การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักสาน จังหวัดศรีสะเกษ

วัยใสใส่ใจเรียนรู้ ร่วมดูแลวัยเก๋า

โครงการวัยใสวัยเก๋าร่วมเล่าสืบสานวิถีชีวิต

ผลลัพธ์ของการเรียนรู้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอย่างชัดแจ้ง สะท้อนผ่านสุขภาวะทางกายทางใจของผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสถิติการเป็นเบาหวาน ความดันเพิ่ม ยกเว้นคนที่เคยเป็นมาก่อนแล้ว ผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับลูก ๆ หลาน ๆ ความสุขใจจึงส่งประกายให้เห็น...ผู้สูงอายุมีความสุขมากขึ้น จากที่เขาอยู่คนเดียวเขาไม่เข้าสังคม ก็เห็นเขายิ้มได้

บ้านโนนรัง หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากร 63 หลังคาเรือน รวม 279 คน โดยมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งถือว่าเป็นผู้สูงอายุจำนวน 27 คนเพิ่มขึ้นอีก 4 คนจากปี 2558 ที่กลุ่มดาวกระจาย ซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชนได้รวมตัวกันทำโครงการเติมใจวัยใส ใส่ใจวัยเก๋า เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย และความเป็นอยู่ การที่เยาวชนได้ไปคลุกคลีกับผู้สูงอายุสร้างความรู้สึกอบอุ่นและมีชีวิตชีวาให้แก่พ่อเฒ่า แม่แก่ จนเมื่อมีโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปีที่ 2 ชุมชนมีมติให้เยาวชนต่อยอดการทำงานต่อไป เพราะเห็นประโยชน์ว่า การทำโครงการทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แม้ว่ากิจกรรมดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในชุมชนจะกลายเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มเยาวชนไปแล้วก็ตาม 

ผู้สูงอายุ ต้นทุนในชุมชน

“ต่อไปหากผู้สูงอายุเหล่านี้จากไป งานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญา เช่น การทอ การจักสาน คงไม่แคล้วสูญหายไปจากบ้านโนนรัง...ทีมงานทั้งหมดจึงตกลงใจว่า การทำงานในปีนี้นอกจากการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ จะเพิ่มเรื่องของการเรียนรู้และสืบสานวิถีชีวิต และอนุรักษ์วัฒนธรรมจากผู้สูงอายุ โดยตั้งใจว่าการไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้จากผู้สูงอายุ เป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุและเยาวชนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน”

เพราะเป้าหมายหลักยังคงเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพกายใจของผู้สูงอายุ แต่ประเด็นที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมการดูแลที่ไม่ซ้ำรอยเดิมควรเป็นเรื่องใด คือโจทย์ที่ทีมงานซึ่งประกอบด้วย ฝน-น้ำฝน ทองคำผุย ฟ้า-สุนันทา ทองคำผุย เฟี๊ยส-ปรียาลักษณ์ พุฒเคน เอิร์น-จุฑาทิพย์ พรมจันทร์ โบ๊ต-วาสิฏฐี ตุนา และ บิ๋ว-ณัฐริกา โททอง ร่วมกันทบทวนการทำงานในปีที่ผ่านมาและศึกษาข้อมูลชุมชน จนพบว่า ชุมชนบ้านโนนรังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่เคยได้รับรางวัลระดับจังหวัด ที่มีฐานเรียนรู้อยู่ในชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อ สานกระติ๊บข้าว การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำพรมเช็ดเท้า การทอผ้าไหม ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็คือ ผู้สูงอายุที่แต่ละคนมีภูมิรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นทักษะติดตัว ซึ่งหากต่อไปถ้าผู้สูงอายุเหล่านี้จากไป งานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญา เช่น การทอ การจักสาน คงไม่แคล้วสูญหายไปจากบ้านโนนรัง

ทีมงานทั้งหมดจึงตกลงใจว่า การทำงานในปีนี้นอกจากการดูแลสุขภาพกายและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุแล้ว จะเน้นที่การมีสุขภาพใจของผู้สูงอายุ โดยอาศัยให้ท่านเป็นครูสอนเด็กๆ ในชุมชน ให้ได้เรียนรู้ สืบสานภูมิปัญญา โดยตั้งใจว่า การไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้จากผู้สูงอายุเป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุและเยาวชนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงา และน่าจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเด็กๆ ในชุมชนก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนไปด้วยอีกทางหนึ่ง

ฝนเล่าว่า การมีประสบการณ์การทำงานจากปีก่อน ทำให้การทำงานในปีนี้ง่ายขึ้น เช่น การเขียนโครงการ การทำเว็บไซต์ แต่ส่วนที่ยากคือ การออกแบบกิจกรรมที่ต้องแตกต่างไปจากเดิม สำหรับชื่อโครงการได้ให้ทุกคนคิดชื่อโครงการแล้วเอามารวมกัน จนได้ชื่อว่า โครงการวัยใสวัยเก๋าร่วมเล่าสืบสานวิถีชีวิต เพราะบ้านเรามีของดีที่เราต้องการสืบสาน เช่น การสานกระติ๊บข้าว สานตระกร้าจากไม้ไผ่ หรือพลาสติก และทอเสื่อ ปีก่อนรู้ว่ามีเรื่องเหล่านี้แต่ไม่ได้ทำ ได้แต่พาผู้สูงอายุออกกำลัง วัดความดัน ดูแลบ้านและความเป็นอยู่

ทีมงานจัดประชุมทีม เพื่อวางแผนกิจกรรมและแบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงาน ฝนเป็นคนดูแลภาพรวมของโครงการ และทำหน้าที่นำเสนอ โดยมีเฟี๊ยสเป็นผู้ช่วย ฟ้ารับหน้าที่บันทึกและถ่ายรูป น้องคนอื่น ๆ ในทีมช่วยงานต่าง ๆ ตามวาระโอกาส โดยทีมงานตกลงกันว่า จะใช้เวลาว่างในวันหยุดการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุ ซึ่งการนัดหมายจะใช้วิธีฝากให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศผ่านเสียงตามสายเป็นรายครั้ง

“การได้รับรู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน ที่มีพัฒนาการผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้ทีมงานรู้สึกว่า ประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ทำไว้เป็นสิ่งที่น่าสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป นั่นทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กับผู้สูงอายุ”

­

ใช้ “ข้อมูล” นำทาง

กิจกรรมแรกที่ทำร่วมกับชุมชนคือ การประชุมชี้แจงโครงการต่อชาวบ้าน ทีมงานจัดประชุมที่ศาลา กลางบ้าน โดยเชิญชาวบ้านทุกครัวเรือนมาร่วมประชุม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสมาชิกในชุมชนแทบทุก หลังคาเรือน ทีมงานเขียนข้อมูลโครงการลงบนกระดาษชาร์ตเพื่อใช้ประกอบการนำเสนอ โดยมีฝนและเฟี๊ยสเป็นคนชี้แจงรายละเอียดของโครงการ เมื่อนำเสนอโครงการทั้งหมดเสร็จแล้ว ได้ขอความคิดเห็นและคำแนะนำจากชาวบ้าน ซึ่งต่างเห็นดีเห็นงามที่เยาวชนจะทำโครงการ เพราะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผู้สูงอายุก็ได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ ทั้งยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

การเก็บข้อมูลผู้สูงอายุให้เป็นปัจจุบัน เป็นงานสำคัญที่ต้องทำ เพราะปีนี้มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 4 คน ทำให้มีผู้สูงอายุรวมกันทั้งหมด 27 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 16 คน ซึ่งในจำนวนทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ลำพัง 2 คน เพิ่มขึ้น 1 คนจากปีที่แล้ว ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน 3 คน ความดัน 9 คน และทุกคนมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกายบ้าง นอกจากข้อมูลด้านความเป็นอยู่และสุขภาพ ทีมงานยังได้สอบถามถึงความถนัดของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุเพศชายมักจะถนัดงานจักสาน ส่วนผู้สูงอายุเพศหญิงจะถนัดงานทอผ้า ทอเสื่อ ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องการจักสานมาสานกระเป๋าจากเส้นพลาสติก โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมีกิจกรรมในครัวเรือนเช่น การปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ทำการเกษตร ซึ่งเป็นทั้งความถนัดและเป็นอาชีพ การสอบถามข้อมูลความเชี่ยวชาญภูมิปัญญาด้านต่างๆ ทำให้ทีมงานสามารถระบุผู้สูงอายุที่จะช่วยถ่ายทอดความรู้ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ทีมงานได้ศึกษาข้อมูลวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชวนผู้สูงอายุมาประชุมพร้อมกันที่ศาลากลางบ้าน แล้วสอบถามประวัติศาสตร์ของชุมชน และวิถีชีวิตในอดีต

ความสนใจของเยาวชนที่ชวนพูดชวนคุยสอบถาม เป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินจำเริญใจ แก่ผู้เฒ่าที่ได้มานั่งเล่าความหลังที่เต็มเปี่ยมด้วยความทรงจำแสนสุข แม้ชีวิตจะไม่สะดวกสบาย อย่างปัจจุบัน ที่น้ำพร้อม ไฟพร้อม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย

การได้รับรู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน ที่มีพัฒนาการผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้ทีมงานรู้สึกว่า ประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ทำไว้เป็นสิ่งที่น่าสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป นั่นทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กับผู้สูงอายุ แม้บางคนในทีมจะทอเสื่อพอเป็นบ้าง หรือน้องโบ๊ตที่ทำงานจักสานเป็นทุกอย่าง เพราะยายที่บ้านพาทำมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ก็ยังอยากเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้น

“วิถีชีวิตที่พวกเราเห็นว่าน่าจะสืบทอด เช่น เรื่องการบูชาแถน การทำบุญ การจักสาน การทอเสื่อ ซึ่งเราจะเน้นที่การจักสาน การทอเสื่อ โดยเราจะเชิญผู้สูงอายุมาสอนที่ศาลากลางบ้าน ก็จะประชาสัมพันธ์รายครั้ง ส่วนมากจะเป็นวันเสาร์ประมาณครึ่งวัน ให้เด็ก ๆ เลือกเรียนตามความสนใจ” ฝนเล่า

­

เรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงภูมิปัญญาบรรพบุรุษ

“ประโยชน์ของการเรียนรู้ภูมิปัญญาเรื่องการจักสาน การทอ การทำบายศรี นอกจากเป็นการสร้าง ความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุและฝึกสมาธิแล้ว ความรู้และทักษะที่ติดตัวเหล่านี้สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้”

วิชาภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุถูกเชิญมาสอน ประกอบด้วย การสานกระติ๊บข้าว การทอเสื่อ การสานกระเป๋าด้วยเส้นพลาสติก และการทำบายศรี การสอนของผู้เฒ่า คือ การพาทำไปทีละขั้น ลงมือปฏิบัติตั้งแต่การหาวัสดุ เช่น ไหล เตย ใบตอง ฯลฯ การเตรียมวัสดุที่ต้องเลาะหนามจากเตย การใช้มีดจักไหลและนำเตยไปตากแดดให้แห้ง หรือการฉีกใบตองให้ได้ขนาดที่เหมาะสม การย้อมสี จนถึงการสานและการเย็บ

เยาวชนส่วนใหญ่เลือกเรียนการทำบายศรี เพราะเป็นงานฝีมือที่สวยงาม และมีคุณค่า เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครื่องประกอบพิธีกรรม ส่วนการสานกระติ๊บข้าว ทอเสื่อ หรือสานกระเป๋า เป็นสิ่งที่แต่ละคนเลือกเรียนตามความชอบ และความต้องการใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากเรียนร่วมกันที่ศาลากลางบ้านแล้ว เยาวชนบางคนยังตามไปเรียนกับผู้สูงอายุที่บ้าน บางคนตั้งใจเป็นพิเศษที่จะสานกระติ๊บข้าว ทอเสื่อ และสานตะกร้าจากเส้นพลาสติกไปอวดเพื่อน ๆ ในเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ

“การเรียนจักสาน เราได้ทำไว้ใช้ และขายด้วย ในระหว่างการสานเป็นการฝึกฝนเราในเรื่องการมีสมาธิ” ฝนเล่า

โดยมีเฟี๊ยสเสริมว่า บางครั้งทำผิด ยายเขาบอกให้ทำใหม่ ก็ทำ ไม่รู้สึกหงุดหงิด อาจจะมีอารมณ์ท้อบ้าง ก็ทิ้งมันไว้ก่อน แล้วไปทำอย่างอื่น พออารมณ์ดีก็กลับมาทำอันเดิม ส่วนมากจะเป็นตอนครั้งแรก ๆ ที่ทำ หมดด้ายไปเยอะมาก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ มันก็ง่ายขึ้น เวลาเห็นผลงานของตนเอง รู้สึกภูมิใจที่เราก็ทำได้

สำหรับฟ้า เธอเลือกสานกระเป๋าจากเส้นพลาสติกเพราะมีสีสันสวยงาม น่าใช้ ซึ่งเธอบอกว่า การฝึกสานในตอนแรก ๆ ทำให้รู้สึกปวดแขน เพราะต้องใช้แรงกด สอด ทำให้ยังคงสานไม่เสร็จ แต่กำลังจะกลับมาสานต่อ

ส่วนโบ๊ต ซึ่งสามารถทอเสื่อเป็น ทำงานจักสานได้ ยังเลือกเรียนการสานตะกร้าและการทำบายศรีเพิ่มเติม ด้วยอยากมาเรียนรู้ร่วมกับพี่ ๆ เพราะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และเสริมความรู้ให้แก่ตนเอง

ด้านบิ๋ว เลือกเรียนสานกระติ๊บข้าว และกระเป๋าจากเส้นพลาสติก เพื่อเก็บไว้ใช้เอง เช่นเดียวกับเอิร์นที่เริ่มเรียนรู้จากการทอเสื่อ

การเรียนรู้ทำให้ทีมงานได้สัมผัสภูมิรู้ที่อยู่ในตัวตนของผู้สูงอายุ และซาบซึ้งต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพราะถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติที่สร้างประสบการณ์ตรงแบบนี้ คงไม่ได้รู้เรื่องราวบางอย่างที่เป็นเคล็ดลับของภูมิปัญญา เช่น ใครเล่าจะรู้ว่า การทอเสื่อที่ต้องทอด้วยไหล สลับด้วยเตย เพื่อกันไม่ให้เสื่อลื่นเกินไป แต่เฟี๊ยสเจอกับตัวเองเมื่อทอเสื่อด้วยไหลทั้งผืน เมื่อนำไปใช้งานเสื่อลื่นจนคนนั่งล้ม เมื่อสอบถามผู้รู้จึงค้นพบเคล็ดลับดังกล่าว ประสบการณ์ตรงที่ทำให้จดจำไม่รู้ลืมเช่นนี้คือ เสน่ห์ของการเรียนรู้จากการลงมือทำ

ประโยชน์ของการเรียนรู้ภูมิปัญญาเรื่องการจักสาน การทอ การทำบายศรี นอกจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ และฝึกสมาธิแล้ว ความรู้และทักษะที่ติดตัวเหล่านี้สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้

โบ๊ตซึ่งทำงานจักสานเป็นและสอนเพื่อนๆ ได้ด้วย บอกว่า เห็นยายสานไว้ใช้เองด้วย ขายด้วย เป็นงานที่ลงทุนน้อย เพราะซื้อแค่ด้ายกับเข็ม ส่วนไหล เตย หรือใบตอง เป็นพืชที่ปลูกเองที่บ้านอยู่แล้ว กระติ๊บข้าวใบย่อม ๆ ราคา 60 บาท เสื่อแบบเย็บขอบผ้าย้อมสีขาย 300 ถึง 500 บาท ถ้าเป็นเสื่อสีธรรมดาตอนเดียวขายผืนละ 80 ถึง 100 บาท

ดังนั้นงานสร้างรายได้จึงไม่ใช่เรื่องยากในความคิดเห็นของเด็กบ้านโนนรัง เพราะหากรู้จักขยันใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จะกลัวอะไรเมื่อมีความรู้ติดตัว

ในขณะที่เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาต่าง ๆ ตามวาระที่ได้นัดหมายกัน ทีมงานยังคงติดตามเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ทั้งการวัดความดัน เจาะเลือดตรวจเบาหวาน ชั่งน้ำหนัก พาออกกำลังกาย ดูแลความสะอาดของที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่ม กระทั่งเอาธุระพาพ่อเฒ่าแม่แก่ทั้งที่อยู่กับลูกหลานหรือที่ไม่มีคนดูแลไปโรงพยาบาลตามการนัดของแพทย์ หรือยามเจ็บป่วย

“นอกจากงานดูแลผู้สูงอายุแล้ว กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ทีมงานยังรับผิดชอบช่วยเหลืองานชุมชนอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะทำกันเองแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ทีมงานจะสอนน้อง ๆ ในชุมชนให้รู้วิธีการทำงาน ด้วยการพาทำ...เพื่อให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนวิธีการ ทั้งนี้เพราะทีมงานตระหนักว่า ในอนาคตเมื่อต้องไปเรียนต่อต่างถิ่น จะได้มีคนคอยช่วยเหลืองานชุมชนต่อไป”

­

เมื่อรู้ตัว...จึงเปลี่ยนแปลง

การดูแลเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ทำให้ทีมงานค้นพบว่า ผู้สูงอายุในชุมชนมีคนเป็นเบาหวานเพียง 3 คน ในขณะที่ผู้ใหญ่วัยต่ำกว่า 60 ปีลงมา มีคนที่เป็นเบาหวานจำนวนมาก การตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการตระหนักรู้ถึงนิสัยบริโภคของเยาวชนที่ส่วนใหญ่ชอบการดื่มน้ำอัดลม ทำให้ทีมงานรู้สึกว่า ควรอย่างยิ่งที่จะต้องปรับพฤติกรรมการกินดื่มของตนเองเพื่อที่จะไม่เป็นโรคเบาหวานในอนาคต

นอกจากงานดูแลผู้สูงอายุแล้ว กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน งานเอกสารและคอมพิวเตอร์ การส่งเอกสารต่าง ๆ ทั้งทางออนไลน์ หรือไปรษณีย์ ยังเป็นภาระที่ทีมงานรับผิดชอบช่วยเหลืองานชุมชนอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำกันเองแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ทีมงานจะสอนน้อง ๆ ในชุมชนให้รู้วิธีการทำงานด้วยการพาทำ ทั้งการพิมพ์เอกสารที่พี่ ๆ จะบอกว่าพิมพ์อะไร ตรงไหน อย่างไร แล้วให้น้องเป็นผู้ปฏิบัติ การส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ก็จะพาน้องไปด้วย เพื่อให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนวิธีการ ทั้งนี้เพราะทีมงานตระหนักว่า ในอนาคตเมื่อต้องไปเรียนต่อต่างถิ่น จะได้มีคนคอยช่วยเหลืองานชุมชนต่อไป

“เวลามีคนมาศึกษาดูงาน เราก็จะช่วยกันเก็บกวาด เตรียมงาน แต่ปีนี้ไม่ค่อยมีคนเข้ามา แล้วช่วยโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีที่แล้วเขาทำเกี่ยวกับผักปลอดสาร ส่วนปีนี้เขาต่อยอดเป็นปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ปลอดสาร ผู้ใหญ่บ้านให้หนูเป็นคณะกรรมการในโครงการของเขาด้วย” ฝนเล่าถึงบทบาทที่ได้รับมอบหมายจากชุมชน

ความกล้าแสดงออกเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในตัวทีมงานทุกคน เอิร์น บิ๋ว โบ๊ต เฟี๊ยส ฟ้า แม้จะเป็นรุ่นน้องแต่ก็กล้าที่จะโต้แย้งเมื่อเห็นพี่ฝนทำพลาดผิด ฝนเองก็กล้าที่จะ ยอมรับความผิดพลาดที่ตนเองทำและถูกน้อง ๆ เตือน ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในทีมเป็นเพราะการได้ร่วมหัวจมท้าย เรียนรู้ร่วมกันมา”

เมื่อครั้งทำโครดงการในปีแรกที่ฟ้าเป็นคนไม่กล้าแม้จะทำงาน เมื่อถึงคราวต้องนำเสนอก็ได้แต่แอบอยู่ข้างหลังพี่สาว แต่มาปีนี้ฟ้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง เธอสามารถตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน ความกล้าที่เกิดเป็นเพราะความตั้งใจของตนเองที่บอกว่า “ปีนี้ที่กล้าเปลี่ยนแปลงเพราะเห็นคนอื่นเขาเปลี่ยนแปลงแล้วเราก็อยากเปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง พอเปลี่ยนตัวเองได้ก็รู้สึก ดีใจที่ตนเองเปลี่ยนได้”

ความกล้าแสดงออกเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในตัวทีมงานทุกคน เอิร์น บิ๋ว โบ๊ต เฟี๊ยส ฟ้า แม้จะเป็นรุ่นน้องแต่ก็กล้าที่จะโต้แย้งเมื่อเห็นพี่ฝนทำพลาดผิด ฝนเองก็กล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดที่ตนเองทำและถูกน้อง ๆ เตือน ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในทีมเป็นเพราะการได้ร่วมหัวจมท้าย เรียนรู้ร่วมกันมา ฝนได้รับความเคารพจากน้องๆ จึงมีบทบาทเป็นทุกอย่างร่วมทั้ง “ที่พึ่งทางใจ” ของน้องๆ ในทีม

“เป็นที่ปรึกษา คอยเตือน คอยบอกน้อง ถ้าเขาเชื่อที่เราบอกก็ดีใจที่เขาฟังเรา สนใจเรา เวลาทำกิจกรรมถ้าเขาเล่นกันเราก็จะคอยบอก คอยเตือนว่า อย่าเพิ่งเล่นกันทำงานก่อน เขาก็จะหยุดเล่นมาทำงาน เราก็ดีใจที่น้องๆ ยังเชื่อฟังเรา เคารพเรา” ฝนสะท้อนถึงความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับจากน้อง ๆ

การทำงานเปลี่ยนแปลงผู้คน กระทั่งคนตัวเล็ก วัยเยาว์ก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในตนเอง บิ๋วสารภาพว่า เมื่อก่อนสนใจแต่การเล่นโทรศัพท์ จนเกิดอาการติดโซเชียลมีเดีย ไม่กิน ไม่นอน แต่เมื่อพี่ ๆ ชักชวนให้มาทำกิจกรรม ก็ต้องลดการเล่นโทรศัพท์ลง เพราะมีกติการ่วมกันว่า เวลาทำงานไม่ให้เล่นโทรศัพท์ เมื่อลด ละได้ในช่วงแรก ๆ ก็เลิกติดได้อย่างสิ้นเชิงในที่สุด

กติกาห้ามเล่นโทรศัพท์ในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดขึ้นเพราะพี่ ๆ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเวลาทำงาน ที่น้องต่างคนต่างเล่นโทรศัพท์ จนต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า ถ้าเป็นช่วงเวลาทำกิจกรรมไม่ให้เล่นโทรศัพท์ ซึ่งระยะแรก ๆ ของการบังคับใช้กติกาของกลุ่ม ปรากฏว่า มีน้องบางคนยังคงหยิบโทรศัพท์มาเล่น แต่พี่ ๆ จะข่มใจ ไม่ต่อว่าต่อขานหรือบังคับให้เลิกเล่น แต่ให้เวลาน้องปรับตัว

“ตอนแรกก็จะมีน้องบางคนเล่น เราก็ปล่อยให้เขาเล่นไปก่อน แต่พอเพื่อนไม่เล่น เขาจะรู้สึกอาย เพราะเพื่อนไม่มีใครเล่น เราก็ค่อย ๆ พูดกับเขาว่า ขนาดเพื่อนยังไม่เล่น เขายังทำได้ เขาก็เลยค่อย ๆ เลิก” ฝนเล่าถึงการจัดการปัญหา ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านทุกคนต่างเคารพกติกาที่เป็นอันรู้กันว่า ถึงเวลาทำงานจะปิดโทรศัพท์แล้วเอามาวางกองรวมกัน โดยไม่มีใครสนใจที่จะแอบหยิบไปเล่นจนกว่าจะถึงเวลาพักหรือเลิกกิจกรรม

นอกจากปัญหาเรื่องน้องเล่นโทรศัพท์ในเวลาทำงานแล้ว ปัญหาเรื่องเวลาไม่ตรงกันก็เป็นปัญหาสามัญประจำกลุ่มเยาวชนทุกกลุ่ม การประสานงานผ่านเฟซบุ๊กจึงเป็นทางเลือกในการนัดหมายวันเวลาในการทำงานให้ลงตัว แต่กระนั้นน้อง ๆ ก็มักจะมีปัญหาไม่ว่าง เพราะมีการบ้านจำนวนมากต้องทำ ซึ่งทีมงานได้หาทางออกโดยให้น้องหอบการบ้านมาทำด้วยกัน ห้องเรียนภูมิปัญญาจึงเจือปนกิจกรรมสอนการบ้านแก่น้อง ๆ ไปพร้อมกัน

ผลลัพธ์ของการเรียนรู้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุอย่างชัดแจ้ง สะท้อนผ่านสุขภาวะทางกายทางใจของผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสถิติการเป็นเบาหวาน ความดันเพิ่ม ยกเว้นคนที่เคยเป็นมาก่อนแล้ว ผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับลูก ๆ หลาน ๆ ความสุขใจจึงส่งประกายให้เห็นอย่างที่เฟี๊ยสเล่าว่า ผู้สูงอายุ เขามีความสุขมากขึ้น จากที่เขาอยู่คนเดียวเขาไม่เข้าสังคม ก็เห็นเขายิ้มได้ เวลามาทำกิจกรรมกับพวกเราก็รู้สึกดี

“ทั้งนี้ทีมงานมีแผนจะจัดเวทีนำเสนอผลการทำงานต่อชุมชน โดยตั้งใจว่า จะนำผลงานที่ทำเสร็จมาโชว์ด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้กับผู้สูงอายุ จึงอยากให้คนที่สอนเราได้มีความภาคภูมิใจว่า สิ่งที่ท่านสอนมาเราก็ทำได้” ฝนเล่าทิ้งท้ายถึงกิจกรรมที่จะทำซึ่งไม่วายที่จะเป็นกิจกรรม เพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่กลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการ

­

เกราะคุ้มกันเยาวชน

“ความสัมพันธ์ของคนสองวัยที่เริ่มต้นขึ้นยังเป็นการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนให้ ใกล้ชิดกันมากขึ้น การทำงานของทีมงานเป็นตัวอย่างแก่เพื่อน ๆ เยาวชนในชุมชน ที่ในอดีตจะมีกลุ่ม เด็กแว้นชอบขี่มอเตอร์ไซค์เสียงดังจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อได้เห็นว่าเกิดกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมที่ เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ส่วนหนึ่งจึงเกิดความรู้สึกอาย ในขณะเดียวกันทีมงานก็ได้ให้โอกาส ชวนเพื่อนขาแว้นให้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ทำให้ปัญหาเด็กแว้นในชุมชนลดลงไปมาก”

ไพรวัลย์ วงษ์ประเทศ พี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า นอกจากทำโครงการแล้ว ทีมงานยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง หลักในการช่วยเหลืองานของชุมชน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่ปีนี้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุ ได้มากกว่าเดิมแล้ว ความสัมพันธ์ของคนสองวัยที่เริ่มต้นขึ้นยังเป็นการเชื่อมร้อย ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น การทำงานของทีมงานเป็นตัวอย่างแก่เพื่อน ๆ เยาวชนในชุมชน ที่ในอดีตจะมีกลุ่มเด็กแว้นชอบขี่มอเตอร์ไซค์เสียงดังจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อได้เห็นว่า เกิดกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ แก่ชุมชน ส่วนหนึ่งจึงเกิดความรู้สึกอาย ในขณะเดียวกันทีมงานก็ได้ให้โอกาส ชวนเพื่อนขาแว้นให้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ทำให้ปัญหาเด็กแว้นในชุมชนลดลงไปมาก

“การทำงานของเยาวชนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน คือ เขาไม่ได้ไปมั่วสุม เขาอยู่แต่ในกลุ่มเขากับผู้สูงอายุ อย่างเรื่องผู้สูงอายุทั้ง 27 คนนี้เขาเอาอยู่ ผู้สูงอายุไปหาหมอไม่ได้ พวกเขาก็รับผิดชอบพาไป นับได้ว่าเด็กกลุ่มนี้ดีได้ดั่งใจ เรียกมาช่วยอะไร เขาก็มา มีความรับผิดชอบสูง”

พี่ป๊อก-ชุริวัฒน์ คำพน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอโนนคูณ และพี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า ในอดีตได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษากลุ่ม SOI ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอโนนคูณ เมื่อมีโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษก็ได้ร่วมกิจกรรมด้วย โดยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกลุ่มเยาวชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของโครงการ เพราะมองเห็นว่า การทำโครงการเป็นสิ่งช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ทั้งด้านทักษะส่วนตัว ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร

“ปีแรกเด็กบางกลุ่มการนำเสนอ การคิดโครงการยังคิดไม่ออกจะไปทางไหน แต่มาปีที่ 2 ก็พัฒนาขึ้น ผมกับพี่เลี้ยงแต่ละทีมก็ช่วยน้อยลง ให้เด็กคิดกันเอง เมื่อก่อนต้องคอยกระตุ้น อย่างนี้ได้ไหม คิดอย่างนี้ดีไหม มีอะไรเพิ่มเติมไหม ตอนนี้เด็กเขาจะคิดมาแล้วถามพี่เลี้ยงว่าคิดอย่างไร เขาจะคิด วางแผน บริหารจัดการกันเอง พี่เลี้ยงก็สบาย คอยจับประเด็นแล้วก็วัดประเมินผลให้ชัด ประเมินการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน” พี่ป๊อกเล่าถึงพัฒนาการในการทำงานของทีมเยาวชน

พี่ป๊อกมองว่า เด็กและเยาวชนวัย 15-25 ปีอยู่ในช่วงรอยต่อของชีวิต การเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานและทักษะชีวิตจึงเป็นเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำให้เยาวชนมีเกราะคุ้มภัย เพราะเมื่อเปรียบเทียบเด็กที่ทำกิจกรรมกับเด็กที่ไม่ทำกิจกรรม จะพบว่า เด็กที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในช่วงรอยต่อในชีวิตเขา เขาจะดูแลตนเองได้ ดูแลกลุ่มของตนเองได้ เอาตัวรอดได้

“การทำงานตรงนี้กับภาระงานในบทบาทเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผมว่ามันเป็นเกราะป้องกัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ไม่ต้องเปลี่ยนหลายอย่าง แต่ให้เริ่มเปลี่ยนจากสิ่งที่เขาทำได้ แล้วอย่างอื่นก็จะตามมา ผมว่าตรงนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันตนเอง และพัฒนาทักษะด้านอื่นไปด้วย เช่น การทำงานเป็นทีม และภายในกิจกรรมการทำงานเป็นทีมเขาก็จะพัฒนาทักษะเรื่องการดูแลตนเองด้วย การสื่อสารกับเพื่อนด้วย การป้องกันตนเองให้เอาตัวรอดในสภาพแวดล้อม ตรงนี้เด็กเขามีพื้นที่คิด ได้พัฒนาความคิดของตัวเขาเอง และได้แลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่น และยังได้เพื่อนใหม่ด้วย”

เพราะวัยที่ห่างกัน ใช่จะทำให้เหินห่างจากความสัมพันธ์ เยาวชนกลุ่มดาวกระจายสร้างสรรค์กิจกรรมที่ถมช่องว่างระหว่างวัย ใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุมีมาสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของคนสองวัย ช่วยสานความสัมพันธ์ พัฒนาสุขภาพกายใจผู้สูงอายุ เด็กๆ เอาใจใส่ดูแลผู้เฒ่าไม่ให้ชีวิตว่างเปล่า ว้าเหว่ ในขณะเดียวกันกิจกรรมที่ออกแบบยังได้ย้อนคืนประโยชน์ในการเติมเต็มความรู้ ทักษะในชีวิตให้แก่ตนเอง ในขณะที่ผู้ใหญ่วัยทำงานที่ต้องทำมาหากินก็หมดห่วง ทั้งลูกหลาน พ่อแม่ที่แก่เฒ่า ต่างอยู่ดูแลกันและกันอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย บรรยากาศความสุขของคนสามวัยจึงอบอวลให้รู้สึกได้ในทุกอณูของบ้านโนนรัง


โครงการวัยใสวัยเก๋าร่วมเล่าสืบสานวิถีชีวิต

พี่เลี้ยงชุมชน : 

  • ไพรวัลย์ วงษ์ประเทศ
  • ชุริวัฒน์ คำพน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอโนนคูณ

ทีมทำงาน :

  • กลุ่มเยาวชนบ้านโนนรัง ตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ

­