การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษารูปแบบการเรียนการสอนและทักษะการดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล จังหวัดเพชรบุรี ปี 2

จากจิตอาสาถึงสำนึกพลเมือง

โครงการศึกษาพฤติกรรมเด็กโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูลสู่การสร้างระบบอาสาสมัครที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล และมหาวิทยาลัยศิลปากร


การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเป็นแนวทางที่ดีในการฝึกความกระตือรือร้น การจัดการเวลา และการวางแผน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้ ขณะเดียวกันการทำกิจกรรมก็ทำให้มีพื้นที่ในการทดลองใช้วิชาภาคทฤษฎีจากห้องเรียนไปสู่การปฏิบัติจริง ดังนั้นทั้ง 2 อย่างทำพร้อมกันได้

โรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นโรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทั้งหมด ทั้งแบบประจำและไปกลับ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นสถานที่ที่มีผู้ใจบุญเข้ามามอบสิ่งของและเลี้ยงอาหารเสมอ แต่โรงเรียนก็ยังขาดแคลนบุคลากรดูแลนักเรียน

จากประสบการณ์ที่เคยช่วยรุ่นพี่ทีมหญ้าสานจัดซุ้มนิทรรศการนำเสนอในงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกปีที่ผ่านมา คือจุดเริ่มต้นให้จูน-ปัทมา มุกดาม่วงสนใจโครงการที่แตกต่างจากการทำกิจกรรมรูปแบบเดิมๆ ในมหาวิทยาลัย เมื่อ อาจารย์อ๋อ-ฐิติมา เวชพงศ์ ชักชวนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปีที่ 2 เธอจึงตอบตกลงทันที แล้วเริ่มรวบรวมสมาชิก โดยชวนน้ำตาล-บัวนัดดา สุขชาตะ รุ่นพี่ทีมหญ้าสานปีแรกเข้าร่วมทีมก่อน เพราะเห็นว่าน่าจะมีประสบการณ์ดีๆ ช่วยแนะนำการทำงานได้ จากนั้นชักชวน คาม-นวคาม งามสม เอ้-กรวรรณ ม่วงลับ และหมิว-นงลักษณ์ สืบนาค เข้าร่วมทีม โดยทุกคนให้เหตุผลว่า เป็นเพราะต้องการฝึกทักษะและประสบการณ์ชีวิตแบบที่หาไม่ได้ในมหาวิทยาลัย

จูน บอกต่อว่า ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำโครงการอะไร พอดีพี่ปอม-กันทรากร จรัสมาธุสร ที่ปรึกษาโครงการ ชวนคิดว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีจะจัดกิจกรรมจิตอาสาให้นักศึกษาเข้าไปเลี้ยงอาหารกลางวัน และมอบสิ่งของให้น้องนักเรียนเป็นประจำ แต่เป็นกิจกรรมสั้นๆ เพียง 1 วัน ลองคิดดูว่า พวกเราจะสามารถเข้าไปทำกิจกรรมที่แตกต่างจากเดิมได้หรือไม่อย่างไร ประกอบกับพวกเราไม่ค่อยรู้จักชุมชนแถวนี้ดีพอ จึงคิดว่าเข้าไปทำโครงการในโรงเรียนเพชรบุรีปัญญาณุกูลน่าจะดีกว่า เพราะพอคุ้นชินกับที่นี่อยู่บ้าง

จึงเกิดเป็นโครงการศึกษาพฤติกรรมเด็กโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูลสู่การสร้างระบบอาสาสมัครที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล และมหาวิทยาลัยศิลปากร

“จริงๆ แล้วน้องไม่ได้ผิดปกติ สิ่งที่น้องเป็นคือภาวะปกติของเขา เหมือนที่เรามีภาวะปกติของเรา ต่างคนต่างปกติกันคนละแบบ ทำให้เราเข้าใจว่า ถ้าจะทำกิจกรรมให้น้องก็ควรปรับทัศนคติที่เคยมีและเริ่มเรียนรู้น้องให้มากขึ้น”

ทดลองท้าทายตัวเอง

เมื่อมีข้อสรุปออกมาว่าจะไปทำโครงการที่โรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล สมาชิกในทีมแต่ละคนกลับค่อนข้างกังวล เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ไม่น่าพิสมัยขณะเข้าไปทำกิจกรรมตอนอยู่ชั้นปีที่ 1

“หนูเป็นคนไม่ชอบเด็กอยู่แล้ว ยิ่งน้องไม่เหมือนเด็กทั่วไป ยิ่งกลัวว่าจะทำกิจกรรมกันไม่รู้เรื่อง ก่อนเข้าไปที่โรงเรียนจึงลังเลใจอยู่ว่าจะไปดีไหม” จูน เล่า

สุดท้ายความลังเลของทีมงานก็ถูกสรุปด้วยคำพูดสั้นๆ ที่ทรงพลังว่า “ลองทำ” เพราะเห็นว่านี่คือความท้าทายและการก้าวข้ามความรู้สึกของตัวเองครั้งใหญ่

ด้วยยังไม่มีเป้าหมายการทำงานชัดเจน การลงพื้นที่ครั้งแรกของทีมงานจึงเป็นเพียงการลงไปดูสถานการณ์และปัญหาที่โรงเรียนประสบอยู่ เพื่อประเมินว่าศักยภาพของพวกเขาจะช่วยเหลือเรื่องใดได้บ้าง เมื่อไปถึงโรงเรียนพบน้องๆ ไม่กี่คน เนื่องจากเป็นเวลาเรียน จึงไปพูดคุยกับครูเล็ก-พิทักษ์ สุระชาติถึงปัญหาใหญ่ที่โรงเรียนประสบอยู่คือ มีครูไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน และนักเรียนมักหลงลืมทักษะชีวิตที่โรงเรียนสอนเมื่อกลับไปอยู่บ้าน เช่น ผูกเชือกรองเท้า ตักข้าวกินเอง ทำให้ครูต้องสอนซ้ำไปซ้ำมา

เมื่อรู้ปัญหา ทีมงานคิดตรงกันว่า น่าจะช่วยแก้ปัญหาการลืมทักษะชีวิตของน้อง ด้วยการทำสื่อสอนทักษะเพื่อเน้นย้ำความจำของน้อง แม้การสร้างสื่อดังกล่าวจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทาง ที่อาจยากเกินไปสำหรับทีมงานที่ไม่ได้เรียนการศึกษาพิเศษมาโดยตรง แต่เมื่อประเมินศักยภาพของทีมงานแล้วคิดว่าสามารถทำได้

นอกจากได้เป้าหมายการทำโครงการแล้ว การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังทำให้ทีมงานเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเด็กพิเศษอีกด้วย จูนเล่าว่า หลังคุยกับครูเล็กเสร็จ ความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อเด็กพิเศษเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากคำพูดหนึ่งของครูว่า จริงๆ แล้วน้องไม่ได้ผิดปกติ สิ่งที่น้องเป็นคือภาวะปกติของเขา เหมือนที่เรามีภาวะปกติของเรา ต่างคนต่างปกติกันคนละแบบ ทำให้เราเข้าใจว่า ถ้าจะทำกิจกรรมให้น้องก็ควรปรับทัศนคติที่เคยมีและเริ่มเรียนรู้น้องให้มากขึ้น

เมื่อรับรู้และเข้าใจภาวะดังกล่าว ทีมงานจึงมุ่งมั่นกับการทำโครงการมากกว่าเดิม ตั้งต้นพูดคุย พร้อมหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำสื่อสอนทักษะชีวิต ด้วยหวังว่าหากทำสำเร็จ จะเอื้อประโยชน์ต่อน้องเมื่อต้องออกไปอยู่ในสังคมภายนอก สามารถพึ่งพาตัวเองและปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้

ทีมงานลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อขอคำแนะนำในการทำสื่อสอนทักษะเพิ่มเติม ครูเล็กจึงช่วยติดต่อให้เข้าพบกับอาจารย์อังคณา พลังกรู รองผู้อำนวยการโรงเรียน และครูเหมี่ยว-ธัญวรัชย์ ศิลปะวิสุทธิ์ คุณครูฝ่ายวิชาการ ที่มีประสบการณ์สอนเด็กพิเศษมายาวนานแนะนำให้ทำสื่อการเรียนการสอนรายวิชา เนื่องจากสื่อเก่าที่มีอยู่ไม่น่าสนใจ และไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน เพราะการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้ได้ผล ทีมงานต้องทำสื่อให้เด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งยากมาก ประกอบกับข้อจำกัดของโรงเรียนที่ไม่อนุญาตให้ขึ้นอาคารเรียน เพราะเกรงว่าจะรบกวนการเรียนการสอน ทำให้ทีมงานไม่มีข้อมูลพฤติกรรมน้องมาใช้ทำสื่อ จึงต้องเปลี่ยนเป้าหมายใหม่อีกครั้ง

“สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานคือ “ความเอาใจใส่” ที่ต้องมีในทุกขั้นตอนการทำงาน ทั้งค้นหาข้อมูล ลงมือทำงาน ตรวจทานความสมบูรณ์ อันจะทำให้ชิ้นงานนั้นออกมาดี”

ความพยายามคือบทพิสูจน์

เมื่อได้รับคำแนะนำจากครูในโรงเรียน ทีมงานจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการสังเกตพฤติกรรมของน้อง และจัดทำคู่มือการดูแลลูกแก่ผู้ปกครองแทน เพื่ออุดช่องว่างของการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องระหว่างที่บ้านและที่โรงเรียน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการขึ้นอาคารเรียน ทีมงานก็ไม่ท้อ พยายามมองหาโอกาสของการเรียนรู้เกี่ยวกับเด็กพิเศษ ใช้วิธีสังเกตการใช้ชีวิตทั่วไปในโรงเรียนของเด็กและสอบถามกับบุคลากรในโรงเรียนว่าน้องมีนิสัยและพฤติกรรมอย่างไร

แต่เมื่อได้เข้าร่วมเวทีนับ 2 ยั่วให้คิด ยุให้ทำ พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ชวนทีมงานทบทวน และวางแผนการทำงานให้ชัดเจนขึ้น ทำให้ทีมงานต้องเปลี่ยนเป้าหมายอีกครั้ง เป็นการสร้างระบบอาสาสมัครสำหรับนักศึกษา มศก. เพชรบุรีที่ต้องการเข้าไปทำกิจกรรมกับทางโรงเรียนให้มีแนวทางการช่วยเหลือโรงเรียนอย่างถูกต้อง เพราะมองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าการจัดทำคู่มือที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง และน่าจะให้ประโยชน์ที่ยั่งยืนกับโรงเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดจนผู้ใจบุญที่อยากมีส่วนช่วยเหลือโรงเรียน แต่ครูในโรงเรียนไม่เห็นด้วย และเพื่อให้งานเดินหน้า ทีมงานจึงกลับมาทำสื่อรายวิชาตามที่คุณครูในโรงเรียนแนะนำ

เมื่อตกลงว่าจะทำสื่อรายวิชา ทีมงานจึงเริ่มค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต สื่อที่เคยคิดว่าทำได้ง่ายๆ ไม่ง่ายดังคิด เพราะมีรายละเอียดหลายอย่างที่ละเลยไม่ได้ เช่น ลักษณะการใช้สีที่โดดเด่น หรือภาพประกอบที่ต้องมีขนาดใหญ่มากพอ เพื่อให้เด็กมองเห็นชัดเจน เป็นต้น แต่ทีมงานก็พยายามทำจนสื่อเสร็จสมบูรณ์ นำไปให้คุณครูทดลองใช้จริงกับน้องๆ โดยมีพวกเขาคอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ภายในห้องเรียน ซึ่งทำให้ทีมงานได้รับบทเรียนว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานคือ “ความเอาใจใส่” ที่ต้องมีในทุกขั้นตอนการทำงาน ทั้งค้นหาข้อมูล ลงมือทำงาน ตรวจทานความสมบูรณ์ อันจะทำให้ชิ้นงานนั้นออกมาดี

“เราปรับสื่อกันหลายรอบมากกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ แต่พอลองนำไปใช้จริงแล้ว ภาพที่คิดว่าใหญ่สำหรับเรา กลับเล็กเกินไปสำหรับน้อง หรือใส่รูปไก่ที่ไม่ใช่แบบที่น้องเคยเรียน น้องก็มองไม่ออกว่าเป็นไก่ เพราะน้องต้องจำไก่ตัวเดียวกับที่เขาเคยเรียน เขาถึงจะรู้ว่านั่นคือ ก.ไก่ ทำให้เรารู้ตัวเลยว่า เราศึกษาข้อมูลมาไม่ลึกมากพอ” เอ้ เล่า

หลังจากนั้น ทีมงานลองขออนุญาตครูประจำชั้นพูดคุยกับน้องและทำกิจกรรมสันทนาการ โดยไม่คาดคิดว่าจะนำไปสู่โอกาสครั้งใหญ่ เมื่อครูเหมี่ยวเปิดโอกาสให้พวกเขาชักชวนเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยมาทำกิจกรรมกับน้อง เพราะเห็นความตั้งใจจริงที่อยากช่วยเหลือโรงเรียนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

การได้รับโอกาสจากครูเหมี่ยวในครั้งนี้ เป็นความสำเร็จที่มีความหมายกับทีมงานเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ทีมงานรู้ว่า ความพยายามด้วยความจริงใจคือมาตรวัดความตั้งใจที่เห็นผลชัดเจนที่สุด อีกประการคือ การขยับงานต่อจากนี้จะสะดวกขึ้น เพราะความสัมพันธ์กับโรงเรียนที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นกำลังใจให้ทีมงานมีแรงทำโครงการต่อไป

“ทีมงานกลับมาถอดบทเรียนความรู้สึกของอาสาสมัครที่มีต่อน้องๆ ได้รับคำตอบว่า จากที่เคยคิดว่าน้องไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเอง กลับพบว่าน้องแต่ละคนมีความสามารถ และความเก่งเฉพาะตัว ทำให้อาสาสมัครเกิดความรู้สึกดีๆ และอยากมาช่วยกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีชั่วโมง กยศ. เป็นผลตอบแทนก็ตาม”

อาสาสร้างสื่อเพื่อการเรียนรู้

เมื่อได้ทำกิจกรรมตามความตั้งใจ ทีมงานตั้งต้นด้วยการเปิดรับสมัครเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยออกแบบสื่อการเรียนการสอน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 20 คน ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านโปสเตอร์และเฟซบุ๊ก แต่ปรากฏว่าไม่มีคนสมัคร ทีมงานจึงใช้วิธีเพิ่มการให้ชั่วโมง กยศ. เพื่อดึงดูดเพื่อนนักศึกษาให้สนใจเข้าร่วม กระทั่งได้อาสาสมัครประมาณ 10 กว่าคน จากหลายวิชาเรียน เช่น ICT สัตวศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนให้อาสาสมัครเริ่มงาน ทีมงานได้ชี้แจงที่มาที่ไปและเป้าหมายการทำโครงการให้เหล่าอาสาสมัครฟัง เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้องานให้ตรงกัน แล้วทำการอบรมความรู้เรื่องสื่อที่เหมาะสมกับเด็กพิเศษ ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์การทำสื่อของตัวเอง และเปิดโอกาสให้อาสาสมัครแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับน้องๆ โรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล เพื่อใช้ไปเปรียบเทียบหลังทำกิจกรรมเสร็จ ซึ่งอาสาสมัครส่วนใหญ่รู้สึกไม่ต่างจากพวกเขาตอนที่ยังไม่ได้ลงไปคลุกคลีที่โรงเรียน จากนั้นจึงแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่มตามช่วงชั้นเรียนของน้อง ได้แก่ อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ส่วนทีมงานกระจายตัวลงไปแต่ละกลุ่ม เพื่อช่วยดูแลให้คำแนะนำ

ทีมงานบอกว่า สื่อที่อาสาสมัครทำออกมาดูน่ารักและน่าสนใจมาก โดยสื่อของชั้นอนุบาลจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสี ลักษณะเป็นภาพวาดที่ให้น้องช่วยกันระบายสี จากนั้นนำไปแปะบนฟิวเจอร์บอร์ด แล้วให้น้องๆ ช่วยกันดูว่าเป็นสีอะไร ส่วนชั้นประถมศึกษา ทำสื่อนิทานมีพี่เป็นคนเล่าและตั้งคำถามจากนิทานกับน้องๆ เพื่อกระตุ้นให้น้องคิดตามและสนุกกับการเรียน สำหรับระดับมัธยมศึกษา เป็นสื่อวิชาภาษาอังกฤษ ในรูปแบบจิ๊กซอว์ที่น้องต้องช่วยกันต่อ แล้วหยิบคำศัพท์ที่ตรงกับภาพมาจับคู่กัน

ทว่าพอนำสื่อไปทดลองใช้ในห้องเรียน กลับไม่ได้รับความสนใจจากน้องตามที่คาดหวัง เพราะน้องแต่ละคนมีความชอบต่างกัน ทีมงานและเหล่าอาสาสมัครจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเปลี่ยนมาใช้สื่อของโรงเรียน แล้วให้พี่ๆ เข้าไปชวนน้องทำกิจกรรมเป็นรายคน เช่น เล่นกีฬา ระบายสี หรืออ่านหนังสือ

เอ้เล่าความรู้สึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “นักเรียนในโรงเรียนจะมี 3 แบบ คือ ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และ LD ซึ่งเรียนรวมอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ชอบเรียนสื่อคนละตัว ครูจะรู้ว่าเด็กคนไหนชอบอะไร แล้วเลือกสื่อให้ตรงกับความสนใจ”

สื่อเดียวที่ใช้ได้ผลคือชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเห็นชัดว่าน้องสนุกสนานกับการได้หยิบจับจิ๊กซอว์ และเคลื่อนไหวร่างกายในการเดินไปหยิบบัตรคำศัพท์มาจับคู่กับภาพ ที่สำคัญคือ เกิดการสร้างความสัมพันธ์ภายในห้อง จากเงื่อนไขของพี่ๆ ที่ให้คนไม่รู้ลุกไปหยิบบัตรคำศัพท์ ส่วนคนที่รู้คอยบอกเพื่อนว่าให้เดินไปหยิบอันไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กพิเศษจำเป็นต้องฝึกฝน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ในอนาคต

เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น คุณครูประจำชั้นมัธยมศึกษาได้ขอสื่อของพวกเขาไว้สอนต่อ เพราะชื่นชอบที่สื่อเพียงตัวเดียวสามารถดึงนักเรียนทั้งหมดมาเรียนรู้ร่วมกันได้ ทำให้คุณครูจัดการเรียนการสอนสะดวกขึ้น นอกจากนั้นยังบอกเพิ่มว่า ครั้งต่อไปให้ชวนอาสาสมัครมาร่วมเรียนรู้ด้วยกันอีก สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนเปิดรับและเชื่อมั่นในตัวทีมงานมากขึ้น

หลังจากนั้น ทีมงานกลับมาถอดบทเรียนความรู้สึกของอาสาสมัครที่มีต่อน้องๆ ได้รับคำตอบว่า จากที่เคยคิดว่าน้องไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเอง กลับพบว่าน้องแต่ละคนมีความสามารถ และมีความเก่งเฉพาะตัว ทำให้อาสาสมัครเกิดความรู้สึกดีๆ และอยากมาช่วยกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีชั่วโมง กยศ. เป็นผลตอบแทนก็ตาม

“เมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก พอมาทำโครงการนี้ต้องพูดมากขึ้น เพราะถ้าไม่แสดงความคิดเห็นกับเพื่อน งานก็ไม่เดิน และสถานการณ์เวลาลงพื้นที่หรือร่วมเวทีเวิร์กช็อปจะมีเงื่อนไขบังคับให้เราต้องกล้า ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้กับชีวิตได้ทั้งตอนนี้ และเป็นประสบการณ์สำหรับชีวิตข้างหน้า”

จากจิตอาสาถึงสำนึกพลเมือง

ผลการทำงานโครงการลุล่วงไปด้วยดี จากความพยายามของทีมงานที่แม้ย่อท้อแต่ไม่เคยละทิ้งความตั้งใจ จนค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นในเนื้อในตัว เริ่มจากทัศนคติที่เคยมีต่อเด็กพิเศษที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยค้นพบว่า เด็กพิเศษก็เป็นดั่งผ้าขาวเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป หากได้รับการสอนอย่างถูกต้อง ย่อมเติบโตขึ้นมามีชีวิตที่งดงามได้เช่นกัน

ต่อมาคือ การเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมที่ต้องใช้ทั้งความเสียสละ การรับฟัง และการให้อภัยกัน เพื่อขับเคลื่อนงานของทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งกว่าจะเข้าใจทั้ง 3 สิ่ง โครงการของพวกเขาก็เกือบล่มมาแล้ว

จูนยอมรับว่า ตัวเองเป็นชนวนสำคัญของเรื่องดังกล่าว ปกติไม่ใช่คนจริงจังกับการทำงาน แต่โครงการนี้ เธอเป็นคนชวนเพื่อนๆ มา จึงตั้งใจว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ช่วงหนึ่งที่ทุกคนในกลุ่มไม่ค่อยว่าง เนื่องจากติดทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และแยกย้ายกันไปเรียนตามวิชาเอก ตารางเรียนจึงไม่ตรงกัน และมีการบ้านเยอะ เธอเลยแบ่งงานมาทำกับเอ้และพี่น้ำตาลก่อน ส่วนงานที่เหลือให้คามกับหมิวทำ แต่เพื่อนกลับทำไม่ได้อย่างใจ เลยพลั้งปากพูดว่า “แค่นี้ทำไม่ได้ ไม่มีสมองหรือ”

หมิว เสริมต่อว่า ตอนนั้นได้ยินแล้วเสียใจมาก จนอยากออกจากโครงการ แต่เมื่อลองเปิดใจคุยกัน จึงรู้ว่าเพื่อนไม่ตั้งใจพูดรุนแรงเช่นนั้น และตัวเองก็ผิดจริงที่แบ่งเวลาไม่ถูก ไม่ค่อยมีเวลาให้งานโครงการ

ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของทั้งคู่ โดยจูนบอกว่า การคิดก่อนพูดคือสิ่งสำคัญมาก คำพูดถ้าออกจากปากแล้วไม่สามารถเอาคืนได้ และถ้าพูดไม่ดีอาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดีให้หมดสิ้นได้ในพริบตา ส่วนหมิวได้รู้ว่า เมื่อตัดสินใจจะทำสิ่งใดแล้ว ต้องจัดการเวลาให้ดี การแบ่งเวลาไม่ถูกจะส่งผลกระทบต่องานและผู้ร่วมงานด้วย

หลังเคลียร์ใจกันลงตัว ทีมงานแก้ปัญหาด้วยการนำตารางเรียนมาดู แล้วตกลงกันล่วงหน้าว่าจะทำโครงการวันไหน ใช้วิธีพูดคุยและเตรียมงานผ่านไลน์ เพื่อให้ไม่กองอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง เมื่อมาเจอกันจึงลงมือทำงานได้ทันที

ส่วนเอ้ที่เพิ่งย้ายสาขาเรียน แม้ต้องเก็บวิชาเรียนเยอะกว่าเพื่อน แต่ด้วยความที่อยากทำโครงการเพื่อพัฒนาตัวเอง เธอจึงต้องจัดสรรเวลาตลอด จนรู้จักรับผิดชอบ เพราะไม่ต้องการละทิ้งหน้าที่ให้เป็นภาระของเพื่อน

ส่วนจูนเล่าข้อค้นพบในการทำกิจกรรมควบคู่การเรียนของเธอว่า การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเป็นแนวทางที่ดีในการฝึกความกระตือรือร้น การจัดการเวลา และการวางแผน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้ ขณะเดียวกันการทำกิจกรรมก็ทำให้มีพื้นที่ในการทดลองใช้วิชาภาคทฤษฎีจากห้องเรียน ดังนั้นทั้ง 2 อย่างทำพร้อมกันได้สู่การปฏิบัติจริง

สำหรับคาม บอกว่า เขาได้รับบทเรียนเรื่องการแบ่งเวลา และการรับฟังเพื่อนคล้ายกับคนอื่น แต่สิ่งที่ชื่นชอบที่สุดคือ การเข้าร่วมกิจกรรมเวทีเวิร์กช็อปกับโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งช่วยสร้างมิตรภาพกับเพื่อนต่างกลุ่มและได้รับประสบการณ์ใหม่นอกเหนือจากห้องเรียน

“ความกล้าแสดงออก” คืออุปสรรคสำคัญของทีม ที่พวกเขาก้าวผ่านมาได้ด้วยกระบวนการจากพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ และการได้ลงมือทำโครงการด้วยตัวเอง โดยเอ้ เล่าถึงความจำเป็นที่ทำให้เธอกล้าแสดงออกมากขึ้นว่า หากเธอหรือสมาชิกคนอื่นไม่กล้าพูด ไม่กล้าเสนอความคิดเวลาประชุม แผนงานอาจไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นโดยความคิดของใครเพียงคนเดียว งานก็อาจจะออกมาไม่ดี ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเพื่อน เพราะผิดที่เราไม่พูดเอง

ส่วนหมิวบอกว่า เมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก พอมาทำโครงการนี้ต้องพูดมากขึ้น เพราะถ้าไม่แสดงความคิดเห็นกับเพื่อน งานก็ไม่เดิน และสถานการณ์เวลาลงพื้นที่หรือร่วมเวทีเวิร์กช็อปจะมีเงื่อนไขบังคับให้เราต้องกล้า ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้กับชีวิตได้ทั้งตอนนี้ และเป็นประสบการณ์สำหรับชีวิตข้างหน้า

วันนี้รอยยิ้มปรากฏให้เห็นบนใบหน้าของทีมงานทุกคน และพวกเขากำลังวางแผนส่งต่อรอยยิ้มด้วยการนำรูปแบบการทำงานไปเสนอกับมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำกิจกรรมจากจิตอาสาที่บริจาคสิ่งของ เลี้ยงอาหาร มาเป็นการให้นักศึกษาเข้ามาร่วมทำกิจกรรม สอนทักษะชีวิต หรือวิชาเรียนพื้นฐานแก่น้องๆ แทน เพื่อให้การทำงานเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยตอบโจทย์ชุมชนสังคมอย่างแท้จริง

“การเข้ามาทำโครงการนี้ เหมือนเราได้รับโอกาสดีๆ จนอยากให้คนอื่นได้รับโอกาสแบบนี้บ้าง จึงคิดพัฒนาโมเดลอาสาสมัครของโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกุล สำหรับนักศึกษาศิลปากรที่อยากเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนว่าควรทำแบบไหน หรือต่อยอดอย่างไรที่มากกว่าการบริจาคอย่างเดิม เพราะการทำจิตอาสาแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ ถ้าอยากแก้ไขอย่างลึกซึ้งและยั่งยืนกว่านั้น ต้องทำซ้ำๆ ไปบ่อยๆ และต้องลงไปเรียนรู้ชุมชนเพื่อให้รู้จักและเข้าใจปัญหาจริงๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือตรงกับสิ่งที่ผู้รับต้องการแล้ว ยังกระตุ้นให้สำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นด้วย แล้วถ้ายิ่งชวนกันทำเรื่องดีๆ แบบนี้หลายคน พอคนอื่นเห็นก็อาจตัดสินใจเข้ามาช่วยกันมากขึ้นๆ ให้สิ่งดีๆ นั้นขยายผลต่อไปไม่รู้จบ” จูน อธิบาย

กระบวนการทำงานภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ทำให้ทีมงานได้มีโอกาสคลุกคลีกับปัญหาของโรงเรียน จนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ แล้วลงมือช่วยเหลือตามศักยภาพ การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงไปพร้อมกัน กระทั่งเปลี่ยนแปลงมุมมอง นิสัย และพฤติกรรม ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าสำนึกพลเมืองในหัวใจของพวกเขา ได้ถูกปลุกให้ตื่นเพื่อนำพลังของตนเองไปสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม แล้วแผ่ขยายสู่ความต้องการจะเป็นผู้จุดประกายสำนึกพลเมืองแก่เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยคนอื่นๆ ถือเป็นการส่งโอกาสถึง 2 ต่อ คือโรงเรียนได้นักศึกษามาช่วยผ่อนแรงของคุณครู ส่วนนักศึกษาก็ได้พื้นที่ในการสร้างจิตสำนึกภายในให้หยั่งรากลึกเติบโตเป็นพลังของสังคมต่อไป


โครงการศึกษาพฤติกรรมเด็กโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูลสู่การสร้างระบบอาสาสมัครที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล และมหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่ปรึกษาโครงการ : กันทรากร จรัสมาธุสร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ทีมทำงาน : นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

  • บัวนัดดา สุขชาตะ ชั้นปีที่ 4 เอกการจัดการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 3
  • ปัทมา มุกดาม่วง เอกการจัดการท่องเที่ยว 
  • กรวรรณ ม่วงลับ เอกสิ่งแวดล้อม
  • นงลักษณ์ สืบนาค เอกสิ่งแวดล้อม
  • นวคาม งามสม เอกวิจัยชุมชน