การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าเขายอดแดง จังหวัดเพชรบุรี ปี 2

ปลูกใจคนให้รักษ์ป่า พาชุมชนเป็นหนึ่งเดียว

โครงการพาน้องเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พิทักษ์ป่าต้นน้ำเขายอดแดง


เด็กและคนในชุมชนต่างได้เรียนรู้เรื่องราวในชุมชนของตนมากขึ้น ชาวบ้านที่ปกติไม่ค่อยมีเวลาพบปะกัน เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกัน จนเห็นความสุขฉายชัดออกมาจากแววตา...ขณะที่ทีมงานเองก็มีความสุขที่กิจกรรมที่คิดและลงมือทำ มีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในชุมชน พร้อมๆ กับได้เรียนรู้ว่า การทำโครงการเพื่อช่วยเหลือชุมชน จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างลงลึกถึงราก จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาหรือพัฒนาได้ถูกทิศถูกทาง

“เขายอดแดง” ป่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ที่เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน อันเนื่องจากการเข้ามาขอทำสัมปทานเหมืองแร่หินปูนของบริษัทแห่งหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นด้วยกับการสร้างเหมือง และกลุ่มที่ไม่ต้องการให้เหมืองเกิดขึ้น แต่กระนั้นป่าเขายอดแดงก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติไว้ เห็นได้จากต้นไม้ขนาด 3 คนโอบจำนวนหลายต้น และสัตว์ป่า เช่น เลียงผา เก้ง ค่าง กระรอก ที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นซูเปอร์มาเก็ตเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงด้วยการเก็บของป่าขาย

เมื่อเห็นปัญหา นักศึกษากลุ่มหนึ่งจากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ที่มีหัวใจรักธรรมชาติ และเคยเข้ามาทำกิจกรรมที่เขายอดแดง จึงคิดว่า พวกเขาต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ป่าผืนนี้คงความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้คนในชุมชนต่อไป

“ตอนนั้นในใจของแต่ละคน รู้สึกต่อต้าน และตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงว่า ทำไมไม่ให้ทำ แต่เมื่อลองรับฟังวิธีทำงานของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จนครบถ้วน ทีมงานก็เลือกเปิดใจ ด้วยคิดว่าอาจได้รับประสบการณ์ดีๆ ที่แตกต่างจากการทำงานแบบเดิม เพราะประเมินแล้วว่ากระบวนการทำงานที่ค่อยๆ เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวในชุมชน เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน จะช่วยลดแรงปะทะจากเหตุความขัดแย้งที่มีอยู่ในพื้นที่ลงได้ และแอบหวังว่าการทำกิจกรรมกับเด็กเยาวชนอาจจะเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวลงได้”

ปลูกสำนึกรักษ์หวนแหนป่า

น้ำ-เอกชัย อิ่มประเสริฐ พี่ใหญ่ของทีมเล่าถึงจุดเริ่มต้นการรวมตัวของทีม ที่มีเขาและรุ่นน้องอีก 4 คน ได้แก่ เจน-วลีวรรณ ขำสุวรรณ นุ๊ก-ปิยธิดา จิตร์ถนอม นิว-วรรธนัย เจริญศรี และ มะขาม-พัณณ์ชิตา มหาอริยทวีสิน ว่า แต่ละคนเป็นนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรมเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะกิจกรรมรูปแบบค่ายอาสา เมื่อโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกเปิดพื้นที่ให้ พวกเขาจึงรีบคว้าโอกาสไว้ ด้วยหวังว่าจะได้ทำค่ายอย่างที่ใจรักในพื้นที่ที่ตั้งใจ ณ เขายอดแดง หมู่บ้านหนองพลับ

น้ำ เล่าต่อถึงเหตุผลที่เลือกสถานที่ดังกล่าวว่า เขาเคยมาทำวิจัยเรื่องการจัดการทรัพยากรร่วมกับรุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้ว จึงอยากสานต่องานรักษาป่า ประกอบกับรู้จักกับ ป้าหนู-วิไลลักษณ์ บือเซ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำให้คิดว่าน่าจะสะดวกในการติดต่อประสานงาน

ด้วยทีมงานทุกคนเคยผ่านค่ายของชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก่อน เมื่อเริ่มต้นพูดคุยกันถึงกิจกรรมที่อยากทำ ทุกเสียงตอบทางเดียวกันว่า อยากทำค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติให้เด็กและเยาวชนได้มาเรียนรู้ป่าเขายอดแดง เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าและหวงแหนผืนป่าบ้านเกิด

และเพื่อให้ทีมงานทุกคนรู้ข้อมูลรอบด้าน ก่อนเริ่มโครงการ ทีมงานพากันลงพื้นที่เพื่อดูบริบทของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติบริเวณเขายอดแดง พบว่า ค่อนข้างสมบูรณ์ เห็นได้จากร่องรอยของเลียงผา มูลของสัตว์ป่า และถ้ำเล็กๆ ที่มีเป็นหินงอกหินย้อย จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาประมวลหาข้อสรุปกิจกรรมที่จะทำ จนได้ออกมาในรูปแบบค่าย 5 วัน ชวนเด็กๆ มาเดินสำรวจป่า เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

“ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะรักป่า ดูแลป่ามากแค่ไหน แต่ถ้ารุ่นลูกรุ่นหลานไม่สืบทอดต่อ สุดท้ายป่าก็หายไปอยู่ดี โครงการนี้เลยโฟกัสไปที่ตัวเด็ก เพราะเขาจะมาเป็นคนดูแลป่าในอนาคต และหากเขามีลูกมีหลาน จะได้ส่งต่อความรู้ต่อไปได้” น้ำ บอกแนวคิดการทำโครงการ

หลังจากวางเป้าหมายเรียบร้อย และเตรียมดำเนินการตามแผน ความพลิกผันก็บังเกิด เมื่อพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ บอกว่า พวกเขาทำตามที่แผนวางไว้ไม่ได้!

“พี่เลี้ยงโครงการแนะนำให้เราเปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนวัตถุประสงค์ เนื่องจากการทำค่ายเป็นกิจกรรมระยะสั้น ไม่สามารถเห็นผลชัดเจนได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะการสร้างจิตสำนึกต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงแรกสำนึกอาจเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ติดตามดู จะรู้ได้อย่างไรว่าสำนึกนั้นยังอยู่ พวกเราที่เป็นเด็กค่ายมาก่อนก็พูดให้พี่เขาฟังว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ค่ายอาจจะไม่สามารถสร้างจิตสำนึกให้คงอยู่ตลอดไปได้ เพราะมันยากมาก และไม่มีทางทำได้ในเวลาสั้นๆ” น้ำ ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เคยถกเถียงความคิดเห็นระหว่างพวกเขากับพี่เลี้ยง

ด้านมะขามเสริมว่า ตอนนั้นในใจของแต่ละคน รู้สึกต่อต้าน และตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงว่า ทำไมไม่ให้ทำ แต่เมื่อลองรับฟังวิธีทำงานของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จนครบถ้วน ทีมงานก็เลือกเปิดใจ ด้วยคิดว่าอาจได้รับประสบการณ์ดีๆ ที่แตกต่างจากการทำงานแบบเดิม เพราะประเมินแล้วว่ากระบวนการทำงานที่ค่อยๆ เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวในชุมชน เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน จะช่วยลดแรงปะทะจากเหตุความขัดแย้งที่มีอยู่ในพื้นที่ลงได้ และแอบหวังว่าการทำกิจกรรมกับเด็กเยาวชนอาจจะเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวลงได้

“ข้อมูลที่ทีมงานได้มาทั้งหมด พวกเขาวางแผนว่าจะส่งคืนสู่ชุมชน โดยจะพยายามนัดหมายชาวบ้านให้ครบทั้งหมู่บ้านมารับฟัง เพื่อสร้างความรู้ ความภาคภูมิใจ และตระหนักถึงพลังสามัคคีของผู้คนที่สามารถรวมตัวกันจนเกิดเป็นบ้านหนองพลับเช่นทุกวันนี้”

เมื่อเปิดใจเรียนรู้...จึงได้รู้

หลังจากเปลี่ยนแผนระยะสั้นมาเป็นแผนระยะยาว ทีมงานได้เรียนรู้วิธีทำงานอันแปลกใหม่ นั่นคือ เครื่องมือไทม์ไลน์สำหรับใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ต้องลงพื้นที่ไปพูดคุย สอบถามเรื่องราวของหมู่บ้านกับชาวบ้านในชุมชน

“พอวางแผนกันว่าจะทำไทม์ไลน์ เราไปลงพื้นที่ครั้งแรกเพื่อตามหาผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้จักชุมชนเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเก็บข้อมูลของชุมชนก่อน มาทำไทม์ไลน์อย่างคร่าวๆ เพื่อให้มีแนวทางสำหรับเตรียมตัวลงไปทำไทม์ไลน์อย่างละเอียดอีกครั้ง” น้ำ เล่าและบอกต่อว่า จากนั้นพี่อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ได้พาพวกเขาไปเรียนรู้การทำไทม์ไลน์ที่ชุมชนเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทำให้ทีมงานเข้าใจถ่องแท้ว่า การทำไทม์ไลน์ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องประเพณี วิถีชีวิต ปัญหา ความยากลำบาก ที่กว่าจะก่อร่างสร้างตัวมาเป็นชุมชนเช่นทุกวันนี้ แต่ละชุมชนต้องผ่านปัญหาอุปสรรคอย่างไร

หลังเรียนรู้กระบวนการทำไทม์ไลน์จนรู้แจ้ง ทีมงานกลับไปลงพื้นที่ชุมชนเขายอดแดงอีกครั้ง เพื่อทำไทม์ไลน์ฉบับสมบูรณ์ โดยครั้งนี้วางแผนชวนคนหลายวัยมาพร้อมกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะต้องการให้เด็กๆ ได้รู้จักกับบ้านเกิดของตัวเองผ่านคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ในชุมชน เนื่องจากยามปกติผู้ใหญ่อาจไม่มีเวลาที่จะเล่าให้ลูกให้หลานฟัง และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ไปในตัว

ส่วนการนัดหมายคนในชุมชน ทีมงานขอความช่วยเหลือจากป้าหนู และ พี่เอียง-ไพทูล รวยพิลมย์ แกนนำชุมชน เพราะดูน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจแก่ชาวบ้านมากกว่าทีมงานที่เป็นคนนอก ทำให้เมื่อถึงวันนัดหมายมีคนในหมู่บ้านเข้าร่วมมากถึง 30 คน

ทีมงานแบ่งบทบาทหน้าที่เป็นฝ่ายถามและฝ่ายจดตามความถนัดของตัวเอง ใช้ชุดคำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า เห็นเรื่องใดน่าสนใจก็ถามแตกประเด็นออกไปเรื่อยๆ ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก ช่วยกันคิด ช่วยกันตอบจนทีมงานจดมือเป็นระวิง ต้องปล่อยเลยตามเลยให้วงใหญ่แตกเป็นวงย่อยอีก 2-3 วง ด้วยไม่อยากขัดบรรยากาศความครึกครื้นของวงสนทนา พยายามจดคำหลักของประเด็นนั้นไว้ เมื่อนำมาลงไทม์ไลน์ก็ทวนความถูกต้องของเหตุการณ์ในแต่ละปีอีกครั้ง จนได้ไทม์ไลน์ในช่วงเวลา 20 ปีจากอดีตถึงปัจจุบันของหมู่บ้านหนองพลับ

นอกจากผลสำเร็จของแผนที่ไทม์ไลน์ที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ยังเกิดผลสำเร็จกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ทั้งเด็กและคนในชุมชนบางคนที่เข้ามาอยู่ชุมชนไม่นานต่างได้เรียนรู้เรื่องราวในชุมชนของตนมากขึ้น ชาวบ้านที่ปกติไม่ค่อยมีเวลาพบปะกัน เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ก็ได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน จนทีมงานเห็นความสุขที่ฉายชัดออกมาจากแววตา และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชาวบ้าน

ขณะที่ตัวทีมเองก็มีความสุขที่กิจกรรมของพวกเขามีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในชุมชน พร้อมๆ กับได้เรียนรู้ว่า การทำโครงการเพื่อช่วยเหลือชุมชน จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างลงลึกถึงราก จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาหรือพัฒนาได้ถูกทิศถูกทาง

สำหรับข้อมูลที่ทีมงานได้มาทั้งหมด พวกเขาวางแผนว่าจะส่งคืนสู่ชุมชน โดยจะพยายามนัดหมายชาวบ้านให้ครบทั้งหมู่บ้านมารับฟัง เพื่อสร้างความรู้ ความภาคภูมิใจ และตระหนักถึงพลังสามัคคีของผู้คนที่สามารถรวมตัวกันจนเกิดเป็นบ้านหนองพลับเช่นทุกวันนี้

“อยากให้น้องได้รู้ว่าผืนป่าบ้านเขามีต้นไม้ใหญ่ มีสัตว์อาศัยอยู่จริง จะได้ภูมิใจและเกิดความรู้สึกอยากรักษาป่าของเขาให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป แล้วถ้าผู้ใหญ่เห็นว่า เด็กยังรู้จักรักและหวงแหนป่า ก็น่าจะตระหนักว่า ควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่าให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน”

เพราะรู้จักจึง “รักษ์ป่า”

กิจกรรมต่อมาเป็นกิจกรรมที่ปรับมาจากความตั้งใจแรกสุดของทีมงาน คือ การพาเด็กและเยาวชนในชุมชนไปเรียนรู้พื้นที่ป่าเขายอดแดง ทีมงานเล่าถึงเหตุผลของการพาเด็กๆ ไปเดินป่าว่า “อยากให้น้องได้รู้ว่าผืนป่าบ้านเขามีต้นไม้ใหญ่ มีสัตว์อาศัยอยู่จริง จะได้ภูมิใจและเกิดความรู้สึกอยากรักษาป่าของเขาให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป แล้วถ้าผู้ใหญ่เห็นว่า เด็กยังรู้จักรักและหวงแหนป่า ก็น่าจะตระหนักว่า ควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่าให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน”

ก่อนเริ่มกิจกรรม ทีมงานขึ้นไปสำรวจเส้นทางเดินหลายครั้ง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย และค้นหาพื้นที่ที่ใช้เป็นฐานการเรียนรู้ รวมถึงบริเวณที่สามารถทำกิจกรรมระหว่างทาง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นและได้สัมผัสของจริง เช่น พันธุ์พืช ร่องรอยสัตว์ ถ้ำหินงอกหินย้อย เป็นต้น

เมื่อเส้นทางพร้อม ทีมงานประสานให้พี่เอียงชวนเด็กๆ อายุ 12 ปีขึ้นไปเข้าร่วม มีน้องสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 16 คน จากนั้นจึงวางกำหนดการเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ ได้แก่ ช่วงเช้าทำกิจกรรมสื่อความหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นว่า การเดินป่าครั้งนี้น้องจะต้องเปิดหู เปิดตาให้รู้ว่าป่ามีประโยชน์กับชีวิตคนมากเพียงไร ถึงช่วงบ่ายจึงค่อยเดินขึ้นเขาไปเรียนรู้ โดยติดต่อให้ป้าหนูและผู้รู้อีก 3-4 คนในชุมชนร่วมเป็นวิทยากรช่วยเติมความรู้ส่วนที่ทีมงานตกหล่น พร้อมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครองของน้องที่มาร่วมกิจกรรม และชวนเพื่อนในมหาวิทยาลัยอีก 5 คนมาช่วยดูแลน้องๆ ให้ทั่วถึง

ทุกขั้นตอนการทำงานของทีมงานแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีการทำงานเป็นระบบ และวางแผนการทำงานค่อนข้างรัดกุม พยายามอุดช่องโหว่ของเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ ทว่าเมื่อถึงวันที่ทำกิจกรรมจริง ทีมงานก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาเฉพาะหน้าได้

“วันที่ทำกิจกรรม น้องมาช้ากว่าเวลานัดหมาย 1 ชั่วโมงกว่า เราปรึกษากันว่า ต้องตัดกิจกรรมช่วงเช้าออก ไม่อย่างนั้นอาจไม่ทันเวลา ประกอบกับวันนั้นอากาศร้อนมาก ถ้าเดินขึ้นเขาช้า จะร้อนเกินไป น้องอาจไม่อยากเรียนรู้หรือไม่สบายได้ แล้วก็จริงดังคาด พอเดินไปได้ระยะหนึ่ง มีน้องเป็นลม ไปต่อไม่ไหว จึงตัดสินใจให้พี่ทีมงานพาน้องลงมาส่งด้านล่าง ดีกว่าดันทุรังให้น้องเดินต่อ แล้วจะยิ่งแย่กับสภาพอากาศในป่าที่ไม่คุ้นชิน” น้ำ เล่าสภาพการเดินป่า

ปัญหาดังกล่าวเป็นบทเรียนสำคัญให้ทีมงานรู้ว่า การทำงานย่อมมีเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม การวางแผนอย่างรัดกุมแม้จะช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่ง แต่หากเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่คาดไม่ถึง สิ่งที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เหตุการณ์นั้นผ่านไปได้ด้วยดี คือ การตัดสินใจที่เด็ดขาด และการทำงานเป็นทีมที่ต่างช่วยเหลือกันเต็มที่

สำหรับผลสำเร็จของการเดินป่าครั้งนี้ ทีมงานบอกว่า แม้น้องจะซุกซนบ้างตามประสา แต่ก็คอยจดความรู้ใส่สมุดตามที่ได้รับมอบหมาย สามารถจดจำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับป่าที่ได้รับฟัง และสิ่งที่ทำให้ทีมงานปลื้มใจที่สุดคือ เสียงสะท้อนของน้องในช่วงสรุปกิจกรรมที่บอกว่า อยากรักษาป่าให้อยู่ต่อไปนานๆ จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยแม้แต่จะสนใจว่าป่าจะเป็นอย่างไร

หลังเสร็จกิจกรรม ทีมงานกลับมาถอดบทเรียนภาพรวมการทำงาน เพื่อทบทวนปัญหา และประเมินความสำเร็จ โดยทุกคนพูดตรงกันว่า แม้การทำงานจะสะดุด แต่พวกเขาก็พอใจที่สามารถจุดประกายไฟในหัวใจของเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตของชุมชนให้เริ่มรักป่าขึ้นมา

“เมื่อก่อนเป็นคนที่อยากทำอะไรก็ทำ มั่นใจในความคิดของตัวเอง ไม่ฟังใคร พอมาทำโครงการนี้ เริ่มรู้จักรับฟังคนอื่น มีเหตุผลมากขึ้น การได้ทำงานกับคนอื่นบ่อยๆ เจอคนเยอะๆ ทำให้รู้ตัวว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด ต้องรับฟังคนอื่นบ้าง เพราะแต่ละคนก็ต่างมีความรู้ ทักษะพื้นฐาน ประสบการณ์แตกต่างกัน”

เรื่องภายในที่ได้ค้นพบ...

เมื่อโครงการเดินทางมาถึงปลายทาง ทีมงานแต่ละคนต่างค้นพบความเปลี่ยนแปลงในตัวเองไม่น้อย บทเรียนใหม่ที่ได้รับหลายบทสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของตัวเอง

น้ำบอกว่า ด้วยกระบวนการทำโครงการที่มีระยะเวลาหลายเดือน จึงต้องวางแผนทำกิจกรรมหลายครั้งและเมื่อทำเสร็จแต่ละครั้ง ต้องกลับมาถอดบทเรียนการทำงานของตัวเองว่า มีข้อบกพร่องตรงไหน แล้วนำจุดนั้นมาหาวิธีแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อนำไปใช้ในครั้งต่อไป ส่วนการทำค่ายมีเวลาวางแผนแค่รอบเดียว ทำแล้วจบไป เขาจึงคิดว่าจะลองหยิบกระบวนการทำงานของโครงการไปปรับใช้กับการทำกิจกรรมค่าย โดยอาจวิเคราะห์ปัญหาของการทำค่าย หลังจากค่ายจบ แล้วนำไปใช้กับค่ายต่อไป

ส่วนความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองของแต่ละคน น้ำที่เป็นทั้งพี่และหัวหน้าทีม บอกว่าได้เรียนรู้ “ความเป็นผู้นำ” ที่ต้องรู้จักเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะการจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายต้องพึ่งพากำลังกายและกำลังสมองของทุกคนในทีม ไม่ใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่ง

“ถึงผมจะเป็นพี่ที่โตที่สุดในทีม แต่เวลาทำงานถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่สั่งหรือคิดแทนว่าใครต้องทำอะไร ทุกคนสามารถช่วยกันออกความคิดเห็นได้ว่า ตัวเองอยากทำอะไร กิจกรรมควรทำอะไร ผมว่าการคอยซัพพอร์ตซึ่งกันและกันคือสิ่งที่ทำให้งานออกมาดีที่สุด”

ด้านนิวบอกว่า ตัวเขานำกระบวนการทำงานโครงการมาปรับใช้กับตัวเอง ทำให้รู้จักคิดวิเคราะห์ และจัดการชีวิตประจำวันอย่างมีขั้นตอน เข้าใจการลำดับความสำคัญมากขึ้น

ฟากมะขาม เล่าว่า เธอเข้ามาทำโครงการ เพราะอยากทำกิจกรรมที่ท้าทายตัวเอง และต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น กระบวนการคิดออกแบบกิจกรรม การวางแผนการทำงาน และการแก้ไขปัญหา ซึ่งพอได้ทำแม้จะสนุกปนเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่าที่ความคิดของตัวเองได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

“เวลาทำงานกลุ่มกับเพื่อนในสาขา เราจะมองเห็นมุมของปัญหาต่างจากที่เพื่อนคิด จึงสามารถเสนอไอเดียแก้ไขที่แตกต่างออกไปได้ และทำให้งานผ่านไปได้ด้วยดี”

ขณะที่ 2 สาวจากสาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว นุ๊กและเจน บอกว่า การทำโครงการนี้เธอสามารถนำไปปรับใช้กับวิชาการท่องเที่ยวในชุมชนได้ค่อนข้างมาก ทั้งการเข้าหาชุมชน การวางแผนทำงานกับชาวบ้าน และการเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ทำให้พวกเธอค่อนข้างมั่นใจที่จะต้องลงชุมชนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“คิดถูกมากที่เข้ามาทำโครงการนี้ เพราะเป็นโอกาสดีที่เราได้เรียนรู้มากกว่าแค่ในห้องเรียน ได้รู้วิธีการใหม่ๆ อย่างไทม์ไลน์ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียด และเป็นขั้นตอนมากกว่า คิดว่าจะนำไปใช้เสริมกับวิธีการเก็บข้อมูลแบบเดิมที่มีเพียงการสอบถามชาวบ้าน จดบันทึก และอัดเสียง”

นุ๊ก บอกต่อว่า นอกจากนี้เธอได้นำกระบวนการทำงานไปปรับใช้กับการทำกิจกรรมสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วย และที่สำคัญการทำโครงการยังช่วยขัดเกลานิสัย และความคิดของเธอจนเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก

“เมื่อก่อนเป็นคนที่อยากทำอะไรก็ทำ มั่นใจในความคิดของตัวเอง ไม่ฟังใคร พอมาทำโครงการนี้ เริ่มรู้จักรับฟังคนอื่น มีเหตุผลมากขึ้น การได้ทำงานกับคนอื่นบ่อยๆ เจอคนเยอะๆ ทำให้รู้ตัวว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด ต้องรับฟังคนอื่นบ้าง เพราะแต่ละคนก็ต่างมีความรู้ ทักษะพื้นฐาน ประสบการณ์แตกต่างกัน”

ส่วนเจนบอกว่า การเข้ามาทำโครงการทำให้ได้ความรู้แปลกใหม่ ที่ในห้องเรียนไม่มีสอน เช่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การวางแผน และช่วยปรับนิสัยของเธอจากคนที่จริงจังกับทุกงาน จนกดดัน เครียด และร้องไห้บ่อยๆ ให้รู้จักยืดหยุ่นเป็น และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ

สำหรับแผนการทำงานขั้นต่อไปของทีมงาน คือการคืนข้อมูลสู่ชุมชนด้วยการแปลงเป็นวิดีโอกราฟิกและหนังสือเล่มเล็กที่เน้นภาพสีสันสดใส เนื้อหาเข้าใจง่าย เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี โดยจะนำไปวางตามสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น โรงเรียน เทศบาล ให้ชาวบ้านได้อ่านกันทั่วถึง เพื่อกระตุ้นให้คนอ่านเห็นคุณค่า ความสำคัญของป่าเขายอดแดง และลุกขึ้นมาเป็นหนึ่งแรงที่จะเข้ามาปกป้องผืนป่าเขายอดแดงให้อยู่คู่ชุมชนต่อไปตราบนานเท่านาน

อาจารย์กิตติ วิสารกาญจน ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า เงื่อนไขของเด็กมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดมาก นอกจากเด็กจะไม่เคยทำงานกับชุมชนแล้ว เขายังไม่ได้อยู่ในชุมชนอีก จึงไม่มีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกัน เพราะเขาไม่ได้เกิดที่นั่น เมื่อรวมกับภายองค์ประกอบเรื่องเวลาเรียน และความเป็นปัจเจกบุคคลของเด็กแต่ละคน เลยย่ิงยากเข้าไปใหญ่ แต่ผ่านกิจกรรมนับ 1-5 มาได้เห็นชัดเลยว่า หากมีกระบวนการหรือกลไกบางอย่างหนุนเสริม นักศึกษาก็มีศักยภาพที่จะทำงานร่วมกับชุมชนได้ หากเราจัดทำระบบให้ดีประโยชน์ก็จะเกิดกับมหาวิทยาลัย

“ที่ผ่านมาผมเคยทำค่ายร่วมกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 3 วันจบ เด็กกลับมาด้วยความภูมิใจว่าได้ทำเพื่อสังคมแล้ว แต่จริง ๆ เวลาเพียงแค่ 3 วัน ไม่ได้ทำให้เขารู้จักชุมชน รู้ปัญหาที่แท้จริง และรู้ศักยภาพและบทบาทของตัวเองว่ามีความเชื่อมโยงกับชุมชนนอกมหาวิทยาลัยอย่างไร แต่โครงการนี้มีส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ด้วยระยะเวลา และวิธีการที่ให้เด็กเริ่มต้นคิดทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่สิ่งที่อาจารย์หรือมหาวิทยาลัยอยากให้เป็น แต่เป็นกระบวนการสร้างเด็กให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคม ซึ่งตรงนี้เป็นประโยชน์มากต่อมหาวิทยาลัย”

อาจารย์กิตติ ย้ำว่า เขาคิดนำกระบวนการทำงานที่ได้เรียนรู้จากโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ไปปรับใช้กับการทำกิจกรรมของศึกษา ที่มีการกระตุ้นให้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง “เมื่อก่อนผมจะใช้วิธีท้าทายนักศึกษาว่า คุณคิดว่าคุณทำได้ไหม คุณคิดว่างานที่จะสำเร็จหรือเปล่า ซึ่งเป็นดาบสองคม ถ้าดีก็ดีไปเลย หรือไม่ทำเลย แต่การพาคิดพาทำเช่นนี้ นอกจากจะดีต่อตัวนักศึกษา ต่ออาจารย์แล้ว ยังดีต่อชุมชนอีกด้วย เพราะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษา มหาวิทยาลัย และชุมชนเข้าด้วยกัน”

การลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อป่าในชุมชนที่ไม่ใช่บ้านเกิดตัวเองของทีมงาน คือภาพสะท้อนถึงสำนึกความเป็นพลเมือง ที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาที่พบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในชุมชนแห่งไหน เพราะเห็นถึงความเชื่อมโยงที่แท้จริงระหว่างตัวเองกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวว่า ล้วนเกี่ยวพันอยู่ในสังคมเดียวกัน หากทุกคนเข้ามาร่วมแก้ไขภาพชุมชนเป็นสุขคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


โครงการพาน้องเรียนรู้ชุมชนเพื่อสร้างกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์พิทักษ์ป่าต้นน้ำเขายอดแดง

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์กิตติ วิสารกาญจน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ทีมทำงาน : นักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ

  • เอกชัย อิ่มประเสริฐ
  • วรรธนัย เจริญศรี 
  • พัณณ์ชิตา มหาอริยทวีสิน 
  • วลีวรรณ ขำสุวรรณ
  • ปิยธิดา จิตร์ถนอม