การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนผ่านการทำสื่อวีดีทัศน์ ตำบลสามพระยา จังหวัดเพชรบุรี ปี 2

สื่อรักษ์น้ำสร้างสำนึกเพื่อส่วนรวม

โครงการจัดทำสื่อเรื่องการใช้น้ำภายในชุมชนมุสลิม


การทำโครงการช่วยเปลี่ยนกระบวนการคิดทั้งหมดของพวกเธอให้ต่างไปจากเดิม ทำให้เธอปรับแนวทางการใช้ชีวิต ทั้งการจัดการ การวางแผนในหลายๆ ด้าน และนิสัยของตัวเอง...โครงการนี้ฝึกให้เราต้องวางแผนล่วงหน้าว่า...ทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการเรียน กลายเป็นว่าเราก็ได้วางแผนการอ่านหนังสือสอบ จนเกรดดีขึ้น ตอนนี้เวลาจะทำอะไรก็ตาม เราจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าเดิม มีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ จนสามารถจัดการตัวเองได้ดีมากขึ้น และตั้งใจกับทุกสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะงานในโครงการ หรือการเรียน

“เอลนีโญ” เป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่ฟ้องว่า โลกกำลังแปรปรวนอย่างหนักจากการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศผิดปกติ ดังเช่นประเทศไทยในหลายพื้นที่ที่เกิดภาวะภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล บางแห่งก็เกิดภาวะฝนเปลี่ยนที่ตก ยิ่งบวกกับสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติน้อย เช่นหมู่บ้านชาวไทยมุสลิมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ หมู่บ้านห้วยทรายใต้ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างรุนแรง อ่างเก็บน้ำแห้งขอดจนสัตว์เลี้ยงเดินลงไปกินหญ้าได้ น้ำบาดาลที่มีก็ต้องเปิด-ปิดเป็นเวลา และต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้อุปโภค

เมื่อเห็นความเดือดร้อนของชุมชน นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ไม่นิ่งดูดาย คิดหาทางแก้ไขปัญหา ใช้ศักยภาพของตนผลิต “สื่อ” เพื่อรณรงค์ให้ชาวบ้านใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า และเพื่อสื่อสารให้องค์กรหรือหน่วยงานที่มีความสามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว

“ชาวบ้านต้องซื้อน้ำมาใช้ ซื้อน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน อ่างเก็บน้ำก็แห้งขอดกลายเป็นที่เลี้ยงวัว ขณะที่เราอยู่อย่างสบาย แค่เปิดก๊อกก็มีน้ำใช้”

น้ำ...เรื่องใหญ่ของชีวิต

จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันทำโครงการนี้มาจาก อาจารย์เอ-ธนพัฒน์ อินทวี ที่ปรึกษาโครงการ ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก พร้อมชวนทีมงานให้เดินทางไปที่หมู่บ้านห้วยทรายใต้

น้ำฝน-ธารารัตน์ ปานศรี เล่าว่า พอคุยกับผู้ใหญ่เสร็จ เรามานั่งคุยกันว่า ปัญหาน้ำเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วพวกเราพอจะทำอะไรได้บ้าง ทุกคนจึงเล่าความสามารถของตัวเองที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ให้ฟัง เราพูดประชาสัมพันธ์ได้ ป๊อป-ณัชชา กุหลาบเพ็ชรทอง ทำสตอรี่บอร์ดได้ เพื่อนอีกคนหนึ่งตัดต่อวิดีโอเป็น เลยคิดกันว่าน่าจะทำสารคดีสั้น เพื่อปลูกจิตสำนึกเรื่องน้ำแก่ชาวบ้านและคนภายนอกเผื่อว่าจะสามารถดึงคนหรือหน่วยงานที่มีกำลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้หมู่บ้าน จนเกิดเป็นโครงการจัดทำสื่อเรื่องการใช้น้ำภายในชุมชนมุสลิม

“ชาวบ้านต้องซื้อน้ำมาใช้ ซื้อน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน อ่างเก็บน้ำก็แห้งขอดกลายเป็นที่เลี้ยงวัว ขณะที่เราอยู่อย่างสบาย แค่เปิดก๊อกก็มีน้ำใช้” ป๊อป เล่าให้ฟังถึงความสะเทือนใจเมื่อได้ลงพื้นที่หมู่บ้านห้วยทรายใต้ และพูดคุยกับผู้ใหญ่ดร-อุดร หมันมณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ถึงความทุกข์เรื่องน้ำของหมู่บ้าน

ทีมงานเล่าเหตุผลที่เลือกทำสารคดีสั้น เนื่องจากต้องการสะท้อนความยากลำบากเรื่องน้ำของชุมชนผ่านคำพูดกินใจของชาวบ้านว่า ที่นี่มีความทุกข์เรื่องน้ำ เป็นทุกข์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง เคยขอฝนหลวงพระราชทานมาก็ถูกลมพัดเมฆปลิวไปตกที่อื่น จึงต้องอยู่ร่วมกับความแห้งแล้งเรื่อยมา

หลังได้เป้าหมายโครงการ ทีมงานกลับมาวางแผนขั้นตอนการเก็บข้อมูลว่า จะลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกทำเป็นไทม์ไลน์ เรียนรู้ความเป็นมาของหมู่บ้าน เพราะมองว่าหากอยากช่วยเหลือชุมชน ก็ต้องรู้อดีตของชุมชนก่อนเพื่อให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ส่วนครั้งที่ 2 ลงพื้นที่เพื่อทำแผนที่รางน้ำของชุมชน ดูเส้นทางน้ำภายในชุมชนจากอ่างเก็บไปจนถึงหมู่บ้าน แม้ปัจจุบันอ่างน้ำจะแห้งขอดจนใช้การไม่ได้ แต่ทำเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลใส่ประกอบสารคดี เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า เดิมชุมชนก็มีระบบการจัดการน้ำ แต่เมื่อพบสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจควบคุมได้ ระบบที่มีจึงถูกทิ้งอย่างไร้ค่า โดยสะท้อนให้เห็นความแห้งแล้งของชุมชนผ่านรางน้ำที่รกร้าง เพื่อโยงถึงความยากลำบากในแต่ละวันของชาวบ้านที่อยู่ด้วยความขาดแคลนน้ำ

เมื่อสรุปได้ว่าจะทำอะไร ทีมงานติดต่อให้ผู้ใหญ่ดรช่วยประสานชาวบ้านมาให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน เพราะมองว่าผู้ใหญ่บ้านน่าจะรู้จักลูกบ้านว่า คนไหนมีความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านมากที่สุด

เมื่อถึงวันนัดหมาย ทีมงานได้พบกับชาวบ้านประมาณ 6-7 คน จึงเริ่มต้นการพูดคุย ทำให้ทราบว่าชาวบ้านอพยพหนีภาวะน้ำทะเลหนุนมาจากปลายโพงพาง จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วเริ่มทำการเกษตร ปลูกพืชพันธุ์หลายชนิด ที่นิยมมากคือสัปปะรด และมีความโดดเด่นด้านงานฝีมือเจียระไนพลอย

กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเสด็จมาเยี่ยมและพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างมัสยิดของหมู่บ้านในฐานะองศาสนูปถัมภก พร้อมทรงสร้างอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่ชาวบ้าน และมี ฮัจยูซบ-ซบ นาคอนุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โต๊ะอิหม่ามคนแรกของหมู่บ้านได้ผูกพันเป็นสหายกับพระองค์ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน คนรุ่นใหม่ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมทั้งเจียระไนพลอย ทำการเกษตร เพื่อไปทำงานในเมือง บวกกับความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ความเสื่อมโทรมก็ค่อยๆ มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้

ป๊อปเล่าถึงบรรยากาศการทำไทม์ไลน์ในวันนั้นว่า ทีมงานจะตั้งคำถาม แล้วให้ชาวบ้านตอบ ซึ่งคนตอบหลักเป็นคุณยายท่านหนึ่งที่มาถึงศาลานัดหมายเป็นคนแรก ส่วนชาวบ้านคนอื่นคอยช่วยเสริม

หลังได้ไทม์ไลน์ฉบับสมบูรณ์ พี่อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ แนะนำให้ทีมงานนำข้อมูลมาอ่านอีกครั้งแล้วเขียนตามมุมมองของแต่ละคนว่าเห็นปัญหาอะไรของหมู่บ้านจากไทม์ไลน์ เพื่อสรุปรวมความคิดของกลุ่ม จากนั้นทำความเข้าใจข้อมูลทั้งหมดอีกรอบ แล้วสรุปลงสมุดเก็บเป็นฐานข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านในระยะเวลา 20 ปี เพื่อนำไปใช้ในการทำสตอรี่บอร์ดต่อไป

“บรรยากาศของการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ ไม่มุ่งหวังที่จะได้ข้อมูลอย่างเดียวเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนให้ความเป็นกันเองกับทีมงาน ถ้าเรามีท่าทีอยากสร้างสัมพันธ์กับเขา เขาก็อยากสร้างสัมพันธ์กับเรา”

มองหาโอกาสจากปัญหา

ทีมงานกลับมาลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อทำแผนที่รางน้ำตามแผนการดำเนินงาน แต่ปรากฏว่า ไม่มีชาวบ้านมาตามนัดหมายแม้แต่คนเดียว ทีมงานบอกว่า พวกเขารู้สึกกังวลอยู่ก่อนแล้วว่า ชาวบ้านจะไม่มา เพราะตอนลงพื้นที่ครั้งก่อน ระหว่างที่พูดคุยกัน ชาวบ้านจะขอตัวกลับไปทำธุระที่บ้านเป็นพักๆ ผลัดกันเข้าออกวงพูดคุยอยู่หลายครั้ง

เมื่อผู้ใหญ่บ้านดรชักชวนให้ไปพูดคุยกับผู้ใหญ่กรีฑา ซบเอี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 และชาวบ้านที่ไปรวมตัวกันเนื่องในวันครบรอบการเสียชีวิตของสมาชิกคนหนึ่งในหมู่บ้านแทน ทีมงานตกลงทันที ด้วยมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างความสนิทสนมกับชาวบ้าน เพื่อใช้ความสัมพันธ์เป็นตัวประสานความร่วมมือในการลงพื้นที่ครั้งต่อไป

ผลของการไปที่หมู่ 1 ประสบผลสำเร็จตามความตั้งใจ ทีมงานบอกว่า การได้พูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ทำให้ได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับวิถีวิตของชาวบ้านมุสลิมที่มีบางอย่างแตกต่างจากทีมงานที่เป็นชาวพุทธ ที่สำคัญคือได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน ทำให้มีกำลังใจเดินหน้าทำโครงการต่อ พร้อมกันนั้นทีมงานยังได้บทเรียนใหม่ของการลงชุมชนกลับมาด้วย

ป๊อปเล่าว่า ตอนไปถึงหมู่ 1 พวกเรารีบกางสมุดจด เพื่อเตรียมสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านกรีฑา แต่กลับโดนทักว่า ทำอย่างนี้ เขาจะเกร็งจนตอบคำถามไม่ถูก นั่งคุยกันแบบสบายๆ น่าจะดีกว่า ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า บรรยากาศของการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ ไม่มุ่งหวังที่จะได้ข้อมูลอย่างเดียวเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนให้ความเป็นกันเองกับทีมงาน ถ้าเรามีท่าทีอยากสร้างสัมพันธ์กับเขา เขาก็อยากสร้างสัมพันธ์กับเรา

หลังจากนั้น ทีมงานกลับมาลงพื้นที่อีก เพื่อทำแผนที่รางน้ำให้สำเร็จ ครั้งนี้ทีมงานได้พบกับชาวบ้านกลุ่มเดิมที่มาประมาณ 6-7 คน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ชาวบ้านแต่ละคนต่างช่วยกันเล่าข้อมูลอย่างเต็มใจ ไม่มีใครลุกเข้าลุกออก หรือขอกลับบ้านเลย ในที่สุดแผนที่รางน้ำฉบับสมบูรณ์ก็แล้วเสร็จ ทำให้ทีมงานได้คำตอบของสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ด้วยว่า ความสนิทสนมสามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นได้จริงๆ

“กิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำแล้วจบไป แต่การทำโครงการไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้าว่าจะเจอปัญหาอะไร จึงฝึกให้เธอต้องตั้งสติ มองปัญหาอย่างรอบด้าน แล้วค่อยๆ คิด แก้ไข จนกลายเป็นคนใจเย็น คิดเป็นมากขึ้น และรู้จักมองไปข้างหน้า เริ่มวางแผนอนาคต”

วิกฤติสร้างการเรียนรู้

การลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับวางโครงเรื่องเสร็จสิ้น ทีมงานจึงลงมือเขียนสตอรี่บอร์ด ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงปิดเทอมพอดี งานที่ก้าวหน้าไปด้วยดีจึงหยุดชะงักลง เนื่องจากทีมงานแยกย้ายกลับบ้านกันคนละทิศละทาง เปิดเทอมมาคิดว่าจะทำงานต่อได้ ก็ติดขัดที่เพื่อนร่วมทีมแยกย้ายกันเรียนตามวิชาเอก จากที่เคยเรียนด้วยกันก็ต้องแยกกันเรียน นำมาสู่จุดพลิกผันของทีมที่เหลือคนทำงานเพียง 2 คน

น้ำฝน เล่าว่า ตอนปิดเทอมมีเพื่อนคนหนึ่งไปอเมริกาไม่สามารถช่วยงานได้ พอเปิดเทอมมาต้องไปเรียนตามวิชาเอก ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาว่างตรงกัน บวกกับมีปัญหาส่วนตัวกันนิดหน่อย ต่างคนเลยต่างเงียบกันไป กรุ๊ปไลน์ที่ไว้ใช้คุยงานก็มีแค่หนูกับป๊อปคุยกันอยู่ 2 คน สุดท้ายจึงตัดสินใจว่า ถ้าเพื่อนที่เหลือไม่ทำแล้ว เราก็จะทำต่อ เพราะเริ่มมาขนาดนี้แล้วจะให้ทิ้งได้อย่างไร

“ปัญหานี้เป็นแค่บทเรียนก่อนจะเจอชีวิตทำงานจริง ซึ่งสอนให้พวกเรารู้ว่า การทำงานเป็นทีมต้องกล้าที่จะปรึกษางานกันอย่างตรงไปตรงมา แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน ทำงานอย่างเต็มที่ และรับผิดชอบหน้าที่ให้ดีที่สุด” ป๊อป เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้

การตัดสินใจไม่ล้มเลิกโครงการของ 2 สาว สะท้อนถึงความสามารถในการก้าวข้ามอุปสรรคด้วยการ “พลิกมุมมอง” แล้วนำมาเป็นบทเรียน แทนที่จะจมลงอยู่ในกองปัญหา และการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ “รับผิดชอบ” ที่ต้องช่วยเหลือชุมชน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

น้ำฝนบอกว่า เธอไม่เคยทำกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน ปกติเป็นนางรำของมหาวิทยาลัย อยู่แต่บนเวทีการแสดง พอเข้ามาทำกิจกรรมที่ได้คลุกคลีกับชุมชน ทำให้เธอเกิดความรู้สึกร่วมไปกับชาวบ้านว่า หากเดือดร้อนแบบเขาบ้างจะเป็นทุกข์สักแค่ไหน

นอกจากนั้น 2 สาวยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำโครงการช่วยเปลี่ยนกระบวนการคิดทั้งหมดของพวกเธอให้ต่างไปจากเดิม ทำให้เธอปรับแนวทางการใช้ชีวิต ทั้งการจัดการ การวางแผนในหลายๆ ด้าน รวมถึงนิสัยของตัวเองด้วย

“การทำโครงการ ฝึกให้เราต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะลงพื้นที่วันไหน ประชุมงานตอนไหน ทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการเรียน กลายเป็นว่าเราก็ได้วางแผนการอ่านหนังสือสอบ จนเกรดดีขึ้น ตอนนี้เวลาจะทำอะไรก็ตาม เราจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าเดิม มีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ จนสามารถจัดการตัวเองได้ดีมากขึ้น ตั้งใจกับทุกสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะงานในโครงการ หรือการเรียน” น้ำฝน เล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ด้านป๊อป เสริมว่า กิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำแล้วจบไป แต่การทำโครงการไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้าว่าจะเจอปัญหาอะไร จึงฝึกให้เธอต้องตั้งสติ มองปัญหาอย่างรอบด้าน แล้วค่อยๆ คิด แก้ไข จนกลายเป็นคนใจเย็น คิดเป็นมากขึ้น และรู้จักมองไปข้างหน้า เริ่มวางแผนอนาคต

ทั้งคู่กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อตัวเองค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากการทำโครงการ แล้วย้อนกลับไปมองข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน พบว่า การตั้งคำถามพูดคุยกับชาวบ้านยังไม่ละเอียดพอ ซึ่งอาจมีผลต่อการทำสื่อ จึงนัดกันไปลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเติมเนื้อหาส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์สำหรับใช้ทำสตอรี่บอร์ด และถ่ายทำต่อไป

การลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ด้วยศักยภาพที่มี แม้จะพบเจออุปสรรคหลากหลายที่แวะเวียนเข้ามาท้าทาย แต่ทั้งคู่ก็ก้าวผ่านมาได้ ด้วยการคิดบวก มองปัญหาเป็นบททดสอบที่ฝึกฝนตนให้พร้อมเผชิญกับชีวิตจริงในภายหน้า พร้อมทั้งยืนหยัดรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากสำนึกภายใน ที่ได้ลงมือ ลงแรง และลงใจ กระทั่งเข้าใจความหมายของการทำเพื่อคนอื่นอย่างแท้จริง ทำให้มั่นใจได้ว่าสังคมกำลังมีพลเมืองที่เข้ามาช่วยนำพาชุมชนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นต่อไป


โครงการจัดทำสื่อเรื่องการใช้น้ำภายในหมู่บ้านมุสลิม

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์ธนพัฒน์ อินทวี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ทีมทำงาน : นักศึกษาปีที่ 3 สาขาธุรกิจและภาษาอังกฤษ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

  • ณัชชา กุหลาบเพ็ชรทอง
  • ธารารัตน์ ปานศรี
  • ณัฐธิดา พึ่งทอง
  • วิมลพรรณ มีรส
  • นิสาชล ชัยเจริญ