างสนับสนุนและอยากให้พวกเขาลองทำ เพราะหากป่าดีขึ้นก็เป็นประโยชน์แก่ชุมชน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ยังได้รู้วิธีแก้ปัญหาว่าควรทำอย่างไร”

เวทีเติมพลังเสริมความคิดจิตสำนึกพลเมืองเยาวชนในการทำโครงการเพื่อชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษคือ บทพิสูจน์ของการร่วมคิดของทีมงาน เมื่อต้องนำเสนอโครงการต่อหน้าคณะกรรมการ พี่เลี้ยง และเพื่อน ๆ พวกเขาเลือกนำเสนอผ่านการแสดงละคร ที่มีเนื้อหาเล่าถึงสาเหตุความเสื่อมโทรมของป่า เพราะในกลุ่มมีทั้งคนพูดเก่งและไม่เก่ง กบกับแพรวพูดเก่งจึงรับหน้าที่พากย์เสียง ส่วนคนที่เหลือเป็นตัวแสดง กบบอกเหตุผลของการให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมนำเสนอ เพราะอยากให้เพื่อนฝึกความกล้าแสดงออกและเข้าใจการทำโครงการไปพร้อมกัน

ขณะที่เอี่ยว และ อาร์ม ที่ได้รับบทบาทตัวแสดง กล่าวถึงความรู้สึกวันนั้นว่า ตื่นเต้นที่คนเยอะ จนเกิดความประหม่า ถึงไม่ได้มีจุดผิดพลาด แต่แอบกลัวว่าจะแสดงแล้วไม่ประทับใจคนดู

แม้ไม่มั่นใจในผลงาน เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ ทว่าในที่สุดโครงการของพวกเขาก็ผ่านการอนุมัติ ทีมงานบอกว่า รู้สึกดีใจ พร้อมกังวลว่า จะทำโครงการที่ใหญ่ และมีกิจกรรมเยอะขนาดนี้ไม่ไหว แต่สุดท้ายเมื่อคิดได้ว่าพวกเขาคือทีมงานเดียวกัน ไม่ได้ทำงานนี้เพียงคนเดียว จึงฮึดสู้

หลังการนำเสนอโครงการผ่านไปด้วยดี ทีมงานตัดสินใจนำเสนอโครงการต่อชุมชน เนื่องจากอยากให้ชุมชนรู้ว่า พวกเขาทำอะไรอยู่ เพื่อเวลาทำกิจกรรมต่อไป คนในชุมชนจะได้เข้ามาร่วมด้วย เพราะป่ามีขนาดใหญ่ ถ้าทำแค่กลุ่มของพวกเราคงไม่ไหว อีกอย่างป่านี้ก็เป็นป่าของชุมชน ชาวบ้านจึงควรเข้ามามีส่วนร่วม

แต่ความหวังกับความจริงกลับเดินสวนทางกัน แม้ทีมงานจะประสานงานชาวบ้านไว้หลายคน กลับมาร่วมประชุมเพียง 20 คน ความรู้สึกท้อกลับมาเยือนอีกครั้ง

“ป่าตั้ง 200 ไร่ พวกเรา 5 คน กับชาวบ้าน 20 คนจะดูแลไหวหรือ” คือคำถามที่ทีมงานวิตกกังวล

แพรวบอกว่า แม้จะท้อกับจำนวนคนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่กิจกรรมต้องดำเนินต่อ ทีมงานเดินหน้าจัดเวทีนำเสนอต่อชุมชน เริ่มด้วยการอธิบายที่มาที่ไปของโครงการ ซึ่งตอนแรกชาวบ้านไม่ค่อยสนใจเรานัก อาจเพราะเห็นว่าเป็นเด็ก หลังจากพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการทำโครงการแล้วจึงพาชาวบ้านเข้าป่าไปดูว่า แห้งแล้งเหมือนที่เราพูดไหม เพราะแค่พูดใครจะพูดก็ได้ ต้องให้เขาเห็นเพื่อพิสูจน์ว่าคำพูดของเราเป็นความจริง ขณะเดินสำรวจป่า ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตให้กลุ่มเยาวชนฟังเกี่ยวกับสภาพป่าว่า ต้นไม้บางต้นเหมือนโดนตัด บางต้นเหมือนตายเพราะขาดน้ำ สระน้ำบางแห่งแห้งขอดจนดินแตกร้าว ผิดกับเมื่อก่อนที่มีน้ำมาก

หลังเดินสำรวจป่าเสร็จ ทีมงานและชาวบ้านนั่งล้อมวงกินข้าวพูดคุยเกี่ยวกับป่า เพื่อหาข้อสรุปของสภาพป่าในปัจจุบัน ซึ่งได้ความว่า ป่าตอนนี้มีความเสื่อมโทรม และแล้งน้ำ บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ทีมงานเห็นโอกาสจึงรีบบอกเล่าถึงรายละเอียดการทำโครงการว่าจะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอย่างไร ซึ่งชาวบ้านทั้ง 20 คนต่างสนับสนุนและอยากให้พวกเขาลองทำ เพราะหากป่าดีขึ้นก็เป็นประโยชน์แก่ชุมชน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ยังได้รู้วิธีแก้ปัญหาว่าควรทำอย่างไร

­

พลิกฟื้นผืนป่า

เมื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบแล้ว ทีมงานจึงลงมือเรียนรู้เรื่องราวของป่าให้มากขึ้น ด้วยการศึกษา ความเป็นมาของป่า สภาพป่าจากอดีตถึงปัจจุบัน และการใช้ประโยชน์จากป่า โดยสอบถามจาก พี่เพ็ญ-สมถวิล ทวีชาติ กรรมการหมู่บ้านหมู่ที่ 8 และพี่พิม-สุดา ดาศรี สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลตูม ซึ่งเป็นทั้งผู้รู้และพี่เลี้ยงชุมชน

“ป่าดงกา เป็นป่าที่เกิดตามธรรมชาติ ก่อนจะถูกชาวบ้านค่อย ๆ รุกล้ำเข้ามาเรื่อย ๆ จนหน่วยงานราชการที่ดูแลต้องเข้ามาขุดรอบพื้นที่ เพื่อกั้นเขตไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกเพิ่ม ภายในป่ามีเจลาะ เล็กใหญ่รวม 8 แห่ง สมัยก่อนมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก เช่น ม้า ช้าง กระแต กระต่าย กระรอก ส่วนชาวบ้านสามารถเก็บเห็ด หาหน่อไม้ได้มาก ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่ปัจจุบันเจลาะบางแห่งแห้งขอด สัตว์ที่พบเห็นมีเพียงกระรอก เห็ด และหน่อไม้ก็เก็บได้น้อยลง” แพรว เล่าถึงป่าดงกาที่เธอและทีมงานศึกษามาด้วยแววตาเป็นประกาย

หลังเรียนรู้เรื่องราวของป่าแล้ว ทีมงานจึงลงมือเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตในป่าว่า มีชีวิตใดบ้าง และจำนวนเท่าไร แต่เนื่องจากป่ามีขนาดใหญ่เกิน ทีมงานจึงใช้วิธี ตีแปลง คือ เลือกบริเวณที่ป่าสมบูรณ์กับเสื่อมโทรม จากนั้นตีแปลงขนาด 10x10 เมตร แล้วแบ่งกันสำรวจสิ่งมีชีวิตในแต่ละแปลงตามความสนใจ ได้แก่ 1.สมุนไพร 2.พรรณพืช/ไม้ยืนต้น 3.สัตว์ป่าและแมลง 4.ลูกไม้ คือ ต้นไม้ที่เพิ่งเกิด 5.ไม้หนุ่ม คือ ต้นไม้ที่สูงไม่เกิน 2 เมตร รอบวงไม้ถึง 15 เซนติเมตร และ 6.ต้นไม้ใหญ่ ที่สูง 2 เมตรขึ้นไป รอบวงมากกว่า 15 เซนติเมตร โดยที่มาที่ไปของเครื่องมือตีแปลงนี้มาจากคลิปวิดีโอของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า - ประเทศไทย (RECOFTC - Thailand) ที่เคยไปอบรมให้กับกลุ่มเยาวชนโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำบ้านหัวนา ในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จังหวัดน่าน

ประมวล ดวงนิล พี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เสริมว่า ก่อนตีแปลง น้องได้ลงมือเก็บข้อมูลบ้างแล้ว แต่ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างกระจัดกระจาย ระบุหมวดหมู่ไม่ได้ จึงชวนน้องคุยว่า เราจะประมาณการป่าของเราได้อย่างไรให้ชัดเจน พอดีกับที่พี่รุ่ง-รุ่งวิชิต คำงาม แนะนำวิดีโอเครื่องมือการตีแปลงมาให้ จึงได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่พร้อมน้อง เพราะไม่เคยทำประเด็นเกี่ยวกับป่ามาก่อนเหมือนกัน เมื่อดูคลิปวิดีโอกับน้องแล้ว ก็ช่วยกันถอดว่า เขาเก็บข้อมูลอะไร มีทั้งแบบที่ยาก เช่น ชั้นเรือนยอด ดูหน้าดิน และแบบที่ง่าย เช่น ชนิดของต้นไม้ ซึ่งเป็นแบบที่เราเลือกนำมาใช้ เพราะเข้าใจและทำได้

“ใช้เวลาตีแปลง 1 วัน และเดินสำรวจ 1 วัน ระหว่างเดินก็จดจำนวนไปด้วย ถ้าไม่รู้ชื่อต้นไม้ต้นไหนก็ถามพี่เลี้ยง เป็นกิจกรรมที่สนุก และทำให้รู้ว่าป่ามีต้นไม้เท่าไร” แพรวเล่าภาพการทำงานในกิจกรรมตีแปลง ซึ่งผลการสำรวจป่า พบว่า ต้นไม้ที่ใช้ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้คือ “ต้นเขรอง” โดยบริเวณเสื่อมโทรมจะมีต้นเขรอง (ต้นเขรองเป็นภาษากูย ส่วนภาษาไทยเรียกว่าต้นตะขบป่า) ครองแค่ 1-2 ต้น แต่ถ้าบริเวณที่สมบูรณ์จะมี 9-10 ต้น

ส่วนการสำรวจสัตว์ เอี่ยวที่เป็นคนสำรวจบอกว่า สัตว์ป่าที่พบในบริเวณป่าสมบูรณ์มีเพียงแมงและแมลงเท่านั้น เช่น ปลวก มด จักจั่น ส่วนบริเวณป่าที่แห้งแล้งแทบจะไม่พบสัตว์ชนิดใดเลย

เมื่อได้จำนวนต้นไม้และสัตว์ป่าในบริเวณแปลงแต่ละแปลงแล้ว จึงนำไปคูณกับพื้นที่รวมป่าของป่า ทำให้ทีมงานเห็นสภาพป่าทั้งหมดชัดเจนขึ้น

แพรว เล่าต่อว่า จริง ๆ แล้วหลังสำรวจป่า พวกเราต้องจัดกิจกรรมบวชป่าและปลูกต้นไม้ แต่เพราะช่วงนั้นแล้งมาก จึงยังไม่สามารถทำได้ ทีมงานจึงคิดทำกิจกรรมสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นมาก่อน ด้วยคิดว่า ป่าแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนได้ โดยทีมงานได้เข้าไปสำรวจป่าอีกครั้ง แล้วเลือกเส้นทางที่มีต้นไม้ใหญ่ และต้นไม้หายาก จากนั้นทำป้ายบอกทางเดิน และป้ายบอกชื่อ ลักษณะ พร้อมสรรพคุณของต้นไม้ชนิดนั้น ๆ เช่น จิก พะยูง มะกอกป่า แดง อินทรี ซึ่งนัยยะของการทำป้ายก็เพื่อเตือนสติคนที่คิดจะตัดต้นไม้ว่า ต้นไม้เหล่านี้ใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเติบโต และเหลือน้อยเต็มที

หลังเรียนรู้ป่าได้ระยะหนึ่งก็ถึงเวลาพิสูจน์ผลว่า พวกเขามี “ความรู้” เรื่องป่าดงกามากน้อยเพียงใด โดยในเวทีสรุปและนำเสนอผลการดำเนินโครงการเพื่อชุมชนของกลุ่มเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ระยะที่ 1 ครั้งนี้ทีมงานแบ่งหัวข้อนำเสนอคนละ 1-2 หัวข้อ ซึ่งแต่ละคนต่างมีเทคนิคการฝึกซ้อมนำเสนอตามวิธีที่ตัวเองถนัด อย่างแพรวจะใช้วิธีอ่านจับใจความสำคัญ นกซึ่งรับผิดชอบอธิบายแผนที่ป่าชุมชน จึงต้องหาจุดเด่นในภาพ เพื่อให้ผู้ฟังดูภาพแล้วเข้าใจไปพร้อมกัน ด้านอาร์มจะจำหัวข้อหลัก ๆ ที่ต้องพูด ส่วนเอี่ยวใช้ทั้งการจำ การจด และหมั่นฝึกพูดให้เคยชิน

ทีมงาน ยอมรับว่า รู้สึกกดดันกับการนำเสนอมาก เพราะมีเวลาจำกัดเพียง 5 นาที กลัวว่าถ้าให้ข้อมูลไม่ครบ ผู้ฟังอาจไม่เข้าใจ และกลัวว่าถ้าเพื่อนกลุ่มอื่นถามจะตอบได้ไม่ตรงประเด็น หลังแบ่งหัวข้อเรียบร้อย แต่ละคนจึงแยกย้ายกันไปซ้อม แล้วกลับมาซ้อมให้เพื่อนช่วยกันฟังว่า มีข้อมูลตรงไหนตกหล่นบ้าง แต่เมื่อถึงเวลานำเสนอจริง พวกเขาบอกว่า ทำได้ดีกว่าที่คิด และไม่ได้ตื่นเต้นอย่างที่คาด เนื่องจากเริ่มเคยชินกับไมโครโฟนจากการได้เป็นทีมสันทนาการก่อนขึ้นนำเสนอ

­

สู่ปลายทางที่ตั้งใจ

ผลจากการเรียนรู้ผืนป่าในหลากหลายแง่มุม ก็มาถึงกิจกรรมสุดท้ายที่ทีมงานตั้งใจอยากทำตั้งแต่ริเริ่มโครงการ นั่นคือ การปลูกป่าและบวชป่า โดยครั้งนี้พวกเขาได้วางบทบาทให้แต่ละคนรับผิดชอบเหมือนเดิม เช่น พิธีบวชป่า นก รับหน้าที่กล่าวรายงานในพิธีเปิด แพรวกับเฟิร์นรับบทพิธีกรดำเนินรายการ ส่วนคนอื่นแยกย้ายกันนิมนต์พระ เตรียมสถานที่ และต้อนรับแขก ส่วนการบวชป่า ทุกคนจะกระจายตัวช่วยกันดูแลผู้ร่วมงาน

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ของน้อง ๆ นอกจากจะเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแล้ว ยังเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษอีกด้วย เพราะมีกลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเว จากตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ และกลุ่มเยาวชนบ้านระกา จากตำบลพิมาย อำเภอปรางค์กู่ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ส่วนในชุมชนเองก็มีเยาวชนบ้านรงระ

บ้านพล็อง บ้านขี้นาค และบ้านขี้นาคน้อย รวมทั้งชวนผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านมาเข้าร่วมด้วย เพราะอยากให้รู้ว่า น้อง ๆ กำลังทำสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชน หากเขาเห็นด้วยจะได้ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในชุมชนต่อไป”

นอกจากเตรียมการเองแล้ว ทีมงานยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลตูม (อบต.ตูม) สนับสนุนพันธุ์ไม้ได้แก่ ยางนา ประดู่ ฉำฉา แคป่า มะอึก พะยูง สะเดา และน้ำดื่มจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ทำให้เหล่าเยาวชนมีกำลังใจในการดำเนินกิจกรรมมากขึ้น

พี่พิม พี่เลี้ยงชุมชน เสริมว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ของน้อง ๆ นอกจากจะเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแล้ว ยังเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษอีกด้วย เพราะมีกลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเว จากตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ และกลุ่มเยาวชนบ้านระกา จากตำบลพิมาย อำเภอปรางค์กู่ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ส่วนในชุมชนเองก็มีเยาวชนบ้านรงระ

บ้านพล็อง บ้านขี้นาค และบ้านขี้นาคน้อย รวมทั้งชวนผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านมาเข้าร่วมด้วย เพราะอยากให้รู้ว่า น้อง ๆ กำลังทำสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชน หากเขาเห็นด้วยจะได้ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในชุมชนต่อไป

ถึงวันจริงกลุ่มเยาวชนและคนในชุมชนประมาณ 100 คน เริ่มทำพิธีบวชต้นไม้ในตอนเช้า จากนั้นเดินเข้าป่าไปปลูกต้นไม้ตามจุดที่กำหนดไว้ จากนั้นกลุ่มเยาวชนทั้งหมดจึงทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการพัฒนาเยาวชนที่แต่ละกลุ่มทำอยู่ และปิดท้ายด้วยการสรุปบทเรียน เพื่อสะท้อนผลของการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวันว่าเดินไปถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

ทั้งนี้ทีมงาน บอกว่า ภาพรวมของกิจกรรมเกินกว่าที่คาดไว้มาก “ตอนวางแผนครั้งแรกไม่คิดว่าภาพจะใหญ่ขนาดนี้ คิดว่ามีแค่เรากับคนในชุมชน แต่พอวันจริงเห็นคนมาเยอะมากก็ตื่นเต้นและดีใจ รู้สึกภูมิใจที่เขาสนใจในกิจกรรมของเรา และให้ความร่วมมือค่อนข้างดี เห็นจากที่เขามาถาม มาช่วยขนของ จัดของ ทำกับข้าว บอกอะไรเขาก็ช่วย ดีใจที่เขาเข้าใจ และเป็นเราเองด้วยที่สามารถทำให้เขาเข้าใจ”

­

“อุปสรรค” บทเรียนที่ต้องก้าวผ่าน

“การทำโครงการนี้ค่อนข้างยาก ตอนแรกเรากลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ทำจนเสร็จ เพราะแรงผลักดันที่เราอยากจะอนุรักษ์ป่าของเราไว้ เวลาที่เหนื่อยหรือท้อ เพื่อน ๆ จะคอยบอกว่า เดี๋ยวก็ทำได้ ยังมีทางแก้ไข แล้วก็พยายามให้กำลังใจตัวเองว่า ทำมาถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมจะทำอีกไม่ได้”

วันนี้เส้นทางของการดูแลรักษาฝืนป่าดงกาเดินมาสู่หมุดหมายที่ตั้งไว้ นอกเหนือจากความพอใจ ดีใจ และภูมิใจแล้ว ทีมงานแต่ละคนยังค้นพบความเปลี่ยนแปลงภายในของตัวเอง และรู้จักการก้าวผ่านปัญหาไปด้วยกัน

แพรวบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ถ้าตอนนั้นไม่ได้เข้ามาทำโครงการ ไม่ได้ออกไปพูดนำเสนอ เธออาจจะเป็นคนเงียบ ๆ เหมือนเดิม แต่ที่กล้าพูดมากขึ้น เพราะเราทำจริง จึงรู้จริง จนพูดได้

ด้านกบพบว่า ตัวเองกล้าแสดงออก และมีความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีม “เมื่อก่อนจะเกี่ยงเพื่อนให้ทำ เพราะไม่กล้าจับไมค์ แต่พอได้ทำจนรู้ และรู้จริงด้วย จึงคิดว่าจะอายทำไม ทำให้กล้าจับไมค์มากขึ้น และมีความรับผิดชอบกว่าเดิม จากเคยไปประชุมช้า เดี๋ยวนี้มาถึงก่อน เนื่องจากคิดว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มต้องมีความรับผิดชอบ และอยากทำให้คนอื่นเห็นว่าควรมาตรงเวลา อีกอย่างคือรู้จักแบ่งเวลามากขึ้น เพราะไม่ได้ทำแค่งานชุมชน ยังมีงานการบ้านที่โรงเรียนอีก จึงแบ่งเวลาโดยการมาทำงานชุมชนก่อน แล้วกลับไปช่วยงานกลุ่มที่โรงเรียน”

ส่วนอาร์ม บอกว่า เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ทั้งป่า ต้นไม้ และสมุนไพร

เอี่ยว เล่าว่า การเข้ามาทำโครงการทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับป่าของชุมชน และกล้าแสดงออกมากขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ฝึกพูด และลงมือทำ และที่สำคัญคือสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ในห้องเรียนได้

เห็นอย่างนี้ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่น แพรว บอกว่า ปัญหาที่พวกเขาเจอมีทั้งปัญหาจากกระบวนการทำงานกลุ่ม เช่น เกี่ยงกันทำงาน เวลาว่างไม่ตรงกัน ซึ่งพวกเขาก็ก้าวผ่านมาได้ด้วยการตกลงกันไปทีละอย่าง แบ่งงานกันทำคนละหน้าที่ แต่ที่ยากที่สุดคือ ความกลัวที่ทุกคนต้องก้าวข้ามไปให้ได้

“การทำโครงการนี้ค่อนข้างยาก ตอนแรกเรากลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ทำจนเสร็จ เพราะแรงผลักดันที่เราอยากจะอนุรักษ์ป่าของเราไว้ เวลาที่เหนื่อยหรือท้อ เพื่อน ๆ จะคอยบอกว่า เดี๋ยวก็ทำได้ ยังมีทางแก้ไข แล้วก็พยายามให้กำลังใจตัวเองว่า ทำมาถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมจะทำอีกไม่ได้” แพรวเป็นตัวแทนบอกความรู้สึกของกลุ่ม

ด้านนก เสริมว่า “เมื่อก่อนเราอาจคิดว่ายาก แต่พอได้มาเรียนรู้ ก็พบว่าไม่ได้ยากเท่าไร ถึงกระบวนการจะเยอะ แต่เราก็สามารถทำได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีเพื่อน มีน้อง มีรุ่นพี่ มีพี่เลี้ยงที่คอยช่วยและให้กำลังใจเรา”

ความกลัวที่เกิดขึ้นของพวกเขาเป็นเพียงสิ่งที่เกิดภายในใจ ทั้งกลัวการทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ กลัวความผิดพลาดจากการลงมือทำ แต่พวกเขาก็สามารถก้าวผ่านความกลัวเหล่านั้นได้ด้วยพลังของทีมงาน และแรงผลักดันที่อยากเห็นป่าบ้านเกิดกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ผลจากการได้ลงมือทำจริงได้กลายเป็นบทพิสูจน์ว่า “แม้เป็นเด็กก็สามารถทำอะไรเพื่อชุมชนได้” จนเกิดกำลังใจที่ผลักดันให้พวกเขาอยากสานงานเพื่อผืนป่าที่พวกเขารักต่อไป


สานต่อสิ่งดี ๆ จากรุ่นสู่รุ่น

“เวลาอยู่กับเด็กเราอย่าคิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่ ไม่ต้องเข้มงวดกับเขาตลอด เวลามีปัญหาเขาจะได้กล้ามาปรึกษา ส่วนเราแค่คอยให้คำชี้แนะ แล้วปล่อยเขาลองไปคุยกัน หรือเมื่อไรที่เขาท้อ เราใช้การตั้งคำถามกลับว่าทำไมเข้ามาทำโครงการนี้ ตัวเองอยากได้อะไร คำตอบคือทุกคนอยากฟื้นฟูสิ่งที่กำลังจะสูญหายให้กลับคืนมา ไม่มากก็น้อย”

กลุ่มเยาวชนจากบ้านรงระเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเป็นรุ่นที่ 2 โดยรุ่นพี่ปีแรกทำเกี่ยวกับดนตรี แต่ปีนี้กลุ่มเยาวชนเลือกทำเรื่องป่าชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปี ได้พิสูจน์ถึงผลลัพธ์อันงดงามจากการลงมือทำ จนผู้ใหญ่ที่ยืนมองอยู่ข้างนอกอย่าง เพ็ญ-สมถวิล ทวีชาติ กรรมการหมู่บ้าน หมู่ 8 บ้านรงระ เห็นความสำเร็จ แล้วสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนด้วย

“เด็กปี 1 ที่ทำโครงการ เขามีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คือมีความกล้า มีศักยภาพในการดำเนินชีวิตในสังคม จากหน้ามือเป็นหลังมือ บางคนที่เมื่อก่อนขี้อายมาก หลบอยู่ข้างหลังตลอด ก็กล้าขึ้นพูด กล้าจับไมค์เผยแพร่ข้อมูลให้ชุมชน ซึ่งเหตุที่เขากล้าขึ้น มาจากการลงพื้นที่ไปเห็น และลงมือทำ จนสามารถพูดออกมาได้เองจากใจ”

หลังเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เพ็ญบอกว่า เธอเองก็ได้เรียนรู้เด็กแต่ละคน พร้อมสร้างการเรียนรู้ร่วมกับเด็กด้วย เพราะการเป็นพี่เลี้ยงต้องเป็นทั้งพี่ เพื่อน แม่ ที่ควรค่อย ๆ เรียนรู้กัน ปรับตัวเข้าหากัน จนเหล่าเยาวชนเรียกเธอว่า แม่เล็ก

“เวลาอยู่กับเด็กเราอย่าคิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่ ไม่ต้องเข้มงวดกับเขาตลอด เวลามีปัญหาเขาจะได้กล้ามาปรึกษา ส่วนเราแค่คอยให้คำชี้แนะ แล้วปล่อยเขาลองไปคุยกัน หรือเมื่อไรที่เขาท้อ เราใช้การตั้งคำถามกลับว่าทำไมเข้ามาทำโครงการนี้ ตัวเองอยากได้อะไร คำตอบคือทุกคนอยากฟื้นฟูสิ่งที่กำลังจะสูญหายให้กลับคืนมาไม่มากก็น้อย”

นอกจากกระตุ้นน้องให้เห็นเป้าหมาย และมีแรงใจทำโครงการต่อแล้ว เพ็ญบอกว่า เธอเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเมื่อก่อนไม่กล้าพูดก็พูดได้ เพราะมีความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เห็นผลสำเร็จจริง จึงไม่อายในสิ่งที่จะพูดเผยแพร่แก่ชุมชน และทำให้ได้ขยายองค์ความรู้สู่ชุมชน

พี่พิม-สุดา ดาศรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลตูม ที่ปีแรกเคยเป็นที่ปรึกษา ก็เลือกขยับตัวขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยง

“เราคลุกคลีกับเด็กอยู่แล้ว จึงอยากหนุนมากขึ้น อยากช่วยเด็กในทุกเรื่อง เป็นที่ปรึกษา เด็กอาจอึดอัด ไม่กล้าคุย ไม่กล้าประสานงาน พอเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงทำให้สนิทกับเขามากกว่าเดิม จนเด็กรู้สึกว่าเราเหมือนแม่ และเรียกเราว่า แม่ใหญ่ เพราะคอยดูแลและเป็นทุกอย่างของเขา เวลาเขามีปัญหา เราก็เข้าไปช่วยแก้ แต่ไม่ได้คนชี้นำ คอยดูแลอยู่เบื้องหลังมากกว่า”

และเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเยาวชนมาตลอด พี่พิมจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ ที่กล้าแสดงออกมากขึ้น ทั้งยังเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้ปกครอง จากที่เคยไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้ลูกมาทำกิจกรรม กลับสนับสนุนและยินดีเวลาลูกมาทำกิจกรรม

“เมื่อก่อนผู้ปกครองไม่เข้าใจ เขาจะถามเราตลอดว่า ทำไมต้องพาลูกเขาทำกิจกรรม แล้วจะกระทบกับการเรียนไหม แต่พอเด็กเข้ามาทำแล้วเกรดเฉลี่ยการเรียนไม่ได้ตก บวกกับเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก เขาจึงเปลี่ยนความคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี สามารถสร้างเด็กได้ อย่างพ่อแม่น้องแพรว เคยไม่อยากให้ลูกมา พอได้เห็นลูกกล้าเป็นตัวแทนโรงเรียนไปนำเสนองาน ทั้งที่เคยเป็นเด็กพูดน้อย เขาก็ดีใจและเต็มใจให้น้องแพรวมาร่วมโครงการ”

พี่พิม เล่าต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษสร้างคือ อนาคตที่ดีของชุมชน ทั้งการเยียวยาป่าชุมชนให้คืนสู่ความสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และแหล่งเรียนรู้แก่ผู้สนใจ ที่ช่วยจุดพลังคนรุ่นต่อไปให้เข้ามาช่วยดูแลรักษาผืนป่าและชุมชน

เธอบอกว่า ถ้าไม่มีโครงการนี้ เด็กและเยาวชนในหมู่คงอยู่กันแบบเดิม ไม่มีแรงผลักดันเด็ก ไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง แต่การทำโครงการนี้ทำให้เด็ก ๆ บ้านรงระได้เสริมประสบการณ์ สร้างความสามารถ รวมทั้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ช่วยเหลือชุมชนในยามที่มีงานประเพณีหรือกิจกรรมต่าง ๆ กระทั่งตั้งใจว่าอยากจะผลักดันด้วยการสานต่องานกับเด็กรุ่นใหม่สืบไป

วันนี้โครงการ Forest for life สร้างพลังชีวิต อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน แห่งบ้านรงระไม่ได้สร้างประโยชน์เพียงการฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเท่านั้น แค่โครงการนี้ยังช่วยฝึกฝน ปลูกฝัง และสร้างสายใยให้เด็กและผู้ใหญ่หันมาร่วมไม้ร่วมมือกันดูแลและทำสิ่งดี ๆ ให้ชุมชนถิ่นเกิดร่วมกันแล้ว โครงการนี้ยังทำให้ “ผู้ใหญ่” มองเห็นว่า “เด็ก” ในชุมชนของเขาก็มีศักยภาพที่จะช่วยดูแลชุมชนได้ ขอเพียงผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เท่านั้น


โครงการ Forest for life สร้างพลังชีวิต อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน

พี่เลี้ยงชุมชน :

  • สมถวิล ทวีชาติ (กรรมการหมู่บ้าน หมู่ 8 บ้านรงระตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ)
  • สุดา ดาศรี (สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ)

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านรงระ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ