การศึกษาดูงานเป็น “เครื่องมือ” หนึ่ง ในการยกระดับสมรรถนะของคณะผู้บริหารและครู
การศึกษาดูงานเป็น “เครื่องมือ” หนึ่ง ในการยกระดับสมรรถนะของคณะผู้บริหารและครู

การศึกษาดูงานเป็น เครื่องมือหนึ่ง

ในการยกระดับสมรรถนะของคณะผู้บริหารและครู

คณะผู้บริหาร ครู โรงเรียนจากโมดูลการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยโครงงาน PBL&PLC ภายโครงการโรงเรียนประชารัฐ พร้อมใจกันไปศึกษาดูงานต้นแบบบูรณาการที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เพื่อพัฒนาสมรรถนะของคณะผู้บริหารและครูให้เฉียบคมยิ่งขึ้น

ตามที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะ(Compentency) สำหรับครูในโครงการโรงเรียนประชารัฐของโมดูลการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยโครงงาน PBL&PLC สามโรงเรียนได้แก่ 1.โรงเรียนไทรแก้ววิทยา จังหวัดสุรินทร์ 2.โรงเรียนบ้านชำแจงแมง จังหวัดศรีสะเกษ 3.โรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักคือ ครูมีขีดความสามารถหรือสมรรถนะด้านการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project based Learning) และใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based Learning) ในการบูรณาการเชื่อมโยงกับกลุ่มสาระวิชาหลัก จนเกิดนวัตกรรมทางการศึกษาที่เรียกว่า “โครงงานบูรณาการแล้วนั้น โดยมีโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น เป็นโรงเรียนต้นแบบในการถ่ายทอดการสอนแบบบูรณาการให้แก่สามโรงเรียนไปเมื่อปี 2560 และทั้งสามโรงเรียนได้นำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตนเองจนมาถึงปัจจุบัน

เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนให้ให้คณะครูและผู้บริหารจากโรงเรียนไทรแก้ววิทยา และโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม ได้ไปเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงด้วยการศึกษาดูงานสถานศึกษาต้นแบบการสอนแบบบูรณาการ ณ โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริหารและครูได้ลงมาสัมผัสประสบการณ์ตรงและนำความรู้ เทคนิค และกระบวนการมาปรับประยุกต์ใช้หรือต่อยอดและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนครูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ครูสัญญา มัครินทร์ หรือรู้จักกันในนามครูสอญอ แห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย โรงเรียนขยายโอกาส ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 3 อธิบายการออกแบบกระบวนการ ศึกษาดูงานอย่างกัลยาณมิตรว่า “ให้เพื่อนครูที่มาดูงานได้เห็นจากการที่เราทำจริง เราได้ออกแบบให้ครูเห็นกระบวนการการเรียนการสอนแบบบูรณาการในครึ่งเช้า เริ่มด้วยการใช้กระบวนการจิตศึกษา โฮมรูม โฮมใจเป็นการเริ่มต้นในเช้าแต่ละวัน ให้นักเรียนมาแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยใจที่เป็นกุศลร่วมกัน จากนั้นครูได้สาธิตให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนในเวลาสองชั่วโมง ให้ครูเห็นการสอนเป็นทีม สอนแบบบูรณาการ ครูทำอย่างไรบ้าง ผลัดกันทำบทบาทอย่างไรบ้าง เด็กมีส่วนร่วมร่วมอย่าง อีก 30 นาทีสุดท้าย ให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือสอบถามกับครูที่สาธิตการสอน สอบถามกับนักเรียน และดูเอกสาร ชิ้นงาน ในห้องเรียน ซึ่งแล้วแต่สายชั้นจะออกแบบกันเอง ในภาคบ่าย มีการสะท้อนการเรียนรู้จากครูผู้เยี่ยมชม”

“ความคาดหวังจากการดูงานในครั้งนี้ หนึ่ง ครูในโรงเรียนของเราได้รับโอกาสที่คณะครูมาศึกษาดูงาน เราได้ประโยชน์ในการทบทวนงานของตนเอง สิ่งที่เราทำมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร ให้เพื่อนครูได้กลับมาทบทวนและรับฟังข้อสะท้อนดีๆ ประเด็นไหนที่เป็นประโยชน์ได้นำกลับมาปรับปรุงแก้ไข และยังได้กำลังใจที่มีคนมาเยี่ยม มาให้ให้คุณค่าสิ่งที่เราทำเป็นประสบการณ์ให้คนได้เรียนรู้ได้ด้วย สอง ครูที่มาเยี่ยมได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำให้ดูนั้นได้ไปส่งเสริม ตอบโจทย์ หรือสร้างแรงบันดาลอย่างไร ให้เพื่อนครูที่มาดูงาน ศาสตร์ของการบูรณาการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาครู ให้ครูได้ทำงานเป็นทีม เป็นการบูรณาการศาสตร์ในวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน ในปัจจุบันทางโรงเรียนกำลังยกระดับให้เป็นการบูรณาการนักเรียนในเชิงเสริมสร้างสมรรถนะ ทักษะ และคุณค่า ที่นักเรียนได้มองเห็นการเติบโตของตัวเอง” ครูสอญอ

มาฟังเสียงสะท้อนจากโรงเรียนไทรแก้ววิทยา (โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6) นายบุญเกิด กองสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เพิ่งมารับตำแหน่งหมาดๆ นำคณะครูมาร่วมเรียนรู้ กล่าวถึงมุมมองต่อการบูรณาการและแนวทางของโรงเรียน “ผมจะสนับสนุนต่อ ถึงแม้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาโรงเรียนก็จะทำต่อไป เพราะมองเห็นว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ถือว่าเป็นหัวใจหลักคือการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน พร้อมที่จะสนับสนุนให้คงอยู่ต่อในโรงเรียนแต่การขับเคลื่อนไปได้อย่างไร ที่ไม่ขัดต่อนโยบายที่ได้รับมาก็ต้องนำมาคิดต่อ

ผมมองเห็นว่าทุกวันนี้ การจัดการเรียนการสอนยังไม่ตอบโจทย์ หากให้ครูสอนแบบเดิมๆ เหมือนในอดีต เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปความรู้เด็กๆ สามารถหาได้จากทางอินเตอร์เนต ครูก็ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง วิชาบูรณาการเป็นวิชาที่ช่วยสร้างทักษะเพื่อให้เด็กมีทักษะ ทำให้เด็กอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบันได้ และการจัดการเรียนการสอนต้องไม่น่าเบื่อ เด็กจะเรียนซ้ำซากเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เด็กเกิดการเรียนรู้จากการบูรณาการในหลายๆ วิชารวมกัน

ทางด้านครูวีระพงษ์ เมินดี ประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไทรแก้ววิทยา สะท้อนการเรียนรู้ในวันนี้ว่า “ได้ความคิดใหม่ๆ และจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดที่โรงเรียน ที่สนใจคือรูปแบบที่ครูนำผลงานที่จัดกิจกรรมไปแล้วมาจัดแสดงตามผนังห้องเป็นชิ้นงานทำให้เห็นว่ามีกิจกรรมใดที่ทำไปแล้วบ้าง และสองการบันทึกขั้นตอนของกิจกรรมลงบนผืนผ้า เห็นเป็นขั้นตอนตั้งแต่ขั้นวางแผนจนถึงสู่ขั้นประเมินผล ให้นักเรียนร่วมวางแผนตั้งแต่ต้นและให้นักเรียนวาดขั้นตอนการทำกิจกรรมบนผ้า คิดว่ากิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนได้ความสามัคคี ส่งเสริมวิชาศิลปะ ได้ความคิดวิเคราะห์ ได้วิชาภาษาไทยในการเรียบเรียงถ้อยคำมาบรรยายกับภาพ...

...สำหรับวิชาบูรณาการนั้นไม่ทิ้งวิชานี้แน่นอน ทำมาปีหนึ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนชัดเจน นักเรียนมีความสามัคคี ความรับผิดชอบมากขึ้น และกล้าแสดงออกมากขึ้น วิชานี้ทำให้นักเรียนได้รีแล็กซ์บ้างจากวิชาหลัก ได้ไม่เครียด ได้ทักษะด้านการใช้ชีวิตมากขึ้น

มาฟังทางโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม (โรงเรียนระดับประถมศึกษา อนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6) โดยครูนงลักษณ์ สุกนวล สะท้อนถึงวิชาบูรณาการและการดูงานในครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า “โรงเรียนได้นำบูรณาการไปใช้ในโรงเรียนในปีแรก ผลที่เกิดขึ้นก็คือนักเรียนมีความสุขและมีความกระตือรือล้นเมื่อถึงเวลาเรียนวิชาบูรณาการ ได้เห็นกระบวนการคิด การทำงานกลุ่ม และได้เห็นพฤติกรรมที่มีเปลี่ยนแปลงคือนักเรียนกล้าแสดงออก ผลสะท้อนจากการแสดงผลงานของนักเรียน ผู้ปกครองรู้สึกพึงพอใจ จึงคิดว่าวิชาบูรณาการมีประโยชน์ต่อนักเรียน ทางโรงเรียนจึงดำเนินการต่อเป็นปีที่ 2

วันนี้มาดูงานได้เห็นประสบการณ์ตรง เห็นการสอน ขั้นตอน วิธีการ บางอย่างที่ยังไม่ได้นำไปใช้ก็จะนำไปใช้ที่โรงเรียน สิ่งรู้ใหม่คือมีการโค้ชคือการสังเกตุการสอนแลกเปลี่ยนสายชั้น ซึ่งตอนนี้ในโรงเรียนของเราสอนแค่สองชั้น เราต้องกลับไปปรับสลับกันสอนและสลับกันมาดูว่าการสอนเป็นอย่างไร จะได้นำมาสะท้อนกลับครูเพื่อการปรับปรุงแก้ไขกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งดีที่เราเห็นจากการดูงานคือการวางแผนคือ BARก่อน มาสร้างหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งครูมาช่วยกันคิดช่วยกันสร้างว่าเหมาะสมหรือไม่ สอนจบแล้วก็มี AARและมีการบันทึกการสอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเป็นระบบ ซึ่งตรงนี้เราจะนำไปปรับใช้ที่โรงเรียนให้มีรูปแบบที่ถูกต้องและจะทำให้มีการพัฒนาดียิ่งขึ้น

สำหรับวันนี้พวกเราได้มาเห็นของจริงถึงวิธีการ รูปแบบ ทำให้มองภาพออกว่าจะเดินทางไปแนวทางไหน น่าจะจัดแบบบูรณาการได้ดีขึ้นกว่าเดิม ความคาดหวังของพวกเรา อยากให้โรงเรียนดำเนินการวิชาบูรณาการต่อไป และเป็นต้นแบบแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี”

การศึกษาดูงานครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยกระดับสมรรถนะของคณะผู้บริหารและครูร่วมกันทั้งผู้เยือนและเจ้าบ้านใน 3 ด้านคือ 1) ระบบการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบสนับสนุนของผู้บริหาร 2) ทักษะการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการของครู และ 3) การเปลี่ยน Mind Set กับ วิธีการเรียนรู้ที่เพิ่มสมรรถนะ (Competency) ที่จะทำให้ครู กลายเป็น Change Agent ที่มีพลังขับเคลื่อนการศึกษาไทย ได้นั่นเอง. 

ติดตามชมกิจกรรมในเวทีได้ที่นี่