การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านพงพรต ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

“สืบค้น” รากเหง้า “สร้างสำนึก” รักบ้านเกิด

โครงการทวนเข็มนาฬิกาย้อนเวลาหาความหลัง 

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในตัวตนของทีมงานทุกคนคือ การเกิดสำนึกรักบ้านเกิดเรือนนอน พอเรารู้จักประวัติหมู่บ้านเราแล้ว เราก็รักบ้านเรามากขึ้น รู้สึกเลยว่าบ้านเราเป็นชุมชนที่เก่าแก่ ประเพณีวัฒนธรรมในตำบลเรามีครบทุกอย่าง...

“หมู่บ้านเฮาเกิดมากะหลายร้อยปี คนบ้านเฮาฮู้ดีวิถีเฮาเป็นแบบใด ฮักกันไว้เด้อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย สามัคคีกันไว้ให้บ้านของเฮาอยู่ดี

อย่าสิถิ่มเด้อบ้านเฮาให้ซุ้มเฮาดูแลให้ดีบ้านเกิดของเฮานี้อย่าสิมีน้อแตกกัน อย่าสิหันไปคนละทางอย่าสิม้างทางใจให้มันพัง อย่าสิลืมรากเหง้าความหลังที่ฝั่งในใจ ให้พวกเฮาได้สืบสานวิถีพื้นบ้านชุมชนเฮาวัฒนธรรมเก่า ๆ เรื่องราวที่เป็นความหลังสร้างไว้เป็นทางให้ลูกหลานสิได้เดินตามฮอยเก่าของเฮาได้ ให้เขาเป็นต้นข้าวรุ่นใหม่ที่สร้างจากใจคนบ้านเฮา โอ้โอ๋…..โอ้โอ……โอ้โอ๋

บ้านพงพรตของเฮานี้เกิดมาหลายร้อยปีแล้ว มีเรื่องราวมากมายที่ผ่านมา สร้างคุณค่าให้ชุมชนคนทุกคนต่างเข้าใจ เกิดมาน้อยจนใหญ่ในบ้านนี้ มีด้านดีและบ่ดีให้เฮานี้ได้เฮียนฮู้ ว่าเฮานั้นสิอยู่กันแบบใด๋ บ้านหลังนี้ที่เฮาอยู่ได้อุ้มชูพวกเรามาอย่าสิปะปล่อยถิ่มเรื่องความหลัง กาลเวลาที่ล่วงเลยนั้นบ่เคยสิหวนคืนอย่าสิมัวแต่ยืนบ่เฮ็ดหยัง ให้มาทำเพื่อบ้านเฮารวมกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวเป็นพลังแน่นเหนียวของบ้านเฮา ถ้าบ้านเฮาบ่ฮักกันบ่ฮักมั่นในบ้านเจ้าของ บ้านเฮาคงบ่เหลือหม่องให้อยู่

มาร่วมกันเด้อ ฮักกันไว้เด้อ ฮักบ้านเฮาเด้อ คนบ้านเฮา มาร่วมกันเด้อ ฮักกันไว้เด้อ ฮักบ้านเฮาเด้อ คนบ้านเฮา คนบ้านเฮา”

ประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย

“เมื่อได้ทบทวนบริบทของชุมชนร่วมกับพี่เลี้ยงจึงพบว่า ที่มาที่ไปของหมู่บ้านเป็นประวัติศาสตร์ ยังไม่มีความชัดเจน จนรู้สึกได้ถึงความไร้รากของตนเอง ความสงสัยต่อที่มาของชุมชนจึงเป็นประเด็น ที่สร้างความสนใจให้แก่ทีมงานจึงตกลงกันว่า จะทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เพื่อบันทึกเรื่องราวความเป็นของชุมชนไว้เป็นหลักฐานความภาคภูมิใจของถิ่นกำเนิด”

เสียงร้องเพลงฮักกันเด้อบ้านเฮาคลอไปกับการเล่นกีตาร์โปร่ง ในท่วงทำนองแสนไพเราะ คือ ผลผลิตส่วนหนึ่งของการทำโครงการทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาหาความหลัง ของเยาวชนบ้านพงพรต ตำบลหนองห้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ที่จักร-ประจักษ์ สุทโท แต่งขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสื่อในการบอกเล่าความเป็นมาของบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากที่ได้ร่วมกันกับน้องๆ ซึ่งประกอบด้วย กฐิน -ศรีสุรัตน์ สุทโธ แป๋ว-ศศิธร หาโล๊ะ แอะ-สุธิมา ขันทอง ดา-ไอรดา วงค์โสภา เจน-ธิดารัตน์ กุลทา และ เปเล่-วีรพล หมุ่ยโท สืบค้นประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านพงพรต

จักรซึ่งได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์การทำงานของเครือข่ายเยาวชนในโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษในปีแรก จึงเกิดความสนใจ เพราะเรียนจบสาขาพัฒนาสังคม เมื่อได้รับการชักชวนจากพี่เลี้ยงโครงการ ทีมงานซึ่งมีการรวมตัวกันอยู่แล้ว เพราะทำวงดนตรีหมอลำลูกทุ่งชื่อ “แซ่บเวอร์แดนซ์” อาสาแสดงตามงานต่าง ๆ ในหมู่บ้านเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่สมาชิกในชุมชน จึงหารือกันถึงประเด็นที่น่าสนใจในการทำโครงการ เพราะมีพื้นฐานและความสนใจเรื่องดนตรีอยู่แล้ว ในช่วงแรกทีมงานจึงคิดจะทำโครงการเกี่ยวกับดนตรี พื้นบ้าน แต่เมื่อได้ทบทวนบริบทของชุมชนร่วมกับพี่เลี้ยงจึงพบว่า ที่มาที่ไปของหมู่บ้านเป็นประวัติศาสตร์ยังไม่มีความชัดเจน จนรู้สึกได้ถึงความไร้รากของตนเอง ความสงสัยต่อที่มาของชุมชนจึงเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจให้แก่ทีมงานจึงตกลงกันว่า จะทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เพื่อบันทึกเรื่องราวความเป็นของชุมชนไว้เป็นหลักฐานความภาคภูมิใจของถิ่นกำเนิด

“ผมว่าประวัติศาสตร์มันเป็นบ้านของเราเอง ถ้าเราไม่รู้จุดกำเนิดของบ้านตนเองมันจะเป็นอย่างไร? คนบ้านเราเองไม่รู้จักคำว่า จุดกำเนิดของตนเอง ไม่รู้รากเหง้าของตนเอง ทำให้ไม่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด” จักรเล่าถึงเบื้องหลังความคิดผนวกกับสถานการณ์ที่พบเห็นเด็กเยาวชนในหมู่บ้านเข้าแต่ร้านเกม จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะใช้การทำโครงการในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่น้อง ๆ ในชุมชน

จักร เล่าว่า ช่วงแรกเขาชวนน้องผู้ชายเข้าร่วมทีมก่อน แล้วจึงชวนกลุ่มน้องผู้หญิงซึ่งมาซ้อมเต้นแดนซ์เซอร์เข้าร่วมทีม แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียด ก็ตกลงใจร่วมโครงการ โดยไม่ลังเล เพราะเห็นว่า การทำงานร่วมกันเป็นเรื่องสนุก

“วันนั้นเป็นวันซ้อมเต้น พี่เขาก็บอกให้มาหาที่บ้าน พี่เขาบอกว่า พรุ่งนี้ต้องไปนำเสนอที่โรงแรมพรหมพิมาน เขาก็ให้วาดรูป เราก็ทำถึงเที่ยงคืนเลย เราชอบทำงานเป็นทีม มันสนุก หลายความคิด ก็เลยยอมทำ แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ตอนแรกคนที่จะไปคือ “กฐิน” แต่แม่ของกฐินบอกว่า ถ้าจะต้องไปก็ให้ไปด้วยกันทั้งหมด” แป๋วเล่า

การเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษวันแรก ทีมงานก็ไปสาย เพราะจักรต้องไปทำงานที่สุรินทร์กว่าจะขับรถมารับน้อง ๆ ไปถึงสถานที่อบรมก็เป็นช่วงพักเบรกตอนเช้า แต่ทีมงานยังได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเพื่อนโครงการอื่น โดยในวันนั้นทีมงานต้องคิด และเขียนข้อเสนอโครงการ ซึ่งเป็นการใช้ความคิดมากที่สุดในชีวิต ทำให้ทีมงานบางคนเริ่มรู้สึกว่า กำลังจะเจอของยากเข้าแล้ว

“วันนั้นเป็นวันที่เขาให้เขียนเยอะที่สุด ใช้ความคิดเยอะที่สุด พี่ ๆ เขาให้เขียนออกมาว่า ทำไมถึงอยากทำโครงการนี้ ได้ชื่อนี้มาอย่างไร ความสามารถของพวกเราจะนำไปปรับใช้กับการทำโครงการอย่างไร ก็งงที่ต้องมานั่งถามกันอย่างนั้น เพราะพี่จักรไม่บอกว่าจะทำอะไร” “แป๋ว” เล่าย้ำถึงความไม่รู้ในสิ่งที่จะทำ เนื่องจากพี่จักรซึ่งเป็นคนชวนไม่เคยเล่าให้ฟังว่า การทำโครงการเป็นอย่างไร?

จักรเล่าเสริมว่า ตั้งใจที่จะไม่บอกน้อง เพราะคิดว่า จะพาทำไปเรื่อย ๆ ให้น้องค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะมีความเชื่อว่า หากได้เรียนรู้ด้วยตนเอง จะเกิดความเข้าใจ และจะรู้วิธีการทำ โดยที่ใครไม่ต้องสอน ซึ่งจะดีกว่าที่พี่ต้องคอยบอก แล้วน้องต้องรอคำสั่ง

เป้าหมายของโครงการ คือ อยากให้เด็กและคนในชุมชนได้รู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านอย่างแท้จริง โดยทีมงานมีกระบวนการสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน และการใช้เครื่องมือในการศึกษาชุมชนตามแนวทางของนักมานุษยวิทยาที่จักรเคยร่ำเรียนมา ได้แก่ เส้นประวัติศาสตร์ (Time Line) ปฏิทินการผลิต ปฏิทินวัฒนธรรม แผนที่เดินดิน แผนที่ตัดขวาง ผังเครือญาติ

เนื่องจากมีโครงสร้างการทำงานที่ดี และมีความชัดเจนของเป้าหมายการทำงาน ทำให้การพัฒนาโครงการของทีมงานเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการซึ่งเป็นด่านสำคัญผ่านฉลุย สมความตั้งใจของทีมงานที่บอกว่า ตอนนั้นคิดเพียงแต่ว่า จะเล่าถึงสิ่งที่อยากทำตามที่ได้เขียนไว้ให้ดีที่สุด การได้รับงบประมาณมาทำโครงการจึงเป็นความดีใจที่จะได้ทำอะไรให้แก่ชุมชนถิ่นกำเนิดของตนเอง

“กิจกรรมการสืบค้นข้อมูลความเป็นมาของหมู่บ้านก็กลายเป็นกิจกรรมแห่งความสุขของผู้เฒ่าในชุมชน ที่มีลูกหลานไปหา ไปคุยด้วย จึงเต็มอกเต็มใจที่จะบอกเล่า หากไม่รู้ ผู้รู้ก็จะชี้ช่องแนะนำให้ไป สอบถามเพิ่มจากใครได้บ้าง”

­

สืบค้น ศึกษา เพื่อลบความสงสัย

เมื่อกลับมาหมู่บ้าน ทีมงานจัดประชุมทีมเพื่อวางแผนการทำงาน ทบทวนกิจกรรมที่จะต้องทำ และแบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงาน แม้ว่าทุกครั้งที่ทำกิจกรรมจะมีบรรยากาศของการร่วมด้วยช่วยกัน แต่ละคนก็มีหน้าที่ประจำที่ต้องรับผิดชอบ เช่น นวลกับเจนจะเป็นคนพิมพ์ กฐิน แป๋ว ดา แอะ วาดภาพในกระดาษ เปเล่เป็นประชาสัมพันธ์ จักรดูภาพรวม การวางแผนการทำงานยังเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการ โครงการร่วมกัน เพราะจักรได้เปิดกิจการส่วนตัวอยู่ที่สุรินทร์ ทำให้ทีมงานต้องใช้การประสานงานนัดหมายการทำงานผ่านช่องทาง โซเชียลมีเดียเป็นหลัก และใช้เวลาในวันเสาร์อาทิตย์ในการลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน

ด้านน้อง ๆ ที่ส่วนใหญ่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีภาระของการเรียนที่ต้องสอบเรียนต่อ แต่ก็ไม่ได้มองว่า การทำโครงการเป็นตัวถ่วงที่ทำให้แผนชีวิตสะดุด หากมองว่า เป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ได้ผ่อนคลายจากความเคร่งเครียดในการเรียน เช่นเดียวกับการนัดกันซ้อมเต้นที่ทำกันเป็นประจำอยู่แล้วที่บ้านของแป๋ว

การลงพื้นที่เพื่อสืบค้นข้อมูลความเป็นมาของหมู่บ้าน จัดขึ้นในช่วงปิดเทอม ซึ่งทีมงานบางคนต้องทำงานพิเศษ บางคนต้องไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ทำงานอยู่ต่างพื้นที่ ถึงจะมีความไม่พร้อมของสมาชิกแต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะมีคนที่อยู่เป็นหลักคือ แป๋ว จักร โดยมีเพื่อน ๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาช่วย

ทีมงานคัดสรรผู้รู้โดยอิงเกณฑ์ว่า จะสอบถามคนที่อายุมากที่สุดในชุมชน ซึ่งมีผู้สูงอายุที่มีอายุมากว่า 80 ปี อยู่ 5 - 6 คน การสอบถามผู้รู้ไปที่ละบ้าน ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของชื่อของหมู่บ้าน ที่ตั้งตามชื่อของมันชนิดหนึ่งในภาษากวย ซึ่งสามารถพบได้มาในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน หากแต่รายละเอียดอื่น ๆ ยังคลุมเครือ เพราะยังมีความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการเล่าจากความทรงจำของผู้เฒ่า

กระนั้นกิจกรรมการสืบค้นข้อมูลความเป็นมาของหมู่บ้านก็กลายเป็นกิจกรรมแห่งความสุขของผู้เฒ่าในชุมชน ที่มีลูกหลานไปหา ไปคุยด้วย จึงเต็มอกเต็มใจที่จะบอกเล่า หากไม่รู้ ผู้รู้ก็จะชี้ช่องแนะนำให้ไปสอบถามเพิ่มจากใครได้บ้าง

คู่ขนานไปกับการสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ ทีมงานใช้เครื่องมือ เส้นประวัติศาสตร์ (Time Line) ปฏิทินการผลิต ปฏิทินวัฒนธรรม แผนที่เดินดิน แผนที่ตัดขวาง เป็นตัวช่วยในการสืบค้นและบันทึกเรื่องราวของชุมชน

“Time line จะบอกเหตุการณ์แต่ละช่วงว่ามันเกิดอะไรขึ้นในชุมชนบ้าง ปฏิทินวัฒนธรรมจะบอกว่า ใน 1 ปีเราทำกิจกรรมประเพณีอะไรบ้าง ปฏิทินการผลิตก็จะบอกว่า ใน 1 ปีในชุมชนของเราทำอาชีพอะไรกันบ้าง ส่วนแผนที่เดินดินทำให้บอกจุดบอกตำแหน่ง บอกบริบทชุมชนมีอะไรบ้างในชุมชน มีทรัพยากรอะไร บอกเส้นทางด้วย เพราะผมเองเกิดในหมู่บ้านแท้ๆ ก็ยังไม่รู้เส้นทาง เพราะซอกซอยมันเยอะมาก” จักรเล่าถึงจุดเด่นของเครื่องมือแต่ละตัว

ขณะเดียวกัน ทีมงานก็ไม่ละเลยที่จะเติมเต็มการทำงานด้านข้อมูล ด้วยการสืบค้นเอกสารจากวัด อินเทอร์เน็ต และสอบถามจากผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นอีกช่องทางเพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากพระสงฆ์และผู้ปกครอง เช่น แม่ของแป๋วที่ค้นหนังสือเกี่ยวกับ ฮีต 12 คอง 14 มาให้ทีมงานใช้อ้างอิง รวมทั้งแนะนำแหล่งข้อมูลและผู้รู้ในชุมชน

การนำข้อมูลที่ได้มาบันทึก ทำให้ทีมงานได้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาว่า ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร? หากข้อมูลในส่วนที่ผู้รู้บอกเล่าตรงกันก็จะถูกบันทึกไว้ด้านหนึ่ง ส่วนข้อมูลที่ยังมีข้อขัดแย้งไม่ตรงกันจะถูกบันทึกไว้ด้านหนึ่ง โดยทีมงานมีแผนที่จะเชิญผู้รู้ที่เคยให้ข้อมูลมาประชุมรวมกัน เพื่อสะสางความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ

“ตรงไหนที่มันขัดกันเราก็จะนัดคนแก่มาที่วัดแล้วให้เขาพูดคุยถกเถียงกันเอง แล้วเขาก็พูดกันจนลืมว่าเรากำลังสอบถามข้อมูลอยู่” แป๋วเล่าถึงบรรยากาศการจัดโฟกัสกรุ๊ปที่ทำให้ทีมงานได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น

กิจกรรมลานวัฒนธรรม มีเป้าหมายหลักเพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ทีมงานได้เรียบเรียงไว้ ให้ชาวบ้านได้ร่วมตรวจสอบ และเติมเต็มข้อมูลให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลานกว้างในวัดประจำหมู่บ้านถูกขออนุญาตใช้สถานที่จัดงาน ทีมงานระดมพลเยาวชนในหมู่บ้านมาร่วมแรงร่วมใจกันจัดเตรียมสถานที่และเตรียมงาน ทีมงานส่วนหนึ่งรับหน้าที่จัดทำหนังสือเล่มเล็กที่เรียบเรียงประวัติของหมู่บ้านไว้อย่างเรียบร้อยพร้อมแจกให้ผู้เข้าร่วมงานจำนวน 80 กว่าฉบับ อีกส่วนก็เตรียมการแสดงเพื่อต้อนรับและสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้ร่วมงาน ทีมงานอีกด้านจัดเตรียมนิทรรศการซึ่งประกอบด้วย ซุ้มบอกเล่าเป้าหมายและกระบวนการทำงานของทีมงาน ชุ้มประวัติศาสตร์ชุมชน และซุ้มรูปเก่าของชุมชน ซึ่งทีมงานได้ไปขอยืมภาพถ่ายเก่า ๆ จากคนในชุมชนมาจัดนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ซึมซับบรรยากาศบ้านเมืองในยุคอดีต โดยมีไฮไลท์ของงานคือ การเล่าประวัติของหมู่บ้าน โดยจะมีเกมตอบคำถามสอดแทรกระหว่างกลาง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทีมงานตั้งใจออกแบบ เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมงานอ่านหนังสือเล่มเล็กที่ได้แจกไป

การตอบรับจากชุมชนเข้าร่วมงานเกินความคาดหมาย ผลจากแบบประเมินที่ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยให้คะแนนการจัดงาน เป็นที่พึงพอใจของผู้เข้าร่วมงาน ทีมงานเล่าอย่างภูมิใจว่า มีข้อความจากใบประเมินบางแผ่นที่มีผู้สะท้อนความเห็นว่า กิจกรรมที่จัดเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เยาวชนไม่ติดสารเสพติด ไม่ติดเกม การตอบรับอย่างดีจากชุมชน จึงเป็นการเติมเต็มแรงใจให้ทีมงานตั้งใจทำงานต่อไป

“ข้อความจากใบประเมินบางแผ่นที่มีผู้สะท้อนความเห็นว่า กิจกรรมที่จัดเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เยาวชน ไม่ติดสารเสพติด ไม่ติดเกม การตอบรับอย่างดีจากชุมชน จึงเป็นการเติมเต็มแรงใจให้ทีมงานตั้งใจ ทำงานต่อไป”

­

จุดที่ยังค้างคาใจ

ดูเหมือนว่าการทำกิจกรรมครั้งนี้ของพวกเขาจะประสบผลสำเร็จ แต่ทีมงาน บอกว่า ยังมีจุดน่าเสียดายที่ไม่สามารถทำผังเครือญาติของสมาชิกในชุมชนเสร็จทันการจัดงานลานวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีกิจกรรมการทำสื่อที่จะบันทึกและเผยแพร่เรื่องราวประวัติของหมู่บ้านที่ยังทำไม่เสร็จ ซึ่งขณะนี้มีเพียงหนังสือเล่มเล็ก และสื่อภาพ Time Line ปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินการผลิต แผนที่เดินดิน ฯลฯ ที่ได้นำไปหุ้มพลาสติกใส่กรอบเก็บไว้ที่วัด ส่วนสื่ออื่นๆ นั้นหากทำเสร็จแล้ว ทีมงานจะได้นำไปมอบให้กับผู้นำชุมชนและเก็บไว้ที่วัดประจำหมู่บ้าน เพื่อจะได้เป็นเอกสารบอกเล่าที่มาของชุมชน ซึ่งนอกจากสื่อเอกสารต่าง ๆ ที่ตั้งใจทำ ทีมงานแต่ละคนยังเป็นกระบอกเสียงบอกเล่า ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้านพงพรตด้วยตนเองได้อย่างมั่นใจ และภูมิใจทุกครั้งที่มีคนถามไถ่ รวมทั้งการบอกเล่าแก่น้อง ๆ ในชุมชนซึ่งจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทีมงานต้องการให้สืบทอดต่อไปด้วย

นอกจากจุดที่ยังทำไม่สำเร็จข้างต้น ทีมงานสะท้อนว่า การทำงานในช่วงแรกยังประสบปัญหาขาดผู้ให้ข้อมูล เนื่องจากในชุมชนไม่เคยมีใครมานั่งสอบถามเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้านเช่นนี้มาก่อน เวลาทีมงานไปสอบถามผู้รู้ก็มักจะไม่กล้าตอบ เกี่ยงให้ไปสอบถามกับคนอื่น ซึ่งทีมงานก็ต้องใช้ความใจเย็นในการชวนพูดชวนคุยไปเรื่อย ๆ และใช้การจัดวงพูดคุย เป็นกระบวนการตรวจสอบเติมเต็มข้อมูล ทั้งนี้เมื่อทบทวนการทำงาน ทีมงานจึงได้ข้อสรุปว่า เป็นเพราะพวกเขาขาดกิจกรรมการชี้แจงโครงการต่อชุมชน ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจถึงเป้าหมายการทำโครงการ

ส่วนปัญหาอุปสรรคในการจัดการเวลาว่างที่ไม่ตรงกันนั้น เป็นธรรมชาติที่ทุกคนรับได้ จึงต้องมีข้อตกลงนัดหมายล่วงหน้า 2 วัน แต่ก็มักจะมีสถานการณ์ที่ต้องนัดกะทันหันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทีมงานสรุปว่า เป็นธรรมชาติของกลุ่มที่ชินกับการเรียกปุ๊บมาปั๊บ ซึ่งก็ต้องเข้าใจกันว่า ถ้าใครไม่ว่าง คนที่มาก่อนก็ทำงานไปก่อน โดยไม่มีใครขุ่นเคืองใจต่อกัน

“ผมต้องปรับเรื่องเวลาเพราะผมเป็นคนที่มาสายตลอด ก็พยายามจะปรับตัวเรื่องตรงเวลา แต่มันก็หลายอย่างบางครั้งผมก็ต้องเคลียร์งาน ทำให้มาช้ามาก แต่ก็จะพยายามปรับปรุงตัวครับ” จักรรีบสารภาพจุดอ่อนตนเองเมื่อมีการพูดถึงปัญหาเรื่องการจัดการเวลาของกลุ่ม

“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในตัวตนของทีมงานทุกคนคือ การเกิดสำนึกรักบ้านเกิดเรือนนอน พอเรารู้จักประวัติหมู่บ้านเราแล้ว เราก็รักบ้านเรามากขึ้น รู้สึกเลยว่าบ้านเราเป็นชุมชนที่เก่าแก่ ประเพณีวัฒนธรรมในตำบลเรามีครบทุกอย่าง เช่น บุญผะเหวดก็มีบ้านเราทำอยู่หมู่บ้านเดียวในตำบล ก็รู้สึกภูมิใจที่บ้านเราเป็นหนึ่งในตำบลที่ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมนี้อยู่”

­

ประสบการณ์ตรง...สร้างทักษะชีวิต

จักรและเปเล่ ซึ่งเป็นพี่ ที่ผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรมมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งกิจกรรมในโรงเรียน และกิจกรรมในมหาวิทยาลัย สะท้อนว่า รู้สึกดีที่เห็นเยาวชนได้รับโอกาสมาทำงานแบบนี้ เพราะปกติไม่ค่อยได้เห็นเยาวชนทำโครงการในชุมชน ส่วนใหญ่จะเป็นงานของผู้ใหญ่ และกิจกรรมส่วนใหญ่ที่จัดให้เด็กและเยาวชนก็มักจะเป็นกิจกรรมการอบรมที่จบเป็นรายครั้ง แต่การทำโครงการในครั้งนี้เป็นงานที่เยาวชนได้คิด ได้ลงมือทำเอง จึงรู้สึกสนุกมากกว่า และชอบที่ได้ทำอะไรด้วยตนเอง

“เป็นประสบการณ์อีกอันหนึ่งของชีวิต อยู่มหาวิทยาลัยก็ได้ลองทำ แต่ยังไม่เคยลองทำโครงการกับเยาวชนก็รู้สึกว่า น้อง ๆ น่ารักกันทุกคน ก็มีดื้ออยู่บ้าง บางครั้งก็กอดคอกันเหมือนเพื่อน เวลาน้องดื้อ ผมเป็นคนไม่โมโหไม่โกรธใครง่าย ๆ ผมเป็นคนตลก ก็จะอาศัยพูดหยอกกันไป ค่อย ๆ บอกเขาที่ละนิด อีกอย่างผมก็ภูมิใจที่ได้มาเจอน้อง ๆ เพราะไม่เคยเห็นโครงการไหนที่เขาให้เด็กมาทำโครงการ ที่ทำอยู่มีแต่ผู้ใหญ่ การทำโครงการนี้ช่วยพัฒนาความกล้าของน้อง ๆ ให้รู้จักการพูด รู้จักการเข้าหาคนอื่น ได้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับคนที่ไม่รู้จัก ถือว่าเป็นเรื่องดี เริ่มเห็นพัฒนาการของน้อง ๆ คือ เขาเริ่มกล้า รู้จักการเข้าหาเพื่อนมากขึ้น” เปเล่สะท้อนความเห็น

สำหรับน้อง ๆ แล้วการทำโครงการที่คิดว่าเป็นของยากในช่วงแรก ก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่เช่นเดิม แต่เพิ่มเติมคือ ความรู้สึกที่ตระหนักถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเองและชุมชน โดยเฉพาะการได้เรียนรู้ถึงการทำงานอย่างมีระบบขั้นตอน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผนชีวิต วางแผนการเรียน

“โครงการนี้มีประโยชน์ต่อหนู คือ ได้รับความรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้าน รู้ความเป็นมาของหมู่บ้าน เราได้รู้จักการวางแผน พัฒนาความรับผิดชอบ รู้ใจเขาใจเรา คือ เข้าใจ รับฟังเหตุผลของเขา รู้จักแก้ไขปัญหา” กฐินเล่าถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง

ส่วน”แป๋ว” บอกอย่างภูมิใจว่า การรู้ประวัติบ้านตนเอง เวลามีคนถามสามารถเล่าให้เขาฟังได้ โดยบทเรียนจากการทำโครงการนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองคือ การรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายงาน ทำให้ติดเป็นนิสัยที่มีความพยายามทำงานของตนเองให้เสร็จ และทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มที่ ที่สำคัญก็คือ “บ้านเกิดเจ้าของก็ต้องรัก”

ด้าน”แอะ” ซึ่งเป็นน้องที่สุดในกลุ่มบอกสั้น ๆ ว่า ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ทำให้เกิดความรับผิดชอบ

สำหรับ”ดา” ซึ่งยอมรับว่า เธอไม่ค่อยกล้าพูด ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เมื่อได้ร่วมโครงการทำให้ได้ฝึกการพูด ฝึกการนำเสนอ ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาความกล้าให้เกิดขึ้นทำให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น

“จักร” ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมและเป็นพี่ใหญ่ สะท้อนตนเองว่า “จากการทำงานที่ไม่เคยวางแผนก็ได้มีการวางแผนในการทำงานมากขึ้น เมื่อก่อนผมเป็นคนทำอะไรปุ๊บ ๆ ปั๊บ ๆ งานจะส่งพรุ่งนี้ทำวันนี้ แต่ทุกวันนี้ผมต้องปรับตัวใหม่ ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม แต่ก่อนผมเป็นคนขี้อาย หลังจากทำโครงการนี้ ผมรู้สึกว่า ผมกล้ามากขึ้น ที่กล้าขึ้นเพราะมันเหมือนเป็นหน้าที่ของผม ผมต้องรับบทบาทเป็นหัวหน้า ก็ต้องออกไปทำ ออกไปพูด เลยทำให้ผมมีความกล้ามากขึ้น ถึงจะอายก็ต้องออก ทำให้ผมรู้สึกว่า กล้ามากกว่าเดิม”

­

“ชื่นชม.....เติมพลัง(ใจ)....ให้ทีมงาน

บุญธรรม จำปาสุข เจ้าหน้าที่วิชาการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัด ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จักรเคยไปฝึกงานเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัย เล่าว่า เห็นเยาวชนอยากทำโครงการ จึงเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศความสนุกสนานในการทำงานของกลุ่มเยาวชน ที่แม้ตอนเริ่มต้นต่างไม่เป็นงาน จึงจับต้นชนปลายไม่ถูก เมื่อผ่านการเรียนรู้ร่วมกับพี่ ๆ ในโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ก็เริ่มทำงานเป็นมากขึ้น ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชนจะมีก็แค่ช่วงแรกเท่านั้นที่ต้องให้คำแนะนำในเรื่องการทำแผน และการเก็บข้อมูล โดยใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนของนักมานุษยวิทยา

“ผลการทำกิจกรรมของเยาวชน ชาวบ้านชอบมาก ผู้นำในชุมชนก็ชอบมาก ทั้งผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านพงพรตหมู่ 3 และหมู่ 7 จากที่ในตอนแรกเด็ก ๆ บอกว่าทำโครงการทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาหาความหลัง ผู้ใหญ่ในชุมชนก็ไม่เข้าใจว่าทำอะไร แต่พอวันที่เขานำเสนอในงานลานวัฒนธรรม ทำให้ผู้นำ กรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านได้เข้าใจว่า เขาทำเรื่องประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน ทุกคนต่างชื่นชมและชื่นชอบมาก”

เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้และการลงมือทำด้วยตนเองจนโครงการเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ บุญธรรมได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนซึ่ง มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานเป็นทีมมากขึ้น จากที่ช่วงแรก ๆ ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ บางคนที่กล้าอยู่แล้วก็ยิ่งกล้าแสดงออกอย่างถูกที่ถูกทางมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่กล้าแสดงออกก็มีพัฒนาการกล้าพูด กล้าคุยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่คาดหวังได้ว่า เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำเพื่อน ๆ เยาวชนในชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านต่อไปในอนาคต เพราะอย่างน้อยในขณะนี้ ก็ได้แนะนำให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือหมู่บ้านในการจดบันทึกการประชุม หรือนำเสนอความคิดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนด้วย

“ผมเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก รู้สึกทึ่งในสิ่งที่พวกเขาทำมาก เพราะไม่คิดว่าเขาจะทำได้ขนาดนี้ ถ้าย้อนคิดทบทวนเมื่อตัวเองอายุเท่าเขา ผมยังไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเขาเลย ซึ่งในขณะที่เขามีความสามารถ มีความเก่ง แต่เขาก็มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และวางตัวได้ดีอย่างน่าชื่นใจ”

พื้นที่การเรียนรู้ “บ้านพรงพรต” แห่งนี้ทำให้เห็นว่า เส้นทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาได้เรียนรู้และค้นหาเป็นเสมือนเส้นทางเดินที่เชื่อม “คนยุคเก่า-คนยุคใหม่”ได้เดินไปพร้อม ๆ กัน ผนวกกับ “การเห็น” คุณค่าของ “อดีต” ที่สามารถสร้าง “สำนึก”และ “อนาคต” ของหมู่บ้านได้ และเมื่อสำนึกที่รักถิ่นฐานบ้านเกิดถูกปลุกฟื้นจากเรื่องราวในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นในจิตใจของเยาวชน เปรียบเสมือนรากแก้วที่หยั่งลึกให้รู้สึกภาคภูมิใจถึงที่มาของตนเอง และพร้อมที่จะอุทิศตนสืบสานและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ แก่ชุมชน การมีรากย่อมทำให้ต้นไม้เติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นไร การรู้รากเหง้าของตนเองย่อมทำให้คนเติบโตได้อย่างมั่นคงเฉกนั้นเช่นกัน


โครงการทวนเข็มนาฬิกาย้อนเวลาหาความหลัง

พี่เลี้ยงชุมชน :

  • ปราณี อัครชาติ
  • บุญธรรม จำปาสุข (เจ้าหน้าที่วิชาการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ)

ทีมทำงาน :

  • กลุ่มเยาวชนบ้านพงพรต ตำบลหนองห้าง อำเภออุทุมพรพิสัง จังหวัดศรีสะเกษ

­