การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

ปราสาทบ้านฉัน

โครงการปราสาทตาเล็งศูนย์รวมความศรัทธาของชุมชน

เมื่อต้องมาทำงานด้วยกัน เด็ก ๆ เขาก็ได้ความเสียสละ รับฟังผู้อื่น ยิ่งเมื่อได้ลงมือทำแล้วเกิด ข้อผิดพลาด เด็กจะย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองก่อน ไม่โทษผู้อื่น แล้วกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง ได้ดีขึ้น หรือหากจะทำอะไรสักอย่าง ก่อนจะทำต้องผ่านกระบวนคิดไตร่ตรองมากขึ้นว่า สิ่งที่ทำมีผลดี หรือมีผลกระทบกับชีวิตอย่างไร วิธีคิดแบบนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาเวลาออกไปใช้ชีวิตในสังคม

ปราสาทตาเล็ง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนบ้านปราสาท ที่อยู่คู่ชุมชนมายาวนาน แต่วันนี้กลับหลงเหลือผู้รู้ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของปราสาทน้อยลงทุกที ทีมงานซึ่งประกอบด้วย ไวน์-สุกัญญา คำแก้ว แคท-เสาวลักษณ์ นัยสว่าง ป๊อป-อภิญญา ขวานทอง ไอซ์-วนิดา อุ่นแก้ว และ หญิง-ศศิวิมล สุยงาม จึงลุกขึ้นมาทำโครงการปราสาทตาเล็งศูนย์รวมความศรัทธาของชุมชน เพื่อสืบทอดและสานต่อคุณค่าของ ปราสาทตาเล็งไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้


>> ก้าวข้ามความกลัว

“ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำโครงการ พี่ๆ เขาถามถึงข้อมูลชุมชนและปราสาทตาเล็งว่า พวกเรารู้เรื่อง อะไรบ้าง เราก็ตอบไม่ได้ ตอนนั้นเข้าใจเลยว่า ที่ผ่านมาเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชุมชนและปราสาทนี้เลย ทั้งที่เป็นบ้านของเราเอง”

แต่กว่าจะคิดทำโครงการได้เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทีมงานทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า กล้าๆ กลัวๆ ว่าจะทำโครงการไปไม่รอด

ไวน์ บอกว่า แม้เธอจะอยู่ตำบลปราสาท แต่ก็อยู่นอกพื้นที่บ้านปราสาท ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของการทำ โครงการ เมื่อรู้รายละเอียดว่าต้องใช้เวลาทำกิจกรรมกว่า 6 เดือน จากความคิดเดิมที่อยากเข้ามาทำเพราะความสนุก กลับรู้สึกว่าคงไม่สนุกอย่างที่คิด เนื่องจากขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเตรียมตัวสอบ เพื่อหาที่เรียนใหม่

เช่นเดียวกับ แคท ที่ถึงแม้จะเป็นคนในชุมชนบ้านปราสาท แต่ก็มีความกังวลใจไม่แพ้กัน

“ค่อนข้างตัดสินใจยาก ใจหนึ่งก็อยากทำ ถึงจะไม่ใช่คนในชุมชน แต่เราเป็นคนตำบลนี้เหมือนกัน อีกใจก็ไม่อยากทำ เพราะกลัวไม่มีเวลา และค่อนข้างกังวลกับการหาที่เรียนต่อ” ไวน์ อธิบาย และเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจทำโครงการต่อไปว่า “ตอนไปอบรมร่วมกับเพื่อนโครงการอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษขึ้นจัดขึ้น ได้เจอเพื่อนจากที่อื่นรู้สึกสนุก ได้ความรู้และได้แรงใจให้อยากทำต่อ เพราะเราได้นั่งคุยกับเพื่อนว่าแต่ละคนทำโครงการอะไร ทำไมถึงเข้ามาทำ เหตุผลส่วนใหญ่คล้ายๆ กัน คือ ไม่รู้มาก่อนว่าต้องทำโครงการในระยะยาว แต่รู้สึกว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะได้ทำประโยชน์ให้ชุมชน

แต่เมื่อพี่เลี้ยงโครงการชวนคิดวิเคราะห์ปัญหาและของดีที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงการประเมินศักยภาพ ของทีมงาน พวกเขาตัดสินใจเดินหน้าทำโครงการต่อ เพราะคิดว่า “ในเมื่อคนอื่นยังทำได้ ทำไมเราถึงไม่ทำ”

“ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มทำโครงการ พี่ ๆ เขาถามถึงข้อมูลชุมชนและปราสาทตาเล็งว่า พวกเรารู้เรื่อง อะไรบ้าง เราก็ตอบไม่ได้ ตอนนั้นเข้าใจเลยว่า ที่ผ่านมาเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชุมชนและปราสาทนี้เลย ทั้งที่เป็นบ้านของเราเอง” ไวน์ สะท้อน

ทีมงาน เล่าว่า แต่เดิมเคยมีป้ายบอกเล่าประวัติความเป็นมาของปราสาทตาเล็งจากหน่วยงานส่วนกลางมาปักไว้บริเวณปราสาท แต่ป้ายดังกล่าวเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

ป๊อป เสริมต่อว่า สิ่งที่เคยอ่านผ่านตาบนป้ายเป็นข้อมูลสั้นๆ ไม่กี่บรรทัด เท่าที่จำได้เธอรู้เพียงว่า ปราสาทตาเล็งเดิมชื่อปราสาทลุมพุก รอบบริเวณปราสาทที่นั่งอยู่นี้เคยเป็นหนองน้ำมาก่อน แม้ในใจตอนนั้นจะ อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ได้สนใจสอบถามเพิ่มเติมจากใคร


>> เข้าใกล้ชุมชน...เข้าถึงข้อมูล

“ผู้ใหญ่ให้ความความร่วมมือดีมาก เวลาสัมภาษณ์เขาจะตั้งใจฟังและเล่าเรื่องในชุมชนให้ฟัง เยอะมาก เรื่องไหนไม่รู้ก็แนะนำให้ไปถามคนอื่นที่น่าจะรู้ ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าผู้ใหญ่จะให้ ความร่วมมือขนาดนี้ ดีใจที่คนในชุมชนให้ความสนใจโครงการของพวกเรา”

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ทีมงานจึงวางเป้าหมายการทำโครงการไว้ 3 ส่วนคือ 1. สืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนและปราสาทตาเล็ง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในชุมชน 2. บันทึกข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นฐานข้อมูลของชุมชน และ 3. เผยแพร่ข้อมูลที่สำรวจให้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนได้รับรู้ ทั้งนี้ทีมงานคาดหวังว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปจะ ทำให้เด็ก และเยาวชนรู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น และตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งยังช่วยเติมเต็มความรู้ที่ขาดหายไปให้แก่ผู้ใหญ่ในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ และได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ทีมงานจึงวางแผนประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการให้คนในชุมชนได้รับรู้ โดยขอความร่วมมือ จากผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยประกาศเสียงตามสายระดมคนในชุมชนให้มารวมตัวกัน นอกจากแนะนำโครงการแล้ว เวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แนะนำตัวเองต่อชุมชนอย่างเป็นทางการ พร้อมขอความร่วมมือจาก ผู้ใหญ่เรื่องการให้ข้อมูลความรู้ เมื่อทีมงานลงพื้นที่สัมภาษณ์

“วันประชุมชี้แจงเหมือนคนในชุมชนไม่ค่อยให้ความสนใจ บางคนนั่งข้างนอกอาคาร กว่าจะเรียกเข้ามารวมกันได้ต้องใช้เวลา ตอนนั้นเริ่มกังวลแล้วว่าจะไปรอดหรือเปล่า แต่มารู้ทีหลังว่าเป็นธรรมชาติของผู้ใหญ่ที่นี่เวลามาประชุมจะทำตัวสบายๆ ซึ่งก็จริงเพราะช่วงที่เราลงไปเก็บข้อมูล ผู้ใหญ่ให้ความความร่วมมือดีมาก เวลาสัมภาษณ์เขาจะตั้งใจฟังและเล่าเรื่องในชุมชนให้ฟังเยอะมาก เรื่องไหนไม่รู้ก็แนะนำให้ไปถามคนอื่นที่น่าจะรู้ ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าผู้ใหญ่จะให้ความร่วมมือขนาดนี้ ดีใจที่คนในชุมชนให้ความสนใจโครงการของพวกเรา” ไวน์ กล่าว

หญิง เสริมต่อว่า เมื่อก่อนเด็กๆ อย่างเราไม่เคยเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ พอได้เข้าไปคุย บรรยากาศการทำงานการใช้ชีวิตในชุมชนทั่วไปก็ดีขึ้น มีอะไรผู้ใหญ่เขาจะช่วยเรา พอสนิทกันก็ได้พูดคุยกันเรื่องอื่นๆ ด้วย รู้สึกว่าเขาดีใจที่เราเข้าไปคุยกับเขา

ทั้งนี้ทีมงานตั้งใจนำข้อมูลจากการสำรวจมาสรุปผล เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่อชุมชน โดยเลือกวันประกอบพิธีบวงสรวงบริเวณปราสาทตาเล็งเป็นวันเผยแพร่ข้อมูล เนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นวันที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยจะมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง อีกทั้งยังมีเพื่อนบ้านจากชุมชนข้างเคียงมาร่วมงานด้วย

“เท่าที่เห็นแต่ละปีมีคนมาร่วมงานเป็นพันคน” ไวน์ เอ่ยขึ้น

การประกอบพิธีกรรมบวงสรวงบริเวณปราสาทตาเล็งจัดขึ้นช่วงวันสงกรานต์ของทุกปีไปพร้อมๆ กับพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และการละเล่นสงกรานต์แบบไทย ชาวบ้านที่นี่มีความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปราสาทและเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้มีผู้พิทักษ์รักษาและคอยดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชน

อย่างที่กังวลใจแต่แรก กลุ่มแกนนำเยาวชนไม่มีเวลาลงพื้นที่มากนัก การลงเก็บข้อมูลในช่วงแรกใช้เวลาเพียง 2-3 วัน หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลจากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์เพื่อสรุปเป็นข้อความพร้อมภาพประกอบ แล้วนำเสนอในวันงานบวงสรวงที่จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน 2559 แต่ การเตรียมงานต้องสะดุด เพราะสมาชิกในทีมไม่สามารถจัดสรรเวลามาจัดบูธได้ตามที่วางแผนไว้ กระทั่งการเตรียมงานล่าช้าไปจนถึงวันรุ่งขึ้น ทำให้นำเสนองานออกมาได้ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร

“เราตั้งใจจัดเตรียมบูธในตอนเย็นก่อนวันงาน มีภาพ มีข้อมูลประกอบ เพื่อความน่าสนใจ แต่มากันไม่ทัน พอใกล้ค่ำผู้ปกครองโทรตามเลยต้องหยุด แล้วตกลงกันว่าจะรีบมาจัดบูธให้เสร็จตอนเช้าวันงาน แต่สุดท้ายผลงานที่ทำออกมาก็ไม่ได้ตามที่คิดไว้ เรายังรู้สึกว่าทำให้สวยและดีกว่านี้ได้ ถ้ามีเวลามากขึ้นกว่านี้” ไวน์ กล่าว

“ในวันที่เราวิเคราะห์ข้อมูลกัน ตาหวน ศรีนาคเข้ามาชื่นชมบอกว่า สิ่งที่พวกเราทำอยู่นั้นดีแล้ว ได้ช่วยเก็บความรู้ของชุมชนไว้ให้เด็กรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ คำชมของผู้ใหญ่เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่ง อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามีคนเห็นคุณค่าในตัวเราและสิ่งที่พวกเราทำ เราจะทิ้งงานไปไม่ได้ ต้องทำให้สำเร็จ”

ปฏิบัติการขุดหารากเหง้าของชุมชน

บรรยากาศในงานวันบวงสรวงประจำปีเต็มไปด้วยผู้คนที่มาร่วมงานประเพณีและรับชมกิจกรรมบนเวที มีผู้คนจำนวนไม่น้อยแวะเข้ามาเยี่ยมชมบูธของพวกเขา ซึ่งทีมงานบอกว่า รู้สึกดีใจที่ผู้ใหญ่แวะเข้ามาเยี่ยมชมบูธ สอบถามข้อมูลและให้คำแนะนำ แต่เมื่อประเมินผลการทำกิจกรรมของตัวเองแล้ว พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้อมูลที่สืบค้นมานั้นยังไม่เพียงพอ

“ตอนนั้นเรามีแค่ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ยังขาดเรื่องความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนมารวมตัวกันในวันงานบวงสรวง แล้วแหล่งข้อมูลก็มีไม่มากพอที่จะนำมาเปรียบเทียบหรือวิเคราะห์ จนสรุปเป็นประวัติศาสตร์ชุมชนและที่มาที่ไปของปราสาทตาเล็งได้ พวกเราเลยตั้งใจลงพื้นที่สำรวจเพิ่ม เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านความเชื่อเพิ่มเติม” ไอซ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน บอกว่า ความยากของการเก็บข้อมูล คือ “การสื่อสาร” ให้ผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสเข้าใจคำถามและตอบให้ตรงคำถาม จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาถิ่นในการพูด อีกทั้งข้อมูลหลายส่วนที่ขาดหายไปไม่สามารถเก็บได้ เพราะผู้ใหญ่แต่ละคนอายุมากแล้ว อาจมีหลงลืมไปบ้าง ทำให้ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ จึงต้องสัมภาษณ์เพิ่มเติมเพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบอีกชั้นหนึ่ง

“เราทำกันมาขนาดนี้แล้ว ลงไปเก็บข้อมูล เอาข้อมูลมานำเสนอ จะมาถอดใจตอนนี้ไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องสู้ ทำให้เสร็จเพื่อตัวเราเอง และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มาคืนชุมชน” ไวน์ กล่าว

การยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง ที่นำมาสู่การลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ใหญ่เพิ่มเติมนั้น ทีมงาน บอกว่า เป็นเพราะ “แรงผลักดัน” จากคำชื่นชมของผู้ใหญ่ในชุมชนบางท่านที่เคยเข้าไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูล โดยเฉพาะตาหวน ศรีนาค ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในที่คนในชุมชนนับถือ

“ในวันที่เราวิเคราะห์ข้อมูลกัน ตาเขาเข้ามาชื่นชมบอกว่า สิ่งที่พวกเราทำอยู่นั้นดีแล้ว ได้ช่วยเก็บความรู้ของชุมชนไว้ให้เด็กรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ คำชมของผู้ใหญ่เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่ง อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามีคนเห็นคุณค่าในตัวเราและสิ่งที่พวกเราทำ เราจะทิ้งงานไปไม่ได้ ต้องทำให้สำเร็จ” ไวน์ กล่าวอย่างมุ่งมั่น

ทีมงานบอกว่า จุดหมายปลายทางของการลงพื้นที่สัมภาษณ์ครั้งที่ 2 ที่พวกเขาคาดหวัง หลังจากเห็นความร่วมมือของผู้ใหญ่ในชุมชนที่เชื่อมโยงกันด้วยความศรัทธาและความเชื่อ คือการนำข้อมูลที่เก็บได้มาจัดทำเป็นสมุดเล่มเล็ก เพื่อเผยแพร่ประวัติชุมชนและปราสาทตาเล็ง รวมถึงความเชื่อและความศรัทธาต่อปราสาทให้คนในชุมชนรับรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้และเข้าใจถึงที่มาที่ไปของชุมชนตนเอง

“พวกเราคิดทำสมุดเล่มเล็กขึ้นมา เพื่อนำไปแจกแต่ละหมู่บ้านไว้ใช้เป็นฐานข้อมูลชุมชน และนำไปไว้ในห้องสมุดโรงเรียนของชุมชนให้เด็ก ๆ ได้อ่านและเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน” ป๊อบ กล่าว


>> สืบค้นคุณค่าปราสาทตาเล็ง

ไอซ์ และ หญิง บอกว่า การลงเก็บข้อมูลครั้งที่ 2 จากแหล่งข้อมูลใหม่ทำให้พวกเขารู้จักชุมชนดีขึ้นกว่าเก่า ทั้ง 2 คน ช่วยกันสรุปประวัติของชุมชนและปราสาทตาเล็งได้ใจความว่า ตำบลปราสาท ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน มีโบราณสถานอยู่ 1 แห่ง นั่นคือ ปราสาทตาเล็ง ที่ตั้งอยู่หมู่ 1 บริเวณด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน สถานที่แห่งนี้เป็นสิ่งก่อสร้างโบราณที่บรรพบุรุษชาวเขมรร่วมกันสร้างขึ้น

ตัวปราสาทตาเล็งที่เหลืออยู่ในปัจจุบันหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพเหลือเพียงปราสาทปรางค์เดี่ยวที่ก่อขึ้นด้วยหินทรายและศิลาแลง ส่วนยอดได้พังทลายลง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างด้วยอิฐ จากหลักฐานที่ปรากฏพบ ได้แก่ ภาพสลักบนทับหลัง ลวดลายสลักบริเวณกรอบประตูและชิ้นส่วนหน้าบันศึกษาเปรียบเทียบได้ว่าปราสาทตาเล็งสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 จนถึงช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยศิลปะแบบปาปวน ด้านหน้ามีซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง ถัดจากประตูทางเข้าออกไปประมาณ 200 เมตร มีบารายขนาดใหญ่เป็นที่เก็บกักน้ำประจำชุมชนที่สร้างร่วมกับตัวปราสาท

ทีมงานบอกต่อว่า ชาวบ้านปราสาทส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายเขมร มีความรักความผูกพันกับปราสาท ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น จึงร่วมกันดูแลรักษาปราสาทเป็นอย่างดี มีการจัดแบ่งเวรอาสามาทำความสะอาด และเก็บ กวาดบริเวณโดยรอบ ปัจจุบันปราสาทตาเล็งกลายเป็นศาสนสถานประจำชุมชนที่คนให้ความเคารพนับถือ

ในด้านความเชื่อนั้น ทีมงานเล่าถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่แสดงถึงความเชื่อและศรัทธาของคนในชุมชนที่มีต่อปราสาทว่า เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะปราสาท และได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกจากปราสาทไปยังศาลาริมนาฝั่งตรงข้าม เหตุการณ์น่าประหลาดใจเกิดขึ้นเมื่อมีคนฝันถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปราสาท

“คนที่ฝันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปราสาทมาบอกว่า ยังกลับเข้าไปในปราสาทไม่ได้ เพราะอัญเชิญกลับเข้าปราสาทไม่ถูกวิธี ปีที่ผ่านมาชุมชนเลยจัดพิธีอัญเชิญใหม่อีกครั้งหลังการบวงสรวงช่วงสงกรานต์ มีการนำเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตมาถวายเพิ่มด้วย เช่น หม้อ จอบ เสียม และตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ในวันนั้นมีคนในชุมชนมาทำพิธีร่วมกันอีกเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความศรัทธาจริง ๆ” ป๊อป กล่าว


>> พัฒนาตัว พัฒนาใจ

“ถ้ามีเวลามากกว่านี้ คงทำได้ดีกว่านี้ หลายครั้งช่วงที่ทำโครงการเรารู้สึกขี้เกียจไม่อยากมา เพราะเหนื่อย แต่ก็คิดว่าที่นี่เป็นบ้านของเรา ถึงแม้จะไม่ใช่คนพื้นเพบ้านปราสาทโดยตรง แต่ก็อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ตำบลของตัวเอง”

กล่าวได้ว่าขั้นตอนและกระบวนการทำงานในโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในตัวทีมงาน ทั้งการสื่อสาร ความกล้าแสดงออก ความรับผิดชอบ แต่ที่สำคัญคือ ความรู้สึกสำนึกรักชุมชนถิ่นเกิด

ไวน์ บอกว่า เธอยังอยากปรับปรุงตัวเองเรื่องความตรงต่อเวลา และอยากแบ่งเวลามาทำโครงการให้ได้ดียิ่งขึ้น คิดว่าถ้ามีเวลามากกว่านี้คงทำได้ดีกว่านี้ หลายครั้งช่วงที่ทำโครงการเรารู้สึกขี้เกียจไม่อยากมา เพราะเหนื่อย แต่ก็คิดว่าที่นี่เป็นบ้านของเรา ถึงแม้จะไม่ใช่คนพื้นเพบ้านปราสาทโดยตรง แต่ก็อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ตำบลของตัวเอง

“เมื่อก่อนไม่กล้าเอ่ยปากพูดหรือถาม เพราะเรารู้น้อยเลยปิดกั้นตัวเอง แต่ตอนนี้รู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นเลยกล้าพูด และกล้าถามออกไปในเรื่องที่สงสัย เห็นได้ชัดเลยว่ามีความมั่นใจเวลาออกไปพูดหรือนำเสนองานหน้าห้อง ทักษะด้านอื่น ๆ จากการอบรมร่วมกับพี่เลี้ยงก็สามารถนำไปใช้ทำงานกลุ่มในห้องเรียนได้ แทนที่จะให้งานไปตกที่คนใดคนหนึ่ง เราแบ่งงานตามความถนัดให้ทุกคนได้ทำ การทำงานกลุ่มเลยง่าย เร็วขึ้น และบรรยากาศในการทำงานดีขึ้น เพราะทุกคนให้ความร่วมมือกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิด มีความสนุกสนาน ได้รู้จักนิสัยใจคอ และความสามารถของเพื่อนมากขึ้นด้วย” ไวน์ กล่าว

ไอซ์ ป๊อบ และหญิง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดิมทีไม่ต้องถึงขั้นออกไปจับไมค์แล้วยืนสั่น แค่ก้าวขาออกไปหน้าห้องเรียนเพื่อพูดนำเสนองานยังไม่กล้า พวกเขาจึงเป็นแผนกเบื้องหลัง คอยทำงาน และให้กำลังใจเพื่อนเวลาออกไปนำเสนอ ถึงตอนนี้ความเกร็งและความกลัวยังมีอยู่ แต่เมื่อมีโอกาสออกไปพูดนำเสนอกิจกรรมที่ทำและแสดงความคิดเห็นในเวทีต่าง ๆ บ่อยครั้ง ก็เริ่มกล้ามากขึ้น

“เราเห็นเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ นำเสนอได้ดีมาก ตอบคำถามดีมาก พูดรู้เรื่อง และมีความมั่นใจในการพูด การตอบ เราอยากทำให้ได้แบบเขา อยากทำให้ดีเท่า หรือไม่ก็ดีกว่า ยิ่งเวลาเพื่อน ๆ กลุ่มอื่นนำเสนอ แล้วนำแนวคิดมาปรับให้เข้ากับโครงการของเราได้ ก็คิดได้ว่า เราควรนำเสนอกิจกรรมที่ทำให้เพื่อนรู้ด้วย เผื่อมีประโยชน์กับเขา เพราะถ้าเราไม่พูดก็ไม่มีใครรู้ว่าเราทำอะไร” ไอซ์ กล่าว

หญิง เสริมว่า ความยากของการพูดอยู่ที่การเลือกและเรียบเรียงข้อมูลว่าควรพูดอะไรก่อนหลัง จนเกิดความกังวล ทำให้ไม่กล้าพูดออกไป

เช่นเดียวกับป๊อบที่บอกว่า เมื่อต้องออกไปนำเสนอผลงานต่อหน้าคนอื่น นอกจากความกดดันจากคนจำนวนมากแล้ว บางครั้งยังงงและไม่เข้าใจกับคำถาม จนทำให้รู้สึกสับสน เรียบเรียงข้อมูลออกมาพูดไม่ได้ แต่ตอนนี้สามารถทำได้ดีขึ้น

“ช่วงแรกไม่รู้จะพูดอะไร เพราะยังไม่เคยทำโครงการยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เวทีครั้งหลัง ๆ ที่เข้าร่วม พวกเรากล้าพูดมากขึ้น เพราะได้ลงมือทำ รู้ว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ทำอะไรก่อนอะไรหลัง ก็สามารถเรียบเรียงคำพูดไปนำเสนอได้ จัดการกับความคิดของตัวเองเพื่อสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ เมื่อก่อนจะพูดอะไรไม่เคยคิดมากขนาดนี้” หญิง กล่าว


>> เมื่อลงมือทำ จึงได้ภูมิคุ้มกันชีวิต

“เมื่อต้องมาทำงานด้วยกัน เด็กๆ เขาก็ได้ความเสียสละ รับฟังผู้อื่น ยิ่งเมื่อได้ลงมือทำแล้วเกิดข้อผิดพลาด เด็กจะย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองก่อน ไม่โทษผู้อื่น แล้วกลับมาเผชิญหน้ากับความจริงได้ดีขึ้น หรือหากจะทำอะไรสักอย่าง ก่อนจะทำต้องผ่านกระบวนคิดไตร่ตรองมากขึ้นว่า สิ่งที่ทำมีผลดีหรือมีผลกระทบกับชีวิตอย่างไร วิธีคิดแบบนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาเวลาออกไปใช้ชีวิตในสังคม”

ประเสริฐ ศรีสุวรรณ ผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน ย้ำว่า ปราสาทตาเล็งถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน คนในชุมชนมีความเลื่อมใสและศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่พิทักษ์รักษาปราสาทไว้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ประวัติความเป็นมาของปราสาท รวมถึงความเป็นมาของชุมชน อีกทั้งยังไม่เคยมีใครเก็บข้อมูลรวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนตัวช่วยในการขุดหารากเหง้าของชุมชน โดยมีกลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชนเป็นผู้นำในการขุด

“ถ้าชวนคนที่นี่มาทำกิจกรรมเกี่ยวกับปราสาททุกคนยินดีมาเพราะปราสาทเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน ผู้ใหญ่แต่ละคนก็ไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง พอมีเด็กๆ ลุกขึ้นมาทำโครงการเกี่ยวกับชุมชนเกี่ยวกับปราสาทตาเล็ง ผู้ใหญ่เลยให้การตอบรับดีและยินดีให้ความร่วมมือกับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เขารวมรวมข้อมูลออกมาเป็นชิ้นเป็นอันให้ได้”

ประเสริฐ สะท้อนอีกว่า โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ สอนให้เด็กมีวินัยและรู้จักตนเอง การรู้จักตัวเอง หมายรวมถึงการรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งเรื่องการเรียน ครอบครัว หรือแม้แต่สังคมที่อาศัยอยู่ เช่น การรับผิดชอบงานที่ครูมอบหมาย และการช่วยผู้ปกครองทำงานในบ้าน รวมถึงงานสังคม

ประเสริฐ ย้ำว่า ความรู้ คุณลักษณะที่ดี และทักษะการใช้ชีวิต สามารถพัฒนาไปพร้อม ๆ กันจากการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอย่างที่กลุ่มแกนนำเยาวชนกำลังทำอยู่ กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เป็นคนเปิดกว้าง พร้อมพัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ในสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ

“เมื่อต้องมาทำงานด้วยกัน เด็กๆ เขาก็ได้ความเสียสละ รับฟังผู้อื่น ยิ่งเมื่อได้ลงมือทำแล้วเกิดข้อผิดพลาด เด็กจะย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองก่อน ไม่โทษผู้อื่น แล้วกลับมาเผชิญหน้ากับความจริงได้ดีขึ้น หรือหากจะทำอะไรสักอย่าง ก่อนจะทำต้องผ่านกระบวนคิดไตร่ตรองมากขึ้นว่า สิ่งที่ทำมีผลดีหรือมีผลกระทบกับชีวิตอย่างไร วิธีคิดแบบนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาเวลาออกไปใช้ชีวิตในสังคม”

ดอน-ณัฐฌยาน์ ศรีสุวรรณ พี่เลี้ยงชุมชน บอกว่า เธอเป็นเจ้าหน้าที่กองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของ อบต.ปราสาท จึงสนใจสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนของเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เมื่อได้รับคำเชิญชวนจากทีมพี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 ให้เข้ามาช่วยเป็น พี่เลี้ยงชุมชน จึงไม่ลังเลใจที่จะตบปากรับคำ และเริ่มประชาสัมพันธ์แนะนำโครงการกับเด็กและเยาวชนในโรงเรียน โดยประสานงานไปยังโรงเรียนขุขันธ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ แม้ว่าครั้งนั้นมีนักเรียนสนใจ สมัครเข้าร่วมโครงการเพียง 15 คน แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เธอเรียนรู้ว่า กิจกรรมเพื่อชุมชนจะเดินหน้าอย่างราบรื่นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในพื้นที่เป็นหลัก

“พอเราประกาศประชาสัมพันธ์โครงการในโรงเรียน นอกจากน้องๆ ในพื้นที่แล้วยังมีนักเรียนที่อื่นมา สมัครด้วย เราเชื่อว่าเด็กมีความสนใจทำโครงการจริง แต่ระยะทางและการเดินทางเป็นอุปสรรค สุดท้ายเหลือ แกนนำในพื้นที่และชุมชนข้างเคียงอยู่ประมาณ 5 คน”

ดอน อธิบายต่อว่า เข้ามารับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงชุมชนด้วยความเต็มใจ ไม่เคยคิดว่าหน้าที่นี้เป็นภาระแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นงานในโครงการหรืองานในหน้าที่ เป้าหมายของงานคือ การพัฒนาเยาวชนเหมือนกัน ถ้าพัฒนาเด็กได้ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมตกอยู่กับชุมชน

ระหว่างที่มาดูแลเด็ก ๆ ในโครงการ ตัวเราเองก็ได้เรียนรู้และทำความรู้จักชุมชนไปพร้อมๆ กับเด็ก เพราะยังมีเรื่องของชุมชนหลายเรื่องที่ตัวเองก็ไม่เคยรู้ แม้ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่สิ่งที่ได้คืนมาในระยะยาว และเป็นประโยชน์กับชุมชนมีมากกว่า สุดท้ายมีแต่ได้กับได้...บอกตามตรงว่าก่อนหน้านี้ขนาดตัวเองยังรู้สึกละอายเวลาเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาปราสาทตาเล็ง แล้วมาเจอปราสาทที่ยังบูรณะไม่เสร็จ แถมยังไม่มีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทให้ศึกษาเลย” ดอน เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ในแง่ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มแกนนำเยาวชนนั้น ดอน สะท้อนว่า ถึงแม้เบื้องหลังการทำงาน บางครั้งทีมงานอาจจะขี้เกียจ ไม่อยากมาทำกิจกรรมบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นธรรมชาติของเด็กวัยรุ่น

“ผู้ใหญ่เองก็ต้องเข้าใจและปรับตัวเข้าหาเขาด้วย ไม่ใช่ยึดตัวเองเป็นมาตรฐาน โดยส่วนตัวคิดว่าตัวเอง ได้เรียนรู้จากเด็กด้วยซ้ำ ทำให้เราเข้าใจวัยรุ่นมากขึ้น เข้าใจสิ่งที่ลูกคิดมากขึ้น เพราะได้ทำงานกับเยาวชน”

จากจุดเริ่มต้นด้วยความกล้าๆ กลัวๆ นำพาให้ทีมงานเดินสู่เส้นทางการเรียนรู้รากเหง้า ของตนเอง วันนี้ประวัติศาสตร์ชุมชนและข้อมูลปราสาทตาเล็งที่พวกเขาลงมือสืบค้นและเก็บรวบรวม ได้กลายเป็น “ทุนความรู้” ของชุมชน เมื่อปราสาทตาเล็งศูนย์รวมใจ ของคนในพื้นที่ได้รับความสนใจ จากเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนเอง ผู้ใหญ่ในชุมชนคงวางใจได้ว่า ปราสาทตาเล็ง จะยังได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนในชุมชน ตราบนานเท่านาน


โครงการปราสาทตาเล็งศูนย์รวมความศรัทธาของชุมชน

พี่เลี้ยงชุมชน : ณัฐฌยาน์ ศรีสุวรรณ (เจ้าหน้าที่กองการศึกษา อบต.ปราสาท)

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชน ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ