การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2

เรียนรู้เพื่อสืบสานภูมิปัญญาแหลมใหญ่

โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตำบลแหลมใหญ่


เธอต้องปรับตัวจากคนที่เอาแต่ใจตนเองเหมือนกัน เพราะต้องการให้งานสำเร็จ จึงยอมผ่อนปรนตนเอง ปรับนิสัยตนเอง หัดรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เพื่อช่วยกันเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดในการทำโครงการ อีกทั้งการทำงานที่ได้พบปะผู้รู้หลายๆ คนเป็นการฝึกวิธีการเข้าหาผู้ใหญ่ ขัดเกลานิสัยให้มีความนอบน้อมต่อผู้อาวุโส

จุดเริ่มต้นจากตำแหน่งหน้าที่ในสภาเด็กและเยาวชน ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้อินท์-อารียา บุญเอี่ยม รองประธานสภาฯ คนที่ 1 กิ๊ก-สุปราณี ครองวงศ์ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 หน่า-อารีวรรณ แก้วมณี เลขานุการสภาฯ ได้มีโอกาสทำกิจกรรมขององค์การบริหารส่วนตำบลแหลมใหญ่อยู่เสมอ ทั้งกิจกรรมประเพณีต่างๆ ในรอบปี การบรรยายสภาพบริบทของตำบลแก่คณะศึกษาดูงาน และกิจกรรมของเยาวชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กิจกรรมของแก๊งค์นมกล่อง ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาหนุนเสริมการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ประสบการณ์การทำงานร่วมกันทำให้มีความคุ้นเคยกับพี่ๆ ในอบต.เป็นอย่างดี เมื่อพี่ๆ ชักชวนมาเป็นแกนนำทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกทั้ง 3 คนจึงเข้าร่วมทันที

จากสมาชิกสภาฯ จำนวน 21 คน เยาวชนที่เป็นแกนนำในสภาฯ ถูกดึงมาเป็นแกนนำโครงการ 5 คน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมงานมหกรรมพลังเยาวชนภาคตะวันตกปีแรก ทีมงานจึงพอเห็นแนวทางการทำโครงการ และเห็นว่านี่คือช่องทางหนึ่งที่จะได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง

“การลงพื้นที่ชุมชนถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ทำให้ทีมงานรู้สึกตื่นเต้นผสมความเกร็ง เพราะไม่เคยทำมาก่อน สภาพของการเรียนรู้จึงเป็นการเดินตามหลังพี่เลี้ยงต้อยๆ คอยฟังสิ่งที่พี่ถามชาวบ้านซึ่งเป็นผู้รู้อย่างเดียว”

เพราะบางสิ่งกำลังจะหายไป

หลังกลับจากงานมหกรรมครั้งนั้น พี่ๆ ในอบต.ชวนลงพื้นที่สืบค้นของดีที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้ทีมงานได้เห็นว่า แต่ละหมู่บ้านในตำบลแหลมใหญ่ต่างมีภูมิปัญญาประจำถิ่นที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป และภูมิปัญญาเหล่านี้กำลังจะสูญหายด้วยขาดผู้สืบทอด เมื่อทราบเช่นนี้จึงเกิดความคิดที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ได้คงอยู่ต่อไป

อินท์ บอกว่า ตอนแรกคิดทำเรื่องน้ำตาลมะพร้าวอย่างเดียว แต่ในกลุ่มคุยกันว่าตำบลเรามีของดีหลายอย่างจึงเกิดเป็นโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตำบลแหลมใหญ่ เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาต่างๆ สูญหายไป โดยของดีจากแต่ละหมู่บ้านไล่เรียงตั้งแต่ หมู่ 1 ถึง หมู่ 8 (เดิมในตำบลมี 7 หมู่บ้าน ต่อมาได้แยก หมู่ 2 ออกเป็น 2 หมู่บ้านคือ หมู่ 2 และหมู่ 8) เช่น น้ำตาลมะพร้าว การต่อเรือจำลอง เตาเผาถ่านจากไม้โกงกาง การจักสาน การทำไข่เค็ม และว่าวจุฬา ซึ่งทีมงานต่างสารภาพว่า บางอย่างพวกเขาก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะอยู่ต่างหมู่บ้านกัน จึงรู้เฉพาะของดีที่มีอยู่ในหมู่บ้านของตนเองเท่านั้น เช่น บ้านหน่าอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 จึงรู้ว่ามีการจักสาน บ้านอินท์อยู่หมู่ 3 รู้ว่ามีการทำน้ำตาลมะพร้าว ส่วนบ้านกิ๊กอยู่หมู่ 2 ก็เคยเห็นว่ามีคนทำว่าวจุฬา

การลงพื้นที่ชุมชนถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ทำให้ทีมงานรู้สึกตื่นเต้น ผสมความเกร็ง เพราะไม่เคยทำมาก่อน สภาพของการเรียนรู้จึงเป็นการเดินตามหลังพี่เลี้ยงต้อยๆ คอยฟังสิ่งที่พี่ถามชาวบ้านซึ่งเป็นผู้รู้อย่างเดียว

“การศึกษาชุมชนก็ไม่เคยทำมาก่อน ตอนลงไปครั้งแรกจึงดูวุ่นวายมาก ทำอะไรไม่ถูกเลย ได้แต่นั่งฟังพี่ๆ อบต.สอบถามอยู่เงียบๆ แต่ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก” อินท์ เล่าบรรยากาศ

ทีมงานสารภาพว่า ก่อนทำโครงการเป็นคนที่กลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชน ยิ่งต้องพูดผ่านไมโครโฟนยิ่งไม่กล้า ดังนั้นการไปเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ในช่วงแรกจึงพยายามจับกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เพราะเกร็งกับเพื่อนๆ ต่างพื้นที่ ยิ่งเจอรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยยิ่งประหม่า ดังนั้นเมื่อมีการแบ่งกลุ่มครั้งใดก็จะพยายามหาวิธีให้ได้อยู่กลุ่มเดียวกัน แต่โชคร้ายที่พี่เลี้ยงโครงการจำหน้าน้องได้ คราใดที่แบ่งกลุ่มแล้วน้องๆ หนีมาอยู่ด้วยกัน พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ ก็จะจับให้แยกกันทุกครั้งไป

“ทีมงานจึงให้ความสำคัญกับการประชุมเพื่อจัดสรรเวลาทำงานร่วมกัน โดยยึดวันเวลาว่างของผู้รู้เป็นหลัก เพราะตระหนักว่า ผู้รู้แต่ละท่านมีภาระหน้าที่ในการทำมาหากินต่างกันไป เมื่อเป็นฝ่ายไปขอความรู้จากท่าน ก็ต้องไปในวันเวลาที่ท่านสะดวกมากกว่าที่จะตามใจตนเอง”

เริ่มต้นด้วยข้อมูล

เมื่อได้ลงพื้นที่ศึกษาชุมชนของตนเองก่อนล่วงหน้า เมื่อไปเข้าร่วมกิจกรรมนับ 1 สร้างสำนึก ปลุกพลังพลเมือง ที่มีโจทย์ให้ทบทวนทุนเดิมของชุมชน ทีมงานจึงสามารถทำงานได้ก้าวหน้ากว่าเพื่อนกลุ่มอื่น

“กิจกรรมนับ 1 พี่ๆ ให้เขียนแผนที่ลงบนกระดาษปรู๊ฟ ใส่รายละเอียดของดีในตำบล เราก็ทำได้ เพราะได้ลงพื้นที่สำรวจมาแล้ว” กิ๊ก เล่าอย่างภาคภูมิใจ

เมื่อรู้ว่าถิ่นกำเนิดมีของดีอย่างไร ใครเป็นผู้รู้บ้าง การตั้งโจทย์ในการทำโครงการจึงไม่ยาก เพราะมีเป้าหมายชัดเจนคือ ต้องการสืบสานภูมิปัญญาในท้องถิ่น ด้วยการทำสื่อสารคดีเพื่อเผยแพร่เรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำบลแหลมใหญ่ โดยทีมงานตั้งใจที่จะศึกษารายละเอียดของภูมิปัญญาของแต่ละหมู่บ้านทั้ง 7 ประเภท จึงวางแผนลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา วิธีการทำภูมิปัญญาแต่ละประเภท

แต่หลังจากเริ่มทำโครงการได้ระยะหนึ่ง ทีมงาน 2 คนย้ายไปเรียนโรงเรียนใหม่ การเรียนคนละแห่งทำให้การนัดหมายทำงานยากขึ้น เพราะตารางเรียน ตารางกิจกรรมของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน ทีมงานจึงให้ความสำคัญกับการประชุมเพื่อจัดสรรเวลาทำงานร่วมกัน โดยยึดวันเวลาว่างของผู้รู้เป็นหลัก เพราะตระหนักว่า ผู้รู้แต่ละท่านมีภาระหน้าที่ในการทำมาหากินต่างกันไป เมื่อเป็นฝ่ายไปขอความรู้จากท่าน ก็ต้องไปในวันเวลาที่ท่านสะดวกมากกว่าที่จะตามใจตนเอง

แม้จะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ในการลงชุมชนกันชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาจริงการทำงานกลับไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะเมื่อเข้าไปพบภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละครั้งจะมีบรรยากาศการทำงานที่ช่วยกันถาม ช่วยกันคุย ช่วยกันจดบันทึก เมื่อจดบันทึกไม่ทัน ทีมก็ต้องปรับกระบวนท่า แปลงโทรศัพท์เป็นเครื่องบันทึกเสียง ป้องกันข้อมูลตกหล่น

“ส่วนมากที่เตรียมไว้จะไม่ได้ทำ ปรับเปลี่ยนหน้างานใหม่หมดเลย เช่น ตอนลงพื้นที่ครั้งแรกก็แบ่งกันว่า ใครจะถาม ใครจะเป็นคนทักทาย แต่พอลงไปจริงๆ ใครเดินเข้าไปคนแรกก็ต้องพูดสวัสดีก่อน ชวนคุยก่อน เวลาผู้รู้เล่าใครสงสัยตรงไหนก็ถาม กลายเป็นว่าหน้าที่ที่เตรียมไว้ไม่ได้ใช้เลย พอครั้งต่อไปจึงไม่มีการเตรียมตัว นัดกันแล้วลงพื้นที่เลย” กิ๊ก เล่าความสับสนตอนลงพื้นที่

เมื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเสร็จ พี่ๆ อบต. ก็ชวนทีมงานสรุปบทเรียนการทำงาน โดยมีคำถามกระตุ้นสำนึกรักถิ่นเกิด เช่น ได้ความรู้อะไรบ้าง เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังจะสูญหายไปแล้วรู้สึกอย่างไร รู้สึกรักและหวงแหนบ้างไหม รักบ้านเกิดไหม แต่ทีมงานทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่ค่อยรู้สึกอะไร แค่อยากทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ได้อยู่กับเพื่อนเท่านั้น แต่พอได้ลงพื้นที่ซ้ำๆ ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ได้รับรู้ว่า ภูมิปัญญาการเผาถ่านจากไม้โกงกางคือ สิ่งที่สูญหายไปแล้ว ความรู้สึกใจหายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

“พวกหนูรู้สึกไม่ค่อยดี เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้มีไม้โกงกางอยู่เขาก็โค่นทิ้ง ขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งแทน ตอนนี้เตาถ่านไม้โกงกางก็ไม่มีแล้ว ปิดเตาไปเลย” อินท์ สะท้อน

เมื่อประสบกับตัวว่า บางสิ่งได้หายไป และหลายสิ่งกำลังจะหายตาม กลิ่นไอของความรู้สึกสูญเสียก่อให้เกิดความรู้สึกเสียดาย และอยากรักษาภูมิปัญญาที่ยังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้ข้อมูลจากการลงพื้นที่จึงถูกถอดเทปเรียบเรียงสรุปไว้อย่างตั้งใจ เตรียมไว้ใช้สำหรับการผลิตสื่อสารคดี เพราะทีมงานมีประสบการณ์จากการทำหนังสั้นประกวดในโครงการของ อบต.มาก่อน

“เมื่อถึงครึ่งทางของการทำโครงการ ทีมงานก็ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความขัดแย้งภายในกลุ่ม ยามใดที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็จะใช้วิธีเทกองความคิด และช่วยกันพิจารณาเหตุผลของแต่ละคน การรับฟังกันและกันมากขึ้นทำให้ได้ไตร่ตรองข้อเสนอจนสามารถช่วยกันเลือกความคิดที่ดีที่สุดของกลุ่มได้”

เทกองความคิด...ขจัดความคิดต่าง

พอถึงกิจกรรมนับ 3 รู้สิทธิ รู้หน้าที่ คนต้นเรื่องทำดีเพื่อสังคม ทีมงานเริ่มเห็นเค้าลางความยากในการ

รวมทีม เมื่อการนัดหมายทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ ครั้นจะลงพื้นที่ไปก่อน ก็อยากรอให้เพื่อนไปเรียนรู้ด้วยกัน เมื่อนัดกันไม่ได้ก็ต้องรอ ต้องเลื่อน จนเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ นอกจากเรื่องเวลาที่ว่างตรงกันยากแล้ว การจัดการความหลากหลายของความคิดเห็นยิ่งยากมากกว่า ระยะแรกๆ ที่คิดเห็นไม่ตรงกัน มักจะเกิดปรากฏการณ์ที่เจ้าของความคิดเดินไปคุยกับพี่เลี้ยง เพื่อให้พี่เลี้ยงเห็นด้วยกับความคิดของตนเอง จนสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับทีมงานที่เหลือ จึงเป็นบทบาทของพี่เลี้ยงที่จะต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย เตือนสติ

“ทำโครงการด้วยกันจะมานั่งตีกันทำไหม เราต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ต้องช่วยกันคิด เราก็จะคิดแป๊บหนึ่งแล้วก็มาช่วยกันทำ” อินท์ เท้าความคำพูดเตือนใจของพี่ส้ม-ปุญยวีร์ ดอนอ้อย ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต. แหลมใหญ่

เมื่อถึงครึ่งทางของการทำโครงการ ทีมงานก็ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความขัดแย้งภายในกลุ่ม ยามใดที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็จะใช้วิธีเทกองความคิด และช่วยกันพิจารณาเหตุผลของแต่ละคน การรับฟังกันและกันมากขึ้นทำให้ได้ไตร่ตรองข้อเสนอจนสามารถช่วยกันเลือกความคิดที่ดีที่สุดของกลุ่มได้

ขณะที่หน่า เสริมว่า ตอนที่เสนอแล้วเพื่อนไม่เอาความคิดของเรา ก็จะรู้สึกหงุดหงิดว่า เราคิดดีแล้ว ทำไมไม่เอาของเรา แรกๆ ก็ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แต่หลังๆ ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนได้

“ตอนแรกแรกโกรธเพื่อนมากที่ไปฟ้องพี่เลี้ยง และยิ่งไม่พอใจมากเมื่อพี่เลี้ยงมาคุย เหมือนเราโดนเอ็ด แต่ก็คิดได้ว่าถ้าอยากให้งานเดินหน้า เราควรหันหน้ามาคุยกันดีกว่า” หน่า เล่า

ในขณะที่กิ๊กก็ยอมรับว่า ช่วงแรกที่ขัดแย้งกัน เธอก็อารมณ์เสียเช่นกัน บ่อยครั้งที่อยากทิ้งงานกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้เพราะกลัวงานไม่เสร็จ เพราะในกลุ่มมีมาตรการที่รู้กันว่า ถ้าเป็นหน้าที่ใครคนนั้นต้องทำ หากไม่ทำ เพื่อนก็จะไม่ทำให้ ทำให้งานในภาพรวมไม่เสร็จ คนที่มีหน้าที่ตรงนั้นก็ต้องกลับมาทำให้เสร็จในที่สุด

การมีพี่เลี้ยงคอยดูแลจึงเป็นเสมือนตัวกลางที่ยึดโยงทีมงานไว้ด้วยกัน อีกทั้งการมีฐานความสัมพันธ์ที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ทำให้ทีมงานรู้สึกรักและเคารพพี่ๆ ใน อบต. เหมือนพี่น้องจริงๆ ด้วยความผูกพันเช่นนี้ จึงทำให้ทุกคนยอมเชื่อฟังและเชื่อใจพี่เลี้ยง

แรงใจที่หนุนเสริมจากพี่เลี้ยง

เมื่อเวลาล่วงเลยไปสิ่งที่ตั้งใจไว้เริ่มส่อแววว่าจะเป็นไปไม่ได้ การถ่ายทำสารคดีเพื่อเก็บเรื่องราวภูมิปัญญาไว้เผยแพร่สู่เด็กและเยาวชนรุ่นหลังกลายเป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถนัดกันลงพื้นที่เพื่อถ่ายทำได้ ด้วยทีมงานที่เหลือเพียง 3 คนบ้าง 2 คนบ้าง จนกระทั่งผ่านกิจกรรมนับ 4 Check Point พลเมือง ความรู้สึกท้อแท้จู่โจมจนอยากเลิกทำโครงการ พี่อ้วนเห็นสัญญาณจึงรีบนัดหมายทีมงานเพื่อหาทางแก้ไข

“น้องๆ เขาบอกว่าไม่ทำแล้วเพราะมันไปต่อไปไม่ได้ ผมมาเจอน้อง 4 ครั้ง เหมือนเดิมทุกครั้งคือ เหลือ 2 คน คือ อินท์กับกิ๊ก หน่าเขาก็ช่วยอยู่ในทีมแต่มาไม่ได้ ผมก็คิดว่าจะเอาไงดี เล่นเกมก็ไม่ได้เพราะทีมไม่ครบ เลยชวนน้องดูว่า มีข้อจำกัดอะไรบ้าง จากนั้นก็ให้น้องลองไล่ดูว่าถ้าจะทำต่อ น้องเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะเป้าหมายของน้องคือ การทำสื่อแล้วไปขยายผลให้เพื่อนในห้องเรียนดู เลยถามน้องว่า ชอบทำอะไรในห้องเรียน เขาก็บอกว่า ชอบวาดการ์ตูน ผมก็เลยแนะนำว่า ในเมื่อทำสารคดีไม่ได้ ก็ลองวาดเป็นการ์ตูนแล้วให้เพื่อนช่วยวาด จะได้ร่วมเรียนรู้ไปกับเราด้วย” พี่อ้วน เท้าความถึงการแก้ปัญหา

คำพูดปลุกใจจากพี่อ้วน ทำให้ทีมมีแรงฮึดขึ้นอีกครั้ง ปรับเป้าหมายจากการทำสารคดี เป็นการ์ตูนเล่าเรื่องราวการทำโครงการแทน

“รู้สึกท้อ เพราะตอนแรกเราทำกัน 5 คน จู่ๆ ก็มาทิ้งกันไป 2 คน พี่อ้วนเขาให้ข้อคิดว่า มีหินอยู่ก้อนหนึ่ง ข้างล่างเป็นหมู่บ้าน ถ้าเกิดว่า เรา 5 คนไม่ช่วยกันผลักหินออกไป หินมันก็จะหล่นลงมาทับหมู่บ้านของเรา เราจะปล่อยให้หินมันลงมาทับหรือว่าเราจะยื้อมันไว้ หนูก็เลือกที่จะผลักหินก้อนนั้นออกไป ในที่สุดเพื่อนในทีมก็กลับมาช่วยกันทำ” กิ๊ก เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากพี่อ้วน

แรงใจยังถูกฟื้นฟูเพิ่มขึ้น เมื่อเพื่อนๆ ร่วมห้องเรียนต่างเต็มใจช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านอินท์มักเล่าการทำงานให้เพื่อนๆ ฟังเสมอ ทั้งความก้าวหน้าและปัญหาของโครงการ การ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการทำกิจกรรมของโครงการและภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละประเภท จึงถูกรังสรรค์ขึ้นจากฝีมือของเพื่อน บางคนถนัดวาดก็เป็นมือวาด บางคนวาดไม่เป็นก็ช่วยระบายสี

อินท์ ย้ำวา การทำการ์ตูนสามารถจัดการเวลาได้ดีกว่า เพราะเพื่อนๆ เรียนอยู่ห้องเดียวกัน มีเวลาว่างตรงกัน ว่างเมื่อไรก็ช่วยกันวาด ช่วยกันระบายสี ต่างจากการทำสารคดีที่ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อถ่ายทำ และต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่ อบต. เพื่อการตัดต่อ

“การที่พี่เลี้ยงเปิดโอกาสให้คิดเอง เป็นสิ่งที่พวกเธอไม่คุ้นชินเอาเสียเลย เพราะที่ผ่านมาเคยแต่ทำงานหรือร่วมกิจกรรมที่ผู้ใหญ่คิดให้ จัดให้ แต่เมื่อต้องคิดเอง ทำเอง จึงเป็นการฝึกฝนอย่างเข้มข้น และเปลี่ยนเป็นความเคยชินรูปแบบใหม่ๆ ที่ทุกคนบอกว่า เป็นประโยชน์ต่อตนเองมาก”

แรงหนุนสู่ความสำเร็จ

ผลงานการ์ตูนเสร็จทันให้ทีมงานได้นำไปโชว์ในกิจกรรมนับ 5 Citizen’s Network แต่ความรู้สึกไม่สำเร็จยังคงค้างคาอยู่ในหัวใจของอินท์ หน่า และกิ๊ก เพราะยังฝังใจกับความตั้งใจเริ่มแรกที่อยากทำสารคดี เมื่อถอดบทเรียนการทำโครงการ ทีมงานจึงสะท้อนความเห็นตรงกันว่า ถ้าต้องทำโครงการอีกครั้ง จุดที่น่าจะปรับปรุงที่สุด คือ การเลือกเพื่อนร่วมทีม

“คิดว่าการเลือกทีมเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเลือกเพื่อนที่รู้ใจกัน ปีนี้ทีมเรามาจากแกนนำสภาฯ 5 คน แม้จะเคยทำงานร่วมกัน แต่ไม่ได้รู้นิสัยใจคอกันจริงๆ ตอนทำงานสภาฯ เวลามีคนมาศึกษาดูงานเราก็มาบรรยาย ไม่ได้มาทำงานด้วยกันอย่างนี้ เลยไม่รู้ว่าเวลานัดกันทำงานจะเป็นอย่างไร” อินท์ พรั่งพรูความเห็น

ในขณะที่กิ๊กและหน่าเสริมว่า การจัดการเวลาเป็นอีกเรื่องหนึ่งทีมให้ความสำคัญ ซึ่งการเลือกเพื่อนร่วมทีมที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันคือ คำตอบที่ทีมคิดว่าจะช่วยให้การจัดการเวลาทำได้ง่ายขึ้น เพราะเรียนด้วยกัน สอบพร้อมกัน มีเวลาว่างในช่วงเดียวกัน

ทีมงานบอกต่อว่า การที่พี่เลี้ยงเปิดโอกาสให้คิดเอง เป็นสิ่งที่พวกเธอไม่คุ้นชินเอาเสียเลย เพราะที่ผ่านมาเคยแต่ทำงานหรือร่วมกิจกรรมที่ผู้ใหญ่คิดให้ จัดให้ แต่เมื่อต้องคิดเอง ทำเอง จึงเป็นการฝึกฝนอย่างเข้มข้น และเปลี่ยนเป็นความเคยชินรูปแบบใหม่ๆ ที่ทุกคนบอกว่า เป็นประโยชน์ต่อตนเองมาก

“แรกๆ พี่เขาจะนั่งคุม คอยบอก แต่หลังๆ พี่เขาจะไม่ออกความคิดเห็น ปล่อยให้เราทำเอง มีอะไรสงสัยค่อยถาม พอนับ 4 นับ 5 พี่เขาปล่อยให้คิดทำเองเลย แรกๆ หนูจะชอบแบบที่พี่เขาคิดให้ ทำให้ แต่หลังๆ มันเหมือนชิน และรู้ว่าต้องคิดเองทำเอง เพราะถ้าให้พี่เลี้ยงทำให้ เวลาเราไปร่วมกิจกรรม แล้วเขาถามเรา เราก็ตอบไม่ได้” อินท์ เล่า

ทีมงานยังเล่าต่อไปว่า การทำงานที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่เลี้ยง ทำให้ไม่กล้าที่จะออกนอกลู่นอกทาง เพราะห่วงว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาพี่จะเดือดร้อน จึงกลายเป็นหลักปฏิบัติของทีมงานว่า ถ้าบอกที่บ้านมาว่าทำงานกับพี่ส้ม ก็จะทำจนเสร็จแล้วกลับบ้านให้พ่อแม่เห็นว่ากลับมาแล้ว หลังจากนั้นจะไปเที่ยวเตร่ที่ไหนต่อก็ค่อยออกไปใหม่

“การจัดการความรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ จากประสบการณ์ตรงเรื่องเพื่อนไม่ตรงเวลา เพื่อนไม่มาช่วยงาน เป็นพฤติกรรมที่ทีมงานบอกว่า ไม่ชอบ และตั้งใจว่าจะไม่ทำเช่นนี้กับผู้อื่น เช่นเดียวกับการหัดรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ที่ทุกคนต่างบอกว่า เลิกนิสัยเดินไปล้อบบี้พี่เลี้ยงที่เคยทำกันในช่วงแรกๆ อย่างสิ้นเชิง”

เด็กน้อยที่เติบใหญ่

การทำโครงการยังให้ประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น ได้เรียนรู้ว่า เพื่อนแต่ละคนนิสัยใจคอเป็นอย่างไร ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุกคนต่างบอกว่า รู้สึกรู้สากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น

“มันเป็นภูมิปัญญาของตำบลเรา เราเกิดที่นี่ เราอยู่ที่นี่เราจะปล่อยให้มันหายไปหรือ สิ่งนี้มีอยู่คู่ตำบลเรามานาน เมื่อก่อนปู่ย่าตายายเราก็เคยทำมา เราจะปล่อยให้มันสูญหายไปจริงๆ หรือ” กิ๊ก อธิบายความรู้สึก

ส่วนการจัดการความรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ จากประสบการณ์ตรงเรื่องเพื่อนไม่ตรงเวลา เพื่อนไม่มาช่วยงาน เป็นพฤติกรรมที่ทีมงานบอกว่า ไม่ชอบ และตั้งใจว่าจะไม่ทำเช่นนี้กับผู้อื่น เช่นเดียวกับการหัดรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ที่ทุกคนต่างบอกว่า เลิกนิสัยเดินไปล้อบบี้พี่เลี้ยงที่เคยทำกันในช่วงแรกๆ อย่างสิ้นเชิง

“เมื่อก่อนหนูเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองมาก เผด็จการสุดๆ เพื่อนก็ไม่ค่อยกล้าขัดใจ เวลาลงความเห็นหนูมักจะพูดเสียงลั่นห้องว่า เอาอันนี้แหละ เพื่อนก็จะบอกว่า แล้วแต่อินท์ด้วยนำเสียงอ่อยๆ จนหนูรู้สึกตัวว่า ถ้าเราทำแบบนี้มันเป็นการบังคับเพื่อนมากเกินไปไหม หลังๆ หนูเลยถามเพื่อนว่าคิดอย่างไร จากเดิมที่เอาแต่เจ้ากี้เจ้าการก็เปลี่ยนมาบอกให้เพื่อนๆ ลองคิดบ้าง ซึ่งเพื่อนก็จะไม่ชินที่หนูเป็นอย่างนี้” อินท์ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของตนเองที่มีการถอดบทเรียน ทบทวนตนเองอย่างสม่ำเสมอทำให้รู้ตัวรู้ตน เห็นตนเองในอีกมิติหนึ่งจนนำมาสู่การปรับตัว

อินท์ ย้ำว่า เหตุผลที่เธอยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะคิดได้ว่าถ้าเธอยังติดนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง เจ้ากี้เจ้าการแบบนี้ไปจนเรียนจบ จะอยู่ในสังคมได้ยาก ตอนนี้เป็นเพื่อนกัน ก็ยังเกรงใจกัน อยู่กันมาตั้งแต่อนุบาลจึงรู้ใจกัน แต่เมื่อเราโตขึ้น ต้องไปเจอเพื่อนใหม่เขาจะรับเราได้ไหม เธอจึงเริ่มปรับให้ตัวเองรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนบ้าง

ส่วนกิ๊กเสริมว่า เธอก็ต้องปรับตัวจากคนที่เอาแต่ใจตนเองเหมือนกัน เพราะต้องการให้งานสำเร็จ จึงยอมผ่อนปรนตนเอง ปรับนิสัยตนเอง หัดรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เพื่อช่วยกันเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดในการทำโครงการ อีกทั้งการทำงานที่ได้พบปะผู้รู้หลายๆ คนเป็นการฝึกวิธีการเข้าหาผู้ใหญ่ ขัดเกลานิสัยให้มีความนอบน้อมต่อผู้อาวุโส

“ตอนนี้สนิทกับชาวบ้านที่ให้ความรู้ เวลาเจอหนูจะเข้าไปสวัสดี ทักทายเขา เวลาไปบ้านเพื่อนหมู่อื่นเจอเขาเดินอยู่ก็จะเข้าไปทักทาย ยิ้มให้กัน” กิ๊ก เล่าถึงสายใยแห่งความสัมพันธ์

สำหรับหน่า บอกว่า การทำโครงการทำให้เธอได้พัฒนาความกล้า ที่กล้าพูด กล้าคิดมากขึ้น การทำงานที่ได้คลุกคลีใกล้ชิดกับเพื่อนๆ และพบปะกับผู้คนหลายหลายวัย ทำให้เข้าใจเพื่อน และเข้าใจความเป็นไปของผู้คนในสังคมมากขึ้น

การพูดผ่านไมโครโฟนคือ ผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ของทุกคน ที่ทีมงานบอกว่า เป็นความกล้าที่เกิดจากสถานการณ์บังคับให้ต้องทำยามที่ไปร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เมื่อผ่านการฝึกฝนอยู่บ่องครั้ง จึงทำได้ และทำเป็นอย่างมั่นใจมากขึ้น

เกือบสำเร็จคือ ข้อสรุปของการทำโครงการของทีมงาน ทุกคนยอมรับว่า เสียดายที่ไม่ได้ทำสารคดีอย่างที่ตั้งใจไว้ แม้ผลงานการ์ตูนที่ทำเสร็จจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ขยายผลสู่เพื่อนๆ ในห้องเรียนให้รับรู้เรื่องราวภูมิปัญญาของตำบลแหลมใหญ่ แต่ทีมงานเห็นตรงกันว่า วิธีการรักษาภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ดีที่สุด คือ การพาตัวเองไปรับรู้ เรียนรู้ และฝึกทำ เพื่อที่จะได้สืบทอดสิ่งดีๆ ของตำบลให้คงอยู่ต่อไป

“สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำปรับมาใช้ในกับทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชนคือ การรู้จัก รู้ใจ รู้นิสัยของเยาวชนแต่ละคน ทำให้เมื่อต้องทำงานกับเด็กและเยาวชนก็จะรู้ทางที่จะเข้าหา รู้วิธีที่จะทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ การเป็นคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในพื้นที่ การได้เรียนรู้เรื่องราวของหมู่บ้านต่างๆ และการได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น ทำให้เธอมีฐานความสัมพันธ์และฐานข้อมูลในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น”

จากใจที่ผูกใจ

พี่ส้ม-ปุญยวีร์ ดอนอ้อย ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต. แหลมใหญ่ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการที่รับหน้าที่ดูแลทีมงานมาตั้งแต่แรก บอกว่า ตอนแรกคิดว่า การเป็นพี่เลี้ยงคือ การมาดู มาคุมน้องทำงาน สามารถสั่งให้ทำได้ แต่เมื่อได้คุยกับพี่ธเนศ-ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ จึงรู้ว่าไม่ใช่

“โครงการฯ ต้องการให้เด็กคิดแบบเด็กๆ ให้เป็นตัวของเขาเอง ไม่ใช่คิดแบบผู้ใหญ่ไปอัดใส่สมองเด็ก” พี่ส้มสะท้อนหลักการทำหน้าที่พี่เลี้ยง

เมื่อรู้ถึงเป้าหมายการทำงานที่ต้องการให้เยาวชนได้คิดเอง ทำเอง บทบาทของการสนับสนุนจึงเป็นการเฝ้ามองอยู่ห่างๆ และเข้ามาเมื่อน้องต้องการคำปรึกษา ซึ่งในช่วงแรกที่น้องคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือความไม่พร้อมของทีม พี่ส้มจะยึดแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ทีมช่วยกันคิดหาทางออกร่วมกันมากกว่าที่จะบอกคำตอบเบ็ดเสร็จ

แม้จะเป็นการทำงานกับวัยรุ่น แต่พี่ส้มเลือกปฏิบัติกับทีมงานอย่างผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการให้ความไว้วางใจ ที่กลายเป็นสายใยความรักความผูกพันระหว่างพี่กับน้องจึงกลายเป็นเกราะคุ้มกันทั้งสองฝ่ายไปโดยปริยาย

“น้องกลุ่มนี้เขาเป็นเด็กดีอยู่แล้ว ถามว่าเถลไถลไหม ก็มีนะ แต่จะบอกเขาว่า ตัดสินใจเอาเองนะ ก็รู้ว่าอะไรดี ไม่ดี เมื่อเราไว้ใจเขา เขาก็ไม่กล้าทำสิ่งไม่ดี แต่ก็โชคดีที่น้องกลุ่มนี้เขาไม่เกเร” พี่ส้มเล่า

พี่ส้มยอมรับเช่นเดียวกับทีมงานว่า ผลงานที่ได้ยังไม่สมบูรณ์อย่างที่ตั้งใจ แต่ผลลัพธ์การพัฒนาศักยภาพทีมงานแต่ละคนผลิดอกออกผลเป็นที่น่าชื่นใจ จากเด็กที่กลัวๆ เกรงๆ ก็เติบโตขึ้นกลายเป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงออก เป็นทักษะที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับตัวพี่ส้มเอง สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำปรับมาใช้กับการทำงานในหน้าที่ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชนคือ การรู้จัก รู้ใจ รู้นิสัยของเยาวชนแต่ละคน ทำให้เมื่อต้องทำงานกับเด็กและเยาวชนก็จะรู้ทางที่จะเข้าหา รู้วิธีที่จะทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ การเป็นคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในพื้นที่ การได้เรียนรู้เรื่องราวของหมู่บ้านต่างๆ และการได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น ทำให้เธอมีฐานความสัมพันธ์และฐานข้อมูลในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น

แม้งานจะไม่สำเร็จดังใจหมาย แต่ใช่ว่าจะล้มเหลวในการเรียนรู้ ปฏิบัติการจริงที่ได้สัมผัสทั้งกระบวนการและเนื้อหา ทำให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้เชื่อมต่อความรู้ภูมิปัญญานำไปเผยแพร่ต่อในรูปแบบที่พอเหมาะพอสมกับแรงและเวลาที่มี สิ่งที่ได้รับรู้ยังก่อให้เกิดสำนึกตระหนักถึงคุณค่าจนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนภูมิปัญญาของถิ่นกำเนิดที่กำลังจะเลือนหายไป เพราะได้ลงมือทำจึงได้สัมผัสความเป็นจริงของเงื่อนไข ปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งจากตนเองและผู้อื่น นำไปสู่การปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเตรียมตนเองสู่การเป็นบุคคลที่น่าคบหาของสังคมต่อไป


โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตำบลแหลมใหญ่

ที่ปรึกษาโครงการ : ปุญยวีร์ ดอนอ้อย ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต. แหลมใหญ่

ทีมทำงาน : ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดปากสมุทร

  • อารียา บุญเอี่ยม 
  • อารีวรรณ แก้วมณี
  • สุปราณี ครองวงศ์ 
  • ศุภโชค สาครขำ
  • ลลิตา นิลน้อย