การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการทำจิตอาสาในชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ


สะพานสายบุญ เชื่อมสัมพันธ์ “สร้างพลัง” ในชุมชน 

โครงการสะพานสายบุญ

ที่เราต้องทำ เพราะอยากเห็นคนในหมู่บ้านสามัคคีกันมากขึ้น สามารถพูดคุยกันเข้าใจกัน ไม่แตกแยกกัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ช่วยเหลืองานกันได้ทุกอย่าง ไม่ต้องเกี่ยงกันว่านี้ไม่ใช่งานของเรา จึงไม่ทำ อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม หนูก็เลยคิดว่าต้องทำให้สำเร็จ

อะไร? ที่เป็นแรงผลักดันทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาสร้างสะพาน ซึ่งเป็น “สะพานสายบุญ”

“หนูคิดว่าต้องทำให้สำเร็จให้ได้” หนูอยากเห็น “คนในหมู่บ้านสามัคคีกันมากขึ้น และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน”

แล้ว “สะพานสายบุญ” สายนี้ มีความหมาย และความสำคัญอย่างไร เยาวชนกลุ่มนี้จึงมีแรงผลักดันที่จะทำให้เป็นจริงให้จงได้...

>> เยาวชนผู้ริเริ่มสร้างสะพาน

การเล่นเกม ติดโซเชียลมีเดีย ติดเพื่อน ฯลฯ เป็นพฤติกรรมที่ “คนรุ่นใหม่” เลือกใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้การใส่ใจสังคมรอบข้างลดลง การมีส่วนร่วมกับชุมชนลดลง และความสัมพันธ์ในชุมชนที่ปัจจุบันมักจะต่างคนต่างอยู่ เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ จึงทำให้เยาวชนจากบ้านทุ่งมน ตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนรุ่นใหม่กับคนในชุมชนได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ร่วมกันในชุมชนได้

“สถานการณ์ปัญหาของชุมชนที่มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ เช่น การเล่นเกม ติดโซเชียลมีเดีย ติดเพื่อน...เยาวชนและคนในชุมชนเข้าวัดน้อยลงทุกวัน ไม่มีคนมาร่วมพัฒนาชุมชนและพัฒนาวัด ชุมชนมีความแตกแยก ไม่สามัคคีกัน ขาดคนเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญ งานประเพณีของชุมชน สภาพปัญหาที่สัมผัสได้เช่นนี้จึงเป็นที่มาของโครงการสะพานสายบุญ ที่มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนและคนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี หันมาเข้าวัดทำบุญ และร่วมกันพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านให้น่าอยู่น่ามองมากขึ้น”

จุดเริ่มต้น ที่ทำให้เยาวชนบ้านทุ่งมนมีโอกาส “สร้างสะพาน” ได้ เพราะได้รับการชักชวนจากพี่มวล ประมวล ดวงนิล พี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 ให้พวกเขาได้ทำโครงการเป็นครั้งแรก ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย ฝน-กนกอร ประเสริฐสังข์ มิว-มลาภรณ์ เฟื่องบุญ นุ่น-สิรินรันต์ พลรักษ์ ใหม่- เบญจรัตน์ พันธุ ตุ้ยนุ้ย-ถิรพร แหวนวงษ์ และ ฟิว- จิรนุช เฟื่องบุญ แม้ตอนแรกลังเล เพราะมีงานหนัก ที่โรงเรียนรออยู่ และกำลังจะมีการประเมินโครงการสวนพฤกษศาสตร์ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ถ้ามีงานแบบนี้ นักเรียนมักจะได้รับมอบหมายงานเร่งด่วนและสำคัญมากมาย ทั้งงานเรียนในวิชาต่าง ๆ ที่ครูจะสั่งการบ้าน รายงานประเด็นที่เกี่ยวข้องมากเป็นพิเศษ และกิจกรรมที่ต้องเติมแต่งสวนพฤษศาสตร์ให้งดงามสมบูรณ์

การโน้มน้าวโดยยกตัวอย่างความดีงามของโครงการของเยาวชนในปีที่ผ่านมาที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งบอกเงื่อนไขการทำงานที่ไม่ได้ทำทุกวัน สามารถทำในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ รวมทั้งพระครูศรีปริยัติวงศ์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของเด็กๆ สนับสนุนให้ทำโครงการ ทำให้เยาวชนบ้านทุ่งมน ขอลองดูสักตั้ง แม้ว่าจะมีภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบมากมายก็ตาม

กลุ่มเยาวชนนั้นมีจิตอาสาอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้านอยู่เสมอ ทั้งร่วมปฏิบัติธรรม เป็นดีเจจัดรายการวิทยุชุมชนของวัดศรีห้วยทับทัน การช่วยกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ทั้งงานบวช งานแต่งงาน และงานศพ ตลอดจนการเป็นตัวแทนของชุมชนในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน จึงมีพื้นฐานการทำงานร่วมกัน การรวมทีมระหว่างพี่และน้องจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การหาประเด็นการทำงานที่พอเหมาะพอสมกับศักยภาพ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการนำทางจากพี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ที่จะ “กระตุ้น” ให้เยาวชนได้วิเคราะห์ตนเอง และวิเคราะห์ชุมชน

เริ่มด้วยการระดมความคิดจากเรื่องใกล้ตัวที่เห็นในชีวิตประจำวันคือ สถานการณ์ปัญหาของชุมชน ที่เยาวชนบ้านทุ่งมนเห็นว่ายังคงมีเยาวชนกลุ่มหนึ่งใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ เช่น การเล่นเกม ติดโซเชียลมีเดีย ติดเพื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นไม่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับวัดและชุมชน ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ควร สิ่งที่ไม่ควรในการประพฤติปฏิบัติ อีกทั้งเยาวชนและคนในชุมชนเข้าวัดน้อยลงทุกวัน ทำให้ไม่มีคนมาร่วมพัฒนาชุมชนและพัฒนาวัด ชุมชนมีความสามัคคีกันน้อยลง ขาดคนเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญ งานประเพณีของชุมชน สภาพปัญหาที่สัมผัสได้เช่นนี้ จึงเป็นที่มาของ “โครงการสะพานสายบุญ” สะพานที่จะสร้างให้เกิดการทำดีของคนในชุมชน โดยมี “วัดห้วยศรีทับทัน” เป็นพื้นที่กลางในการทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนรุ่นใหม่และคนในชุมชนเพื่อทำสิ่งดีๆ ในชุมชนของตัวเอง

ซึ่งโครงการมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนและคนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี หันมาเข้าวัดทำบุญ และร่วมกันพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านให้น่าอยู่ น่ามองมากขึ้น

มิวเล่าว่า “ตอนเริ่มทำงานโครงการ พี่เขาให้เราเสนอว่าจะทำอะไร อย่างไร พวกเราคิดทำเรื่องพัฒนาวัด เพาะเห็ด และปลูกผัก แต่การเพาะเห็ดมีข้อเสียคือ ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ไหนจะต้องตื่นแต่เช้าไปดู ไปรดน้ำ ถ้าเราไปโรงเรียนก็จะไม่มีใครไปรดน้ำให้ ส่วนการปลูกผักก็ติดเรื่องรดน้ำอีก กว่าพวกเราจะกลับถึงบ้านก็ค่ำ ไหนจะงานที่โรงเรียน ไหนจะต้องติวอีก เลยลงตัวที่โครงการสะพานสายบุญแทน ซึ่งก็ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนมากที่สุด”

ด้วยความช่วยเหลือจากพี่มวล และพี่เบ็ญ-เบ็ญจมาภรณ์ แดนอินทร์ที่แวะเวียนมาชวนคุย ชวนทีม งานวาดแผนที่หมู่บ้าน สืบค้นข้อมูลชุมชนจากสมุดแผนของหมู่บ้าน ทำให้ทีมงานเริ่มเห็นภาพรวม ของชุมชน ที่มีสมาชิกเพียง 90 ครัวเรือน หรือ ประชากรประมาณ 400 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพ เกษตรกร โดยมีพืชหลักที่ปลูกไว้รับประทานในครอบครัวคือ ข้าวหอมมะลิ 105 ส่วนนอกฤดูทำนา ชาวบ้านก็จะปลูกผักขาย และทำงานรับจ้างเพื่อหารายได้เสริม ในอดีตคนบ้านทุ่งมนเคยมีการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ในปัจจุบันแม้จะมีผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ทอผ้าเป็นอยู่ 3-4 คน แต่ก็ไม่ได้ทอผ้าแล้ว ทำให้ภูมิปัญญาดังกล่าวสูญหายไปจากชุมชนอย่างน่าเสียดาย

สถานที่สำคัญของชุมชนคือ มีหนองน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน แต่เดิมเรียกว่า “หนองมน” อันเป็นที่มาของชื่อบ้าน “ทุ่งมน” แต่ปัจจุบันได้เรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า “หนองตัมเปียง” โดยชุมชนมี การใช้ประโยชน์คือ นำปลามาปล่อยแล้วช่วยกันดูแล เมื่อถึงงานประเพณีสำคัญของชุมชน ชาวบ้านก็จะช่วยกัน สูบน้ำออกจากหนอง เพื่อนำปลามาประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงแขกที่มาในงาน บางปีมีการประมูลซื้อปลา ในหนองน้ำ ในราคาประมาณ 3,000 - 4,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำไปบริหารเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน เช่น ซื้อน้ำ ขนม ทำอาหารเพื่อเลี้ยงคนที่มาช่วยพัฒนาหมู่บ้าน

นอกจากนี้ยังมีศาลปู่ตาซึ่งเป็นศูนย์รวมความเชื่อ มีวัดศรีห้วยทับทันซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีผู้มาปฏิบัติธรรม อยู่เป็นประจำ แต่ก็มีแนวโน้มว่า คนรุ่นใหม่ และวัยทำงานเริ่มไปวัดน้อยลงเรื่อย ๆ ทีมงานจึงเลือกประเด็นนี้เป็นโจทย์ในการทำงาน และใช้เป็นเงื่อนไขในการเชิญชวนสมาชิกในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา ชุมชน

“พี่ ๆ เขาก็ถามไปเรื่อยว่า บ้านของเรามีอะไรดี เราก็พูดออกไปเรื่อย ๆ พี่เขาก็บอกให้เขียนสิ่งที่เราพูด แล้วเขาก็ถามอีกว่า มีอะไรอีกไหม หนูก็เล่าไป ยิ่งเล่าก็ยิ่งเขียนได้เรื่อย ๆ นอกจากเล่าแล้ว เรายังนำข้อมูลจาก สมุดแผนที่ของชุมชนมาเช็คด้วยว่า ข้อมูลถูกต้องตรงกันไหม” ตุ้ยนุ้ยและมิวช่วยกันเล่าถึงวิธีการที่พี่ ๆ มาช่วยพัฒนาข้อเสนอโครงการ

การที่ต้องมีพี่เลี้ยงคอยพาทำไปทีละขั้นตอนนั้น เป็นเพราะทีมงานมีความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ เกิดขึ้นในจิตใจ เนื่องจากทุกคนไม่มีประสบการณ์การทำโครงการมาก่อน ความไม่รู้ทำให้ต้องแบกความ กลัวสารพัดสารพัน “พวกเราไม่เคยทำโครงการมาก่อน นี่เป็นโครงการแรกของพวกเราเลย ตอนนั้นเราก็กลัวว่า จะไม่สำเร็จ กลัวจะไปไม่ได้ กลัวมันยาก” ฝนสะท้อนความรู้สึกในช่วงแรกๆ ของการทำงาน”

เมื่อมีพี่เลี้ยงคอยประคับประคองอยู่ข้างๆ หนุนเสริมการทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีมงานจึงค่อยๆ ออกจากร่มเงาของความกลัวที่มีอยู่ โดยมีสิ่งที่อยากเห็นเป็นแรงผลักดัน

“ที่เราต้องทำ เพราะอยากเห็นคนในหมู่บ้านสามัคคีกันมากขึ้น สามารถพูดคุยกัน เข้าใจกัน ไม่แตกแยกกัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ช่วยเหลืองานกันได้ทุกอย่าง ไม่ต้องเกี่ยงกันว่านี้ไม่ใช่งานของเรา จึงไม่ทำ อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม หนูก็เลยคิดว่าต้องทำให้สำเร็จ” มิวเล่า


>> พัฒนาวัด พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาคน

“กิจกรรมการพัฒนาวัด เกิดขึ้นเพราะทีมงานมองเห็นว่า วัดศรีห้วยทับทันเป็นวัดที่มีผู้มาประกอบศาสนกิจจำนวนมาก แต่มีผู้ที่ช่วยพระสงฆ์ดูแลวัดไม่มากนัก บางครั้งก็เกินกำลังที่จะดูแล ได้ทั่วถึง การอาสาเข้าไปช่วยล้างห้องน้ำ กวาดลานวัด ทำความสะอาด และจัดสถานที่ จึงเป็นงานที่ตอบโจทย์โครงการ…ไม่รู้สึกรังเกียจ เพราะทำแล้วให้คนอื่นใช้ด้วย เราไม่ได้ใช้คนเดียว เราต้องทำให้ สะอาดมากที่สุดเพราะเป็นของส่วนร่วม"

หลังได้รับการเติมแรงใจจากพี่เลี้ยงโครงการ จนเยาวชนบ้านทุ่งมนเกิดความมั่นใจในสิ่งที่จะทำ กิจกรรมแรกของ โครงการก็เกิดขึ้น นั่นคือ การจัดประชุมทีม เพื่อทบทวนแผนงาน แบ่งหน้าที่กันตามความสามารถ และความถนัดของแต่ละคน ฝนเป็นคนจดบันทึก ฟิวทำหน้าที่ประสานงาน ใหม่ วาดรูป และช่วยพี่ ๆ ในทุกเรื่อง ตุ้ยนุ้ยทำหน้าที่คิดวิเคราะห์โดยช่วยกันกับมิว ซึ่งรับหน้าที่กุมภาพรวมของงาน และคุมงบประมาณ เพราะมีความรู้ เรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่เรียนรู้มาจากแม่ซึ่งเป็นเหรัญญิกของหมู่บ้าน

ทีมงานบอกว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการชี้แจงโครงการต่อชุมชน เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านถึงที่มาที่ไปของโครงการ งบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากชุมชนในการให้ข้อมูลและกิจกรรมที่จะทำต่อไป จึงใช้โอกาสที่มีการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านชี้แจงโครงการ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวบ้านที่เห็นดีเห็นงาม เพราะอยากให้เยาวชนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

จากนั้นทีมงานจึงร่วมกันเก็บข้อมูลชุมชน โดยข้อมูลหลักที่ทีมงานต้องการทราบคือ ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเพณีของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จำนวนคนที่ไปทำบุญที่วัด และสาเหตุที่คนไปหรือไม่ไป ทำบุญที่วัด ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นฐานในการออกแบบกิจกรรมของโครงการ ให้สอดคล้องกับกิจกรรม ทางวัฒนธรรมของชุมชนต่อไป

ทีมงานระดมกันตั้งประเด็นคำถาม โดยมีประเด็นที่ต้องการทราบ เช่น ในรอบ 1 ปี ชุมชนมีกิจกรรมอะไรบ้างที่ทำร่วมกัน กิจกรรมที่ทำในวัดมีอะไรบ้าง และทำในช่วงเวลาใด แต่ละกิจกรรมทำอย่างไร มีใครเข้าร่วมบ้าง, คนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมเพราะอะไร และมีกิจกรรมอะไรที่คนชุมชนเข้าร่วมมากที่สุดเพราะอะไร พร้อมทั้งกำหนด กลุ่มเป้าหมายในการสอบถามข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวบ้าน และตัวแทน เยาวชนในหมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 38 คน โดยทีมงานได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อแยกย้ายกันไปสอบถามข้อมูล จากกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่กำหนดไว้

“ที่ต้องไปเก็บข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาวางแผนการทำกิจกรรมของเรา เพราะตอนแรกที่เราวางแผนที่จะไป พัฒนาวัด พวกพี่เขามาสอนเก็บข้อมูลแบบนี้ ทำให้เราอยากทำร่วมกับชุมชน แล้วก็มีข้อมูลคนที่มาร่วมกิจกรรม แบ่งเป็นช่วงอายุ ว่าช่วงอายุไหนเข้าวัดมากที่สุด ซึ่งพบว่าเป็นคนแก่ อายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่ไม่ค่อยเข้าวัดคือวัยทำงาน ที่ให้เหตุผลว่าติดงาน ไม่มีเวลา บางคนก็บอกว่าขี้เกียจ ส่วนคนที่ชอบมาวัดเราก็ถามว่า เพราะอะไร เขาก็บอกว่า เพราะเป็นวัดของเรา” มิวสรุปข้อมูลที่ได้มาอย่างคร่าวๆ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีในรอบปี ทีมงานทำสรุปให้เป็นระบบระเบียบในรูปแบบปฏิทินวัฒนธรรม ซึ่งก็ทำให้ทีมงานได้ทราบว่า ประเพณีบุญบั้งไฟได้สูญหายไปแล้วจากชุมชน จากข้อมูลที่ได้มาทำให้ทีมงาน ตัดสินใจร่วมกันว่า จะทำกิจกรรมพัฒนาวัดในทุกโอกาสที่จะมีงานประเพณี หรืองานสำคัญๆ ของวัด และจะทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่หนองน้ำร่วมกับชุมชน

ในส่วนของกิจกรรมการพัฒนาวัด เกิดขึ้นเพราะทีมงานมองเห็นว่า วัดศรีห้วยทับทันเป็นวัดที่มี ผู้มาประกอบศาสนกิจจำนวนมาก แต่มีผู้ที่ช่วยพระสงฆ์ดูแลวัดไม่มากนัก บางครั้งก็เกินกำลังที่จะดูแลได้ทั่วถึง การอาสาเข้าไปช่วยล้างห้องน้ำ กวาดลานวัด ทำความสะอาด และจัดสถานที่ จึงเป็นงานที่ตอบโจทย์โครงการ

“ต้องล้างห้องน้ำ ไม่รู้สึกรังเกียจ เพราะทำแล้วให้คนอื่นใช้ด้วย เราไม่ได้ใช้คนเดียว เราต้องทำให้ สะอาดมากที่สุดเพราะเป็นของส่วนร่วม” ฝนสะท้อนความรู้สึก

โดยมีตุ๊ยนุ้ยเสริมอย่างแข็งขันถึงความรู้สึกที่นึกถึงใจเขาใจเราว่า “เวลาเราใช้เราก็อยากให้มันสะอาด เวลาคนอื่นใช้เขาก็อยากให้มันสะอาดเหมือนกัน”

ส่วนการพัฒนาหมู่บ้าน ทีมงานตั้งใจจะปลูกต้นไม้รอบหนองตัมเปียงซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะบริเวณ ดังกล่าว มีเพียงหญ้าแฝกปลูกไว้กันดินพังทลาย ทำให้บริเวณโดยรอบมีความร้อนสูง ทีมงานจึงตั้งใจชวน ชาวบ้านปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงา โดยเลือกปลูกต้นลำดวน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ และไม้ยืนต้นที่กินได้ เช่น ต้นผักติ้ว ต้นผักเม็ก มะนาว มะกรูด มะขามป้อม โดยหวังว่าอีก 2 - 3 ปี ต้นไม้ออกดอก ออกผลจะได้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน

ทีมงานเล่าว่า ก่อนวันงานพวกเขาไปหาพันธุ์ไม้ และเตรียมพื้นที่โดยการขุดหลุมไว้ให้ชาวบ้าน โดยตั้งใจว่า ในวันงานนอกจากจะมีกิจกรรมปลูกต้นไม้แล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของกลุ่ม และนำเสนอปฏิทินวัฒนธรรมของหมู่บ้าน แต่น่าเสียดายที่ในช่วงดังกล่าว มีงานบวชพระหลายแห่ง ทำให้ไม่สามารถยืมเต้นท์เพื่อเตรียมสถานที่ได้ งานในส่วนของการจัดนิทรรศการจึงต้องยกเลิกไปโดยปริยาย

“ตอนนั้นมีงานบวช 3-4 ที่ พวกเราเลยทำได้แค่ชวนชาวบ้านปลูกต้นไม้ ติดป้ายให้ความรู้ และถ่ายรูป แจกอาหาร น้ำ ให้คนที่มาร่วมกิจกรรมของเรา” ทีมงานเล่าภาพวันปลูกต้นไม้


>> ก้าวข้ามคำปรามาส

“ทีมงานมีความคิดเห็นว่า การที่สังคมมีคนหลากหลายความคิดเป็นสิ่งดี แม้บางครั้งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งก็ตาม เพราะทำให้เราได้รู้จักความคิดของแต่ละคน เพียงแต่ต้องใช่เหตุผลในการอธิบายความเข้าใจกัน และต้องรับฟังเหตุผลของคนอื่นด้วย”

การพัฒนาวัดและการปลูกต้นไม้รอบหนองตัมเปียง หากเป็นการทำงานเฉพาะกลุ่มทีมงาน ซึ่งเข้าใจเป้าหมายอยู่แล้วคงไม่ยาก แต่ทีมงานมีโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ การเชิญชวนเยาวชน และชาวบ้านให้ร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยงาน

“ชวนน้อง ๆ มาร่วมนั้นไม่ยาก เพราะเด็ก ๆ ในชุมชนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอยู่แล้ว เราก็ชวนน้องล้าง ห้องน้ำ กวาดลานวัด จัดสถานที่ ฯลฯ แต่สำหรับผู้ใหญ่ต้องใช้การประชาสัมพันธ์เชิญชวนผ่านเสียงตามสาย ของหมู่บ้าน แต่ตอนนั้นเขาทำศาลากลางบ้านใหม่ ทำให้ประกาศเสียงตามสายไม่ได้ จึงต้องเดินเคาะประตู เชิญชวนตามบ้านไปทีละหลัง” มิวเล่า

แต่ความตั้งใจดีก็ถูกพิสูจน์ เมื่อมิวกับตุ้ยนุ้ยพากันเดินเคาะประตูบ้านเชิญชวนพี่ ป้า น้า อา ลุง ผู้ใหญ่ ในชุมชนให้มาร่วมกันพัฒนาวัด และพัฒนาหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่ก็มีบางคน ที่พูดจาปรามาส ทำร้ายจิตใจเด็กๆ จนต้องเสียน้ำตา

“เขาบอกว่า เขาไม่ไป ไม่ใช่หน้าที่ของเขา แล้วยังว่าอีกว่า น้ำหน้าอย่างพวกเราจะทำอะไรได้ เขาไม่เชื่อว่าเด็กอย่างเราจะทำได้” มิวเล่า พร้อมกับเสียน้ำตาด้วยความเสียใจอีกครั้ง

“หนูไปด้วย เจอแบบนี้รู้สึกท้อ เสียใจ แต่ไม่เลิกล้ม เพราะอยากให้เขาเปลี่ยนใจมาช่วยกันทำ เพราะทำแล้วมันดี เจอแบบนี้ เราก็ยังต้องทำไปเรื่อย ๆ เราต้องพูด ต้องบอกเขาว่า หนูกำลังช่วยให้หมู่บ้านดีขึ้น บอกให้เขามาช่วยกัน” ตุ้ยนุ้ยเล่าเสริมด้วยน้ำเสียงเริ่มเครือและน้ำตาเริ่มคลอ

ความรู้สึกท้อแท้และเสียกำลังใจ ทำให้ทีมงานเกิดอาการเหนื่อยหน่าย แต่ทุกคนก็ยังไม่ล้มเลิกการทำโครงการ วิธีการกอบกู้ความรู้สึก ก็คือ ระบายผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งก็เป็นช่องทางที่ทำให้ได้คุยกับพี่เลี้ยง

“เวลาพี่เบ็ญถามว่าเหนื่อยไหม หนูก็บอกว่าเหนื่อย เพราะต้องรับผิดชอบหลายอย่าง แล้วมาเจอคำพูดแบบนี้มันทำให้หนูท้อ แต่หนูก็บอกพี่เบ็ญว่า ไม่เป็นไร หนูจะพยายาม ทำให้สำเร็จ หนูอยากทำให้เขารู้ว่า แม้หนูจะเป็นเด็ก ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากมายเหมือนผู้ใหญ่ แต่หนูก็มีความสามารถในการช่วยพัฒนาหมู่บ้านได้” มิวเล่า

ความพยายามในการทำงานให้สำเร็จของทีมงาน สะท้อนจากความมุ่งมั่นและความพยายามผ่านการต้องดูแลรดน้ำต้นไม้ที่พวกเขาลงแรงปลูกไว้รอบหนองตัมเปียง งานรดน้ำที่เคยเป็นเงื่อนไขให้ไม่เลือกทำกิจกรรมเพาะเห็ด และปลูกผักในตอนแรก จึงกลายมาเป็นงานที่เต็มใจสละเวลามาทำในวันนี้

นอกจากนี้ ด้วยวัยที่หลากหลายของทีมงาน ทำให้เวลาจัดประชุมแต่ละครั้ง ทีมงานต้องผสมผสานความแตกต่างทางความคิด บางครั้งที่ความคิดเห็นขัดแย้งกันก็ต้องใช้เวลาในการอธิบาย รับฟังกันและกัน การตัดสินใจเลือกจึงขึ้นอยู่กับเหตุผลที่แต่ละคนอธิบาย หรือบางครั้งก็ต้องเอาความเห็นของหลายคนมาผสมกันเป็นข้อสรุปของกลุ่ม

“เวลาทำงานก็มีขัดแย้งกันบ้าง ส่วนมากเป็นเรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่หนูว่า เราไม่จำเป็นต้องมี ความคิดเห็นที่ตรงกันก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แล้วนำความคิดที่แตกต่าง หลากหลายมารวมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมแก้ไข” มิวเล่าถึงปัญหาที่ประสบและวิธีแก้ปัญหา

อุปสรรคเล็กๆ อีกเรื่องที่ทีมงานต้องประสบคือ บางครั้งที่เพื่อนอาจมีภาระส่วนตัวทำให้มาไม่ตรงเวลา หรือไม่สามารถร่วมประชุมได้ทุกครั้ง คนที่อยู่ก็ต้องช่วยกันเล่าความคืบหน้าของการทำงาน และชี้แจงบทบาทหน้าที่ ในกิจกรรมนั้นๆ เพื่อให้เพื่อนตามทัน


>> รู้งาน รู้ตัว และรู้ตน

การทำงานที่ต้องลงมือ ลงแรง ทำให้ทีมงานแต่ละคนได้รับประโยชน์ส่วนตนที่แตกต่างกันออกไป เช่น ฟิวบอกว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อเธอมาก ทำให้เธอมีประสบการณ์มีความรู้รอบด้าน โดยเฉพาะการวางแผนว่าต้องทำงานอย่างไร รู้จักแบ่งเวลาในการเรียนกับการทำกิจกรรม เวลาคุณครูสั่งงานก็ สามารถทำได้

“เมื่อก่อนเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืน ชื่นชอบการชมหมอลำเป็นอย่างมาก รองลงมาก็ทริปรวมกลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบรถโดย แต่เมื่อทำโครงการ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบทำให้ลดการเที่ยวลงโดยปริยาย ประจวบเหมาะกับที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงวางแผนว่า เสร็จโครงการนี้แล้วต้องพยายามสอบให้ติดให้มีที่เรียนต่อได้ คงไม่หวนคืนสู่การเที่ยวอย่างหนักหน่วงเหมือนเดิมอีกต่อไป”

“ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ แล้วทำให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น การได้ไป ร่วมอบรมในเวทีต่างๆ ร่วมกับเพื่อนๆ เครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษแต่ละคร้ั้ง นอกจากต้องเตรียมงานไปนำเสนอแล้ว ก็ต้องมาช่วยพี่เลี้ยงโครงการเตรียมงานด้วย สิ่งเหล่านี้ฝึกให้เราเป็นคนตรงต่อเวลา” ตุ้ยนุ้ยเล่า โดยได้ยกตัวอย่างทักษะการคิดวิเคราะห์ของตนเองที่เกิดจากการทำโครงการนี้ ที่ต้องคิดวัตถุประสงค์ของโครงการ ผลที่จะได้รับจากการทำโครงการ ซึ่งจะต้องคิดให้สัมพันธ์กัน กล่าวคือ ต้องคิดวัตถุประสงค์ขึ้นมาก่อนว่าจะทำอะไร และคิดต่อว่าทำสิ่งนี้แล้วอยากจะได้ผลอย่างไร

ด้านฝนบอกว่า เธอแบ่งเวลาเป็นมากขึ้น เมื่อก่อนอยากทำอะไรก็ทำ แต่ตอนนี้ก็ต้องพิจารณาว่า มีหน้าที่ในโครงการที่ต้องทำด้วย เช่น เมื่อก่อนนั่งทำงานอยู่ที่โรงเรียนกว่าจะกลับบ้านก็มืดค่ำแล้ว แต่เดี๋ยวนี้หากมีกิจกรรมในโครงการต้องรีบกลับบ้าน สมมุติว่าวันนี้มีประชุมทีมตอนเย็นที่ในหมู่บ้าน ก็จะบอกเพื่อนว่า วันนี้ขอกลับก่อนได้ไหม มีงานที่บ้าน เพื่อนก็ให้มา นอกจากนี้เธอยังรู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง นั่นคือ การประชาสัมพันธ์ ที่ต้องคอยบอกเพื่อนให้มาประชุม หรือการจดบันทึกประชุม เป็นต้น

ฝนยังสารภาพต่อว่า เมื่อก่อนเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืน โดยชื่นชอบการชมหมอลำเป็นอย่างมาก รองลงมาก็ทริป (การรวมกลุ่มของผู้ชื่นชอบรถ) แต่เมื่อทำโครงการมีภาระที่ต้องรับผิดชอบทำให้ลดการ เที่ยวลงโดยปริยาย ประจวบเหมาะกับที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงวางแผนว่า เสร็จจากโครงการนี้ แล้วต้องพยายามสอบให้ติดให้มีที่เรียนต่อให้ได้ คงไม่หวนคืนสู่การเที่ยวอย่างหนักหน่วงเหมือนเดิม อีกต่อไป

สำหรับมิวนั้น บอกว่า เธอมีความคิดที่แปลกใหม่มากขึ้น จากการเรียนรู้ที่พี่ๆ โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษแนะนำ อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดความคิดแปลกใหม่ที่สร้างสรรค์ โดยสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนคือ สามารถทำโครงงานที่คุณครูสั่งได้ และสามารถนำความรู้จากการทำโครงการไปแนะนำเพื่อนๆ ในชั้นเรียนเรื่องการเขียนโครงงานได้

อย่างไรก็ตามมิวยอมรับว่า สาเหตุที่ถูกผู้ใหญ่ปรามาส อาจเป็นเพราะเดิมเธอมีพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่น่าชื่นชมนัก เพราะติดเที่ยวกลางคืนเช่นเดียวกับฝน แต่มิวชอบร่วมงานทริปมากกว่าชมหมอลำ ซึ่งปัจจุบันก็สามารถลดละการเที่ยวไปได้ เพราะต้องรับผิดชอบทำโครงการ และมีภาระเรื่องเรียนมากขึ้นนั่นเอง

ด้านนุ่นบอกว่า เรื่องราวทั้งหมดในการทำโครงการคือ ความรู้ใหม่ และประสบการณ์ใหม่ของชีวิต ที่ผ่านมาเธอติดโซเชียลมีเดียหนักมาก แต่เมื่อก้าวเข้ามาทำโครงการนี้ทำให้เธอคิดเป็นและคิดได้โดยไม่รู้ตัว เพราะอย่างน้อยการรู้ตัวรู้ตนว่า การเล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ เบียดบังเวลาทำการบ้าน และอ่านหนังสืออย่างมาก อีกทั้งยังทำให้เสียเงิน ปัจจุบันนุ่นจึงต้องตั้งใจที่จะเล่นอย่างมีสติ โดยสร้างเงื่อนไขว่า ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน จึงจะเล่นแต่พอประมาณก่อนจะเข้านอน

ทีมงานประกาศยืนยันว่า แม้จะทำโครงการเสร็จไปแล้ว แต่ก็จะไปช่วยงานที่วัด และช่วยงานของชุมชนต่อเนื่องต่อไป เพราะการได้เห็นคนในชุมชน และเยาวชนในหมู่บ้านเข้าวัดมากขึ้น ภาพที่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนต่างลงแรงร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาชุมชน หลังจากการเชิญชวนของโครงการเป็นบรรยากาศที่น่าชื่นใจ ซึ่งการได้มาช่วยกันทำงานยังทำให้ได้พบปะพูดคุยกัน กลายเป็นการสานความสัมพันธ์ของคนในชุมชน แม้ที่ผ่านมาอาจจะคลายความเหนียวแน่นไปบ้าง เพราะต่างคนต่างอยู่ ให้กลับมากลมเกลียวกันมากขึ้น อันเป็นเป้าหมายปลายทางที่ทีมงานอยากเห็นและได้เห็นแล้วในวันนี้


>> เสียงจากผู้เฝ้ามอง

นพ แหวนวงษ์ คุณพ่อของตุ้ยนุ้ย สะท้อนความเห็นว่า ดีใจมากที่เห็นเด็กๆ รวมตัวกันทำกิจกรรม นอกจากจะได้ประสบการณ์ชีวิตแล้ว ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าเลิกเรียนมาแล้วไปเที่ยวเตร่ ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวไปวันๆ ผลที่เห็นได้ชัดจากโครงการที่เด็กๆ ทำ คือ คนในชุมชนไปวัด ไปร่วมงานของหมู่บ้านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนบทบาทการสนับสนุนทีมงานนั้น ในฐานะผู้ปกครองก็จะทำหน้าที่ไปรับไปส่งเวลาที่ลูกและเพื่อน ๆ ต้องไปประชุม หรือไปอบรม “ส่วนใหญ่จะไปส่งแล้วกลับ เพราะไว้ใจว่าเขาไปกับทีมงานของเขา เราก็ไว้วางใจ ไม่กลัวว่าเขาจะแอบเที่ยว เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ดูแลอยู่ ไม่กลัวว่าหัวหน้ามวลจะหลอกไปขาย เพราะรู้จักกันอยู่หมู่บ้านใกล้ๆ นี้เอง”

พี่แจ๋ว-พุทธ ราชรักษาผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งมานั่งฟังทีมงานเล่าประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ต้น บอกว่า ที่ผ่านมาเมื่อเด็กๆ ไปชวนให้ร่วมกิจกรรมก็จะไปร่วมเสมอ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อวัด ต่อชุมชน ซึ่งทำให้ได้สัมผัสการทำงานอย่างขยันขันแข็งของทีมงาน จึงบอกได้ว่า รู้สึกภูมิใจที่เยาวชนรู้จักทำกิจกรรมเพื่อชุมชน จึงคาดหวังว่า เมื่อโตขึ้นพวกเขาจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป

สำราญ โสดา พี่เลี้ยงชุมชน ออกตัวว่าเป็นพี่เลี้ยงที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรมากนัก บทบาทที่ทำคือ การคอยกระตุ้นเตือนทีมงานเมื่อใกล้ถึงเวลาที่ต้องทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ และร่วมทำกิจกรรมพัฒนาวัด และปลูกต้นไม้ไปพร้อมกับเด็กๆ นอกจากนี้ก็จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการกับชาวบ้าน และประสานงานกับผู้ใหญ่ หรือพระที่วัดบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วทีมงานสามารถทำงานเองได้ค่อนข้างดี

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือ คนที่ช่างพูดช่างทำ สามารถพูดและทำได้มากขึ้น โดยมีความกล้าแสดงออก กล้านำเสนอ กล้าขึ้นเวที ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดี ส่วนน้องเล็กๆ ก็ยังอาจจะไม่กล้าเท่าพี่ๆ แต่เขาก็สามารถทำงานร่วมกับพี่ๆ ได้ดี ซึ่งในอนาคตก็อยากให้เด็กเยาวชนสานต่องานที่ได้เริ่มทำไว้ต่อไป

การก้าวข้ามความกลัวและความท้อแท้จากคำปรามาส เป็นบทเรียนที่ทำให้เยาวชนบ้านทุ่งมนเติบโต พัฒนาความรับผิดชอบและสำนึกจิตอาสาที่เดิมมีอยู่แล้วในเนื้อในตัวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เยาวชนแต่ละคนได้พัฒนาทักษะชีวิตที่เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง ผ่านหน้าที่ ความรับผิดชอบ การรู้จักตนเอง และเท่าทันตนเอง ศักยภาพที่ถูกเติมต่อเป็นแรงหนุนภายในที่ติดตัวพวกเขา ฉะนั้น “สะพานสายบุญ” ก็เปรียบเสมือน “กระบอกเสียง” และ จุดเริ่มต้นของเส้นทางที่นำพาให้ เยาวชนบ้านทุ่งมน ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองเพื่อเป็น “ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่” ที่พร้อมจะเชื่อมร้อยความสัมพันธ์สร้างพลังให้กับคนในชุมชน จึงเชื่อมั่นได้ว่า เยาวชนกลุ่มนี้จะไม่ทอดทิ้งหมู่บ้านทุ่งมนให้หม่นหมองเงียบเหงา หากแต่จะช่วยกันสร้างสรรค์และสานต่อกิจกรรมดี ๆ ที่จะทำเพื่อให้ชุมชนของตนมีบรรยากาศของการร่วมแรงร่วมใจกันตลอดไป


โครงการสะพานสายบุญ

พี่เลี้ยงชุมชน : สำราญ โสดา

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านทุ่งมน ตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ