การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้วยการเย็บกระเป๋าผ้า ของเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา ปี 4

เย็บใยฝึกใจให้เข้มแข็ง

โครงการเย็บใยร้อยใจด้วยรัก

กระเป๋าใบแรกในชีวิตที่เย็บด้วยตนเองคือ ความภูมิใจระคนแปลกใจที่ตนเองสามารถทำได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ปลุกเร้าให้สมาชิกได้เห็นคุณค่าของตนเอง เพราะหลังจากก้าวพลาด หลงทางทำผิด จนถูกควบคุม ความมั่นใจ ความมั่นคงในชีวิตสูญสิ้นไปพร้อมๆ กับอิสรภาพ แต่วันที่เห็นผลงานจากฝีมือของตนเองปรากฏ เป็นวันที่หลายคนรู้สึกว่า ชีวิตนี้ยังมีความหวัง

เย็บใยร้อยใจด้วยรัก โครงการเย็บกระเป๋า ที่เป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิ ฝึกการควบคุมตนเอง อดทน และสร้างความภูมิใจให้ตนเองของเยาวชนหญิงในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา ที่ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยการทำงานในปีที่ผ่านมาทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทีมงาน การเย็บกระเป๋าช่วยให้ทีมงานควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และสมาชิกต่างได้ทักษะอาชีพติดตัวหลังออกไปแล้ว 

จึงอยากส่งต่อโอกาสในการฝึกตัวเองให้กับเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ในศูนย์ฝึกได้มีโอกาสเช่นเดียวกัน ครูแอ๊ด-กอบกาญจน์ เทพวาริน ที่ปรึกษาโครงการ จึงช่วยประสานงานส่งโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 กับโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา “เคยเจอสถานการณ์ที่สอนแล้วเพื่อนทำไม่ได้เหมือนกัน แต่แทนที่จะตำหนิ พวกเธอเลือกใช้วิธีข่มอารมณ์ แล้วให้กำลังใจแทน บอกเขาว่าต้องทำให้ได้นะ ใจเย็นๆ ส่วนตัวเราก็ต้องใจเย็นด้วย”


ลงมือทำ สร้างประสบการณ์ใหม่

น้องและอ้อน สมาชิกของทีม ที่วันนี้ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกศูนย์ฝึกแล้ว เล่าว่า ในระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฝึกฯ หลังจากที่สมาชิกรุ่นพี่อีก 2 คน คือ นวลกับบีม ออกไปก่อนแล้ว ตนเลยรับไม้ต่อเป็นแกนนำ การเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแกนนำทำให้น้องได้มีโอกาสนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการของสงขลาฟอรั่ม ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้เธอเป็นอย่างมาก

“เล่าให้คณะกรรมการฟังว่า โครงการของเรามีประโยชน์อย่างไร กระเป๋ามีแบบไหนบ้าง ตอนสอนรุ่นน้องสอนอย่างไร ซึ่งกรรมการได้ให้กำลังใจ และให้ข้อเสนอแนะว่า ควรเพิ่มรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและให้ตั้งใจสอนน้องๆ ให้ดี” ส่วนอ้อนได้เป็นตัวแทนร่วมกับมิน นีนีและเฟิร์น เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ "สร้างสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชนและชุมชนเข้มแข็ง" กับสงขลาฟอรั่ม ที่ชุมชนคลองแดน ทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง การทำกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่มกับเพื่อนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เป็นความกดดันเล็กๆ อย่างหนึ่งซึ่งทำให้อ้อนรู้สึกเขินอายในตอนแรก แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัว สนิทกับเพื่อนใหม่มากขึ้นและทำกิจกรรมกับเพื่อนใหม่ได้อย่างสนุกสนานโดยไม่รู้สึกแปลกแยก

กิจกรรมหลักของโครงการคือ การเย็บกระเป๋าผ้า มีขั้นตอนการเย็บที่น้องและอ้อนช่วยกันเล่าว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การลอกแบบ (แพทเทิร์น) และการฝึกเย็บ ส่วนการสอนนั้นใช้วิธีจับคู่สอนตัวต่อตัว แล้วแต่น้องจะเดินเข้าไปขอคำปรึกษาจากใคร ไม่ได้มีการแบ่งเฉพาะเจาะจง และไม่ได้กำหนดว่าน้องต้องจับคู่กับพี่คนไหนอย่างเป็นทางการ ขั้นตอนการฝึกลอกแบบนั้นจะสอนให้รุ่นน้องลอกแบบกระเป๋าที่รุ่นพี่เคยทำมาก่อน ส่วนการฝึกเย็บนั้นจะมีขั้นตอนมากกว่า คือ เริ่มจากการฝึกเย็บ ฝึกสอย แม้กระทั่งการขมวดปมด้ายก็มีวิธีเฉพาะ เมื่อน้องสามารถเย็บเข้าถ้ำ เย็บดำน้ำ (เทคนิคการเย็บให้ผ้าเกิดรอยย่น สร้างมิติลวดลายบนผืนผ้า) โดยมีฝีเข็มสม่ำเสมอ และแน่นหนาดี จึงจะให้เริ่มเย็บกระเป๋าใบเล็กๆ ก่อน เมื่อฝีมือดีขึ้นก็จะเปลี่ยนไปเย็บกระเป๋าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

อ้อนกับน้อง เล่าว่า เคยเจอสถานการณ์ที่สอนแล้วเพื่อนทำไม่ได้เหมือนกัน แต่แทนที่จะตำหนิ พวกเธอเลือกใช้วิธีข่มอารมณ์ แล้วให้กำลังใจแทน “บอกเขาว่าต้องทำให้ได้นะ ใจเย็นๆ ส่วนตัวเราก็ต้องใจเย็นด้วย” อ้อนบอก “มีอารมณ์เสียเหมือนกัน แต่ต้องทำเฉยๆ เก็บอาการไว้ เพราะเราก็เคยเป็นแบบนี้เหมือนกันตอนมาแรกๆ เวลาพี่ๆ สอนบางทีเราไม่ตั้งใจฟัง เราก็ทำไม่ได้ พอเราทำไม่ได้คนสอนก็ต้องหัวเสียเป็นธรรมดา” น้องเล่า

“ต้องเสียเลือดจากการถูกเข็มตำมือกันทุกราย เมื่อเย็บไม่ได้ ทำไม่สวย อารมณ์หงุดหงิดก็จะครุกรุ่น ยิ่งหงุดหงิดก็ยิ่งโดนเข็มตำมือ บ่อยๆ เข้าจึงกลายบทเรียนที่ตกผลึกเองว่า ต้องตั้งใจทำงาน ใส่ใจในความละเอียดและใส่ใจทุกฝีเข็มที่เย็บ เหมือนเป็นการฝึกสมาธิโดยไม่รู้ตัว เมื่อทำเป็นก็เริ่มเกิดความเพลิดเพลินกลายเป็นความชอบในที่สุด


คุณค่าที่ค้นพบ

สมาชิกส่วนใหญ่ล้วนแต่ต้องผ่านขั้นตอนที่ต้องเสียเลือดจากการถูกเข็มตำมือกันทุกราย เมื่อเย็บไม่ได้ ทำไม่สวย อารมณ์หงุดหงิดก็จะครุกรุ่น ยิ่งหงุดหงิดก็ยิ่งโดนเข็มทิ่มมือ บ่อยๆ เข้าจึงกลายบทเรียนที่ตกผลึกเองว่า ต้องตั้งใจทำงาน ใส่ใจในความละเอียดและใส่ใจทุกฝีเข็มที่เย็บ เหมือนเป็นการฝึกสมาธิโดยไม่รู้ตัว เมื่อทำเป็นก็เริ่มเกิดความเพลิดเพลินกลายเป็นความชอบ ในที่สุด ชนิดที่บอกได้เลยว่า กระเป๋าใบแรกที่เย็บสำเร็จ แม้จะไม่งดงามสมบูรณ์แบบ แต่เจ้าของต่างหวงเก็บไว้ใช้เองหรือนำไปมอบให้คนที่รัก โดยไม่มีใครยอมขายแลกเงิน

กระเป๋าใบแรกในชีวิตที่เย็บด้วยตนเอง คือ ความภูมิใจระคนแปลกใจที่ตนเองสามารถทำได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ปลุกเร้าให้สมาชิกได้เห็นคุณค่าของตนเอง เพราะหลังจากก้าวพลาด หลงทางทำผิด จนถูกควบคุม ความมั่นใจ ความมั่นคงในชีวิตสูญสิ้นไปพร้อมๆ กับอิสรภาพ แต่วันที่เห็นผลงานจากฝีมือของตนเองปรากฏ เป็นวันที่หลายคนรู้สึกว่า ชีวิตนี้ยังมีความหวัง

“น้องๆ ที่นี่ทุกคนเท่าที่ครูสังเกต ทุกครั้งที่เขาทำงานออกมาสำเร็จ เขาจะไม่อยากเก็บงานไว้เอง แต่จะนึกถึงพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ดูแลเขา อย่างน้องตอนทำกระเป๋าเสร็จ ป้าเขาจะมาเยี่ยม เขาก็บอกว่าจะซื้อกระเป๋าแบบนี้ให้ป้าใบนึง เพราะตอนนั้นเขายังเย็บได้ไม่สวย พอป้ามาเขาก็ไปเลือกใบที่เย็บสวยกว่ามาให้ เราก็เห็นจากตรงนั้นว่า เขาช่างสังเกตและใส่ใจ การมาทำงานตรงนี้เหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้เขานึกถึงคนที่เขารัก ว่าเขาสามารถทำอะไรให้พ่อแม่ หรือคนที่ดูแลเขาในยามที่เขาไม่มีใครได้” ครูแอ๊ดเล่าเสริม

“ตอนอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ก็คิดถามตัวเองเหมือนกันว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือเปล่า จะใจแข็งพอไหมที่จะไม่เดินผิดทางอีก แต่พออกไปแล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และไม่คิดจะกลับไปทำแบบเดิมอีกแล้ว”


อนาคตที่มีทางไปต่อ

การออกไปอยู่ข้างนอกหลังการปล่อยตัว เป็นอิสรภาพที่ทุกคนใฝ่หา แต่ทั้งน้องและอ้อนต่างเห็นตรงกันว่า ต้องปรับตัวเยอะมาก เนื่องจากทั้งสองคนปรับพฤติกรรมได้ดี จนเมื่อได้พิจารณาปล่อยตัว ซึ่งเป็นการปล่อยตัวเร็วเกินกว่าที่คาดคิด ทำให้ยังไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจ ชีวิตที่คุ้นชินกับการต้องทำอะไรตามตารางเวลา กลายเป็นความว่างเปล่าเมื่อออกไปอยู่ข้างนอก ทำให้ต้องหากิจกรรมทำ 

น้องที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อต้นเดือนกันยายน 2559 ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยได้ทำงานในร้านติ่มซำ รอจะสมัครเรียนต่อในภาคการศึกษาถัดไป แม้ยังไม่มีเงินลงทุนเย็บกระเป๋า แต่น้องยังเย็บกระเป๋าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการรับวัสดุจากครูแอ๊ด มานั่งทำที่บ้าน แล้วส่งผลงานที่ทำเสร็จกลับไปทางไปรษณีย์

 “ตอนอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ก็คิดถามตัวเองเหมือนกันว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือเปล่า จะใจแข็งพอไหมที่จะไม่เดินผิดทางอีก แต่พออกไปแล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และไม่คิดจะกลับไปทำแบบเดิมอีกแล้ว” น้องยืนยันการเลือกเส้นทางใหม่ให้ชีวิต 

ด้านอ้อนซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังจากน้องในสัปดาห์ถัดมา บอกว่า เธอไม่ได้เตรียมตัวอะไร แต่วันที่ได้ออกไปดีใจจนร้องไห้ออกมาเลย พอถึงบ้านก็ไปกอดแม่ และตั้งใจที่จะออกจากวงจรชีวิตเดิมๆ ก่อนเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เมื่อพ้นโทษเธอจึงหลบเลี่ยงการเข้าไปคลุกคลีกับเพื่อนกลุ่มเก่าที่อาจจะชักจูงไปในทางที่ผิดอีก ปัจจุบันอ้อนเหลือสอบอีก 2 เทอมก็จะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และตั้งใจว่าอยากเรียนต่อ

“ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราห้ามใจได้ เราก็จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คาถาห้ามใจคือ ให้นึกถึงตอนที่ต้องมาอยู่ในนี้ มันทรมาน หนูอยากเรียนหนังสือ อยากเดินไปในทางที่ดีกว่าที่ผ่านมา คบกับเพื่อนที่เป็นเด็กเรียน เราก็ได้เรียนด้วย ใจหนูแข็งพอไม่อยากกลับเข้ามาอีก” อ้อนตั้งปณิธาน ทั้ง 2 คนเห็นพ้องต้องกันว่า เพราะการฝึกเย็บกระเป๋าทำให้ใจเย็น มีสมาธิและคิดก่อนทำ เมื่อกลับไปอยู่กับครอบครัว คนอื่นๆ จึงสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของอ้อนและน้อง

“เมื่อก่อนคิดจะทำอะไรก็ทำเลย แต่ตอนนี้ก่อนจะทำอะไรจะคิดก่อนว่า ถ้าทำแบบนี้ดีหรือเปล่า ทำแล้วจะเกิดผลยังไงกลับมาบ้าง อย่างตอนกลับบ้านหลังปล่อยตัวออกไป ของเล่นที่สะสมไว้ในบ้านหายหมดเลย เพราะเอาไปให้น้องเล่น มีโกรธเล็กน้อย แต่ก็คิดได้ว่าไม่เป็นไร ของเล่นไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเราแล้ว ตอนนี้คิดแต่เรื่องการทำงานหาเงินด้วยตัวเอง” น้องเล่าเหตุการณ์ในชีวิตที่ปกติถ้าเจอแบบนี้มีอาละวาดแน่ๆ

เช่นเดียวกับอ้อนที่พ่อแม่พี่น้องที่บ้านบอกว่าเธอเปลี่ยนไป เมื่อก่อนถ้าโดนว่าอะไรจะสวนกลับทันที แต่ตอนนี้จะเงียบก่อน แรกๆ ยังรู้สึกอยากเถียง ช่วงหลังก็คิดว่า เดี๋ยวค่อยๆ หาทางอธิบายให้คนอื่นเข้าใจความคิดเราดีกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็จะเงียบไว้ก่อน “เมื่อครูดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ผนวกกับกระบวนการทำงานในโครงการฯ ที่สมาชิกต้องมีใจจดจ่ออยู่กับฝีเข็ม จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนหญิงในศูนย์ฝึกฯ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมอารมณ์ที่ทุกคนใจเย็นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ไม่วู่ว่าม พลั้งเผลอทำผิดอีก”


ครูผู้ปรารถนาดี

ครูแอ๊ดหรือแม่แอ๊ดของเด็กๆ เล่าว่า สถานการณ์ในศูนย์ฝึกฯ จังหวัดสงขลาในฝั่งเยาวชนหญิงตอนนี้มีเด็กจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยมี 30-40 คน ปัจจุบันมีเหลือเพียง 5 คน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยากต่อการเชิญวิทยากรจากสถานศึกษาภายนอกมาช่วยสอน เพราะติดปัญหาเรื่องจำนวนเด็กของศูนย์ฝึกฯ ที่มีน้อยเกินไป โดยเงื่อนไขของการอบรมของหน่วยงานต่างๆ ปกติจะมีการกำหนดจำนวนผู้เรียนขั้นต่ำอย่างน้อย 15 คน

“ตอนเริ่มทำโครงการในปีที่ 2 จำนวนเด็กยังอยู่ที่สิบกว่าคน แต่หลังจากนั้นทยอยปล่อยตัวออกไปจนตอนนี้เหลืออยู่ 5 คน” แม้ว่าจะเหลือเด็กเพียง 5 คน แต่ครูแอ๊ดก็ยังสนับสนุนให้ทำงานเย็บกระเป๋าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับออเดอร์ทำพวงกุญแจดอกทิวลิปจากวิทยาลัยการอาชีพนาทวี สำหรับไว้เป็นที่ระลึกให้แขกของวิทยาลัย ทำให้เด็กๆ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้เก็บไว้เป็นทุนยามปล่อยตัว เพราะเมื่อหักต้นทุนการผลิตจากราคาขายพวงละ 20 บาทแล้ว เด็กๆ จะได้รับปันผลพวงละ 8 บาท

ครูแอ๊ดในฐานะที่อยู่กับเด็กๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เล่าว่า ต้องสังเกตพฤติกรรมของเยาวชนตลอดเวลา เพราะครูต้องเป็นผู้ทำรายงานการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนแต่ละคนส่งศาล การร่วมกิจกรรมในโครงการนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ศาลพิจารณาเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเยาวชน “ในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปกติครูอยู่กับน้องตลอดก็จะเห็นชัดว่าตอนเข้ามาเขาเป็นแบบไหน ถามว่าเด็กมีพฤติกรรมดีขึ้นยังไง ครูใช้การเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนตั้งแต่ตอนแรกที่เข้ามามากกว่า ไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างเด็กกันเอง เพราะแต่ละคนก่อนเข้ามาที่นี่ก็ผ่านอะไรมาแตกต่างกัน”

เมื่อครูดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ผนวกกับกระบวนการทำงานในโครงการฯ ที่สมาชิกต้องมีใจจดจ่ออยู่กับฝีเข็ม จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนหญิงในศูนย์ฝึกฯ โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมอารมณ์ที่ทุกคนใจเย็นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ไม่วู่ว่าม พลั้งเผลอทำผิดอีก ซึ่งความเอาใจใส่ของครูที่ยังคงมีให้ลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูติดตามข่าวคราวของลูกศิษย์ผ่านช่องทางที่เอื้ออำนวยอย่างสม่ำเสมอ

“ก่อนปล่อยตัวน้องๆ ออกไปครูจะกังวลกับเด็กทุกคน เพราะถึงแม้เราจะอบรมเขาแล้ว ตอนอยู่กับเราเด็กอาจจะเข้มแข็ง แต่เมื่อออกไปเขาต้องไปอยู่ในสังคมเดิมๆ ซึ่งมีความเสี่ยงอีก เพราะฉะนั้นน้องๆ คนไหนที่เราติดต่อกับเขาได้ทางเฟซบุ๊กหลังออกไปแล้ว เราจะติดต่อเข้าไปพูดคุยกับเขา คนไหนเตือนได้เราก็จะเตือน ตัวเราเองก็ต้องพิจารณาไปตามความเหมาะสม ดูสเตตัสที่เขาโพสต์บ้างหรือคำพูดที่เขาคุยกับเรา อยากพาเขาไปให้ถึงฝั่ง อยากเห็นเขาทำงานที่ดี ไม่กลับไปสู่เส้นทางเดิมอีก นั่นเท่ากับเป็นกำไรชีวิตของเราแล้ว อะไรที่จะช่วยให้เด็กมีโอกาสได้ เราก็อยากสรรหามาให้” ครูแอ๊ดกล่าวทิ้งท้าย

แม้เป็นโครงการที่ดำเนินงานในพื้นที่จำกัด และทีมงานต้องฟื้นฟูกำลังใจค่อนข้างมาก แต่หลักการของการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติยังถูกใช้เป็นแก่นในการทำงาน ทุกคนได้สัมผัสความเจ็บปวดจากการถูกเข็มตำมือ รู้สึกหงุดหงิดกับฝีเข็มที่บิดเบี้ยว ผลงานที่ปรากฎเตือนใจให้ต้องตั้งสติ มีความละเอียด รอบคอบ กลายเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ตกผลึกทางความคิดได้เอง เมื่อสิ่งที่คิดว่ายากถูกทำได้ด้วยสองมือ ปลุกความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนผู้ก้าวพลาด กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองสู่การเป็นคนดีของครอบครัวและสังคมต่อไป


โครงการ : เย็บใยร้อยใจด้วยรัก

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูกอบกาญจน์ เทพวาริน เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา

ทีมทำงาน : เยาวชนหญิงจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา