การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูชายหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ปี 4

เยาวชนว่าที่นักกฎหมายเพื่อสังคม

โครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ปีที่ 2

ที่ดีใจที่สุดในการทำโครงการนี้คือ การที่เราได้สร้างนักศึกษาที่เห็นปัญหาของสังคม รู้สึกรู้สากับชุมชน พอเขารู้สึกแล้วเขาอาจจะเอาปัญหานี้ไปคิดต่อ เมื่อเรียนจบแล้วเขาอาจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในชุมชนได้บ้าง คำว่า “นักกฎหมายที่ดี” ที่เราใช้ตั้งแต่ปีแรกของการทำโครงการ เราก็เพิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งในปีนี้ว่า ต้องเป็นอย่างไร”

ผลของการทำงานในปีที่ผ่านมาของกลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสาซึ่งประกอบด้วย เป้- อัษราพงศ์ ฉิมมณี ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ หงส์-กชมา อุดมศิลป์ และ หยง-เกษราภรณ์ เกียรติเฉลิมลาภ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวของกับการแก้ไขดูแลหาดทราย

เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (EIA) และกฎหมายเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของหาดทราย ทำให้พบว่า แม้จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558

ออกมาประกาศใช้เพื่อเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่ยังมีช่องว่างของกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้จริง เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่ง ที่ไม่ได้กำหนดนิยามไว้ให้ชัดเจน 

­

เติมกำลังคน...เติมความรู้

เมื่อเห็นช่องว่างของกฎหมายที่ค้นพบจากการทำงานปีแรก ปีนี้ทีมงานจึงต่อยอดการทำงานโครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องความเป็นชุมชนชายฝั่ง ด้วยการจัดเก็บข้อมูลลักษณะการใช้ประโยชน์หาดสงขลา 

การรวมตัวของชุมชนที่เชื่อมโยงกับหาด และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากพื้นที่จริง โดยหวังว่าจะทำให้แกนนำกลุ่ม ชุมชน และสาธารณชน รู้และเข้าใจเรื่อง นิยามของชุมชนชายฝั่งและสิทธิชุมชน” ในการดูแลปกป้องหาด และที่สำคัญคือ เรียนรู้ทักษะการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงทางสังคมกับกฎหมาย อันเป็นการฝึกทักษะและจิตสำนึกสู่การเป็นนักกฎหมายที่ดีในอนาคต 

แม้ช่วงเริ่มต้นการทำงานในปีนี้จะมีเพื่อนบางคนขอถอนตัวออกไป เพราะต้องรับผิดชอบกิจกรรมในคณะ แต่ทีมงานก็ได้สมาชิกใหม่เข้าร่วมทีมคือ สตางค์-มธุรดา ปันวิวัฒน์ เพื่อนร่วมชั้นปีในคณะเดียวกัน และ มายด์-ฐิติรัตน์ วิริต รุ่นน้องปี 1 เอกรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ซึ่งทั้งสองคนไม่ใช่คนใหม่ในแวดวงเสียเลยทีเดียว ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงานในโครงการมาตั้งแต่ปีแรก แถมยังมีนิดานิส หะยีวามิง น้องปี 1 จากคณะสัตวแพทย์เข้าร่วมทีมด้วย เรียกว่าเป็นการขับเคลื่อนงานของนักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชา

“การมีเพื่อนต่างคณะเข้ามาจึงเป็นกระจกสะท้อนวิธีการสื่อสารที่ในปีนี้ทีมงานต้องสื่อสารการทำงานกับชุมชนภายนอก และคำถามจากเพื่อนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายก็เป็นตัวช่วยให้ทีมงานเห็นประเด็นที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น”

มายด์ บอกว่า เหตุผลที่เธอตั้งใจสมัครเข้ามาเรียนรู้ในปีที่ผ่านมา เพราะอยากทำงานเพื่อสังคม อยากหากิจกรรมแปลกใหม่เติมเต็มประสบการณ์ของชีวิต  “หนูวางแผนเรื่องการเรียนต่อไว้ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.5 แล้ว เพราะคิดว่าเมื่อขึ้นชั้น ม.6 จะมีเรื่องให้ทำเยอะ ทั้งกีฬาสีและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรื่องสอบก็อ่านหนังสือให้เสร็จตอนปิดเทอม ที่เหลือก็แค่ทบทวนเท่านั้น จึงหากิจกรรมเกี่ยวกับอาสาสมัครทำ จนไปเจอเพจโครงการศึกษากฎหมายคุ้มครองชายหาด หนูสนใจเรื่องกฎหมายอยู่แล้ว เพราะตั้งใจจะเรียนต่อคณะนิติศาสตร์หรือไม่ก็รัฐศาสตร์ เลยสมัครเข้าร่วมเรียนรู้กับพี่ๆ ”

ส่วนสตางค์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นปีที่ร่วมหัวจมท้ายทบทวนตัวบทกฎหมายกันมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปีแรก เมื่อเพื่อนๆ ชวนให้ร่วมโครงการ จึงตัดสินใจไม่ยาก  สตางค์ บอกว่า ปีนี้เธอเข้ามาเป็นทีมทำงานอย่างจริงจัง เริ่มแรกก็แค่อยากทำ เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.หาดที่ยังคลุมเครือ เช่น เราเป็นชุมชนหรือเปล่า ชุมชนชายฝั่งคืออะไร ในขณะที่ทรัพยากรป่าไม้กลับมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน หาดก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติ

เป็นสมบัติสาธารณะเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่กลับมองข้าม เมื่อเห็นปัญหาปีนี้เธอจึงเข้าร่วมทีมอย่างเต็มใจ เพื่อคลายปมคิดที่ติดอยู่ในใจ นอกจากมายด์และสตางค์ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเสริมทีมแล้ว ยังมีเพื่อนจากคณะสัตวแพทย์ และศิลปศาสตร์เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ทีมงานมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะการทำงานที่ขลุกกันเฉพาะนักศึกษากฎหมายก็จะใช้ศัพท์เฉพาะทางด้านกฎหมายที่เข้าใจกันเอง การมีเพื่อนต่างคณะเข้ามาจึงเป็นกระจกสะท้อนวิธีการสื่อสาร ที่ในปีนี้ทีมงานต้องสื่อสารการทำงานกับชุมชนภายนอก และคำถามจากเพื่อนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายก็เป็นตัวช่วยให้ทีมงานเห็นประเด็นที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น 

ในช่วงของการทบทวนโครงการในปีแรก เพื่อหาประเด็นขับเคลื่อนต่อในปีที่ 2 ทีมงานพบประเด็นที่น่าสนใจ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหาดคือ 1)ที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นของใคร และ 2) ชุมชนชายฝั่ง ซึ่งยังขาดความชัดเจนในนิยามความหมาย ทีมงานร่วมกันวิเคราะห์ทางเลือกว่า จะหยิบเรื่องใดมาเป็นโจทย์ในการทำงาน เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นร่วมกันว่า ถ้าทำเรื่องที่ดินจะออกแบบกิจกรรมยาก แล้วก็ต้องทำงานซ้ำรอยปีก่อนคือ นั่งอ่านกฎหมายแล้วมาถกกัน ซึ่งทีมงานส่วนใหญ่รู้สึกว่า เป็นเรื่องน่าเบื่อ อยากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ได้ไปสัมผัสโลกภายนอกบ้าง จึงเทใจให้กับประเด็นการหานิยามคำว่าชุมชนชายฝั่ง ที่มั่นใจว่าจะได้มีโอกาสไปสัมผัสชุมชนจริงๆ 


เรียนรู้จากชุมชน

 ฝน เล่าว่า ประเด็นศึกษาที่เลือกสอดคล้องกับสถานการณ์ของกลุ่ม ซึ่งขณะนั้นได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ยุติโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยการใช้โครงสร้างแข็ง ที่กลุ่มชาวบ้านชุมชนเก้าเส้ง เยาวชนกลุ่ม Law Long Beach และกลุ่ม Beach for Life ร่วมกันยื่นฟ้องคดี “กลุ่ม Beach for Life และกลุ่ม Law Long Beach เป็นกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกัน หลายคนไม่ได้มีบ้านอยู่ชายหาด ยกเว้นกลุ่มเก้าเส้ง แต่ศาลรับฟ้องคดีของเรา แสดงว่าเราเป็นชุมชนเหมือนกัน จึงน่าศึกษาว่า ชุมชนที่จะใช้สิทธิทางกฎหมายมันต้องเป็นชุมชนแบบไหน” 

ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะศึกษาความเป็นชุมชนใน 2 รูปแบบคือ 1) ชุมชนที่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่คือ ชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณชายหาด มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับทะเล อีกทั้งกำลังจะมีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเกิดขึ้นในพื้นที่ และ 2) ชุมชนที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มคน คือ Beach for Life ซึ่งเป็นการรวมตัวของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เมื่อโจทย์และพื้นที่ลงตัว ทีมงานเริ่มหาข้อมูลประกอบการเขียนโครงการ ตอนนั้นปิดเทอมพอดี ทีมงานต่างแยกย้ายกันกลับบ้านหรือฝึกงานต่างที่กัน คงเหลือแต่เป้และหงส์ที่อยู่สงขลา จึงอาสาลงพื้นที่ชุมชนเก็บข้อมูลเบื้องต้นไว้ก่อน เมื่อเปิดเทอมที่ทุกคนกลับมาเรียนพร้อมหน้ากันแล้วจะได้เดินงานต่อได้ทันที

แต่พอถึงเวลากลับเหลือเพียงเป้คนเดียว เพราะหงส์ติดฝึกงาน เป้ เล่าว่า เขาไม่เคยรู้จักชุมชนสวนกงมาก่อน ด้วยเหตุนี้ก่อนลงพื้นที่เขาจึงวางเป้าหมายไว้ว่า จะไปทำความรู้จักว่า ชุมชนมีสภาพเช่นไร ชาวบ้านในชุมชนมีความเป็นอยู่อย่างไร แต่ไม่มีการออกแบบกระบวนการว่าจะไปทำอะไร อย่างไร “ตอนนั้นมันใกล้ส่งโครงการแล้ว เพื่อนก็ไม่มีใครอยู่ ครั้งแรกเลยไปกับน้ำนิ่งเพื่อแนะนำตัวกับชาวบ้าน ครั้งที่สองชวนเพื่อนในคณะไปเป็นเพื่อน ตั้งใจไปชวนชาวบ้านคุย แล้วนำข้อมูลมาดูว่า เป็นองค์ประกอบของชุมชนไหม เป็นชุมชนชายฝั่งไหม คิดว่าง่ายๆ” เป้เล่า

เพราะเป็นการลงชุมชนโดยที่ยังไม่มีกรอบคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับชุมชนชายฝั่ง การพูดคุยกับชาวบ้านจึงเป็นการคุยไปเรื่อยเปื่อย โดยไม่ได้ประเด็นอะไร ชาวบ้านเห็นว่า เป็นนักศึกษาวิชากฎหมายก็ถือโอกาสเล่าความทุกข์ร้อนเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ยาเสพติด เป็นต้น สรุปคือ ไม่ได้ข้อมูลอะไรกลับมาเลย 


วางกรอบแนวคิดก่อนเก็บข้อมูล

เป้ เล่าต่อว่า อาจารย์เอ-ธีรวัฒน์ ขวัญใจ ที่ปรึกษาโครงการทราบข่าวว่าเขาลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชน จึงแนะนำให้เขาศึกษาองค์ประกอบความเป็นชุมชน เพื่อสร้างกรอบคิดสำหรับใช้เปรียบเทียบข้อมูลที่ชาวบ้านบอกเล่า ผลคือการลงพื้นที่ในครั้งที่สาม เขาสามารถควบคุมการพูดคุยกับชาวบ้านให้อยู่ในประเด็นได้มากขึ้น 

“กรอบคิดของผมตอนนั้น คือ องค์ประกอบของชุมชน 5 ข้อ คือ 1)พื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นเชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ 2) คน 3) การปฏิสัมพันธ์หรือการปฏิบัติต่อกัน 4) อัตลักษณ์ และ 5)จุดมุ่งหมาย” เป้เล่า “ก่อนที่จะรับสมัครสมาชิกร่วมเรียนรู้ ทีมงานสรุปบทเรียนการจัดโครงสร้างทีมงานที่ผ่านมาพบว่า การเรียกสมาชิกร่วมทีมเป็นแกนนำ แกนร่วม มีผลต่อความรู้สึกของคนทำงาน ถ้าเราแบ่งเป็นแกนนำ แกนร่วม คนที่เป็นแกนร่วมเขาก็อาจจะรู้สึกว่า เขาแค่ร่วม เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นให้ทุกคนเป็นแกนนำหมด เพราะทุกคนต้องทำงานเหมือนกัน” 

ผลจากการลงพื้นที่ของเป้ทำให้เมื่อถึงเวลาเปิดเทอม ทีมสามารถวิเคราะห์ได้ว่า มีข้อมูลอะไรที่ต้องเก็บเพิ่มเติม รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานของชุมชนที่จะใช้เชื้อเชิญเพื่อนๆ ในคณะไปเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับน้องใหม่สองคนที่เพิ่งเข้าร่วมทีมด้วย ก่อนที่จะรับสมัครสมาชิกร่วมเรียนรู้ ฝนสรุปบทเรียนการจัดโครงสร้างทีมงานที่ผ่านมาว่า การเรียกสมาชิกร่วมทีมเป็นแกนนำ แกนร่วม มีผลต่อความรู้สึกของคนทำงาน จึงนำมาสู่การปรับกระบวนการทำงานใหม่ในปีนี้ 

“ถ้าเราแบ่งเป็นแกนนำ แกนร่วม คนที่เป็นแกนร่วมเขาก็อาจจะรู้สึกว่า เขาแค่ร่วม เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นให้ทุกคนเป็นแกนนำหมด เพราะทุกคนต้องทำงานเหมือนกัน”  การประชุมทีมทำให้ได้ข้อสรุปว่า ควรมีการรับคนเพิ่มเพื่อร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน วันถัดมาจึงประกาศรับสมัครน้องปี 1 ร่วมโครงการ ซึ่งมีน้องๆ สมัครเข้ามากว่า 100 คน ทีมงานใช้โอกาสนี้ชี้แจงโครงการและกระบวนการทำงานในครั้งแรก พร้อมข้อตกลงร่วมว่า ถ้านัดหมายครั้งต่อไปใครไม่มาถือว่าสละสิทธิ์ กลายเป็นการคัดกรองผู้สนใจเหลือน้องๆ ร่วมโครงการ 40 กว่าคน

การนัดหมายประชุมเพื่อเตรียมลงพื้นที่ศึกษาชุมชนถูกออกแบบให้มีการเติมเต็มความรู้เรื่องชายหาดและกฎหมายจากอาจารย์เอ และอาจารย์อ๊อฟ-อารยา สุขสม จากคณะมนุษยและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายหาดมาก่อน ซึ่งหลังฟังบรรยายจบทีมงานให้น้องๆ สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่กลายเป็นการ Pre-Test ให้น้องๆ ได้คิดว่า ชุมชนคืออะไร 

และชุมชนชายฝั่งต่างจากชุมชนอย่างไร โดยแบ่งกลุ่มย่อยให้น้องระดมความคิดแลกเปลี่ยน แล้วนำข้อสรุปของกลุ่มมานำเสนอให้ทุกคนฟัง จากนั้นจึงร่วมกันสรุปแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนชายฝั่ง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินชุมชน ประกอบด้วย 1) ความสมัครใจรวมกันเป็นชุมชน 2) อัตลักษณ์ของชุมชน 3) การจัดการองค์กรในนามของชุมชนที่แสดงตัวตนออกไปข้างนอก และ 4) ความต่อเนื่องของการเป็นชุมชน (ประวัติศาสตร์ชุมชน) โดยความเป็นชุมชนชายฝั่งต้องอยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลหรือเกาะ ที่อิงกับการแบ่งเขตปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทุกคนจะใช้เป็นหลักในการจำแนกข้อมูล

“เมื่อลงพื้นที่จริงทีมงานต้องปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องออกทะเล ต้องละหมาด เป็นบทเรียนการลงชุมชนที่ทำให้ทุกคนได้สัมผัสเงื่อนไขความเป็นจริงของชีวิตชาวบ้าน” 


ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน...ฝึกฝนการทำงาน

ก่อนถึงวันลงชุมชนสวนกง ทีมงานนัดหมายสมาชิกทั้งหมดมาร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ แบ่งบทบาทหน้าที่ และกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่องคือ 1. ชุมชนชายฝั่งคืออะไร 2. ชุมชนชายฝั่งมีสิทธิอะไร

ฝน เล่าต่อว่า แม้จะมีเกณฑ์ 4 ข้อที่ใช้ประเมินความเป็นชุมชนชายฝั่งไว้แล้วก็ตาม แต่เราคงไม่สามารถทำให้ชาวบ้านตอบทั้ง 4 ข้อได้ “การตั้งคำถามชวนคุย” น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้ทีมได้ข้อมูล วันแรกที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องชุมชนชายฝั่ง จึงแบ่งน้องเป็น 2 กลุ่ม ให้กลุ่มที่เกณฑ์ใกล้เคียงกันอยู่กลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น เรื่องวิถีชีวิตความสมัครใจ และประวัติศาสตร์ชุมชน กลุ่มหนึ่ง และเกณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชนกับการจัดการภายในชุมชนอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง เป้กับมายด์แยกอยู่คนละกลุ่ม มีคำถามที่ทีมงานช่วยกันลิสต์ไว้เป็นแนวทาง 

“การลงพื้นที่ครั้งนี้เหมือนเราไปเป็นนักเรียนของชาวบ้าน เรามีหน้าที่แค่ตั้งคำถาม ชาวบ้านเป็นผู้ให้ข้อมูล สำหรับตัวอย่างคำถามของกลุ่มมายด์ก็มี เช่น ชุมชนนี้ตั้งมาตั้งแต่เมื่อไร คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้อยู่มาแต่เดิมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่แล้วเข้ามาอยู่ตั้งแต่เมื่อไร ทำไมเลือกมาอยู่ที่นี่ ในชุมชนนี้มีทั้งหมดกี่ครัวเรือน การอยู่รวมกันมีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง ส่วนเรื่องความเป็นมา เช่น ชื่อสวนกงได้มาอย่างไร ทำให้เราได้รู้ประวัติศาสตร์ของที่นี่ ว่า มีต้นกงขนาดใหญ่โค้งเป็นเรือ แต่บางคนก็บอกว่า มาจากมีคนจีนอพยพมาอยู่ก่อน เลยเรียกว่า อากง ที่พิสูจน์ผลได้คือที่นี่มีสุสานของคนจีนอยู่” มายด์เล่า 

แม้จะประสานงานกับชาวบ้านไว้เบื้องต้น แต่เมื่อลงพื้นที่จริงทีมงานต้องปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องออกทะเล ต้องละหมาด เป็นบทเรียนการลงชุมชนที่ทำให้ทุกคนได้สัมผัสเงื่อนไขความเป็นจริงของชีวิตชาวบ้าน  ฝน เล่าต่อว่า เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ทีมงานจึงสร้างเงื่อนไขให้น้องๆ แบ่งหน้าที่กันจดประเด็นที่ชาวบ้านเล่า หลังคุยกับชาวบ้านเสร็จช่วงเช้าให้น้องๆ เล่าข้อมูลที่เก็บมาได้ ระหว่างเล่าพวกเราก็จับประเด็นว่า ข้อมูลที่น้องเก็บได้นั้นเข้าเกณฑ์ข้อไหน ตกบ่ายถึงเวลานัดชาวบ้านอีกครั้งก็ให้น้องคนที่จดบันทึกเป็นคนเล่าให้ชาวบ้านฟัง ซึ่งเขาก็เล่าได้ เพราะเป็นข้อมูลที่เขาได้ลงไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ส่วนน้องๆ สะท้อนในเชิงกระบวนการว่า ตอนแรกคิดว่าการลงชุมชนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เมื่อไปแล้วไม่เจอคนเพราะชาวบ้านออกทะเลยังไม่กลับ หรือติดละหมาด ก็ต้องปรับตัวรอ น้องบางคนรู้สึกกลัวที่จะเข้าชุมชน แต่เมื่อได้สัมผัสกับชาวบ้าน ความหวาดกลัวก็หายไป กลับอยากช่วยเหลือมากขึ้น ที่สำคัญการลงชุมชนยังทำให้พวกเขาเห็นปัญหาของกฎหมายในมิติอื่นๆ ที่มากกว่าตัวบทกฎหมายในหนังสือ 

“จริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นเอกเทศ มันต้องมีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเรามองแต่ปัญหาอย่างเดียว โดยไม่สนใจชุมชน ไม่สนใจปัญหาอื่น แล้วเราจะเป็นนักกฎหมายที่ดีได้อย่างไร เราต้องสนใจชุมชนด้วย เราต้องสนใจปัญหาอื่นด้วย เราจึงจะช่วยเขาได้จริง”


บทเรียนจากข้อเท็จจริงของสังคม

สตางค์ สะท้อนประโยชน์ที่ได้รับว่า การได้ลงพื้นที่ชุมชนทำให้เธอรู้จักรับฟังชาวบ้านมากขึ้น แทนที่เราจะดูแค่ตัวบทหรือตัวอักษรทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ในชั้นเรียนไม่มี มันช่วยขัดเกลาความคิดของเรา ทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้น กว้างกว่าการมองแค่สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียน 

เป้ เสริมว่า จริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นเอกเทศ มันต้องมีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเรามองแต่ปัญหาอย่างเดียว โดยไม่สนใจชุมชน ไม่สนใจปัญหาอื่น แล้วเราจะเป็นนักกฎหมายที่ดีได้อย่างไร เราต้องสนใจชุมชนด้วย เราต้องสนใจปัญหาอื่นด้วย เราจึงจะช่วยเขาได้จริง “ในความคิดหนูคิดว่า นักปกครองที่ดีไม่ใช่นั่งอยู่ในห้อง ใน อบต. ในกระทรวง นักปกครองที่ดีต้องรับรู้ถึงปัญหาของชุมชนด้วย คุณเรียนปกครองท้องถิ่น คุณต้องลงไปอยู่กับท้องถิ่นถึงจะรู้ปัญหาตรงนั้น ไม่ใช่ว่านั่งอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมแล้วรอเซ็นเอกสารเท่านั้น” มายด์ สะท้อนมุมมองต่อประโยชน์ของการเรียนรู้ชุมชนในมิติของนักปกครอง

ฝน เสริมต่อว่า การเรียนรู้ในพื้นที่ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า นักกฎหมายไม่ควรหยิ่งว่าตนรู้กฎหมาย แต่กฎหมายเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะรู้และทำความเข้าใจ ถ้าเป็นนักกฎหมายแล้วบอกว่า ทุกคนต้องพึ่งนักกฎหมายมันก็ตาย กฎหมายเป็นศาสตร์ที่ทุกคนควรรู้และใช้ได้ เหมือนที่พวกเราพยายามให้ชุมชนรู้และเข้าใจกฎหมายนั่นเอง 

การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของทีมงาน นอกจากจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกภูมิใจที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านคิดถึงความเป็นชุมชนชายฝั่ง และตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของชายหาด ทั้งในมิติของการใช้ประโยชน์ ความสัมพันธ์ และความทรงจำของผุู้คนในชุมชน เช่น บังลี เคยเรือจม แล้วตอนว่ายน้ำเข้าฝั่ง ชาวบ้านทุกคนมายืนรอรับเขาอยู่ริมฝั่ง แสดงให้เห็นถึงความรักความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นของคนในชุมชน 

ฝน เล่าต่อว่า วันแรกของการลงพื้นที่ทำให้ชุมชนตระหนักถึงความเป็นชุมชน ได้คิดละเอียดถึงสิ่งที่เห็นอยู่ รู้อยู่ แต่ไม่ได้รู้สึกรักและหวงแหน เมื่อได้เล่าให้นักศึกษาฟัง ความรู้สึกท่วมท้นต่อเหตุการณ์บางเรื่องจึงเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการในวันที่สอง ที่ทีมตั้งใจทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในเรื่องสิทธิของชุมชนชายฝั่ง โดยแบ่งการเรียนรู้เป็น 2 ส่วนคือ 1) ส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหา และ 2) ส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนในการใช้สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งทีมใช้ทั้งวิธีการบรรยาย และให้ชาวบ้านทดลองเขียนแบบฟอร์มการยื่นขอข้อมูล หรือยื่นฟ้องเรียกร้องสิทธิ เช่น หากวันหนึ่งมีท่าเรือเกิดขึ้น แต่หาดหายไป เขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ไล่ขั้นตอนให้เขาฟังว่า พวกเขาต้องรู้เนื้อหาก่อนว่า ชุมชนมีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าโดนละเมิดสิทธิ์จะต้องทำอย่างไร 

ทีมงานช่วยกันเล่าว่า สิทธิของชุมชนประกอบด้วย สิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการโต้แย้งแสดงหลักฐาน และสิทธิในการฟ้องรองคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งกระบวนการเรียกร้องสิทธิจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอน 

สำหรับการทำงานในวันที่สองนี้ ฝนและทีมงานออกแบบกระบวนการใหม่ จากวันแรกชาวบ้านพูด นักศึกษาฟัง ก็เปลี่ยนเป็นนักศึกษาบอกเล่าข้อมูลให้ชาวบ้านฟัง ซึ่งกระบวนการนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่รอฟังผู้นำชุมชน มีอะไรให้ไปถามผู้นำชุมชน เขาไม่อยากรับรู้อะไร แต่พอได้ฟังข้อมูลจากนักศึกษาทำให้ชาวบ้านตระหนักรู้ได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ เพื่อเตรียมรับมือกับโครงการที่เกิดขึ้นในอนาคต แต่เรื่องการใช้สิทธิเป็นเรื่องเข้าใจยาก จึงนำกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน เช่น ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจะละเมิดสิทธิของเขาไหม และถ้าละเมิดเขาจะทำอย่างไร เหมือนเป็นการ Post-Test ทั้งนักศึกษาและชาวบ้านไปพร้อมกัน

การจับกลุ่มของนักศึกษากับชาวบ้านในการช่วยกันวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการรัฐ ทำให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่รอพึ่งผู้นำ ขณะเดียวกันก็ทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มตระหนักว่า เรื่องของชุมชนไม่สามารถรอให้ผู้นำจัดการเพียงคนเดียว ชาวบ้านต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะในกระบวนการเรียกร้องสิทธิต้องมีการร้องเรียน แสดงหลักฐาน และติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ เรื่องความเดือดร้อนของชุมชนจึงเป็นเรื่องที่จะทิ้งให้ใครสู้เพียงลำพังไม่ได้

 หลังจากลงพื้นที่ชุมชนสวนกง 2 ครั้ง ทีมงานนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็น “คู่มือชุมชนชายฝั่ง” เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงให้กับชุมชน อีกทั้งยังใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับเผยแพร่สู่ชุมชนอื่นต่อไป โดยในคู่มือจะมีการกำหนดนิยามคำว่าชุมชนชายฝั่ง สิทธิของชุมชนชายฝั่ง วิธีการใช้สิทธิชุมชนทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการ รวมทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนสวนกงซึ่งเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ด้วย

“ยอมรับว่า น้องๆ ที่เข้ามาเป็นทีมทำงานเพราะอยากไปเที่ยวทะเลและอยากกินอาหารทะเล แต่พอเขาได้ลงพื้นที่ ทำให้เขารู้สึกอินกับปัญหา เห็นความสัมพันธ์ของหาดกับชุมชน เด็ก มอ. ค่อนข้างฐานะดี แต่เมื่อไปดูชุมชนที่แทบไม่มีอะไรเลย แม้กระทั่งที่ดิน แต่เขายังมีความสุข และยังทำอะไรเพื่อคนอื่น นี่คือสิ่งที่น้องสะท้อนมา” ฝน 


สรุปผลการเรียนรู้

“ที่ไม่ทิ้งโครงการนี้ เพราะกิจกรรมของคณะอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แต่มันไม่ได้ช่วยสังคม” 


งานที่ต้องสาน ชีวิตที่ต้องจัดการ

สำหรับการศึกษารูปแบบของชุมชนที่มีลักษณะของการรวมกลุ่มของบุคคลนั้น ทีมงานยังไม่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพราะสมาชิกในกลุ่ม Beach for Life ที่ส่วนใหญ่เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาติดสอบ คงทำต่อหลังเปิดเทอม

ใช่แต่ว่าสมาชิกของกลุ่ม Beach for Life ที่จะต้องจัดการชีวิต ทีมงาน แต่ละคนเองก็มีเรื่องราวในชีวิตที่ต้องจัดการและรับผิดชอบในบริบทต่างกัน แต่สิ่งที่สตางค์สะท้อนออกมาแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เธอสังกัด “ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ว่าเรื่องไหนสำคัญมากกว่า ถ้าเราเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เราก็จัดตารางชีวิตให้ได้ เช่น เรื่องเรียนอาจจะสำคัญ แต่รองลงมาจากนั้นเราเห็นอะไรสำคัญ หนูก็มีปัญหาในการจัดการตารางชีวิตบ้าง เพราะทำกิจกรรมหลายอย่าง แต่เอาอยู่” 

ด้านฝนเองก็ยอมรับว่า กิจกรรมในคณะนิติศาสตร์ที่นักศึกษาต้องช่วยกันรับผิดชอบมีไม่น้อย การวางแผนการทำงานจึงต้องเอื้อต่อทั้งทีมงาน และน้องๆ ที่ร่วมเรียนรู้ จึงพยายามนัดหมายประชุมสมาชิกในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน หรือจัดกิจกรรมในวันเสาร์อาทิตย์ “ปีนี้ยอมปล่อยวางได้มากขึ้น อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เหมือนเรามีแผนสำรอง มีการกระจายงานไม่หวงงานเหมือนปีที่ผ่านมา หากมีข้อมูลก็จะถ่ายเอกสารให้ทีมงาน ส่วนใครจะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ เมื่อก่อนเวลากระจายงานแล้วถ้าใครไม่ทำ เราจะทำเตรียมไว้ แต่ตอนนี้ไม่เตรียมแล้ว ปล่อยเลย” ฝนเล่าถึงการปรับตัวของตนเอง

ส่วนมายด์ สะท้อนว่า คณะเธอกิจกรรมเยอะมาก บางครั้งประชุมกับที่นี่เสร็จก็เข้าร่วมกิจกรรมที่คณะต่อ ที่ไม่ทิ้งโครงการนี้ เพราะกิจกรรมของคณะอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แต่มันไม่ได้ช่วยสังคม บทเรียนการเรียนรู้สำคัญของทีมงานในปีนี้คือ การเรียนรู้ชุมชนที่เปิดโลกของนักกฎหมายที่คร่ำเคร่งอยู่ในตำราให้ได้สัมผัสกับความเป็นจริงของสังคม อันจะเป็นฐานสำคัญต่ออาชีพนักกฎหมายในอนาคต 

สำหรับ สตางค์ เธอเล่าความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ในปีนี้ เรื่องหลักๆ คงเป็นความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิชุมชนและความเป็นชุมชนชายฝั่ง แต่สิ่งที่ได้เหนือความคาดหมายคือ กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านที่ต่างเป็นครูซึ่งกันและกัน คนส่วนใหญ่ที่เรียนหนังสือ มักคิดว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาก็มีความรู้ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของเขา ส่วนเราก็มีความรู้แบบของเรา กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้ดีมาก เพราะทำให้เราเปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ทันที

ขณะที่เป้นั้น บอกว่า แม้จะเรียนคณะนิติศาสตร์ แต่ถ้าไม่ได้ทำโครงการนี้ เขาอาจจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิชุมชนเลย การได้สัมผัสกับชาวบ้านทำให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริงของสังคมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย “ที่สำคัญเราได้ซึมซับวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ต้องออกทะเลหาปลาว่า ทำไมเขาถึงหวงแหนพื้นที่มากขนาดนั้น ทำไมเขาถึงรักกัน ทำไมเขายังอยู่ในที่ที่มีแต่ปัญหา ไม่ยอมไปไหน ยังอยู่สู้กับปัญหา จริงๆ แล้วถ้าเราอยู่เฉยๆ เราก็แพ้กับปัญหาอยู่ดี แต่การที่ลุกขึ้นมาต่อสู้มันอาจจะทำให้เราชนะกับปัญหาก็ได้”

ส่วนฝนมีมุมมองของการเรียนรู้ที่ต่างออกไปจากแง่มุมของกฎหมาย ว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เธอได้อยู่แล้ว แต่ที่ได้เรียนรู้เพิ่ม คือ การเรียนรู้จากเพื่อนร่วมทีม ที่ทำให้เธอ “ช้าลง” เข้าใจคำว่า “นำร่วม” และยอมรับฟังคนอื่นมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ฟังแบบปล่อยให้เขาพูดจบ แต่ฟังแล้วเอามาคิดจริงๆ เวลามีปัญหาก็ให้เพื่อนรับรู้พร้อมกัน จากที่ปีแรกเครียดอยู่คนเดียว ภูมิใจมากที่ปีนี้เราได้เปิดพื้นที่ให้เพื่อนๆ น้องๆ ได้แสดงศักยภาพเต็มที่ แล้วเราก็ได้เห็นว่าเขาทำได้ และทำได้ดีด้วย

สำหรับแผนงานต่อจากนี้นอกจากการเรียนรู้ชุมชนรูปแบบกลุ่มกับกลุ่ม Beach for Life การทำคู่มือของชุมชนสวนกง ทีมยังมีแผนการสร้างการรับรู้กับสาธารณชนเกี่ยวกับคำว่าชุมชนชายฝั่ง โดยตั้งใจจะจัดเวทีสาธารณะร่วมกับชุมชนสวนกง เรื่องสิทธิชุมชน และคาดหวังว่าในปีต่อไปข้อมูลที่ได้จากการทำโครงการตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลการติดตามระบบนิเวศชายฝั่งของกลุ่ม Beach for Life แล้วจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนแผนการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ ซึ่งทางทีมงานก็ได้ส่งตัวแทนร่วมกับตัวแทนกลุ่ม Beach for Life ต่อยอดการทำงานในมิติของงานวิจัยที่กำลังจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 

“ที่ดีใจที่สุดในการทำโครงการนี้คือ การที่เราได้สร้างนักศึกษาที่เห็นปัญหาของสังคม รู้สึกรู้สากับชุมชน พอเขารู้สึกแล้วเขาอาจจะเอาปัญหานี้ไปคิดต่อ เมื่อเรียนจบแล้วเขาอาจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในชุมชนได้บ้าง คำว่า “นักกฎหมายที่ดี” ที่เราใช้ตั้งแต่ปีแรกของการทำโครงการ เราก็เพิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งในปีนี้ ว่าต้องเป็นอย่างไร” ฝนเล่าทิ้งท้ายอย่างมีความสุข 


ที่ปรึกษาผู้อยู่เคียงข้าง

“ผลกระทบต่อสังคมโดยรวมจากการทำงานของโครงการนี้ เป็นการกระตุ้นให้สังคมสนใจประเด็นกฎหมายที่ชุมชนบางแห่งถูกริดรอนสิทธิ ในขณะที่ชุมชนสวนกงนั้น การเข้าไปของนักศึกษากฎหมายก็ได้สร้างความสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่า สถาบันการศึกษายังเป็นที่พึ่งพาได้ในยามที่เขาประสบปัญหา 

ซึ่งเป็นโจทย์ของคณะนิติศาสตร์ที่อาจจะเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือชุมชนต่อไป” อาจารย์เอ-ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รับบทบาทที่ปรึกษาโครงการเพราะรู้จักคุ้นเคยกับฝนตั้งแต่ทำงานในกลุ่ม Beach for Life เล่าว่า เป็นที่ปรึกษาเชิงตั้งรับมากกว่า การทำงานส่วนใหญ่ทีมงานคิดและทำเอง มีปัญหาจึงเข้ามาปรึกษาและขอคำแนะนำ

อาจารย์เอสะท้อนว่า ประเด็นที่ทีมงานขับเคลื่อนในโครงการเป็นเรื่องยาก เพราะการเรียนวิชากฎหมายตลอดระยะเวลา 4 ปีในระดับปริญญาตรี เป็นการเรียนกฎหมายขั้นพื้นฐาน เพื่อให้รู้จักแนวคิดหลักของกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นกฎหมายเฉพาะบางเรื่อง เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงวิชาเลือก ประกอบกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจในแวดวงของนักศึกษากฎหมาย แม้ความสำเร็จเป็นรูปธรรมจะจับต้องได้ยาก แต่ความสำเร็จของการทำงานในแง่ของนามธรรม ที่หมายถึงแนวคิดเรื่องสร้างกลุ่มนักกฎหมายรุ่นใหม่ขึ้นมา เป็นสิ่งที่อาจารย์เอบอกว่า มีความก้าวหน้าในระดับที่น่าพอใจ

“ตอนที่เขามาหารือเพื่อขอให้เป็นที่ปรึกษา ผมได้พูดคุยกับเขาเหมือนกัน เพราะข้อจำกัดคือ โจทย์ยากมาก มันมีข้อจำกัดทั้งเรื่องแนวคิด และตัวทีมงานเองที่ต้องเรียนรู้อีกมาก ต่อให้เขาเข้าใจ แต่การทำโครงการที่ผูกติดกับเรื่องกฎหมาย มันไม่เห็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนการไปรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่เห็นเนื้องานชัดเจน แต่โครงการของเขาเป็นการทำให้แนวคิดกฎหมายชัด เป็นการดึงนักเรียนกฎหมายให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื้องานมันทำให้เป็นรูปธรรมได้ยาก แต่เขาก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจ พยายามทำกันมาจนถึงปีนี้ ผมถือว่าเก่งมาก

บทบาทของที่ปรึกษา อาจารย์เอเล่าอย่างถ่อมตนว่า ไม่มีค่อยเวลา เป็นที่ปรึกษาในเชิงตั้งรับ แต่สิ่งที่ช่วยนอกเหนือจากการพูดคุยให้คำปรึกษายามทีมประสบปัญหาคือ ช่วยดูตัวโครงการ แผนงาน ว่า มีความชัดเจนในแง่มุมของกฎหมายหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการให้ความรู้แก่ทีมงาน ติดตามลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ที่ปรึกษาที่ทำให้ลูกศิษย์อุ่นใจว่า มีที่พิงหลัง ไม่โดดเดี่ยวในการทำงาน

“ผมพยายามเอาใส่ใจเท่าที่ทำได้ ถ้าตัวโครงการสำเร็จก็ต้องบอกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากตัวนักศึกษาเอง ส่วนประเด็นที่บอกว่าเป็นที่พิงหลัง ต้องบอกว่า การจะขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิชุมชน เพื่อให้ชุมชนตระหนักว่า เขาก็มีสิทธิตามกฎหมายนั้น อย่าว่าแต่ชุมชนเลย แม้กระทั่งนักกฎหมายหรือคนที่ทำงานด้านกฎหมาย ทนายความจำนวนมากยังไม่เข้าใจเลยว่า สิทธิชุมชนคืออะไร เพราะฉะนั้นเขาเจอปัญหาแน่ๆ แล้วเวลาเขาเจอปัญหา ไม่แน่ใจ มองไม่เห็นว่าจะเดินต่ออย่างไร เขาจะเดินมาถาม บางอย่างผมตอบได้ก็จะช่วยตอบ ช่วยแนะนำ หากตอบไม่ได้ก็แนะนำท่านอื่น เราจะช่วยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างหลัง แต่ให้เขาเดินไปด้วยตัวเขาเอง” 

เพราะติดตามอย่างใกล้ชิด อาจารย์จึงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของทีมงาน ว่า ในฐานะนักศึกษากฎหมายพวกเขามีความรู้ความเข้าใจตัวกฎหมายลึกมากขึ้น แตกต่างจากเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ที่ไม่เข้าใจวิถีของการบังคับใช้กฎหมายที่มีข้อจำกัดอยู่ในกฎหมายแต่ละประเภท นอกจากนี้ทักษะการเข้าชุมชนยังเป็นทักษะสำคัญที่เป็นพื้นฐานของความเข้าใจสังคม และเป็นฐานสำคัญของการพิจารณาใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในอนาคต การทำงานของทีมงานสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะนิติศาสตร์ และเป็นตัวกระตุ้นให้อาจารย์ เพื่อนๆ ในคณะเห็นว่า การเรียนกฎหมายที่ออกไปสู่สังคมเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของการเรียนกฎหมายในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่มีวิธีการเรียนกฎหมายโดยการท่องตำราเพียงอย่างเดียว 

ในงานสัมมนาของนิติศาสตร์ทุกครั้ง เราพูดกันว่า ต้องนำนักศึกษาออกไปสู่สังคมมากขึ้น มีการเสนอวิธีการเรียนกฎหมายแบบใหม่ที่เรียกว่า การศึกษากฎหมายเชิงคลินิกกฎหมาย ซึ่งคณะต้องพานักศึกษาไปทางนั้น แต่กลุ่ม Law Long Beach นี้เขานำคณะไป คือเขาออกไปสู่สังคมแล้ว เขาจะรู้กฎหมายมากน้อยแค่ไหน เขาไม่สน พอเขาออกไป ทำให้เราต้องออกไปด้วย อย่างผมไม่เคยรู้จักชุมชนสวนกงมาก่อน ก็ได้ไปสนับสนุนงานของเขา ในแง่ของคณะเรามองเห็นแนวทางที่เราอยากจะส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมลักษณะนี้ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องหาดก็ได้”

ส่วนผลกระทบต่อสังคมโดยรวมจากการทำงานของโครงการนั้น อาจารย์เอมองว่า เป็นการกระตุ้นให้สังคมสนใจประเด็นกฎหมายที่ชุมชนบางแห่งถูกริดรอนสิทธิ ในขณะที่ชุมชนสวนกงนั้น การเข้าไปของนักศึกษากฎหมายก็ได้สร้างความสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่า สถาบันการศึกษายังเป็นที่พึ่งพาได้ในยามที่เขาประสบปัญหา ซึ่งเป็นโจทย์ของคณะนิติศาสตร์ที่อาจจะเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือชุมชนต่อไป

“ถามว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากโครงการนี้ ตอบยาก เพราะผมได้เรียนรู้เยอะมาก โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นที่ปรึกษา ที่ต้องเดินคู่ไปกับพวกเขา ปกติคนเป็นครูมักจะลืมตัว เวลาจะทำอะไรจึงมักจะเป็นการสั่งมากกว่า การทำงานกับเด็กทำอย่างไรให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ให้มาก ก็ต้องปล่อยให้เขาคิดเอง ลองผิดลองถูก มีปัญหาแล้วกลับมาถาม อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้คือ ทำให้เราได้ออกไปสู่สังคม ได้สัมผัสกับปัญหาที่แท้จริงผ่านการทำงานของเขา นอกจากตัวเขาเรียนรู้ผมก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา แต่ที่ได้มากที่สุดและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณะคือ ทำให้เราได้เห็นข้อมูลจริงๆ ว่า งานที่นักศึกษาทำหลายเรื่อง เรายังไม่สามารถตอบสนองเขาได้ คิดว่ากระบวนการบางอย่างควรเข้าสู่ระบบของคณะในเรื่องของการบริการวิชาการ เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย หรือการให้คำปรึกษาในทางคดี เมื่อเขามีปัญหาในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่คณะพยายามจะขับเคลื่อนอยู่” 

ล่าสุดคดีที่กลุ่ม Beach for Life กลุ่ม Law Long Beach และชุมชนเก้าเส้งร่วมกันฟ้องศาลปกครองนั้น ผลปรากฎว่า ศาลปกครองตัดสินให้ชนะคดี ซึ่งคำพิพากษานี้ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเกิดผลต่อสังคม คือ การที่คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการของรัฐ ใช้สิทธิของตนเองฟ้องคดี ในความรู้สึกของคนทั่วไปอาจจะมองว่า การไปเป็นคดีความกับรัฐโดยที่ตัวเองไม่ได้อะไร เป็นการแกว่งเท้าหาเสี้ยน แต่การชนะคดีครั้งนี้ก็ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน

นักศึกษาที่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาท่องตำราเรียน เพื่อสอบได้คะแนนดีๆ มีโอกาสเติบใหญ่ในเส้นทางอาชีพ แม้วันนี้การทำงานจะไม่ได้มีผลต่อการเรียนมากนัก แต่ความรู้สึกรู้สากับเรื่องราวของชุมชนสังคมที่ถูกสั่งสมเป็นประสบการณ์ในเนื้อในตัวของทีมงานแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อได้ว่าในอนาคตเมื่อเยาวชนกลุ่มนี้ก้าวสู่เส้นทางการทำงานในอาชีพต่างๆ เราจะมีนักปกครอง สัตวแพทย์ และนักกฎหมายที่รู้จักปรับใช้ความรู้ในวิชาชีพตอบสนองต่อปัญหาของสังคมได้อย่างแท้จริง 


โครงการ :  Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืนปีที่ 2

ที่ปรึกษา : โครงการอาจารย์ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ทีมทำงาน : นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์

( อลิสา บินดุส๊ะ ) ( อัษาพงศ์ ฉิมมณี ) ( กชมา อุดมศิลป์ ) ( มธุรดา ปันวิวัฒน์ ) ( เกษราภรณ์ เกียรติ เฉลิมลาภ ) 

ชั้นปีที่ 1 เอกรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการการจัดการ

( ฐิติรัตน์ วิริต )

ชั้นปีที่ี 1 คณะสัตว์แพทย์

นิดานิส หะยีวามิง )