การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการจักสาน ชุมชนหนองมะค่า จังหวัดราชบุรี ปี 2

สืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน...สืบสานสิ่งดีงามในชุมชน

โครงการเยาวชนในชุมชนหนองมะค่าร่วมเผยแพร่การจักสาน


โครงการนี้ช่วยให้เธอเข้าใจวิธีทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะกับเพื่อน เพราะแต่เดิมเธอมักจะไม่ค่อยรวมกลุ่มทำงานกับใคร และทำให้เข้าใจคำว่า “ทำงานเป็นทีม” ที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งทำเพียงคนเดียว ไม่เช่นนั้นเป้าหมายที่วางไว้ก็จะไม่สำเร็จ

สิ่งที่เห็นจนชินตา กลายเป็นที่มาของความอยากรู้...

“เวลาขับรถผ่าน เห็นคนสานตะกร้าไม้ไผ่จนชินตา ตอนแรกไม่ได้สนใจอะไร พอเห็นบ่อยครั้งเขาก็เริ่มคิดว่าทำไมคนที่สานตะกร้าส่วนใหญ่มีแต่คนแก่ กลัวว่าถ้าวันหนึ่งยายไม่อยู่แล้วใครจะสานต่อ คิดว่าการสานตะกร้าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ควรรักษาไว้” คือประโยคเริ่มต้นสนทนาของทีมงาน เมื่อถามถึงที่มาของการคิดที่ทำโครงการเยาวชนในชุมชนหนองมะค่าร่วมเผยแพร่การจักสาน

เพราะเป็นคนในพื้นที่ ออม-นริศร ฐิติพิสุทธิพงศ์ จึงเห็นอาชีพจักสานมาตั้งแต่เด็ก เมื่อสิ่งที่เห็นอยู่ทุกวัน เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงเกิดคำถามขึ้นในใจ จนได้มีโอกาสรู้จักกับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 2 จากครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา ที่ปรึกษาโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ ออมจึงคิดว่าโครงการนี้น่าจะช่วยไขข้อข้องใจนี้ได้

สานทีม...สานสามัคคี

ออม ใช้ความเป็นเพื่อนที่รู้จักรู้ใจกันอยู่แล้วชวน ฟ้า-จิตสินี จีนเพชร อ๋อม-วิชชุอร ศรีคำฮวด หนึ่ง-นพพล แตงรอด และ นิว-ปณิธี จินดาทา เข้าร่วมทีม ซึ่งทุกคนต่างยินดีเพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากสานตะกร้าเป็น และอยากให้งานจักสานยังคงอยู่คู่กับหมู่บ้านหนองมะค่า ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดราชบุรี ที่เคยขึ้นชื่อเรื่องงานจักสานไม้ไผ่ต่อไป

แต่เพราะก้าวช้ากว่าทีมอื่น ๆ เพื่อนในเครือข่ายภาคตะวันตกผ่านกระบวนการนับ 1 สร้างสำนึก ปลุกพลังพลเมืองไปแล้ว ออมและเพื่อนจึงต้องทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโครงการมากเป็นสองเท่า ออมเล่าบรรยากาศในวันที่เธอเข้าร่วมกิจกรรมนับ 2 ยั่วให้คิด ยุให้ทำ ว่า “วันนั้นเราบอกพี่ๆ ไปว่าเราอยากสานตะกร้าเป็นแค่นั้น พี่เขาก็ถามต่อว่า ทำไมถึงอยากจักสานเป็น คำถามนั้นทำให้เราหันมามองหาปัญหาเรื่องการจักสานใหม่อีกครั้ง จากนั้นพี่เขาชวนคิดต่อว่า แล้วเราจะจัดการกับปัญหาอย่างไร ยิ่งทำให้คิดต่อ จนต้องลงพื้นที่เพื่อค้นหาคำตอบของปัญหาทั้งหมด”

ออมเล่าว่า กิจกรรมนับ 2 สนุกตรงที่พี่ๆ เขาเปิดโอกาสให้เราคิดสิ่งที่อยากทำเต็มที่ แม้จะได้วิธีคิดแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ทำหรือไม่ แล้วต้องทำอะไรดี พอกลับมาถึงวิทยาลัยจึงชวนทีมงานวางเป้าหมายการทำโครงการ จนได้ข้อสรุปว่า อยากเห็นน้องๆ ในชุมชนหนองมะค่าจักสานเป็นและให้ความสนใจกับการจักสานบ้าง

“เหตุผลที่ต้องชวนกันคิด เพราะมองว่า แต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน จะเอาแต่ความคิดของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้...และเพราะเริ่มเข้ากระบวนช้ากว่าเพื่อนทีมอื่น หลังกิจกรรมนับ 3 ทีมงานจึงเดินหน้าทำโครงการเต็มที่ โดยมีข้อตกลงกันว่าก่อนเริ่มกิจกรรมใดๆ ต้องจัดวงพูดคุยเพื่อวางแผนการทำงานทุกครั้ง เพื่อให้การทำงานไม่ผิดพลาด”

ก้าวช้าๆ อย่างมั่นคง

เมื่อเริ่มเห็นแนวทางในการทำโครงการ และมองเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น ทีมงานจัดประชุมทีมเพื่อ ออกแบบกระบวนการลงพื้นที่ ทั้งเรื่องของการเดินทาง การเงิน และการจัดการ ออมให้เหตุผลที่ต้องชวนกันคิด เพราะมองว่า แต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน จะเอาแต่ความคิดของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ แต่กว่าทีมจะชัดเจนในแผนการทำงานก็ถึงกิจกรรมนับ 3 เรียนรู้สิทธิ รู้หน้าที่ คนต้นเรื่องทำดีเพื่อสังคม ที่ครั้งนี้พี่ๆ เจาะจงไปที่แผนการทำโครงการอย่างละเอียด

“แผนที่เราไว้คือ จัดประชุมทีม สืบค้นบริบทชุมชนหนองมะค่า ฝึกทำจักสาน รวบรวมข้อมูลความรู้ที่ได้เพื่อนำไปเผยแพร่ และลงมือจักสานเพื่อฝึกความแม่นยำอีกครั้ง ปิดท้ายด้วยการเผยแพร่ให้นักเรียนนักศึกษาที่โรงเรียนวัดหนองมะค่าและในคาบชมรมของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี” ออม อธิบายแผนการทำงาน

เพราะเริ่มเข้ากระบวนช้ากว่าเพื่อนทีมอื่น หลังกิจกรรมนับ 3 ทีมงานจึงเดินหน้าทำโครงการเต็มที่ โดยมีข้อตกลงกันว่าก่อนเริ่มกิจกรรมใดๆ ต้องจัดวงพูดคุยเพื่อวางแผนการทำงานทุกครั้ง เพื่อให้การทำงานไม่ผิดพลาด ทีมงานจึงวางบทบาทหน้าที่ดังนี้ นิวและหนึ่ง รับหน้าที่เรื่องของการติดต่อประสานงาน อ๋อมอาสาดูแลเรื่องการเงิน ออมในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่จึงอาสาที่จะคอยช่วยเหลือเพื่อนในทุกๆ ฝ่าย และฟ้าทำหน้าที่เลขาคอยจดบันทึกการประชุมและข้อมูลขณะลงพื้นที่

ฟ้า บอกว่า เดิมทีเธอเป็นคนที่เขียนช้ามาก แต่เพราะต้องการฝึกทักษะด้านการเขียนจึงยินดีรับผิดชอบหน้าที่นี้ “พยายามกำหนดหัวข้อให้ชัด เพื่อให้จดบันทึกได้เร็วขึ้น”

แม้จะเรียนในวิทยาลัยเดียวกัน แต่ก็เรียนกันคนละสาขา จึงหาเวลาว่างตรงกันได้ยาก ไหนยังต้องดูวันว่างของผู้รู้ในชุมชนอีก วันลงพื้นที่ส่วนใหญ่จึงต้องใช้วันเสาร์อาทิตย์ ทั้งนี้การลงพื้นที่ครั้งแรกทีมงานจะเข้าไปสอบถามจากผู้ใหญ่บ้านก่อน หลังจากนั้นจึงลงสัมภาษณ์รายบ้าน โดยข้อมูลที่เก็บเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของชุมชนและบริบทพื้นที่ เช่น ทำไมคนในชุมชนจึงนิยมประกอบอาชีพจักสาน ที่นี่มีต้นไผ่มาก หรือเป็นเพราะอยู่ไกลจากพื้นที่อุตสาหกรรม คนในพื้นที่จึงต้องเลือกอาชีพจักสานเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีวิต

พี่สุนทร อารีย์ ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจักสานไม้ไผ่ เล่าบริบทชุนให้ฟังว่า นับถอยหลังไปเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ การจักสานถือเป็นงานยอดนิยมของคนในชุมชนหนองมะค่า ถึงขั้นต้องอาศัยการลงแขกในการสาน แต่ช่วงหลังงานจักสานที่เคยเป็นงานประจำถูกลดบทบาทลง คนในพื้นที่เริ่มหันไปทำสวนทำไร่กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังใช้เวลาว่างช่วงเย็นถึงกลางคืนสานกันอยู่บ้าง

ส่วนสาเหตุที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เลือกงานจักสานเป็นอาชีพ เพราะแต่เดิมที่นี่มีต้นไผ่เยอะ และเมื่อค่อยๆ สืบค้นไปทีละนิดก็ทำให้ทีมงานค้นพบปัญหาที่มีผู้จักสานลดน้อยลงว่า มาจากวัตถุดิบที่หายากขึ้นและคนรับซื้อน้อยลง

เรียนรู้จักสาน...เรียนรู้ชีวิต

เมื่อรู้เบื้องลึกเบื้องหลังถึงประวัติและที่มาของอาชีพจักสานแล้ว เพื่อให้รู้ลึกยิ่งขึ้นทีมงานจึงเข้าไปฝึกการจักสานที่บ้านยายสะอิ้ง นวลจันทร์ อายุ 85 ปี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยังยึดอาชีพจักสานอยู่

พี่สุนทรลูกสาวของยายสะอิ้งที่เห็นทีมงานมาตั้งแต่แรกบอกว่า ตอนแรกเห็นเขาผ่านไปผ่านมาเทียวเข้ามาดูเราบ่อยๆ พอเขามาขอความรู้ เราก็เห็นดีด้วย เด็กรุ่นหลังเรียนสูงขึ้น จนไม่สนใจงานพวกนี้แล้ว เลยกังวลว่าวันหนึ่งงานจักสานที่เคยขึ้นชื่อของที่นี่จะสูญหายไปพร้อมกับพวกเรา เมื่อเห็นว่าทีมงานชุดนี้มาดี พร้อมที่จะเรียนรู้จริงๆ เราก็ดีใจ และยินดีสอนให้เต็มที่

นอกจากจะร่วมเรียนรู้เรื่องงานจักสานแล้ว ทีมงานยังสอบถามข้อมูลจากยายสะอิ้งและพี่สุนทรถึงที่มาของไผ่และสาเหตุของการหายไปของไผ่ที่มีอยู่ในชุมชนด้วย โดยก่อนที่จะเข้ามาเรียนรู้กับคุณยาย หรือผู้รู้ที่มีความชำนาญ ทีมงานจะติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านก่อนเพื่อให้ผู้ใหญ่บอกกล่าวผู้รู้ไว้ก่อน เพราะต้องการให้เกียรติผู้ใหญ่บ้าน และต้องการให้คนในชุมชนรับรู้ว่ามีคนสนใจงานจักสานบ้านหนองมะค่าอยู่

ออมและเพื่อน ๆ เล่าบรรยากาศการฝึกจักสานว่า วันนั้นพวกเขาตื่นเต้นมากที่จะได้ลงมือจักสานจริงๆ กลัวว่าจะทำไม่ได้เหมือนกัน เพราะเห็นลำไผ่มีขนาดใหญ่และหนา กลัวจะโดนมีดบาด และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ระหว่างที่ทีมงานต่างขมักขเม้นกับการจักตอก หนึ่งประสบอุบัติเหตุโดนมีดบาด แต่แทนที่จะรู้สึกเข็ดขยาดกับการจักตอก กลับทำให้หนึ่งฮึดสู้ พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นบทเรียนให้ทีมงานระมัดระวังตัวเองมากขึ้น

วันนั้นทีมงานทุกคนได้ฝึกจักตอก ขึ้นโครงก้นเข่ง เพราะเป็นขั้นตอนที่ง่ายสุด “เป็นมือใหม่ ทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเก่งแล้ว บางคนกว่าจะฝึกจักตอกได้ต้องใช้เวลาตั้ง 2 วัน เด็กๆ เขาทำวันเดียวได้ขนาดนี้ก็เก่งมากแล้ว วันนั้นหมดไม้ไผ่ไปกว่า 5 ลำ ได้ตอกที่สามารถนำไปใช้งานได้ประมาณ 5 ลูก จากปกติที่ต้องได้ตอกมากถึง 20 ลูก” ป้าสุนทร เล่าไปหัวเราะไป “ถือว่าของที่เสียไปนั้นเป็นค่าวิชาของเด็ก ๆ แลกกับการที่เขามีทักษะในการจักตอกติดตัว”

อย่างไรก็ตามหลังทำกิจกรรมเสร็จทุกครั้ง ทีมงานนำเครื่องมือ “การถอดบทเรียน” มาใช้สะท้อนการเรียนรู้ ซึ่งหลังจากลงมือเรียนรู้เรื่องการจักสานจนได้เลือด ทีมงานสรุปบทเรียนว่า แม้งานจักสานจะยากแต่พวกเขาก็อยากเดินหน้าต่อ ชวนกันวางแผนส่งต่อข้อมูลความรู้เรื่องการจักสานด้วยการเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนหนองมะค่า

“นอกจากถ่ายทอดความรู้ให้น้องในโรงเรียนแล้ว ทีมงานยังมีการเผยแพร่ข้อมูลการทำโครงการผ่านงานประชุมวิชาการ “องค์กรเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย” ที่จัดขึ้นในวิทยาลัยอีกด้วย โดยจัดงานในรูปแบบนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้การจักสาน วันนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วม 50-70 คน ผลตอบรับในครั้งนี้ทีมงานต่างรู้สึกภูมิใจที่เห็นว่ามีเยาวชนคนอื่น ๆ สนใจงานจักสานเหมือนพวกเขา และรู้สึกดีใจที่สามารถส่งต่อความรู้เรื่องการจักสานให้คนอื่นได้รับรู้”

เรียนรู้...สู่การถ่ายทอด

หลังจากติดต่อกับทางโรงเรียนให้จัดนักเรียนชั้นประถมประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 20คนและนัดหมายวันทำกิจกรรมเรียบร้อยแล้ว ทีมงานจัดเตรียมอุปกรณ์ในการสานพัดไว้ แต่พอไปถึงจำนวนนักเรียนมากเกินคาด มีน้องเข้าร่วม 30 คน จึงต้องปรับเปลี่ยนแผนใหม่เพื่อรองรับกับจำนวนน้องที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยเน้นให้น้องทุกคนได้ลงมือทำมากกว่าได้ตัวชิ้นงาน

1 เดือนผ่านไป ทีมงานตัดสินใจจัดกิจกรรมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้โทรศัพท์สอบถามจำนวนนักเรียนกับทางโรงเรียนให้แน่ชัด เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอกับผู้เข้าร่วม โดยครั้งนี้สอนน้องชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 สานชะลอม สานพัด และเข่ง มีน้องสนใจเข้าร่วมมากถึง 50 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มตามความสมัครใจ

นอกจากถ่ายทอดความรู้ให้น้องโรงเรียนแล้ว ทีมงานยังมีการเผยแพร่ข้อมูลการทำโครงการผ่านงานประชุมวิชาการ “องค์กรเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย” ที่จัดขึ้นในวิทยาลัยอีกด้วย โดยจัดงานในรูปแบบนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้การจักสาน วันนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 50-70 คน ผลตอบรับในครั้งนี้ทีมงานต่างรู้สึกภูมิใจที่เห็นว่ามีเยาวชนคนอื่น ๆ สนใจงานจักสานเหมือนพวกเขา และรู้สึกดีใจที่สามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องการจักสานให้คนอื่นได้รับรู้

“เมื่อก่อนเธอไม่รู้จักการวางแผน และไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย แต่โครงการนี้ทำให้เธอรู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกการคิดเชิงระบบ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการวางแผนการทำงานทุกครั้งก่อนลงพื้นที่ การได้ฝึกคิด ฝึกวางแผนบ่อย ๆ การทำงานของจึงเป็นระบบระเบียบมากขึ้น”

เพราะสงสัย...จึงได้เรียนรู้

จากความสงสัยใคร่รู้ที่ต้องการคลายปมที่สงสัย สิ่งที่ได้รายทางกลับสร้างการเรียนรู้ให้ทีมงานมากกว่าการไขคำตอบ

ออม บอกว่า เมื่อก่อนเธอไม่รู้จักการวางแผน และไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย แต่โครงการนี้ทำให้เธอรู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกการคิดเชิงระบบ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการวางแผนการทำงานทุกครั้งก่อนลงพื้นที่ การได้ฝึกคิด ฝึกวางแผนบ่อยๆ การทำงานของเธอจึงเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

ขณะที่อ๋อม ยอมรับว่า โครงการนี้ทำให้เธอได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การเข้าชุมชน ที่ทำให้เธอได้มีโอกาสกล้าพูดคุยกับคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเธอสามารถนำทักษะการพูด การเข้าหาชุมชนไปใช้ในชีวิตการทำงานต่อไปได้

ฟ้า บอกว่า การเข้ามาทำโครงการนี้ช่วยให้เธอเข้าใจวิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะกับเพื่อน เพราะแต่เดิมเธอมักจะไม่ค่อยรวมกลุ่มทำงานกับใคร และทำให้เข้าใจคำว่า “ทำงานเป็นทีม” ที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ปล่อยให้ใครคนหนึ่งทำเพียงคนเดียว ไม่เช่นนั้นเป้าหมายที่วางไว้ก็จะไม่สำเร็จ

ส่วน หนึ่ง จากเดิมที่เป็นผู้ชายเงียบๆ แต่ด้วยเงื่อนไขของโครงการ ทำให้เขาต้องกล้าพูดมากขึ้น นอกจากนี้หนึ่งยังมองว่า งานจักสานที่เขาได้เรียนรู้สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มรายได้ให้ตัวเองได้

ผลจากความสงสัยใคร่รู้ และการเปิดโอกาสจากผู้ใหญ่ให้ได้ลงมือเรียนรู้ชุมชน นอกจากจะคลี่คลายความสงสัยที่มีอยู่ได้แล้ว โอกาสและความสงสัยใคร่รู้นั้นยังหนุนเสริมให้ทีมงานได้เรียนรู้ทักษะการทำงานทั้งส่วนตนและส่วนรวม จนสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตการเรียนและการทำงานในอนาคตแล้ว การทำโครงการยังช่วยถักทอสายสัมพันธ์เล็กๆ ของคนสองวัยให้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น จนกลายเป็นความผูกพัน การพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ชุมชนยังสร้างกำลังแรงใจให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนกลับมาสดใสขึ้นอีกครั้ง ดังที่คุณยายสะอิ้ง บอกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “รู้สึกดีใจที่อย่างน้อยก็ยังมีเด็กๆ หันมาสนใจงานจักสานแบบนี้ เห็นความพยายามและความอดทนของเขาว่าเขาสู้ เราก็มีแรงใจที่จะสอน”


โครงการเยาวชนในชุมชนหนองมะค่าร่วมเผยแพร่การจักสาน

ที่ปรึกษาโครงการ : เรณุกา หนูวัฒนา (อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี)

ทีมทำงาน : นักศึกษา ปวช. 1 และ ปวช. 2 (วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี)

  • วิชชุอร ศรีคำฮวด 
  • นริศร ฐิติพิสุทธิพงศ์
  • นายนพพล แตงรอด 
  • ปณิธี จินดาทา
  • จิตสินี จีนเพชร ปวช.1