การเรียนรู้ผ่านชุมชน ( PBL ) แกนนำเยาวชนส่งต่อความรู้และความรักเพื่ออนุรักษ์โขน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

ส่งต่อ “ความรู้และความรัก” เพื่ออนุรักษ์โขน

โครงการรวมพลคนรักษ์โขน

อยากนำ “ความรู้และความรัก” ในการแสดงโขนที่พวกเขามีอยู่ไปเผยแพร่...เพื่อปลูกฝังให้เยาวชน คนรุ่นใหม่รู้จักโขนก่อนหากเยาวชนได้รู้จักและเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโขนก็จะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่...หันกลับมามอง และสนใจเข้ามาฝึกฝนการแสดงโขนด้วยความหวงแหน อันจะเป็นการต่อลมหายใจให้กับโขนไทยได้อย่างยั่งยืน


“เมื่อไม่มีคนดูโขน ฉันจะดูเอง”

พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงรับสั่งไว้ในปี 2550 ได้ปลุกศิลปะการแสดงโขนให้ขึ้นมาโลดแล่นในแผ่นดินไทยอีกครั้ง จนเกิดการแสดงโขนพระราชทานประจำปีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ดูโขนเป็น …เล่นโขนได้

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง) ที่มีการสืบสานการแสดงโขนด้วยการตั้งชมรมโขน-ละคร เพิ่มเติมจากการเรียนการสอนในสาขาวิชาศิลปะการแสดงและการจัดการ อาจารย์สมโภชน์ เกตุแก้ว หัวหน้าภาควิชาวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า ชมรมโขน-ละคร เกิดขึ้นจากความสนใจของนักศึกษาที่อยากเรียนรู้เรื่องการแสดงโขน จึงชักชวนกลุ่มเพื่อนที่ชื่นชอบศิลปะแขนงนี้ตั้งกลุ่มขึ้นมา มีตนเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากเคยเรียนนาฏศิลป์ไทย (โขนพระ) มา จึงพอมีความรู้ความชำนาญด้านการแสดงโขนอยู่บ้าง เห็นนักศึกษาสนใจจึงยินดีสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก เข้าใจ และสามารถแสดงโขนได้ 

“การแสดงโขนต้องอาศัยชั่วโมงฝึกฝน ผู้เรียนจะต้องมีความอดทนในการฝึกซ้อม ไม่ใช่เรียนแค่วันสองวันก็ใส่ชุดสวยๆ ออกไปรำได้ และต้องมีใจรักอย่างแท้จริงจึงจะสามารถฝึกซ้อมจนออกแสดงได้” 

อาจารย์สมโภชน์ บอกว่า แม้จะเปิดเป็นชมรม แต่น่าเสียดายที่แต่ละปีสมาชิกในชมรมลดจำนวนลงเรื่อยๆ เพราะการแสดงโขนต้องอาศัยชั่วโมงฝึกฝน ผู้เรียนจะต้องมีความอดทนในการฝึกซ้อม ไม่ใช่เรียนแค่วันสองวันก็ใส่ชุดสวยๆ ออกไปรำได้ และต้องมีใจรักอย่างแท้จริงจึงจะสามารถฝึกซ้อมจนออกแสดงได้ ประกอบกับวิชาชมรมเป็นวิชาเลือกที่ไม่มีเกรด ใครจะมาเรียนหรือไม่มาก็ได้ คนที่ไม่มีเวลาและไม่รักในศิลปะแขนงนี้จริงก็จะค่อยๆ หายไปในที่สุด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงอาจารย์สมโภชเท่านั้นที่มองเห็น แต่ยังมีนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย การ์ตูน–ธนพร วุฒิกระพันธ์ ส้ม–รสสุคนธ์ ยอดทอง เจษ-เจษฎา ฉิมสุด กอล์ฟ–กิตติพงษ์ นวนจันทร์ และ น้ำ-สุชาดา เรืองอ่อน มองเห็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการรวมพลคนรักษ์โขน 

เจษ ในฐานะประธานชมรมโขน-ละคร บอกว่า ด้วยกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยที่ระบุให้นักศึกษาใหม่ทุกคนต้องเลือกเข้าชมรมปีการศึกษาละ 1 ชมรม ตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เหตุผลที่เขาเลือกเข้าชมรมนี้เพราะมีคนต่อแถวน้อยที่สุด แม้ไม่ใช่เหตุผลที่ดีนัก แต่เสน่ห์ของโขนก็สะกดใจให้เขาหมั่นฝึกซ้อมและเลือกอยู่ชมรมนี้เรื่อยมา กระทั่งได้เป็นประธานชมรมในที่สุด 

ขณะที่การ์ตูน บอกว่า เธอฝึกฝนศิลปะการแสดงพื้นเมืองภาคใต้อย่างการรำมโนราห์มาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 การเล่นโขนให้เป็นจึงเป็นความฝันอย่างหนึ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยให้โอกาสเลือกชมรมได้ เธอจึงไม่รีรอที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชมรมโขน-ละคร ส่วนน้ำ เล่าว่า พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า “เมื่อไม่มีคนดูโขน ฉันจะดูเอง” เป็นแรงบันดาลให้เธอสนใจศิลปะการแสดงโขน 

 แม้จุดเริ่มต้นของการสมัครเข้าชมรมโขน-ละครของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่เมื่อผ่านการฝึกฝน “ความรัก” ในศิลปะแขนงนี้จึงหยั่งรากลึก จนเกิดความคิดว่า ความงดงามของการแสดงโขนไม่ควรอยู่เฉพาะภายในมหาวิทยาลัย แต่คนภายนอกควรได้ “รู้และรัก” ในศิลปะการแสดงโขนด้วยเช่นเดียวกัน 

“ดูโขนเป็น เล่นโขนได้” จึงถูกนำมาใช้เป็นโจทย์โครงการรวมพลคนรักษ์โขน โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะการแสดงโขนออกไปสู่สาธารณชน ให้คนรุ่นใหม่รับรู้ เข้าใจที่มาที่ไป และความสำคัญของการแสดงโขน


พาโขน “ไปหา” คน

เจษ เล่าต่อว่า ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี มหาวิทยาลัยจัดงานแสดงโขนประจำปีอยู่แล้ว แม้งานนี้จะได้รับความสนใจจากคนในจังหวัดตรังเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากบัตรเข้าชมการแสดงที่ขายหมดอย่างรวดเร็ว แต่การแสดงโขนเพียงปีละครั้งสามารถสร้างการรับรู้ได้แค่ระดับผู้ชมเท่านั้น ทีมงานจึงอยากนำ “ความรู้และความรัก” ในการแสดงโขนที่พวกเขามีอยู่ไปเผยแพร่ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา 

เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักโขนก่อน หากเยาวชนได้รู้จักและเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโขนก็จะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ ยิ่งเมื่อรู้ว่าสิ่งนี้กำลังจะสูญหายไป น่าจะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนหันกลับมามอง และสนใจเข้ามาฝึกฝนการแสดงโขนด้วยความหวงแหน อันจะเป็นการต่อลมหายใจให้กับโขนไทยได้อย่างยั่งยืน 

ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงออกแบบกิจกรรมสร้างแรงจูงใจ นำโขนออกไปหากลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดตรัง 3 แห่งๆ ละ ไม่เกิน 60 คน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) โรงเรียนสภาราชินี 2 และโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) ซึ่งการคัดเลือกโรงเรียนก็ใช้วิธีว่า ทีมงานเรียนจบจากโรงเรียนไหน เลือกโรงเรียนนั้นก่อน เพราะรู้จักครูในโรงเรียนอยู่แล้ว รู้ว่าควรติดต่อประสานงานกับใคร เช่น โรงเรียนเทศบาล 6 มีชมรมโขนอยู่แล้ว กิจกรรมของทีมงานจึงเข้าไปเชื่อมโยงกับชมรมได้พอดี เหตุผลที่เลือกใช้วิธีนี้แทนการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะคิดว่าการเจาะไปที่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง น่าจะดีกว่าการรอให้มีคนเข้ามาสมัครอย่างเดียว

แต่ก่อนที่จะพาโขนเข้าไปหาคน ทีมงานเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเช่นกัน จึงเปิดเฟซบุ๊กชื่อ “รวมพลคนรักษ์โขน 2559” เพื่อรับสมัครนักศึกษาจิตอาสามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงโครงการ และเพื่อใช้เป็นช่องทางกระจายข่าวสารการทำกิจกรรมของทีมงานไปพร้อมกัน   

“เพื่อนๆ จิตอาสาไม่มีความรู้เรื่องโขนมาก่อน ทีมงานจึงต้องให้ความรู้พื้นฐานเรื่องโขนกับทุกคน แล้วจึงแบ่งแต่ละคนเข้าประจำฐาน โดยแต่ละฐานจะต้องมีคนที่รู้และมีประสบการณ์การแสดงโขนอยู่อย่างน้อยหนึ่งคน ส่วนคนอื่นๆ ให้คอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลน้อง และดูภาพรวม เน้นการเรียนรู้แบบพี่สอนน้อง เพราะอยากให้น้องสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน” เจษ อธิบายขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของทีมงาน

เจษ เล่าต่อว่า ที่ต้องรับสมัครจิตอาสา เพราะกิจกรรมสร้างแรงจูงใจต้องใช้พี่เลี้ยงจำนวนมาก เนื่องจากทีมงานออกแบบกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโขนละคร มี ชาลี ด้วงเอียด รุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญด้านการแสดงโขนลิงเป็นวิทยากร 2. ฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ได้แก่ ฐานใบ้ตัวละครจากภาพและฐานจิ๊กซอว์ปริศนา แนะนำให้รู้จักกับตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ ฐานลิงและฐานยักษ์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้ถึงความสำคัญของตัวละครและฝึกฝนการออกท่าทางพื้นฐานของตัวละคร และ 3.การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำกิจกรรมระหว่างวิทยากรและผู้เรียนในตอนท้าย แต่ติดปัญหาที่ช่วงเริ่มต้นโครงการมหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่กลับบ้าน จึงหาจิตอาสายาก แต่ทีมงานก็ไม่ย่อท้อ พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกในชมรมและเพื่อนในคณะเดียวกันได้ประมาณ 16 คน ถึงแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ 

ธาม–ภควัชร หมั่นหมาย ที่อาสาเข้ามาเป็นวิทยากรฐานโขนยักษ์ บอกว่า เขาเต็มใจมาช่วยเพื่อน เพราะอยากมีส่วนร่วมในการสืบสานและฟื้นฟูการแสดงโขนให้คงอยู่ “อยากให้คนรุ่นใหม่รักโขน รักศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เหมือนที่เรารัก” 


ส่งต่อความรู้และความรัก

เมื่อจัดทัพจัดทีมพร้อมแล้ว ทีมงานจัดตารางลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนละ 1 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง โดยคาดหวังว่า ท้ายที่สุดการทำกิจกรรมนี้จะผูกใจให้น้องนักเรียนที่สนใจสมัครเข้ามาฝึกฝนการแสดงโขนกับทีมงานต่อไป เจษ เล่าว่า โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) เป็นโรงเรียนแรกที่ทีมงานเข้าไปให้ความรู้ พอไปถึงปัญหามาทันที ครูไม่ได้คัดเลือกนักเรียนในชมรมโขนมาให้ตามที่ประสานงานไว้ เหมือนครูจะลืมไปแล้ว วันที่ไปฝนตกนักเรียนเข้าแถวอยู่พอดี ครูเลยเรียกเด็กผู้ชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 มาให้ ซึ่งเด็กตัวเล็กมากและกำลังซนด้วย

 “ตอนนั้นไม่รู้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร เพราะเป็นที่แรก เลยทำตามแผนไปก่อน ตอนแรกกังวลมากว่าจะทำให้น้องสนุกได้ไหม พอจัดกิจกรรมได้สักพักเห็นน้องๆ สนุกก็รู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อถึงช่วงท้ายพวกเราประกาศรับสมัครนักเรียนมาเรียนโขนเพิ่ม ปรากฏว่ามีนักเรียนสนใจแค่ 4 คนเท่านั้น ใจแป้วเหมือนกัน แต่ก็คิดได้ว่า น้องยังเด็กมาก เขาอาจจะแยกไม่ออกระหว่างความรู้ที่เราให้กับความสนุก เขาเลยอยากได้ความสนุกมากกว่า”

ส่วนที่โรงเรียนสภาราชินี 2 เจษ บอกว่า ให้ความร่วมมือดีมาก พวกเราบอกให้ครูเน้นนักเรียนในชมรมนาฏศิลป์ของโรงเรียน ซึ่งครูจัดหาเด็กมาให้ได้ตามจำนวน แถมช่วงหลังๆ ยังมีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายเข้าร่วมเพิ่มเติม หลังจบกิจกรรมแล้วพบว่ามีผู้สนใจเข้ามาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่อประมาณ 20 คน “ทำกิจกรรมแบบเดิม แต่ขยายเวลาให้วิทยากรพูดเพิ่มขึ้นในส่วนของตัวพระตัวนาง จากครั้งแรกที่อธิบายแค่โขนลิงโขนยักษ์ ทั้งนี้เพื่อให้น้องๆ รู้ว่าโขนไม่ได้มีแค่ลิงกับยักษ์เท่านั้น” ส่วนโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) ก็ให้ความร่วมมือดีเช่นกัน มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน แต่นักเรียนจะให้ความสนใจน้อยกว่าโรงเรียนที่ 2 เพราะวัดจากนักเรียนที่มาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงท้ายที่มีประมาณ 15 คน

ผลจากความทุ่มเทของทีมงาน ทำให้มีนักเรียนจาก 3 โรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการต่อประมาณ 40 คน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ทีมงานบอกว่า ค่อนข้างพอใจ “เราวัดความสำเร็จจากน้องที่เข้ามาสมัครเพื่อขอฝึกต่อกับพวกเรา เพราะเราเชื่อว่าน้องที่สมัครเข้ามาคือคนที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องโขนจริงๆ แม้โรงเรียนแรกจะมีคนสมัครแค่ 4 คน แต่เป็น 4 คนที่แน่ใจแล้วว่าอยากฝึกต่อ ส่วนคนที่เหลืออย่างน้อยเขาก็ได้รู้จักโขนและมีความรู้พอที่จะทำให้ดูโขนเป็น” น้ำ กล่าวอย่างมั่นใจ  หลังได้รับความรู้จากวิทยากรและทำกิจกรรมเข้าฐานแล้ว ทีมงานได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแสดงโขน เพื่อวัดความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมถามในสิ่งที่สงสัยใคร่รู้ด้วย 

“ตอนเราอธิบายน้องทุกคนตั้งใจฟัง ให้เขียนกระดาษคำตอบน้องก็เขียนมาให้ แรกๆ น้องอาจเขินบ้าง ไม่กล้าบ้าง บางคนนั่งทำหน้านิ่งๆ แต่ตอนหลังก็เข้ามาเล่น เข้ามาพูดคุยถามคำถาม...น้องๆ ตอบคำถามที่เราถามได้ แค่นี้เราก็พอใจแล้ว” น้ำ กล่าว

“การที่เราออกไปเผยแพร่แล้วมีเด็กมาสมัคร แสดงว่าเขาสนใจและเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอ เราพอใจกับผลที่ออกมา เพราะถ้ามองไปที่ปัญหาตั้งต้นในมหาวิทยาลัย คือ มีคนมาสมัครเข้าชมรม 300 คน แต่ไม่ได้สนใจจริงๆ สุดท้ายก็เหลือแค่ 20 คน แต่ครั้งนี้เรามาให้ความรู้ แล้วให้น้องตัดสินใจเองว่าเขาสนใจจริงหรือไม่ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วน้องนักเรียนจะหายไปบ้าง แต่ก็น่าจะน้อยกว่าที่เคยเป็นมา” เจษ กล่าวถึงเงื่อนไขวัดความสำเร็จของทีมงาน


สร้างความเข้มแข็งจากภายใน

การ์ตูน เล่าต่อว่า หลังทำกิจกรรมให้น้องนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยเปิดเทอมใหม่พอดี ทีมงานเลยฉุกคิดขึ้นว่า ในมหาวิทยาลัยเราเองก็มีชมรมโขน-ละครอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำให้คนในชมรม “รู้จักและรักโขน” เหมือนพวกเรา จึงนำกิจกรรมสร้างแรงจูงใจที่เคยทำในโครงการรวมพลคนรักษ์โขนมาใช้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแสดงโขนให้นักศึกษาในชมรมได้รับรู้ 

โดยแต่ละปีจะมีนักศึกษาสมัครเข้าชมรมเป็นหลักร้อย บางปีเหยียบ 400 คน แต่ท้ายที่สุดจะเหลือสมาชิกที่เข้ามาฝึกฝนอย่างจริงจังต่อเนื่องปีละไม่ถึง 10 คน รวมทุกชั้นปีแล้วไม่ถึง 30 คน การให้ความรู้เรื่องโขนผ่านกิจกรรมสร้างแรงจูงใจน่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี แม้ท้ายสุดจะเหลือคนในชมรมไม่กี่คน แต่อย่างน้อยน้องนักศึกษาน่าจะมีความรู้เรื่องโขนติดตัวไปบ้าง

เจษ เสริมว่า ปัจจุบันทีมงานได้ลงมือฝึกซ้อมการแสดงโขนให้กับสมาชิกใหม่ของชมรมในตอนเย็นของทุกวัน เพราะคิดได้ว่า เราต้องสร้างทีมในมหาวิทยาลัยให้เข้มแข็งและแข็งแรงก่อน สำหรับการฝึกจะเริ่มท่าพื้นฐานคือ ท่าเต้นเสา เพื่อฝึกกำลังขา แล้วค่อยแยกออกไปเป็นโขนลิงหรือโขนยักษ์ พอเราฝึกซ้อมแกนนำในมหาวิทยาลัยจนมีความพร้อมแล้ว จึงจะชวนน้องๆ นักเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการต่อมาฝึกฝนต่อไป เพื่อร่วมแสดงโขนประจำปีของมหาวิทยาลัย “...เมื่อก่อนนี้พวกเราทำงานกันแบบไปตายเอาดาบหน้า ไม่เคยวางแผนการทำงานก่อนหลังว่าต้องทำอะไร งานเลยไม่สำเร็จ แต่พอได้เข้าร่วมอบรมกับทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่ม ทำให้พวกเราเห็นเป้าหมายชัดเจน และคิดต่อได้ว่าเราควรวางขั้นตอนการทำงานแบบไหน...”


“โขน” ฝึกคน “จะมีสักกี่คนที่อดทนซ้อมจนได้ใส่ชุดโขน” 

 การฝึกเต้นเสานั้น เป็นการหัดให้ผู้แสดงตัวพระ ตัวยักษ์และตัวลิงยกเว้นเฉพาะตัวนาง ใช้จังหวะเท้าในการเต้นให้มีความสม่ำเสมอ มีกำลังขาแข็งแรง กระทืบฝ่าเท้าทุกส่วนลงกับพื้นโดยพร้อมเพรียงและมีน้ำหนักเท่า ๆ กัน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการฝึกหัดโขน การเต้นเสาจะต้องยกขาและดึงส้นเท้าให้สูง เกร็งหน้าขา ยกสลับขาซ้ายและขวาตามจังหวะ และเมื่ออาจารย์ผู้ฝึกสอนสั่งให้หยุด 

ผู้ฝึกหัดจะต้องจบด้วยท่านิ่ง ลักษณะร่างกายและศีรษะต้องตั้งตรง ขาตั้งให้ได้เหลี่ยม รวมทั้งมีการฝึกถีบเหลี่ยม เป็นการคัดส่วนขาให้สามารถตั้งเหลี่ยมได้ฉากและมั่นคง ทำให้ผู้แสดงเมื่อย่อเหลี่ยมจะมีทรวดทรงที่สวยงามตามลักษณะประเภทของตัวโขน หัดบังคับและควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่ในท่าที่ต้องการ ฝึกขา แขน และอกให้อยู่ในระดับคงที่ (ทีมา https:// th.wikipedia.org/wiki/โขน

ตัวอักษรสีขาวที่ปรากฏบนหลังเสื้อยืดสีดำ ที่กลุ่มเด็กโขนจากโครงการรวมพลคนรักษ์โขนสวมใส่ สะท้อนให้เห็นถึงความวิริยะ อุตสาหะในการฝึกซ้อม ที่มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การได้ใส่ “ชุดโขน” ที่พวกเขารัก และฝันอยากจะสวมใส่...

เจษ บอกว่า เมื่อก่อนเขาก็มีความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง เพราะต้องมาซ้อมรำกับรุ่นพี่ พอขึ้นมาเป็นรุ่นพี่ก็ต้องมาซ้อมให้รุ่นน้อง ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงสองทุ่ม ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่พอได้ทำโครงการนี้ก็ยิ่งมีความรับผิดชอบมากขึ้น “ก่อนนี้อาจมาบ้างไม่มาบ้าง แต่ตอนนี้ต้องมาทุกวัน เพราะอยากทำโครงการให้เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้...บางครั้งมาแล้วไม่เห็นมีใครมาซ้อม มีรู้สึกถอดใจบ้าง แต่ก็ไม่ท้อ ต่อให้ไม่มีใครมา เราต้องมา เพราะเป็นความรับผิดชอบของเรา”

 ส่วนกอล์ฟที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานชมรมคนต่อไป บอกว่า เขาอยากรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อสานต่องานในชมรมและโครงการจากรุ่นพี่ จึงตั้งใจเรียนรู้และยอมปรับปรุงตัวเองให้มีความเป็นผู้ใหญ่และมีภาวะผู้นำมากขึ้น เพราะเป้าหมายของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ไม่ใช่แค่ให้เราไปทำกิจกรรมกับคนอื่น แต่เป็นการพัฒนาศักยภาพของแกนนำโครงการ เพื่อให้แกนนำออกไปพัฒนาคนอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับและปรับปรุงตัวเอง

กอล์ฟ บอกว่า เมื่อก่อนเขามักพูดก่อนคิด พูดจาไม่เข้าหูคนอื่น แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นคนใจเย็นและคิดก่อนพูด เนื่องจากเห็นแล้วว่า คำพูดไม่ดีเพียงเล็กน้อยอาจกระทบจิตใจคนอื่นได้ การทำกิจกรรมในโครงการรวมพลคนรักษ์โขนทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเองและมั่นใจในสิ่งที่ทำ และความมั่นใจนี้เองที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความกล้า ทั้งกล้าแสดงออกและกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

­

ส่วนทีมงานคนอื่นๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ “เปิดโอกาส” ให้พวกเขาได้เรียนรู้การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยให้การทำงานเดินไปอย่างถูกทิศทาง รวมถึงการถอดบทเรียนที่ช่วยให้พวกเขามองเห็นข้อบกพร่องของตัวเองและข้อบกพร่องในการทำงาน ทุกคนจึงสามารถพัฒนาตัวเองและปรับเปลี่ยนแผนงานให้มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที การ์ตูน เสริมต่อว่า เมื่อก่อนนี้พวกเราทำงานกันแบบไปตายเอาดาบหน้า ไม่เคยวางแผนการทำงานก่อนหลังว่าต้องทำอะไร งานเลยไม่สำเร็จ แต่พอได้เข้าร่วมอบรมกับทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่ม ทำให้พวกเราเห็นเป้าหมายชัดเจน และคิดต่อได้ว่าเราควรวางขั้นตอนการทำงานแบบไหน ยิ่งคำถามที่พี่ๆ ถามให้เราคิด ช่วยอุดช่องว่างในสิ่งที่เรามองข้ามหรือนึกไม่ถึงได้ แม้ตอนนี้งานอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่เรารู้ว่าทำอะไรกันมาบ้าง ทำถึงไหนแล้ว และยังต้องทำอะไรต่อไป 

ส่วน น้ำ เสริมว่า การถอดบทเรียนนอกจากทำให้แต่ละคนมองเห็นข้อบกพร่องในการทำงานของตัวเองและทีมงานที่ต้องแก้ไขร่วมกันแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ของเพื่อนในทีมแน่นแฟ้นขึ้น เพราะได้พูดคุยกันมากขึ้น ทั้งเรื่องที่มีสาระไปจนถึงทุกข์สุขส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งเป็นบรรยากาศการอยู่ร่วมกันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ขณะที่ ธาม บอกว่า การย้อนมองข้อผิดพลาดของตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะส่วนใหญ่คนเรามักมองเห็นข้อเสียของผู้อื่น แต่ไม่มองพฤติกรรมของตัวเอง การสร้างทีมให้มีความเข้มแข็งทำได้ด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพราะความคิดที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากความคิดของคนๆ เดียว

“เวลาเห็นคนอื่นแสดงพฤติกรรมที่เราไม่ชอบ เราต้องย้อนกลับมามองตัวเองด้วยเหมือนกันว่า เราทำพฤติกรรมแบบนั้นกับคนอื่นด้วยหรือเปล่า ไม่ควรโทษผู้อื่น แต่ต้องรับฟังเหตุผลของเขาด้วย” ธาม กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

อาจารย์สมโภชน์ บอกว่า ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เขาเลือกที่จะสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ปล่อยให้ทีมงานได้คิดเองทำเอง เพราะอยากให้เขามีความเชื่อมั่น ไม่รอให้เราป้อนข้อมูลให้อย่างเดียว จะบอกพวกเขาเสมอว่า ถ้ามีปัญหาอะไรเข้ามาปรึกษาได้ทันที 

ในฐานะที่เป็นครูโขนมาตลอดชีวิตการทำงานกว่า 20 ปี อาจารย์สมโภชน์มั่นใจว่า การสอนสามารถสร้างคนให้มีทักษะในการแสดงโขนได้ แต่ประสบการณ์จะทำให้เรียนรู้ว่า ต้องสร้างคนดูให้ดูโขนเป็นด้วย เพราะถ้ามีแต่คนแสดง แต่ไม่มีคนดู โขนก็อยู่ไม่ได้ “เราต้องสร้างองค์ประกอบทั้งหมดควบคู่กันไป ทั้งคนดูที่ดูเป็น และคนแสดงที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ กลุ่มนี้กำลังตั้งใจทำอยู่”

การอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จาก “คำพูด” แต่ต้องเกิดจากการ “เรียนรู้” และ “ลงมือทำ” ด้วยความรัก ความอดทน และมุ่งมั่น วันนี้โครงการรวมพลคนรักษ์โขนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ความรู้และความรัก” รวมถึงความวิริยะ อุตสาหะที่พวกเขามีต่อศิลปะการแสดงโขน ได้นำพาให้พวกเขาคิด “ส่งต่อ” ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกิดความรู้และความรักโขนเหมือนพวกเขา ทำให้การ “ดูโขนเป็นเล่นโขนได้” เกิดขึ้นได้จริงที่จังหวัดตรัง 


โครงการ : รวมพลคนรักษ์โขน 

อาจารย์ที่ปรึกษา : สมโภชน์ เกตุแก้ว หัวหน้าภาควิชาวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

ทีมทำงาน : นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

( ธนพร วุฒกระพันธ์ ) ( เจษฎา ฉิมสุด ) (  รสสุคนธ์ ยอดทอง ) ( กิตติพงษ์ นวนจันทร์ ) ( สุชาดา เรืองอ่อน ) ( หน่อย ปลั่งประมูล ) ( สุภัสสร บุญเกื้อ ) ( ภควัชร หมั่นหมาย )

­