การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างแนวทางการจัดการระบบรางน้ำทิ้งเพื่อลดกลิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดเพชรบุรี ปี 2

ประสบการณ์นอกห้องเรียน...เปลี่ยนชีวิต

โครงการสำรวจสถานการณ์ของระบบรางน้ำทิ้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างแนวทางการจัดการระบบรางน้ำทิ้งเพื่อลดกลิ่นโดยการมีส่วนร่วม


โครงการนี้ทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้นและเข้าใจว่าการเรียนไม่ใช่การเรียนเพื่อจำ แต่เราเรียนเพื่อเข้าใจ เพื่อให้คิดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งข้อสอบส่วนใหญ่ที่เราทำจะเป็นข้อสอบเชิงคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง ผลที่ได้จากโครงการนี้ติดตัวมาคือ การคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง จึงทำให้เราทำข้อสอบได้ดีขึ้น จากแต่ก่อนแทบจะไม่คิดเลยด้วยซ้ำ แต่โครงการนี้ทำให้เราหยุดที่จะคิดก่อนจะเขียนคำตอบออกไป

เพราะเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ที่ทำโครงการปีที่ผ่านมาว่า “การเรียนรู้จากการลงมือทำ คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” เมื่อได้รับโอกาสในปีนี้ ทีมงานที่ประกอบด้วย เติ้ล-ศรีสุรางค์ พงษ์ดำ เจ-สิเหมือนฝัน เพ็ชรทอง โฟม-สุภเกียรติ อยู่สำราญ ต่าย-ประดิษฐา แก้วเลิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ สาขาการจัดการชุมชน มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี จึงไม่รีรอ รวมตัวกันทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในมหาวิทยาลัย ที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สร้างห้องเรียนทางสังคมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิชาการและวิชาชีวิตผ่านทำโครงการ

“โอกาส” พัฒนาตน พัฒนาสังคม

“คนอื่นเขาอาจจะเห็นปัญหาเหมือนเรา แต่ที่เขาไม่กล้าลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหา อาจเป็นเพราะไม่ได้รับโอกาส ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเหมือนเรา แต่เพราะเราได้รู้จักโครงการนี้ทำให้เรามีพื้นที่ มีโอกาสมากกว่าคนอื่น และพวกเราเลือกที่จะไม่ปล่อยโอกาสนี้ไป อาสาเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องน้ำในมหาวิทยาลัย” คือคำบอกเล่าของทีมงานที่เห็นโอกาสเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัย

เมื่อย้อนถามถึงจุดเริ่มที่ทำให้พวกเขามาถึงวันนี้ได้ ทีมงานบอกว่า เพราะมีโอกาสเข้าไปช่วยงานพี่เอิร์ธ- วิกรม นันทวิโรจน์สิริ รุ่นพี่ปีที่แล้วในมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกเมื่อปีที่ผ่านมา เห็นเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและส่วนรวม จึงถามพี่เอิร์ธถึงที่มาที่ไปของโครงการและวิธีการทำงาน

“เห็นกระบวนการระดมความคิด การนำกระบวนของพี่เลี้ยงก็รู้สึกสนใจ ยิ่งเห็นน้องๆ ที่เด็กกว่าเราทำโครงการเพื่อบ้านเกิด ยิ่งรู้สึกอยากทำ” เติ้ล บอก

ขณะที่ โฟม เสริมต่อว่า เห็นน้องหลายๆ โครงการคิดเรื่องการพัฒนาชุมชนตนเอง เราก็อยู่ในชุมชนเหมือนกัน แต่ชุมชนของเราเป็นมหาวิทยาลัย เลยอยากเข้าร่วมโครงการเพื่อจะได้นำวิธีคิด วิธีทำงานไปแก้ไขปัญหาในมหาวิทยาลัยบ้าง เมื่อต่างคนต่างมีเป้าหมายเดียวกัน สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แล้วจะทำโครงการเกี่ยวกับอะไรดี...

“พี่เลี้ยงโครงการชวนคิดถึงที่มาของน้ำเสียว่า จริงๆแล้วน้ำเสียมีสาเหตุมาจากไหน ทำเราได้รู้ว่า น้ำเสียมาจากพวกเราเอง ทำให้เราคิดต่อว่า พวกเราจะทำอะไรที่ยั่งยืนมากกว่าการโยนอีเอ็มบอลลงรางน้ำ ที่เป็นการแก้ปัญหาแค่ปลายเหตุ ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้”

ตั้งต้นสานต่อ...หญ้าสาน GEN 2

แม้จะเห็นประโยชน์ว่าการทำโครงการดีต่อตนเองและมหาวิทยาลัย แต่เพราะไม่เคยทำโครงการมาก่อน อาการไปไม่เป็นก็เกิดขึ้น จนอาจารย์อ๋อ-ฐิติมา เวชพงศ์ แนะให้ลองเดินสำรวจรอบ ๆ มหาวิทยาลัยดูว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่เราพอจะแก้ไขได้ ระหว่างเดินสำรวจได้กลิ่นน้ำเสีย ก็เกิดคำถามว่า น้ำเสียพวกนี้มาจากไหน ทำไมถึงส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงได้ขนาดนี้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำโครงการสำรวจสถานการณ์ของระบบรางน้ำทิ้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างแนวทางการจัดการระบบรางน้ำทิ้งเพื่อลดกลิ่นโดยการมีส่วนร่วม โดยมีอาจารย์อ๋อเป็นที่ปรึกษา

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็มีหลงทางกันบ้าง “หลังจากที่ได้ข้อสรุปว่าจะทำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำเสีย พวกเราก็ช่วยกันหาข้อมูลทั้งจากพี่เอิร์ธที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรางน้ำเสียไว้บ้างแล้ว และลงพื้นที่พูดคุยกับบุคคลากรที่ดูแลเรื่องรางน้ำทิ้ง หลังจากได้ข้อมูลมาคร่าวๆ แล้ว ก็มาเขียนแผนในกิจกรรมนับ 2 ยั่วให้คิด ยุให้ทำ ตอนแรกคิดจะทำอีเอ็มบอลบำบัดน้ำเสีย แต่พี่เลี้ยงโครงการชวนคิดถึงที่มาของน้ำเสียว่า จริงๆ แล้วน้ำเสียมีสาเหตุมาจากไหน พอนั่งคิดก็ได้รู้ว่า น้ำเสียมาจากพวกเราเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราคิดต่อว่า พวกเราจะทำอะไรที่ยั่งยืนมากกว่าการโยนอีเอ็มบอลลงรางน้ำ ที่เป็นการแก้ปัญหาแค่ปลายเหตุ ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ จนเป็นที่มาของโครงการนี้” เติ้ลกล่าว

เมื่อได้เป้าหมายแล้วว่า ต้องการแก้ปัญหารางน้ำทิ้งของมหาวิทยาลัย ก็มีเรื่องท้าทายมาให้คิดต่อว่า ทำอย่างไรคนในมหาวิทยาลัยจึงตระหนักและเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำ และรู้เหตุของการเกิดน้ำเสีย ระดมความคิดจนได้ข้อสรุปว่า จะจัดกิจกรรมสำรวจเส้นทางรางน้ำเสีย โดยกลุ่มมีเป้าหมายคือ นักศึกษา บุคลากร และบุคคลที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัย ให้มาร่วมกันเดินสำรวจว่าระบบรางน้ำมีอะไรบ้าง และน้ำเสียเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเดินสำรวจรางน้ำทิ้ง 2 ครั้ง และจัดเวทีระดมความคิดเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการจัดการน้ำทิ้งของมหาวิทยาลัยอีก 1 ครั้ง

เมื่อกิจกรรมที่คิดทำลงตัว ทีมงานเดินหน้าประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักศึกษาทุกชั้นปี จำนวน 50 คน ผ่านเฟซบุ๊ก และสื่อประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย แต่ระหว่างรออาสาสมัคร ทีมงานก็เตรียมแบ่งบทบาทหน้าที่และรูปแบบของการทำกิจกรรม มีทัวร์ทำหน้าที่ละลายพฤติกรรมผู้เข้าร่วมโครงการ ส่วนเติ้ลและโฟมทำหน้าที่เก็บข้อมูลตอนลงพื้นที่และดูภาพรวม เจชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมคิดและคุยเรื่องการใช้น้ำ

เมื่อถึงวันจริง อาสาสมัคร 150 คนพร้อมเข้าร่วมกิจกรรม แต่เพราะจำนวนผู้เข้าร่วมเกินเป้าไปมาก ทีมงานจึงต้องปรับแผนใหม่ให้รองรับกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น แม้จะสับสนปนตื่นเต้น ทีมงานก็สามารถรับมือได้จนกิจกรรมครั้งแรกผ่านไปด้วยดี

“จากเดิมที่คิดว่าจะทำกิจกรรมเช็คอินก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแบ่งกลุ่ม ทัวร์ที่รับผิดชอบสันทนาการจึงปรับแผนเป็นการละลายพฤติกรรมแทน หลังจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มลงพื้นที่สำรวจรางน้ำรอบมหาวิทยาลัย โดยแจกโจทย์คือ ให้ดูว่าในรางน้ำมีอะไรบ้าง เช่น ขยะ เศษใบไม้ จากนั้นให้เหล่าอาสาสมัครช่วยกันเก็บขยะจากข้างๆ รางน้ำขึ้นมาด้วย เป็นอุบายให้ช่วยทำความสะอาดมหาวิทยาลัยไปในตัว” เจ อธิบาย

เมื่อโจทย์พร้อมทีมงานพร้อม แถวเดินสำรวจรางน้ำรอบมหาวิทยาลัย 3 สายที่อิงจากเส้นทางหลักของรางน้ำทิ้งรอบมหาวิทยาลัย คือ อาคารเรียนรวม 1 ไปถึงอาคารคณะบริหาร มีเติ้ลและโฟมเป็นคนพาเดินสำรวจ เส้นที่สองจากคณะบริหารถึงอาคารเรียนรวม 2 ต่ายและทัวร์เป็นคนรับผิดชอบ และเส้นที่ 3 จากอาคารวิทยบริการไปจนถึงตึกโบราณคดี เส้นนี้มีเจเป็นคนพาเดินสำรวจ เวลา 16.00-18.00 น. บริเวณรางน้ำท้ิงรอบมหาวิทยาลัยจึงเต็มไปด้วยเหล่าอาสาสมัคร

เติ้ล บอกว่า หลังลงพื้นที่เพื่อสำรวจรางน้ำทิ้งแต่ละเส้นแล้ว ให้แต่ละสายนำข้อมูลกลับมาเขียนลงในฟลิปชาร์ต ทั้งสิ่งที่พบเห็นระหว่างลงพื้นที่ ความรู้สึกที่ได้รับ และข้อเสนอแนะที่อยากให้มีในครั้งต่อไป โดยข้อมูลส่วนใหญ่ที่พบคือ เศษใบไม้ และกิ่งไม้ร่วงอยู่ในรางน้ำทิ้งเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการทับถมของใบไม้ที่นำมาซึ่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วนข้อเสนอแนะผู้เข้าร่วมกิจกรรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับรางน้ำทิ้งให้มากกว่านี้ ซึ่งทีมงานก็ยอมรับว่า เป็นจุดอ่อนของทีมที่มีข้อมูลที่ไม่มากพอ ทำให้ทีมงานเห็นข้อบกพร่องของตนเอง และรีบแก้ไขเร่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับรางน้ำอย่างจริงจัง

สืบ ค้น ทำ

เมื่อเห็นจุดอ่อนของตัวเองคือ ข้อมูล ทั้งหมดตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปหารือกับอาจารย์อ๋อ และได้รับคำแนะนำให้เข้าไปพูดคุยกับบุคลากรที่ทำงานด้านการจัดการน้ำ คือพี่จืด-ชลากร ศัพทะเสรี หัวหน้างานสวนสนามและภูมิทัศน์ ที่มีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของระบบการจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัย และนำข้อมูลของพี่เอิร์ธมาศึกษาเพิ่มเติม จนได้ข้อมูลครบถ้วน

“ตอนแรกพวกเราไม่รู้เลยว่าบ่อพักน้ำเหล่านี้ใช้ทำอะไร รู้แค่ว่าเป็นบ่อน้ำ ไม่รู้ประโยชน์ของมัน แต่หลังจากที่เราเริ่มศึกษาข้อมูลทำให้เราเห็นประโยชน์ของมันมากขึ้น เวลาใครถามเรื่องของรางน้ำทิ้งตอนนี้เราสามารถตอบได้หมด” ทัวร์ เล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเริ่มเห็นความสำคัญของระบบรางน้ำทิ้ง

1 เดือนผ่านไป ด้วยภาระการสอบ ทีมงานจึงต้องเว้นว่างการทำโครงการระยะหนึ่ง แม้จะไม่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ทีมงานยังคงพูดคุยและวางแผนกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ จนการสอบผ่านพ้นไป กิจกรรมครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ทีมงานอยากได้อาสาสมัครที่สนใจทำกิจกรรมจริงๆ จึงประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กอย่างเดียว ตั้งเป้าไว้ที่ 30 คน แต่มีคนสนใจเพียงแค่ 16 คน การลงพื้นที่สำรวจครั้งที่ 2 จึงเน้นไปที่การพาอาสาสมัครเดินสำรวจรางน้ำทิ้งบริเวณหอพักนักศึกษาตั้งแต่หอ 3 ไปจนถึงหอพัก 6 และผ่านโรงอาหารหอ 2 ที่เป็นรางน้ำทิ้งโดยตรง ส่วนรูปแบบการลงพื้นที่สำรวจยังคงเดิมคือ ดูสิ่งที่อยู่รอบ ๆ รางน้ำ และในรางน้ำ

เพราะเรียนสาขาการจัดการชุมชน ทีมงานจึงเลือกใช้แผนที่เดินดินเป็นเครื่องมือในการสำรวจรางน้ำทิ้งในครั้งนี้ด้วย เพื่อช่วยให้ทุกคนเห็นภาพรวมของการสำรวจว่า พบเจออะไร ตรงไหน อย่างไร และระหว่างเดินสำรวจอาสาสมัครบางส่วนถามถึงที่มาของปัญหาน้ำเสียว่ามาจากไหนอย่างไร ทีมงานใช้โอกาสนี้ชวนเหล่าอาสาสมัครคิดต่อว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาน้ำเสียเกิดจากอะไร มหาวิทยาลัยหรือนักศึกษากันแน่ที่เป็นคนทำให้เกิดปัญหานี้ พอทีมงานกระตุกคิดด้วยคำถามเช่นนี้ ทำให้หลายคนเริ่มเข้าใจที่มาของปัญหาน้ำเสียในรางน้ำทิ้งมากขึ้น และบางคนก็บอกว่า จากเดิมก็แค่เห็นแต่ไม่ได้สนใจว่ารางน้ำทิ้งคืออะไร แต่วันนี้เขารู้จักระบบรางน้ำทิ้งมากขึ้น ซึ่งถือว่าบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

และเพื่อให้การทำโครงการต่อเนื่อง หลังจบกิจกรรมครั้งที่ 2 ไม่นาน ทีมงานจัดเวทีค้นหาแนวทางการจัดการรางน้ำทิ้ง โดยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าร่วมในครั้งนี้เป็นทั้งนักศึกษา บุคลากร และพ่อค้าแม่ค้าในโรงอาหาร จำนวน 30 คน ทีมงานบอกว่า คาดหวังกับกิจกรรมครั้งนี้มาก แต่สุดท้ายมีผู้สนใจเข้าร่วมเพียง 14 คน เป็นนักศึกษา 10 คน แม่ค้า 3 คน และบุคลากร 1 คน ถึงแม้จำนวนคนจะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่สามารถทำลายความตั้งใจของพวกเขาได้

“ยอมรับว่าใจแป้วเหมือนกัน ที่เห็นเข้าร่วมน้อย เพราะวางแผนรองรับคนไว้เยอะมาก ตั้งแต่หน้าประตูห้องที่ออกแบบให้คนมาถ่ายรูปกับบอร์ดที่เราจัด มีการทำวิดีโอประมวลกิจกรรมการลงพื้นที่ที่ผ่านมา เมื่อผู้เข้าร่วมไม่ถึงเป้าจึงปรับแผนกันนิดหน่อย แบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คละกันทั้งนักศึกษา บุคลากร และแม่ค้า โดยมีทีมหญ้าสานเข้าไปร่วมกลุ่มด้วย” ทัวร์ เล่ารายละเอียด

เติ้ล เล่าว่า กระบวนการค้นหาแนวทางในการจัดการระบบรางน้ำทิ้งทำผ่านฟลิปชาร์ต จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการระดมความคิดทั้งหมดมาจัดกลุ่มออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1.การใช้น้ำ โดยผู้เข้าร่วมเสนอว่า การใช้น้ำอย่างประหยัดน่าจะเป็นแนวทางในการจัดการระบบรางน้ำทิ้งได้ดีที่สุด 2.การทิ้งขยะให้ถูกที่เพื่อป้องกันไม่ให้เศษขยะลอยลงไปในรางน้ำทิ้งที่นำมาซึ่งปัญหาน้ำเสีย และ 3.การมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากรในการดูแล และทำความสะอาดรางน้ำทิ้ง หลังจากได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดการระบบรางน้ำทิ้งครบทั้ง 3 ประเด็นแล้ว ทีมงานจัดการคืนข้อมูลให้มหาวิทยาลัย โดยจัดทำเป็นเอกสารสรุปกิจกรรมการทำโครงการยื่นต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ดาวลอย กาญจนมณีเสถียร รองอธิการบดีของวิทยาเขตเพชรบุรี

“สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องของวิธีคิด จากเดิมที่ไม่เคยคิดทำงานเพื่อส่วนรวม คิดแต่ทำงานให้เสร็จเท่านั้น แต่โครงการนี้ทำให้เข้าใจว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องมองที่เป้าหมายอย่างเดียว แต่ระหว่างทางคือประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีค่ายิ่ง นอกจากนี้เธอยังได้นำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการไปปรับใช้ในการเรียนด้วย”

ปัญหาถูกแก้...คนถูกเปลี่ยน

หลังจากยื่นเอกสารคืนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการจัดการระบบรางน้ำทิ้งให้กับมหาวิทยาลัยได้ไม่นาน ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำการลอกท่อระบายน้ำที่อยู่รอบมหาวิทยาลัย จากเดิมที่เคยมีการลอกน้ำทิ้งเทอมละครั้ง ก็เปลี่ยนเป็นเดือนละ 2 ครั้ง รางน้ำทิ้งที่เคยมีเศษกิ่งไม้และขยะทับถมอยู่ในรางน้ำ จนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรบกวน แต่ ณ ปัจจุบันรางน้ำทิ้งรอบมหาวิทยาลัยปราศจากกิ่งไม้ และเศษขยะ กลิ่นเหม็นที่เคยส่งกลิ่นคุกคามเวลาเรียนก็ลดน้อยลงตามไปด้วย

ไม่เพียงแค่รอให้มหาวิทยาลัยเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่ทีมงานมองว่า มหาวิทยาลัยก็คือชุมชน เราเป็นคนในชุมชนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วยเช่นกัน จึงใช้เวลาหลังเลิกเรียนในรายวิชาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหา และแนวทางในการจัดการระบบรางน้ำทิ้งผ่านวิดีโอ และรูปภาพของบ่อน้ำที่แห้งสนิทเพื่อให้เห็นสถานการณ์ของวิกฤติน้ำในมหาวิทยาลัย ที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันประหยัดน้ำ ผลจากการให้ข้อมูลในครั้งนั้น ทำให้เพื่อนบางกลุ่มเกิดการตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลตอบรับที่ดีของการทำโครงการ

ไม่ใช่แค่เพียงมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลง ทีมงานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

“แต่ก่อนตอนอยู่หอใน เราใช้น้ำฟรี จึงมักไม่ค่อยเห็นค่าของน้ำมากเท่าไหร่ บางครั้งก็เปิดน้ำทิ้งไว้แล้วไปเล่นเกม โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่เราทำจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง โครงการนี้ทำให้เราเห็นที่มาของน้ำที่เราใช้ ทำให้เราเห็นคุณค่าของน้ำมากขึ้น ถึงตอนนี้เราจะย้ายมาอยู่หอข้างนอกแล้วแต่พฤติกรรมการประหยัดน้ำของเราถูกฝังติดตัวไปแล้ว” ทัวร์บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่เปลี่ยนวิธีคิดและเห็นความสำคัญของน้ำมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เขาเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือในการลงพื้นที่มากขึ้น

“แม้จะเรียนการจัดการชุมชนอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเครื่องมือสำคัญกับการลงพื้นที่อย่างไร เช่น แต่ก่อนไม่เห็นความสำคัญว่าไทม์ไลน์มีประโยชน์อย่างไร แต่โครงการนี้ทำให้เขารู้ว่าเครื่องมือไทม์ไลน์สามารถนำพาเขาและคนในพื้นที่ย้อนกลับไปค้นหาที่มาที่ไปของชุมชนได้ ยิ่งเมื่อมีโอกาสนำความรู้เรื่องการใช้ไทม์ไลน์ไปนำเสนอให้กับหน่วยงานที่ฝึกงานใช้เป็นเครื่องมือลงพื้นที่เก็บข้อมูล จึงยิ่งภูมิใจที่ได้มีโอกาสขยายผลความรู้”

ส่วนเติ้ล บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอคิดเป็นระบบมากขึ้น สามารถคิดเชื่อมโยงได้ว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วผลที่เกิดจะเป็นอย่างไร ที่เป็นแบบนี้เพราะพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ คอยกระตุ้นให้คิดอยู่ตลอดเวลา ชวนให้เธอมองอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากเข้าร่วมโครงการน่าจะเป็นเรื่องของการเรียนที่ดีขึ้นมาก

“เพราะเรามีความรับผิดชอบมากขึ้นและเข้าใจว่าการเรียนไม่ใช่การเรียนเพื่อจำ แต่เราเรียนเพื่อเข้าใจ เพื่อให้คิดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งข้อสอบส่วนใหญ่ที่เราทำจะเป็นข้อสอบเชิงคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง ผลที่ได้จากโครงการนี้ติดตัวมาคือ การคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง จึงทำให้เราทำข้อสอบได้ดีขึ้น จากแต่ก่อนแทบจะไม่คิดเลยด้วยซ้ำ แต่โครงการนี้ทำให้เราหยุดที่จะคิดก่อนจะเขียนคำตอบออกไป” เติ้ลเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเธอในการทำข้อสอบให้ฟัง

ในขณะที่โฟม บอกว่า เดิมเขาไม่เคยสนใจสิ่งรอบตัวเลย แต่โครงการนี้ทำให้เขาเห็นว่าตัวเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงสำหรับเขาคือ ทักษะการพูด ที่แต่ก่อนไม่ค่อยพูดกับใคร การเข้าร่วมกิจกรรมนับ 1-5 ทำให้เขาก้าวผ่านความกลัว และกล้าที่จะพูดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบกิจกรรมที่มักจะคละกลุ่มกัน บ่อยครั้งที่เขาได้อยู่กับกลุ่มน้องๆ ที่ไม่ค่อยกล้าพูดเหมือนกัน แต่เพราะเป็นพี่ใหญ่เขาจึงต้องอาสาพูดแทนน้อง ๆ เมื่อเป็นแบบนี้บ่อย ๆ จึงกล้าพูดไปโดยปริยาย ซึ่งเขาสามารถนำไปปรับใช้ในรายวิชาที่เกี่ยวกับการพูดในที่สาธารณะได้อีกด้วย

ส่วนเจ มองว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องของวิธีคิด จากเดิมที่ไม่เคยคิดทำงานเพื่อส่วนรวม คิดแต่ทำงานให้เสร็จเท่านั้น แต่โครงการนี้ทำให้เธอคิดว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องมองที่เป้าหมายอย่างเดียว แต่ระหว่างทางคือประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีค่ายิ่ง แม้สิ่งที่ทำจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้เธอยังบอกว่า ได้นำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการไปปรับใช้ในการเรียนจนส่งผลให้เกรดดีขึ้นด้วย

“เพราะเราใช้ความเข้าใจมากขึ้น เวลาที่อ่านหนังสือแต่ก่อนจะใช้แต่การจำ จำว่าตรงนี้ หน้านี้จะออกข้อสอบแต่หลังจากที่เข้าร่วมโครงการทำให้เราเรียนรู้ว่า เราต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าใช้ความจำ ทำให้เราทำข้อสอบได้

โอกาสของการฝึกฝน

อาจารย์อ๋อ-ดร.ฐิติมา เวชพงศ์ ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า โครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ สอดคล้องกับรายวิชาที่ต้องลงชุมชน เป็นการฝึกประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน การได้พบเจอผู้คนที่ มากหน้าหลายตา การเติมเต็มความรู้จากพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ และการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนเยาวชนเครือข่ายภาคตะวันตก ล้วนหนุนเสริมประสบการณ์ทั้งทักษะการฟัง การพูด และการคิดเชิงระบบของนักศึกษาที่สามารถนำกลับมาปรับใช้กับการเรียนได้เป็นอย่างดี

“การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเริ่มจากเห็นปัญหา ลงมือทำ ทำเสร็จแล้วมาทบทวนว่าดีหรือไม่ดี แล้วนำกลับมาแก้ไข และลงทำใหม่อีกครั้ง ขั้นตอนเหล่านี้เป็นการฝึกที่เพิ่มพูนขึ้นจากในห้องเรียน เพราะการฝึกในห้องเรียนอาจจะยังไม่เพียงพอ แต่โครงการนี้ทำให้เขาได้ฝึกจากของ นักศึกษาจึงพัฒนาการดีขึ้น”

อาจารย์อ๋อ บอกต่อว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่เรียนเก่ง เรียบร้อย แต่มีใจอยากทำอะไรเพื่อคนอื่น เมื่อได้เข้ามาทำโครงการสิ่งที่เปลี่ยนอย่างแรกคือ กล้าที่นำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด และกล้าที่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เมื่อเปิดความกล้าแล้วความกลัวในตัวก็หมด ที่เห็นชัดเลยคือ เจกับเติ้ล ที่มีของเยอะ พอเขาได้ถูกฝึกประสบการณ์เหล่านี้เลยเติมเต็มความมั่นใจให้เขามากขึ้น ความกลัวลดลง กล้าพูด กล้านำเสนอให้ห้องเรียน ส่วนทัวร์ ก็สามารถเชื่อมโยงกระบวนการทำโครงการและความรู้จากชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี ยิ่งเขาได้ไป ฝึกงาน การได้เห็นของจริง ยิ่งทำให้เขาต่อยอดพัฒนางานได้ไม่ยาก

ขณะที่โฟม ปกติเป็นเด็กหลังห้องแต่หลังจากทำโครงการเขาขยับตัวมาอยู่หน้าห้อง คอยช่วยเหลือและเกื้อหนุนเพื่อน ๆ ต่ายเองด้วยบทบาทที่เป็นผู้นำห้องอยู่แล้ว ด้วยความที่อาจารย์ส่วนใหญ่ไว้ใจ จึงมีกิจกรรมให้รับผิดชอบเยอะ แต่โครงการนี้มาเติมเต็มประสบการณ์ให้เขามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล

อาจารย์อ๋อ ย้ำว่า โครงการนี้ช่วยเติมเต็มคำว่านักจัดการชุมชนให้สอดรับกับทฤษฎี ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจคำว่า “นักจัดการชุมชน” ที่ไม่ได้มีหน้าที่ไปจัดการใครในชุมชน แต่มีหน้าที่เกื้อหนุนให้ชุมชนมีโอกาสพัฒนาด้วยเครื่องมือพัฒนาชุมชนที่มีพวกเขามีอยู่

และนี่คือบทพิสูจน์ของคำกล่าวที่ว่า “การเรียนรู้จากการลงมือทำ คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” เพราะไม่เพียงแต่เกรดจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ทักษะชีวิตจากการทำโครงการที่สอนให้คิดเป็น ทำเป็น คือสิ่งที่ตอกย้ำว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ คือประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง ที่จะช่วยสร้างคนให้เป็นคนคุณภาพที่มีทั้งวิชาความรู้และวิชาชีวิตซึ่งเป็นที่ต้องการต้องการสังคม


โครงการสำรวจสถานการณ์ของระบบรางน้ำทิ้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างแนวทางการจัดการระบบรางน้ำทิ้งเพื่อลดกลิ่นโดยการมีส่วนร่วม

ที่ปรึกษาโครงการ : ดร.ฐิติมา เวชพงศ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ทีมทำงาน : นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

  • ประดิษฐา แก้วเลิศศรี
  • สุรางค์ พงษ์ดำ
  • สิเหมือนฝัน เพ็ชรทอง
  • สุภเกียรติ อยู่สำราญ
  • วีรภัทร ชำนาญไพร