การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ โรงเรียนวัดท่านางหอม จังหวัดสงขลา ปี 4

สอนน้องให้อ่านเขียน พี่ได้เรียนความเป็นครู

โครงการพี่สอนน้องอ่านเขียน

เป็นครั้งแรกที่ได้ไปสอนจริงๆ ...พอได้มีโอกาสสอนจริงก็รู้สึก “รักในอาชีพครูจริงๆ” จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นครู เรียนตามใจที่บ้านไม่ได้ซาบซึ้งกับการเรียนครูเท่าไร ตอนอยู่ปี 1 อาจารย์ถามว่าใครอยากเป็นครูบ้าง เรายังไม่มีความรู้สึกนั้น ก็ตอบว่าไม่อยาก แต่ตอนนี้รักและอยากเป็นครูมาก

จากนโยบายของรัฐบาลในปี 2558 ที่ต้องการให้ประเทศไทยปราศจากเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ บวกกับประสบการณ์ค่ายหลายครั้งที่พบว่าเด็กไทยมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียน กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งประกอบด้วย กระต่าย-ศศิวิมล ณะวาโย แอม- ภัทราพันธ์ พูลเอียด รส-ปัทมา หอมกลิ่น จึงรวมตัวกันทำโครงการพี่สอนน้องอ่านเขียน เพื่อนำทักษะวิชาชีพครูที่มีอยู่เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

“ทีมงานออกแบบโครงสร้างการทำงานให้มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้องในคณะร่วมทีม ด้วยตั้งใจว่าหากรุ่นพี่เรียนจบจะได้มีคนขับเคลื่อนงานต่อ จึงคัดสรรน้องชั้นปี 3 ในกลุ่มที่เคยออกค่ายเคยเห็นฝีมือการทำงาน รู้จักรู้ใจ และเห็นพฤติกรรมกันมาร่วมงาน...เป็นผู้ช่วยในทุกหน้าที่เพื่อซึมซับวิธีการทำงาน” “พวกเราทุกคนเป็นเด็กกิจกรรม ชอบทำค่าย 

ไปค่ายทุกครั้งที่มีโอกาส เวลาไปทำค่ายปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ เด็กมีปัญหาเรื่องการอ่าน เขียน เลยคิดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พวกเราเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการครูเพื่อศิษย์ที่พี่ๆ เพื่อนๆ ในคณะทำอยู่แล้ว เมื่อได้สัมผัสกับสถานการณ์เด็กนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงอยากหาทางแก้ปัญหา”

สถานการณ์ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ที่พบมีความรุนแรงมากในทัศนะของทีมงาน โดยเฉพาะเมื่อพบเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อ่านพยัญชนะภาษาไทย ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกไม่ได้ ไม่นับรวมนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่มีสภาพการเรียนรู้ที่กะพร่องกะแพร่งตั้งแต่ อ่านไม่คล่อง อ่านไม่ได้เลย อ่านออกแต่เขียนไม่ได้ สะกดคำไม่เป็น ไม่รู้จักพยัญชนะบางตัว เช่น ไม่รู้จักตัว ฐ เพราะที่ผ่านมาใช้การท่องจำ 

แต่เมื่อชี้ไปที่ตัวอักษรจะไม่สามารถบอกได้ว่าคือ ตัวอะไร หรือถ้าให้อ่านจาก ฮ.นกฮูกย้อนกลับมา ก.ไก่ ก็จะอ่านไม่ได้ ทั้งๆ ที่มาตรฐานการศึกษาในระดับประถมศึกษามีเกณฑ์ว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ควรจะรู้จักพยัญชนะ สามารถผสมคำง่ายๆ ได้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เริ่มสร้างประโยคง่ายๆ ได้ ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านและสื่อสารภาษาไทยได้ แต่ปัจจุบัน กระทั่งเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็ยังมีบางคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

เมื่อตั้งใจแล้วว่าจะสอนน้องให้อ่านออกเขียนได้ ทีมงานจึงออกแบบโครงสร้างการทำงานให้มีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้องในคณะร่วมทีม ด้วยตั้งใจว่าหากรุ่นพี่เรียนจบจะได้มีคนขับเคลื่อนงานต่อ จึงคัดสรรน้องชั้นปี 3 ในกลุ่มที่เคยออกค่ายเคยเห็นฝีมือการทำงาน รู้จักรู้ใจ และเห็นพฤติกรรมกัน มาร่วมงาน โดยกระต่ายรับหน้าที่มองภาพรวม รสประสานงานกับโรงเรียน แอมทำเอกสารและดูแลอุปกรณ์ ส่วนน้องปี 3 เป็นผู้ช่วยในทุกหน้าที่เพื่อซึมซับวิธีการทำงาน 


เข้าใจสภาพปัญหา

ทีมงานเลือกโรงเรียนวัดท่านางหอม จากตัวเลือก 5 โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองสงขลา เพราะใกล้มหาวิทยาลัยที่สุดเพียง 10 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ด้วยระยะเวลาไม่นาน เป็นโรงเรียนที่รุ่นพี่ในคณะเคยไปฝึกสอนวิชาดนตรีไทยมาก่อน นักเรียนมีปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งโรงเรียนกำลังหาวิธีการแก้ไข

โรงเรียนวัดท่านางหอมเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก มีผู้อำนวยการและครูรวมกัน 8 คน เด็ก 108 คน มีครูครบชั้น แม้จำนวนนักเรียนแต่ละชั้นจะมีไม่มากคือ 10-20 คน แต่ด้วยภารกิจอื่นๆ และครูจบไม่ตรงสาขา บางครั้งจึงต้องให้นักเรียนเรียนรู้กับครูตู้ (รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา) ซึ่งกระต่ายสะท้อนความรู้สึกจากการได้เห็นบริบทการเรียนการสอนว่า “การที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปัญหาน่าจะมาจากครตู้ จริงๆ ครูตู้ไม่เหมาะกับเด็กประถมศึกษา เพราะเขายังตามไม่ทัน ครูตู้ต้องใช้กับเด็กระดับหัวกะทิจึงจะได้ผล”

เมื่อปัญหาของโรงเรียนสอดคล้องกับเป้าหมายโครงการ การขออนุญาตเข้าไปทำกิจกรรมจึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากคณะครู 

กระต่ายเล่าว่า เป้าหมายของโครงการที่ชี้ชัดไปที่การทำให้เด็กนักเรียนอ่านออกเขียนได้ และนักศึกษาได้พัฒนาทักษะความเป็นครู แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาโครงการโดยสงขลาฟอรั่ม ที่คณะกรรมการตั้งข้อสังเกตถึงความยั่งยืนของโครงการหลังสิ้นสุดการทำงาน ทำให้ทีมงานต้องกลับมาพิจารณาถึงแนวทางสร้างระบบและแกนนำนักเรียนในโรงเรียน เพื่อสานต่อกิจกรรมพี่สอนน้องในโรงเรียนต่อไป สำหรับสถานการณ์ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในโรงเรียนวัดท่านางหอมที่คณะครูในโรงเรียนประเมินไว้คือ มีนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยากจะพัฒนาทักษะ คือนักเรียนชั้น ป.3-6 รวมกันประมาณ 80 คน

“กิจกรรมการสำรวจถูกออกแบบให้เป็นค่าย 3 วัน 2 คืน...ต้องการให้ทีมงานทั้งหมดที่ต่างคนต่างมาได้ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยเพื่อทำงานร่วมกันต่อไป และต้องการให้ทีมงานได้สัมผัสถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน รวมทั้งสร้างสัมพันธภาพกับน้องนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย” 


เส้นทางเรียนรู้ความเป็นครู

กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของโครงการคือ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ที่ทีมงานตั้งใจพัฒนาทักษะความเป็นครู จึงประกาศรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วม รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากต่างคณะเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกัน โดยตั้งเป้าไว้จำนวน 35 คน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากน้องๆ ชั้นปีที่ 1 เป็นส่วนใหญ่ 

โดยทีมงานได้ชี้แจงที่มาที่ไป เป้าหมายของโครงการ พร้อมย้ำให้สมาชิกรู้เนื้อรู้ตัวว่า การทำโครงการนี้ต้องลงพื้นที่หลายครั้ง บางคนอาจจะไม่ได้กลับบ้านในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม เพื่อประกอบการตัดสินใจ จนได้สมาชิกครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมีทั้งเอกภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย รวมทั้งเพื่อนนักศึกษาจากคณะวิทยาการจัดการ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเป้าหมายโครงการชัด ทีมงานจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้กับสมาชิก ด้วยการพากันไปสำรวจกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 ในโรงเรียนวัดท่านางหอม ทั้งบริบทโรงเรียน สภาพนักเรียน และสังเกตการณ์การเรียนการสอน เพื่อให้สมาชิกตระหนักถึงปัญหาและรู้ว่าพวกเขาต้องพบเจออะไรบ้างในอนาคต

กิจกรรมการสำรวจถูกออกแบบให้เป็นค่าย 3 วัน 2 คืน ทั้งทีมงานและสมาชิกกว่า 40 คน ยกทีมไปกิน ไปนอน ไปสังเกตการณ์ และจัดกิจกรรมร่วมกับน้องนักเรียน กระต่ายเล่าเบื้องหลังการออกแบบกิจกรรมนี้ว่า ต้องการให้ทีมงานทั้งหมดที่ต่างคนต่างมาได้ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยเพื่อทำงานร่วมกันต่อไป และต้องการให้ทีมงานได้สัมผัสถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน รวมทั้งสร้างสัมพันธภาพกับน้องนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยทีมงานจัดให้มีกิจกรรมฐานการเรียนรู้ ที่สอดแทรกการประเมินทักษะด้านภาษาไทยไว้ด้วย 

ก่อนจัดค่าย ทีมงานได้จัดประชุมออกแบบกระบวนการ แบ่งกลุ่มและแบ่งบทบาทหน้าที่ของสมาชิก มอบหมายให้แต่ละกลุ่มคิดเกมเพื่อประเมินการเรียนรู้ภาษาไทย และซักซ้อมทดลองเล่นจริง โดยร่วมกันประเมินว่าเกมนั้นควรปรับแก้ตรงไหนอย่างไร กิจกรรมวันแรกเริ่มต้นด้วยกิจกรรมนันทนาการที่สร้างความสนุกสนานให้พี่กับน้องได้เป็นอย่างดี หลังรู้จักกันดีแล้ว พี่ๆ ก็พาน้องนักเรียนเข้ากิจกรรมเวียนฐาน 5 ฐานคือ รักน้องประคองแก้ว (เกมส่งแก้วน้ำ) ผจญภัยในความมืด แต่งฉันซิ ใบ้ฉันสิ และสุภาษิตคำพังเพย โดยแต่ละฐานน้องนักเรียนจะต้องอ่านกติกาให้ดี ส่วนทีมงานที่ประจำอยู่ฐานละ 7 คน จะแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ทั้งนำเกม สังเกตพฤติกรรมของนักเรียน และจดบันทึกความสามารถในการอ่านของน้องแต่ละคน

ที่ออกแบบเป็นฐานการเรียนรู้แบบนี้ เพื่อจะได้สังเกตพฤติกรรมของน้องอย่างใกล้ชิด เพราะเวลาน้องทำกิจกรรมเขาจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ถ้าวัดความรู้เลยเด็กจะเบื่อ เราอยากให้ภาพแรกที่น้องมองเราคือความสนุกสนาน ให้เขาชื่นชอบเราก่อน” กระต่ายบอกถึงแนวคิดในการออกแบบเกม วันสุดท้ายจึงเป็นการทำแบบทดสอบการอ่านเขียน เช่น เขียนตามคำบอก เติมคำในช่องว่าง การอ่าน และการแต่งเรื่องจากภาพ เพื่อนำผลการทดสอบที่ได้ไปวิเคราะห์ จัดกลุ่มอาการของปัญหา

กระต่าย เล่าถึงบรรยากาศในการจัดค่ายว่า ตอนลงพื้นที่ครั้งแรกขลุกขลักนิดหน่อย เพราะน้องนักศึกษาไม่เคยทำโครงการมาก่อน พอพักเที่ยงจึงชวนกันถอดบทเรียนว่า เจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อหาทางปรับแก้


วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย

รส บอกว่า หลังจบค่าย ทีมงานจัดประชุมสมาชิกทั้งหมดช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน

พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 บางคนยังขาดแรงจูงใจในการเรียนหนังสือ ห่วงเล่น ไม่ตั้งใจเรียน แม้ใช้การสอนตัวต่อตัวก็จะตั้งใจแค่ชั่วครู่ ไม่รู้จักตัวอักษร ไม่พยายามอ่าน พี่ๆ ที่จะเข้าไปสอนต้องพยายามสร้างสัมพันธ์ให้เกิดความสนิทสนม เพื่อดึงดูดให้นักเรียนมีความพยายามและตั้งใจเรียนมากขึ้น ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความสามารถในการอ่านได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีอ่านไม่คล่องบ้าง เขียนยังผิดอยู่ ส่วนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ครูประจำชั้นค่อนข้างดุนิดหนึ่ง จึงมีเด็กที่อ่านไม่ออกอยู่บ้าง ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แม้ส่วนใหญ่จะเก่ง แต่นักเรียนหญิงยังค่อนข้างอ่อน นักเรียนชายจะอ่านคล่องกว่า 

ก่อนเข้าไปจัดการเรียนการสอนเสริมให้กับทางโรงเรียน ทีมงานได้หารือกับอาจารย์ในคณะเพื่อจัดอบรม พื้นฐานภาษาไทย 1 วันเต็ม ให้สมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และบางส่วนเป็นนักศึกษาต่างคณะ  “การอบรมเริ่มตั้งแต่การจับปากกา จับดินสอ หลักการเรื่องพยัญชนะ วรรณยุกต์ การผันเสียง การสะกด การแตกรูปประโยค ฯลฯ สาเหตุที่ต้องเรียนรู้หลักการที่ถูกต้องก็เพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้อาจารย์ยังได้มอบคู่มือการสอนให้ทีมงานไว้ใช้ทบทวนเวลาเกิดปัญหา” แอม บอกเล่ากระบวนการอบรม

ก่อนลงพื้นที่สอนจริง ทีมงานนำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาจัดกลุ่มเป้าหมายได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มแกนนำนักเรียน คือกลุ่มที่อยู่ในระดับดี อ่านออก เขียนได้เก่ง 2. กลุ่มปกติ คือ กลุ่มที่อ่านเขียนได้แต่ยังมีผิดอยู่บ้าง และ 3. กลุ่มอ่อน คือ กลุ่มที่มีปัญหาในการอ่านและเขียนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการทำงาน 

“ตอนเราไปสำรวจน้องนักเรียนไม่รู้ว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหน แต่พอไปสอนน้องเราจะบอกให้น้องรู้ตัว เพื่อที่เขาจะได้ตั้งใจเรียน เช่น กลุ่มแกนนำเราจะบอกเขาว่า ถ้าพี่สอนแล้ว น้องต้องไปสอนเพื่อนต่อนะ ส่วนกลุ่มเป้าหมาย เราคุยกับน้องว่า น้องอยากอ่านหนังสือออกไหม ถ้าอยากน้องต้องตั้งใจเรียนกับพี่นะ” รสเล่า

“แม้ว่าเป้าหมายของโครงการคือ การพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ให้แก่น้องๆ แต่เมื่อพบปัญหาอื่นๆ เช่น วิธีการเรียนการสอนกับครูตู้ ทีมงานก็ไม่นิ่งดูดาย อาสาเข้ามาช่วยสอนทุกวิชาที่สามารถสอนได้ โดยใช้เวลาช่วงเช้าของการลงพื้นที่แต่ละครั้งสอนวิชาต่างๆ เพิ่มเติม”


สอนด้วยใจ

กระต่าย เล่าต่อว่า ทีมงานขอใช้เวลาช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 14.00 -16.00 น. จัดกิจกรรมเสริมทักษะภาษาไทยให้แก่น้องๆ ในโรงเรียนวัดท่านางหอม โดยวางแผนลงพื้นที่ทั้งหมด 4 ครั้ง แม้ว่าเป้าหมายของโครงการคือ การพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ให้แก่น้องๆ แต่เมื่อพบปัญหาอื่นๆ เช่น วิธีการเรียนการสอนกับครูตู้ ทีมงานก็ไม่นิ่งดูดาย อาสาเข้ามาช่วยสอนทุกวิชาที่สามารถสอนได้ โดยใช้เวลาช่วงเช้าของการลงพื้นที่แต่ละครั้งสอนวิชาต่างๆ เพิ่มเติม

แต่การเลือกว่าใครจะได้สอนน้องคนไหน หรือกลุ่มใดนั้น เป็นเรื่องของโชคชะตาจัดสรร เพราะกระบวนการที่ทีมงานออกแบบคือ นำรายชื่อนักเรียนมาให้แต่ละคนจับจองว่าจะสอนคนไหน เลือกแล้วถึงบอกว่านักเรียนคนนั้นอยู่กลุ่มใด

“เราแบ่งพี่ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มตามเด็ก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีนักศึกษาเอกภาษาไทยอยู่ด้วย แต่วิธีการสอนของแต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มที่เก่งหน่อยจะเน้นการแต่งเรื่อง ใช้พี่นักศึกษา 2 คน สอนเด็กที่มีอยู่ 3-4 คน ส่วนกลุ่มปกติ มีนักเรียนประมาณ 10-11 คน มีพี่ 4-5 คนช่วยกันสอน ที่เหลือเป็นกลุ่มเป้าหมายมีชั้นละประมาณ 10 คน ใช้วิธีสอนตัวต่อตัว กลุ่มนี้จะมีพี่ครบตามจำนวนเด็ก การสอนไม่มีการคละเด็กรวมชั้น เพราะคิดว่าแต่ละชั้นมีสาระวิชาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเด็กไม่ควรเรียนรวมกัน” รสเล่า

สำหรับกระบวนการเรียนการสอน ครั้งแรกทีมงานแบ่งกลุ่มนักเรียนตามอาการที่ได้จำแนกไว้ ในกลุ่มแกนนำและกลุ่มปกติมีพี่ที่ทำหน้าที่สอน 5-6 คน อีกคนหนึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์เรียนการสอน ส่วนกลุ่มอ่อนจัดให้พี่สอนประกบน้องรายคน ส่วนการสอนครั้งที่ 2 ทีมงานไม่ได้เน้นการสอนเชิงวิชาการ แต่ใช้วิธีทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งก่อน จากนั้นจึงเสริมด้วยกิจกรรมที่ทำให้ต้องอ่านและเขียน ส่วนการสอนครั้งที่ 3-4 ทีมงานเน้นการสอนทักษะภาษาไทยเหมือนครั้งแรก โดยพยายามย้ำให้นักเรียนทบทวนบทเรียนด้วยตนเอง พร้อมทั้งขอให้ครูประจำชั้นช่วยทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมออีกทางหนึ่ง

แอม บอกต่อว่า หลังลงพื้นที่สอนแต่ละครั้ง เมื่อกลับถึงมหาวิทยาลัย ทีมงานทั้งหมดจะร่วมกันสรุปบทเรียนการทำงาน เพื่อปรับปรุงวิธีจัดการเรียนรู้ ซึ่งปัญหาที่พบในครั้งแรกคือ ทีมงานไม่สามารถสอนได้ตามแผนการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ 

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือ น้องท่อง ก-ฮ ไม่ได้เลย สระก็ไม่ได้ ทีมงานบางคนไปครั้งแรกร้องให้สงสารน้องที่เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก” รสเล่าบรรยากาศ ปัญหาที่พบแม้จะทำให้ทีมงานเสียน้ำตา หรือตกใจกับสภาพความอ่อนแอทางวิชาการ จนเกิดภาวะเครียด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทีมงานคนใดท้อจนขอถอนตัว แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันพยายามหาหนทางช่วยสอนให้น้องๆ นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ทั้งทบทวนคู่มือการสอนที่เคยได้รับมา และแสวงหาวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติม

“วิธีการสอนกลุ่มเป้าหมายที่พี่แต่ละคนออกแบบไว้จะแตกต่างกัน เช่น น้องแอลดีเขาจะไม่ชอบอยู่นิ่งๆ พี่ก็จะใช้วิธีเอากระดาษรูปตัว ก ไปซ่อนไว้ แล้วให้น้องไปหา เล่นเป็นเกม เป็นต้น บางคนก็เอา App ก-ฮ ไปใช้ คือทุกคนต้องหาวิธีการของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้น้องสนใจเรียน” กระต่ายเล่า “นอกจากสอนภาษาไทยที่เป็นกิจกรรมหลักแล้ว ทีมงานยังต้องเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็กๆ ด้วย เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้รับการดูแลที่ดี จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร พูดจาไม่สุภาพ บางคนพัฒนาไปในทางลบถึงขั้นต้มน้ำกระท่อมเป็นเลยทีเดียว เมื่อเห็นถึงเงื่อนไขชีวิตที่เด็กๆ ประสบ พี่ๆ แต่ละคนก็จะเข้าใจ พร้อมให้ความสนิทสนม ใส่ใจสอน ใส่ใจดูแล เพื่อชักจูงให้เด็กๆ ออกจากพื้นที่เสี่ยง”


สอนวิชาการและวิชาชีวิต

นอกจากปัญหาที่เด็กๆ อ่อนในวิชาการแล้ว ทีมงานพบว่า การขาดแรงบันดาลใจในการเรียนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้ การชวนน้องคุยเรื่องอาชีพในฝันคือ การสร้างแรงบันดาลใจอย่างหนึ่ง โดยทีมงานจะชวนน้องที่ตนดูแลคุยว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร ซึ่งเด็กๆ จะรู้จักอาชีพไม่กี่อย่าง เช่น หมอ พยาบาล ครู พี่ๆ ก็จะกระตุ้นโดยแนะนำว่า ยังมีอาชีพอื่นอีกมากมาย แล้วจูงใจน้องต่อว่า ถ้าอยากทำอาชีพนั้นๆ ต้องตั้งใจเรียน การพูดคุยเรื่องอาชีพในฝันทำให้ทีมงานค้นพบความจริงที่โหดร้ายของชีวิต 

“ให้น้องวาดภาพอาชีพในฝันที่เขาอยากเป็น เด็กบางคนก็วาดภาพเด็กเลี้ยงวัว เพราะเขาไม่เคยเห็นอาชีพอื่น เขาอยู่กับวัวมาตลอด เราก็พูดต่อว่า ถ้าอยากเลี้ยงวัวจริงๆ สามารถทำเป็นฟาร์มวัวได้นะ ถ้าอยากเป็นจริงๆ ต้องตั้งใจเรียน จบแล้วก็ไปเรียนต่อที่คณะเกษตร แต่มีน้องคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ผมอยากติดคุกครับ เพราะพ่อแม่ผมติดคุก” คำตอบที่ทำให้แอมถึงกับอึ้ง จึงนำประสบการณ์ครั้งที่เคยไปศึกษาดูงานในเรือนจำว่า ในคุกไม่มีอะไรดีเลย ไม่มีสิทธิเสรีภาพ น้องจะไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจตัว พร้อมกับกระตุ้นให้น้องตั้งใจเรียน เพื่อจะได้ทำงานดีๆ ดูแลพ่อแม่เมื่อท่านออกมาจากคุก

นอกจากปัญหาเรื่องการจัดการเรียนการสอนแก่กลุ่มเป้าหมายของแต่ละคนแล้ว ข้อตกลงเรื่องเวลาในการลงพื้นที่สอน ก็ต้องมีการเลื่อนไปบ้าง เนื่องจากสมาชิกมีภาระที่แตกต่างกัน ซึ่งทีมงานก็ต้องจัดการให้มีข้อสรุปเรื่องวันเวลาที่ลงตัวสำหรับทุกคนให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สัมผัสกับน้องๆ นักเรียนอย่างใกล้ชิด ทีมงานเห็นถึงจุดเด่นของเด็กในโรงเรียนนี้คือ มีความถนัดทางด้านงานฝีมือ มีทักษะชีวิตที่สามารถเอาตัวรอดได้ ส่วนพัฒนาการทักษะด้านภาษาไทยนั้น น้องบางคนก็เริ่มจะกระเตื้องขึ้น 

เช่น น้องแพรวลูกศิษย์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของแอมที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะตอนทำแบบทดสอบก่อนเรียน น้องไม่มีคะแนนเลย ไม่สามารถท่อง ก.ไก่ ได้ แต่เมื่อได้รับการสอนอย่างเอาใจใส่ ก็เริ่มจดจำพยัญชนะภาษาไทยได้ ถ้าพี่ชี้พยัญชนะตัวไหนก็สามารถจะตอบได้

กระต่าย เล่าว่า นอกจากการสอนภาษาไทยที่เป็นกิจกรรมหลักแล้ว ทีมงานยังต้องเสริมเรื่องคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็กๆ ด้วย เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้รับการดูแลที่ดี จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร พูดจาไม่สุภาพ บางคนพัฒนาไปในทางลบถึงขั้นต้มน้ำกระท่อมเป็นเลยทีเดียว เมื่อเห็นถึงเงื่อนไขชีวิตที่เด็กๆ ประสบ พี่ๆ แต่ละคนก็จะเข้าใจ พร้อมให้ความสนิทสนม ใส่ใจสอน ใส่ใจดูแล เพื่อชักจูงให้เด็กๆ ออกจากพื้นที่เสี่ยง

เมื่อสอนครบตามกำหนดที่วางแผนไว้ ทีมงานนำแบบทดสอบที่ใช้ในครั้งแรก กลับมาทดสอบนักเรียนอีกครั้ง พบว่า ส่วนใหญ่สามารถเขียนตามคำบอกได้เร็วขึ้น รู้จักคำมากขึ้น คุณครูประจำชั้นเองก็สะท้อนว่า นักเรียนเก่งขึ้น แต่เงื่อนไขสำคัญของการเรียนจะต้องสร้างความต่อเนื่องในการเรียนรู้และฝึกฝน ทีมงานได้แต่เสียดายว่า กิจกรรมที่จัดน่าจะมีความเข้มข้นมากกว่านี้ โดยคิดว่าระยะเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ละ 3 วัน ตลอด 3 เดือนเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตามที่ตั้งใจไว้

ด้วยความเป็นห่วงถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น ในช่วงท้ายของกิจกรรม ทีมงานได้ทดลองให้นักเรียนแกนนำสอนเพื่อนๆ ซึ่งก็ได้ผลดี นี่จึงเป็นทางออกที่ทีมงานฝากฝังกับคุณครูให้ใช้ประโยชน์จากแกนนำในโรงเรียนที่เป็นเด็กเก่งให้คอยสอนเพื่อนๆ ที่ยังอ่านเขียนไม่คล่องต่อไป 

“น้องปี 1-2 ที่ได้ทดลองสอนจริง เขาดีใจมาก ซึ่งดีกว่าเราที่กว่าจะได้ทดลองสอนจริงก็ปี 4 ปี 5 แล้ว เห็นชัดเจนว่า น้องเขาสนใจมาก ทั้งค้นคว้าหาข้อมูลการสอน การทำสื่อ แถมสื่อที่น้องทำก็ดูน่าสนใจกว่าของพวกเราอีก น้องบางคนไปสอนนอกเวลาเองคนเดียวก็มี เขารักน้องของเขา โดยที่เราไม่ต้องมาบอกว่า “ความเป็นครู” คืออะไร เพราะมันเกิดด้วยใจของเขาเอง”


ค้นพบจิตวิญญาณความเป็นครู

ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในพื้นที่จริง ได้สร้างประสบการณ์ตรงในการสอนให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะน้องๆ ชั้นปีที่ 1 ในคณะครุศาสตร์ ที่ได้มีโอกาสทดลองสอนจริง เพราะตามหลักสูตรของคณะกว่าที่นักศึกษาจะได้ทดลองสอนก็ต้องเรียนระดับชั้นปีที่ 4 ขึ้นไป ความกระตือรือร้นที่เกิดขึ้นสะท้อนผ่านความรับผิดชอบในการไปสอนโดยไม่ขาดสักครั้งเดียว รวมทั้งความใส่ใจในการค้นคว้าหาข้อมูลการสอน การทำสื่อ ที่หลายๆ คนยอมออกเงินทำสื่อการเรียนการสอนของตนเอง 

“น้องปี 1-2 ที่ได้ทดลองสอนจริง เขาดีใจมาก ซึ่งดีกว่าเราที่กว่าจะได้ทดลองสอนจริงก็ปี 4 ปี 5 แล้ว เห็นชัดเจนว่า น้องเขาสนใจมาก ทั้งค้นคว้าหาข้อมูลการสอน การทำสื่อ แถมสื่อที่น้องทำก็ดูน่าสนใจกว่าของพวกเราอีก น้องบางคนไปสอนนอกเวลาเองคนเดียวก็มี เขารักน้องของเขา โดยที่เราไม่ต้องมาบอกว่า “ความเป็นครู” คืออะไร เพราะมันเกิดด้วยใจของเขาเอง” แอมสะท้อนสิ่งที่เห็นจากพฤติกรรมของน้องๆ  กระต่าย เสริมต่อว่า น้องนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีความรับผิดชอบสูงมาก ตอนลงพื้นที่ บางครั้งเราไม่ได้ขอรถมหาวิทยาลัย ต้องขับมอเตอร์ไซค์ไป น้องก็ขับไปกับเรา แสดงว่าเขามีใจอยากไปสอนจริงๆ กล้าที่จะลุยไปกับเรา จากแค่มาหาประสบการณ์เปลี่ยนเป็นอยากทำให้เกิดผลจริงๆ แล้วเขาก็อยากทำต่อ อยากกลับไปช่วยโรงเรียนอีก

ส่วนประโยชน์ที่ทีมงานเพื่อนรักทั้ง 3 คนได้รับนั้น กระต่ายสะท้อนว่า โครงการเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ปกติเคยแต่จัดค่าย 3 วันจบ ครั้งนี้เป็นการทำงานต่อเนื่องหลายเดือน สามารถวัดผลความเปลี่ยนแปลงได้จากนักเรียนจริงๆ การได้สัมผัสกับบรรยากาศในโรงเรียน ได้สอนนักเรียน เป็นประสบการณ์ที่ดียิ่งสำหรับว่าที่ครูอย่างเธอที่กำลังจะต้องออกไปฝึกสอน “สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือ สามารถสร้างเด็กคณะครุศาสตร์ขึ้นมาเป็นตัวแทนของเราได้ เมื่อจบไปแล้ว น้องก็สามารถขึ้นมาเป็นตัวแทนเราได้ เราถูกสร้างมาให้ทำงานเพื่อคนอื่น จึงอยากสร้างน้องให้ทำงานเพื่อคนอื่นเหมือนเราบ้าง”

กระต่ายยังบอกอีกว่า ในฐานะเด็กกิจกรรมที่มีภาระงานมากมาย การทำโครงการทำให้เธอรู้จักจัดสรรเวลา ให้ความสำคัญกับการวางแผนการทำงาน โดยเฉพาะการถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เธอเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในการทำงานของตนเอง สามารถสกัดความรู้จากการทำงานไปถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไปได้ สามารถเล่าได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น “จากเดิมที่ทำทิ้งทำขว้างไม่เคยมาสรุปบทเรียนเลย” 

การทำงานที่ได้ลงมือสอนจริง ยังเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับวิชาเรียนได้เป็นอย่างดี กระต่ายเล่าอย่างภูมิใจว่า สามารถนำประสบการณ์ที่ได้มาเขียนคำตอบข้อสอบที่เป็นข้อเขียนได้เป็นอย่างดี การทำงานโครงการจึงตอบสนองต่อเป้าหมายชีวิตการเรียนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3 ทุกเทอมได้

ด้านรสที่ออกตัวว่า เป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ต้องรับผิดชอบการประสานงานกับคุณครูในโรงเรียน ทำให้เกิดทักษะในการสื่อสารกับผู้ใหญ่ การทำงานกับรุ่นน้องยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น และยิ่งทำให้เธอได้แรงบันดาลใจในการทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม แต่สำหรับแอมแล้ว การทำโครงการคือ จุดเปลี่ยนของชีวิต เธอสารภาพว่า การเข้ามาเรียนในคณะครุศาสตร์นั้นเธอเรียนตามใจที่บ้าน จริงแล้วๆ เธออยากเป็นทหาร แต่เมื่อสอบติดก็เรียนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รู้สึกอินกับสิ่งที่เรียนเลย

“เป็นครั้งแรกที่ได้ไปสอนจริงๆ ตอนอยู่ครูเพื่อศิษย์ไม่ได้ไปสอน แค่ไปช่วยงานและทำกับข้าวบ้าง แต่พอได้มีโอกาสสอนจริงก็รู้สึก “รักในอาชีพครูจริงๆ” จากที่ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นครู เรียนตามใจที่บ้านไม่ได้ซาบซึ้งกับการเรียนครูเท่าไร ตอนอยู่ปี 1 อาจารย์ถามว่าใครอยากเป็นครูบ้าง เรายังไม่มีความรู้สึกนั้น ก็ตอบว่าไม่อยาก แต่ตอนนี้รักและอยากเป็นครูมาก” แอมเล่า

ความรู้สึกที่ก่อเกิดขึ้นในใจทำให้ทีมงานตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพครู และซาบซึ้งกับบทบาทความเป็นครู ซึ่งแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่เมื่อเลิกงานแล้วก็เปลี่ยนบทบาทไปทำอย่างอื่นได้อย่างอิสระ แต่คนที่เป็นครู ต้องอยู่ในบทบาทของครูตลอด 24 ชั่วโมงไม่สามารถหลุดไปจากสถานภาพความเป็นครูได้เลย  “กระทั่งการแต่งตัวมาเรียนเราก็ต้องแต่งตัวเรียบร้อย เพราะเรียนคณะครุศาสตร์ พอออกไปข้างนอกเราก็ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่ให้ความเคารพ คนเป็นครู ต้องมีให้ครบทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อสอนนักเรียนให้เป็นคนดีจริงๆ” แอมกล่าวย้ำ

เมื่อพาตัวและหัวใจออกไปเรียนรู้ จึงได้สัมผัสกับความเป็นจริงของชีวิต ความเป็นจริงของสังคม การได้นำความรู้จากการเรียนมาลงมือทำ แปรผันเป็นประสบการณ์ตรงที่มีค่ายิ่ง ผลลัพธ์ที่ได้เห็นกลุ่มเป้าหมายมีพัฒนาการด้านทักษะภาษาไทยที่จะเป็นพื้นฐานสู่การเรียนรู้วิชาอื่นๆ ได้อย่างมั่นคง กลายเป็นทุนหล่อเลี้ยงจิตใจของทีมงานให้ก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่น และเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาในเส้นทางอาชีพที่เลือกแล้วที่จะเป็นครูทั้งชีวิต 24 ชั่วโมงที่จะสอนทั้งวิชาการ และการใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างเพื่อสร้างคนดีสู่สังคมต่อไป


โครงการ : พี่สอนน้องให้อ่านเขียน

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์มนตรี เด่นดวง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

ทีมทำงาน : นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

( ศศิวิมล ณะวาโย ) ( ปัทมา หอมกลิ่น ) ( ภัทราพันธ์ พูลเอียด ) ( สุพัตรา โชติมณี )

( ซูไบวะห์ ลาแม ) ( ฐิติวงศ์ แทบทับ ) ( ประสิทธิ์ มุสิโก )