การเรียนรู้ผ่านชุมชน ( PBL ) เพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ปี 4

เยาวชนชวนคิด ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโลกยุคใหม่

โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ 

ทรัพยากรธรรมชาติพวกก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนทั้งประเทศใช้ เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และกำลังจะหมดไปจริงๆ แต่พวกพี่ๆ นำแผงโซลาร์เซลล์มาแปลงพลังงานแสงอาทิย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในโรงเรียนและไม่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม เลยคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้พี่ๆ ทำกันเองแค่ 4-5 คน ถ้าพวกเรามาช่วย โครงการก็น่าจะสำเร็จเร็วขึ้น ตัวเราเองก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย...ทุกอย่างต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ก่อน”

“โลกร้อน” ปัญหาระดับโลกที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ที่คุกคามธรรมชาติ ผลกระทบจึงย้อนกลับมาถึงตัวมนุษย์เอง  

การหันมาใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจำพวกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทนจึงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน แต่น้อยคนนักที่จะนำความรู้และข้อเท็จจริงจากตำราเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาคปฏิบัติ แต่วันนี้มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งจากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ลุกขึ้นมาทำโครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ และสามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ทดแทนในโรงเรียนได้บางส่วนแล้ว 

­

ชุบชีวิตแผงโซลาร์เซลล์

หลายปีที่ผ่านมาโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ได้รับอนุเคราะห์แผงโซลาร์เซลล์ พร้อมติดตั้งจากองค์กรภายนอกแต่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ เนื่องจากขัดกับระเบียบการใช้ไฟของการไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ห้ามใช้ไฟฟ้าสองระบบร่วมกัน แผงโซลาร์เซลล์จึงกลายเป็นของเก่าเก็บในโรงเรียน ประกอบกับในโรงเรียนมีโรงเรือนผักไฮโดรโปนิกส์ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าควบคุมการไหลเวียนของน้ำและปุ๋ยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาไฟฟ้าดับบ่อย จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาคุณภาพของผลผลิต 

ซี–เฝาซี ล่าเต๊ะ เก่ง–เกียรติศักดิ์ ศรีชาย พิก–อนุพงศ์ ศรีสุวรรณ์ เพชร-ทักษ์ดนัย สร้อยสีมาก และบอม–วุฒิชัย แก้วล้อมวัน จึงนำสภาพปัญหาทั้ง 2 อย่างมาเป็นโจทย์ทำโครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างตัวอย่างการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำมาใช้ในโรงเรือนผักไฮโดรโปนิกส์ของโรงเรียน และเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานทดแทนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนและคนในชุมชน 

ซี ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า คนในชุมชนจะนะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำนา ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ที่จำเป็นต้องใช้ทั้งน้ำและไฟฟ้าในการทำเกษตร ค่าไฟฟ้าจึงกลายเป็นต้นทุนทางการเกษตรที่สูงมาก หากพวกเราสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ใช้สำหรับดูแลผักไฮโดรโปรนิกส์ในโรงเรียนได้ และนอกจากจะสามารถลดค่าไฟในโรงเรียนได้แล้ว ยังสามารถพัฒนาโรงเรือนผักไฮโดรโปรนิกส์เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน ให้คนในชุมชนเข้ามาศึกษาดูงาน แล้วนำไปปรับใช้เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของเกษตรกรได้


เรียน(ให้)รู้ ก่อนเป็นผู้ถ่ายทอด

การทำโครงการเริ่มต้นด้วยการเติมความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้แก่สมาชิกทุกคนในทีมก่อน แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนให้แก่นักเรียนในโรงเรียน และรับสมัครแกนนำเข้าร่วมโครงการ 

“ก่อนจะไปแนะนำคนอื่นได้ พวกเราต้องรู้เรื่องนั้นจริงๆ ก่อน” ซี เอ่ยขึ้น ทีมงานเชิญ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้รู้เรื่องพลังงานทดแทนเข้ามาให้ความรู้และสาธิตการติดตั้งวงจรในพื้นที่จริง ทีมงานใช้เวลา 1 วันเรียนรู้ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานทดแทน กระทั่งเจาะลึกถึงหลักการของพลังงานแสงอาทิตย์ และลงมือต่อวงจรไฟฟ้าเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์ร่วมกับวิทยากร

“พวกเราอัศจรรย์ใจมากตั้งแต่เห็น ดร.สมพร ต่อวงจรเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์ แล้วสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาใช้งานได้ทันที...ง่ายๆ แค่นี้เอง” พิก เอ่ยถึงความรู้สึกดีใจปนสงสัย เมื่อทีมงานได้รับการเติมเต็มความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว จึงเริ่มหาแกนนำเข้าเสริมทีม ด้วยทีมงานเป็นคณะกรรมนักเรียนอยู่แล้ว จึงใช้วิธีประชาสัมพันธ์โครงการหน้าเสาธงในตอนเช้าและประกาศเสียงตามสายตอนกลางวัน ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ครั้งละ 10-15 นาที ติดต่อกัน 1 เดือน โดยแผนการประชาสัมพันธ์มี 3 ส่วน คือ 1)ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลังงานทดแทน 2)ให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาเซลล์ และแนะนำโครงการ และ 3)เชิญชวนนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการแจกจ่ายให้นักเรียนด้วย 

เหตุผลที่เราวางแผนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนในภาพรวมก่อน ก็เพื่อให้นักเรียนรู้ว่าพลังงานทดแทนมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากนั้นจึงเจาะลึกที่พลังงานแสงอาทิตย์ รูปแบบการให้ความรู้จะใช้การตั้งคำถาม มีการแจกรางวัล เพื่อดึงความสนใจให้น้องๆ ฟังสิ่งที่พวกเรานำเสนอ ส่วนคนที่สมัครเข้ามาร่วมโครงการ นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังสามารถต่อวงจรเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ด้วย เราอยากให้มีคนเข้ามาเรียนรู้เยอะๆ เพราะหลังจากพวกเราเรียนจบออกไปจะได้มีคนสานต่องานนี้” เก่งกล่าว

เพชรซึ่งรับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ บอกว่า ทุกครั้งก่อนนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ เขาจะทำการบ้านด้วยการสืบหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อน นำมารวมกับความรู้จากเอกสารที่มีอยู่ พร้อมกับฝึกพูดหน้ากระจกก่อนวันจริงทุกครั้ง  “เมื่อเพื่อนมอบหมายหน้าที่นี้ให้ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด แรกๆ มีตื่นเต้นบ้าง พูดผิดบ้าง แต่พอพูดหลายครั้งก็ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนครูที่อยู่ประจำห้องเสียงตามสายที่เป็นครูหมวดภาษาไทยชื่นชมว่า ผมพูดได้ดีขึ้น” เพชรกล่าว

กล่าวได้ว่าแผนประชาสัมพันธ์ของทีมงานสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี โดยวัดผลจากนักเรียนอาสาสมัครกลุ่มแรกที่เข้ามาเรียนรู้ในโครงการแล้วกว่า 30 คน มีมี–สุดารัตน์ สีทอง และน้ำ–มัลลิกา สีรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่า เธอได้รับรู้ข้อมูลจากการประชาสัมพันธ์ของทีมงาน ทำให้รู้ว่าการใช้ไฟฟ้าในชุมชนและค่าไฟของโรงเรียนที่มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกเดือน จึงสนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าของโรงเรียน และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า

“เราเรียนมา รู้ว่าทรัพยากรธรรมชาติพวกก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนทั้งประเทศใช้ เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป และกำลังจะหมดไปจริงๆ แต่พวกพี่ๆ นำแผงโซลาร์เซลล์มาแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในโรงเรียนและไม่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม เลยคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้พี่ๆ ทำกันเองแค่ 4-5 คน ถ้าพวกเรามาช่วยโครงการก็น่าจะสำเร็จเร็วขึ้น ตัวเราเองก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย ...ทุกอย่างต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ก่อน”

เป็นเพราะความประมาท ไม่ได้ตรวจสอบหน่วยวัดกำลังไฟฟ้า (วัตต์) บนหม้อชาร์ตให้สอดคล้องกับวิธีการต่อวงจร ทำให้วงจรขัดข้องจนไหม้ ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนให้พวกเราทำงานด้วยความรอบคอบและละเอียดมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่กับการทำโครงการเท่านั้นแต่รวมถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วย”


รู้รับผิดชอบ

การประชาสัมพันธ์รับสมัครอาสาสมัครประสบผลสำเร็จด้วยดี แต่ด้วยภาระหน้าที่ทั้งการเรียนที่ต้องรับผิดชอบ และบทบาทของคณะกรรมการนักเรียนที่ต้องคอยดูแลกฎระเบียบและความเรียบร้อยของโรงเรียน ส่งผลให้การทำโครงการหยุดชะงักลงไประยะหนึ่ง 

จนครูสุเทพ คงคาวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการ ต้องกระตุ้นเตือน สอบถามความคืบหน้าของโครงการ ทำให้ทีมงานฉุกคิดได้ว่าพวกเขาต้องบริหารจัดการตนเองใหม่ เพื่อให้ภาระงานที่รับผิดชอบทุกด้านเดินหน้าไปได้ด้วยดี เก่ง บอกว่า นอกจากแรงกระตุ้นจากครูแล้ว การได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ "สร้างสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชนและชุมชนเข้มแข็ง" กับเพื่อนต่างพื้นที่ ทำให้พวกเขาเห็นความก้าวหน้าในการทำโครงการของเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ และคำพูดจากป้าหนู –พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ที่สะกิดใจและจุดไฟในตัวพวกเขาให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง 

“ถ้าอยากจะทำอะไรให้โลกรู้ ต้องทำให้สุด อย่าหยุดแม้วันเดียว...ต้องกล้าคิด กล้าลอง และกล้าทำ” ทีมงาน เอ่ยถึงประโยคกระตุกใจจากป้าหนู

ซี ในฐานะหัวหน้าทีม บอกว่า เขาได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนและรุ่นน้องให้เป็นหัวหน้าทีม จึงต้องการนำทีมไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่วางไว้ ถึงแม้จะเหนื่อยและท้อในบางครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรเวลา แต่เขาคิดเสมอว่าต้องเป็นเสาหลักให้คนอื่นๆ ในทีม เพื่อให้ทีมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป เมื่อไฟในการทำงานลุกโชนขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ทีมงานเดินหน้าทำโครงการเต็มที่เริ่มจากจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น สายไฟและหม้อแบตเตอรี่ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ประกอบเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์ ช่วงนี้ทีมงานจึงพยายามฝึกฝนตนเองให้เกิดความชำนาญ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนออกไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อไป

“วันนั้นทดลองต่อแผงวงจรกันอยู่ดีๆ ก็มีไฟลุกขึ้นมาจนควันคลุ้งไปทั่วบริเวณ ทุกคนตกใจมาก พอดับไฟหมดแล้วพวกเราก็มาสรุปบทเรียนกันว่า ปัญหาเกิดจากอะไร จนพบว่าเกิดจากการต่อสายวงจรผิด ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้เราทุกคนได้เรียนรู้” ซี กล่าว

ขณะที่บอมยอมรับว่า เขาเป็นคนต่อวงจรนั้นเอง เป็นเพราะความประมาท ไม่ได้ตรวจสอบหน่วยวัดกำลังไฟฟ้า (วัตต์) บนหม้อชาร์ตให้สอดคล้องกับวิธีการต่อวงจร ทำให้วงจรขัดข้องจนไหม้ ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนให้บอมทำงานด้วยความรอบคอบและละเอียดมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่กับการทำโครงการเท่านั้นแต่หมายรวมถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วย

“เราทำงานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ต้องมีความรอบคอบให้มากกว่านี้ หลังจากนั้นมารู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้น ไม่รีบร้อนทำอะไรโดยไม่คิด หรือถ้าคิดจะต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น อย่างเช่นเวลาต้องใช้สูตรเพื่อคำนวณกำลังไฟฟ้า แทนที่จะคิดครั้งเดียวก็ต้องทวนซ้ำก่อนว่าถูกต้องแน่ๆ” บอม อธิบาย 


“สำนึก” จากการลงมือทำ

งานเริ่มเข้ารูปเข้ารอย อีกทั้งความรู้และแรงใจที่เต็มเปี่ยม โอกาสในการเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานทดแทนในโรงเรียนก็มาถึงอีกครั้งใน งานวันเปิดบ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทีมงานได้เผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนและคณาจารย์ในโรงเรียน โดยจัดเป็นซุ้มให้นักเรียนเข้ามาชมการสาธิตและทดลองต่อแผงวงจรด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีทางการเกษตร กิจกรรมตอบคำถามความรู้เพื่อชิงของรางวัล เช่น สมุดบันทึก ปากกา และตุ๊กตาตัวเล็กๆ เป็นต้น ซี บอกว่า เมื่อพิจารณาจากรายชื่อของนักเรียนที่เข้าร่วมฐานการเรียนรู้ ฐานพลังงานทดแทนได้รับความสนใจมากที่สุด 

“พวกเราพอใจกับผลงานที่ออกมาในวันนั้น เพราะน้องๆ ให้ความสนใจมาลองทำ มาร่วมตอบคำถามเป็นจำนวนมาก ส่วนการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชน ทีมงานส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาวิชาทหารอยู่แล้ว จึงใช้โอกาสตอนลงพื้นที่ในชุมชนบ้านประจ่า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เข้าไปให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านเองก็สนใจ เพราะปัจจุบันต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ไม่สูงมาก ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะถามต่อว่าถ้าเขาจะติดตั้งจริงๆ ช่วยมาให้ความรู้และมาติดตั้งให้ได้ไหม ซึ่งพวกเราก็ยินดี” ซี กล่าว

นอกจากความตั้งใจที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คนในชุมชนเรื่องการใช้พลังงานแล้ว ทีมงานบอกว่าจิตสำนึกเรื่องการใช้ไฟฟ้าของพวกเขาก็เปลี่ยนไปด้วย 

“ไม่ใช่ว่าเราทำโครงการนี้แล้วเราจะเลิกใช้ไฟฟ้า แต่เราไม่วางเฉยเมื่อเห็นใครเปิดไฟทิ้งไว้ ตัวเราเองก็จะไม่เปิดไฟทิ้งไว้เหมือนกัน บางครั้งเห็นประตูห้องเรียนล็อคแล้วแต่มีไฟเปิดอยู่ เราจะไปขอกุญแจจากครูมาเปิดเพื่อปิดไฟ เป็นสำนึกที่เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อก่อนพวกเราไม่ได้เป็นแบบนี้” ซี กล่าว “โครงการนี้ทำให้ผมรู้จักจัดการชีวิตมากขึ้น ทั้งเรื่องเรียน ทำโครงการ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น ผมไม่เคยทำโครงการมาก่อน แต่เมื่อต้องมาทำก็ทำได้...”


ทักษะติดตัว เมื่อได้คิด ทำ

และแล้วแผงโซลาร์เซลล์เก่าๆ ที่วางทิ้งไว้อย่างไร้ค่า ก็กลับมามีคุณค่าขึ้นอีกครั้ง เมื่อสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ใช้ในแปลงผักไฮโดรโปนิกส์นานถึง 24 ชั่วโมง พิกบอกว่า วันที่เห็นระบบน้ำในแปลงผักไหลเวียนด้วยกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ เขารู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนความพยายามมันสำเร็จแล้ว และเล่าถึงทักษะที่ได้จากการทำงานว่า

โครงการนี้ทำให้ผมรู้จักจัดการชีวิตมากขึ้น ทั้งเรื่องเรียน ทำโครงการ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น ผมไม่เคยทำโครงการมาก่อน แต่พอต้องมาทำก็ทำได้ พยายามจัดการเอกสารให้ถูกต้องที่สุด เพราะเงินไม่ใช่เงินของเรา การใช้เงินจึงต้องมีหลักฐานชัดเจน เวลาเพื่อนมาเบิกก็ต้องมีหลักฐานการใช้เงิน หากมีโอกาสก็จะไปซื้อของกับเพื่อนตลอด เป็นการฝึกความละเอียดไปในตัว” 

ส่วนเพชร บอกว่า เพื่อให้โครงการเดินไปถึงจุดหมาย ทำให้เขายอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน การอยู่ร่วมกันเสียงส่วนมากเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่เก่ง บอกว่า เมื่อก่อนเขาสนใจแต่กิจกรรมกีฬา ที่มาทำโครงการนี้เพราะซีชวนมา และอยากลอง พอได้เริ่มทำครั้งแรกก็รู้สึกชอบ เพราะ ทำให้เรามีทักษะมากขึ้น ทั้งการพูด การนำเสนอ และการรับฟังคนอื่น ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก ความคิดเราอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าเราเอาความคิดเห็นของคนอื่นมารวมกันก็จะช่วยกันได้ เมื่อก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก แต่เดี๋ยวนี้ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้เข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น

ส่วน ซี เสริมว่า เมื่อก่อนเก่งเป็นคนพูดมากกว่าทำ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มทำมากขึ้น อาจเป็นเพราะเขาเริ่มเข้าใจโครงการเขาจึงตั้งใจทำ “บางครั้งความคิดเขายังล้ำหน้ากว่าผมอีก เห็นได้ชัดว่าเขาเริ่มมีความคิดมาเสนอเพื่อนๆ จากเมื่อก่อนเฉยๆ ไม่สนใจอะไรเลย” 

บอม บอกว่า เขาได้ทักษะในการวางแผน ใจเย็น และรอบคอบมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ชอบทำเลยไม่ค่อยคิด ก็เปลี่ยนมาเป็นคิดก่อนทำมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อเพื่อนมากขึ้น เช่น มาประชุมตรงเวลา ไม่ชอบให้เพื่อนรอ ฉะนั้นเราไปก่อนเพื่อนก่อนดีกว่า 

ชาญ-วราวุธ อิ่มเอิบ สมาชิกร่วมโครงการ บอกว่า เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนให้ทำอะไรเฉยลูกเดียว ไม่สนใจใครใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอเห็นเพื่อนๆ ทำโครงการนี้ก็รู้สึกสนใจ เพราะที่บ้านเคยมีแผงโซลาร์เซลล์อยู่ จึงอยากเรียนรู้ พอได้เข้ามาทำจริงๆ ก็รู้สึกสนุก “ผมถนัดเรื่องคอมพิวเตอร์เลยเอาความถนัดของตนเองมาช่วยเพื่อนทำงานจัดการข้อมูล ตอนนี้ผมเปลี่ยนจากคนที่เฉยๆ มาเป็นคนกระตือรือร้นมากขึ้น” 

ซี เสริมว่า เมื่อก่อนชาญไม่ค่อยพูดกับใคร แต่พอเข้ามาทำโครงการนี้ เขาเปลี่ยนแปลงมาก คอยถามเพื่อนตลอดว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ชาญ ย้ำว่า ถ้าเพื่อนทำกัน เราจะอยู่เฉยได้อย่างไร อยู่ไม่ได้หรอก ต้องมาช่วยเพื่อนทำงานจะได้เสร็จเร็วขึ้น สำหรับ ณัฐ-ณัฐพงศ์ ชั่งแอ สมาชิกร่วมโครงการ บอกว่า เมื่อก่อนเขาเก็บตัวไม่ค่อยเข้ากับเพื่อน แต่ตอนนี้ก็อยู่กับเพื่อนมากขึ้น เห็นเพื่อนทำก็อยากมาทำด้วย โดยรับหน้าที่เป็นคนทำรายงาน ตามที่พี่ซีเอาตัวอย่างมาให้ดู ซึ่งการทำรายงานก็ไม่ยาก เพราะหลังทำกิจกรรมเสร็จทุกครั้งพี่ซีจะชวนทีมงานถอดบทเรียนว่า พวกเราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีเลขาคอยจดบันทึกไว้สำหรับใช้ประกอบรายงาน ส่วน ซี ในฐานะหัวหน้าทีม บอกว่า เขาเพิ่งเคยเขียนโครงการส่งสงขลาฟอรั่มเป็นครั้งแรก ซึ่งคิดว่าน่าจะนำไปใช้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้

“ตอนนี้ผมเรียน ม.6 กำลังเรียนเรื่องไฟฟ้าพอดี พอได้ทำโครงการก็เหมือนได้ลงมือปฏิบัติไปด้วย นอกจากนี้การทำโครงการยังทำให้ผมกล้าเข้าไปทำความรู้จักคนอื่นมากขึ้น รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ลูกทีมทำงานกับเขาไปนานๆ รู้จักการพูดโน้มน้าวใจ เช่น เราร่วมทำมาด้วยกันแล้วก็ต้องทำมันสุดๆ”  ซีย้ำว่า การทำงานกับคนหมู่มาก มีบางครั้งที่ทำให้เขาท้อ เคยคิดว่าอยากเลิกทำ แล้วไปมุ่งสนใจแต่เรื่องเรียน แต่คิดได้ว่าถ้าเราเลิกทำ โครงการนี้ก็คงจะไม่จบ เลยฮึดสู้ทำต่อจนจบ

“ครูต้องให้อิสระแก่เด็กในการคิด ครูเองก็ได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการเข้าไปอบรมกับสงขลาฟอรั่ม แม้ก่อนนี้ครูจะให้เด็กทำเอง แต่อาจคิดนำเด็กไปก่อน ตอนนี้ถึงแม้จะมีความคิดในหัวหรือมีอะไรในใจ ครูจะรอให้เด็กๆ ได้คิดได้ทำเองก่อน รอดูผลลัพธ์จากสิ่งที่เด็กทำ ซึ่งอาจจะดีกว่าที่เราคิดก็ได้” 


ครูผู้ให้อิสระศิษย์ได้คิดเองทำเอง

เสียงน้ำที่ไหลวนอยู่ในแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ คือบทพิสูจน์ของความพยายามทุ่มเททำโครงการของลูกศิษย์ที่ครูสุเทพรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ครูสุเทพ บอกว่า ยังมีสิ่งที่ทีมงานต้องพัฒนาต่อ นั่นคือ การฝึกฝนตนเองให้เกิดความชำนาญในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกหาวัสดุที่มีคุณภาพ การติดตั้งแผงวงจร การจดบันทึก เช่น สถิติการผลิตไฟและการใช้ไฟจากแผงโซลาร์เซลล์และสถิติค่าไฟฟ้าว่าลดลงหรือไม่ เป็นต้น เพราะทั้งหมดจะเป็นข้อมูลยืนยันถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงานของพวกเขาเอง

ครูสุเทพ ให้มุมมองในฐานะคนท้องที่และครูผู้สอนวิชาการเกษตรซึ่งเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมว่า “หากคิดทำอะไรสักอย่างให้คนอื่นทำตาม เราต้องทำเองให้ได้ก่อน” ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตรน้อยลง เพราะมองว่าเป็นงานที่ยากลำบาก ต้องตากแดดกรำฝน แต่หากสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดใจให้เด็กและเยาวชนหันกลับมาสนใจงานเกษตรมากขึ้น 

“ตอนที่ครูเริ่มสนใจเรื่องผักไฮโดรโปนิกส์ ครูทดลองทำเองที่บ้านก่อน เพื่อให้ได้ความรู้จริงมาถ่ายทอด เพราะฉะนั้นครูจะบอกเด็กตลอดว่า ก่อนนำความรู้หรือวิธีการต่างๆ ไปเผยแพร่แก่คนภายนอก เราต้องทดลองทำ แล้วต้องทำให้เห็นก่อน ส่วนเรื่องโซลาร์เซลล์ครูไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ครูก็ต้องลงไปทำ ไปเรียนรู้กับเด็กทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นเราจะตามไม่ทัน แล้วจะไม่สามารถให้คำแนะนำเขาได้ การที่ได้ไปเรียนรู้ร่วมกับเขาทำให้ได้เห็นเวลาเขาทำกิจกรรม ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขาด้วย”

ครูสุเทพ บอกอีกว่า สิ่งสำคัญของการเป็นที่ปรึกษาคือ ต้องให้อิสระพวกเขาได้คิดเอง ทำเอง “ครูต้องให้อิสระแก่เด็กในการคิด ครูเองก็ได้เรียนรู้เรื่องนี้จากการเข้าไปอบรมกับสงขลาฟอรั่ม แม้ก่อนนี้ครูจะให้เด็กทำเอง แต่อาจคิดนำเด็กไปก่อน ตอนนี้ถึงแม้จะมีความคิดในหัวหรือมีอะไรในใจ ครูจะรอให้เด็กๆ ได้คิดได้ทำเองก่อน รอดูผลลัพธ์จากสิ่งที่เด็กทำ ซึ่งอาจจะดีกว่าที่เราคิดก็ได้”

ครูสุเทพ กล่าวต่อถึงประโยชน์ที่ได้รับการถอดบทเรียนการทำงานว่า สามารถช่วยพัฒนากระบวนการคิดและดึงศักยภาพของเยาวชนแต่ละคนออกมาได้ “การถอดบทเรียนทำให้เห็นตัวเอง ว่าทำอะไรลงไปบ้าง ได้ผลอย่างไร มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร ส่วนตัวครูเองก็ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าเด็กคิดอยากทำอะไร เราไม่ควรไปเบรกเขาด้วยเหตุผลของเรา ไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่คิด ส่วนการกระตุ้นให้เด็กคิดและทำอะไรสักอย่าง ควรให้เริ่มทำสิ่งง่ายๆ ก่อน จากนั้นค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้น ต้องไม่ลืมว่า การปล่อยให้เด็กคิดอย่างเป็นอิสระต้องใช้เวลา และต้องปล่อยให้เขาทำจนเห็นผลลัพธ์จริงๆ ก่อน เด็กถึงจะได้เรียนรู้เอง” 


ตั้งคำถามกระตุ้นคิด 

จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี กลับมีคุณค่าขึ้นอีกครั้ง ด้วยความมานะพยายามของทีมงาน วันนี้แม้ผลของค่าไฟจะยังไม่ปรากฎให้เห็นชัดเจนว่าลดลงมากน้อยเพียงใด แต่ผลของการได้คิดและลงมือทำได้สร้างทักษะติดตัวให้กับทีมงาน ทั้งความรับผิดชอบ การรู้จักคิดและวางแผนการทำงาน การรับฟังเพื่อน ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “สำนึกพลเมือง” ที่ฝังอยู่ในเนื้อในตัวของทีมงาน 

สำนึกที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด อันจะเป็นหนทางในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และลดโลกร้อนในทางอ้อม เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental literacy) อีกด้วย


โครงการ : พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์สุเทพ คงคาวงศ์ โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์

ทีมทำงาน : นักเรียนโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

เฝาซี ล่าเต๊ะ : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  

ทักษ์ดนัย สร้อยสีมาก : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

เกียรติศักดิ์ ศรีชาย : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

อนุพงศ์ ศรีสุวรรณ์ : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

วุฒิชัย แก้วล้อมวัน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

วราวุธ อิ่มเอิบ : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

ณัฐพงศ์ ชั่งแอ : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5