การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนผ่านการทำกิจกรรมปลูกผัก ชุมชนจันทร์วิโรจน์ริมทางรถไฟ จ.สงขลา ปี 4

ผักกับเด็กและเยาวชน เปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่

โครงการผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่

การที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ เราต้องเข้าใจเขาก่อน ด้วยการพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสกับชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่เข้าใจตัวหนังสือ แต่เราต้องเข้าใจชีวิตเขาด้วย...นอกจากนี้โครงการนี้ทำเรารู้วิธีการแก้ปัญหาและมีทักษะชีวิต เนื่องจากมีโจทย์ให้ต้องกลับมาขบคิดและแก้ปัญหาตลอดเวลา การครองสติให้มั่นคงและใช้ปัญญาไตร่ตรองแก้ไขปัญหาจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

“ผมเชื่อว่าเด็กเปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่ากิจกรรมจะทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงได้” คือคำบอกเล่าของ กาย-รัชกรัณย์ สวัสดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สหวิชาชุมชนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่บอกเล่าถึงความเชื่อเรื่องกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่ ที่ใช้การปลูกผักเป็น “เครื่องมือ” พาน้องๆ ในชุมชนจันทร์วิโรจน์พัฒนาตัวเอง และพาตัวเองออกห่างจากสิ่งเร้าที่อยู่รายรอบชุมชน

“ผมอยู่หาดใหญ่มา 7-8 ปี ไม่เคยรู้เลยว่าหาดใหญ่มีชุมชนแบบนี้อยู่ เคยขับรถผ่านแต่ก็ไม่เคยเข้าไป พอได้เห็นสภาพชุมชนตรงนั้นกับที่เราอยู่ แม้จะห่างกันไม่กี่กิโล แต่สภาพแวดล้อมต่างกันมาก คิดว่าหาดใหญ่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของเรา เลยอยากทำอะไรเพื่อน้องๆ ที่อยู่ในชุมชนนี้บ้าง” 

­

ความต่างที่ลงตัว

ชุมชนจันทร์วิโรจน์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนแออัดริมทางรถไฟ ในชุมชนแห่งนี้ไม่มีโรงเรียนหรือแม้กระทั่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีแค่ห้องสมุดที่สถานีตำรวจยกให้เป็นสมบัติของชุมชน แต่หนังสือก็ไม่ได้มีมากพอให้น้องๆ ในชุมชนค้นหาความรู้ และสถานที่ก็ไม่ได้กว้างขวางมากนัก แค่เพียงพอกับการทำกิจกรรมกับเด็กๆ เท่านั้น 

ย๊ะ-พาซีย๊ะห์ ซีแต บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เคยเวียนเข้าออกทำวิจัยในชุมชนจันทร์วิโรจน์เพื่อพัฒนาเด็กด้อยโอกาสจนรู้สึกผูกพันและเป็นห่วงเด็กในชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของชุมชนอยู่ในจุดเสี่ยงทั้งอบายมุขและยาเสพติด หลังทำวิจัยจบ เธอพยายามมองหาช่องทางเพื่อดึงเด็กๆ ในชุมชนออกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว กระทั่งได้รู้จักกับโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เธอจึงใช้โอกาสนี้สานต่อความรักความห่วงใยให้กับเด็กๆ ในชุมชนอีกครั้ง ผ่านการทำโครงการผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่ โดยมีตูแวซะห์ นิแม เป็นที่ปรึกษาโครงการ 

ย๊ะ เล่าว่า ตอนแรกที่คิดทำโครงการ เธอชักชวนน้องๆ ในชุมชนเข้าร่วมทีมด้วย แต่ติดปัญหาที่น้องอายุน้อยเกินไปคือ 13-14 ปี ไม่สามารถคิดวางแผนและออกแบบการทำงานได้ จึงเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ที่เคยทำงานชุมชนเข้าร่วมทีม โดยเริ่มชวนกายก่อนเป็นคนแรก จากนั้นก็ตามด้วย ป๋อม-พีรดา เชาวน์ณัฐเศวตกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเภสัชศาสตร์ มู-สมโภช จิระพันธุ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะทันตแพทยศาสตร์ และฟ้า-ศศิวรรณ เขาไข่แก้ว เยาวชนในชุมชนจันทร์วิโรจน์

แม้ทีมทำงานจะอยู่ต่างสาขาวิชา แต่ย๊ะยืนยันว่า เป็นความต่างที่ลงตัว เพราะทุกคนมีความรับผิดชอบสูง แม้แต่ละคนจะมีภาระเรื่องการเรียนและชีวิตส่วนตัวให้รับผิดชอบ แต่ทุกคนก็สามารถจัดการชีวิตตนเองได้ ป๋อม บอกว่า ตอนพี่ย๊ะชวนทำโครงการ ชั่งใจอยู่พักหนึ่ง เกรงจะกระทบการเรียน แต่หลังไตร่ตรองดูแล้วคิดว่าน่าจะทำได้ ประกอบกับอยากท้าทายตัวเองว่าจะสามารถทำกิจกรรมและเรียนไปพร้อมกันได้หรือไม่ ยอมรับว่าตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาจนเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ไม่เคยทำกิจกรรมแบบนี้มาก่อนเลย เป็นเด็กเรียนเต็มตัว แถมยังเห็นแก่ตัวอีกต่างหาก พอขึ้นปี 2 ก็มีโอกาสทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในชมรม วิธีคิดของเธอจึงเริ่มเปลี่ยนไป ไม่คิดทำกิจกรรมเพื่อแลกเกรดอีกแล้ว แต่ตั้งใจจะทำกิจกรรมจิตอาสาเต็มที่ ด้วยเชื่อว่ากิจกรรมจิตอาสาจะทำให้ทัศนคติของเธอเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ขณะที่มู บอกว่า เขาเกิดที่จังหวัดปัตตานี ย้ายมาเรียนต่อที่จังหวัดสงขลาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่ออาจารย์บอกว่าพี่ย๊ะกำลังต้องการทีมงานทำโครงการเพื่อชุมชนสังคม จึงโทรศัพท์คุยกับพี่เขาเรื่องรายละเอียดการทำโครงการ พอรู้ว่าจะเข้าไปทำกิจกรรมกับน้องๆ ในชุมชนจันทร์วิโรจน์ที่เขาเคยลงพื้นที่มาก่อน จึงตัดสินใจเข้าร่วม 

“ผมอยู่หาดใหญ่มา 7-8 ปี ไม่เคยรู้เลยว่าหาดใหญ่มีชุมชนแบบนี้อยู่ เคยขับรถผ่านแต่ก็ไม่เคยเข้าไป พอได้เห็นสภาพชุมชนตรงนั้นกับที่เราอยู่ แม้จะห่างกันไม่กี่กิโล แต่สภาพแวดล้อมต่างกันมาก คิดว่าหาดใหญ่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของเรา เลยอยากทำอะไรเพื่อน้องๆ ที่อยู่ในชุมชนนี้บ้าง” มู เผยความรู้สึกหลังลงชุมชนครั้งแรก ส่วนป๋อม บอกว่า เป็นครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสัมผัสกับชุมชน ไม่เคยคิดมาก่อนว่าหาดใหญ่จะมีชุมชนแบบนี้อยู่ ตอนนั้นรู้สึกหดหู่ใจมาก คิดไม่ออกว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร ได้แต่บอกตัวเองว่า นี่คือสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เราต้องพบเจอ จึงแปรความหดหู่ใจเป็นแรงบันดาลใจหาวิธีแก้ไขปัญหาในชุมชน

กาย เสริมต่อว่า สภาพบ้านในชุมชนแห่งนี้เป็นแบบยกสูง บริเวณรอบๆ บ้านเต็มไปด้วยขยะ พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มน้ำเน่าเสีย เต็มไปด้วยอบายมุข ทั้งการพนัน ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย ถ้าจะทำโครงการในพื้นที่นี้ สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำคือ เราต้องพาเด็กออกจากพื้นที่เสี่ยง ชวนน้องทำกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์แทน


เข้าใจ จึงไปพัฒนา

หลังจากเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจสภาพชุมชนแล้ว ทีมงานกลับมาจัดวงพูดคุย พร้อมกำหนดเป้าหมายการทำโครงการ 3 ข้อ คือ 1) สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน 2) มีแกนนำเยาวชนในชุมชนมาทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อชุมชน 3) ปรับภูมิทัศน์ชุมชนให้น่าอยู่ โดยมีเป้าหมายแฝงคือ การดึงเด็กออกจากพื้นที่เสี่ยง และสานสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและคนในชุมชน 

ย๊ะบอกว่า ที่เลือกใช้การปลูกผักเป็น “เครื่องมือ” พัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนจันทร์วิโรจน์ เนื่องจากพื้นฐานเธอเป็นครอบครัวเกษตรกร จึงพอมีความรู้อยู่บ้าง คิดว่าไม่น่ายาก แต่ก็ยังมีข้อวิตกคือ ทำอย่างไรให้เด็กอยากปลูกผัก? ประกอบกับทีมงานที่เหลือยังไม่มีความรู้เรื่องการปลูกผัก ย๊ะในฐานะหัวหน้าทีมจึงสร้างการเรียนรู้ให้ทีมงานทั้งชวนกันดูวิดีโอ ศึกษาข้อมูลจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และไปเรียนรู้กับเครือข่ายสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ มูลนิธิชุมชนสงขลา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำโครงการ 

“การไปดูงานสวนผักคนเมืองทำให้พวกเราเห็นภาพกิจกรรมชัดขึ้น เพราะที่นี่มีการปลูกผักในภาชนะหลากหลายรูปแบบ อาทิ กางเกง ถ้วย ถุงขนม เป็นต้น ซึ่งจุดประกายให้พวกเราได้กลับมาคิดต่อยอด เพราะสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของชุมชนจันทร์วิโรจน์”มูเสริมว่า ความรู้ตรงนี้น่าจะนำไปปรับใช้กับชุมชนจันทร์วิโรจน์ได้ เพราะแต่ละบ้านมีขยะภายในครัวเรือนอย่างถุงพลาสติก กระป๋องนม หรือขวด เป็นจำนวนมาก น่าจะปรับใช้เป็นเครื่องมือปลูกฝังให้น้องๆ ลงมือปลูกผักได้ง่ายขึ้น

เมื่อความคิดตกตะกอน ทีมงานจึงรับสมัครน้องๆ กลุ่มเป้าหมายอายุ 8-18 ปี จำนวน 20 คน จากเด็กในชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 80 คนเข้าร่วมโครงการ วิธีรับสมัครก็ใช้รูปแบบการเคาะประตูบ้านชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ จนได้กลุ่มเป้าหมายครบตามต้องการ จึงจัดกิจกรรม “สร้างแรงบันดาลใจ” พาน้องๆ ไปเรียนรู้ดูงานที่เครือข่ายสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ก่อน แล้วค่อยลงมือตีแปลงปลูกผัก

ย๊ะเล่าขั้นตอนพาน้องเรียนรู้ว่า ทีมประสานขอใช้รถจากเทศบาลหาดใหญ่ พอไปถึงก็แบ่งกลุ่มน้อง โดยให้น้องเลือกเองว่าจะอยู่กลุ่มไหน เพื่อลดการต่อต้านและไม่ให้น้องรู้สึกว่าถูกจับแยก อยากให้เขาสนุกกับการเรียนรู้ โดยก่อนพาเด็กลงพื้นที่เรียนรู้ ทีมงานได้บอกเล่าภาพรวมของน้องๆ ที่จะมาเรียนรู้ให้วิทยากรรับรู้ก่อน เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โชคดีที่วันนั้นได้ครูประถมศึกษาที่เข้าใจเด็กมาเป็นวิทยากร การเรียนรู้จึงราบรื่น

ป๋อม เสริมต่อว่า วันนั้นเห็นชัดเลยว่าเด็กเขามีศักยภาพ ยกจอบ ยกเสียม ผสมปุ๋ยได้คล่องแคล่ว สามัคคีกันดีมาก “วันนี้ ผักบุ้ง กวางตุ้ง แตงกวา มะเขือ ที่น้องๆ ลงแรงปลูกกลายมาเป็นผลผลิตให้ครอบครัวและคนในชุมชนได้บริโภคแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กๆ เมื่อได้เห็นผลผลิตที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ...การเลือกให้น้องปลูกผักบุ้งเป็นอุบายที่ดี เพราะผักบุ้งปลูกง่าย โตเร็ว พอน้องๆ เห็นความสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจ พอบ้านอื่นเห็นก็อยากทำตาม กลายเป็นว่าตอนนี้คนในชุมชนหันมาปลูกผักกันมากขึ้น”


ปลูกผัก...ปลูกใจ

ภายหลังศึกษาดูงาน ก็ถึงเวลาทำจริง น้องๆ 20 คนถูกแบ่งกลุ่มให้ลงมือปลูกผักตามความชอบของแต่ละคน ผักบุ้ง แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง ผักกาด ถูกหว่านลงบนแปลงผัก

1 เดือนผ่านไป พืชผักที่น้องๆ ลงแรงเพาะปลูกเริ่มผลิดอกออกผล เด็กหลายคนดีใจ แต่อีกหลายคนรู้สึกเสียใจที่ผักของตนไม่งอกงามเหมือนเพื่อน เนื่องจากมีไก่ สุนัข เข้ามารบกวน ทุกคนจึงช่วยกันปรับพื้นที่อีกครั้ง นำตาข่ายมากั้นไว้ซึ่งก็พอช่วยได้บ้าง

 แม้ทีมงานและน้องๆ จะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ให้น้องๆ และทีมงานต้องเสียน้ำตา เมื่อต้องปะทะกับผู้ปกครองคนหนึ่งที่เห็นว่า การปลูกผักเป็นภาระที่เขาต้องแบกรับ รวมถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อมีคนนอกพื้นที่เข้ามายุ่มย่ามในครอบครัว

“ตอนแรกลูกเขามีพฤติกรรมก้าวร้าวมาก เด็กๆ ในชุมชนก็ไม่ค่อยยอมรับ แต่พอได้เข้ามาปลูกผักกับเรา ทำให้เพื่อนๆ ยอมรับเขามากขึ้น ผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือดี แต่หลังจากปลูกผักไปแล้ว พวกเราลงพื้นที่อีกครั้ง ผู้ปกครองคนนี้ตะโกนไล่พวกเราเสียงดัง ทุกคนรู้สึกตกใจและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นคือ ตัดบ้านหลังนี้ออกจากแผนการทำงาน เพื่อตัดปัญหา แต่ที่ทีมงานรู้สึกเสียใจยิ่งกว่าคือ เราเห็นเด็กคนนั้นร้องไห้ เพราะเขากลัวจะไม่ได้ปลูกผักอีกแล้ว จึงแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กไปช่วยเพื่อนคนอื่นๆ ปลูกผักแทน เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทำร่วมกับเพื่อน ซึ่งปัจจุบันเด็กคนนี้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ มากขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง และกลายเป็นคนอาสาเข้าไปช่วยบ้านทุกหลังปลูกผักด้วย เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มขึ้น” ป๋อม สะท้อนถึงปัญหาที่รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจมากที่สุดเท่าที่ลงพื้นที่มา

วันนี้ ผักบุ้ง กวางตุ้ง แตงกวา มะเขือ ที่น้องๆ ลงแรงปลูกกลายมาเป็นผลผลิตให้ครอบครัวและคนในชุมชนได้บริโภคแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กๆ เมื่อได้เห็นผลผลิตที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง มู เสริมต่อว่า การเลือกให้น้องปลูกผักบุ้งเป็นอุบายที่ดี เพราะผักบุ้งปลูกง่าย โตเร็ว พอน้องๆ เห็นความสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจ พอบ้านอื่นเห็นก็อยากทำตาม กลายเป็นว่าตอนนี้คนในชุมชนหันมาปลูกผักกันมากขึ้น “เด็กที่นี่เรียนรู้จากการทำจริง แต่เราต้องมีแบบอย่างที่ดีให้เขา”

มู เสริมต่อว่า การเลือกให้น้องปลูกผักบุ้งเป็นอุบายที่ดี เพราะผักบุ้งปลูกง่าย โตเร็ว พอน้องๆ เห็นความสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจ พอบ้านอื่นเห็นก็อยากทำตาม กลายเป็นว่าตอนนี้คนในชุมชนหันมาปลูกผักกันมากขึ้น “เด็กที่นี่เรียนรู้จากการทำจริง แต่เราต้องมีแบบอย่างที่ดีให้เขา” 

แปลงผัก 1 แปลงจากครัวเรือนหนึ่งเริ่มผลิดอกออกผลขยายไปสู่อีกครัวเรือนหนึ่ง จากบ้านที่ไม่เคยปลูกก็อยากปลูกบ้าง เด็กคนไหนทำเป็นก็ไปเป็นพี่เลี้ยงสอนเด็กอื่นๆ ให้ทำเป็นด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความตั้งใจของลูกก็เข้ามาช่วยเหลือ กลายเป็นการเพิ่มความรักความอบอุ่นจากครอบครัวสู่ชุมชน ใครมีผลผลิตมากก็แบ่งปันเผื่อแผ่กัน จากผักไม่กี่ชนิดก็เพิ่มพันธุ์ขยายพื้นที่มากขึ้น

ครั้นถึงกิจกรรมที่ 2 คือ การปรับภูมิทัศน์ คราวนี้ทีมงานนำบทเรียนจากครั้งที่แล้วมาใช้ เดินเข้าไปสอบถามความสมัครของพ่อแม่ผู้ปกครองก่อนว่า อยากให้เด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ แม้จะเห็นว่าบ้านเขาสามารถทำกิจกรรมปรับภูมิทัศน์ได้ก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาเหมือนที่ผ่านมา จนได้บ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมปรับภูมิทัศน์ 4 หลัง และพื้นที่ส่วนกลางอีก 1 แห่ง 

ย๊ะบอกว่า ด้วยความที่ทีมงานเรียนต่างสาขา เวลาว่างจึงไม่ตรงกัน แต่ก็ไม่เอามาเป็นปัญหา คุยกันว่าใครว่างก็ให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชน เช่น จุดที่เป็นแหล่งน้ำเสีย หรือพื้นที่ลาดเอียง น้ำท่วมขัง แล้วนำข้อมูลที่ได้มาหารือกับเพื่อนร่วมทีมทางเฟซบุ๊ก และร่วมกันออกแบบการทำงาน โดยใช้เวลาช่วงเย็นค่อยๆ ปรับภูมิทัศน์ไปทีละบ้าน ไม่ได้เร่งทำให้เสร็จในวันเดียว

กาย บอกต่อว่า พื้นที่บ้านต้นแบบที่จะปรับภูมิทัศน์มีไม่มาก จึงทำแค่แปลงปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือวางกระถางต้นไม้เพิ่มเท่านั้น  “ทุกคนไม่เคยขุด ป๋อมก็ไม่เคยขุด ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ ทุกคนทำได้หมด ดินแข็งมาก ยกจอบขุดดินแต่ละครั้งร้าวไปทั้งมือ ทรมานมาก แถมบางบ้านยังมีเศษกระเบื้อง เศษแก้ว และขยะเต็มไปหมด โดนแก้วบาดก็มี แต่เราก็ทนได้ เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เราทำเพื่อเด็ก ตอนโดนแก้วบาด เด็กๆ เขาบอกว่า ครูบ้านหนูมีใบสาบเสือเดี๋ยวไปหามาให้ ใบสาบเสือช่วยห้ามเลือด รักษาแผลสด น้องเขามีความรู้เรื่องสมุนไพรดีมาก เพราะนี่คือวิถีชีวิตของเขา ขณะที่เราได้รู้จักพืชพวกนี้ก็ต่อเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว” ป๋อม เล่าถึงความอดทนทำงานเพื่อเด็ก

“ด้วยความที่ทีมงานเป็นคนนอกที่มีภาระงานในชีวิตมากมายให้รับผิดชอบ ประกอบกับคิดว่าการทำโครงการจะยั่งยืนได้ต้องมีคนในชุมชนเข้ามาสานต่อ จึงคุยกับน้องที่เห็นแววว่าน่าจะเป็นแกนนำว่าเขาจะเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนของตนต่อไปอย่างไร” 


สร้างแกนนำสานต่อกิจกรรมเพื่อชุมชน

ด้วยชีวิตนักศึกษาที่ยังต้องรับผิดชอบทั้งการเรียน เตรียมตัวสอบ ฝึกซ้อมดนตรี ทำวิจัย ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน การทำกิจกรรมจึงหยุดชะงักลงไปช่วงหนึ่ง แต่ทุกคนยังคงติดตาม ถามไถ่ ความเป็นไปของโครงการผ่านโซเชียลมีเดีย

“ช่วงเวลาหลังสอบ บางคนต้องกลับบ้าน อย่างป๋อมก็อยู่สุราษฎร์ธานี จึงใช้วิธีประชุมทางเฟซบุ๊ก ใครว่างก็นัดกันลงพื้นที่ อาจจะไม่ครบทีม แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ทุกคนรู้หมดว่าใครทำอะไร และงานคืบหน้าไปถึงไหน” ย๊ะเล่าถึงข้อจำกัดของทีมงาน ระหว่างนั้นทีมงานจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้น้องอีก 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มพลังให้น้องอยากทำกิจกรรมต่อ ด้วยการพาน้องมาเรียนรู้ที่ตลาดนัดเกษตร มอ.เรื่องการทำแกลบดำ และการปลูกผักกรีนโอ๊ค ส่วนครั้งสุดท้ายก็พาน้องมาเรียนรู้ที่เดิม แต่ครั้งนี้ให้น้องนำผักที่ปลูกมาโชว์ เพื่อให้น้องมีกำลังใจสานต่อกิจกรรมในชุมชนต่อไป “น้องๆ ตื่นเต้นมากที่ได้เห็นผลงานของตนเอง ถามตลอดว่าครูนี่คือผักที่หนูไปปลูกมาวันนั้นหรือ เห็นเลยว่าน้องเขาดีใจมากที่เขาสามารถทำได้ เราก็ดีใจไปกับเขาด้วย” ย๊ะเล่าถึงความดีใจของน้องๆ

วันนี้โครงการผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่เดินทางใกล้ถึงหมุดหมายที่ทีมงานวางไว้แล้ว คงเหลือแต่กิจกรรมสุดท้ายซึ่งเป็นการเสริมทักษะการทำงานของเด็กให้รอบด้านมากขึ้น ด้วยการเปิด “เวทีผัก” บริเวณห้องสมุดในชุมชน โดยครั้งนี้ทีมงานตั้งใจขมวดการเรียนรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยการนำผลผลิตที่ปลูกไว้มาขาย ด้วยความที่ทีมงานเป็นคนนอกที่มีภาระงานในชีวิตมากมายให้รับผิดชอบ ประกอบกับคิดว่าการทำโครงการจะยั่งยืนได้ ต้องมีคนในชุมชนเข้ามาสานต่อ จึงคุยกับน้องที่เห็นแววว่าน่าจะเป็นแกนนำว่าเขาจะเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนของตนต่อไปอย่างไร และบอกว่า หากมีปัญหาติดขัดสามารถโทรขอคำปรึกษาจากพี่ๆ ได้ตลอดเวลา

“มีอยู่ครั้งหนึ่งน้องโทรมาปรึกษาว่าเมล็ดพันธุ์ผักไม่พอทำอย่างไรดี เราก็บอกว่าเดี๋ยวเราจะเอาเมล็ดพันธุ์ไปให้ แล้วให้เขาเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์คอยแจกจ่ายให้เพื่อนๆ จนเดี๋ยวนี้น้องเขาสามารถบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ได้ จริงๆ น้องเขาก็ทำได้นะ ขอแค่มีคนช่วยเสริมแรงให้เขาเท่านั้น เขาก็สามารถเดินงานต่อได้” ย๊ะ อธิบายวิธีคิดสร้างแกนนำ

“เมื่อก่อนเธอจะไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกิจกรรมใดๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ไม่เปิดรับอะไรเลย มีกำแพงของตัวเองสูงมาก พอมีโอกาสได้ทำกิจกรรมอาสาและได้ทำโครงการนี้ กำแพงที่มีอยู่ในใจเธอก็ทลายลง กลายเป็นคนเข้าหาคนอื่นมากขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น และกล้าพูดมากขึ้น ...โครงการนี้ทำให้เธอลดตัวตนของตัวเองลง จากที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ตัวเอง”

ผลของการทำโครงการนอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนและคนในชุมชนจันทร์วิโรจน์แล้ว ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวทีมงานไม่น้อย ป๋อม บอกว่า เธอเป็นลูกคนกลาง จึงมักคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก แต่พอได้มาทำโครงการนี้ความคิดของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป จนแม่เองก็สังเกตเห็น จากเดิมที่เธอไม่ค่อยในสนใจใคร ก็ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น เวลาเห็นพี่กับน้องทะเลาะกัน เธอจะเข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมให้พี่น้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล ส่วนชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ป๋อมยอมรับว่า เมื่อก่อนเธอจะไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกิจกรรมใดๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ไม่เปิดรับอะไรเลย มีกำแพงของตัวเองสูงมาก พอมีโอกาสได้ทำกิจกรรมอาสาและได้ทำโครงการนี้ กำแพงที่มีอยู่ในใจเธอก็ทลายลง กลายเป็นคนเข้าหาคนอื่นมากขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น และกล้าพูดมากขึ้น

 ป๋อม บอกอีกว่า เธอได้กำไรจากการทำโครงการนี้มาก เพราะทำให้เธอลดตัวตนของตัวเองลง จากที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ตัวเอง วันนี้เธอเข้าใจสังคมมากขึ้น รู้และเข้าใจว่าสังคมประกอบด้วยคนหลายฐานะ หลากรูปแบบ ความใฝ่ฝันอยากเป็นครูในวัยเด็กยิ่งแจ่มชัดขึ้นในความรู้สึก แม้จะเรียนเภสัชศาสตร์ แต่เธอเชื่อว่าการเป็นครูไม่จำเป็นต้องจบสาขาครุศาสตร์เสมอไป ทุกอาชีพสามารถเป็นครูได้

“วันหนึ่งถ้าเราจบเภสัชศาสตร์ ต้องทำงานกับคนไข้ ที่ไม่ใช่คิดแต่จะจ่ายยาอย่างเดียว แต่เราสามารถทำหน้าที่ครูได้ด้วยการแนะนำให้คนไข้ปฏิบัติตัวโดยไม่ต้องกินยาก็ได้ การรักษามีหลายรูปแบบ บางครั้งยาก็รักษาไม่หาย แต่คำพูดและกำลังใจสามารถทำให้คนหายป่วยได้”

ส่วนมู ที่ได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ในการทำกิจกรรมตลอดมา เล่าว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นเด็กในชุมชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากที่ก้าวร้าว เป็นคู่อริกัน ก็ลดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เมื่อได้ปลูกผักร่วมกันความสามัคคีก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ครอบครัวก็กระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น พื้นที่ในชุมชนน่าอยู่มากขึ้น “สุขภาพคนเราไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องร่างกาย แต่ยังมีเรื่องของจิตใจที่เราต้องดูแลเอาใจใส่ การเข้ามาทำโครงการนี้ทำให้เขาได้เห็นสังคมในมุมใหม่ๆ เหมือนการทำงานในชีวิตจริงที่ต้องพบ เจอคนไข้หลายรูปแบบ เป็นประสบการณ์ด้านวิชาชีพให้เราได้ในอนาคต” 

กายบอกว่า เหตุผลที่เข้ามาทำโครงการนี้เพราะอยากท้าทายตัวเองว่า จะสามารถพัฒนาได้หรือไม่ และการทำโครงการจะทำให้น้องเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ ผลคือน้องเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับตัวเองแล้ว “พัฒนาไปเยอะมาก” โดยเฉพาะวิธีทำงานในฐานะนักพัฒนาชุมชนที่ต้องทำงานกับคนหลากหลายรูปแบบ ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการเข้าหาชุมชนที่ต้องรู้เขารู้เรา ทั้งบริบท สภาพแวดล้อม และอารมณ์ของคนในชุมชน เพื่อที่จะรับมือได้ถูกต้อง ถือเป็นต้นทุนในการทำงานของเขาต่อไปในอนาคต

“การเป็นนักพัฒนาชุมชน เราต้องเข้าไปสัมผัสกับคนในชุมชน จึงจำเป็นต้องมองคนให้ออกว่า คนเหล่านั้นมีพื้นฐานอย่างไร ทำไมจึงแสดงออกแบบนี้ ทำให้เราระมัดระวังเรื่องการมองคน ที่จะต้องนิ่งคิดและวิเคราะห์โดยไม่ด่วนตัดสินใครก่อน ถ้าเรายังไม่ได้สัมผัสกับเขา” 

ในฐานะหัวหน้าทีม ย๊ะ บอกว่า เธอจะไม่ชี้นำทีมงานว่าต้องทำอย่างไร จะให้อิสระน้องคิดและทำเต็มที่ เพราะเชื่อในศักยภาพของน้องทุกคน อาจมีกังวลบ้างเรื่องเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน เพราะน้องแต่ละคนเรียนคณะยากๆ ทั้งนั้น แต่เธอมีความเชื่อว่าน้องรักงานนี้ อยากทำโครงการ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กในชุมชน “ตอนแรกเห็นกายพาเด็กไปวัด เห็นเขาเล่นกับเด็กได้ เป็นผู้นำได้ ก็คิดว่ากายต้องทำได้แน่ ส่วนมูที่เห็นเด่นชัดคือ เขามีความตั้งใจและความเสียสละสูงมาก เวลาลงพื้นที่ หรือไปซื้ออุปกรณ์คุณพ่อคุณแม่เขาก็ไปด้วย เหมือนทำโครงการกันทั้งครอบครัวเลยทีเดียว สำหรับป๋อม น้องเขามีพลังในตัวเยอะมาก”

ย๊ะ บอกต่อว่า เธอจบครูมา ตอนฝึกสอนก็สอนแต่วิชาการ ไม่ได้สอนทักษะในการดำเนินชีวิตให้เด็กเลย จึงเป็นคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจ เมื่อมีโอกาสได้ทำโครงการนี้ยิ่งทำให้เธอเข้าใจพื้นฐานของเด็กว่า จริงๆ แล้วเด็กจะดีหรือไม่ดีมาจากพื้นฐานครอบครัว การที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ เราต้องเข้าใจเขาก่อน ด้วยการพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้และสัมผัสกับชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่เข้าใจตัวหนังสือ แต่เราต้องเข้าใจชีวิตเขาด้วย

การแก้ปัญหาระบบการศึกษาจะแก้ได้ ครูต้องเข้าใจเด็กและครอบครัวก่อน ไม่ใช่แค่แก้ที่ปลายเหตุ ที่สำคัญครูต้องเข้าใจว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงคือการให้เด็กได้ลงมือทำเอง ชี้ทาง ไม่ใช่ชี้นำ ตั้งคำถาม สร้างโจทย์ให้เขาได้คิดเอง และเราค่อยตะล่อมให้เขาเดินไปในทิศทางที่ดี แบบนี้จึงจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงให้กับเด็กๆ ในฐานะที่ตัวเองเรียนจบครู จึงฝันอยากจะสร้างเด็กด้วยกระบวนการแบบนี้”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในตัวเองนั้น ย๊ะบอกว่า ที่เห็นเด่นชัดคือ เรื่องความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชน คำว่า “รับผิดชอบ” จึงติดอยู่ในใจของเธอเสมอว่า ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จ ไม่ใช่คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้ทำเพราะมันเป็นหน้าที่หรือเป็นกิจวัตร แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ที่เธอคิดเช่นนี้ได้ อาจเป็นเพราะการหล่อหลอมของครอบครัว การมีพ่อแม่ที่ดี มีการศึกษาที่ดี แม้เราจะอยู่กันคนละศาสนา คนละวัฒนธรรม คนละชุมชน แต่ทุกคนสามารถช่วยเหลือกันได้ ถ้าเรามีคำว่า “รับผิดชอบ” ติดอยู่ในใจ “โครงการนี้ทำเรารู้วิธีการแก้ปัญหาและมีทักษะชีวิต เนื่องจากมีโจทย์ให้ต้องกลับมาขบคิดและแก้ปัญหาตลอดเวลา การครองสติให้มั่นคงและใช้ปัญญาไตร่ตรองแก้ไขปัญหาจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี”

ด้านตูแวซะห์ นิแม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า เธอรู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำโครงการนี้ ยอมรับว่าตอนแรกกังวลเรื่องเวลาของทีมงานที่ว่างไม่ตรงกัน แต่มีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า ทีมงานทุกคนรักงานนี้ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กในชุมชน ซึ่งพวกเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง

แม้จะต่างชั้นปี ต่างสาขาวิชา แต่ไม่ต่างใจ เพราะทีมงานทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ “การพัฒนาเด็กและเยาวชน” การทำโครงการจึงเดินมาถึงปลายทางที่ตั้งใจไว้ วันนี้ผักของเด็กๆ ในชุมชนจันทร์วิโรจน์ผลิดอกออกผลไปพร้อมการเติบโตของเด็กๆ ในชุมชน จากที่เคยมั่วสุมกับอบายมุขต่างๆ พูดจาก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท ก็ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนในชุมชนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผลนั้นยังย้อนคืนสู่ตัวทีมงานให้ได้ทำความรู้จักจนเข้าใจความเป็นไปของชุมชนสังคม ที่ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามี “คุณค่า” ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตเป็นอย่างมาก เพราะรู้ดีว่าเส้นทางการประกอบอาชีพในอนาคตล้วนเกี่ยวข้องกับชุมชนสังคมทั้งสิ้น การทำโครงการนี้จึงเป็นเสมือน “ต้นทุนชีวิต” ที่จะทำให้พวกเขาเดินต่อในเส้นทางสายวิชาชีพของตนได้อย่างมั่นใจ


โครงการ : ผักกับเด็กและเยาวชน สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้น่าอยู่

ที่ปรึกษาโครงการ : ตูแวซะ นิแม

ทีมทำงาน : พาซีย๊ะห์ ซีแต บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รัชกรัณย์ สวัสดี บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 

พีรดา เชาวน์ณัฐเศวตกุล ชั้นปีที่ 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

สมโภช จิระพันธุ์ ชั้นปีที่ 2 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

ศศิวรรณ เขาไข่แก้ว วิทยาเขตหาดใหญ่ เยาวชนในชุมชนจันทร์วิโรจน์