การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานประเพณีจุ๊เมิญของชาวมอญ ตำบลบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2

สืบสานตำนาญมอญจุ๊เมิญ

โครงการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมจุ๊เมิญในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง


โครงการนี้ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะได้ลงมือทำ จนกล้าคิด กล้าทำต่อยอดไปเรื่อยๆ เดิมทีไม่อยากออกไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชน เพราะกลัวไม่ได้รับความร่วมมือ แต่เมื่อเปิดตัวเองเข้าหาผู้อื่น ความห่างเหินกลับกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด จนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองทอดยาวไปจนถึงปากแม่น้ำ ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณหมู่ 1 บ้านรามัญตะวันตก และ หมู่ 5 บ้านรามัญตะวันออก คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทั้งประมงชายฝั่ง ประมงน้ำลึก และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ชาวมอญบางจะเกร็งนอกจากมีประเพณีวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมของไทย เช่น ประเพณีชักพระ สงกรานต์ และงานออกพรรษาแล้ว ที่นี่ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน นั่นคือ การรำผีมอญหรือจุ๊เมิญ ที่จัดขึ้นเฉพาะก่อนพิธีบวชลูกหลานชาวมอญ ซึ่งแต่เดิมชาวมอญให้ความสำคัญกับพิธีกรรมนี้มาก เห็นได้จากเมื่อมีการทำพิธีผู้คนในชุมชนเชื้อสายมอญจะมารวมตัวกันด้วยความเชื่อและศรัทธาเป็นจำนวนมาก

แต่ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวลดความสำคัญลง เหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ไม่กี่คนที่รู้ แต่ก็หมดเรี่ยวแรงที่สานต่อ กระทั่งเทศบาลตำบลบางจะเกร็งชักชวนเด็กๆ ในชุมชนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ประเพณีจุ๊เมิญของชาวมอญที่เลือนหายไปจากชุมชนบางจะเกร็งจึงเห็นแววฟื้นคืนมาอีกครั้ง

“การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเป็นประสบการณ์ตรงที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมมากกว่าการจดจ่ออยู่กับมือถือ ยิ่งโรงเรียนสนับสนุนและเด็กแสวงหา ยิ่งช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพมากขึ้นได้”

เมื่อผู้ใหญ่เปิดรับ เด็กจึงก้าวเดิน

ด้วยผ่านประสบการณ์เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หนุนเสริมกระบวนการทำงานในชุมชนมาก่อน เมื่อถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ทีมงานเทศบาลตำบลบางจะเกร็งจึงเข้าร่วม โดยสุขเกษม โง้วสกุล นายกเทศมนตรีตำบลบางจะเกร็ง บอกว่า เทศบาลมีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนตำบลในระยะยาว เพราะมองว่าเด็กเยาวชนสามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองในอนาคต โดยมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกับสถานศึกษา เพราะเป็นสถานที่ที่เด็กเยาวชนใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด

“การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเป็นประสบการณ์ตรงที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมมากกว่าการจดจ่ออยู่กับมือถือ ยิ่งโรงเรียนสนับสนุนและเด็กแสวงหา ยิ่งช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพมากขึ้นได้”

รจนา ชูสกุล รองปลัดเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง บอกว่า ที่ผ่านมางานพัฒนาชุมชนเดินหน้าได้ยาก เพราะต่างคนต่างทำ จริงๆ แล้วในชุมชนประกอบด้วยองค์ประกอบหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ โรงเรียน วัด หรือแม้แต่ชุมชนเอง หากสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนได้ จะช่วยผลักดันงานพัฒนาชุมชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนและใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เมื่อได้รับการติดต่อจากพี่ธเนศ-ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ชวนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จึงติดต่อโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม เพราะเคยร่วมกันมาก่อน โชคดีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อชุมชนอยู่แล้ว เมื่อเป้าหมายสอดคล้องกันคือ การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนโดยสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การร่วมมือกันจึงง่ายขึ้น

“เรามองว่าเด็กมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนให้ถูกทาง เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่เองก็ต้องร่วมมือกันเพื่อปูทางให้เด็กด้วย” รจนา กล่าว

“เมื่อเพื่อนเข้ามาถามข้อมูลเกี่ยวกับชาวมอญและชุมชนที่อาศัยอยู่ เธอกลับให้คำตอบได้น้อยมาก จุดนั้นเองทำให้ฉุกคิดถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาว่า เธอมองข้ามเรื่องราวใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเองไปไม่น้อย”

เหตุเกิดเพราะ “อยากรู้”

เมื่อโอกาสเปิด ทางโรงเรียนจึงประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ “ความอยากรู้” เป็นแรงผลักดันให้ จี้-กัญญาภัค กรุตสุข จ๊อบ–จิรภัทร แวงสุข ปาล์ม–พรนภา อินตา เชียร์–วิชิราพรรณ กลัดเจริญ และแสตมป์–ณัฏฐา ไกลทอง รวมตัวเข้ามาทำโครงการ ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมนับ 1 สร้างสำนึก ปลุกพลังพลเมือง ความอยากรู้ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

“พี่ๆ แนะนำให้เราลงไปสำรวจชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลชุมชน ยิ่งฟังยิ่งอยากทำ เพราะอยากรู้ว่าถ้าลงชุมชนแล้วเราจะเจออะไรบ้าง” จี้ กล่าว

โรงเรียนวัดศรัทธาธรรมเป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนทั้งสิ้นประมาณ 160 คน ตั้งอยู่ใกล้วัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) หมู่ 1 บ้านรามัญตะวันออก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบส่วนใหญ่มีเชื้อสายมอญ ทีมงานจึงเลือกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เป้าหมาย เพราะอยู่ชิดติดรั้วโรงเรียน และชวนปาน ยังอยู่ เพื่อนร่วมรุ่นที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้เข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อช่วยให้ทีมทำงานง่ายขึ้น

ปาน เป็นคนในชุมชนและมีเชื้อสายมอญ แต่เมื่อเพื่อนเข้ามาถามข้อมูลเกี่ยวกับชาวมอญและชุมชนที่อาศัยอยู่ เธอกลับให้คำตอบได้น้อยมาก จุดนั้นเองทำให้ปานฉุกคิดถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาว่า เธอมองข้ามเรื่องราวใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเองไปไม่น้อย

ทีมงาน ลงพื้นที่สำรวจชุมชนกว่า 15 ครั้ง แต่ก็เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจาก พี่อ้วน - คำรณ นิ่มอนงค์ พี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ ถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเก็บข้อมูลในชุมชน

“การลงพื้นที่ชุมชนไม่ใช่แค่ลงไปเพื่อนับแต้มว่าลงไปแล้วกี่ครั้ง” พี่อ้วน เอ่ยถึงสิ่งที่พูดคุยกับน้องๆ แล้วใช้วิธีการชวนคุยเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่กลุ่มเยาวชน โดยเปรียบเทียบการทำกิจกรรมแต่ละครั้งเหมือนการตกเบ็ดที่ต้องรู้ว่าจะไปตกอะไร แล้วต้องเตรียมเหยื่อชนิดไหน นั่นหมายถึง การลงชุมชนแต่ละครั้งต้องวางเป้าหมายว่า อยากรู้เรื่องอะไร แล้วควรเตรียมคำถามอะไรไปบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ทีมงานใช้ไทม์ไลน์ (Timeline) บันทึกข้อมูลแทนการจดบันทึกใส่กระดาษเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชนในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน

“ส่วนใหญ่เราจะนัดกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลในวันเสาร์อาทิตย์ หรือตอนเย็นหลังเลิกเรียน พอได้ข้อมูลมาแต่ละครั้งก็จะมาช่วยกันดูว่าขาดตรงไหน ต้องถามอะไรเพิ่ม ทำให้การทำงานครั้งต่อไปง่ายขึ้น” ปาล์ม อธิบายวิธีการทำงานหลังได้รับคำแนะนำเรื่องการเก็บข้อมูลจากพี่อ้วน

“เมื่อค้นพบว่าปัจจุบันในชุมชนมีจุ๊เมิญเหลืออยู่เพียงคนเดียว...หากไม่กระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจและไม่มีการอนุรักษ์ไว้ วัฒนธรรมจุ๊เมิญคงสูญหายไปจากชุมชนมอญบางจะเกร็งอย่างแน่นอน”

“จุ๊เมิญ” เอกลักษณ์ความเป็นมอญ

เมื่อได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ จึงอยากเผยแพร่สิ่งที่รับรู้ให้คนอื่นรู้ด้วย ยิ่งเมื่อค้นพบว่าปัจจุบันในชุมชนมีจุ๊เมิญเหลืออยู่เพียงคนเดียว คือ ยายทองอยู่ ศรีสมุทร อายุเกือบ 90 ปี ทีมงานมองว่า หากไม่กระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจและไม่มีการอนุรักษ์ไว้ วัฒนธรรมจุ๊เมิญคงสูญหายไปจากชุมชนมอญบางจะเกร็งอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มาของการทำโครงการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมจุ๊เมิญในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง ที่มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจุ๊เมิญให้นักเรียนในโรงเรียน รวมทั้งผู้ใหญ่ในชุมชนบางจะเกร็งรับรู้ เพื่อช่วยสืบสานวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป

จุ๊เมิญ คืออะไร? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย

จุ๊เมิญ เป็นชื่อผีบรรพบุรุษของชาวมอญ ตามความเชื่อกล่าวว่า จุ๊เมิญเป็นผู้ชายจึงชอบร่างทรงที่เป็นผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ร่างทรงจุ๊เมิญจึงเป็นผู้หญิงเท่านั้น

การรำผีมอญหรือที่บางครั้งเรียกว่าการรำโรงจะจัดขึ้นก่อนงานบวช โดยมีร่างทรงจุ๊เมิญเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกหลานชาวมอญ ทีมงาน กล่าวว่า ประเพณีจุ๊เมิญผนวกเอาความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษเข้ามาด้วย เสมือนเป็นกุศโลบายที่บรรพบุรุษกำหนดไว้ให้ลูกหลานประพฤติตนตามกฎเกณฑ์ของสังคม อีกทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ด้วยการระลึกถึงและเชื้อเชิญมาร่วมงานบุญ หากลูกหลานประพฤติดีจะมีบรรพบุรุษคอยปกป้องดูแล แต่หากประพฤติตนในทางที่เสื่อมเสียจะถูกลงโทษจากผีบรรพบุรุษ

เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีจุ๊เมิญไม่สามารถหาได้ทั่วไปทางอินเทอร์เน็ตและหนังสือ ทีมงานจึงต้องเก็บข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชนอย่างรัดกุม เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและถูกต้องที่สุด จากนั้นนำมาจำแนกแยกแยะจัดหมวดหมู่ตามหัวข้อคือ ประวัติความเป็นมาของชุมชนไทย-รามัญ ความสำคัญของประเพณีมอญ (จุ๊เมิญ) คุณค่าที่ควรรักษา และการประกอบพิธีกรรม และนำไปจัดทำเป็นจุลสารไว้แจกจ่ายแก่โรงเรียน ชุมชน และห้องสมุดในจังหวัดต่อไป

“ข้อมูลที่เก็บได้ส่วนใหญ่ตรงกัน หากข้อมุูลส่วนไหนไม่ตรงกัน ก็นำข้อมูลอื่นๆ ที่เก็บได้มาเทียบเคียง เสร็จแล้วให้ครูที่ปรึกษาดูว่า เนื้อหาที่เรียบเรียงมาใช้ได้หรือไม่” ปาล์ม กล่าว

“ตอนแรกเราอยากทำแค่หนังสือป๊อปอัพ (Pop-Up) เพื่อนำเสนอข้อมูลจุ๊เมิญเท่านั้น เพราะไม่ได้มีความมุ่งมั่นขนาดอยากเข้ามาช่วยกอบกู้เอกลักษณ์ความเป็นมอญ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่สอบถามข้อมูล ก็ยิ่งสนใจ สิ่งที่รู้ทำให้เห็นคุณค่าวัฒนธรรมชาวมอญ จึงอยากเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ด้วย คิดกันว่าถ้าทำหนังสือ ป๊อปอัพผู้ใหญ่คงไม่สนใจ เลยเปลี่ยนมาเป็นจุลสารแทน” ปาน กล่าว

ขยายผลความรู้

นอกจากจัดทำจุลสาร “สืบสานตำนานมอญจุ๊เมิญ” แล้ว ทีมงานยังนำข้อมูลวัฒนธรรมจุ๊เมิญที่ได้จากการวิเคราะห์สังเคราะห์มาเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ผ่านเสียงตามสายให้นักเรียนในโรงเรียนได้รับรู้

ปาน บอกว่า การหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมานำเสนอให้เพื่อนในโรงเรียนฟัง กับการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้เองมาเผยแพร่ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน

“เดิมทีครูแนะนำว่าน่าจะหาข้อมูลที่น่าสนใจมาเผยแพร่ แต่เรามีข้อมูลจากการทำโครงการอยู่แล้ว เลยขออนุญาตครูนำข้อมูลเรื่องจุ๊เมิญมานำเสนอ เพราะคิดว่าน่าสนใจกว่า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีน้องเข้ามาถามถึงห้องเสียงตามสายว่า พวกเราทำโครงการอะไร แล้วอยากให้เราเล่าเรื่องจุ๊เมิญให้ฟัง ครูบางคนก็สนใจเข้ามาถามไถ่ ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจและดีใจที่คนพื้นที่อื่นสนใจอยากรู้เรื่องราวในชุมชนเรา”

อย่างไรตาม ทีมงาน บอกว่า จุลสารและการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเป็นการเผยแพร่ทางเดียวที่ไม่เห็นปฏิกิริยาของผู้รับสาร ทีมงานจึงตอกย้ำให้นักเรียนได้รับความบันเทิงและเรียนรู้ตำนานจุ๊เมิญผ่านการแสดงละคร โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนในโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม

“ตอนแรกคิดการแสดงไว้ยิ่งใหญ่อลังการมากว่า ต้องมีฉาก มีบทพูดเยอะๆ จนเครียดกันทั้งกลุ่ม เพราะพวกเราไม่มีความรู้เรื่องการแสดงละครมาก่อน ตอนนั้นอยากล้มเลิกความคิดไปเลย แต่พี่อ้วนเข้ามาแนะนำว่าเราไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ ให้แสดงด้วยท่าทางที่สามารถสื่อสารให้น้องๆ ดูรู้เรื่องก็พอแล้ว ซึ่งพอแสดงจริงนักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจดี เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ครูต้องคอยห้ามปรามไม่ให้คุยกัน” จ๊อบ กล่าว

เมื่อถามถึงความพอใจในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ทีมงาน บอกว่า พอใจกับการทำงานของตัวเอง เนื่องจากการดำเนินงานมีการต่อยอดจากแผนงานที่วางไว้เดิม และสามารถเผยแพร่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นจุลสารสืบสานตำนานมอญจุ๊เมิญซึ่งครูที่ปรึกษาโครงการรับหน้าที่ช่วยส่งไปรษณีย์ไปตามโรงเรียนและห้องสมุดในจังหวัดสมุทรสงครามกว่า 50 แห่ง การประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย และการแสดงละครที่สร้างการรับรู้ให้นักเรียนและคณะครูในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

“โครงการนี้ทำให้เธอเข้าใจคำว่า “หน้าที่” อย่างลึกซึ้งขึ้น เพราะต้องเป็นหัวหน้าทีม ทำให้รู้สึกถึงความรับผิดชอบที่ต้องพาโครงการไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนในทีม เพราะโครงการไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความตั้งใจของทุกคน”

“เปลี่ยน” เพราะ “เรียนรู้”

เมื่อมองย้อนมาที่ความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทีมงาน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการนี้ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะได้ลงมือทำ จนกล้าคิด กล้าทำต่อยอดไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เดิมทีพวกเขาไม่อยากออกไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชน เพราะกลัวไม่ได้รับความร่วมมือ แต่เมื่อเปิดตัวเองเข้าหาผู้อื่น ความห่างเหินกลับกลายเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิด จนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

“ถ้าเราไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม ไม่กล้าทำ เราก็จะไม่รู้ คนอื่นก็ไม่รู้ด้วย แล้วจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นเลย แต่ถ้าเราพูดออกมาคนอื่นจะเข้าใจเรามากขึ้น ยิ่งฟังคนอื่นพูด เราก็เข้าใจคนอื่นมากขึ้นตามไปด้วย” ปาล์ม กล่าวเสริม

ด้าน เชียร์ บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอเข้าใจคำว่า “หน้าที่” อย่างลึกซึ้งขึ้น เพราะต้องเป็นหัวหน้าทีม ทำให้รู้สึกถึงความรับผิดชอบที่ต้องพาโครงการไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนในทีม เพราะโครงการไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นความตั้งใจของทุกคน

“ทุกๆ ขั้นตอนที่ผ่านมาไม่ง่ายเลย บางครั้งมากันไม่ครบ เราก็ต้องตามเพื่อนมาทำโครงการต่อให้ได้ กว่าจะเก็บข้อมูลได้ กว่าจะเรียบเรียงมาเป็นหนังสือ จนวันนี้พวกเราสามารถทำผลงานออกมาเป็นจุลสาร ได้ออกไปแสดงละครให้น้องๆ ดูก็รู้สึกภูมิใจมาก ไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนี้”

เชียร์ บอกอีกว่า โครงการนี้เข้ามาเปลี่ยนมุมมองความคิดของเธอที่มีต่อคนใกล้ตัวไปอย่างสิ้นเชิง “เมื่อก่อนเราได้แค่เห็นว่าชุมชนอยู่ตรงนั้น แต่พอมาทำโครงการเราได้เห็นชีวิตของเขา คนแก่หลายคนอยู่บ้านตามลำพังไม่มีคนคุยด้วย เราเห็นแล้วสงสาร มันทำให้เราหันไปมองปู่ย่าตายายของเรา จึงหันไปพูดคุยกับเขามากขึ้น สนใจเขามากขึ้น”

ขณะที่ จ๊อบ บอกว่า จากเดิมที่เป็นคนนิ่งดูดาย ไม่อยากสุงสิงกับใคร ไม่อยากออกนอกบ้าน ปัจจุบันกลับรู้สึกสนุกและตื่นเต้นเมื่อได้ออกมาทำกิจกรรมในชุมชน เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา

ส่วน ปานครั้งแรกที่เข้ามาทำโครงการเธอต้องเผชิญหน้ากับความไม่เข้าใจของผู้ปกครองที่กังวลว่า จะกระทบการเรียน ถึงขนาดเพื่อนในกลุ่มรวมตัวกันไปขออนุญาตถึงที่บ้านก็ยังไม่ได้ผล จนต้องขอความช่วยเหลือจากครูรุ้ง-สิริลักษณ์ อินทรบุตร แต่ในที่สุดเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะผลลัพธ์จากการทำโครงการทำให้ทางบ้านมั่นใจและเชื่อใจในตัวเธอมากขึ้น

“บ้านเราก็อยู่ในชุมชน เวลาลงชุมชนแม่ก็เห็นและรู้ว่าไปทำอะไร เขาอาจจะเห็นเราดูเอาการเอางานมากขึ้น เล่นเกมน้อยลง เชื่อฟังแม่มากขึ้น เพราะเข้าใจแล้วว่าที่เขาเคี่ยวเข็ญเพราะอยากให้เราก้าวหน้า ตอนนี้แม่เลยไม่กังวล” ปาน กล่าว

“การบอกให้เด็กทำไปเลยอาจง่ายกว่า ไม่ต้องเสียเวลาเยอะ แต่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กจะไม่ถาวร เปรียบเหมือนการท่องจำตามตำรา ที่ผ่านมาเด็กจะรู้แค่ในหนังสือ แต่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนการถามให้เด็กคิด แล้วกระตุ้นให้ลงมือทำจะทำให้เด็กเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง”

ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

สำหรับหน้าที่ของที่ปรึกษาโครงการ ครูรุ้ง บอกว่า เธอต้องปรับตัวหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้บอก” มาเป็น “ผู้ตั้งคำถาม” ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ได้รับจากพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ

“แรกๆ เราบอกเด็กไปเลยว่าให้ทำอะไรบ้าง สิ่งที่สังเกตได้คือ เขาจะรอฟังว่าเราจะให้ทำอะไรต่อไป อย่างไร ถ้าเราไม่บอก เขาก็จะมาถามไม่หยุด แต่ไม่คิดเองเลย พอเราถามกลับไปว่า แล้วรู้หรือเปล่าว่าที่ทำอยู่นั้นทำไปทำไม เด็กตอบเราไม่ได้เลย เพราะลึกๆ แล้วเด็กรู้สึกว่าต้องทำเพราะเราบอกให้ทำ เด็กแค่ทำได้ แต่ไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง แล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร”

ครูรุ้ง กล่าวเสริมว่า การบอกให้เด็กทำไปเลยอาจง่ายกว่า ไม่ต้องเสียเวลาเยอะ แต่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กจะไม่ถาวร เปรียบเหมือนการท่องจำตามตำรา ที่ผ่านมาเด็กจะรู้แค่ในหนังสือ แต่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนการถามให้เด็กคิด แล้วกระตุ้นให้ลงมือทำจะทำให้เด็กเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง พร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์การตั้งคำถามชวนคิดกับทีมงาน ว่า ตอนแรกทีมงานยังไม่เข้าใจว่า “ผู้รู้” คืออะไร? คิดว่าผู้รู้น่าจะหมายถึงผู้นำชุมชน เช่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เราถามเขาก่อนว่าเรื่องที่จะทำคือเรื่องอะไร พอเด็กตอบว่าเรื่องจุ๊เมิญ เราก็ถามต่อว่าแล้วคิดว่าคำว่าผู้รู้ไปเกี่ยวกับจุ๊เมิญอย่างไร เด็กๆ เลยได้จังหวะคิดแล้วบอกว่า ผู้รู้ไม่ได้หมายถึงแค่ผู้นำชุมชน แต่เป็นใครก็ได้ที่มีความรู้เรื่องจุ๊เมิญ หลังจากนั้นเด็กๆ ก็ไปคิดต่อว่าใครบ้างในชุมชนที่รู้เรื่องนี้

สำหรับความเปลี่ยนแปลงของทีมงาน ครูรุ้ง ยกตัวอย่าง แง ยังอยู่ น้องชายของปาน ที่พี่ๆ ชวนเข้ามาทำกิจกรรมว่า เดิมทีแงมีความกล้าและมั่นใจในตัวเองสูง แต่เมื่อมาทำโครงการ แงได้ฉุกคิดว่าสิ่งที่รู้นั้นอาจไม่ใช่ทั้งหมด จึงปรับปรุงเองด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความขยันและรับผิดชอบมากขึ้น

“แงเป็นเด็กหัวดีแต่ขี้เกียจ แล้วเขาก็มีความมั่นใจในตัวเองว่าเขาหัวดี แต่พอได้ไปลงชุมชนได้ไปรู้ไปเห็นในสิ่งที่ไม่เคยรู้ เขาได้เห็นตัวเองว่าที่คิดว่าตัวเองรู้ดีแล้ว จริงๆ นั้นไม่ใช่”

ครูรุ้ง เล่าต่อถึงพัฒนาการของทีมงานว่า จากเดิมนักเรียนแทบไม่มีความภาคภูมิใจที่จะพูดถึงความเป็นมอญของตัวเอง เพราะรู้สึกอาย อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ตอนนี้ทีมงานสามารถลุกขึ้นพูดภาษามอญหน้าเวทีต่อหน้าเพื่อนๆ ได้อย่างภาคภูมิใจ

ผลจากการร่วมมือผลักดันโครงการของทุกภาคส่วน ทั้งโรงเรียน วัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครูรุ้ง ย้ำว่า กระบวนการและพี่เลี้ยงเป็นองค์ประกอบ 2 ส่วนสำคัญที่จะช่วยนำทางให้เด็กเยาวชนค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ และโครงการนี้ก็มีครบทั้ง 2 องค์ประกอบ เริ่มจากการสนับสนุนกระบวนการคิดของเยาวชนตั้งแต่เวทีนับ 1-5 ที่สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องการวางแผนงานและมองหาต้นทุนทางทางสังคมในชุมชนของตน ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการคิดให้เด็กมีความกล้าที่จะออกไปลงมือทำ ส่วนตัวพี่เลี้ยง ทั้งที่ปรึกษาโครงการอย่างครู หรือทีมพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ รับบทบาทเป็นผู้ช่วยกระตุ้นและผลักดันให้เด็กทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเด็กได้แต่กระบวนการไม่มีพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กก็จะขาดคนชี้แนะและขาดกำลังใจ ถ้ามีพี่เลี้ยงแต่ไม่ได้กระบวนการคิดที่ถูกต้อง พี่เลี้ยงและเด็กคงไม่กล้าคิดกล้าทำ เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร”

การเอาตัวเอาใจเข้าไปเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าและวิถีวัฒนธรรมของตนเองแล้ว การลงมือเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยังส่งผลให้ทีมงานปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากที่เคยนิ่งดูดายไม่สนใจว่าสิ่งดีๆ ในชุมชนจะอยู่หรือหายไป ก็ลุกขึ้นมาเอาธุระพยายามสืบค้นและสานต่อให้วัฒนธรรมดีๆ อย่างจุ๊เมิญแล้ว สายสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้เฒ่าผู้แก่ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองยังกลับมาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่วนวิธีทำงานจากที่รอแต่ครูสั่งให้ทำ วันนี้พวกเขาหาญกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง นำพาครูและคนในชุมชนให้ย้อนคืนกลับมาให้ความสำคัญกับวิถีวัฒนธรรมของชาวมอญบางจะเกร็งให้อยู่คู่ตำบลบางจะเกร็งตลอดไป


โครงการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมจุ๊เมิญในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ปรึกษาโครงการ : สิริลักษณ์ อินทรบุตร

ทีมทำงาน : ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม

  • จิรภัทร แวงสุข 
  • พรนภา อินตา
  • วิชิราพรรณ กลัดเจริญ 
  • ปาน ยังอยู่
  • กัญญาภัค กรุตสุข ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
  • ณัฏฐา ไทรทอง แง ยังอยู่ ประถมศึกษาปีที่ 6