การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อการจัดการขยะและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

กบเติบใหญ่ ใจเติบโต

โครงการกบสร้างพลังสามัคคีชีวีพอเพียง

  • แรกๆ ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่ก็มาคิดว่าเราเป็นแกนนำ เป็นคนคิดที่จะทำ เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ ต้องเอาชนะใจตัวเอง สู้เพื่อครอบครัว เพื่อชุมชน...รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก จากเด็กที่ติดมือถือ เดี๋ยวนี้เล่นน้อยลง ถึงตอนนี้ต่อให้พี่เลี้ยงไม่มาตามงาน ไม่มาสนใจ ก็ยังทำต่อ เพราะเราทำเองได้แล้ว ที่ทำอยู่ก็มีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อคนอื่นในชุมชน
  • บ้านหนองมะเกลือ ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ประสบปัญหาขยะขวดน้ำเกลื่อนเมือง ถึงขนาดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมขังช่วงฝนตกหนัก เนื่องจากขวดน้ำเข้าไปอุดตันทางน้ำไหลในท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำระบายไม่ทัน


+ ขอแก้มือ...

เพราะผลลัพธ์จากการทำโครงการเพาะเห็ดเพาะใจสานสายใยชุมชนในปีที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจ ปีนี้ทีมงานจึงอยากแก้มือ และท้าทายตัวเอง อีกครั้ง...

ทีมงานซึ่งประกอบด้วย จุ๋ม-จารุวรรณ เนตรนิจ อิ๋ง-วนิดา เทนโสภา แกนนำปีที่แล้ว จึงอาสารวมทีม เพื่อนนักเรียนที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันปีก่อนขึ้นมาเป็นแกนนำโครงการในปีที่ 2 โดยมี นิก-ชนิดา เทนสุนา นุ่น-บุษกร เสนคำสอน แพรว-ธิญาดา คงราช และ ปรางค์-ธิติมา ป้องกัน เข้ามาเสริมทีม

"เราคาดหวังไว้เยอะกับการเพาะเห็ดในปีแรก แต่ก็ล้มเหลวไม่ได้อย่างหวัง เลยอยากทำใหม่ให้ดีกว่าเก่า" จุ๋ม ที่แม้จะย้ายออกไปเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนอกพื้นที่ แต่ด้วยใจสู้จึงไม่ทิ้งให้น้องดำเนินโครงการ ตามลำพัง บอกเล่าความรู้สึก

ครั้งนี้ทั้ง 6 คนคิดโจทย์ด้วยการนำปัญหาขยะในชุมชนเป็นตัวตั้ง "ขวดน้ำพลาสติกนำไปทำอะไร ได้บ้าง?" แล้วลงมือค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากอินเทอร์เน็ต จนพบคำตอบที่แปลก แต่น่าสนใจ ว่า ขวดน้ำพลาสติกที่ไร้ค่า สามารถนำมาทำเป็นคอนโดให้ อาศัยอยู่ได้ "บก" จึงเป็นที่มาของโครงการกบ สร้างพลังสามัคคีชีวิตพอเพียง

จุ๋ม เล่าต่อว่า เมื่อโจทย์โครงการชัด ทีมงานจึงร่วมกันวางเป้าหมายหลักไว้ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1. ลดปริมาณขยะขวดพลาสติกในชุมชน 2. ดึงเด็กและเยาวชนในโรงเรียนมาทำโครงการร่วมกัน เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และ 3. รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงกบแบบคอนโด เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน

"ความร่วมมือร่วมใจของทีมงานที่ต่างคนต่างช่วยกันเต็มที่ ทั้งตัดขวดทำคอนโด ทำชั้นวางคอนโด แล้วยังต้องแบ่งเวรกันมาให้อาหารกบวันละ 2 ครั้ง เปลี่ยนน้ำทุก 2 วัน คือ ความรับผิดชอบร่วมที่ทีมงานต่างช่วยกันทำเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่มีใครเกี่ยงงานเลย"

­

+ บ่มเพาะความรับผิดชอบ

จุ๋ม เล่าต่อว่า บทเรียนจากการทำโครงการปีที่แล้ว ทำให้ทีมงานต้องวางเป้าหมายและแผนการทำ โครงการปีนี้อย่างชัดเจน โดยดูสภาพแวดล้อมและหาข้อมูลประกอบด้วย 

กระบวนการทำงานเริ่มต้นขึ้นด้วยการ ประชาสัมพันธ์โครงการให้นักเรียนในโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ รับรู้ผ่านเสียงตามสายเพื่อหาแนวร่วม พร้อมลงพื้นที่สำรวจปริมาณขยะขวดน้ำในชุมชน หลังจากนั้นจึงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงกบจากผู้รู้ในชุมชน ทั้งวิธีการเลี้ยง ขนาดของบ่อที่ใช้อนุบาลกบ การดูแลกบ (การให้อาหาร การเปลี่ยนน้ำ) และระยะเวลาที่ใช้ในการเลี้ยงกบแต่ละช่วงวัย ซึ่งการเก็บข้อมูล แต่ละครั้ง อิ๋ง ปรางค์ และนุ่น รับหน้าที่เป็นผู้ถาม นิกและแพรว ทำหน้าที่จดบันทึกข้อมูล ส่วนจุ๋มจะ ช่วยดูภาพรวมของการทำงานทั้งหมด เมื่อได้ความรุู้แล้วจึงเข้าสู่การลงมือเลี้ยงกบ แล้วขยายผลไปยัง ครอบครัวของทีมงานและคนในชุมชนต่อไป

ทีมงาน บอกว่า พวกเขาตั้งใจลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้มากกว่า 2 คน แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน เพื่อปรับวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับศักยภาพของตัวเองมากที่สุด เมื่อสำรวจจนได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และพบว่า ก่อนนำกบไปเลี้ยงในคอนโดขวดพลาสติก ต้องอนุบาลลูกอ๊อดให้ครบ 15 วันก่อน ทีมงานจึงเร่งหาพื้นที่เลี้ยงลูกอ๊อด ซึ่งโชคดีได้รับความอนุเคราะห์จาก ลุงแน่น เทนโสภา ผู้ใหญ่ใจดี ที่อนุญาตให้ทีมงานเข้ามาใช้ที่ดินสำหรับขุดบ่อเลี้ยงกบบ่อแรก

"เด็กขนาดนี้รับผิดชอบงานแบบนี้ได้ก็ดีแล้ว ไม่อย่างนั้นผู้ใหญ่ก็ต้องเข้ามาเป็นแนวหน้านำทำกิจกรรมตลอด แต่ครั้งนี้เขาได้ลงมือทำเอง เห็นเขาสนใจเข้ามาดูแลกันดี ก็รู้สึกดี การได้ทำงานได้สัมผัสจริงเช่นนี้ จะเป็นวิชาติดตัวให้เขาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ต่อไปเขาจะได้ ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้"

ลุงแน่น บอกว่า เขาเคยศึกษาดูงานเรื่องกบจึงมีความรู้เรื่องการเลี้ยงกบอยู่บ้าง เมื่อกลุ่มเยาวชนสนใจเข้ามาเรียนรู้ จึงอยากเผยแพร่ความรู้ให้ขยายออกไป โดยเขายินดีให้ความช่วยเหลือหากเป็นกิจกรรมที่ เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเยาวชน เพราะมีพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งยังมีสาธารณูปโภคน้ำและไฟพร้อม สามารถเข้า มาขุดบ่อใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

"เด็กขนาดนี้รับผิดชอบงานแบบนี้ได้ก็ดีแล้ว ไม่อย่างนั้นผู้ใหญ่ก็ต้องเข้ามาเป็นแนวหน้านำทำกิจกรรมตลอด แต่ครั้งนี้เขาได้ลงมือทำเอง เห็นเขาสนใจเข้ามาดูแลกันดี ก็รู้สึกดี การได้ทำงานได้สัมผัสจริงเช่นนี้ จะเป็นวิชาติดตัวให้เขาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ต่อไปเขาจะได้ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้" ลุงแน่น กล่าว

ผลงานขุดบ่อของทีมงานครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี แม้ต้องเหนื่อยท่ามกลางแดดร้อนและมีความทุลักทุเลอยู่บ้าง เพราะทีมงานหลักเป็นผู้หญิง แต่ก็มีเพื่อนนักเรียนและรุ่นพี่ประธานนักเรียนโรงเรียนมาเป็นกำลังเสริมให้อีกแรงหนึ่ง อิ๋ง บอกว่า ผลจากความร่วมไม้ร่วมมือของทุกคน การขุดบ่อจึงใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น หลังจากนั้นจึงนำลูกอ๊อดมาเลี้ยงลงบ่อ แล้วแบ่งเวรมาให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น (ก่อนไปเรียนและหลังเลิกเรียน) ตลอดระยะเวลา 15 วัน

อิ๋ง บอกต่อว่า เมื่อปล่อยลูกอ๊อดลงบ่อแล้ว พวกเขานำขยะขวดน้ำที่เก็บไว้ตั้งแต่ครั้งลงไปสำรวจขยะในพื้นที่ครั้งแรกมาทดลองทำคอนโดไว้รองรับกบในอีก 3 เดือนข้างหน้า ความร่วมมือร่วมใจของทีมงานที่ต่างคนต่างช่วยกันเต็มที่ ทั้งตัดขวดทำคอนโด ทำชั้นวางคอนโด แล้วยังต้องแบ่งเวรกันมาให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เปลี่ยนน้ำทุก 2 วัน คือ ความรับผิดชอบร่วมที่ทีมงานต่างช่วยกันทำเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่มีใครเกี่ยงงานเลย

­

+ รวมพลัง...ดูแลกบ

"การเปลี่ยนน้ำให้กบในคอนโดเป็นขั้นตอนที่น่าขยะแขยงที่สุด เพราะถ้าลืมเปลี่ยนน้ำ บางครั้งเจอกบ ตายเป็นหนอนอยู่ในขวด ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปทั่ว แต่ที่เขายังทำอยู่ เพราะอยากเห็นกบที่พวกเขาเฝ้าเลี้ยงดูเติบโต"

เพื่อให้ได้ปริมาณกบมาเลี้ยงในคอนโดเพิ่มขึ้น ทีมงานจึงช่วยกันขุดบ่ออีก 4 บ่อในโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ โชคดีที่การทำกิจกรรมในช่วงหลังได้รับความร่วมมือจากน้อง ๆ นักเรียนกว่า 20 คนที่อาสาสับเปลี่ยนกันมาช่วยลงแรงขุดบ่อและอนุบาลกบ เนื่องจากบ่อเลี้ยงอยู่ในโรงเรียนจึงเป็นที่สนใจของนักเรียนอยู่แล้ว

"ครั้งแรกที่นำกบจากบ่ออนุบาลมาเลี้ยงในคอนโดในโรงเรียน กบกระโดดหนีออกจากขวดทางช่องให้อาหาร เราเลยนำเศษโฟมมาอุดไว้ตรงช่อง แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะน้ำหนักเบาเกินไป เปลี่ยนมาเป็นฝาขวดน้ำก็ยังไม่ได้ สุดท้ายเลยใช้ก้อนหินมาอุดแทน” นุ่น กล่าวถึงประสบการณ์ทำงาน

ด้าน นิก บอกว่า การเปลี่ยนน้ำให้กบในคอนโดเป็นขั้นตอนที่น่าขยะแขยงที่สุด เพราะถ้าลืม เปลี่ยนน้ำ บางครั้งเจอกบตายเป็นหนอนอยู่ในขวด ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปทั่ว แต่ที่เขายังทำอยู่ เพราะอยากเห็นกบที่พวกเขาเฝ้าเลี้ยงดูเติบโต

เมื่อเอ่ยถึงข้อจำกัดในการเลี้ยงกบ จากประสบการณ์ทีมงาน บอกว่า กบเป็นสัตว์ตัวเล็กที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารที่ต้องตรงเวลา เวลาให้อาหารกบมือห้ามติดแป้ง เพราะส่วนผสมของแป้งที่เจือปนลงไปจะทำให้กบไม่กินอาหาร ขนาดของบ่อที่ขุดไม่ควรกว้างหรือลึกเกินไป ขนาดที่พอเหมาะคือกว้าง 1.25 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 0.3 เมตร การเฝ้าระวังสัตว์มีพิษจำพวกงูหากเลี้ยงในบ่อกลางแจ้ง กบไม่ชอบเสียงดัง และต้องแยกขนาดกบทุก 2 อาทิตย์ มิเช่นนั้นกบตัวใหญ่จะกินกบตัวเล็กได้ เป็นต้น

การให้อาหารและการเปลี่ยนน้ำกบดูเหมือนเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญและความใส่ใจ ทีมงาน บอกว่า แม้จะแบ่งเวรให้น้องระดับชั้นอื่นช่วย เพราะต้องการฝึกน้อง แต่หลายครั้งยังมีข้อผิดพลาด ทีมงานจึงยังเป็นตัวหลักในการให้อาหารและเปลี่ยนน้ำในขวดคอนโด

สกุลรัตน์ เทนโสภา พี่เลี้ยงชุมชน เสริมว่า การฝึกเด็กรุ่นน้องให้เจริญรอยตามรุ่นพี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้เธอจึงสนับสนุนให้รุ่นพี่รุ่นน้องทำงานด้วยกัน เพื่อให้พี่ได้สอนน้องด้วย

"ถ้าเราฝึกแค่แกนนำ คนที่ได้ความรู้ได้ฝึกทักษะก็มีแค่ 5-6 คน แต่ถ้าเราบอกให้เขาชักชวนเพื่อนชวนน้อง ๆ เข้ามาร่วม ก็จะได้ฝึกคนอื่น ๆ ไปด้วย กลายเป็นว่านักเรียนในโรงเรียนทุกชั้นให้ความสนใจบ่อและคอนโดเลี้ยงกบ ช่วยกันสอดส่องดูแลเพราะกลัวงูกลัวมดจะมากินกบ"

ส่วน เจนณรงค์ เทนโสภา ครูประจำโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของน้องๆ เล่าถึงวิธีชวนเด็ก ๆ คิด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำโครงการว่า อย่าสอนเด็กแบบเป็นมาม่าสำเร็จรูปที่แค่เติม น้ำร้อนก็ทานได้

"ตอนมีปัญหากบกระโดดออกจากบ่อ แล้วกบตัวเล็ก ๆ ถูกมดกินตายหมด ผมเรียกเด็ก ๆ มาดู แล้วตั้งคำถามให้เขาตอบจากสิ่งที่เห็นว่าปัญหาคืออะไร กบกระโดดออกจากบ่อได้เพราะอะไร ตายเพราะอะไร แล้วถ้าจะแก้ปัญหาควรทำอย่างไร ผมจะไม่บอกว่าเขาต้องทำอย่างไรทั้งที่ผมก็รู้ ถ้าเราทำให้ เขาก็ได้แค่ยืนดู แต่ถ้าเราให้เขาทำเอง เขาจะได้คิด แล้วช่วยกันปรับเปลี่ยนพลิกแพลงจากสิ่งที่ทำอยู่ก่อนให้ดียิ่งขึ้น เป็นกระบวนการเรียนรู้จากการคิดเองทำเอง" ครูพี่เลี้ยง กล่าว

นอกจากสร้างการมีส่วนร่วมในโรงเรียนแล้ว หลังจากเลี้ยงกบในคอนโดจนเติบโตได้ประมาณ 3 เดือน พี่เลี้ยงชุมชนแนะนำให้ทีมงานนำกบไปเลี้ยงต่อที่บ้าน ๆ ละ 50 ตัว ได้แก่ บ้านของนิก นุ่น แพรว และปรางค์ เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้ถึงสิ่งที่กลุ่มเยาวชนทำ และเป็นการขยายผลสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

"ตอนแรกที่ขออนุญาตผู้ปกครอง ทางบ้านไม่อยากให้ขุดบ่อเลี้ยง เพราะไม่มีพื้นที่ แต่เราไปขออนุญาตอยู่หลายครั้งจนเขายอม ตอนนั้นคิดว่าเราเป็นแกนนำโครงการด้วย การบอกให้คนอื่นทำเราต้องทำเองก่อน" นุ่น กล่าว

­

+ กบเติบใหญ่...ใจเติบโต

"ปีนี้ทีมงานได้เก็บข้อมูลและวางแผนการทำงานชัดเจน ไม่เหมือนปีที่แล้วที่นึกจะทำก็ทำเลย โดยไม่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่จะทำก่อน ครั้งนี้เราศึกษาข้อมูลจนรู้ว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร ทุกคนเข้าใจโครงการไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งเห็นน้อง ๆ ช่วยทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ ความรู้สึกเหนื่อยที่เคยมีก็หายไป เห็นรอยยิ้มเห็นน้อง ๆ สู้ เราก็ต้องสู้"

ทีมงานทุกคน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความกล้าแสดงออกมากขึ้นเมื่อมาทำโครงการ อิ๋ง ขยายความจากการวิเคราะห์ตัวเองว่า คงเพราะได้ศึกษาและรู้จริงจากการได้ลงมือปฏิบัติ เธอรู้สึกดีใจที่การทำโครงการในปีที่ 2 ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกคนในทีม

"ปีนี้ทีมงานได้เก็บข้อมูลและวางแผนการทำงานชัดเจน ไม่เหมือนปีที่แล้วที่นึกจะทำก็ทำเลย โดยไม่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่จะทำก่อน ครั้งนี้เราศึกษาข้อมูลจนรู้ว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร ทุกคนเข้าใจโครงการไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งเห็นน้อง ๆ ช่วยทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ ความรู้สึกเหนื่อยที่เคยมีก็หายไป เห็นรอยยิ้มเห็นน้อง ๆ สู้ เราก็ต้องสู้"

ปรางค์ บอกว่า การเข้ามาเป็นแกนนำโครงการทำให้เธอต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และได้รู้ถึงพลังของความสามัคคีภายในกลุ่ม และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เพราะทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จ

"แรก ๆ ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่ก็มาคิดว่าเราเป็นแกนนำเป็นคนคิดที่จะทำ เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ ต้องเอาชนะใจตัวเอง สู้เพื่อครอบครัว เพื่อชุมชน...รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก จากเด็กที่ติดมือถือเดี๋ยวนี้เล่นน้อยลง ถึงตอนนี้ต่อให้พี่เลี้ยงไม่มาตามงาน ไม่มาสนใจ ก็ยังทำต่อ เพราะเราทำเองได้แล้ว ที่ทำอยู่ก็มีประโยชน์ต่อตัวเองต่อคนอื่นในชุมชน" ปรางค์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

แพรว เสริมว่า การเลี้ยงดูกบมีตารางการให้อาหาร การล้างทำความสะอาดขวดและอื่นๆ อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่ให้ได้อย่างชัดเจนในตัวเอง คือ เรื่องการควบคุมอารมณ์ แยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน

"ถ้ามัวแต่ทะเลาะไม่มองหน้ากันไปมา เวลาทำงานจะไม่มีความสุข บางอย่างเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เกี่ยวกับโครงการ แต่เราก็เอามาปนกัน คนที่ร่วมงานกับเราก็จะอึดอัดตามไปด้วยซึ่งมันก็ไม่ดีกับคนอื่น" แพรว กล่าว

เช่นเดียวกับนุ่นที่บอกว่า หลายครั้งเธอรู้สึกไม่ได้อย่างใจเวลาทำงาน แต่คิดได้ว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดจากตัวเอง เพราะฉะนั้นควรระงับจากตัวเอง ดีกว่าไประบายใส่คนอื่น เมื่อเห็นแบบนี้เธอจึงสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น

"การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ทำให้เด็กมีวุฒิภาวะ รู้จักคิด เข้าใจตัว และคนอื่นมากขึ้น โครงการนี้นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว ยังขยายผลไปถึงครอบครัวและชุมชน เพราะเด็กได้ทดลองเลี้ยงกบเอง ดูแลเองทุกขั้นตอนร่วมกับคนในชุมชน เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ก็ต้องเรียนรู้แก้ไข แล้วนำไปปรับใช้จริง ไม่ใช่แค่การเรียนตามทฤษฎีที่คนอื่นเขียนให้ทำ เมื่อเด็กทำผู้ใหญ่ก็ควรสนับสนุนและให้กำลังใจ"

­

+ผู้หนุนเสริมการเรียนรู้

มงคล แก่นพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ เล่าว่า สถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านหนองมะเกลือ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์ เช่น การจับกลุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ส่งเสียงดัง แต่ไม่ถึงขนาดมียาเสพติดแพร่ระบาดกว้างขวางในชุมชน ที่ผ่านมาทางโรงเรียนจึงพยายามสนับสนุนให้นักเรียนมีส่วนช่วยเหลือกิจกรรมชุมชนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานแต่งงาน หรืองานฌาปนกิจ เพื่อให้เด็กมีจิตอาสา รู้จักเสียสละ และไม่ใช้เวลาไปกับการเที่ยวเล่นที่ไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงเรียนมองว่า โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษช่วยให้เด็กสร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์ตรง ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้เด็กจดจำไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังฝึกทักษะให้เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม เพื่อผลักดันให้โครงการเกิดผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้


"การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ทำให้เด็กมีวุฒิภาวะ รู้จักคิด เข้าใจตัว และคนอื่นมากขึ้น โครงการนี้นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว ยังขยายผลไปถึงครอบครัวและชุมชน เพราะเด็กได้ทดลองเลี้ยงกบเอง ดูแลเองทุกขั้นตอนร่วมกับคนในชุมชน เมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็ต้องเรียนรู้แก้ไข แล้วนำไปปรับใช้จริง ไม่ใช่แค่การเรียนตามทฤษฎีที่คนอื่นเขียนให้ทำ เมื่อเด็กทำผู้ใหญ่ก็ควรสนับสนุนและให้กำลังใจ"

นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือมี 108 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อเอ่ยถึงความเปลี่ยนแปลงของทีมเยาวชนที่ทำโครงการ ผู้อำนวยการมงคล บอกว่า นักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ยิ่งมาทำโครงการยิ่งเห็นความทุ่มเทและมุ่งมั่นมากขึ้นไปอีก เพราะต้องสนใจทั้งเรื่องการเรียน การออกไปอบรมในโครงการ และการดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ เห็นว่าทีมงานมีภาวะความเป็นผู้นำซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่นักเรียนคนอื่น ๆ ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

"พอมีรุ่นพี่มาทำโครงการในโรงเรียน น้องคนอื่น ๆ ก็สนใจด้วย ช่วงหลังมีการแบ่งเวรให้นักเรียนระดับชั้นอื่นมาช่วยให้อาหารกบ เท่ากับว่านักเรียนในโรงเรียนได้มีส่วนร่วมทำโครงการด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก" ผู้อำนวยการมงคล กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ด้าน ประภาส พงษ์พันธ์ ผู้รู้ในชุมชน ที่มีประสบการณ์เลี้ยงกบมาร่วม 5 ปี บอกว่า เมื่อทีมงานเข้ามาสอบถามข้อมูลเรื่องการเลี้ยงกบ เขาเต็มใจให้ข้อมูลเต็มที่ เพราะเข้าใจดีว่าการเลี้ยงกบต้องเอาใจใส่และต้องใช้เวลาดูแล หากทีมงานศึกษาหาข้อมูลวิธีการเลี้ยงดีแล้วจะสามารถประเมินศักยภาพของตนเองได้ว่าสามารถจัดการกับข้อจำกัดต่าง ๆ ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ประภาส บอกว่า กบที่เลี้ยงสามารถนำมาขายได้ทุกรุ่น ตั้งแต่ลูกอ๊อดยันพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ราคาขึ้นอยู่กับขนาด สี และน้ำหนักของกบ พร้อมเล่าถึงข้อค้นพบใหม่จากการเลี้ยงกบในขวดคอนโดว่า การเลี้ยงกบในขวดเลี้ยงง่ายกว่า ประหยัดอาหาร และจะมีสีสวยกว่าที่เลี้ยงในบ่อ

"ต่อให้ที่บ้านไม่มีพื้นที่ก็เลี้ยงกบคอนโดไม่ยาก เพราะใช้พื้นที่น้อยมาก และขวดพลาสติกในชุมชนก็หาง่าย เลี้ยงไป 8-9 เดือนนำมาขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้หลายร้อยบาท ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาทำกิจกรรมกับน้อง ๆ เพราะเราเองก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมไปด้วย" ประภาส กล่าว

ขณะที่เจนณรงค์ เสริมว่า บทบาทหน้าที่สำคัญของพี่เลี้ยง คือ การให้คำแนะนำ และแนะแนวทาง ไม่ใช่การพาไปทำ ยกตัวอย่างกรณีที่ทีมงานออกไปสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชนเกี่ยวกับการเลี้ยงกบ ถึงแม้ครูพี่เลี้ยงจะเป็นคนแนะนำผู้รู้ให้ทีมงาน แต่เมื่อต้องลงพื้นที่จริงจะปล่อยให้ทีมงานคิดตั้งคำถามและออกไปสัมภาษณ์เอง

"ผมจะไม่ใช้วิธีพาเด็กไปหาผู้รู้ ถามคำถามให้แล้วเด็กก็แค่จด แต่ให้เขาไปสอบถามสิ่งที่อยากรู้ แล้วเอามาอธิบายให้เราฟัง ผมพอมีความรู้อยู่บ้าง ขาดเหลือข้อมูลส่วนไหนก็จะบอกให้น้อง ๆ ไปเก็บข้อมูลเพิ่ม เขาจะได้รู้จักลำดับเหตุการณ์เรื่องราวที่ไปสัมภาษณ์มา รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเอง และวางแผนจัดการทำงานเองได้ พี่เลี้ยงต้องฝึกทักษะพวกนี้ให้เด็กทำจนคล่อง"

คำนาง ป้องกัน ผู้ปกครองของปรางค์ บอกว่า แทนที่จะเพิกเฉยผู้ปกครองควรให้ความสนใจในสิ่ง ที่ลูกทำ ด้วยการสอบถามอย่างใส่ใจ ไม่ใช่เพื่อจับผิด เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เมื่อปรางค์มาขออนุญาตทำโครงการนี้ว่า "ลูกบอกว่ากำลังเลี้ยงกบคอนโดที่โรงเรียน ตอนนั้นยอมรับว่างงมาก ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เราก็สนใจและบอกให้เขาอธิบายให้ฟัง ถ้าลูกสนใจทำงานแบบนี้ แม่ก็เต็มใจสนับสนุน เพราะได้ความรู้ ดีกว่าอยู่เฉย ๆ ช่วงหลังครูแบ่งกบมาให้เลี้ยงที่บ้าน 50 ตัว ครูก็มาแนะนำว่า ปล่อยให้เป็นหน้าที่ลูกดูแลจัดการเอง พ่อแม่แค่คอยดูอยู่ห่าง ๆ ลูกจะได้เรียนรู้ เราก็เห็นด้วย"

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปรางค์ หลังเข้ามาทำโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษนั้น คำนาง บอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การกล้าคิดกล้าทำ

"เขามีประสบการณ์มากขึ้นจากการทำโครงการ ได้ออกไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนเวลาไปอบรม เลยทำให้มีความมั่นใจ แล้วก็รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี เพราะเขาแบ่งเวลาได้ ตอนเรียนก็คือเรียน พอว่างก็มาทำกิจกรรม ถ้าจัดสรรเวลาได้แม่ว่าการทำโครงการไม่ได้กระทบกับการเรียนเลย ได้ประโยชน์มากกว่าอีก อย่างกบที่เอามาเลี้ยงที่บ้านต้องให้อาหารเช้าเย็นเขาก็ไม่เคยลืม ดูเขากระตือรือร้นที่จะทำ"

วันนี้กบที่ทีมงานนำไปเลี้ยงต่อที่บ้าน ๆ ละ 50 ตัว ยังคงเติบโตดี รอให้กบเติบโตเต็มวัยจึงจะนำมาบริโภคหรือขายเป็นรายได้เสริมต่อไป...


จากที่อยากแก้มือ และขอโอกาสสร้างวงจรการเรียนรู้รอบใหม่ให้ตนเองอีกครั้ง ให้ได้คิด วางแผน ทำ ผิดพลาด เรียนรู้ และปรับปรุง จนเกิดความรู้ ทักษะ นิสัย และอาชีพติดตัว เป็นการพิสูจน์ตัวเองที่สง่างาม ที่น้องๆ ฝ่าฟันมาด้วยความอดทน รับผิดชอบ มุ่งมั่น และ "พลังใจ" ชั้นดีของทีมงานทุกคน รวมถึงความร่วมมือจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ที่ต่างให้ความช่วยเหลือ ใช้โอกาสนี้ "สร้างคน" ซึ่งเป็นลูกหลานของเขา...วันนี้เราเห็นแล้วว่า "โรงสร้างคน" นั้นอยู่ในชุมชนนั่นเอง เพียงเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้คิดและลงมือทำ ผู้ใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงชวนคิด ประคับประคอง ให้กำลังใจ ไม่ช้าเราก็จะได้คนรุ่นใหม่ที่คิดเป็น ทำเป็น ขึ้นมาดูแลชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่ได้


โครงการกบสร้างพลังสามัคคีชีวีพอเพียง

พี่เลี้ยงชุมชน :

  • เจนณรงค์ เทนโสภา (ครูประจำโรงเรียนบ้านหนองมะเกลือ)
  • สกุลรัตน์ เทนโสภา 

ทีมทำงาน : 

  • กลุ่มเยาวชนบ้านหนองมะเกลือ ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ