การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานสมุนไพรท้องถิ่น ตำบลบางแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2

ยาสมานความสัมพันธ์

โครงการสืบสานสมุนไพรในท้องถิ่นตำบลบางแก้ว


เคยเป็นคนเจ้าอารมณ์และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร เพราะมั่นใจว่าความคิดของตัวเองถูกต้องและดีที่สุด แต่การทำงานร่วมกันเป็นทีมขัดเกลาให้เธอใจเย็นและเห็นประโยชน์ของการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ช่วงแรกๆ ทำงานด้วยกันอาจมีทะเลาะกันบ้างเพราะคิดไม่ตรงกัน เพื่อนก็จะคอยเตือน ซึ่งเราก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ครูเลยมาเตือนแล้วชี้ให้เห็นว่าถ้าเราไม่ฟังกัน งานจะเดินต่อไปไม่ได้ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ทุกคนเลยยินดีปรับตัวเอง หันมาทำความเข้าใจกันใหม่ แล้วยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน พอช่วยกันคิดแล้วรับฟังกัน การทำงานก็เดินหน้าไปดีขึ้น ไวขึ้น และดีมากขึ้น

“เพราะอยากไปเที่ยว” เมื่อครูตาล-นัยนา พยมพฤกษ์ ชวนไปร่วมเรียนรู้ในงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกเมื่อปีที่ผ่านมา จึงจับพลัดจับพลูให้ทีมงานจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 ได้แก่ เนม–อนุกูล เรืองรอง กิ่ง–ดวงกมล ชื่นจิต เดือน–กนกวรรณ แสนสุข ปลิว–ณัฐชา รุ่งเรือง จุ๊บ–กชพร คงสวัสดิ์ เข้ามาทำโครงการสืบสานสมุนไพรในท้องถิ่นตำบลบางแก้ว

กิ่ง บอกว่า สิ่งที่ทำให้เธอประทับใจในงานครั้งนั้น คือ ความมั่นใจและความกล้าแสดงออกของแกนนำเยาวชนที่นำเสนอโครงการ เห็นแล้วอยากพูดได้แบบนั้นบ้าง ยิ่งฟังก็ยิ่งได้แรงบันดาลใจ จนเกิดความคิดว่าโครงการเพื่อชุมชนน่าสนใจ พวกเราน่าจะทำได้

เปิดประตูเข้าหาโอกาส

เพราะเห็นผลเชิงประจักษ์ว่า การทำโครงการทำให้คนมีความมั่นใจและกล้าแสดงออก เมื่อพี่อู๋–รัชพล กลีบผึ้ง นักพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เข้ามาชักชวน อนุนาถ ชื่นจิตร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา70 เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ด้วยเห็นว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของปู่ย่าตายาย ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหิน เด็กและเยาวชนเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ทั้งยาเสพติดและโซเชียลมีเดีย คิดว่า โครงการนี้น่าจะช่วยพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่นักเรียนได้ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากดุูรายละเอียดโครงการแล้วเห็นเป็นโครงการที่ดีที่ ส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดและออกไปเรียนรู้จากการลงมือทำในพื้นที่จริง ไม่ใช่ทำครั้งเดียวจบ น่าจะช่วยเสริมเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบการศึกษาในห้องเรียนได้

ผอ.อนุนาถ เล่าว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา70 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนอยู่ประมาณ 200 กว่าคน เหตุผลที่สนใจสนับสนุนนักเรียนเข้าร่วมโครงการนี้เพราะคิดว่า หากนักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์และมีระบบการคิดที่ดี จะช่วยป้องกันการก้าวพลาดของนักเรียนได้

“การลงพื้นที่เก็บข้อมูลต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ทีมงานรู้สึกตระหนกตกใจว่า แม้จะอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่เกิด แต่พวกเขาไม่เคยสังเกตหรือไม่เคยสนใจเลย ว่าบ้านของตัวเองน่าสนใจหรือมีของดีอะไรบ้าง”

“ไม่รู้” จน “ได้รู้เรื่อง”

เมื่อได้รับไฟเขียวจากผู้อำนวยการโรงเรียน ทีมงานเริ่มต้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้อมูลที่พบทำให้ทีมงานรู้สึกตระหนกตกใจว่า แม้จะอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่เกิด แต่พวกเขาไม่เคยสังเกตหรือไม่เคยสนใจเลย ว่าบ้านของตัวเองน่าสนใจหรือมีของดีอะไรบ้าง

โดยข้อมูลที่ทีมงานค้นพบคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นที่ราบลุ่มติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเค็มเพราะมีน้ำทะเลท่วมถึง อุดมไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติป่าชายเลน เช่น แสม โกงกาง ลำพู ตะบูนและอื่นๆ ตลอดไปจนถึงพืชสมุนไพรท้องถิ่นจำพวกใบขลู่ ชะคราม และกะเม็ง เป็นต้น จากจุดนี้เองที่ทำให้ทีมงานเริ่มหันกลับมามองชุมชนตัวเองว่า จริงๆ แล้วพวกเขามีสมุนไพรท้องถิ่นดีๆ อยู่ใกล้ตัว และมีผู้รู้ด้านสมุนไพรอยู่ในชุมชน หากไม่เก็บรวบรวมองค์ความรู้เหล่านนี้ไว้ ต่อไปภูมิปัญญาด้านสมุนไพรท้องถิ่นของชุมชนต้องสูญหายไปแน่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่เห็นถึงคุณค่า และไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น ปัจจุบันนี้แม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนก็ยังไม่รู้จักพืชสมุนไพรในท้องถิ่นกันแล้ว จึงเกิดเป็นโครงการสืบสานสมุนไพรในท้องถิ่นตำบลบางแก้วขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าไปศึกษาพืชสมุนไพรและสรรพคุณของสมุนไพรจากผู้รู้ในชุมชน แล้วเผยแพร่องค์ความรู้ที่เก็บรวมรวมให้นักเรียนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา70 และผู้ปกครองของนักเรียนเป็นการนำร่อง

“การเตรียมคำถามไปก่อน ทำให้เราถามได้อย่างคล่องแคล่วและครบถ้วน และยังสร้างความน่าเชื่อถือให้พวกเรา ยิ่งถามยิ่งรู้ข้อมูล ก็ยิ่งตกใจ ไทม์ไลน์ทำให้เราเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงเลยว่ายิ่งมีความเจริญมาก ทรัพยากรยิ่งลดลง มลพิษเยอะขึ้น ทั้งหมดนำมาสู่วิกฤตธรรมชาติที่เรียกว่าภาวะโลกร้อน”

ตั้งคำถามสู่การเชื่อมโยง

แต่กว่าจะได้ข้อมูลทุนชุมชนมากเช่นนี้ ทีมงานบอกว่า ยากมาก โดยเฉพาะการสื่อสารสิ่งที่ต้องการถามให้ผู้รู้เข้าใจ และการตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน แล้วเชื่อมโยงข้อมูลทุกด้านเข้าด้วยกัน และเพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน ทีมงานเลือกสอบถามข้อมูลจากคนใกล้ตัวอย่างปู่ย่าตายายที่บ้านของตัวเองก่อน เพราะคิดว่าเป็นคนคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีอะไรยาก แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

“ที่ผ่านมาเราแทบจะไม่เคยพูดคุยกับตากับยายเลยด้วยซ้ำ เลยไม่รู้ว่าควรตั้งคำถามยังไง เรียบเรียงคำพูดไม่ถูก ยิ่งพอมีเป้าหมายว่าอยากรู้เรื่องสมุนไพร เรามุ่งถามแต่เรื่องสมุนไพร จดบันทึกแต่เรื่องสมุนไพร กลายเป็นว่าได้ข้อมูลสมุนไพรมาแต่ไม่รู้ว่าต้องเอามาทำอะไรต่อ” จุ๊บ สะท้อน

พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ พี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ เห็นอาการไปไม่เป็นของน้องๆ จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แนะนำแนวทางการสัมภาษณ์และการบันทึกข้อมูลที่จะทำให้ทีมงานเห็นถึงที่มาที่ไปของชุมชน และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของชุมชนในภาพรวม ทั้งนี้พี่อ้วนแอบกระซิบว่า ตอนเห็นอาการไปไม่เป็นของน้องก็เครียดเหมือนกัน คิดอยู่นานว่าจะพาน้องไปต่ออย่างไร มองไปเห็นมีขวดโหลวางอยู่ก็นึกถึงเกมยิงนกขึ้นมาได้ เลยนำมาใช้ กระตุ้นการเรียนรู้ของน้องๆ โดยใช้ไข่ปลอมซึ่งอยู่ในโหล ปาไปยังเป้าที่เตรียมไว้ กำหนดให้แต่ละคนมีโอกาสปาเป้าได้ 2 ครั้ง แต่เราแอบวางเป้าไว้ไกลพอสมควร จนน้องไม่มีใครปาโดนเป้าเลย เราเองก็ปาด้วยเหมือนกัน แต่เราเป็นคนถือโหลที่มีไข่อยู่หลายฟอง โอกาสปาเข้าเป้าเลยมีมากกว่า เล่นเกมเสร็จก็ชวนน้องถอดบทเรียนเลยว่า ไข่ในขวดโหลแทนคำถามที่ทีมงานควรเตรียมไปสำหรับใช้ถามผู้ใหญ่หรือผู้รู้ในชุมชน ยิ่งเตรียมคำถามไปเยอะเท่าไร โอกาสถามแล้วจะได้ข้อมูลที่ต้องการและถูกต้องยิ่งมีมากเท่านั้น

“แทนที่จะจดข้อมูลลงสมุดบันทึกเฉยๆ ผมแนะนำให้น้องๆ ทำแผนที่ชุมชนเพื่อบันทึกข้อมูลว่าแต่ละหมู่บ้านมีใครเป็นผู้รู้เรื่องสมุนไพรและมีพืชสมุนไพรชนิดใดบ้าง บอกน้องว่า ให้เตรียมตั้งคำถามไปเยอะๆ ยิ่งถามเยอะ คำถามก็ยิ่งเข้าเป้า และได้ข้อมูลมากตามไปด้วย สิ่งที่น้องๆ มักลืมถามคือ สภาพแวดล้อมโดยรวมก่อนเจาะจงถึงสิ่งที่อยากรู้ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง เช่น ถ้าเราถามถึงสภาพชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะรู้สาเหตุว่าทำไมพืชสมุนไพรและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนจึงลดจำนวนลง ผมก็แนะนำให้น้องๆ ใช้ไทม์ไลน์บันทึกข้อมูลไล่เป็น พ.ศ. ตามที่ผู้รู้อธิบาย” พี่อ้วน อธิบาย

การบันทึกข้อมูลด้วยไทม์ไลน์จากการลงพื้นที่ชุมชนเกือบ 20 ครั้งทำให้ทีมงานรู้ว่าสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยิ่งมีถนนและมีความเจริญเข้ามา ลำคลองที่เคยใสสะอาดขนาดมองเห็นตัวปลาได้ แปรสภาพเป็นลำคลองเน่าเหม็นและเต็มไปด้วยขยะ ไม่มีภาพความอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ให้เห็น

“การเตรียมคำถามไปก่อน ทำให้เราถามได้อย่างคล่องแคล่วและครบถ้วน และยังสร้างความน่าเชื่อถือให้พวกเรา ยิ่งถามยิ่งรู้ข้อมูล ก็ยิ่งตกใจ ไทม์ไลน์ทำให้เราเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงเลยว่ายิ่งมีความเจริญมาก ทรัพยากรยิ่งลดลง มลพิษเยอะขึ้น ทั้งหมดนำมาสู่วิกฤตธรรมชาติที่เรียกว่าภาวะโลกร้อน” กิ่ง อธิบาย

“การลงพื้นที่แต่ละครั้งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่อยากให้มีคนเข้าไปพูดคุยด้วยเท่านั้น เห็นเขามีความสุขเราก็สุขตามไปด้วย ไม่เคยรู้สึกเบื่อการลงพื้นที่เลย”

ความสุขของการลงชุมชน

ดูเหมือนว่าเส้นทางการสืบค้นข้อมูลพืชสมุนไพรในชุมชนของทีมงานจะมีมากกว่าการเข้าไปรู้จักพืชสมุนไพรและคุณประโยชน์ของสมุนไพร เพราะทีมงานค้นพบว่า พืชสมุนไพรคือยาสมานความสัมพันธ์ชั้นดี

การเริ่มต้นสอบถามข้อมูลจากคนใกล้ตัวในช่วงแรกเหมือนเป็นการฝึกซ้อมก่อนเดินหน้าพูดคุยกับผู้รู้ท่านอื่นๆ ในชุมชน ที่ทีมงาน บอกว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาประทับใจมากที่สุด คือ การต้อนรับขับสู้จากคนเฒ่าคนแก่ สังเกตได้จากความยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ความร่วมมือในการตอบคำถามสิ่งที่ทีมงานสนใจใคร่รู้

จุ๊บและกิ่ง บอกว่า ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมา แต่สีหน้าและแววตาของผู้รู้ดูเป็นประกายและมีความสุขทุกครั้งที่พวกเขาเข้าไปพูดคุยด้วย ความรู้สมุนไพรเลยกลายเป็นผลพลอยได้จากการทำกิจกรรมไปเลยด้วยซ้ำ เพราะสายสัมพันธ์ที่ได้รับมีค่ามากกว่านั้น

“เราไม่ได้เอ่ยปากอะไรเลย แต่ชาวบ้านยกน้ำยกขนมมาให้ จากตอนแรกที่กดดันและกังวลว่าชาวบ้านจะมีปฏิกิริยายังไง พอเจอแบบนี้ก็รู้สึกอุ่นใจ สัมผัสได้ถึงบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นกันเองแบบไม่หวงความรู้” จุ๊บ กล่าว

กิ่ง เสริมต่อว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้งทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้สูงอายุว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่อยากให้มีคนเข้าไปพูดคุยด้วยเท่านั้น เห็นเขามีความสุขเราก็สุขตามไปด้วย ไม่เคยรู้สึกเบื่อการลงพื้นที่เลย

ด้าน ปลิว เล่าถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในครอบครัวว่า เดิมตื่นเช้ามาปู่ย่าทำอาหารไว้ให้ กลับมากินข้าวก็เข้าห้อง แต่ละวันแทบไม่ได้คุยกัน แต่ตอนนี้แตกต่างออกไป หลังจากเริ่มเข้าไปสอบถามเรื่องสมุนไพร ตอนนี้เขาสามารถพูดคุยกับปู่ย่าได้ทุกเรื่อง กลับจากโรงเรียนมาก็จะชวนปู่คุย เห็นปู่มีความสุขยิ้มแย้มเราก็ดีใจ

การทำงานที่ลงตัวต้องมาสะดุด เมื่อแกนนำอย่าง เนมและกิ่ง จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องย้ายไปเรียนที่อื่น

“อยู่โรงเรียนเดียวกันพวกเราเรียนคนละห้อง หาเวลาว่างตรงกันก็ยากอยู่แล้ว พอต้องย้ายไปเรียนที่อื่น ยิ่งยากไปใหญ่ มีอยู่ช่วงหนึ่งโครงการแทบไม่คืบหน้าเลย” กิ่ง บ่นน้อยๆ

แต่จุดหักเหที่ว่ากลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ทีมงานเข้มแข็งและเห็นศักยภาพในตัวเองมากขึ้น เมื่อเนมแกนนำหลักของโครงการต้องออกไปเรียนนอกชุมชน ไม่สามารถกลับมาช่วยทำโครงการต่อได้ ทีมงานที่เหลือจึงชักชวน หนึ่ง–หนึ่งฤทัย โตแก้ว เข้ามาเป็นกองหนุน มีครูตาลช่วยกระตุ้นและให้กำลังใจ ทีมจึงฮึดสู้ขึ้นอีกครั้ง

“ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแทบจะตรงกับที่ผู้รู้บอกทุกอย่าง แต่ถ้าเรามัวอยู่กับอินเทอร์เน็ตเราจะไม่รู้จักโลกภายนอกใกล้ตัวเลย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นแบบนั้น เรารู้แค่สิ่งที่อยากรู้ แต่การออกไปถามไปสัมภาษณ์ มันทำให้เราได้เห็นชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย”

ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน

หลังจัดทัพจัดทีมใหม่จนมีแรงใจขึ้นอีกครั้ง ก็ถึงเวลาถ่ายทอดความรู้ ทีมงานนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลรวมกัน หากพบว่า ผู้รู้ให้ข้อมูลเรื่องสรรพคุณของพืชสมุนไพรบางชนิดไม่ตรงกัน ก็ใช้วิธีตรวจสอบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือสารานุกรมในห้องสมุด

“ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแทบจะตรงกับที่ผู้รู้บอกทุกอย่าง แต่ถ้าเรามัวอยู่กับอินเทอร์เน็ตเราจะไม่รู้จักโลกภายนอกใกล้ตัวเลย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นแบบนั้น เรารู้แค่สิ่งที่อยากรู้ แต่การออกไปถามไปสัมภาษณ์ มันทำให้เราได้เห็นชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย” จุ๊บ กล่าว

ทั้งนี้ ทีมงานยกตัวอย่างสรรพคุณของพืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปในชุมชน 3 ชนิด ได้แก่ กะเม็ง เป็นสมุนไพรล้มลุกมีทั้งกะเม็งตัวผู้และตัวเมีย มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด แก้โรคโลหิตจาง ใช้รักษาอาการปวดศีรษะข้างเดียวและบำรุงอวัยวะภายใน ใบขลู่ ในชุมชนนิยมนำมาตากแห้งชงดื่มเป็นชา ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ รักษาอาการไข้ และ ชะคราม ปกติเป็นส่วนประกอบในอาหารหลากหลายเมนู เช่น พะแนง มัสมั่น หรือลวกต้มเป็นผักเคียง มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคคอพอก กระตุ้นระบบประสาท บำรุงสายตาแก้อาการตามัว เป็นต้น

เมื่อข้อมูลพร้อม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5–6 จำนวนประมาณ 30 คน คือเป้าหมายแรกที่ทีมงานถ่ายทอดความรู้ให้ “ถ้าเด็กกว่านี้น้องจะฟังเราไม่รู้เรื่อง หรือโตกว่านี้น้องจะไม่เชื่อฟังจะเอาแต่คุยกัน ที่รู้เพราะเราเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน” กิ่ง เอ่ยถึงเหตุผลการเลือกกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ กิจกรรมในเวทีนำเสนอข้อมูลแก่นักเรียนในโรงเรียน ประกอบด้วย การแนะนำโครงการ กิจกรรมสันทนาการซึ่งทีมงานย้ำว่า สำคัญมาก เพราะเป็นการละลายพฤติกรรมให้น้องๆ อยากมีส่วนร่วมทำกิจกรรมอย่างอื่น ต่อด้วยการวาดรูปพืชสมุนไพรที่รู้จัก แล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลพืชสมุนไพร ที่ทีมงานนำกระบวนการถอดบทเรียนมาใช้สรุปการทำงานของตัวเองและสรุปผลการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากมองว่าการถอดบทเรียนเป็นการทบทวนสิ่งที่ทำผ่านมาแล้วและช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร ทำให้รู้ข้อดีข้อเสียของตัวเอง เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

นอกจากการคืนข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กแล้ว พวกเขายังจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ปกครองไปพร้อมกับการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รู้อีกครั้ง โดยทีมงาน บอกว่า หากต้องการดึงผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมก็ต้องให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ด้วย

“ที่ผ่านมาไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะทำได้ แต่เพราะโครงการเปิดโอกาสให้เราได้พูดได้ทำ ตอนนี้เลยไม่รู้สึกกลัวที่จะต้องพูดหรือแสดงความคิดเห็น เพราะรู้แล้วว่าเราก็ทำได้”

การเรียนรู้สู่การพัฒนาตัวเอง

จากจุดเริ่มต้นที่อยากกล้าพูดกล้าแสดงออก จุ๊บ บอกว่า ไม่ผิดหวังเลยที่เข้ามาทำโครงการนี้

ความกล้าและความมั่นใจช่วยเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งที่ดีและมีประโยชน์

“ที่ผ่านมาไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะทำได้ แต่เพราะโครงการเปิดโอกาสให้เราได้พูดได้ทำ ตอนนี้เลยไม่รู้สึกกลัวที่จะต้องพูดหรือแสดงความคิดเห็น เพราะรู้แล้วว่าเราก็ทำได้”

จุ๊บ ยอมรับว่า เธอเคยเป็นคนเจ้าอารมณ์และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร เพราะมั่นใจว่าความคิดของตัวเองถูกต้องและดีที่สุด แต่การทำงานร่วมกันเป็นทีมขัดเกลาให้เธอใจเย็นและเห็นประโยชน์ของการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

“ช่วงแรกๆ ทำงานด้วยกันอาจมีทะเลาะกันบ้างเพราะคิดไม่ตรงกัน เพื่อนก็จะคอยเตือน ซึ่งเราก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ครูเลยมาเตือนแล้วชี้ให้เห็นว่าถ้าเราไม่ฟังกัน งานจะเดินต่อไปไม่ได้ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ทุกคนเลยยินดีปรับตัวเอง หันมาทำความเข้าใจกันใหม่ แล้วยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน พอช่วยกันคิดแล้วรับฟังกันการทำงานก็จะเดินหน้าไปดีขึ้น ไวขึ้นและทำออกมาได้ดีมากขึ้น” จุ๊บ กล่าว

“นิ่ง เงียบ” เป็นคุณลักษณะประจำตัวของเดือนก่อนเข้ามาทำโครงการ แต่ตอนนี้เดือนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเพราะมีความกล้าแสดงออกและกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เดือน บอกว่า การทำโครงการร่วมกับเพื่อนบังคับให้ต้องคิดและแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยเพื่อน เพราะถ้าไม่คิดไม่ทำก็เหมือนทำตัวไม่เป็นประโยชน์

สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นทีม จุ๊บ บอกว่า ความตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากใครคนใดคนหนึ่งมาสาย ย่อมกระทบต่อการทำงานในภาพรวม

“การปล่อยให้คนอื่นต้องรอเราเพียงคนเดียว เป็นสิ่งที่เราควรรู้สึกละอายใจ เพื่อนยังมาได้เราก็ต้องมาได้” เดือน กล่าว

เช่นเดียวกับ ปลิว ที่บอกว่า หากนัดครั้งไหนตัวเองมาช้าจะรู้สึกผิดมาก เพราะเคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าวมาด้วยตัวเอง

“เคยมีเหมือนกันที่ลืมนัดแล้วปล่อยให้เพื่อนทางนี้รอ หรือไม่ก็เลือกไปทำอย่างอื่นก่อน แต่เราก็รู้สึกว่าจริงๆ เรามาทำงานกับเพื่อนก่อนก็ได้ ตอนหลังเลยพยายามจัดลำดับความสำคัญ หรือถ้ารู้ว่าต้องมาช้าจริงๆ เราต้องมีเหตุผลและต้องแจ้งให้คนอื่นรู้ก่อน วันที่เราไม่มาเพื่อนก็เหนื่อยแล้ว แล้วต้องมาเล่าให้เราฟังอีกว่าทำอะไรไปบ้าง เพราะเราจะตามไม่ทัน...เพื่อนก็เหนื่อยอีก” ปลิว กล่าว

“ที่ปรึกษาควรให้เด็กได้แสดงความคิดอย่างเต็มที่ เรามีหน้าที่แค่เข้าไปเติมแต่ง แต่ไม่ไปขัดขวางความคิดและการทำกิจกรรมของเขา”

กระตุ้นและหนุนเสริมกำลังใจ

สำหรับ ตารุ่งเรือง เจริญฤทธิ์ ผู้รู้เรื่องสมุนไพร กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขและดีใจที่เด็กๆ เข้ามาสอบถามข้อมูลแล้วนำองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไปเผยแพร่ไม่ให้สูญหายไปพร้อมกับอายุขัยของตน

“เคยมีคนถามว่าถ้าลุงตายไปแล้ว ใครจะสืบต่อความรู้ตรงนี้ ตอนนี้ลุงบอกเขาได้แล้วว่า ก็เด็กๆ พวกนี้ไง เขาจะเอาความรู้ไปขยายต่อ” ลุงเรือง ตอบด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ

คุณแม่สมพร ชื่นจิต แม่ของกิ่ง บอกว่า เพิ่งได้มาเห็นด้วยตาตัวเองว่าลูกทำอะไร หลังจากฟังคนอื่นเล่า จากที่เคยสงสัยว่า ลูกเรียนจบจากโรงเรียนไทยรัฐ 70 แล้ว ทำไมยังต้องมาประชุมและมาจัดกิจกรรมที่โรงเรียนอยู่ ตอนนี้ได้รู้แล้วว่าลูกทำอะไรที่ประโยชน์กับชุมชนบ้าง

แม่สมพร เปรียบเทียบว่า การเข้ามาทำโครงการของกิ่งเหมือนได้งานชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งมารับผิดชอบ จากเดิมที่ลูกเคยทำแต่การบ้านและงานของโรงเรียน ก่อนหน้าทำโครงการสังเกตเห็นว่าลูกมีเวลาว่างเยอะ ไม่เคยได้รับมอบหมายให้ทำโครงการระยะยาวแบบนี้ เลยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นมือถือ แต่เมื่อต้องเข้ามารับผิดชอบโครงการ ได้ออกไปอบรมและวางแผนงานเพื่อทำงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เงื่อนไขทั้งหมดเป็นตัวบังคับให้กิ่งต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบงานให้เป็นไปตามแผน แทนที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เหมือนแต่ก่อน

ครูตาล ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า เธอมีหน้าที่กระตุ้นและเสริมกำลังใจเท่านั้น เนื่องจากทีมงานยังเป็นมือใหม่เพิ่งเคยทำโครงการที่ต้องรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการคิดไปจนถึงลงมือทำจริงเป็นครั้งแรก จึงไม่เข้าใจลำดับการทำงานอย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งที่วางแผนการทำงานไว้อยู่แล้ว แต่หลายต่อหลายครั้งยังรอให้ครูหรือทีมพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ เข้ามาถามหรือแนะนำ เพราะไม่กล้า ช่วงแรกงานจึงเดินช้า เราก็รอเด็กว่าเมื่อไรทำ ส่วนเด็กก็รอว่าเมื่อไรเราจะบอก จนเราต้องขยับเองก่อนทั้งที่จริงๆ เด็กก็พร้อมอยู่แล้ว สังเกตว่าพอเรากระตุ้นนิดนึงเด็กก็พร้อมลงมือทำทันที

“ที่ปรึกษาควรให้เด็กได้แสดงความคิดอย่างเต็มที่ เรามีหน้าที่แค่เข้าไปเติมแต่ง แต่ไม่ไปขัดขวางความคิดและการทำกิจกรรมของเขา”

นอกจากนี้ ครูตาล ยังรับหน้าที่เป็นคนกลางสื่อสารระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง ด้วยการเข้าไปอธิบายชี้แจงแก่ผู้ปกครองว่า ทีมงานกำลังทำโครงการเพื่ออะไร แล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง เพื่อสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง

จากเด็กที่ไม่สนใจอะไร วันๆ เล่นแต่มือถือ แต่เมื่อโอกาสเปิดและอยากพัฒนาความกล้าให้ตัวเอง พวกเขาจึงพาตัวเข้าไปเรียนรู้ของดีๆ ในชุมชนตนเอง ยิ่งรู้ลึกก็ยิ่งเกิดสำนึกรัก จนคิดส่งต่อความรู้ความรักที่มีอยู่ในเนื้อในตัวให้คนอื่นได้รับรู้ ความรู้และความรักยังถัอทอสายใยรักของครอบครัวและชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น จากที่เคยต่างคนต่างอยู่ ไม่เคยพูดคุยกับปู่ย่าตายาย ก็หันมากลับมาพูดคุยกันมากขึ้นแล้ว ผลจากลงมือทำยังเปลี่ยนใจของทีมงานจากที่เคยร้อนก็เย็นลง ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือทักษะชีวิตติดตัวที่ทุกคนรู้ว่าจะนำพาชีวิตพวกเขาไปสู่สิ่งดีๆ ต่อไป


โครงการสืบสานสมุนไพรในท้องถิ่นตำบลบางแก้ว

ที่ปรึกษาโครงการ : นัยนา พยมพฤกษ์

ทีมทำงาน :

  • ดวงกมล ชื่นจิต ปวช.1 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
  • หนึ่งฤทัย โตแก้ว ปวช. 1 วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรสงคราม
  • กนกวรรณ แสนสุข ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา70
  • กชพร คงสวัสดิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา70
  • ณัฐชา รุ่งเรือง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลวัดป้อมแก้ว